บ้านไม่ใช่คอมฟอร์ตโซนของทุกคน คุยกับดินสอของผู้เขียน ‘ด้วยรักและผุพัง’

จีน

เป็นเวลานานทีเดียวกว่าฉันจะได้เจอวรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่มีคอนเซปต์แปลกใหม่และแข็งแรงชัดเจนขนาดนี้

แค่คำโปรยที่บอกว่านี่คือหนังสือรวมเรื่องสั้นหลากแนว ว่าด้วยความรักและความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไทยเชื้อสายจีนที่ไม่ว่าคนเชื้อชาติไหนก็อ่านได้ พร้อมกับปกที่โดดเด่นด้วยไทโปฯ สไตล์ตัวอักษรจีนและสีดำ-แดงสะดุดตา ฉันจึงไม่ลังเลที่จะหยิบมาลองอ่านดู

เรื่องราวของลูกสะใภ้ผู้ถูกจองจำจนกว่าจะให้กำเนิดลูกชาย บรรยากาศอึมครึมในวันที่ครอบครัวกลับมาพร้อมหน้า ความทุกข์ยากที่ไม่มีใครรู้ของมารดาผู้จากแผ่นดินเกิดมาใช้ชีวิตในดินแดนห่างไกล การเข้าร่วมลัทธิบูชาเทพเจ้าอันน่าสะพรึงเพราะอยากให้วิญญาณบรรพบุรุษปกป้องคุ้มครอง ความกดดันจากบรรดาญาติที่อยากเห็นหลานได้ดี การเป็นลูกสาวในครอบครัวคนจีน ความกตัญญูหลอกๆ และรายละเอียดการไหว้บรรพบุรุษที่ซับซ้อน ไปจนถึงเรื่องเพศสภาพที่เป็นสิ่งต้องห้ามในครอบครัว

อ่านดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความผูกพัน แต่แท้จริงแล้วกลับมีแต่ความผุพังถึงขั้นแหลกสลายซ่อนอยู่ภายใน

บางเรื่องให้ความรู้สึกเหงา อ้างว้าง บางเรื่องให้ความรู้สึกน่ากลัวจนต้องค่อยๆ อ่าน และบางเรื่องก็ชอกช้ำและเปราะบางจนอดใจสลายตามไม่ได้

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันสนใจหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเขียนโดยชายหนุ่มลูกครึ่งจีนแคะ-จีนกวางตุ้ง คอลัมนิสต์ a day เจ้าของคอลัมน์ ‘โฆษ-สนุก’ และนักเขียนหน้าใหม่ผู้น่าจับตามองในแวดวงวรรณกรรมไทย อย่าง ‘มิน–นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ 

ฉันติดต่อนัดหมายพูดคุยกับมินทันทีเมื่ออ่านจบ ทว่าเขาที่กำลังยุ่งถึงขีดสุด ไม่สามารถปลีกตัวออกจากห้องได้จริงๆ เลยขอส่งดินสอกดด้ามโปรดมาตอบแทน

คำตอบจากดินสอของเขาทำให้ฉันเรียนรู้ว่า ทุกความสัมพันธ์ล้วนมีสิ่งที่ต้องรักษาและราคาต้องจ่าย ถึงอย่างนั้น ต่อให้พยายามแค่ไหนก็ใช่ว่าจะไปได้ดีตลอดรอดฝั่ง แม้กระทั่งความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ใกล้ชิดเราที่สุดก็ตาม

เล่าประวัติของตัวเองให้ฟังหน่อยสิคุณดินสอ

สวัสดี เราคือดินสอกด Pentel GRAPHGEAR 1000 ด้ามที่สามของมิน

ที่บอกว่าด้ามที่สาม เพราะก่อนจะมาเป็นเรา มินเคยมีดินสอกดแบบนี้แล้วสองด้าม แต่เขาทำทั้งคู่หาย ซึ่งเราก็หวังว่าจะเป็นด้ามสุดท้าย หรือไม่ถูกลืมไว้ที่ไหนนะ

มินซื้อ Pentel GRAPHGEAR 1000 ด้ามแรกตามเพื่อนที่ติวสถาปัตย์ เพราะตอนนั้นเรากำลังติวเข้าคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และหวังว่าการมีดินสอดีจะทำให้วาดรูปเก่งขึ้น แต่ผลออกมาก็วาดรูปไม่ได้เรื่องเหมือนเดิม (หัวเราะ) แต่มันก็ทำให้มินรู้ตัวว่า อย่าวาดเลย เขียนดีกว่า

ได้ยินว่าเขาเพิ่งมีหนังสือเป็นเล่มแรก อะไรทำให้เขาเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นเหรอ

จริงๆ มินเขาลังเลเหมือนกันว่าจะพูดถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เริ่มเขียนหนังสือดีไหม เพราะเอาตรงๆ มันก็ค่อนข้างคลิเช่ คนอ่านบางคนอาจจะถอนหายใจก็ได้ แต่สุดท้ายเขาตัดสินใจว่า เออ ทำไมเราต้องเขินที่จะพูดถึงแรงบันดาลใจของตัวเองด้วยล่ะ

 เขาเล่าให้เราฟังว่าเขาเริ่มต้นอ่านงานของฮารุกิ มุราคามิจากเรื่อง บันทึกนกไขลาน ที่อ่านแล้วก็ไม่รู้เรื่องเท่าไหร่หรอก แต่มันเหมือนมีแรงดึงดูดอะไรบางอย่างให้เขาอ่านไปเรื่อยๆ จนมาถึงชุดเรื่องสั้นอย่าง ลึกลับ.โตเกียว.เรื่องสั้น, ไม่มีใครนำหน้าบนม้าหมุน และ เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน ที่ทัชใจของเขามาก จนเขารู้สึกว่าตัวเองน่าจะเขียนอะไรออกมาสักอย่างได้เหมือนกัน

แล้วมีหนังสือหรือเรื่องสั้นเล่มไหนที่มีอิทธิพลต่อเขาบ้างไหม

น่าจะพูดได้ว่า On Writing: A Memoir of the Craft หรือ เวทมนตร์ฉบับพกพา : ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของสตีเวน คิง ช่วยให้เขาเขียนหนังสือเล่มนี้จนเสร็จได้ ด้วยประโยคที่ว่า “ผมค้นพบว่าการหยุดเขียนเพราะรู้สึกว่ามันยาก ไม่ว่าจะในแง่อารมณ์ความรู้สึกหรือจินตนาการ ไม่ใช่ความคิดที่ดีเลย จริงๆ บางครั้งคุณต้องเดินหน้าต่อแม้จะไม่อยากทำ เพราะบางครั้งคุณอาจมาถูกทางแล้วก็ได้ แม้จะรู้สึกว่าสิ่งที่คุณทำอยู่คือการนั่งละเลงขี้ ไม่ได้ไปไหนสักที”

พออ่านตรงนี้จบ ความกลัว ความกังวลต่างๆ คือถูกโยนทิ้งไปเลย มันทำให้เขารู้สึกว่างั้นก็เขียนไปเถอะ เขียนไปก่อน เขียนให้เสร็จ แล้วค่อยกลับมาทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ เพราะยังไงการเขียนแย่ย่อมดีกว่าการไม่ได้เขียนมันออกมา

ตั้งแต่ช่วงเริ่มเขียนหนังสือจนถึงปัจจุบัน คุณว่าเขามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

เท่าที่อยู่ด้วยกันมา เขาน่าจะเข้าใจการเริ่มเขียนงานจากประเด็นมากขึ้น มีประเด็นที่ชัดเจนก่อน ส่วนเทคนิคการเล่าหรือวิธีการเขียนจะค่อยๆ ตามมา ไม่รู้ว่าเขียนดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนเขากลับไปเปิดอ่านงานช่วงแรกๆ เขาก็ยังรู้สึกว่ามันดีเหมือนงานปัจจุบันอยู่ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคงเป็นความมั่นใจที่จะลงมือเขียนแหละนะ

อีกอย่าง เมื่อก่อนเขาใช้วิธีเขียนทั้งเรื่องลงในกระดาษแล้วเอามาพิมพ์ทีหลัง แต่เดี๋ยวนี้แค่เขียนโครงเรื่องคร่าวๆ เขาก็จัดการต่อในคอมพิวเตอร์ได้แล้ว ประหยัดแรงเราไปได้เยอะเหมือนกัน

นอกจากเป็นนักเขียนเรื่องสั้น เจ้าของคุณยังทำงานเป็นก๊อบปี้ไรต์เตอร์ด้วย การเขียนสองประเภทนี้ต่างหรือเหมือนกันตรงไหน

เอาความต่างก่อนเลย ตอนเขียนงานโฆษณามันมีโจทย์ที่ชัดเจน มีมู้ดแอนด์โทนของภาษาตามคาแร็กเตอร์ของแบรนด์ มีความต้องการของลูกค้าที่มินต้องรับใช้ ต้องวางมันไว้เป็นกรอบ บางครั้งเขาก็เบื่อเหมือนกันที่ต้องเขียนอะไรตลกๆ อ่านแล้วขำ พูดออกมาแล้วคนต้องหัวเราะ มันก็ฝืนอยู่เหมือนกัน เขาไม่ได้เป็นคนตลกโบ๊ะบ๊ะน่ะ

แต่พอเป็นหนังสือของตัวเองก็ใส่ได้เต็มที่ อยากเขียนอะไร แบบไหน ท่าไหนก็ได้ ไม่ต้องไปคิดอะไรให้มากมาย ท้ายที่สุดแล้ว เขาเชื่อว่างานสองแบบนี้มีปลายทางเดียวกัน นั่นคือมันต้องสื่อสาร คนอ่านต้องเข้าใจถึงเมสเซจที่เราอยากพูดกับเขา หรือได้รับอารมณ์ความรู้สึกในแบบที่เราอยากให้เขาได้รับ

แล้วอะไรที่ทำให้เขาสนใจความเป็นจีนขึ้นมาจนอยากเขียนเป็นหนังสือ

เขารู้สึกว่ามันอยู่กับเขามาทั้งชีวิต มันคือความเป็นตัวเขา เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เขาเป็นเขาอย่างในทุกวันนี้

มีหลายเหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้เขาคิดขึ้นมาว่า “บ้านกูนี่มันจีนจริงๆ” ตั้งแต่การไถ่ถามเรื่องการงาน การวางแผนอนาคตให้เขาว่าปลายทางของชีวิตคือการมีคู่ชีวิตที่ดี เป็นเจ้าของกิจการ เป็นเจ้าคนนายคนที่มีคนนับหน้าถือตา หรือกระทั่งการคะยั้นคะยอให้ไปกินข้าวกับญาติๆ 

สิ่งเหล่านี้ที่เขามองเห็นมันอยู่เรื่อยๆ เหมือนมันไปสะกิดอะไรบางอย่างในตัวเขา และเขาคิดว่าตัวเองน่าจะเข้าใจมันมากพอที่จะเขียนถึงได้

แต่ถึงขนาดหยิบเรื่องนี้มาเป็นธีมในการเขียนเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่อง ดูไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ

เขากลับคิดว่าความเป็นจีนค่อนข้างง่าย เพราะเป็นไอเดียที่ใหญ่มากพอจะแตกประเด็นได้มากมาย มันมีแง่มุมในความเป็นจีนให้พูดถึงเยอะ เอาแมสๆ หน่อยก็คือชายเป็นใหญ่-หญิงเป็นรอง วันรวมญาติ พิธีกรรม หรือความสัมพันธ์พิเศษที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวคนจีนเท่านั้น เช่น ความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกที่อาจจะเข้มข้นกว่าครอบครัวทั่วไป หรือระยะห่างระหว่างพี่น้องอันเกิดจากช่องว่างที่เรียกว่าเพศ มันเลยมีวัตถุดิบเป็นสารตั้งต้นมากพอที่จะเขียนเป็นเรื่องสั้น 11 เรื่องได้ 

อีกจุดเด่นคือความเป็นจีน เป็นเรื่องที่คนไทยน่าจะมีส่วนร่วมได้มากพอสมควร เนื่องจากจำนวนมหาศาลของคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศนี้นี่แหละ

นอกจากประสบการณ์ของตัวเองแล้ว เขารีเสิร์ชถึงแง่มุมอื่นๆ ของความเป็นจีนยังไงอีก

ตอนตัดสินใจว่าจะเขียนถึงเรื่องนี้ สิ่งแรกที่เขาทำคือตั้งสเตตัสเฟซบุ๊กถามเพื่อนๆ ว่า ถ้าพูดถึงความเป็นจีนหรือความเป็นคนไทยเชื้อสายจีน คุณนึกถึงอะไร?

มีคนเข้ามาตอบมากมาย บางคนก็ทักเขามาคุยหลังไมค์ มีทั้งเรื่องโครงสร้างครอบครัว ประสบการณ์ในบ้านที่ทั้งกดทับ ควบคุม และปกครองโดยใช้แนวคิดจีนๆ แถมหนึ่งในคนที่ทักมานั้น มีรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งมีบ้านอยู่เยาวราช มินก็ขอไปเซอร์เวย์ เดินเก็บมู้ดแล้วก็ไปคุยกับพี่เขาถึงบ้านเลย

การเติบโตมาในครอบครัวคนจีนหล่อหลอมให้เขาเป็นคนยังไง

มันทำให้เขายึดติดกับความเป็นครอบครัว อยู่กับบ้าน อยู่กับพ่อกับแม่ และรักคนในครอบครัวที่เป็นสายเลือดเดียวกัน ถึงแม้ว่าตัวเขาเองจะไม่ได้คิดว่าต้องสร้างครอบครัวหรือมีทายาทสืบสกุลก็ตาม

บางเวลามันก็เป็นบ้านให้เขากลับ เป็นคนที่รัก ที่รอ ที่อยากให้เขามีความสุข แต่บางเวลามันก็เป็นสิ่งยึดโยงให้เขาไม่กล้าที่จะก้าวออกไป หรือทำให้การตัดสินใจหลายๆ อย่างในชีวิตมีครอบครัวเข้ามาเป็นตัวแปรค่อนข้างมาก ทำให้บางครั้งเขารู้สึกว่าไม่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการอย่างเต็มร้อย

มันทั้งผูกพันและผุพังอยู่เล็กๆ นะ

นอกจากความเป็นจีนแล้ว ในเล่มยังพูดถึงครอบครัวเป็นหลัก นิยามคำว่าครอบครัวของมินคืออะไร

พูดตามความสัตย์จริง บางครั้งมันเป็นบ้าน บางขณะมันก็เกือบกลายเป็นกรง มันอาจเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่อีกนัยมันก็ห่อหุ้มเราไว้อย่างแน่นหนา จนเราไม่กล้าเอื้อมมือออกไปสัมผัสกับโลกภายนอก

แล้วถ้าให้เรียงลำดับเรื่องสำคัญในชีวิต มินคิดว่าครอบครัวต้องมาเป็นอันดับแรกหรือเปล่า

บางช่วงก็ใช่ และบางเวลาเขาก็คิดว่าควรจะต้องเอาตัวเองเป็นหลักบ้างเหมือนกัน

บางช่วงที่ว่าคือเรื่องงาน ด้วยงานที่ทำมันกัดกินเขา จนหลายครั้งก็คิดว่าพอดีกว่า อยากอยู่เฉยๆ สักสองสามเดือน แต่ในช่วงเวลานั้นคงสร้างความเป็นห่วงและกังวลในใจคนที่บ้านไม่มากก็น้อย เมื่อชั่งน้ำหนักดู เขาก็คิดว่าทนทำไปก่อนแล้วกัน ได้เงิน และไม่ทำให้ครอบครัวต้องเป็นห่วง

ส่วนในบางเวลานั้น คือการตัดสินใจจะพาตัวเองออกไปจากบ้าน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาตบตีกับตัวเองมามากพอสมควร ตอนแรกเขาถามตัวเองว่า ถ้าเขาออกไปแล้วคนที่ยังอยู่ที่นี่ล่ะจะทำยังไง? แต่สุดท้ายก็ตกผลึกได้ว่าสักวันหนึ่งทุกคนก็ต้องจากกัน ทางออกของเขาคือการพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เขายังสามารถกลับมาเยี่ยมเยียนคนที่รักได้ และต้องเป็นที่ที่เขาไม่ต้องทนทรมานกับความกดทับที่ไร้ทางออกแบบนี้

แล้วในฐานะลูกครึ่งจีนแคะ-จีนกวางตุ้ง เขามองความเป็นจีนในปัจจุบันยังไง มันเปลี่ยนไปบ้างไหมเมื่อเทียบกับอดีต

เขาคิดว่าปัจจุบันอะไรหลายๆ อย่างก็ยืดหยุ่นมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือพิธีกรรมต่างๆ ที่ไม่ต้องมีขั้นตอนและของประกอบเยอะแยะเหมือนเมื่อก่อน และไม่ต้องอยู่รอให้ญาติครบทุกฝั่งก่อนจะเริ่มไหว้ได้ ใครมาก่อนไหว้ก่อน เจอกันก็เจอ ไม่เจอก็ไม่เจอ

ความเข้าใจและความคาดหวังต่อชีวิตของลูกหลานก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เขาอาจจะมีภาพในหัวชัดมากๆ ว่าโตขึ้นมาจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เดี๋ยวนี้คือทำอะไรแล้วมีความสุขก็ทำไปเถอะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความยืดหยุ่นก็ไม่ได้อยู่กับทุกคน จะมีญาติบางคนที่ทักทายเขาด้วยคำถามว่า เงินเดือนเท่าไหร่แล้ว เมื่อไหร่จะแต่งงาน ร่ำรวยเป็นเจ้าของบริษัทซะที อยู่เหมือนกัน (หัวเราะ)

กลัวไหมว่าเล่มนี้จะทำให้คนติดภาพคนจีนแบบเดิมๆ

เขาไม่เคยคิดแบบนั้นนะ ถึงบางประเด็นในหนังสือเขาจะไม่มั่นใจเหมือนกันว่าในยุคนี้มันยังร่วมสมัยอยู่หรือเปล่า แต่เขาก็อยากบันทึกไว้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ และเขาก็อยากให้คนอ่านได้ย้อนกลับมาสำรวจความเป็นจีนที่อยู่ในชีวิตของพวกเขาเหมือนกัน ว่ามันยังเป็นแบบนี้อยู่ไหม แล้วมันดี-ไม่ดีกับชีวิตเขายังไง มีอะไรที่ควรเปลี่ยนแปลงบ้าง

การเขียน FAMILY COMES FIRST ด้วยรักและผุพัง เปลี่ยนมินไปยังไงบ้าง

นอกจากทำให้เขาเข้าใจในความเป็นตัวเองแล้ว มันทำให้เขาเข้าใจคนในครอบครัวมากขึ้น เข้าใจในความรัก ความปรารถนาดี ที่แม้บางครั้งการแสดงออกจะไม่ได้ตรงใจในสิ่งที่เขาต้องการ และทำให้เขาคิดว่าจะดีลและปรับจูนให้ต่างฝ่ายมีตรงกลางต่อกันได้ยังไง 

การเขียนหนังสือเล่มนี้ยังทำให้เขาได้คิดและตั้งคำถามถึงชีวิตที่ผ่านมา ว่าอะไรทำให้เขาเป็นเขาเองอย่างทุกวันนี้ อะไรที่หล่อหลอมให้ครอบครัวของเขาเป็นแบบนี้ อะไรที่เขาเลือกจะเก็บไว้ และอะไรที่เขาคิดว่าควรจะเปลี่ยนแปลง

คาดหวังให้ผู้อ่านได้อะไรจากการอ่านหนังสือเล่มนี้

อย่างแรกเลยคือเขาอยากให้คนอ่านรู้สึกอะไรบางอย่าง จะโกรธ เหงา เศร้า โหยหา หรืออะไรก็ตาม เขาอยากให้คนอ่านรู้สึกกับเรื่องที่เขาเขียน เพราะเขาเป็นคนค่อนข้างยึดติดกับอารมณ์

อีกอย่าง เขาอยากให้คนอ่านครุ่นคิด หรืออาจตั้งคำถามต่อสิ่งที่มันเป็นว่ายังควรเป็นแบบนี้ไหม หรือสิ่งใดที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง จากนั้นก็มองย้อนกลับเข้าไปในตัวเอง เห็นสิ่งที่ผ่านมา สิ่งที่หล่อหลอมให้เขาเป็นเขา มันอาจจะบิดเบี้ยว ผุพัง และไม่สวยงามไปบ้าง แต่มันก็เป็นตัวเขา

โปรดจ้องมองมันอย่างตรงไปตรงมา และโอบกอดมันเอาไว้ เขาฝากขอบคุณทุกคนจากใจจริง มา ณ ที่นี้ด้วยนะ

จีน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย