ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมการขุดเจาะปิโตรเลียม

‘ทะเลกว้างไกลและใครเล่าจะรู้ว่า

สุดเส้นขอบฟ้า ตรงที่แผ่นน้ำเป็นประกาย

ลึกลงจะเจออะไร จะมีสิ่งใด ภายใต้แผ่นน้ำสุดไกลที่ซ่อนอยู่…’

ตลกดีที่ระหว่างเดินทาง โทรศัพท์คู่ใจก็แรนด้อมเพลงนี้มาให้ฟัง เราคิดคนเดียวเล่นๆ ว่าหากร้องเพลง คราม ของวงบอดี้สแลมให้ เขมวัฒน์ สิริธีรศาสน์ ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมการขุดเจาะปิโตรเลียม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เขาจะมีคำตอบว่าอย่างไร มีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้แผ่นน้ำสีครามของท้องทะเลอ่าวไทยบ้าง

ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน หรือความท้าทายใหม่ๆ?

เราได้พูดคุย และอยากเล่าให้คุณฟัง

ก้าวแรกสู่ประตูวิศวกรรมปิโตรเลียม

หลังจากเรียนจบปริญญาโทคณะวิทยาศาสตร์ ด้านธรณีวิทยาใน พ.ศ. 2543 เขมวัฒน์ก้าวเข้าสู่แวดวงปิโตรเลียมครั้งแรกในฐานะพนักงานที่ดูแลเรื่องชั้นหิน และดูแลการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหลุมเจาะบนแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่งอ่าวไทย ที่นั่นเขาพบรุ่นพี่ผู้จัดการแท่นขุดเจาะคนไทยใจดีที่คอยเล่าในสิ่งที่เขาถาม เขมวัฒน์อาศัยการใฝ่รู้และครูพักลักจำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเชฟรอนคอร์เปอเรชั่น เปิดรับสมัครพนักงานคนไทย เขมวัฒน์ (ที่แม้ไม่ได้จบวิศวกรรมปิโตรเลียมโดยตรง) จึงหอบเอาแพสชั่นก้อนโตพร้อมประสบการณ์การทำงานจริงเข้าไปหา และเริ่มต้นการทำงานกับเชฟรอนในตำแหน่งผู้จัดการแท่นขุดเจาะฝึกหัด

จุดเริ่มต้นในหน้าที่ผู้จัดการแท่นขุดเจาะ

ขึ้นชื่อว่าผู้จัดการ หน้าที่ย่อมหนีไม่พ้นการจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย เขมวัฒน์เล่าให้ฟังว่าหน้าที่ของผู้จัดการแท่นขุดเจาะนั้นดูแลครอบคลุมทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องการขุดเจาะ อุปกรณ์ต่างๆ บนแท่น หน้าที่ของพนักงานแต่ละคน ไปจนถึงการวางตารางเข้าออกของพนักงานอีกด้วย

สำหรับการขุดเจาะปิโตรเลียมที่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าเป็นวัตถุดิบหลักในการนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้านั้น หน่วยงานของเขมวัฒน์จะได้รับแผนงานจากฝ่ายวิศวกรรมการขุดเจาะที่ออกแบบหลุมเจาะมาให้ โดยในแผนงานจะบอกว่าบริเวณนั้นๆ ต้องเจาะทั้งหมดกี่หลุม แต่ละหลุมมีลักษณะอย่างไร ลึกเท่าไหร่ ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ซึ่งผู้จัดการแท่นขุดเจาะก็จะเป็นคนกระจายหน้าที่ให้แก่คนในทีมต่อไป

“งานในแต่ละวันเป็นเรื่องของการวางแผน การจัดการ ส่วนทางด้านเทคนิค เราก็ต้องแก้ปัญหาหน้างาน เช่น ต้องควบคุมแรงดันหลุมเจาะให้คงที่ แต่ทั้งนี้เราก็มีทีมงานที่กรุงเทพฯ และมีเครือข่ายของพนักงานด้านวิศวกรรมการขุดเจาะจากทั่วทุกมุมโลกที่คอยให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหา”

หลากชีวิตบนแท่นขุดเจาะ

แท่นขุดเจาะก็ไม่ต่างอะไรไปจากเมืองหนึ่งกลางทะเล ที่นี่คนงานนับร้อยกำลังทำงานกันอย่างขยันขันแข็งตลอด 24 ชั่วโมง โดยทำงานหนึ่งเดือนหยุดหนึ่งเดือนสลับกันไป ซึ่งทีมงานบนแท่นขุดเจาะมีอยู่ 2 พวกหลักๆ คือ

หนึ่ง คนของเชฟรอน มีหน้าที่วางแผนการทำงาน ควบคุมความเรียบร้อย

และสอง คนงานซึ่งเป็นคนของบริษัทผู้รับเหมา โดยแบ่งการทำงานเป็นกะกลางวันและกะกลางคืน

บนแท่นมีอาหารคอยบริการตลอดทั้งวัน มีมุมให้ผ่อนคลายความเครียด มีคลินิกและคุณหมอประจำการอยู่ตลอดเวลา เพราะถือว่าความปลอดภัยจากการทำงานต้องมาเป็นที่หนึ่ง ซึ่งความปลอดภัยใช่จะมีแต่ทีมแพทย์คอยรักษาพยาบาล แต่เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องบุคลากรที่จะต้องผ่านการอบรมและทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด อุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐานและซ่อมบำรุงรักษาตามกำหนด มีการออกแบบและวางแผนการขุดเจาะอย่างเหมาะสม และติดตามตรวจสอบจากคนกลางว่าในระหว่างการดำเนินการขุดเจาะนั้นได้ปฏิบัติตามแผนที่วางเอาไว้จริง

โจทย์ใหม่ ความท้าทายใหม่

“ทำงานอยู่ในเมืองไทยได้ 7 ปีก็ขออนุญาตไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากเชฟรอนเป็นบริษัทใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในหลากหลายประเทศทั่วโลก และส่งเสริมให้พนักงานมีโอกาสไปทำงานต่างประเทศ หากมีตำแหน่งที่เหมาะสม” และเขมวัฒน์ก็เลือกที่จะขอย้ายไปทำงานที่ประเทศแองโกลา ทวีปแอฟริกา ประเทศที่แค่ฟังชื่อก็สัมผัสได้ว่าต้องสนุก

อย่างที่เราทราบกันดี ความยากของการขุดเจาะปิโตรเลียมคือไม่มีสูตรตายตัว เพราะสภาพทางธรณีวิทยาแต่ละพื้นที่นั้นก็ต่างกันไป นี่จึงเป็นความท้าทายที่เหล่าผู้พิชิตปิโตรเลียมจะต้องฝ่าไปให้ได้

สำหรับประเทศแองโกลา ลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ หลุมเจาะจึงมีขนาดใหญ่ ความยุ่งยากจะอยู่ที่อุปกรณ์ที่ใช้เพราะมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย ในขณะที่เมืองไทยแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ เป็นกระเปาะเล็กๆ กระจัดกระจายกันอยู่ การขุดเจาะจะมีความซับซ้อนมากกว่า ความยากจึงอยู่ที่จะทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากที่สุด

ความแตกต่างมันอยู่ในสายเลือด

นอกจากความยากในเชิงเทคนิคแล้ว การไปทำงานต่างประเทศยังหมายถึงการต้องไปอยู่กับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ดังนั้นจึงต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเพื่อนร่วมงาน และคนท้องถิ่นที่มีพื้นฐานภาษาและวัฒนธรรมที่ต่างจากตนเองให้ได้ “โชคดีที่เรามีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้าง มีวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพความหลากหลาย” เขมวัฒน์อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้พนักงานยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล

“จริงๆ แล้วเราสามารถใช้ความแตกต่างให้เกิดประโยชน์ในการทำงานร่วมกันได้นะ เพราะว่าความแตกต่างทำให้เกิดความคิดที่หลากหลายขึ้น เราก็จะเห็นภาพต่างกัน ทำให้เกิดไอเดียใหม่ตลอดเวลา ส่งผลต่อการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น” เขมวัฒน์เล่าว่าตอนอยู่ที่แองโกลาก็ได้นำประสบการณ์ทำงานในอ่าวไทยไปช่วยพัฒนางานที่นั่น จนได้รางวัล Recognition Award จากการเพิ่มกิจกรรมการทำงานอย่างอื่นคู่ขนานไปพร้อมๆ กับกระบวนการขุดเจาะ ช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เราไม่ได้ไปเรียนรู้แล้วกลับมาพัฒนาเมืองไทยอย่างเดียว เราก็เอาความรู้ที่มีอยู่ไปแชร์ให้เขาลองทำด้วย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จและช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น”

มีเพียงโจทย์ยาก ไม่มีโจทย์ที่แก้ไม่ได้

ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของเชฟรอนคือบริษัทนี้มีสาขาอยู่ทั่วโลก และเครือข่ายของพนักงานเองก็เข้มแข็งมาก ดังนั้นเมื่อเราถามว่ามีปัญหาอะไรที่แก้ไขไม่ได้บ้างไหม เขมวัฒน์จึงไม่ลังเลที่จะบอกว่าไม่มี เพราะเขามีเพื่อนร่วมงานเก่งๆ จากทั่วทุกมุมโลกคอยมาตอบปัญหาให้ รวมไปถึงแชร์ความรู้และประสบการณ์ที่เคยทำงานมาให้ฟังเป็นเคสตัวอย่าง

นอกจากนั้น เชฟรอนยังมีความโดดเด่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โดยมี Energy Technology Company (ETC) ซึ่งตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยเฉพาะ พร้อมให้คำปรึกษาด้านเทคนิคทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะ ซึ่งหลายเทคโนโลยีสำคัญก็ได้พัฒนาขึ้นเฉพาะสำหรับภารกิจการจัดหาพลังงานในอ่าวไทย จนกลายเป็นมาตรฐานให้กับผู้ผลิตรายอื่น

“เขาจะช่วยซัพพอร์ตเทคโนโลยีต่างๆ ที่เราใช้ในการทำงาน อันนี้ถือเป็นจุดแข็งของบริษัทอย่างหนึ่งเหมือนกัน” จนอาจกล่าวได้ว่าแม้การทำงานในฐานะผู้จัดการแท่นขุดเจาะของเชฟรอนจะเจอโจทย์ยาก แต่ไม่มีโจทย์ที่แก้ไม่ได้ เพราะมีทั้งเทคโนโลยีและบุคลากรที่พรั่งพร้อมให้ความช่วยเหลือและแชร์ความรู้กันอยู่เสมอ

แท่นขุดเจาะฝีมือคนไทย

“สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือ บริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนาคนอย่างจริงจัง จึงส่งผมและน้องคนไทยอีก 3 คนไปร่วมออกแบบและสร้างแท่นขุดเจาะใหม่ที่ดูไบเป็นเวลา 2 ปี โดยทำงานร่วมกับบริษัทผู้รับเหมาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งนำมาปฏิบัติงานในเมืองไทย เพื่อให้การออกแบบสอดคล้องกับความต้องการใช้งาน และเหมาะกับสภาพธรณีวิทยาในอ่าวไทยที่มีแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมขนาดเล็กกระจัดกระจายกันอยู่ ทำให้เมืองไทยมีลักษณะพิเศษที่ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งแท่นขุดเจาะใหม่นี้ช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้นและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น”

ก้าวสู่บทบาทที่ปรึกษา

นับจากปีแรกจนกระทั่งตอนนี้ เขมวัฒน์ทำงานในเชฟรอนมานานกว่า 17 ปี เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เจนสนามไม่น้อยไปกว่าใคร ปัจจุบันเขาจึงพลิกบทบาทของตัวเองอีกครั้ง จากทีมบู๊อยู่ทัพหน้ามาเป็นทีมบุ๋น ซึ่งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้จัดการแท่นขุดเจาะและทีมงานเป็นสำคัญ โดยเวียนไปประจำตามแท่นขุดเจาะต่างๆ จนครบทุกแท่น เพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคนิคต่างๆ รวมทั้งแนวทางการทำงาน การแก้ไขปัญหา และถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ต่างๆ ให้กับรุ่นน้องในบริษัท ซึ่งก็มีทั้งแบบเป็นทางการที่ต้องเทคคอร์สเรียนกันอย่างจริงจัง (และเรียนเพิ่มเติมทุกปีแม้จะจบมาแล้วหลายปีก็ตาม) และแบบไม่เป็นทางการโดยผ่านการบอกเล่าตามประสาพี่น้อง

“บางปัญหาต้องอาศัยประสบการณ์การทำงาน ซึ่งน้องๆ รุ่นใหม่อาจจะยังไม่เห็นปัญหาในมิติต่างๆ เราก็จะมีส่วนช่วยตรงนั้นด้วย”

เขมวัฒน์พูดอยู่เสมอว่า เด็กรุ่นใหม่ล้วนมีความสามารถ พร้อมสรรพความรู้เชิงทฤษฎี แต่สิ่งที่ผู้มาใหม่ยังขาดอยู่คือประสบการณ์ เขาในฐานะที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาก่อนหน้าจึงก้าวมาอยู่ตรงนี้ เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ให้ดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม นี่คือการใช้คนมาช่วยพัฒนาคน จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งเพื่อให้น้องใหม่มีความรู้อย่างรวดเร็วในประสบการณ์ที่ไม่ต้องไปเวียนหาจากที่อื่น

“ผมทำงานมา 6 ตำแหน่ง ใน 3 ภูมิภาค แต่ละตำแหน่งไม่เหมือนกันเลย มีเรื่องให้เรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ แต่บริษัทก็มีกระบวนการและเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีแผนการพัฒนาคนอย่างเป็นระบบตลอดช่วงอายุการทำงาน ผมว่านี่คือดีเอ็นเอขององค์กร”

ไม่ใช่เพียงแค่เขมวัฒน์ แต่พนักงานคนอื่นๆ ก็เช่นกัน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่สามารถทำงานได้ดีแล้ว ทางบริษัทจะมอบหมายหน้าที่อื่นให้ลองทำเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา จนอาจเรียกได้ว่านี่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งขององค์กร

จดหมายถึงรุ่นน้อง

“น้องรุ่นใหม่มีความรู้ความสามารถสูง ผมมั่นใจว่าเขาเก่งกว่าผมมาก แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ การใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา และพัฒนาทักษะในการทำงานเป็นทีม ผมว่าสิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ และพึงตระหนักอยู่เสมอว่าทุกคนมีความสำคัญในด้านที่ต่างกันไม่ว่าจะตำแหน่งใดก็ตาม”

เขมวัฒน์ว่า ก่อนจะกล่าวย้ำ

“ทุกคนมีหน้าที่เป็นฟันเฟืองเล็กๆ เราขาดใครไปไม่ได้”

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR