อิสระในการทำงานนั้นเป็นที่หมายปองของมนุษย์งานทุกหมู่เหล่า อาชีพฟรีแลนซ์ที่พบเจอได้ทั่วไปในชีวิตอย่างเช่น นักเขียนฟรีแลนซ์ นักออกแบบกราฟิกฟรีแลนซ์ ฯลฯ จึงเป็นอาชีพที่มีคะแนนความน่าอิจฉาอยู่ในระดับพอใช้ถึงปานกลาง แต่พอได้ทำความรู้จักกับช่างภาพนายหนึ่ง ผู้ทำงานในฐานะ ‘ช่างภาพ Airbnb’ มากว่า 3 ปี นอกจากจะได้ความรู้ใหม่ว่าอาชีพฟรีแลนซ์แบบนี้ก็มีด้วย เรายังมอบคะแนนความน่าอิจฉาของอาชีพในระดับมากถึงมากที่สุดให้เขาไปเลย
อธิบายให้หายงงก่อนว่า อาชีพ ‘ช่างภาพ Airbnb’ คือส่วนหนึ่งในบริการของ Airbnb ระบบออนไลน์ที่กำลังเนื้อหอมสุดขีดจากแนวคิดที่ทำให้ใครๆ ก็เปิดบ้านเป็นที่พักได้ ฟังดูเหมือนง่ายดาย แต่หนทางเดียวที่ลูกค้านักเดินทางจากทั่วโลกใช้ในการตัดสินใจเลือกที่พัก คือ ‘ภาพถ่ายบ้าน’ ที่เจ้าบ้านหรือ host แต่ละคนโพสต์ลงไป ดังนั้น ต่อให้บ้านสวยแค่ไหน ถ้าโฮสต์ดันถ่ายภาพไม่เป็นก็มีสิทธิ์หมดโอกาสทางธุรกิจ เว็บไซต์ระดับโลกอย่าง Airbnb จึงสร้างบริการถ่ายภาพให้กับโฮสต์ฟรีๆ เหมือนเป็นการช่วยลงทุน ว่ากันอย่างง่ายคือ คุณเอาห้องคุณมาลงกับเรา เราถ่ายรูปให้คุณ เพื่อที่คุณจะได้มีภาพถ่ายห้องสวยๆ ไปกระตุ้นยอดขายได้นั่นแหละ
ไหนๆ ก็อิจฉาแล้ว ขอพาไปรู้จักกับอาชีพนี้แบบลงรายละเอียด ให้ข้อมูลโดย ผล-วิชนันท์ ไพจิตรกาญจนกุล ช่างภาพฟรีแลนซ์ที่เคยร่วมงานกันในอะเดย์ฉบับ Work and Travel ผู้ถ่ายทอดให้เราฟังว่าอาชีพของเขาในฐานะช่างภาพคนไทย (น่าจะ) คนเดียวที่ถ่าย Airbnb
ในกรุงเทพฯ แถมยังผ่านประสบการณ์ขึ้นบ้านโฮสต์ชาวกรุงมาแล้วกว่า 500 แห่ง จะมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนุก น่าปวดหัว และน่าอิจฉายังไงบ้าง
1. ทำงานผ่านเน็ต
คอนเซปต์ของบริษัท คือ ช่างภาพอยู่ที่ไหนก็ได้ จะไปท่องเที่ยวที่ไหนในโลกก็ได้ แล้วทำงานไปด้วยได้ แค่อัพเดตโลเกชันของตัวเองกับเว็บไซต์ เช่น อัพเดตว่าตอนนี้คุณอยู่เชียงใหม่ 3 – 4 เดือนนะ งานถ่ายภาพบ้านของโฮสต์ในเชียงใหม่ก็จะวิ่งมาหา ถ้าไปอยู่เมืองนอกแล้วไม่อยากทำงานล้างจานก็ทำงานนี้ได้เพราะเป็นการทำงานผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดเลย #ทำงานผ่านเน็ตที่แท้จริง
2. คุณได้สิทธิ์เลือกเดี๋ยวนี้
กระบวนการรับงาน โฮสต์จะกด request ขอรับบริการที่เว็บไซต์ คำขอจะไปที่แผนกถ่ายภาพของสำนักงานใหญ่ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ทางนั้นจะเป็นผู้มอบหมายงานมายังช่างภาพที่ระบุพิกัดของตัวเองไว้ใกล้ที่สุด ช่างภาพก็เข้ามาดูว่างานนี้อยู่ที่ไหน หน้าตาสถานที่เป็นยังไง (จากภาพที่โฮสต์ถ่ายเอง) และมีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกว่าจะรับงานนี้ไหม ถ้ากด accept ทีมงานจะส่ง contact ของโฮสต์มาให้ ช่างภาพจะคุยกับโฮสต์ผ่านช่องข้อความในเว็บไซต์ แนะนำตัว แจ้งวันเวลาที่ว่าง นัดแนะวัน บอกโฮสต์ให้เตรียมความเรียบร้อยให้พร้อมถ่ายภาพ แต่ถ้า decline งานก็จะวิ่งไปหาช่างภาพคนอื่นในพิกัดที่ใกล้กัน
3. เรื่องแสงเป็นเรื่องธรรมชาติ
หน้าที่ของช่างภาพคือการนำเสนอที่พักให้น่าสนใจผ่านภาพถ่าย นอกจากจะมีเช็กลิสต์ว่าต้องถ่ายอะไร เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ เตียง โซฟา ห้องนั่งเล่น ทีวี หรือสิ่งที่ช่วยนำเสนอการตกแต่งที่พักของเจ้าบ้าน การถ่าย Airbnb ยังต่างกับถ่ายอินทีเรียทั่วไปตรงที่ ต้องถ่ายภาพให้ออกมาเป็นสไตล์มาตรฐานที่เว็บไซต์กำหนด หนึ่งในกฎสำคัญคือการใช้แสงธรรมชาติ นำเสนอบรรยากาศของแสงจริงที่เกิดขึ้นกับห้องนั้น โดยบริษัทจะคอยปรับปรุงสไตล์ไกด์และอัพเดตทุกปี
4. สวมวิญญาณแม่ศรีเรือน
งานที่โหดร้ายกว่าถ่ายให้สวย คือการรับมือกับบ้านที่ยังไม่ได้ทำความสะอาดให้เรียบร้อยพร้อมถ่าย เนื่องจากที่พักหลายที่เป็นที่อยู่อาศัยจริงๆ ของโฮสต์ซึ่งจะมีความรกและเรียลไม่ได้สวยเหมือนโรงแรมหรือห้องตัวอย่าง และไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการถ่ายภาพ เมื่อไปถึงที่ห้อง ช่างภาพจึงต้องเช็กก่อนว่าตรงส่วนไหนของบ้านไม่เรียบร้อยแล้วรีบบอกโฮสต์ให้จัดการ ระหว่างนั้นช่างภาพก็ไปเก็บมุมอื่นก่อน แต่ก็มีหลายเคสที่อาการหนัก ถ้าเห็นว่าจัดยังไงก็ยังไม่สวยช่างภาพที่ทำงานแข่งกับเวลาก็อาจต้องลงมือช่วยจัดให้ ดังนั้นทักษะการถ่ายอย่างเดียวอาจไม่พอ ใครมีวิญญาณแม่บ้านพ่อบ้านอยู่ในตัวก็เป็นต่อ
5. ชีวิตดีขึ้นได้บ้าง ด้วยการปรับภาพแค่นิดเดียว
ภาพที่ถ่ายมาอนุญาตให้ปรับภาพในคอมฯ ได้โดยต้องทำภาพให้ผ่าน ถ้าไม่ผ่าน ทีมงานจะตีกลับมาให้ช่างภาพแก้ งานที่ไม่ผ่านส่วนใหญ่มี 2 กรณี หนึ่ง เรื่องพื้นฐานของการถ่ายภาพอย่างเส้นตีบตรงไหม ระดับน้ำตรงไหม บางครั้งตอนถ่ายอาจไม่เป๊ะ ก็ต้องมาปรับเพิ่ม สองคือเรื่องแสง เป็นธรรมดาที่ต้องมีการปรับแสงให้สวยงามขึ้น แต่ถ้าแต่งเยอะเกินเหตุก็จะไม่ผ่านเช่นกัน เพราะต้องการภาพที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด ไม่หลอกลวงผู้บริโภค
6. สองวันอันตราย
เมื่อถ่ายเสร็จ ช่างภาพต้องทำภาพแล้วอัพโหลดที่เว็บไซต์ภายใน 48 ชั่วโมง (เดดไลน์โหด) พอส่งเรียบร้อยจะมีทีมรีวิวภาพซึ่งอาจจะใช้เวลานานถึง 2 – 3 สัปดาห์ ถ้าทางนั้นไม่โอเคจะส่งคอมเมนต์มาว่าไม่ดียังไง ขอให้ช่างภาพกลับมาแก้ แต่ถ้าผ่านก็จะส่งมาบอกว่างานได้ accept แล้วภาพถ่ายเหล่านั้นก็จะขึ้นเป็นลิสต์ให้โฮสต์ไปเลือกใช้ ถ้าผ่านจุดนี้ก็จะได้รับเงินปั๊บ ระบบจะโอนเงินผ่าน PayPal มาให้แทบจะทันทีดุจฟ้าประทาน
7. รางวัลแด่คนช่างขยัน
ช่างฟังดูสวยงามและน่าอิจฉา แต่ที่จริงแล้วค่าตอบแทนของงานแต่ละจ๊อบก็ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับความเหนื่อยยาก แต่ด้วยข้อดีที่เป็นงานยืดหยุ่นและอิสระ ไม่มีข้อกำหนดว่ารับงานได้กี่ชิ้นต่อวัน ถ้าอยากจะหยุด ไม่อยากทำงานชั่วคราวก็กด pause ในเวบไซต์ได้ ทุกอย่างจึงขึ้นกับการบริหารเวลาของช่างภาพเองดังนั้น รายได้จะเพียงพอเลี้ยงชีพได้สบายเลยไหมก็ต้องขึ้นกับความขยันและทักษะการจัดการ ผู้ให้ข้อมูลของเราบอกว่าเคยรับงานถ่ายมากที่สุดคือวันเดียว 8 จ๊อบซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะโฮสต์เป็นเจ้าของตึก และปิดทั้งชั้นเพื่อทำ Airbnb โดยเฉพาะ
8. คนเดียวไม่เหงาเท่าหลายคน
เพราะทำงานผ่านเน็ตทั้งหมด ช่างภาพแต่ละคนจึงไม่เคยเจอกัน ไม่รู้กระทั่งการมีตัวตนของกันและกัน ไม่มีสังคมที่คอยอัพเดตชีวิตจึงต้องแอบสืบการมีตัวตนของช่างภาพคนอื่นผ่านคำบอกเล่าของโฮสต์ จากการสอบถามจากโฮสต์ในกรุงเทพฯ พบว่ามีช่างภาพ Airbnb ที่ถ่ายบ้านในกรุงเทพฯ อยู่ไม่เกิน 10 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เช่น เยอรมัน สเปน และรัสเซีย
9. แค่อยากเป็นคนที่ถูกเลือก
อ่านแล้วเหล่าช่างภาพอาจอยากคลิกเข้าไปส่งใบสมัครเดี๋ยวนี้ แต่ไม่ใช่ว่าช่างภาพที่มีทักษะการถ่ายงานแนวนี้จะได้ทำกันง่ายๆ
เพราะนอกจากต้องส่งพอร์ตโฟลิโอที่เข้าตากรรมการแล้ว ยังต้องผ่านด่านการทดสอบการปรับภาพให้ได้ตามมาตรฐาน ด่านสัมภาษณ์ผ่านสไกป์เป็นภาษาอังกฤษกับทีมช่างภาพจากสำนักงานใหญ่ ด่านการคุยเรื่องข้อตกลงในการทำงาน หากรอดพ้นมาได้ทุกด่าน ถึงจะมีทีมเซ็นสัญญาติดต่อมาอีกที จึงจะกลายเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ในสังกัดของ Airbnb ได้อย่างเป็นทางการ ยอมรับแต่โดยดีว่าเราไม่มีสิทธิ์อิจฉาเขา เพราะกว่าเขาจะมาถึงจุดที่น่าอิจฉานี้ได้ ไม่ใช่ง่ายๆ เลยนะจ๊ะ
ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข, วิชนันท์ ไพจิตรกาญจนกุล