ไม่นานมานี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
นายแพทย์นักบริหารที่เป็นดั่งเรี่ยวแรงหลักของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ที่ทำงานด้านนโยบายสุขภาพของสังคมไทยมานานครบ
10
ปีเต็ม
ประเด็นสำคัญข้อหนึ่งคือเราอยากรู้จัก สช. มากขึ้น
ในฐานะที่เป็นองค์กรภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีที่เข้าใจความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนมากที่สุด
ข้อต่อมาคือเราอยากรู้ว่าทำไมภาคสาธารณสุขของไทยถึงเข้มแข็งและประสบความสำเร็จในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
วันนี้เราเลยอยากเล่ามหากาพย์แห่งวงการสาธารณสุขไทยและการปฏิรูปสุขภาพ
ตั้งแต่การดูแลสุขภาวะพื้นฐาน
ไปจนถึงการสร้างเครื่องมือเพื่อการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพของประชาชน ผ่านมุมมองและแนวคิดของ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีต่อเส้นทางความเปลี่ยนแปลงตลอด
40 ปีที่ผ่านมา และหลักไมล์สำคัญที่นำมาสู่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ
พ.ศ. 2550 ที่เป็นดั่งปรากฏการณ์ที่ปลุกคนไทยให้ลุกขึ้นมาร่วมกันสร้างสังคมสุขภาวะ
เริ่มต้นจากค่อยๆ
สร้างคนที่มีชุดความคิดและอุดมคติคล้ายกัน
ย้อนกลับตั้งแต่ยุค 14 ตุลา
บุคลากรวงการสาธารณสุขเกิดกระแสตื่นตัวทางสังคมเป็นอย่างมาก เห็นอกเห็นใจคนยากคนจน ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จึงมีกระบวนการพานักศึกษาแพทย์ในยุคนั้นไปเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่าสาธารณสุขชุมชน ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน
เมล็ดพันธุ์นักศึกษาแพทย์ของแผ่นดินจะต้องเดินทางไปในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ
เพื่อออกค่ายสร้างโรงเรียนและสอนหนังสือเด็กๆ
พ่วงด้วยการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสำคัญที่เรียกว่าการตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้าน
ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่หอบหิ้วกันมาจากกรุงเทพฯ ถือเป็นการเรียนรู้วิชาผ่านการปฏิบัติจริงและเก็บข้อมูลสุขภาพของคนในชุมชนในช่วงเวลาของการออกค่ายอาสา
เวลาผ่านไป เมล็ดพันธุ์นักศึกษาแพทย์เหล่านั้นก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างงดงามด้วยความคิดและอุดมการณ์จากคำสอนของสมเด็จพระราชบิดา (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร
อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ที่ทรงปลูกฝังแนวคิดเรื่องการรับใช้ประชาชนและความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
บุคลากรที่มีคุณค่าเหล่านี้ได้ทำหน้าที่แพทย์ตามชุมชนในต่างจังหวัด
เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และเริ่มมีประสบการณ์ด้านการบริหาร กลายเป็นกลุ่มที่มีพลังทางความคิดใหม่ๆ ผนึกกำลังกับเหล่าอาจารย์แพทย์ของพวกเขาจนส่งผลต่อนโยบายสาธารณสุขของไทยมาจนถึงปัจจุบัน
การปฏิรูปครั้งแรกที่เกิดจากนโยบายสร้างโรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศ
ปี 2520 – 2530 ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ เมื่อรัฐมนตรีสาธารณสุข เหล่าแพทย์ชนบท และอาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัย
รวมตัวกันขอให้กระทรวงสาธารณสุขหยุดโครงการสร้างโรงพยาบาลด้วยงบประมาณ 700 ล้านบาท แล้วนำเงินจำนวนนั้นไปสร้างโรงพยาบาลชุมชน 700
แห่ง
ยกระดับสถานีอนามัยมาเป็นโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลอำเภอกระจายทั่วประเทศไทย
ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึงมากขึ้น
ต่อจากนั้น
จึงเกิดการสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
ด้านการให้บริการทางการแพทย์ที่ไทยเราล้ำหน้าหลายๆ ประเทศได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศโลกที่สาม มีแพทย์ที่ลงไปทำงานใกล้ชิดชาวบ้าน
มีการผลิตแพทย์จำนวนมากขึ้นเพื่อรองรับการทำหน้าที่ในโรงพยาบาลตามพื้นที่ต่างๆ
เหล่านั้น
จากยุคก่อเกิดโครงสร้างพื้นฐาน
สู่ยุคแห่งการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน
ยุคสร้างเสริมสุขภาพประชาชนหรือ Health Promotion เกิดในช่วงปี
2530 – 2540 โดยประเทศไทยอยู่แถวหน้าในการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมโรค
แก้ปัญหาโรคระบาดต่างๆ เช่น โรคเรื้อน และวัณโรค
โดยเฉพาะการสร้างหลักสูตร FETP (Field Epidemiology Training Program) ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการสร้างและส่งนักระบาดวิทยาเข้ามาดูแลปัญหาโรคระบาด
ทำการวิจัย และสืบค้นโรคติดต่อทั้งหลาย รวมถึงการหาสาเหตุปัจจัยต่างๆ
เพื่อทำสงครามกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้นักระบาดวิทยามีความสามารถในการวางแผน กำหนดกลยุทธ์
และกลายเป็นนักยุทธศาสตร์ของแผ่นดินในที่สุด
ข้อมูลด้านสุขภาพของคนไทยจากหน่วยที่เล็กที่สุด คือโรงพยาบาลชุมชน อนามัย และสาธารณสุขชุมชน
ไปสู่มือของผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์สถานการณ์
โดยกลยุทธ์ทั้งหลายมาจากข้อมูลปฐมภูมิที่เก็บตามโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ใช้การวิเคราะห์จากเครื่องมือสถิติขั้นสูง ซึ่งใช้ข้อมูลในระดับ population เพื่อประมวลผลทั้งประเทศได้ว่า
ในช่วงนี้มีโรคระบาดอะไรที่กำลังเกิดอย่างรุนแรงอยู่บ้างและควรป้องกันอย่างไรให้ทันท่วงที นี่คือโมเดลสร้างฐานข้อมูลทางการแพทย์
ก่อนจะมาถึงยุคที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์และดิจิทัลในปัจจุบัน
เรื่องสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกบุคคล
แต่ยังโยงไปถึงนโยบายระดับชาติ
หลังจากยุค Health Promotion แล้ว
Episode ถัดมาของวงการสาธารณสุขไทยก็มาถึงยุค Social Determinants of Health คือสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของร่างกายและจิตใจเท่านั้น
แต่ยังครอบคลุมไปถึงสุขภาพสังคมและสุขภาพทางปัญญา
ยุคนี้จึงเกิดหน่วยงานสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ทำงานวิจัยด้านสุขภาพประชาชนมาอย่างยาวนานในปี 2545 อีกทั้งยังเกิดองค์กรที่เราคุ้นชื่ออย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปีต่อมา
5 ปีต่อจากนั้น
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ก็เกิดขึ้นภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ทำหน้าที่เป็นองค์กรทางนโยบายเปรียบดั่ง Soft
Power ที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพและเชื่อมโยงนโยบายข้ามกระทรวง
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
คือการรวมตัวกันของเหล่าบุคคลจาก 3
ฝ่าย 3
มุมมองที่ทำงานด้านนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ
หนึ่งคือ นักวิชาการ นักวิชาชีพ สองคือ ภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ และธุรกิจเอกชน
และสามคือ ภาครัฐ นักการเมือง ข้าราชการ ปลัดกระทรวง
ที่รวมตัวกันเป็นสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เป็นองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
หัวใจและเครื่องมือสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
(สช.) ต่อสังคมไทย
หัวใจของ สช. คือสร้างการมีส่วนร่วม นำไปสู่พลังเครือข่ายที่ใช้ความรู้เพื่อไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์
ปรับกฎหมายใหม่ แก้กฎหมายเก่า เพื่อสร้างกลไกใหม่ทั้งหมด
เนื้อแท้ของมันจึงเป็นการปฏิรูปที่ขยายวงกว้างจากการปฏิรูปสาธารณสุขและสุขภาพไปสู่การปฏิรูปสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจฐานราก โดย สช. ได้ทำหน้าที่สำคัญในการสร้างเครื่องมือมา
3 รูปแบบ เพื่อการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย
เครื่องมือชิ้นแรก เรียกว่า สมัชชาสุขภาพ
เป็นกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
โดยการมีส่วนร่วมแบบ Active และทำงานแบบ Proactive
คือการสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ที่มีอำนาจการตัดสินใจ
มาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและลงมติประเด็นที่เข้าสู่สมัชชาสุขภาพได้เลยจากตัวพวกเขาเอง
เครื่องมือชิ้นที่สอง คือ ธรรมนูญสุขภาพ เป็นกรอบกติกาที่สังคมยึดถือร่วมกัน ใช้กระบวนการเรียนรู้และตกลงร่วมกันในสังคม
ชุมชน ได้รับความนิยมมากในระดับตำบลต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 600 ตำบลนำเครื่องมือนี้ไปปรับประยุกต์เป็นธรรมนูญสุขภาพตำบล
เกิดวงจรเรียนรู้กันอย่างเข้มแข็งและเฉลียวฉลาด สร้าง Active Citizen ขึ้นมาในอีกสไตล์หนึ่ง
เครื่องมือชิ้นที่สาม คือ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment – HIA) เครื่องมือนี้จะถูกใช้ในกรณีที่จะมีโครงการเกิดขึ้นในสังคมหรือในชุมชนท้องถิ่นที่ใดที่หนึ่ง ชุมชนรอบๆ นั้นจะได้รับผลกระทบจากโครงการนั้นโดยตรง
โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคม
พวกเขาก็สามารถเอาเครื่องมือนี้ไปประยุกต์ใช้ได้
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงชุมชนเล็กๆ
ตลอด 10
ปีที่ผ่านมา สช. มีบทบาทหลักในฐานะเป็นหน่วยงานเล็กๆ
สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มุ่งการสานพลัง ภายใต้ พ.ร.บ.
สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 กฎหมายที่ต้องการให้เกิดการทำงานข้ามหน่วยงาน
ไม่มีพรมแดน สช.จึงประสานได้ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย
ที่ผ่านมา ถือว่า สช. บรรลุวัตถุประสงค์การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
โดยใช้หลักสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ตั้งแต่ระดับชาติ ภูมิภาค จังหวัด ท้องถิ่น
ชุมชน เกิดนโยบายที่ไม่เป็นขั้วใดขั้วเดียว เพราะแต่ละขั้วล้วนมีบทบาท
มีศักยภาพแตกต่างกันไป ถ้าขาดไปมุมใดมุมหนึ่งก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
ขณะนี้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีคุณค่า
มีประโยชน์และปรับใช้ได้จริง ทำให้ “ขบวนปฏิรูปสุขภาพ” ของประเทศเติบโตเร็วมาก เหมือนรถไฟสายสุขภาพที่ทั่วถึง กว้างขวางไปทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล
เป็นการออกแบบเครื่องมือที่ตรงความต้องการของคนไทย และขบวนปฏิรูปนี้ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า สานพลังอย่างบูรณาการ ลดช่องว่างของภาคประชาชน ประชาสังคม
กับภาครัฐและภาคธุรกิจ เกิดการเห็นคุณค่าและยอมรับซึ่งกันและกัน
ยกระดับบทบาทของ สช. เพื่อก้าวสู่อนาคตในทศวรรษหน้า
ปัจจุบัน สช. ได้เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการด้วยการเชื้อเชิญองค์กรภาคีจากทุกกระทรวงมาร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะที่ดี ทั้งหน่วยงานตระกูล ส. หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
เปลี่ยนมายด์เซ็ตของเครือข่ายในการระดมความคิดเห็น
ก้าวข้ามการมองผู้อื่นว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม
ทำให้เกิดความพอใจและอยากเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
สิ่งที่ สช.
จะมุ่งไปในอีก 10 ปีข้างหน้า
คือการยกระดับคุณค่าให้กระบวนการที่ประสบผลดังกล่าวกลายเป็น “เครื่องมือระดับชาติ” สามารถรับมือประเด็นปัญหาใหญ่ๆ
ของประเทศได้ ไม่เฉพาะเรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่รวมถึงความขัดแย้งในสังคม สช. ภาคีเครือข่าย
และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จะเป็นฐานทุนที่สำคัญในการแก้ปัญหาเรื้อรัง
มุ่งไปสู่สภาวะใหม่ที่สามัคคีปรองดอง อาจเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเครื่องมือทางนโยบาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ระบบประชาธิปไตยจากฐานข้างล่างขึ้นมาให้เกิดความเข้มแข็งในที่สุด
ภาพ มณีนุช บุญเรือง
ภาพประกอบ พนิดา มีเดช