ดุจดาว วัฒนปกรณ์ และ ‘สัตว์มนุษย์’ การแสดงที่ชวนสำรวจความเป็นสัตว์ที่ซ่อนอยู่ภายในคน

Highlights

  • สัตว์มนุษย์ / HUMANIMAL เป็นการแสดงโดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ พร้อมนักแสดงอีก 14 ชีวิต กับนักบำบัดอีก 2 ชีวิต ในรูปแบบแล็บที่ไม่มีบทตายตัว ไม่มีการท่องจำ และนักแสดงหนึ่งคนเล่นเพียงหนึ่งรอบเท่านั้น
  • ไอเดียของสัตว์มนุษย์มาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ พ.ต.อ. ลิขิต วัฒนปกรณ์ ซึ่งเป็นปู่ของดุจดาว ว่าด้วยการคืบคลานของทุนนิยมจากนายทุนไปสู่ชาวนา เผยให้เห็นถึงด้านดิบของมนุษย์
  • ในการแสดง ดุจดาวจะเป็นผู้นำกระบวนการและพาให้นักแสดงค่อยๆ ปลดอาวุธ หรือสิ่งที่เป็นเกราะกำบังที่เราสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวจากสังคม แล้วสำรวจความเป็นสัตว์ที่ซ่อนอยู่ เช่นนิสัยหรือสภาวะที่ไม่แสดงออกในเวลาปกติ และหาทางสนทนากับมัน

‘สัตว์มนุษย์’

หากตีความเป็นคำด่าทอ ก็เป็นคำที่กรีดแทงและรุนแรงที่สื่อถึงความเดียรัจฉาน ความดุร้ายรุนแรง ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้จักผิดถูก

แต่ในขณะเดียวกัน หากวางใจให้นิ่งแล้วลองพิจารณาดู คำว่า ‘สัตว์มนุษย์’ ก็เป็นถ้อยคำที่เตือนใจว่ามนุษย์เองก็เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งเช่นกัน เพียงแต่ในชีวิตประจำวันเรามักจะเลือกแสดงออกแต่ด้านที่เหมาะสม ถูกต้องตามกาลเทศะ ภายใต้กรอบของวัฒนธรรม ศีลธรรม ส่วนด้านที่มีความดิบเถื่อนอย่างสัตว์ก็จะถูกเก็บไว้ในส่วนลึก ไม่ได้แสดงออก จนบางครั้งเราอาจหลงลืมไปด้วยซ้ำว่าด้านที่เป็นสัตว์นั้นยังมีอยู่

สัตว์มนุษย์ หรือ Humanimal เป็นการแสดงที่ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวและนักแสดงผู้ช่ำชองในวงการละครเวที ตีความมาจากนวนิยายภายใต้ชื่อเดียวกันของ พ.ต.อ. ลิขิต วัฒนปกรณ์ ผู้เป็นปู่ของเธอ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ จัดขึ้นที่ 100 Tonson Gallery โดยเป็นการแสดงรูปแบบแล็บที่เธอรับบทบาทเป็นผู้ดำเนินการแสดง เชิญชวนนักแสดงอีก 14 ชีวิตจากหลากหลายสาขาอาชีพ และนักบำบัดอีก 2 ชีวิต มามีบทสนทนาร่วมกัน ให้ผู้ชมได้เฝ้ามองกระบวนการ ‘ปลดอาวุธ’ ที่ค่อยๆ ลดเกราะกำบังของแต่ละคนลงเพื่อเข้าถึงความเป็นสัตว์ภายในตัวและพูดคุยกับสัตว์ที่ซ่อนอยู่ นักแสดงแต่ละคนจะรู้เพียงแค่ทิศทางของกิจกรรมคร่าวๆ เท่านั้น ไม่มีการท่องบทหรือกำหนดกฎเกณฑ์มาก่อน และแสดงแค่เพียงคนละครั้งเท่านั้น

ดุจดาวเล่าให้ฟังว่า จุดตั้งต้นของการแสดงครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากการที่ ประทีป สุธาทองไทย และ 100 Tonson Gallery ชักชวนเธอมาทำนิทรรศการต่อเนื่อง ซึ่งนิทรรศการ ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ประทีปรวบรวมมายาคติที่มีต่อภาคอีสานในช่วงประมาณ พ.ศ. 2500 เช่น อีสานแห้งแล้งกำลังจะตาย คนอีสานเป็นคนจน ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นอีสานด้วยงานเขียน จึงออกมาเป็นภาพจิตรกรรมหนังสือที่ตีพิมพ์ในสมัยนั้น ดุจดาวจึงคิดว่างานของเธอเองก็จะตั้งต้นจากหนังสือเช่นกัน ประจวบเหมาะกับที่ปู่ของเธอก็เป็นนักเขียน เธอจึงไล่อ่านงานของปู่ และมาสะดุดเข้ากับสัตว์มนุษย์ ซึ่งมีธีมหลักสอดคล้องกันกับประเทศเล็กที่สมบูรณ์

“ประเทศเล็กที่สมบูรณ์พูดถึงไอเดีย โครงสร้าง มายาคติ เป็นภาพใหญ่ ส่วนเรื่อง สัตว์มนุษย์ เป็นภาพเล็ก แต่ลึก เป็นการมองคนในประเทศเล็กที่สมบูรณ์อีกทีว่าพวกเขาเป็นอย่างไร ประทีปเป็นมายาคติ ส่วนหนังสือปู่เราเป็นนวนิยายที่มาจากเรื่องจริง” เธอเปรียบเทียบ

เรื่องราวในหนังสือนั้น เล่าถึงเรื่องราวของนายทุนชาวจีนหัวการค้าที่พยายามเอารัดเอาเปรียบชาวนาในจังหวัดฉะเชิงเทรา การค่อยๆ เข้ามาถึงของทุนนิยมสู่ชนบทผ่านการฉ้อโกง ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เกิดปัญหาการทำนาในพื้นที่ทับซ้อน ลูกสาวชาวนาถูกดึงตัวไปเพื่อขัดดอก ส่วนลูกชายแม้จะมีจิตใจดีก็ต้องกลายเป็นโจร เห็นถึงสัญชาตญาณดิบและกลไกที่ทำให้มนุษย์เลือกติดอาวุธเพื่อสร้างเกราะกำบังให้ตัวเอง เธอจึงหยิบไอเดียตรงนี้มาพัฒนาต่อ

“ทุกวันนี้เรามาเจอกันที่ความดี หันด้านดีๆ เข้าหากัน แต่ในความเป็นคน มันกลมมากเลย อาจมีด้านที่ไม่ถูกศีลธรรม ด้านที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ด้านที่ไม่ได้ปั้นให้ถูกต้องตามวัฒนธรรมอยู่ด้วย แต่เราทิ้งมันไว้ ไม่หันกลับไปมองบ่อย ไม่มีพื้นที่สนทนากับมัน ไม่กล้ายอมรับส่วนนั้นของตัวเอง ซึ่งมันไม่เฮลตี้เลย เราเลยคิดว่าเราน่าจะเอามนุษย์มานั่งดูกันว่านอกจากพาร์ตที่เราประดิษฐ์สร้างสรรค์แล้วเรายังมีพาร์ตอื่นในตัว และมันก็โอเคด้วยที่เราจะยอมรับ โอบกอดมัน การเป็นเพื่อนกับมันจะทำให้เรารู้วิธีจัดการ ดีกว่าไม่ยอมแตะ แต่พอวันหนึ่งมีอะไรมากระตุ้นให้มันออกมาทำงาน เราก็ไม่รู้จักและอยู่กับมันไม่ได้” เธออธิบาย

ปกติแล้ว กระบวนการสร้างการแสดงขึ้นมาสักชิ้น ในช่วงแรกจะเป็นช่วงแล็บที่เธอลองค้นหาศักยภาพนักแสดง ชวนทุกคนทำแบบฝึกหัด ให้โจทย์แต่ละคนไปทำในแบบของตัวเอง เพื่อนำมาปรับใช้กับการทำบท พอลงตัวเข้าที่เข้าทางแล้วก็ต้องซักซ้อมอยู่นาน 2-3 เดือนเพื่อให้ออกมาใกล้เคียงกับความตั้งใจที่สุด ขัดเกลาจนออกมาเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด ซึ่งใน สัตว์มนุษย์ ดุจดาวเลือกตัดส่วนของการฝึกซ้อม และจับเอาส่วนแล็บมาเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเธอมองว่าในช่วงเวลาที่แต่ละคนรับมือ ตอบสนองกับโจทย์ต่างๆ เธอจะได้เห็น vulnerability หรือความไหวหวั่นของคน ความไม่มั่นคง ที่โดยปกติจะถูกจัดการกลบไว้ไม่ให้คนดูเห็น

“เราใช้แบ็กกราวนด์ความเป็นนักจิตบำบัดของเรามาใช้ ลองคิดว่าการจะไปถึงพาร์ตสัตว์ที่แต่ละคนเก็บไว้จะไปอย่างไรได้บ้าง คิดถอยออกมาว่าทุกวันนี้คนเราติดอาวุธกันเพราะมีสาเหตุคือต้องรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามา สกิลการเขียน ถ่ายภาพ โชว์ความฉลาด ฟอร์ม นี่คืออาวุธที่เราใช้ต่อกรกับโลกใบนี้ เลยทำกระบวนการที่จะพานักแสดงไปสู่จุดที่เรียกว่า disarmed หรือปลดอาวุธ เรายืนยันว่ามันจะปลอดภัย คุณจะยอมวางอาวุธลงไหม อนุญาตให้ความไหวหวั่นมีตัวตน แล้วเราก็พาเขาไปค้นหาพาร์ตที่เป็นสัตว์ในตัวเขา ซึ่งอาจเป็นนิสัย สภาวะบางอย่างในตัวที่เราไม่ค่อยให้ใครเห็น ลองไปด้วยกันในเวลาหนึ่งชั่วโมงว่ามันจะเป็นอย่างไร” นักบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวอธิบายพร้อมแววตาเป็นประกาย

เธออธิบายว่าเป้าหมายของการแสดงนี้ไม่ใช่การไปถึงจุดที่ปลดอาวุธได้สูงสุด แต่เป็นการเดินทางระหว่างนั้น ไม่ว่านักแสดงคนนั้นจะปลดอาวุธแค่ไหนก็ตาม ซึ่งการสังเกตว่าปลดอาวุธแค่ไหนก็รับรู้ได้จากการสังเกต ภาษากาย กระบวนการคิด วิธีตอบคำถาม จนถึงทุกวันนี้ ดุจดาวเล่าว่าเธอก็ยังไม่เคยเจอใครที่อยู่ในสภาวะปลดอาวุธได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แม้แต่คนใกล้ชิดอย่างสามี พี่ น้อง ก็ยังมีอาวุธกันอยู่เบาๆ

“เราก็ไม่รู้เลยว่านักแสดงแต่ละคนจะตอบสนองอย่างไร เขาอาจจะไม่ยอมปลดอาวุธ ชักเย่อกับเราก็ได้ เราอาจเห็นคนที่ชักเย่อกับกระบวนการ เห็นคนที่อยากปลดอาวุธมานานแล้ว เห็นสัตว์ในตัวเขาที่คล้ายกับที่เรามี”

นักแสดงที่ดุจดาวชักชวนเข้ามา ก็มีตั้งแต่นักแสดงละครเวทีที่รู้จักรักใคร่กับเธอมาเป็นอย่างดี นักเขียนวรรณกรรมเจ้าของรางวัลซีไรต์ ผู้ประกาศข่าว ไปจนถึงศิลปินทัศนศิลป์ รวมทั้งประทีป เจ้าของนิทรรศการประเทศเล็กที่สมบูรณ์เอง โดยเธอเลือกจากคนที่เธอมองเห็นว่าเป็นคนเก่งและมีความกล้าหาญมากพอ หรือเชื่อใจเธอมากพอที่จะมาลงแล็บไปด้วยกัน และสาเหตุที่มาจากหลากหลายศาสตร์ก็เพราะเธออยากให้เห็นถึงความแตกต่างของอาวุธแต่ละศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะและความละเอียดอ่อนที่แตกต่างกัน และก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกคนที่เธอทักไปชวนล้วนตกปากรับคำมาร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน

แม้ไม่จำเป็นต้องซักซ้อมเพื่อให้ออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ดุจดาวก็ยังมีการนัดนักแสดงแต่ละคนเข้ามาซ้อมเพื่อให้เข้าใจถึงทิศทางของการแสดงคนละสองวัน โดยการซ้อมจะไม่ใช้คำถามหรือบทสนทนาที่จะมีขึ้นในวันจริง แต่จะมีคำถามตัวอย่างและอธิบายให้ฟังว่าอาจมีช่วงที่เธอขอให้แต่ละคนลองทำสิ่งต่างๆ สาเหตุที่มีสองวัน เป็นเพราะวันแรกจะเป็นวันที่ทุกคนเต็มไปด้วยคำถามในใจ แม้จะได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ก็ยังอาจมีคำถามที่ค้างคา แต่การมาซ้อมวันที่สองจะช่วยยืนยันว่าสิ่งนี้สามารถทำได้

ฟังแล้วดูจะนามธรรมอยู่สักหน่อย เราจึงขอให้ดุจดาวยกตัวอย่างคำถามที่ใช้ขณะซ้อมให้ฟัง

“เราจะคุยกับเขา แล้วเวลาเขาตอบ อยากให้ตอบตรงข้ามกับที่ใจคิดทุกคำถาม ถ้าจะตอบใช่ ให้ตอบว่าไม่ อยู่ซ้ายให้ตอบขวา” ว่าแล้วเธอก็ลองชวนให้เราตอบคำถามในรูปแบบที่ว่า ซึ่งจบลงด้วยเสียงหัวเราะ เธออธิบายว่าคำถามแบบนี้จะทำให้สนุกและผ่อนคลาย ซึ่งคำถามที่ใช้ในการแสดงก็อาจมีรูปแบบคล้ายกัน คือมีทิศทางในการตอบกำกับว่าอยากให้ตอบอย่างไร

จากการซ้อมคนละ 2 วันที่ผ่านมา เธอตั้งข้อสังเกตว่าสายวิชาชีพวรรณกรรมกับทัศนศิลป์ที่มีการเติมอาวุธและปลดอาวุธที่ละเอียดอ่อน ถี่ถ้วนมาก ในขณะที่สายการแสดงจะไม่ละเอียดเท่า แต่เห็นชัดเจน สนุก ฉะนั้นผู้มาชมอาจเลือกชมได้ตามความสนใจ


นอกจากนักแสดงทั้ง 14 คน รวมทั้งตัวดุจดาวเองก็จะเข้าร่วมในกระบวนการเป็นเวลา 2 วันด้วยเช่นกัน โดยมีระยะห่างกันราวๆ 1 เดือน และทั้งสองครั้งจะดำเนินการโดยนักบำบัดคนละคนกัน

“ทีแรกไม่นึกว่าจะมีนักบำบัดเพิ่ม ตั้งใจจะเชิญศิลปินมา 16 คน แล้วเราเป็นคนนำแล็บ แต่ทางแกลอรีแย้งว่า เราพาคนอื่นมาทำแล็บ แล้วตัวเองไม่ทำเหรอ เลยจะมี 2 วันที่เราเข้าไปร่วมกระบวนการ โดยเปลี่ยนนักจิตบำบัด ซึ่งเราก็กลัวเหมือนกันนะ พยายามเลี่ยง ไม่ค่อยบอกใครว่าเราก็อยู่ในกระบวนการ กลัวการที่นักบำบัดจะรีเฟล็กต์เรา ซึ่งความกลัวนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนมีร่วมกัน การเข้าร่วมเองทำให้เรานึกออกเลยว่ามันกังวลขนาดไหน เพราะขนาดเราเป็นเจ้าของงานยังกังวลขนาดนี้” ดุจดาวเล่า

“งานนี้มีความจริงใจสูง จริงใจกับคนที่เราเชิญมา ไม่ได้มาเล่นแง่ ไม่ได้ตั้งคำถามเพื่อเช็กความฉลาด ยิ่งโชว์ความฉลาดยิ่งผิดทาง ไม่ได้จะมาทดสอบ ถามอย่างนี้หมายถึงอย่างนั้น ไม่เลย ทุกอย่างตรงไปตรงมา เป็นบทสนทนาที่เรียบง่าย เราจะเห็นความงามในมนุษย์ ความงามในความสั่นสะเทือน แท็กไลน์เราคือ Witness a charm of being disarmed แค่นั้นจริงๆ คนดูก็มา witness ระหว่างดูก็อาจจะมีโปรเซสกับตัวเองไปพร้อมกันอยู่ก็ได้”

เพราะเป็นการแสดงที่ไม่รู้เลยว่าสุดท้ายจะออกมาอย่างไร คำถามสุดท้ายของเราจึงเป็นเรื่องความคาดหวัง

“คาดหวังจะเห็นกระบวนการทำงานกับคนที่เข้าร่วม ทุกคนมีศักยภาพมาก แค่ตอนซ้อมเราก็ชอบแล้ว” เธอตอบเรียบๆ พร้อมคลี่ยิ้ม

“เราชอบนั่งดูมนุษย์ แล้วก็อยากให้คนใช้เวลามองกันให้นานขึ้น ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น บางครั้งคนข้างหน้าเราพยายามจะทำตัวหวือหวา ตกแต่งด้วยความสวยงาม จนเราลืมมองเขาในแบบที่เขาเป็น”


การแสดง สัตว์มนุษย์ / HUMANIMAL จะจัดขึ้น 16 รอบ ในวันที่ 21–24, 28–31 มีนาคม และ 18–21, 25–28 เมษายน 2562 (แสดงทุกวันพฤหัส-อาทิตย์) เวลา 20:00 – 21:15 น. ที่ 100 Tonson Gallery

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและรายชื่อนักแสดงในแต่ละวันได้ที่ www.facebook.com/events

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก