Hayd เจ้าของเพลง ‘Head in the Clouds’ ผู้แต่งเพลงเศร้าจากเรื่องส่วนตัวเพื่อเยียวยาไม่ให้คนรู้สึกโดดเดี่ยว

ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นศิลปินที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักจากการแต่งเพลงเศร้า เนื้อเพลงพูดถึงความโดดเดี่ยว การจากลา และสับสน หลงทาง ราวกับอยู่ตัวคนเดียวบนโลก ด้วยเพราะเพลงแบบนี้อาจทำให้คนฟังหลายคนเข้าใจว่าหากฟังไปแล้วจะยิ่งเศร้ากว่าเดิม

แต่ Hayd ศิลปินจากสหรัฐอเมริกา ไม่ได้คิดเช่นนั้น กลับกันเขาเชื่อว่าเพลงเศร้าคือเพื่อนที่ดีที่สุดที่คอยอยู่เคียงข้างในวันที่โลกไม่ได้ใจดีกับเรา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขามุ่งมั่นแต่งเพลงที่มาจากอารมณ์เศร้าข้างในตัวเขา เพื่อเยียวยาไม่ให้ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวเกินไป

Hayd หรือ Hayden Hubers นักร้อง-นักแต่งเพลง เจ้าของเพลงฮิต Head in the Clouds ที่พูดถึงการจากลาของเพื่อนสนิทในวัยเด็ก ไม่ต่างจากเพลงส่วนใหญ่ของเขาที่มักเต็มไปด้วยอารมณ์หม่นๆ แต่ความสำเร็จจากยอดสตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง Spotify Tiktok หรือ Instagram นับล้านครั้ง ก็เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าเพลงของเขาเข้าไปอยู่ในใจของคนได้ แม้ไม่ได้มีดนตรีที่หวือหวา หากแต่ใช้เพลงเสียงร้องและเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น

ในเวลาเพียง 3 ปี เขากลายเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เขาเพิ่งบินมาทัวร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต้นที่เวียดนาม สิงคโปร์ ก่อนแวะมาที่ไทยเมื่อเดือนตุลาคม เพื่อแสดง Showcase Acoustic “Lost In Bangkok: Where Music Meets Art” เราจึงไม่พลาดที่จะทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น เพื่อพูดคุยกับเขาถึงเส้นทางที่ผ่านมา และเบื้องหลังการทำเพลงเศร้าที่เป็นตัวแทนความรู้สึกของใครหลายคนนับล้าน 

บ่ายวันหนึ่ง บนตึกสูงย่านสวนหลวง Hayd มาพบเราด้วยเสื้อสีแดงสดตัดกับกางเกงทรงบอลลูนสีฟ้า ขับเน้นความรู้สึกสดใสมากในบ่ายวันนั้น จนเราเริ่มไม่แน่ใจว่าเขาจะเป็นคนเต็มไปด้วยอารมณ์เศร้าเหมือนอย่างเพลงหรือเปล่า 

ทันทีที่เครื่องอัดเสียงทำงาน ทั่วทั้งห้องก็เต็มไปด้วยเรื่องราวและรอยยิ้มที่เขาตั้งใจเล่าให้เราฟัง 

อกหักครั้งแรกและการแต่งเพลงในห้องนอน

ย้อนกลับไปก่อนที่ Hayd เด็กหนุ่มวัย 21 จะเริ่มเดินทางในสายดนตรี เขาเติบโตในรัฐมิชิแกน เมืองเล็กๆ ในภูมิภาค Midwest มีเปียโน หนังสือ และการเขียนบทกวี เป็นเพื่อนเล่นในวัยเด็ก ชีวิตดำเนินไปอย่างเรียบง่ายในเมืองนี้

การเล่นเปียโน และการแต่งบทกวีสามารถทำให้เขากลายเป็นนักดนตรีได้ เพียงแต่ทั้งสองสิ่งนี้ไม่เคยได้มาบรรจบกัน จนกระทั่งเรื่องราวคลาสสิกอย่างการอกหักครั้งแรก กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาลุกขึ้นมาแต่งเพลงเพื่อระบายความเศร้าในช่วงเวลานั้น 

“ประมาณอายุ 16 ผมอกหักแล้วทุกอย่างก็มารวมกันอยู่ในห้องนอน ตอนนั้นผมก็เริ่มเขียนเพลง ในเพลงนั้นมีอารมณ์ที่ออกมาจากข้างใน มันรู้สึกสบายใจที่ได้พูดออกมาและนั่งใคร่ครวญเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วใส่ทุกอย่างลงไปในเพลง” 

หลังจากนั้นเขาเริ่มแต่งเพลงมากขึ้นในห้องนอน และฝึกฝนเรียนดนตรีจาก YouTube แล้วอัปโหลดลงบนยูทูบ ไม่นานเพลงของเขาก็ถูกนำไปใส่เพลย์ลิสต์ในช่องที่มีคนติดตามนับล้านคน นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จัก และ Hayd ทำสิ่งที่ทำให้มีคนรู้จักเขามากขึ้นนั่นคือการส่งอีเมลไปหาชาแนลต่างๆ บนยูทูบเพื่อแนะนำตัว

“ผมรีเสิร์ชอีเมล จากนั้นก็อีเมลไปหาพวกเขาเกี่ยวกับเพลงของผม แบบ copy-paste อีเมล แค่เปลี่ยนชื่อ เขียนไปว่า ‘เฮ้ ผม Hayd นะ ชอบชาแนลของคุณมากเลย เพลงใหม่ของผมเกี่ยวกับแบบนี้’ แล้วผมก็ทำแบบนั้นทุกครั้งที่ผมปล่อยเพลงใหม่ เริ่มสานสัมพันธ์กับชาแนลเหล่านี้เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้รู้จักผม แล้วใส่เพลงของผมเข้าไปด้วย นั่นทำให้ผมเริ่มมีชื่อเสียงในตอนแรก” 

แล้วความพยายามของเขาก็ได้ผล เขาได้ปล่อยซิงเกิลแรกในปี 2019 เพลง Vacant Eyes, Superhero, I Fall Apart และ October Snow แล้วจากนั้นมันก็ถูกแปลงไปลง Spotify และได้ยอดสตรีมจำนวนมากจาก TikTok ในต้นปี 2020 

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเขาแต่งเพลง Changes, Closure และ Head in the Clouds ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากยอดสตรีมมิ่ง เขากลายเป็นนักร้องที่น่าจับตามองภายใน 2 ปี จนเริ่มมีค่ายเพลงเข้ามาติดต่อ 

จากจุดเริ่มต้นที่เขาอกหักและทำเพลงเศร้าอัปลงยูทูบ แล้ว TikTok ที่ทำให้ไปได้ไกลขึ้น แล้วตอนนี้เขาก็ทำเพลงมาได้ 3 ปีแล้ว

ชีวิตที่เปลี่ยนไปในลอสแอนเจลิส

ทันทีที่เพลงของเขากลายเป็นที่รู้จัก ชีวิตเรียบง่ายของเขาในมิชิแกนก็เปลี่ยนไปและผลักดันให้เขาต้องมุ่งหน้าสู่ลอสแอนเจลิสเพื่อทำงานในฐานะนักดนตรีแบบเต็มตัว เขาเล่าถึงความแตกต่างระหว่างเมืองมิชิแกนที่เขาเติบโตมา กับลอสแอนเจลิสที่ทำให้เขาต้องปรับตัวขนานใหญ่ จนถึงปล่อยเพลง Lost ออกมา เพื่อระบายความโดดเดี่ยวในเมืองที่ไม่คุ้นเคย

“ที่มิดเวสต์และลอสแอนเจลิส วัฒนธรรมแตกต่างกันมากๆ น่าจะคล้ายๆ ภาคเหนือกับภาคใต้ของไทย เพราะว่ามีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ที่มิดเวสต์จะค่อนข้างเน้นความเป็นครอบครัว มันเป็นแถบชานเมืองไม่ใช่เมืองใหญ่ ก็เลยมีแต่ครอบครัวและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน ผมเติบโตมาแบบนั้น ทุกคนจะพูดคุยกันแบบไนซ์สุดๆ เฟรนด์ลี่มากๆ ผู้คนมักจะไปทักทายเพื่อนบ้าน เอาของไปให้ในวันปีใหม่ เพื่อที่จะรู้จักกันมากขึ้น ชอบที่จะได้ผูกมิตรกับคนอื่น

“ส่วนแอลเอค่อนข้างเป็นส่วนตัว คุณจะโฟกัสแค่ตัวคุณเอง แต่อย่าเข้าใจผมผิดนะมันก็แค่ความแตกต่างของวัฒนธรรม ที่แอลเอคุณแค่โฟกัสไปที่หน้าที่การงาน อย่าง นักดนตรี นักแสดง เขาย้ายมาเพื่อทำงาน ดังนั้นก็เลยค่อนข้างตัวใครตัวมัน สิ่งที่ผมไม่ค่อยได้เจอในมิดเวสต์ผู้คนที่นั่นจะผลักดันผมมากๆ รูมเมทผมก็เป็นนักดนตรี เขาค่อนข้างช่วยให้ผมท้าทายสิ่งต่างๆ ไปในทางที่ผมไม่เคยได้ทำมาก่อน 

“ที่แอลเอผมชอบที่ได้อยู่กับรูมเมทที่ทำเพลง เพราะงั้นเราเลยได้ทำเพลงกันตลอด ตอนที่อยู่มิชิแกน เหมือนทั้งเมืองมีแค่ผมคนเดียวที่ทำเพลง แต่พอมาอยู่แอลเอทุกคนทำเพลงกัน ตอนนี้ผมเลยมีเครือข่ายไปไกลทั้งเมือง ได้ร่วมงานกับคนเยอะขึ้น ช่วยให้ผมทำเพลงได้ดีขึ้นมาก

“เป็นครั้งที่แรกที่ได้อยู่คนเดียว อาจจะเพราะไปอยู่ในมหาวิทยาลัย ได้ไปซื้อของเอง ได้เรียนรู้วิธีทำอาหาร ทั้งที่ผมไม่เคยทำมาก่อนจากที่แม่คอยทำอาหารให้ตลอด ตอนนี้ต้องมาทำให้ตัวเองกินบ้างแล้ว รู้สึกเหมือนกำลังเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ถึงจะดีแต่ก็ไม่เหมือนที่มิชิแกน”

 ปล่อยอารมณ์ไปกับเพลงเศร้า

เพลงส่วนใหญ่ของ Hayd มักเป็นเพลงเศร้า เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกในห้วงของการจากลาและความโดดเดี่ยว จากเรื่องราวส่วนตัว ในจังหวะช้า สบายๆ นั่นจึงทำให้เขาเป็นที่รู้จักของแฟนๆ ว่าเขาสามารถพูดแทนใจของพวกเขาได้อย่างดี

บรรดาเพลงเศร้าทั้งหลายไม่ได้เกิดจากบุคลิกเคร่งขรึมของเจ้าของเพลง กลับกันชายหนุ่มตรงหน้าเราคือคนที่ร่าเริงกว่าที่คิด และเหตุผลเบื้องหลังของเพลงเหล่านั้นคือการปลอบโยนคนฟังว่ายังมีคนที่เข้าใจพวกเขาอยู่ตรงนี้อีกคน

“ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์พวกเขามักจากเซอร์ไพรส์เพราะปกติแล้วเขาจะเห็นผมเป็นคนร่าเริงและดูมีความสุขมาก แต่พอเป็นเรื่องเพลงกลับเศร้า 

“หลายคนมักเข้าใจผิดว่าถ้าคุณเศร้า แล้วจะไปฟังเพลงเศร้าอีกทำไม มันไม่ช่วยอะไร แต่ผมคิดว่าเพลงเศร้ามันมีพลังมากกว่านั้น เวลาที่พวกเขาดิ่ง หงุดหงิด ก็อยากจะรีเลตกับอะไรสักอย่างหนึ่ง” เขาแก้ข้อสงสัย ก่อนพูดต่อไปว่า “มันช่วยได้เยอะมากถ้าเราได้คุยกับใครสักคน หรือได้ยินเพลงที่รู้สึกว่าเหมือนกับสิ่งที่ฉันเจอเลย ฟังดูแปลกนะ แต่มันก็ช่วยได้จริงๆ ผมคิดว่าเวลาได้ยินเพลงเศร้าหรือเพลง emotional ตอนที่รู้สึกเศร้า มันทำให้รู้สึกดีขึ้น อย่างตอนที่ผมฟังเพลงเศร้าผมไม่ได้รู้สึกเศร้า แต่กลับรู้สึกสบายใจกว่าเดิมเหมือนได้กอดอุ่นๆ แบบ ‘ว้าว คนนี้รู้สึกเหมือนฉันเลย’ ผมจะรู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว”

การทำเพลงของเขาส่วนใหญ่จึงเริ่มต้นด้วยการค้นหาอารมณ์เพลงที่ใช่ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอารมณ์เศร้า) ตามด้วยเมโลดี้ แล้วจึงใส่เนื้อเพลงเข้าไปทีหลัง เราพบว่าเขาเป็นคนที่รู้จักอารมณ์ของตัวเองอย่างลึกซึ้ง และพยายามถ่ายทอดมันออกมาเพื่อเชื่อมโยงกับคนอื่น

“เวลาทำเพลงผมจะโฟกัสไปที่อารมณ์ความรู้สึก” Hayd เล่าถึงวิธีการทำเพลงในแบบของตัวเอง “ปกติแล้วก็จะลองเล่นสนุกๆ กับเครื่องดนตรี อย่าง เปียโน กีตาร์ อูคูเลเล่ จนกระทั่งเจอซาวนด์ที่รู้สึกว่าใช่ ตอนนั้นผมจะเริ่มโฟกัสไปที่อารมณ์ความรู้สึก จะถามตัวเองว่าถ้าเกิดมันเป็นหนังสักเรื่อง จะเป็นซีนอะไร ซีนแบบไหนที่เพลงนี้จะไปอยู่ในฉากนั้นได้”

เขาบอกกับเราเรื่องที่มักแต่งเพลงจากอารมณ์เศร้ามากกว่าเพลงรักในความสัมพันธ์ทั่วไปว่า ช่วงที่พ่อขับรถไปส่งเขาที่โรงเรียน เขาจะได้ฟังเพลงจากวิทยุที่มักจะเป็นเพลงอกหักหรือเพลงรัก แต่ไม่มีเพลงไหนเลยที่ตรงกับความรู้สึกเขาตอนนั้น ทำให้เขาสัญญากับตัวเองว่าหากได้เป็นศิลปิน เขาจะทำเพลงที่เข้าใจผู้คน เช่นเดียวกับวง Coldplay ศิลปินวงโปรดของเขา

“ผมอยากหาศิลปินที่เชื่อมโยงกับผมได้จริงๆ ที่ไม่ใช่เพลงรักหรือเพลงอกหัก เพราะมันมีอีกหลายความรู้สึก มีหลายอารมณ์ที่ผมมี ผมบอกกับตัวเองตั้งแต่เด็กว่า ถ้าวันหนึ่งได้ทำเพลง มันจะต้องเป็นเพลงที่เกิดขึ้นจริง ต้องไม่ใช่แค่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ มันต้องเป็นสิ่งที่ลึกลงไปกว่านั้น เพราะผมคิดว่าคนต้องการอะไรแบบนี้แหละ ผมต้องการแบบนั้นมากๆ แต่ยังไม่มี”

เพลงที่เขียนขึ้นเพื่อปลอบโยนตัวเองและแม่

การจากบ้านมาสู่เมืองใหญ่ไม่เพียงแต่ทำให้ Hayd รู้สึกโดดเดี่ยวจนแต่งเพลง Lost ออกมาเท่านั้น แต่ยังทำให้แม่ของเขารู้สึกเศร้าไปด้วย เขาเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่ที่เขาย้ายมาในสัปดาห์แรก แม่เขาก็เศร้ามากจนถึงขั้นกินอะไรไม่ลง

“ผมรักพ่อแม่ผมและสนิทกันมาก แต่เพื่อทำงานเพลงผมเลยย้ายมาแอลเอ มันเป็นการย้ายที่ดีนะ และผมดีใจด้วยซ้ำที่ตัวเองเลือกย้ายมา แต่สัปดาห์แรกพ่อก็โทรมาหาประมาณว่า ‘เฮ้ เฮเดน เราคิดถึงลูกนะ อยากจะบอกว่าแม่ร้องไห้ทุกวันเลยตั้งแต่ที่ลูกไป ไม่กินอะไรเลย’ ผมถึงได้รู้ว่าแม่กำลังผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผมรู้สึกขอบคุณแม่มากจริงๆ 

“ก่อนที่จะย้ายแม่บอกผมว่า ‘อยู่กับเราเถอะ อยู่ถึงอายุ 30-40 เลยก็ไม่เป็นไร’ ผมก็แบบ ‘ผมทำไม่ได้แม่’” พอพูดจบเขาก็หัวเราะออกมา “พ่อเป็นคนที่เชียร์ให้ผมย้ายออกมา แบบ เฮเดน พ่อว่าลูกควรย้ายออกมา เพราะลูกยังเด็ก ออกไปลอง ถ้ามันไม่เวิร์กลูกกลับมาได้เสมอ แต่ถ้าไม่ออกไป ลูกจะเสียใจทีหลังที่ไม่พยายามทำอะไรเลย”

หลังจากนั้นเพลง Blindsided ก็ถูกเขียนขึ้นในมุมมองของแม่ที่มีต่อลูก เพื่อปลอบแม่ของเขาในช่วงเวลาที่ต้องห่างกัน เขาบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ยังไม่ถูกปล่อยอย่างเป็นทางการและนำมาเล่นครั้งแรกในโชว์เคสที่ประเทศไทย ทั้งยังได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากแฟนๆ โดยมีท่อนคอรัสว่า 

“I didn’t think it hurt like this, like this, like this. 

I didn’t know the answer so quick. 

I’m in blindsided cause I didn’t think it hurt like this” 

เพลงส่วนใหญ่ของ Hayd ไม่ใช่เพลงที่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์อย่างการตกหลุมรัก อกหัก อย่างที่เพลงป๊อปกระแสหลักมักหยิบมาพูดถึง แต่กลับเป็นเรื่องราวส่วนตัวที่มาจากตัวเองและคนรอบข้าง นอกจากเพลง Blindsided แล้ว ก่อนหน้านี้ยังมีเพลง Don’t go, Don’t leave ที่พูดถึงเพื่อนของเขาที่จากไปด้วยโรคมะเร็ง 

แม้แต่เพลงฮิตอย่าง Head in the Clouds ฟังแล้วดูเหมือนจะพูดถึงเรื่องราวของคนรักที่เลิกรากันไป แต่เบื้องหลังเขาเล่าว่าเป็นเพลงของความรักที่บริสุทธิ์ของเพื่อนสนิทในวัยเด็กการค่อยๆ แยกย้ายกันไปเติบโต

“Head in the clouds เป็นสำนวนในอเมริกา หมายความว่าคุณไร้เดียงสาแต่คิดว่ารู้ทุกอย่าง ทั้งที่ในความเป็นจริงคุณไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นตอนเด็กๆ เราเลยมักจะพูดกันว่าเราจะเป็นเพื่อนกันตลอดไป ผมว่าเจตนามันก็บริสุทธิ์แหละ แต่เราไม่เข้าใจว่าชีวิตมันจะเป็นยังไง บางทีช่วงชีวิตก็ทำให้เราต้องแยกกัน เป็นเรื่องธรรมดา บางครั้งในชีวิตก็จะมีเพื่อนที่ผ่านเข้ามาแล้วผ่านไป คุณจะมีคนที่อยู่กับคุณในช่วงหนึ่งที่อยู่เป็นเพื่อนคุณจริงๆ แต่เขาก็จะไป มันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ผมเลยเขียนเพลง Head in the Clouds หลังจากมัธยมที่ผมไม่ได้เจอเพื่อนมาเป็นปีเลยรู้สึกเศร้ามาก ผมเขียนเพลงนี้เพื่อนึกถึงวันที่พวกเรายังไร้เดียงสา แต่หลังจากนั้นเราก็แยกกันไปช้าๆ มันเศร้าแต่มันก็โอเค

“แต่สิ่งที่เจ๋งมากเลยก็คือก่อนที่ผมมาทัวร์เอเชีย ผมก็คืนดีกับเพื่อน ได้เจอกันครั้งแรกหลังจากที่ไม่ได้เจอกันเป็นปี เราก็ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและออกไปเที่ยวด้วยกัน ก็จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เราได้คืนดีกัน” Hayd เล่า

Hayd บอกว่าสำหรับเขาแล้ว เพลงนี้ความหมายและเกี่ยวกับเรื่องราวส่วนตัวมากๆ ที่เขียนขึ้นในห้องนอนของตัวเอง แต่ตอนนี้เพลงนี้ได้ออกไปอยู่ในใจของใครอีกหลายคนที่อยู่ไกลออกไปนับพันไมล์ นั่นทำให้เขารู้สึกมีความสุขมาก

ท้าทายจังหวะใหม่ๆ ด้วยเพลงที่สนุกมากขึ้น

นับตั้งแต่เพลงแรกจนถึงตอนนี้ ดนตรีส่วนใหญ่ในเพลงของ Hayd ไม่ได้มีจังหวะที่แปลกใหม่มากนัก เขาบอกกับเราว่าการทำเพลงคนเดียวด้วยกีตาร์โปร่ง หรือเปียโนก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เพลงของเขามักมีจังหวะสบายๆ เหมาะกับการฟังก่อนนอน มากกว่าจังหวะสนุกๆ เร้าอารมณ์คนฟัง 

ที่ผ่านมาเขาเชื่อว่าเพลงที่ดีคือเพลงที่สามารถฟังแล้วเพราะได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะมีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้นและเสียงร้อง จึงเป็นความท้าทายสำหรับ Hayd ที่ต้องพยายามแต่งเพลงออกมาให้ดีโดยไม่มีโปรดักชั่นซับซ้อนเข้ามาช่วยในเพลง

“สิ่งที่ท้าทายผมมากกว่า คือการทำเพลงแบบเรียบง่ายที่ไม่สามารถซ่อนจังหวะกลองแบบรัวๆ หรือซ่อนเพลงไว้หลังโปรดักชั่นได้ ทำให้ผมมีแต่ต้องเขียนเพลงที่ดีเท่านั้น ไม่งั้นเพลงมันก็จะออกมาไม่ดีเลย มันก็เลยเป็นเหตุผลให้ทำเพลงแบบ mellow chill หรือเพลงที่เล่นด้วยเปียโน” 

หลังจากที่ย้ายมาแอลเอ ทำให้เขาได้มาอยู่ท่ามกลางผู้คนทำให้ได้รับอิทธิพลจากศิลปินและนักดนตรีมากขึ้น ดังนั้นอัลบั้มใหม่ที่ออกมาก็จะเป็นเพลงเร็วแบบที่เขายังไม่เคยลองทำมาก่อน แม้อาจส่งผลให้ดนตรีเขาเปลี่ยนไป แต่เขาก็รู้สึกสนุกที่จะได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ

“ตั้งแต่ที่ย้ายมาแอลเอ ผมก็ได้ฟังเพลงโฟล์กหลายเพลง ก่อนหน้านี้ผมฟังเพลงป๊อป แต่พอย้ายมาแอลเอผมก็ฟัง The Lumineers ได้ศิลปินที่หลากหลายที่ใช้กีตาร์ เบส มากขึ้น

“สิ่งที่ผมเพิ่งได้เรียนรู้ คือเพลงจังหวะเร็วๆ สนุกกว่าเพลงเปียโนนี่นา อย่างตอนที่ผมเล่นอูคูเลเล่ผู้คนก็กระโดดขึ้นลง ซึ่งสนุกมาก ผมก็เลยเหมือนวิวัฒนาการไปอีกขั้นว่าแบบ โอเค ฉันต้องทำเพลงที่จังหวะเร็วมากอีกหน่อย เพื่อที่เวลาเล่นในโชว์คนฟังจะได้มีส่วนร่วมมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากจังหวะดนตรี Hayd มองว่าเพลงที่ดีคือเพลงที่สามารถเข้าไปอยู่ในใจของคนได้มากกว่า นั่นจึงทำให้เขาพยายามแต่งเพลงจากอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้คน 

“พูดตรงๆ สำหรับผมมันยากที่จะเขียนเพลงที่มีความสุข ผมพบว่ามันฟังดูเลี่ยนๆ แบบท้องฟ้าสีฟ้าจัง หญ้าสีเขียวสด ชีวิตดี๊ดี มันดูเท่กว่าที่ได้เขียนอะไรเกี่ยวกับอารมณ์ที่อยู่ก้นบึ้ง อย่างเพลงเศร้า เวลาที่ผมเขียนเพลงเร็ว จริงๆ แล้วผมก็ยังเศร้าอยู่

“ผมรู้ว่าทุกคนผ่านเรื่องราวยากลำบาก ในโลกที่แตกสลาย ผู้คนพยายามค้นที่ที่พวกเขาสบายใจ ผมเติบโตมากับการเห็นผู้คนมากมายเจ็บปวด ในมุมมองผมเพลงไม่ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเงิน ชื่อเสียง หรือความสำเร็จ ท้ายที่สุดเพลงก็ควรเป็นเพลงเพื่อผู้คน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้เพลงประสบความสำเร็จในระยะยาว 

“มันคืองานของผมในฐานะของคนเขียนเพลงที่จะนึกให้ออกว่าผู้คนรู้สึกยังไง ความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญกับผมมากในการเขียนเพลงเพื่อคนที่เจ็บปวดและยังโหยหาสิ่งนี้อยู่” Hayd กล่าวทิ้งท้าย 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ