ช่างทันตกรรม : ศิลปินผู้ทำงานศิลปะระดับไมโครเมตรในช่องปากเพื่อช่วยเหลือคน

Highlights

  • ช่างทันตกรรมคือผู้อยู่เบื้องหลังงานสร้างฟันเทียมส่วนใหญ่ที่อยู่ในช่องปาก การจะมาเป็นช่างทันตกรรมได้มี 2 ช่องทางคือ การฝึกจากแล็บทันตกรรมนั้นๆ และการเรียนหลักสูตรช่างทันตกรรมที่มหาวิทยาลัยมหิดล
  • งานช่างทันตกรรมคือการรับออร์เดอร์มาจากทันตแพทย์และการผลิตฟันเทียมที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนด้วยศาสตร์และศิลป์ระดับไมโครเมตร ทุกขั้นตอนคือความยากและเรียกร้องความสมบูรณ์แบบ
  • แต่เหนืออื่นใด ช่างทันตกรรมที่เราเข้าไปคุยต่างบอกเราว่าถ้ากัดฟันอดทนช่วงที่ยากลำบากช่วงแรกไปได้ งานนี้เป็นงานที่สบายและเหมือนได้รับการชุบชูใจทุกวันจากการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคน

มีคำกล่าวหนึ่งในวงการทันตกรรมที่บอกไว้ว่า งานในช่องปากต้องใช้ทั้ง ‘ศาสตร์และศิลป์’ และนั่นจะชัดเจนมากกับอาชีพ ช่างทันตกรรม

ศาสตร์–แน่ล่ะ ขึ้นชื่อว่าเป็นงานที่รักษาสุขภาพคน ศาสตร์ความรู้คือสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะในเชิงการแพทย์หรือจิตวิทยา ทั้งหมดล้วนจำเป็นทั้งนั้นในการรักษาใครสักคนหนึ่งที่มีปัญหาในช่องปาก

ศิลป์–พอเป็นงานที่จำกัดอยู่ในพื้นที่เล็กมากๆ การบูรณะรักษาหรือการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาจึงต้องใช้ทั้งฝีมือ ความแม่นยำ และการฝึกฝน หลายคนถึงกับบอกว่างานทันตกรรมคืองานศิลปะดีๆ นี่เอง

ทั้งศาสตร์และศิลป์ผสมกลมกลืนกันอยู่ในเรื่องนี้จนกลมเกลียวเป็นเรื่องเดียวกัน

ช่างทันตกรรม

ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ เมื่อไปรักษาฟันเราจะเห็นตัวละครที่อยู่หน้าฉากเพียงไม่กี่ตำแหน่ง

ทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ในคลินิก ทุกคนล้วนมีความสำคัญในหน้าที่ตัวเอง แต่ถ้าเปรียบงานทันตกรรมเป็นเวที ในวันนี้เราอยากพาทุกคนไปรู้จักกับอีกหนึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังการรักษาเหล่านั้น นั่นคือ ‘ช่างทันตกรรม’

ทำความเข้าใจเบื้องต้นกันสักหน่อย จากการพูดคุยกับคนทั่วไปเราพบว่า น้อยคนนักที่จะรู้ว่าฟันปลอมหรือวัสดุใส่ฟันส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เกิดขึ้นจากการผลิตของทันตแพทย์ หมอฟันมีหน้าที่ตรวจและวินิจฉัยรักษา แต่ชิ้นงานเหล่านั้นที่จะออกมาอยู่ในปากคนไข้ เกือบทั้งหมดผ่านมือของช่างทันตกรรมที่รับออร์เดอร์มาจากทันตแพทย์อีกทีว่าอยากให้ชิ้นงานเป็นแบบไหน

แต่เพื่อให้เข้าใจลึกกว่านั้น เราตัดสินใจเดินทางมาที่ PC Dental Lab แล็บทันตกรรมชื่อดังที่เปิดมาแล้วกว่า 40 ปี เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพนี้ให้มากขึ้น และคนที่มารอต้อนรับเราคือช่างทันตกรรมตัวจริงเสียงจริง เค–ธวัชชัย ฝีปากเพราะ และ เอ็ม–อนันต์ สิงหาเพชร

ช่างทันตกรรม

ช่างทันตกรรม

บทสนทนาทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างที่เคและเอ็มพาเราเดินชมแล็บแต่ละส่วนพร้อมอธิบายแต่ละขั้นตอน ส่วนการผลิตที่เราเข้าชมคืองานฟันปลอมประเภทติดแน่น ซึ่งจริงๆ แล้ว PC Dental Lab มีงานประเภทอื่นครอบคลุมทั้งหมด แต่พวกเขาพาเราชมส่วนนี้เพื่อให้เห็นภาพรวมของงานให้ชัดที่สุด

จากช่องปากสู่งานศิลปะและการรักษา

เค : งานทันตกรรมบูรณะที่ช่างทันตกรรมทำแบ่งเป็น 3 แบบคือ แบบถอดชิ้นงานออกมาได้ แบบติดแน่นอยู่กับฟัน และแบบที่ทำเพื่อความสวยงาม

วิธีการทำงานของที่นี่คือ คลินิกหรือโรงพยาบาลต่างๆ จะส่งใบสั่งงานผ่านเมสเซนเจอร์พร้อมรายละเอียดช่องปากของคนไข้แต่ละคน ซึ่งมีทั้งแอนะล็อก (พิมพ์โดยใช้วัสดุพิมพ์ปาก) และแบบดิจิทัล (สแกนในช่องปากออกมาเป็นไฟล์สามมิติโดยที่ไม่ต้องพิมพ์ปาก)

พอมาถึงแล็บ ขั้นตอนแรกที่เราทำคือเช็กว่าใบคำสั่งงานนั้นสมบูรณ์ไหม ชนิดงานที่คุณหมอสั่งคืออะไร มีให้ข้อมูลสีฟันที่เขาอยากให้เป็นไหม ถ้าครบแล้วเราจะส่งต่อไปสู่ทีมปูน ในกรณีที่ส่งมาเป็นรอยพิมพ์ปาก ทีมปูนจะนำไปเทแบบออกมาเป็นทั้งแบบโมเดลเพื่อเอาเข้าไปใส่เครื่องจำลองการสบฟัน พร้อมกับทำแบบจำลองฟันเป็นซี่ๆ แยกออกมาด้วย 

ช่างทันตกรรม

หลังจากตกแต่งความเรียบร้อยของโมเดล เราจะส่งต่อไปยังทีมดีไซน์เพื่อออกแบบฟันเทียมให้ตรงกับความต้องการของคุณหมอ ในขั้นตอนนี้เราสามารถออกแบบได้ทั้งแบบแอนะล็อกและแบบดิจิทัล สำหรับแบบแอนะล็อก เราจะเอาแบบฟันมาขึ้นโครงด้วยการแกะสลักแวกซ์บนโมเดลปูนที่ทำขึ้นมา เมื่อได้รูปร่างแวกซ์ตามที่ต้องการ หลังจากนั้นเราจะนำไปเข้ากระบวนการแทนที่แวกซ์เหล่านี้ด้วยโลหะ ซึ่งต่างกับแบบดิจิทัลที่เรานำไฟล์คอมพิวเตอร์ที่ดีไซน์ออกมาแล้วกลึงเป็นฟันเทียมผ่านเครื่อง CNC (Computer Numerical Control) หรือเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) ได้เลย

ช่างทันตกรรม

ช่างทันตกรรม

หลังจากได้ฟันเทียมออกมาคร่าวๆ เราจะเอาชิ้นงานนั้นมาลงรายละเอียดในส่วนสีฟันตามวัสดุที่คุณหมออยากใช้ พร้อมกับการขัดเรียบมัน เมื่อได้ซี่ฟันตรงตามต้องการแล้ว ชิ้นงานทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งต่องานไปให้คลินิกหรือโรงพยาบาลตามใบสั่งต่อไป

เอ็ม : ถ้าถามว่าขั้นตอนไหนอยากสุด งานทันตกรรมยากทุกขั้นตอนครับ ถ้าเราแบ่งย่อยขั้นตอนที่เราเล่าออกมาเป็น 10 ขั้นตอน ทุกขั้นตอนมีเกณฑ์ขั้นต่ำคือ ‘ต้องห้ามพลาด’ ทั้งหมด เพราะถ้ามีตรงไหนพลาด งานฟันเทียมจะออกมาสมบูรณ์ไม่ได้เลย 

สำหรับที่ PC Dental Lab สโลแกนของที่นี่คือ FIT, FORM, FUNCTION และ ESTHETIC คือฟันเทียมที่เราทำออกมาต้องใส่ได้พอดี รูปร่างถูกต้อง ใช้งานได้ และมีความสวยงาม เราต้องระลึกถึงสิ่งเหล่านี้เสมอ เพราะสิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่งานงานหนึ่ง แต่คือการช่วยเหลือคนไข้ให้กลับไปมีฟันสมบูรณ์พร้อมใช้งานอีกครั้ง

บันไดสู่การเป็นช่างทันตกรรม

เค : การจะเป็นช่างทันตกรรมสามารถเข้ามาได้ผ่าน 2 ช่องทางคือ ช่างที่ถูกฝึกมาโดยทันตแพทย์ และช่างที่เรียนกับช่างทันตกรรมโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีหลักสูตรการเป็นช่างทันตกรรมอยู่แค่ที่เดียวคือมหาวิทยาลัยมหิดล (หลักสูตร CDT – Certified Dental Technician) อย่างตัวผมเองจบจากมหิดล ซึ่งรุ่นหนึ่งจบมาน้อยมากครับ รุ่นผมจบแค่ 15 คนเท่านั้นเอง

เอ็ม : ส่วนตัวผมมาจากอีกทางหนึ่งคือถูกฝึกมาจากช่างทันตกรรมที่ PC Dental Lab โดยตรง ที่นี่เราไม่ได้จำกัดวุฒิการศึกษาในการรับคนเลย แต่คนที่เรามองหาเพื่อมาเป็นช่างทันตกรรมคือคนที่มีหัวมาทางศิลปะหน่อย อย่างในใบสมัครเราจะให้เขาลองคัดลอกลายกนก ถ้าเขาวาดได้หรือมีแนวโน้มไปในทางที่ดี เราจะรับเข้ามาฝึก แต่สิ่งที่คัดคนออกไปจริงๆ คือตอนที่เริ่มฝึกมากกว่า 

การเรียนของที่นี่ทำสองทางควบคู่กันคือ การเรียนรู้ศัพท์เทคนิคเพื่อเอาไปสื่อสารกับคุณหมอ และการฝึกเชิงปฏิบัติ ช่างทันตกรรมต้องเรียนรู้รูปร่างฟันทั้ง 32 ซี่และจำให้ได้อย่างละเอียด รูปร่างที่ถูกต้องเป็นยังไง แต่ละด้านของฟันเป็นแบบไหน ตรงไหนนูน-ต่ำ การสบฟันที่ถูกต้องคืออะไร พร้อมกันนั้น เราต้องฝึกแกะสลักแวกซ์ให้เหมือนกับฟันทุกซี่รวมถึงงานฟันเทียมอื่นๆ ทั้งหมดนี้เรียนรู้ภายใน 3 เดือน ระหว่างนั้นจะมีพี่เลี้ยงคอยประกบคล้ายๆ กับที่พี่สอนน้องโดยเราเน้นการปฏิบัติเป็นหลักมากกว่า หลังจาก 3 เดือน เราเริ่มเห็นแววแล้วว่าใครเหมาะไปอยู่จุดไหน หลังจากนั้นเราถึงวางตัวน้องๆ ไปเริ่มงานในแผนกที่เหมาะสม แต่กว่าจะคล่องส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาเกิน 1 ปีครับ ถ้าเอาแบบที่สามารถเรียกได้ว่าเก่งจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี

ก่อนจะเป็น ช่างทันตกรรม ต้องเป็นช่างอดทน

เอ็ม : สำหรับผม งานนี้เป็นงานที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่นะครับ และเป็นงานที่ไม่หนักเลย เราแค่ใช้ทักษะที่ฝึกฝนมา งานก็เป็นงานขนาดเล็ก นั่งทำบนโต๊ะในห้องแอร์ ใช้แค่ความสามารถของเราสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา ดังนั้นถ้าผ่านช่วงแรกไปได้ก็สบาย

ความยากเกิดขึ้นในช่วงที่เราไม่รู้มากกว่า เพราะในตอนแรกที่เริ่มฝึก ทุกคนเหมือนเข้ามาเจอโลกใหม่ เราต้องเรียนศัพท์ยากๆ เรียนรูปร่างฟันและอะไรอีกมากมาย ส่วนใหญ่ความยากของการเรียนรู้จะใช้เวลาประมาณหนึ่งปี คนส่วนใหญ่ถอดใจตรงนี้นี่แหละ

เค : ไม่ว่าจะจบอะไรมา แต่ถ้าต้องมาเริ่มเรียนการทำฟันพร้อมกัน เราต้องนับหนึ่งใหม่เหมือนกันหมด ขอแค่มีหัวด้านศิลป์หน่อย และสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือความอดทน

เอ็ม : หลายคนอาจมองว่างานที่เราทำดูเป็นเรื่องเล็ก หยุมหยิม แต่ผมไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เพราะเวลาเราเอาชิ้นฟันเทียมไปใส่ในปากคนไข้ เราต้องเป๊ะขนาดนั้นจริงๆ ถ้ามีความผิดพลาด เรายอมรับได้แค่ระดับ 0.01 มิลลิเมตรเท่านั้น

นี่คือหน้าที่ของเรา เราต้องทำงานออกมาให้ได้คุณภาพดีเพื่อให้คุณหมอเอาไปใส่ในปากคนไข้ เรากับหมอทำงานเป็นทีมเดียวกันและใกล้ชิดกันมาก ถึงแม้ภาพเราจะอยู่ข้างหลัง แต่เราก็ต้องทำเต็มที่

งานศิลปะสร้างฟันและฝันที่แข็งแรง

เค : ปัจจุบันอาชีพช่างทันตกรรมมีการเปลี่ยนแปลงเยอะอยู่เหมือนกัน เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานเราเยอะ แต่ถึงจะเข้ามาขนาดไหน งานฟันเทียมที่ออกมายังคงต้องการคนที่มีทักษะฝีมืออยู่ดี เพราะถึงจะเป็นฟันซี่เดียวกัน คนพันคนก็มีรูปร่างฟันพันแบบ เทคโนโลยีแค่เข้ามาช่วยเท่านั้น ความตั้งใจและทักษะช่างยังคงจำเป็นอยู่เสมอ และไม่มีวันอดตายเลย

ช่างทันตกรรม

เอ็ม : เท่าที่คุยกับช่างทันตกรรมมา เราเห็นตรงกันในกลุ่มว่าพวกเราไม่เคยน้อยใจเลยที่ใครหลายคนไม่ทราบว่ามีอาชีพนี้อยู่ กลับกันเสียอีก เราอยากให้อาชีพนี้เป็นที่รู้จักเยอะๆ เพราะถ้าหากว่ากันตามตรง ปัจจุบันอาชีพนี้เปิดกว้างมาก เราต้องการบุคลากรค่อนข้างเยอะ ขอแค่มีใจอยากทำและอดทนก็สามารถเข้ามาได้เลย

ที่นี่เป็นเหมือนสิ่งที่ยืนยันเราด้วยว่าอาชีพนี้เลี้ยงเราได้ตลอดชีวิต พนักงานคนแรกของ PC Dental Lab ยังคงทำงานอยู่แม้อายุ 70 ปีแล้ว เขาเป็นชาวไร่ชาวนามาก่อนที่จะมาฝึกเป็นช่างทันตกรรม ทักษะที่สั่งสมไปตามวัยของเขากลายเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ ดังนั้นอย่างที่บอกครับว่าขอแค่ผ่านจุดที่ต้องอดทนมาได้ อาชีพนี้สบายมาก แถมยังได้อยู่กับความภูมิใจเล็กๆ ตลอดเวลาว่า เราได้ทำให้ใครคนหนึ่งที่ไม่เคยเห็นหน้าได้กลับมามีชีวิตปกติอีกครั้งด้วยงานศิลปะในช่องปากของเรา

ช่างทันตกรรม

เค : เหมือนเรากำลังทำงานศิลปะที่มีแค่ชิ้นเดียวในโลกให้กับคุณคนเดียวเท่านั้นครับ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ