ยุคสมัยแห่งแจ๊ซ ดนตรีที่ประกาศว่า ‘เราจะขอใช้ชีวิตอย่างอิสระ’

ดนตรีแจ๊ซถือกำเนิดขึ้นหลังจากการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัดสเปนสิ้นสุด พร้อมกับฝุ่นควันจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง ทำให้ผู้คนโหยหาความรื่นเริงอีกครั้ง หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคงไม่ต่างจากหลังการระบาดของโรคโควิดที่มีงานแสดงดนตรีในทุกๆ เดือน

ในช่วงทศวรรษ 1920 โลกขณะนั้นเต็มไปด้วยเสียงไชโยโห่ร้องหลังสิ้นสุดสงคราม เสียงเครื่องยนต์และเครื่องจักร รวมถึงเสียงดนตรีแจ๊ซที่ชวนทุกคนมาเต้นรำอย่างสนุกสนาน

ขณะเดียวกันการเติบโตของเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มใช้รถยนต์ โรงภาพยนตร์ที่เริ่มเปิดให้บริการ มีวิทยุ และผู้คนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิของผู้หญิงที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จนยุคนี้ถูกขนานนามว่า ยุค Roarin’ 20’s หรือยุคสมัยแห่งการคำราม แสดงถึงความเฟื่องฟูของดนตรี สิ่งประดิษฐ์ และการที่มนุษย์เรียนรู้ที่จะรักตัวเองมากขึ้นหลังผ่านการสูญเสียมามากมาย

เราได้เรียนรู้เรื่องราวดนตรีแจ๊ซ ในงาน ‘เสียงเพลงแห่งศตวรรษ’ ที่จัดขึ้นโดย OKMD ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของดนตรีแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกัน

กิจกรรมถูกจัดขึ้นภายในอาคารมิวเซียมสยาม ซึ่งตั้งโดดเด่นมาอย่างยาวนานไม่แพ้ดนตรีแจ๊ซ ในกิจกรรมบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของดนตรีแจ๊ซ เพลงแจ๊ซในสไตล์ต่างๆ ก่อนย้อนกลับมาดูบทบาทของแจ๊ซในเมืองไทย โดยมี ผศ.กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ และ ผศ. ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ พร้อมวงดนตรีแจ๊ซจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มาบรรเลงบทเพลงเพื่อให้ทุกคนเรียนรู้บรรยากาศในยุคสมัยที่แจ๊ซเฟื่องฟูไปด้วยกัน 

เรื่องราวเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นหลังเสียงปืนของสงครามและโรคระบาดเงียบสงบลง แล้วเสียงกลอง เปียโน ทรัมเป็ต ทรอมโบน และแซกโซโฟนก็เริ่มดังขึ้น 

ดนตรีของชนชั้นแรงงานและการถือกำเนิดขึ้นของดนตรี Ragtime

หากจะเล่าถึงที่มาของดนตรีแจ๊ซคงไม่สามารถเริ่มเล่าเพียงเฉพาะทศวรรษ 1920 แต่ต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นราวปี 1865 ช่วงบ่มเพาะแนวทางดนตรีก่อนมาเป็นแจ๊ซอย่างเต็มตัว

ช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาหลังสงครามกลางเมืองสงบลง จุดเริ่มต้นมาจากแรงงานคนผิวดำชาวแอฟริกันซึ่งเป็นแรงงานทาสในย่านนิวออร์ลีน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเต็มไปด้วยคนฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในอเมริกา 

เพลงในช่วงเริ่มต้นถูกใช้เพื่อผ่อนคลายความทุกข์ของแรงงานขณะทำงานในไร่ฝ้าย ลักษณะดนตรีมีการด้นสดและผสมผสานเครื่องดนตรีจากตะวันตก หรือจากวงมาร์ชชิ่งแบนด์ที่ถูกทิ้งหลังจากใช้แล้วในสนามรบมาประกอบด้วย จึงเกิดเป็นดนตรีแนวใหม่ที่ผสมผสานระหว่างจังหวะแบบแอฟริกัน และเครื่องดนตรีของตะวันตกไปพร้อมๆ กัน

หลังจากนั้น 30 ปีต่อมา (ปี 1895) คือช่วงการปลดปล่อยทาสเป็นอิสระ ทำให้คนผิวดำเปลี่ยนสถานะจากคนชนชั้นล่างเลื่อนขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางมีความรู้ด้านดนตรีมากขึ้นและสามารถแต่งเพลงได้ จนกลายเป็นดนตรี Ragtime ที่ได้รับความนิยมมาก

แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีการประดิษฐ์วิทยุ ทำให้เพลงถูกเผยแพร่ผ่านกระดาษโน้ตเพลง เพื่อนำไปเล่นกับเปียโนสำหรับให้ความบันเทิงภายในบ้าน เพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเพลง Maple Leaf Rag ของ Scott Joplin ซึ่งถูกขายไปกว่าล้านก๊อปปี้ จุดเด่นคือการเล่นแบบมือซ้ายลากไปมาเพื่อให้เสียงเบส ในขณะที่มือขวาเล่นจังหวะขัด เพื่อให้ได้เสียงที่มีจังหวะต่างกันอยู่ร่วมกัน 

แม้ดนตรี Ragtime จะได้รับความนิยมในช่วงสั้นๆ จนถึงปี 1915 หรือเพียง 20 ปี แต่ก็เป็นรากฐานด้านการเล่นดนตรีแบบด้นสด ซึ่งสำคัญมากในการสร้างดนตรีแจ๊ซในเวลาต่อมา

นิวออร์ลีน ถิ่นกำเนิดของดนตรีแจ๊

ดนตรีแจ๊ซเกิดจากการหลอมรวมความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน และอาจเรียกได้ว่ามีจุดกำเนิดนิวออร์ลีน เมืองท่าที่มีทั้งคนขาวและคนดำอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม เมืองนี้ยังคงถูกแบ่งแยกระหว่างคนรวยและคนจนด้วยแม่น้ำมิสซิสซิปปี้

แต่สิ่งที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มาเจอกันได้ คือสถานบันเทิง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (ปี 1897) เมืองนิวออร์ลีนออกกฎหมายให้มีย่าน Red District หรือย่านค้าประเวณี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเรียกว่า สตอรี่วิลล์ (Storyville) ก่อนที่ต่อมาสถานบันเทิงเหล่านี้ก็ได้ขยายไปยังเขตอื่นๆ ด้วย

โดยแหล่งให้ความบันเทิงนี้กลายเป็นศูนย์รวมการถือกำเนิดของแนวดนตรีใหม่ๆ และก่อให้เกิดนักดนตรีแจ๊ซอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Buddy Bolden ที่ถูกเรียกว่าราชาแห่งเพลงแจ๊ซ, Jelly Roll Morton และ King Oliver แต่น่าเสียดายที่พวกเขาไม่ได้ถูกบันทึกเสียงไว้ ส่วนนักดนตรีแจ๊ซที่ถูกบันทึกเป็นวงแรกในเวลาต่อมากลับเป็นคนขาว ที่มีชื่อวงว่า The Original Dixieland Jazz Band ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และกลายเป็นตำนานแจ๊ซยุคแรก จากเทคโนโลยีการบันทึกเสียงและการมาถึงของวิทยุ ทำให้เข้าถึงคนฟังได้มากขึ้น ไม่ต่างจากโซเชียลเน็ตเวิร์กในปัจจุบัน

จุดเด่นของดนตรีแจ๊ซในนิวออร์ลีนคือ วงดนตรีที่มีแตรเล่นเมโลดี้ และคาริเน็ตเป็นเสียงสอดแทรก รวมถึงทรอมโบน ขณะเดียวกันก็มี rhythm จากกลอง และสแนร์เป็นเบื้องหลัง บวกกับเสียงเบสเข้ามาผสมผสานและเล่นทุกอย่างนี้ไปพร้อมๆ กัน

การอพยพไปทางเหนือครั้งใหญ่

จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่ออเมริกาตัดสินใจเข้าสู่สงครามโลก ทำให้สตอรี่วิลล์ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของดนตรีแจ๊ซต้องปิดตัวลง นักดนตรีและคนที่ทำงานอยู่ย่านนี้ต้องตกงานไปตามๆ กัน

นักดนตรีเหล่านี้จึงต้องโยกย้ายไปที่ต่างๆ ส่วนหนึ่งขึ้นไปทางเหนือ ในรัฐชิคาโก หรือรัฐนิวยอร์ก ซึ่งขณะนั้นเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูมาก ส่วนนักดนตรีบางส่วนตัดสินใจย้ายไปฝั่งยุโรป ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือฝรั่งเศส เรียกว่าเป็นการอพยพครั้งใหญ่ของนิวออร์ลีนเลยทีเดียว

ช่วงขณะนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดนตรีแจ๊ซโดย Louis Armstrong กลายเป็นนักดนตรีคนสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสไตล์การเล่นของดนตรีแจ๊ซอีกครั้ง จากเดิมที่เป็นการเล่นแบบวงที่ผสมผสานเครื่องดนตรีหลากชนิด ให้เหลือเพียงการเล่นแบบโซโล่ เพลงที่แนะนำคือเพลง Struttin’ With Some Barbeque

แจ๊ซสไตล์ Swing และ Bebop

หลังจากนักดนตรีนิวออร์ลีนมาอยู่ที่ชิคาโกไม่นาน ก็เริ่มมีการรวมตัวกับนักดนตรีชิคาโก จนทำให้ภายในวงมีนักดนตรีมากขึ้น กลายเป็นวงขนาดใหญ่ที่มีเครื่องดนตรีกว่า 16 ชิ้น เช่น คอร์เน็ต ทรอมโบน เปียโน จำนวนหลายๆ ชิ้น และแซกโซโฟนที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เพื่อจัดระเบียบให้นักดนตรีที่อยู่ในวงขนาดใหญ่สามารถเล่นได้สอดคล้องกันมากขึ้น จึงมีการเรียบเรียงเสียงประสาน รวมถึงมีคอนดักเตอร์ (ซึ่งเล่นดนตรีไปด้วย) ในหลักการเดียวกับวงออร์เคสตร้า

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวงดนตรีขนาดใหญ่คือ ทำให้มีการนำทฤษฎีดนตรีและการเขียนและอ่านโน้ตเข้ามาใช้อย่างจริงจัง นักดนตรีต้องเล่นให้ถูกต้อง ไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น จุดเด่นของการเล่นแบบ Swing หรือ Big Band คือทำให้วงมีเสียงที่ดังขึ้น เร้าจังหวะชวนให้ทุกคนลุกขึ้นมาเต้นรำ อย่างเพลง If Don’t Mean A Thing if it Ain’t Got That Swing 

แต่วงดนตรีแจ๊ซแบบ Swing หรือ Big Band อยู่ได้ไม่นานนัก เนื่องจากสภาวะสงครามทำให้นักดนตรีต่างต้องทยอยกันไปเกณฑ์ทหาร บวกกับเศรษฐกิจตกต่ำ จึงทำให้ไม่สามารถจ้างนักดนตรีแบบวงใหญ่ๆ แบบเดิมได้ จนเกิดเป็นดนตรีแจ๊ซสไตล์ใหม่ เรียกว่า Bebop (ปี 1940) สันนิษฐานว่ามีที่มาจากเสียงโซโล่ของเครื่องเป่าที่ออกเสียงคล้าย ‘บีบอบ’ แจ๊ซสไตล์นี้หดตัวกลับมาเป็นวงดนตรีเล็กๆ อีกครั้งเหมือนช่วงแรก 

นอกจากเหตุผลเรื่องความตกต่ำของเศรษฐกิจแล้ว ความเบื่อหน่ายของนักดนตรีจากการเล่นเป็นวงใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ทักษะมากนัก ก็เป็นสาเหตุทำให้ Bebop เป็นสไตล์การเล่นเพลงแจ๊ซแบบใหม่จากการรวมตัวของนักดนตรีที่มีโชว์ฝีมือกัน

ลักษณะเด่นของสไตล์ Bebop คือการโชว์เทคนิคการเล่นที่ซับซ้อนขึ้นของนักดนตรี จนไม่เหมาะกับการเต้นรำอีกต่อไป ขณะเดียวกันเพลงที่นำมาเล่นก็เป็นเพลงป๊อปที่มีอยู่เดิมมาผสมผสานการเล่นขึ้นใหม่ เช่นเพลง Anthropology ของ Charlie Parker แต่เพราะเป็นสไตล์ที่รวบรวมเทคนิคชั้นยอดของนักดนตรีไว้ จึงทำให้สไตล์ Bebop กลายเป็นสไตล์ที่มีอิทธิพลของดนตรีแจ๊ซในปัจจุบัน

แล้วดนตรีแจ๊ซก็ได้รับความนิยมมาตลอดทศวรรษ 1920 – 1940 โดยเฉพาะที่นิวยอร์กนับตั้งแต่การปลดล็อกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ไนต์คลับกลายเป็นสถานที่รวมเหล่านักดนตรีผลัดเปลี่ยนมาบรรเลงเพลงและประชันฝีมือในทุกค่ำคืน

ดนตรีแจ๊ซกับประเทศไทย

ย้อนกลับมาที่ดนตรีแจ๊ซในประเทศไทย เริ่มเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 (ราว ปี 1910) หรือช่วงที่ดนตรีแจ๊ซอพยพจากรัฐนิวออร์ลีนไปยังชิคาโก นิวยอร์ก 

ช่วงแรกเริ่มของดนตรีแจ๊ซมักเป็นแนวดนตรีต้องห้ามสำหรับนักเรียนสายเพลงคลาสสิกในกรมมหรสพ เนื่องจากความกังวลว่าการเล่นดนตรีโดยไร้แบบแผนของดนตรีแจ๊ซจะทำให้ดนตรีคลาสสิกเสียหายได้

แต่เพราะท่วงทำนองที่สนุกสนานดนตรีแจ๊ซกลับได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับคนทั่วไป ตัวอย่างเช่นโรงแรมหลายแห่งนิยมเปิดแผ่นเสียงเพลงเต้นรำให้แก่แขกที่มาพัก ตั้งแต่ 3 ทุ่มจนถึงเที่ยงคืน

แจ๊ซได้รับความนิยมมาเรื่อยๆ จนเกิดการตั้งวงดนตรีแจ๊ซในไทยขึ้นช่วงรัชกาลที่ 7 ซึ่งคู่ขนานไปกับดนตรีแจ๊ซฝั่งตะวันตกที่เกิดสไตล์การเล่นแบบ Swing และ Big Band ขณะเดียวกันคนไทยเริ่มมีค่านิยมการดื่มเบียร์และการเต้นรำจากฝรั่งมากขึ้น จนทำให้ไทยตั้งโรงงานผลิตเบียร์และสถานบันเทิงขึ้นมาเอง ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะนักดนตรีไม่ต่างจากฝั่งตะวันตกเช่นกัน 

วงดนตรีแจ๊ซในยุคนี้จึงกลายเป็นที่ต้องการและเกิดการผสมผสานระหว่างนักดนตรีไทยและนักดนตรีจากฟิลิปปินส์เข้าไว้ด้วยกัน โดยวงดนตรีแจ๊ซที่เกิดขึ้นในยุคนั้นเช่น วงเรนโบว์ และวงมานิตแจ๊ส ซึ่งสมาชิกเป็นผู้หญิงทั้งหมด 

ความนิยมของดนตรีแจ๊ซในไทยเริ่มมีอิทธิพลต่อดนตรีแนวอื่นๆ ในเวลาต่อมา ไม่เว้นแม้แต่วงการเพลงไทยมากขึ้น ทั้งด้านการแต่งเพลง เช่น เพลงของสุนทราภรณ์ รวมถึงการก่อตั้งวงดนตรีลายคราม หรือการตั้งวงในมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มจาก KU Band CU Band หรือ TU Band

แม้ดนตรีแจ๊ซจะเกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายของโลกที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวัง แต่ท่วงทำนองของดนตรีแจ๊ซกลายเป็นเสียงดนตรีแห่งความฝันและความหวังใหม่ของมนุษย์ที่ต้องการปลดเปลื้องความทุกข์และความกังวลทิ้งไป ในห้วงเวลาของสงครามและความยากลำบากที่ทิ้งบาดแผลไว้มากมาย 

ขอบคุณภาพจาก OKMD สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

AUTHOR