จูเลี่ยน แครีย์ อาจารย์สอนขับร้องแจ๊ซ ม.ศิลปากร กับการเปลี่ยนผ่านของชีวิตจากเดนเวอร์ถึงตลิ่งชัน

บรรยากาศเหมือนคาเฟ่ ใครคนหนึ่งในทีมเอ่ยขึ้นตอนเรานั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นบ้านของ จูเลี่ยน แครีย์ (Julian Cary) ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เจ้าของบ้านเตรียมชาและกาแฟไว้ต้อนรับพร้อมสรรพตามที่แชตคุยกัน เขาหยิบห่อเมล็ดกาแฟบราซิลมาให้เราดูว่าเป็นตัวนี้นะ และใช้เครื่องชงเอสเพรสโซ่แบบโฮมยูส ชงอเมริกาโน่เย็นมาเสิร์ฟ ส่วนชานั้น มีหลายชนิดเต็มตู้ เขาชงด้วยอุปกรณ์ครบครันระหว่างพักเบรกจากการสัมภาษณ์อันยาวนาน 

ที่บอกว่าแชตคุยกันนั้น ข้อความที่อยู่ในอินบ็อกซ์ระหว่างเรากับเขาเป็นภาษาไทยล้วนๆ เพราะระยะเวลา 3 ปีที่ใช้ชีวิตและสอนหนังสืออยู่ที่เมืองไทย บวกกับอีก 6 เดือนที่ฝึกฝนมาก่อนหน้าจากอเมริกา มากเกินพอที่จะทำให้เขาใช้ภาษาไทยได้คล่องเป็นธรรมชาติเหมือนคนไทย ทั้งพูด อ่าน เขียน พิมพ์ เป็นภาษาไทยแบบร่วมสมัย ที่มีทั้งสแลงใหม่ๆ และสำบัดสำนวนเก่าๆ 

สำหรับบ้านน่าอยู่หลังนี้ เจ้าตัวเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ได้ 2 สัปดาห์ก่อนวันที่เราไปเยือน โดยหาเช่าจากแอปพลิเคชั่น มันเป็นบ้านที่ซ่อนตัวอยู่ท้ายซอยในหมู่บ้านขนาดใหญ่ย่านตลิ่งชัน เงียบสงบปราศจากเสียงรถรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาโหยหา

จูเลี่ยนตกแต่งทุกอย่างในบ้านเอง และทำห้องสตูดิโอเล็กๆ เอาไว้ ซึ่งแม้เพื่อนบ้านหลังอื่นๆ ที่อยู่ในรั้วเดียวกันจะบอกว่าชอบฟังเวลาได้ยินเขาซ้อมดนตรี แต่เขาก็ยังรู้สึกเกรงใจอยู่ดี

จูเลี่ยน หรือ ‘อาจารย์จู’ เป็นอาจารย์สอนดนตรีแจ๊ซประจำอยู่ที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเขาได้รับข้อเสนอให้มาสอนตั้งแต่ตอนยังเรียนไม่จบ และเขาก็เลือกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตมาอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ซึ่งอะไรหลายๆ อย่างที่ไทยก็ได้เปลี่ยนตัวตนภายในของเขาไปด้วย

ถ้อยคำของจูเลี่ยนมักเต็มไปด้วยปรัชญา และส่วนใหญ่เป็นปรัชญาพุทธ เขาพูดเรื่องกิเลส พูดเรื่องสติ แต่เขาแทบจะไม่ได้เอ่ยคำว่าพุทธ และไม่ได้ใช้ภาษาเหมือนในหนังสือธรรมะ จูเลี่ยนบอกว่า ถ้าเราเข้าใจคอนเซปต์แล้ว เวลาอธิบายก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดเดิมๆ แต่สามารถที่จะอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบในหลายๆ ทางให้คนอื่นเข้าใจได้ หนึ่งในคำที่เขาเคยพูดไว้ และเป็นตัวกระตุ้นให้เราอยากมาคุยกับเขามากขึ้นก็คือ เขาคิดว่าบางทีความสุขอาจจะไม่ใช้เป้าหมายของชีวิต

หลังแก้วกาแฟอเมริกาโน่ หลังถ้วยชาซีลอน จูเลี่ยนนั่งลงเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้เราฟัง และหมายเหตุต่อท้ายไว้ด้วยว่า มีเรื่องที่ต้อง off the record มากมาย

จากกอสเปลถึงแจ๊ซ 

ผมเกิดที่เมืองเดนเวอร์ โคโลราโด เมื่อปี 1997 ในครอบครัวที่มีแต่นักร้องเพลงกอสเปลในโบสถ์ การร้องเพลงสำหรับครอบครัวเรา ไม่ใช่ว่าต้องร้องเมื่ออยู่บนเวทีเท่านั้น แต่กินข้าวเสร็จเราก็ต้องมีการร้องเพลง หรือเวลานั่งอยู่บนรถ เราก็จะเปิดเพลงที่มีคอรัสเยอะๆ แล้วทุกคนก็จะเลือกพาร์ตของตัวเอง ร้องประสานเสียงกันบนรถ แต่ว่าไม่มีใครที่เป็นนักดนตรีอาชีพเลย

ตอนเด็กๆ ตัวผมเองเหมือนเป็นแกะดำ เพราะชอบไม่เหมือนชาวบ้าน ชอบอ่านหนังสือ ชอบอะไรที่เนิร์ดๆ ตอนนั้นชอบไดโนเสาร์ที่สุดเลย คิดว่าน่าจะเป็นอาชีพของเรา อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากเป็นสายรีเสิร์ช แต่ชีวิตก็มีความสุขดี ทุกอย่างเหมือนวนอยู่ในลูป กินข้าว ไปโรงเรียน อยู่กับครอบครัว ร้องเพลง อยู่กับเพื่อน ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเรื่องทุกข์ แต่ว่าตอนเด็กๆ ต่อให้จะแย่แค่ไหน เราก็ยังรู้สึกอบอุ่น

แจ๊ซเข้ามาในชีวิต ตอนผมเรียนอยู่ประมาณ ม.2 ก่อนหน้านั้นฟังแจ๊ซแล้วไม่ชอบเลย เล่นอะไรก็ไม่รู้ คนที่บ้านก็ไม่ฟัง เหมือนกับว่าในโบสถ์จะมีการแยกระหว่าง ดนตรีศักดิ์สิทธิ์ กับดนตรีที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ อีกอย่างมันเป็นสิ่งที่คุณทวดของผมเขาเคยพูดออกมา เขาบอกพระเจ้าว่า ขอบคุณที่ให้พรสวรรค์หรือความสามารถในการร้องเพลงนี้แก่ครอบครัวของเรา แต่หากมีใครร้องเพลงที่ไม่ได้สรรเสิญพระเจ้า ขอให้เอาพรสวรรค์คืนได้เลย แรงมาก!

ตอนนั้นมีอาจารย์คนหนึ่ง ชื่อ Keith Oxman กลางวันสอนออร์เคสตร้าแบบรวมวงที่โรงเรียน กลางคืนเป็นมือแซ็กระดับปีศาจ ผมชอบเขามากๆ เขาเท่ กวนตีน เรียนก็สนุก คุยกันก็สนุก มีอยู่วันหนึ่งผมเดินผ่านห้องออร์เคสตร้า แล้วได้ยินเสียงท่อนอินโทรของเพลง So What ของ Miles Davis ได้ยินแล้วรู้สึกโคตรเท่ นี่คือแนวอะไร ใครเล่น ผมวิ่งไปเข้าห้อง อาจารย์บอกว่านี่คือแจ๊ซ นั่งสิ หลังจากนั้นเราก็มีดีลกันว่า ผมช่วยทำความสะอาด แล้วเขาจะให้อัลบั้มผมหนึ่งแผ่นกลับมาฟังที่บ้าน แล้วพอถึงบ้านผมก็จะฟังจนบ้าไปเลย ร้องได้ทุกโซโล ฟังด้วยความสนุก เรียกว่าอยู่ดีๆ ก็ชอบแจ๊ซ โดยไม่ได้มีใครมาบังคับ อาจารย์ท่านนี้ยังชวนนักดนตรีแจ๊ซระดับโลกมาเล่นสดให้เด็กๆ ฟัง หลายๆ ครั้งทุกปี

ต่อมาผมออดิชั่นเข้าวงอะแคปเปลล่าของโรงเรียนชื่อ Angelaires ได้ จากผู้สมัคร 70-100 คน คัดเลือกประมาณ 12 คน ในวงนั้นเราจะได้ร้องทั้งกอสเปล คลาสสิก แจ๊ซ บางทีก็มีเล่นกับริธึ่มเซกชั่นบ้าง พอใกล้จะเรียนจบ ยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อ เพราะมีความสนใจหลายด้าน รวมถึงพวก Sociology พอดีได้ไปแจ๊ซแคมป์ของ UNC หรือ University of Northern Colorado แล้วได้รับการแนะนำว่า ตอนนี้ที่ UNC มีหลักสูตร vocal jazz แล้ว ผมก็เลยตัดสินใจไปเรียน vocal jazz ที่ UNC 

เรื่องเครื่องดนตรี ก่อนหน้านั้นผมหัดเล่นเปียโนกับเบสด้วยตัวเองมานานแล้ว แต่เพื่อนแม่บอกว่า ถ้าอยากเล่นในวงออร์เคสตร้าที่โรงเรียนมัธยม เล่นเปียโนไม่มีทางรุ่ง เพราะมีมือเปียโนเยอะมาก แต่ถ้าเล่นเบส การันตีตำแหน่งได้เลย เพราะมือเบสหายาก ผมก็เลยหัดเล่นเบสเองมาเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น ไม่ได้รับงาน แต่พอเรียนมหาวิทยาลัย เริ่มมีคนเห็นว่าเราเล่นเบสได้ด้วย ก็ให้งานโน่นนี่ ในใจคือ จะให้เราเล่นทำไม มีมือเบสเก่งๆ เยอะแยะ แต่เขาบอกว่า ไม่ค่อยมีใครที่เล่นเบสแล้วร้องเพลงได้ด้วย ก็เป็นสิ่งที่ทำให้แวลูของเราสูงขึ้น

พอมาเรียนที่ UNC ผมก็ไม่เคยคิดนะว่าตอนนี้ตัวตนเราเป็นแจ๊ซแล้ว ไม่เคยแยก เพราะว่าเวลากลับบ้านก็ยังต้องร้องกอสเปลอยู่ดี อีกอย่างคือตอนเด็กๆ ครอบครัวไม่ได้สอนให้มองโลกแบบขาวดำสักเรื่องเลย เขาไม่เคยบอกว่าผู้ชายไม่ร้องไห้นะ แมนๆ ต้องทำอย่างนี้ ทำให้โตมามีแต่คนคิดว่าผมเป็นเกย์ เพราะว่าไม่ได้เป็นแบบ ‘แมนๆ’ ขนาดนั้น ตอนเด็กๆ เวลามีคนบอกว่า ลูกผู้ชายต้องเล่นกีฬาสิ แม่จะตอบว่า เสือก มึงเลี้ยงลูกตัวเองให้ดี ถ้าเขาอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ปล่อยให้เขาเป็น แล้วพอเป็นดนตรีก็ยังมีหลายๆ คนที่บอกว่า UNC เองเหรอ ทำไมไม่ไปมหาวิทยาลัยโน้นนี้ แม่ก็โพสต์ด่าลงเฟซบุ๊กเป็นย่อหน้าเลย ใครมีอะไรจะพูดก็พูดต่อหน้านะ แต่ต่อให้จะพูดต่อหน้าก็ไม่ฟังอยู่ดี จูเลี่ยนเขาเลือกเรียนที่นี่เพราะว่าเขาอยากไป แม่ยังบอกผมว่าไม่ต้องไปอธิบายให้ใครฟังด้วย มึงไปเพราะอยากไป แค่นั้น นี่คือฟีลของแม่เรา ทั้งบ้านก็ประมาณนี้ แรงทุกคน

UNC เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งทุกอย่างดูธรรมดาไปหมดถ้าไม่รู้ว่าโปรแกรมดีแค่ไหน หลายคนรู้สึกว่าด้วยความสามารถของผม ผมน่าจะได้ไปที่ไหนสักที่ที่มีหน้ามีตากว่านี้หน่อย แต่อย่างเบิร์กลีย์ 80,000 เหรียญต่อปี ผมจะไปเอาเงินมาจากไหนล่ะ ที่ UNC ถูกกว่า และคุณภาพยังดี ใครจะรู้ ถ้าผมไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่น ตอนนี้ผมอาจจะอยู่ที่เดนเวอร์ คงไม่ได้มาอยู่ที่เมืองไทย 

จากเดนเวอร์ถึงตลิ่งชัน 

UNC มีเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ ทุกปีจะมีหนึ่งวงจากศิลปากรที่ได้ไปเล่นงานแจ๊ซเฟสติวัลของเรา ตอนอยู่ปี 3 ผมได้เจอเด็กไทยคนหนึ่ง ตอนนั้นเขาเรียนปี 4 ที่ศิลปากร เขาดูตื่นเต้นกับทุกอย่างที่โน่นและมีแต่คำถาม ถามทุกอย่าง วิชานี้เป็นยังไง ทำไมทุกคนเก่ง เรียนอิมโพรไวซ์ยังไง แต่ละคำถามที่เขาถาม เรารู้สึกว่า ทำไม ที่โน่นไม่มีเหรอ คือเรายินดีที่จะตอบนะ แต่งงว่าทำไมถึงต่างกันขนาดนั้น ก็สงสัยว่าคนไทยขาดอะไร

จนได้คุยกับอาจารย์คนหนึ่ง เป็นคนไทยสอนที่โน่น ชื่ออาจารย์แนน (จิตตพิมณ์ แย้มพราย) เขาบอกว่า จูไปดูเองสิ น่าจะน่าสนใจมากนะ ได้ไปเวิร์กช็อป ไปสืบเองเลย เราก็คิดว่า ได้นะ ได้เลย อาจารย์แนนก็ช่วยติดต่อ จนผมได้มาเวิร์กช็อปอยู่ที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เหมือนมาทำงานเลย ด้วยความเป็นคนไทยมั้ง เห็นว่ามีเกสต์ ลุยเลยครับ เอาเลย ให้ผมสอน 3 วิชา เมเจอร์ที่เป็นการร้องเพลงตัวต่อตัว วิชาวงใหญ่ และวงอะแคปเปลล่า สอนบ้าง ปาร์ตี้บ้าง เที่ยวนิดหน่อย กินข้าวจนสงสารส้วม กินไม่รู้เรื่องเลยทริปนั้น

วันสุดท้ายที่ผมอยู่ที่นี่ ผมเข้าออฟฟิศของคณะพอดี ได้คุยกับอาจารย์วุฒิชัย เลิศสถากิจ คณบดี ผมก็ขอบคุณเขาสำหรับทุกอย่าง อุตส่าห์ให้เด็กมาดูแล พาไปเที่ยว พาไปกินข้าวให้เราไม่เหงา เขาบอกว่า ปิดประตูครับ นั่งเลยครับ ปีหน้าจะทำอะไร สนใจมั้ย สอนประจำที่นี่ เราก็ตกใจ สะดุ้งเลย ตอนนั้นอายุ 21 เอง ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ 

พอกลับไป ทุกคนที่บ้านก็ถามว่า เป็นยังไงบ้าง ตอบว่าดีก็ยังไม่พอ เพราะว่าชีวิตกำลังจะเปลี่ยน ถ้าผมไปจริงๆ ทุกอย่างจะเปลี่ยน คือถ้าอยู่บ้าน ผมก็มีแพลนของผม ย้ายกลับบ้านไปอยู่กับแม่ ทำงาน อาจจะไปออดิชั่นวงนั้นวงนี้ เก็บเงินเรื่อยๆ พอมีเงินเก็บประมาณหนึ่ง ก็จะออกไปหาอพาร์ตเมนต์ของตัวเอง ตอนนั้นเร่ิมมีงานจากอาจารย์ด้วย มีงานเล่น งานอัด ทุกอย่างกำลังไปได้ดีสำหรับที่เดนเวอร์

แต่ทีนี้ผมรู้สึกว่ามันมีอะไรสักอย่างที่นี่ โอเค โอกาสในการเล่นอาจจะไม่เลิศเท่าที่โน่น แต่ว่าพอมองเป้าหมายของตัวเองตอนมาอยู่ไทยแค่สองอาทิตย์นั้นเพื่อที่จะมาเวิร์กช็อป เห็นว่า คนไทยขาดจริงๆ นะ ขาดอาจารย์ที่มีประสบการณ์ ไม่ใช่ทุกคน และไม่ใช่ทุกที่ พูดอย่างนี้เดี๋ยวโดนแหกหน้า แต่ว่าคนที่จบแจ๊ซ ไปเล่นแจ๊ซ แล้วก็สอนต่อด้วย มีน้อย ขณะที่หลายๆ คน พอร้องเพลงแจ๊ซได้บ้าง เรื่องทฤษฎีไม่ค่อยรู้ แต่ก็อุตส่าห์ไปสอนเด็กต่อ หลายๆ ที่อยากมีแจ๊ซ แต่ว่าอาจารย์ที่สอนไม่ตอบโจทย์ ซึ่งเด็กบางทีเรียนอะไรก็ไม่รู้ คือไม่ได้รู้สึกว่าเดี๋ยวผมจะไปเซฟประเทศไทยเอง แต่แค่รู้สึกว่าการเรียนที่ UNC มันดีมาก ถ้าผมไปกระจายให้คนอื่น น่าจะดี อย่างน้อยสำหรับที่นี่ที่เดียว ระดับประเทศยังไม่ต้องไปพูดถึง

ผมกลับไปคิดไปปรึกษาครอบครัว ถามอาจารย์ก่อน ว่าเราพร้อมมั้ย ทุกคนก็บอกว่า อะไรที่ไม่พร้อม ก็เชื่อว่าผมจะค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ พัฒนาตัวเองได้ ตอนเด็กไทยที่ได้เจอที่นี่ไป UNC เพื่อที่จะเล่นเฟสติวัล ผมเริ่มรู้สึกว่านี่ไม่ใช่แค่กลุ่มเด็กไทยเฉยๆ นี่คือครอบครัว ลูกศิษย์ อนาคตของผม เขาก็เลยให้ผมดูแลเลย ขับรถให้ หาร้านอาหารให้กิน มีวันหนึ่งที่ทำกับข้าวมั่วๆ ทุกคนนั่งพื้นที่อพาร์ตเมนต์ผมที่โน่น โคตรสนุกเลย

แต่เศร้าที่สุดคือปรึกษาแฟน เขาเรียนเกี่ยวกับการเงิน ไมเนอร์ฝรั่งเศส ตอนนั้นเขาได้งานที่ฝรั่งเศสด้วย ตอนเขาถามว่าทำยังไงดี เราก็บอกว่า เธอไปตามฝันเลย ไม่ต้องคิดถึงเราขนาดนั้น เพราะว่าตอนนั้นดูเหมือนว่าเราจะเป็นคนเดียวที่อยู่อเมริกา แล้วพอเราได้งานที่ไทยอีกคน ถามตัวเองว่าต้องทำยังไง เราก็ต้องบอกตัวเองอย่างนี้เหมือนกัน 

ครั้งหลังสุดที่คุยกัน ตอนนั้นเราอยู่บ้านเดียวกัน รู้สึกว่าถ้าเลิกกันตอนนี้ พอถึงวันที่ผมบินมันน่าจะง่ายกว่าทำทุกอย่างให้ปกติจนโมเมนต์นั้นแล้วค่อยเลิกกัน แต่ทั้งสองเวย์ก็แย่พอกัน วันนั้นร้องไห้โคตรหนัก จนตอนเช้าไปเรียนทุกคนถามว่าหน้ามึงเป็นอะไร โดนกระทืบมาเหรอ มันเป็นความจำเป็นของทั้งคู่ เป็นเรื่องที่ยากมากจริงๆ

สุดท้าย ผมกลับบ้านไป 3 เดือน เรียนจบเรียบร้อย เก็บเงินได้ประมาณ 3-4 หมื่นบาทที่โน่น แล้วก็ย้ายมาเลย รอเงินเดือนเดือนแรก เรียกว่าตอนมาผมไม่มีอะไรเลย คิดว่ามาทำงานที่นี่ก็ลุยไปก่อน ไม่เพอร์เฟกต์แน่ๆ ผมจะพูดอยู่บ่อยๆ ว่า ถ้าเป็นต่างชาติมาอยู่ประเทศไทยแล้วเกลียดทุกอย่าง คุณเป็นคนโง่ ถ้ามาแล้วชอบทุกอย่าง ก็โง่เหมือนกัน พอประเทศไทยมีอาหารอร่อยๆ สาวสวยๆ อากาศดีตลอดเวลา อย่าไปคิดว่าขึ้นสวรรค์แล้ว ชีวิตไม่ว่าจะใช้ที่ไหนก็เป็นชีวิต 

จากพี่เบิร์ดถึงมิลลิ 

นอกจากการสอนในมหาวิทยาลัยแล้ว งานที่มาทีหลังก็เป็นโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับผมเช่นกัน จากงานสอน ก็มีงานเล่นตามร้าน คือถ้าสอนวิชาปฏิบัติเราก็ควรมีเล่นด้วยอยู่แล้ว จนกระทั่งต่อมาผมได้มาทำเพลงและร่วมงานกับศิลปิน

งานคอนเสิร์ตพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ นั้น ผมได้มาเพราะว่ามีมือแซ็กคนหนึ่งชื่อพี่อ้น (พิสุทธิ์ ประธีปะเสน) เล่นให้วง The Photo Sticker Machine เขาเคยเล่นงานพี่เบิร์ดหลายครั้งแล้ว มีช่วงหนึ่งผมจะไปเล่นอัลบั้มของตัวเองที่ทำตั้งแต่ตอนอยู่ที่โน่นในร้านเล็กๆ เพิ่งเปิดใหม่ (ชื่ออัลบั้มว่า heaven? indeed หาฟังได้ใน Spotify) แล้วหามือแซ็กไม่ได้ มีแต่คนบอกว่าคนนี้เก่งนะ ก็เลยชวนเขามาเล่น เขาแกะเพลงละเอียดมาก ตั้งใจซ้อม เล่นด้วยกันจนสนิท

พอพี่อ้นเห็นว่าผมเขียน arrangement ยังไง แต่งเพลงประมาณไหน เขาก็บอกว่ามีคนหนึ่งชื่อ พี่โหน่ง (วิชญ วัฒนศัพท์ – The Photo Sticker Machine, หัวลำโพง ริดดิม) เขากำลังทำคอนเสิร์ตของพี่เบิร์ด ธงไชย จูมามั้ย จำได้วันนั้นอยู่ในโถงที่คณะ แล้วเขาพูดชวนด้วยเสียงปกติ ไม่ได้กระซิบ ลูกศิษย์รุ่นแรกที่สนิทกับผมตั้งแต่ตอนเวิร์กช็อปเดินผ่านได้ยินก็ตะโกนกันใหญ่ มึงจะไปทำงานกับพี่เบิร์ดเหรอ! มึงรู้จักพี่เบิร์ดมั้ย! เฮ้ยๆ ไอ้จูจะไปทำงานกับพี่เบิร์ด! เอะอะโวยวายแบบชาวบ้านเลย แล้วทุกคนก็เต้นเพลงเลิฟวิ่งยูทูมัชกัน น่ารักมาก

แต่ตอนนั้นงานพี่เบิร์ดโดนแคนเซิลเนื่องจากโควิด (ก่อนที่จะกลับมาทำในปีนี้) แต่เหมือนพี่โหน่งยังสนใจในตัวผม ตอนนั้นเขาเพิ่งเริ่มทำสกอร์ให้หนังเรื่อง One for the Road พอดี เขาบอกว่า โอเค เพลงซาวนด์แทร็กทั่วไปเดี๋ยวพี่ทำ แต่ว่าจะมีเพลงแจ๊ซที่บางทีจะต้องเปิดอยู่ข้างหลังในหนัง อยากให้อ้นกับจูแต่งทุกเพลง ซึ่งผมได้ร้องเพลงในหนังเรื่องนี้ด้วย แต่มันจะเป็นเสียงร้องแบบที่ไม่มีเนื้อเพลง

พอพี่โหน่งได้ยินเสียงผมแล้วรู้ว่าสไตล์ประมาณไหนหรือว่าทำอะไรได้บ้าง เขาก็เริ่มคิดเรื่อง The Photo Sticker Machine และชวนผมมาเล่นกับวง ผมได้เขียนเนื้อให้เพลงหนึ่ง ชื่อว่า Re: ส่วนงานแรกที่ได้เล่นกับวงคืองาน Cat Expo 8 ผมแกะเพลงจนหูดับเลย เพราะอยากเล่นให้ได้ แต่มันยากมาก เพราะว่าวงนี้เขาไม่ได้ทำเพลงเพราะอยากได้เงินหรืออยากได้แฟนคลับเยอะๆ แต่เขาทำตามใจ ซึ่งแต่ละเพลง บางเพลงดูป๊อปมาก บางเพลงมีกลิ่นแจ๊ซที่ค่อนข้างแรง บางเพลงก็แทบจะอาวองการ์ดไปเลย อยู่ที่ศิลปินที่เขาชวนด้วย ปกติเขาจะเปลี่ยนนักร้องเรื่อยๆ ไม่มีนักร้องประจำ แต่เนื่องจากผมเล่นเบสได้ด้วย คุณค่าของผมก็สูงอีกแล้ว 

ตอนเล่นที่ร้าน Brown Sugar มีคนทำซาวนด์ชื่อพี่อ๋อง (ชัยวัฒน์ ศาตากร) เราเจอกันบ่อย เพราะว่าตอนนั้นผมเล่น 2 วัน วันพุธกับวันศุกร์ มีวันหนึ่งเขาถามว่า จูชอบแร็พมั้ย ชอบแร็พเปอร์คนไหนที่สุด ผมบอกว่า Kendrick Lamar เขาบอก เหรอ! ชอบเหมือนกัน แล้วเราก็จะนั่งคุยเรื่อง Kendrick Lamar จนสนิทเลย 

เมื่อประมาณปีที่แล้ว พี่อ๋องเขาไปได้งานเป็นมิวสิกไดเรกเตอร์ของค่าย YUPP! พอดีว่านวยหรือมิลลิ เขาหาคนสอนร้อง มิลลิเขาร้องได้อยู่แล้ว แต่เขาอยากพัฒนา เพราะว่าเพลงที่เขาต้องร้องไม่ใช่แร็พอย่างเดียว เริ่มเยอะขึ้น เช่นต้องไปฟีเจอริ่งกับคนอื่น รวมถึงการเล่นเปียโนด้วย มิลลิเป็นคนตั้งคำถามเรื่อยๆ แนวนี้คืออะไร มาจากไหน อันนี้ต้องเล่นยังไง พี่อ๋องก็เลยบอกว่าถ้าอยากเรียนกับใคร ต้องเรียนกับคนนี้เลย เขาก็แนะนำผม

จำได้ว่าวันนั้นเพิ่งเล่นเสร็จ กำลังนั่งแท็กซี่กลับบ้านแบบหมดสภาพ พี่อ๋องโทรมาบอกว่า มีนักเรียนอยากเรียนด้วย ใครครับ พอเปิดมาเป็นรูปหน้านวย สะดุ้งเลย หลังจากนั้นก็ได้มาเป็น Vocal Director ให้ทางค่าย YUPP! ด้วย จริงๆ หลักๆ หน้าที่เราก็คือช่วยคุมอัด แต่ว่าศิลปินเขาอยากเรียนข้างนอกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าจะได้คุยกันรู้เรื่อง แต่ละอย่างที่เราเรียน เราจะได้เอาไปใช้ในสตูดิโอได้เลย ไม่เหมือนอยู่ดีๆ เดินเข้ามาในสตูดิโอ สวัสดีครับ ชื่อจูเลี่ยนครับ มาคุมอัด อย่างนี้เขาก็จะเกร็งไปหมด และอาจจะไม่เข้าใจแต่ละอย่างที่ผมจะพูด ถ้ามันเป็นเรื่องเทนนิคัลมากๆ 

พูดถึงนวย แต่ละครั้งที่เจอกันก็ 2 ชั่วโมงกว่า วันแรกคิดว่าจะเรียนร้องเพลงอย่างเดียว เขาบอกว่า พี่จูคะ อยากอิมโพรไวซ์ให้เป็น เราก็เริ่มจากบลูส์ก่อน บลูส์นี่มาจากไหนคะ? งั้นขอเวลาอีก 15 นาที แล้วเราก็อธิบายบลูส์ อเมริกาเคยมีทาสด้วยเหรอ? ขออีก 15 นาที สุดท้ายก็ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ผมบอก โอเคนวย ถ้าจะมาเรียน หาเวลาสัก 2 ชั่วโมงเต็มๆ เลย เราจะได้ไม่ต้องรีบ จะได้พูดถึงทุกอย่าง แล้วก็ถามได้ทุกเรื่อง ล่าสุด เขาบอกว่าอยากประสานเสียงให้ได้ เราก็เลยนั่งอยู่ในห้องนั้น ให้เขาโดนเหมือนที่ผมโดนตอนเด็กๆ หาพาร์ตของตัวเอง ร้องทั้งเพลง

การเป็น Vocal Director คุมร้อง ถ้ามันเป็นแร็พอย่างเดียว แล้วมีมิวสิกไดเรกเตอร์หรือพี่อ๋องอยู่ด้วย เขาคุมแร็พได้ ผมจะไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ถ้าสมมติผมอยู่ ก็จะเป็นเรื่อง flow เรื่องจังหวะ เรื่องเนื้อเสียงที่ควรใช้ เช่นสมมติมันเป็นแบบแร็พประชดๆ แล้วที่เขาอัดมันไม่ประชดพอ เราก็จะขอเพิ่ม จริงๆ แล้วเราเป็นเหมือนหูสำรอง นั่งช่วยกันในห้องเพื่อบอกว่าเอาแบบนี้ ดีกว่านี้ได้นะ หรือต้องทำยังไง คอยแนะนำ แต่ถ้าคุมร้องจริงๆ มันจะเทคนิคัลกว่านี้ ละเอียดกว่านี้ ถ้าร้องไม่ถึง ผมจะต้องค่อยๆ เข้าไปดูว่า ท่ายืนเป็นยังไง หายใจถูกต้องมั้ย ยกไหล่มั้ย แบบนี้ไม่เอานะ แล้วก็ต้องค่อยๆ จัดการเรื่องร่ายกาย ทุกครั้งที่ไปคุมอัดก็จะต้องคอยจิ้มๆ หรือช่วยบีบท้องให้

จากใบไม้ถึงก้อนหิน 

ผมไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ดูแค่ปัจจุบัน แล้วจัดการทุกเรื่องในปัจจุบันให้ได้ ประโยคที่น่าเศร้าที่สุดที่ผมจะพูดออกมาก็คือ ทุกวันนี้ผมไม่มีความฝันแล้ว เมื่อก่อนจะมีอยากเล่นเวทีนั้น อยากเล่นกับวงนี้ มันจะดูเป็นความฝัน เหมือนพยายามที่จะเกาะก้อนเมฆ ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงๆ หรือเปล่า แต่ตอนนี้เหมือนทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วไป จนรู้สึกว่าอะไรที่อยากทำ ถ้าเราเดินทางประมาณนี้ เดี๋ยวก็มา ไม่มีอะไรที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ จนต้องไปหาสิ่งนั้น ตอนนี้มันนิ่งไปหมด

ทุกวันนี้ก็ไม่เชิงแฮปปี้ แล้วก็ไม่อยากแฮปปี้ด้วย แฮปปี้มันทำให้เราหยุด รู้สึกว่าความแฮปปี้มันเหมือนใบไม้ในแม่น้ำ ตามกระแสไปไหนก็ได้ แต่ถ้าเรานิ่งจริงๆ ประสบการณ์มันไม่เปลี่ยนนะ แต่ว่าวิธีมองแต่ละประสบการณ์จะเปลี่ยน แฮปปี้เกินไปก็ไม่ดี เซ็งเกินไปก็ไม่ดี ถ้าแฮปปี้เกินไปก็จะต้องมีเซ็งเกินไป สวิงไปขวา ก็ต้องสวิงไปซ้ายด้วย แต่ถ้าอยู่นิ่งๆ ตรงเซ็นเตอร์ นิ่งแต่ว่ายังมีสวิงบ้าง น่าจะพอดีกว่า ดังนั้นผมจึงไม่อยากแฮปปี้ 

แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่า ถ้าไม่ต้องแฮปปี้ก็ไม่ต้องทำอะไร นั่งเรื่อยเปื่อย อย่างนี้เรียกว่า Nihilism ก็คือชีวิตไม่มีเหตุผล แต่มันจะมีสองแบบ คือ Passive Nihilism คนเราเดี๋ยวก็ตายแล้ว จะพยายามไปทำไม นั่งนิ่งๆ กับ Active Nihilism เพราะว่าเดี๋ยวก็ตายกันหมด ชีวิตคนเราจึงเปราะบางมากๆ ฉะนั้นทำทุกอย่างในปัจจุบันให้มีคุณค่า ให้ไม่เสียเวลา ซึ่งผมก็จะเป็นสายแอ็กทีฟ 

ผมรู้สึกว่า ถ้าชีวิตของผมหรือแต่ละอย่างที่ผมทำ มันสามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ถ้าทำได้แค่นั้นก็โอเค ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ถามว่าเป็นคนอย่างนี้สำหรับคนอื่นมีความสุขมั้ย ก็ไม่เชิงมีความสุขนะ แค่รู้สึกว่า มีดจะรู้สึกยังไงเวลาคมพอตอนทำอาหาร มีดไม่ได้ลุกขึ้นเต้น แต่มันทำหน้าที่ และพร้อมที่จะทำต่อ เมื่อก่อนจะรู้สึกว่าเป็นพระเอก แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเป็นเครื่องมือของพระเจ้า เป็นเครื่องมือของจักรวาล อัลลอฮ์  ไม่ว่าจะเรียกว่ายังไงก็ตาม รู้สึกว่าอย่างนี้มันจะนิ่งที่สุด มันทำให้เรามีทางให้เดิน ทำให้แต่ละอย่างที่ผมทำ ทำได้อย่างละเอียดอ่อน ระมัดระวัง

สำหรับตัวเอง ผมไม่ต้องการอะไรแล้ว พูดได้แบบนั้นเลย เพราะว่าแต่ละอย่างที่ผมยึดติดมันหนักมากแล้ว อยากให้ครอบครัวมีสุขภาพดี มีความสุข จริงๆ การอวยพรแบบนี้แสดงให้เห็นว่าไม่เข้าใจธรรมชาติ ขอให้มีความสุขทุกวันในปีนี้ มันไม่จริง เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ แล้วปีหน้าล่ะ จะเป็นยังไง คือต้องสวิง มีขาวก็ต้องมีดำ 

รู้สึกว่าขอให้ตัวเองและทุกคนมีความเป็นหินในกระแสแม่น้ำ แล้วถ้าคนอื่นทำไม่ได้ ผมหวังว่าตัวเองจะได้เป็นหินสำหรับคนอื่น เป็นหินให้เกาะ เป็นหินให้มองก็ได้ อยากจะเป็นเส้นนิ่งให้คนอื่น เพราะส่วนตัวไม่รู้จะไปไหนต่อ ไม่รู้จะทำอะไรต่อ แต่ผมเชื่อว่าถ้าปล่อยให้ธรรมชาติเป็นธรรมชาติ เดี๋ยวผมก็ไปแล้ว โอกาสต่างๆ จะมามันก็มา แต่ละโอกาสที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นงาน YUPP! พี่เบิร์ด มิลลิ ได้เพราะว่าผมอยู่เฉยๆ ทำในสิ่งที่ตัวเองทำเรื่อยๆ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนสังเกตแล้วบอกว่า จูมาทำอันนี้ด้วยกันสิ ผมก็รู้สึกว่า โอเค เราต้องไป แต่ไม่เคยนั่งคิดว่าอะไรต่อ ไม่เป็นไร เดี๋ยวสิ่งนั้นจะมาหาเรา 

ถ้านิ่งพอแล้ว เชื่อว่า เราไม่ต้องวิ่งไปสู่อนาคต เดี๋ยวอนาคตมันจะถอยหลังให้เป็นปัจจุบันของเรา แล้วพอจบแล้ว ไม่ต้องบีบให้อยู่ในโมเมนต์นั้นตลอดไป เดี๋ยวปัจจุบันของเราก็จะเป็นอดีตของเรา 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ