สิ่งที่จูนจูน พัชชา เรียนรู้จากมหาวิทยาลัย

Highlights

  • จูนจูน–พัชชา พูนพิริยะ นักแสดง พิธีกร และดีเจ ผู้มาพร้อมรอยยิ้มสดใส พาย้อนเล่าวันวานในช่วงที่เธอก้าวเข้ามาทำงานวงการบันเทิงใหม่ๆ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เธอเข้าเรียนในคณะที่ใฝ่ฝันอย่างสาขาแฟชั่นและสิ่งทอ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอดิบพอดี
  • การสวมหมวกหลายบทบาทในช่วงมหาวิทยาลัยทำให้จูนจูนได้เรียนรู้การจัดการเวลาและตัวเองให้สามารถทำงานทุกอย่างได้เป็นอย่างดี และถึงแม้ตอนนี้จะเรียนจบมา 2 ปีแล้วแต่เธอยังคงเลือกที่จะทำงานหลายอย่างเหมือนตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์เมื่อมีงานรายล้อมเยอะๆ
   

นางสาวพัชชา พูนพิริยะ
รหัสนิสิต 5646683235
สาขาวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

 

จากนักเรียนผมยาวเสื้อขาวกางเกงแดงใน Mary Is Happy, Mary Is Happy จนมาเป็นสาวผมสั้นไอคอนแห่งยุคในปัจจุบันที่มีสไตล์การแต่งตัวโดดเด่นไม่ซ้ำใคร อาจพูดได้ว่าเราได้เห็นการเติบโตของ จูนจูน–พัชชา พูนพิริยะ กันมาอย่างยาวนาน 

ไม่ว่าจะงานแสดง พิธีกร หรือดีเจ จูนจูนพารอยยิ้มสดใสของเธอมาสร้างความประทับใจให้พวกเราเสมอ แต่มากกว่างานในวงการบันเทิง อีกสิ่งที่เธอให้ความสนใจคือ สายงานแฟชั่นดีไซน์ เพราะความชอบวาดภาพ บวกรวมกับการที่คุณแม่เปิดร้านขายเสื้อผ้าและพาเธอแต่งตัวตั้งแต่เด็ก ทำให้จูนจูนค่อยๆ ซึมซับความสนใจด้านการออกแบบแฟชั่นจนตัดสินใจสอบเข้าเรียนในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เธอกำลังเรียนสายงานนี้คือช่วงที่จูนจูนเริ่มก้าวเข้ามาทำงานในวงการบันเทิงเช่นกัน แม้จะมีหมวกหลายใบที่เธอต้องสวมบทบาท แต่จูนจูนยังคงพยายามรับผิดชอบและเต็มที่กับการทำงานทุกอย่าง จนสามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งมาได้

อะไรคือสิ่งที่เธอได้เติบโตในช่วงที่ต้องทำงานและเรียนแฟชั่นดีไซน์ไปด้วยกัน จูนจูนจะพาย้อนความทรงจำในวัยมหาวิทยาลัยให้ฟัง

 

01

“จูนเป็นเด็กตั้งใจเรียนตั้งแต่เด็ก ตอนมัธยมเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศส เราจะกลับบ้านมานั่งท่องหนังสือทุกเย็น แล้วเราสอบได้คะแนนสูงที่สุดของห้อง แม่ก็เลยคิดว่าอยากให้เรียนคณะใหญ่ๆ ไปเลย แต่จริงๆ เขารู้ว่าสไตล์จูนจะเป็นคนชอบวาดรูป แล้วคุณแม่ก็ขายเสื้อผ้าด้วย แม่จะชอบหาเสื้อผ้ามาให้แล้วบอกว่า จูนแต่งอย่างนี้สิ แล้วพอจูนเริ่มมีความคิดเห็นของตัวเองก็จะเริ่มเถียงแล้วว่าอันนี้ไม่เข้ากัน ขอแมตช์เอง จูนเลยชอบแต่งตัวตั้งแต่เด็ก เลยมีภาพในหัวแล้วว่าก็คงต้องเอนท์เข้าแฟชั่น

“ประมาณ ม.4 จูนไปลงเรียนพิเศษเพื่อเตรียมเข้าแฟชั่น จุฬาฯ ที่โรงเรียนของเพื่อนพี่ชาย เป็นคอร์สสั้นๆ ซึ่งตอนนั้นเขาก็จะสอนสเกตช์หุ่น วาดเสื้อผ้า ดูผ้า เย็บผ้า ถ่ายแบบ เอาโจทย์ข้อสอบแฟชั่นแต่ละมหาวิทยาลัยมาให้ทำ เป็นคอร์สง่ายๆ พื้นฐาน สำหรับจูนตอนนั้นรู้สึกว่ามันง่ายมากเพราะเป็นเรื่องที่เราเอนจอยอยู่แล้ว แล้วจูนเป็นคนชอบ presentation ชอบเอาข้อมูลหลายๆ ที่มาประกอบแล้วนำเสนอ ตอนติวครูชมตลอด เฮ้ย สบายแล้ว เอนท์ติดแน่ๆ เลย แล้วจูนก็สอบติดรับตรงช่วง ม.6 เทอม 1” 

02

“พอได้เข้ามาเรียนตอนปีหนึ่งถึงได้รู้ว่ามันแตกต่างจากที่เราติวมาก เพราะที่นี่จะสอนให้รู้ตั้งแต่เลเวลล่างสุดจนเลเวลบนสุด ทำทุกอย่างให้เป็น ตั้งแต่ทำเสื้อผ้า ซื้อผ้า คุยกับช่าง ดีลกับคน และที่สำคัญคือจะต้องจัดการให้ได้ รู้จักวางแผนทางการตลาด การทำแบรนดิ้ง กำไรเท่าไหร่ คิดต้นทุนยังไง คือเรียนจบไปสามารถเปิดแบรนด์ได้เอง ที่นี่เขาอยากให้รู้ภาพรวมที่มันค่อนข้างคอมเมิร์สมากๆ สำหรับคนที่จะทำธุรกิจจริงๆ

“แล้วตอนเรียนจะมีวิชาเลขด้วย ซึ่งจูนไม่ค่อยถนัด ตอนเด็กจะมองว่าเออมันไม่จำเป็นเลย แต่พอได้มาเรียนที่นี่ถึงรู้ว่ามันมีประโยชน์นะ เพราะมันมีเรื่องการวิเคราะห์การตลาดเข้ามาด้วย ซึ่งบางส่วนเราจะรู้สึกสนุกดี แต่ก็จะมีบางส่วนที่เรารู้สึกว่ายากไปนิดหนึ่ง แต่จูนมองว่ามันมีประโยชน์ คือถ้าพูดว่าเรียนในสิ่งที่ชอบแล้วเป็นยังไง อันนี้ยอมรับตรงๆ เราไม่ได้ชอบเท่าเดิม จูนว่ามันเหมือนทุกศาสตร์ คือพอได้เข้ามาเรียนจริงๆ แล้วมันมีเนื้อหามากกว่านี้ มันมีส่วนที่เราไม่ชอบด้วย แต่สุดท้ายมันมีประโยชน์นะ

“แล้ววิชาที่สอนเบื้องหลังการทำธุรกิจมันเปิดโลกจูนมาก ประมาณช่วงปีสาม คือตอนแรกเราจะรู้แค่เบื้องต้นว่าปีหนึ่งแบรนด์ต้อง launch มา 4 ซีซั่นนะ แต่พอได้เข้ามาเรียนเราจะรู้ลึกถึงขั้นว่าปกติแบรนด์ใหญ่เขามีระบบการทำงานยังไง เขาต้องไปซื้อเทรนด์มาจากเทรนด์โลกกลางอีกที มันจะมีดีเทลที่สนุกเหมือนกัน ทำให้เรารู้ว่าอ๋อจริงๆ มันก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่ทุกคนเข้าใจ มันก็มีการใช้แรงงานมนุษย์สูงเหมือนกัน

“ส่วนที่จูนชอบระหว่างเรียนคือการทำโปรเจกต์ ทุกปีจะมีโจทย์เพื่อทำโปรเจกต์ใหญ่ เช่น ปีหนึ่งจะให้ออกแบบชุดตัวสองตัว ปีต่อไปก็จะมีรวมมาเรื่อยๆ เพิ่มโจทย์ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละโปรเจกต์จะต้องทำชุดออกมาจริง ถ่ายแบบจริง ได้กำหนดอาร์ตไดเรกชั่นในการถ่ายแบบเอง แล้วปรินต์ออกมาเป็นรูปเล่มส่งให้อาจารย์ เพราะอย่างที่บอกว่าจูนเป็นคนชอบพรีเซนต์มากเลยจะแฮปปี้กับการทำโจทย์อะไรแบบนี้มาก”

“อีกวิชาที่จูนชอบมากๆ เป็นวิชาเลือก ตอนแรกทุกคนบอกให้เลือกเพราะได้เกรดง่าย แต่พอได้เรียนแล้วจูนชอบมากคือ วิชา Critical Thinking อาจารย์ที่สอนเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 40-50 ปี เข้าไปเรียนวันแรก อาจารย์เข้ามาถึงบอกให้ทุกคนออกกำลังกายตอนเช้า ยืดเส้นยืดสาย (หัวเราะ)

“แล้วตอนนั้นจูนก็คิดว่า อะไรวะ ไม่เก๋เลย เขินเพื่อนคณะอื่น ซึ่งพอเขาให้ยืด เราก็ต้องทำท่าตาม ซึ่งมันแปลกมากในมุมของเด็กที่เรียนมาแบบไทย เพราะเขาสอนอินเตอร์มาก พูดภาษาอังกฤษตลอดคลาส ทั้งๆ ที่ไม่ใช่วิชาภาษาอังกฤษ อาจารย์เขาเชื่อว่าถ้าจะอยู่ได้ในสังคมอนาคตยูต้องพูดภาษาอังกฤษได้ วิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและเข้าใจได้ และต้องมีร่างกายแข็งแรง (หัวเราะ)

“ในคลาสอาจารย์จะหยิบข่าว หนังสั้น หรือประเด็นต่างๆ มาโชว์ขึ้นสไลด์ เสร็จแล้วจะเปิดให้ทุกคนออกความเห็นเลย คิดว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพื่อนคนนี้บอกแบบนี้มีใครคิดต่างไหม ซึ่งถูกใจถูกจริตจูนมาก จูนรู้สึกว่าคลาสนี้เป็นคลาสเดียวที่ทุกคนยกมือตอบจนมันไม่ใช่เรื่องแปลก  มันกลายเป็นเรื่องสนุก การได้แสดง opinion แล้วอาจารย์ไม่ตัดสิน แค่ขอให้มี opinion แล้วกล้าพูดมันหาคลาสแบบนี้ยากมาก แต่จูนได้เรียนเป็นคลาสสุดท้ายแล้ว เพราะอาจารย์บอกว่าวิชาเขาจะโดนยุบ แต่ยังเป็นวิชาที่จูนยังจำได้อยู่ถึงตอนนี้”

03

“ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่จูนทำงานไปด้วยพอดี จริงๆ การมีงานข้างนอกด้วยมันก็กระทบกับการเรียนประมาณหนึ่ง ยิ่งปีหนึ่งยังถ่าย Mary ไม่จบ วันเสาร์-อาทิตย์ต้องไปถ่ายงานตอนตี 5 แล้ววันธรรมดามาเรียน พอเรียนเสร็จตอนเย็นมีรับน้องอีก งานเยอะมาก ทุกอย่างมารุมมาตุ้ม จูนพยายามที่จะบาลานซ์ ปีหนึ่งเป็นช่วงที่หนักสุดเลย เพราะว่าปรับตัวไม่ถูก ปรับตัวไม่ทัน

“เพราะตอนติวเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยจูนเข้าใจว่ามันง่าย แต่พอเข้ามาเรียนแล้วไม่ว่ะ ปีหนึ่งเกรดตกมาก บางตัวได้ C+ ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้มาก่อนเลยในชีวิต แต่พองานมันเข้ามาเยอะจริงๆ เราก็ต้องจัดสรรให้ได้ เพราะไม่มีใครแคร์ว่าคุณเจออะไรมาในชีวิตส่วนตัว แต่คุณต้องมีงานส่ง ซึ่งจริงๆ อาจารย์ในคณะเขาเข้าใจ แล้วจูนเป็นคนส่งงานตรงเวลาอยู่แล้ว จูนบอกเลยว่าโอเค สถานการณ์เป็นแบบนี้เรามีคอนดิชั่นแบบนี้ แต่เราสามารถทำงานได้ทัน สามารถมาสอบตรงวัน แล้วหลังบ้านจูนไปวุ่นวายของตัวเอง

“แล้วพอจบมามันเลยติดนิสัยว่างไม่ได้ เลยต้องใช้สกิลแบบที่ฉันยอมยุ่ง ยอมบ่นว่าเหนื่อยจังเลยว่ะ แต่ยังดีกว่าที่เราว่าง เพราะสมัยเรียนจูนทำหลายอย่างพร้อมกันมาก ตอนนี้เลยจะทำให้ตัวเองรู้สึกยุ่งๆ ถ้าไม่ยุ่งจะรู้สึกนอยด์ จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เกิดประโยชน์ พอผ่านมาแล้วทำให้รู้สึกว่าช่วงมหาวิทยาลัยทำให้จูนทน และมีส่วนทำให้จูนรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นมาก” 

 


บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกันระหว่าง a day และโครงการ Limited Education ที่ต้องการนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยคุณสามารถติดตามซีรีส์ Limited Education ได้ใน adaymagazine.com ตลอดเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้

AUTHOR