นักทำน้ำหอม

น้ำหอมเป็นศิลปะที่แสดงเอกลักษณ์ของใครหลายคนได้
บางคนอาจเดินมาพร้อมกลิ่นหอมหวานของดอกไม้
ขณะที่อีกคนกลับพกกลิ่นสดชื่นจากท้องทะเลมาด้วย แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่ากว่าจะได้น้ำหอมมาแต่ละกลิ่นเพื่อบรรจุลงขวดสวยงามหรูหรา
บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังอย่างนักทำน้ำหอมต้องผ่านอะไรมาบ้าง เรามีโอกาสได้นั่งคุยกับ
เคนจิ
-ฉัตรนิธิศวร์ จันทาพูน เจ้าของแบรนด์น้ำหอมของไทยอย่าง Artisan Valley เพื่อทำความรู้จักกับอาชีพนักทำน้ำหอมให้ดียิ่งขึ้น

1. อาชีพที่ต้องแลกมาด้วยความอุตสาหะ
ที่ประเทศฝรั่งเศส กว่าจะเป็น Perfumer ได้ ต้องเรียนเพื่อสอบเป็น Junior Perfumer ก่อน แล้วทำงาน 8 ปี จึงสอบเลื่อนขั้นไปเป็น Senior Perfumer จากนั้นก็ทำงานอีก 8 ปี กว่าจะสอบเลื่อนขั้นไปเป็น
Perfumer มืออาชีพ (Professional Perfumer) โดยมีสถาบันศึกษาที่มีชื่อเสียงอย่าง Givaudan, International
Flavors & Fragrances และ ISIPCA เป็นผู้รับรอง
ส่วนคนที่เรียนทำน้ำหอมเองจากความหลงใหลจะไม่เรียกตัวเองว่าเป็น Perfumer เพราะถือเป็นการให้เกียรติคนที่เรียนด้านนี้มาโดยตรง ส่วนที่ไทยยังไม่มีสาขาวิชาไหนสอนเรื่อง
Perfumer โดยเฉพาะ

2. ศิลปะจากการใช้ชีวิต
การปรุงน้ำหอมคือการบอกเล่าเรื่องราว
น้ำหอมที่ดีจะทำให้คนที่ดมรู้สึกหรือเห็นอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่หอมหรือไม่หอม หากเราไม่เคยออกไปใช้ชีวิต
เราจะไม่มีเรื่องน่าสนใจมาเล่าเลย เราต้องรู้จักออกเดินทางและสนใจสิ่งรอบข้าง หากจะทำน้ำหอมกลิ่นเรือยอร์ช
เราก็จะต้องออกไปนั่งเรือยอร์ชจริงๆ จะลงมือทำน้ำหอมโดยที่ไม่มีประสบการณ์ไม่ได้

3. ส่วนผสมของศาสตร์และศิลป์
น้ำหอมเป็นทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ นักทำน้ำหอมต้องมีทั้งสุนทรียะในการเล่าเรื่องผ่านกลิ่นและการทดลองผสมน้ำมันหอมระเหย (สารที่สกัดได้จากวัตถุดิบต่างๆ
เช่น ดอกกุหลาบและส้ม) หลากกลิ่นเข้าด้วยกัน ก่อนอื่นเราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าแต่ละกลิ่นให้ความรู้สึกอะไร
สื่ออะไรได้บ้าง หนักเบายังไง
และที่สำคัญคือร้อยเรียงไปกับกลิ่นไหนได้บ้าง จากนั้นก็ทดลองผสมกลิ่นไปเรื่อยๆ
จนกว่าน้ำหอมจะสื่อเรื่องที่เราจะเล่าได้
นักทำน้ำหอมแต่ละคนจะตีความลักษณะกลิ่นนั้นๆ ต่างกันไป
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้น้ำหอมเป็นเอกลักษณ์ เหมือนเป็นนามปากกาประจำตัว

4. ดอกกุหลาบของช่างตีเหล็ก
น้ำหอม Smith’s Rose ของ Artisan
Valley เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเล่าเรื่องราว น้ำหอมกลิ่นนี้มาจากตัวละครเอลฟ์ ช่างตีเหล็กในนิยายเรื่องหนึ่ง
เมื่อเหนื่อยและท้อจากการทำงาน เขาก็ได้หยิบดอกกุหลาบขึ้นมาดมเพื่อผ่อนคลาย
จากนั้นเขาก็หยิบเอาส่วนหนึ่งจากนิยายนั้นมาเป็นคำบรรยายน้ำหอม

ถึงช่างฝีมือทุกคน จงมีความสุข
จงกล้าหาญ จงเป็นที่รัก
ขอให้ความพยายามของท่านเบ่งบานด้วยความปีติยินดี

5. กลิ่นที่มีราคาและคุณค่า
วัตถุดิบที่นำมาทำน้ำหอมมีราคาแตกต่างกันไป
เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบที่สกัดได้จากสารเคมีราคา 10 บาท
ไปจนถึงวัตถุดิบราคาหลักล้านอย่าง Ambergris (อำพันทะเล) ที่สกัดจากอ้วกของวาฬอายุนับร้อยปี กลิ่นของ Ambergris
นั้นเหนือจินตนาการและต่างกันไปตามการเกิด ไม่สามารถผลิตซ้ำได้ วัตถุดิบใกล้ตัวในบ้านเรา เช่น ดอกลั่นทมและไม้กฤษณาก็แพงกว่าลาเวนเดอร์เกือบร้อยเท่า
แต่บ้านเราดันต้องนำเข้าน้ำหอมกลิ่นเหล่านี้จากต่างประเทศ ทำให้ไทยเสียดุลการค้าโดยไม่จำเป็น
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเรายังขาดคนทำน้ำหอมและความรู้เรื่องน้ำหอมอยู่

6. ความกล้าจากความหลงใหล
ถึงวงการน้ำหอมในบ้านเราจะยังไม่ใหญ่โตและมั่นคง
แต่ก็มีนักทำน้ำหอมหลายคนที่หลงใหลและสนใจในการทำน้ำหอมเป็นอาชีพ ถึงขนาดยอมกล้าเสี่ยงลองทำน้ำหอมโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่
ความกล้าที่จะใช้ชีวิตเพื่อสิ่งที่ตัวเองชอบแบบนี้เป็นสิ่งที่นักทำน้ำหอมหลายคนภูมิใจอยากส่งต่อให้เด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก

ภาพ กฤต วิเศษเขตการณ์

AUTHOR