ปั่นจักรยานผ่านอุโมงค์รถไฟเก่ายาว 2 กิโลเมตรสู่ชายฝั่งแปซิฟิกในไต้หวัน

เส้นทาง: ฝูหลง-ฉีเฉิง (Fulong – Shicheng) ผ่านอุโมงค์เกาหลิงเก่า (Old Caoling Tunnel)
สถานที่: จากสถานีรถไฟฝูหลง ถึงจุดบริการนักท่องเที่ยวฉีเฉิง (Shicheng Service Area)
ระยะทาง: ไปกลับ 10 กิโลเมตร
จักรยาน: ทุกประเภท

เมื่อพูดถึงฝูหลง (Fulong) เมืองชายหาดทางด้านตะวันออกของไทเป หลายคนคงคิดถึงหาดฝูหลงซึ่งเป็นหาดทรายสีทอง และในช่วงฤดูร้อนของทุกปี หาดฝูหลงจะมีงานประติมากรรมทราย (Fulong International Sand Sculpture Festival) และเทศกาลดนตรี ส่วนไฮไลต์อีกอย่างที่คนมาฝูหลงนิยมทำกันและเป็นสาเหตุให้เรามาที่ฝูหลงในครั้งนี้คือการปั่นจักรยาน เนื่องจากที่นี่มีเส้นทางจักรยานที่สวยมาก

จากไทเป เราเริ่มต้นกันที่สถานีรถไฟ Taipei Main Station เพื่อนั่งรถไฟไปสถานีฝูหลง (Fulong) เราเลือกรถไฟเที่ยวเช้ารอบ 07.28 น. เพราะถ้าพลาดเที่ยวนี้ เที่ยวต่อไปก็สิบโมงกว่าเลย รถไฟพาเรามาถึงสถานีฝูหลงตอน 08.38 น.

รอบๆ สถานีรถไฟมีร้านเช่าจักรยานและร้านขายข้าวกล่องรถไฟหลายร้าน แต่เช้าๆ แบบนี้ร้านก็ยังเปิดไม่ครบ เราเจอคุณป้าคนหนึ่งมาดักรอลูกค้าที่ร้านสะดวกซื้อหน้าสถานี ป้าถามเราเป็นภาษาจีนที่เข้าใจได้ว่าจะเช่าจักรยานมั้ย เราเห็นป้าดูเป็นมิตรและบอกราคาที่ถูกมาก ค่าเช่าทั้งวันแค่ 80 ดอลลาร์ไต้หวัน เราจึงตกลงแล้วเดินตามป้าไป ปรากฏว่าที่ป้าต้องมาดักลูกค้าตั้งแต่หน้าสถานีก็เพราะว่าร้านของป้าตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ที่ต้องเดินออกไปนิดหน่อย ถ้าป้าไม่ทำอย่างนี้ลูกค้าก็คงเช่าจากร้านอื่นๆ ที่อยู่ใกล้สถานีมากกว่าไปแล้ว

ป้าน่ารักมากถึงมากที่สุด ใจดี และเป็นห่วงพวกเรา คอยอธิบายทุกสิ่งอย่างเหมือนเราเป็นลูกหลาน เมื่อได้จักรยานแล้ว เราแวะซื้อข้าวกล่องรถไฟจากร้านข้างๆ สำหรับเป็นเสบียงมื้อเที่ยง ราคาเริ่มต้นที่ 60 ดอลลาร์ไต้หวัน แต่คุณภาพและปริมาณคับกล่องเกินราคาไปมาก

เราปั่นจักรยานโดยใช้เส้นทางถนนกุยโซ่วกู่ (Guishougu Street) บรรยากาศสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้เขียว ลำธารสวยที่ได้ยินเสียงน้ำไหล สะพานข้ามลำธาร ภูเขา ศาลเจ้า โบสถ์ สวนผักของชาวบ้าน บ้านเรือนแบบต่างจังหวัด และรางรถไฟ เราแวะถ่ายรูปกันเรื่อยๆ เพราะวิวสวยจริงๆ อากาศกลางเดือนมกราคมก็ดีมาก เย็นๆ ชื้นหน่อยๆ ฝนไม่ตกและไม่มีแดดร้อน

ขี่ไปตามถนนกุยโซ่วกู่ได้ 2 กิโลเมตรเศษก็เจอไฮไลต์ของเส้นทางนี้ มันคืออุโมงค์เกาหลิงเก่า (Old Caoling Tunnel) อายุกว่า 90 ปี (สร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1924) ซึ่งมีความยาว 2 กิโลเมตรเศษ นับเป็นอุโมงค์ที่มีความยาวมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ประตูทางเข้าอุโมงค์สูงถึง 5 เมตร ด้านบนทางเข้าฝั่งฝูหลงนี้สลักความว่า ‘พิชิตอุปสรรคแห่งธรรมชาติ’ (ส่วนที่ปากอุโมงค์อีกฝั่งสลักว่า ‘แดนเมฆขาวลอยล่อง’) นี่เป็นอุโมงค์รถไฟเก่าแก่ที่เลิกใช้ไปแล้วหลังจากมีการสร้างอุโมงค์เกาหลิงใหม่ที่กว้างกว่าขึ้นมาใกล้ๆ กัน ปัจจุบันเปิดเป็นอุโมงค์สำหรับปั่นจักรยานโดยเฉพาะ แต่บนพื้นในอุโมงค์ตลอดเส้นทางทำเป็นลายรางรถไฟเดิมเอาไว้ ภายในอุโมงค์อากาศเย็นรื่น มีเสียงเพลงเปิดคลอ ตอนที่รถไฟวิ่งผ่านอุโมงค์เกาหลิงใหม่ เราจะได้ยินเสียงรถไฟวิ่งทะลุมาในอุโมงค์เกาหลิงเก่าด้วย

พอปั่นทะลุอุโมงค์ออกมา สิ่งที่ต้อนรับเราคือลมทะเลที่พัดมาจากมหาสมุทรแปซิฟิกตรงหน้า ที่นี่คือฉีเฉิง (Shicheng) มีบ้านเรือนของชาวประมงอยู่ใกล้ๆ ข้างหลังเป็นภูเขาที่สูงมาก ข้างหน้าเป็นวิวทะเลสวย มีโขดหินลดหลั่นกันไป บนโขดหินใหญ่ๆ ที่ลึกออกไปในทะเล เราเห็นคนออกไปยืนตกปลาท้าคลื่นที่ซัดกระแทกหินเป็นฟองขาว

นักปั่นพากันจอดจักรยานบริเวณปากทางอุโมงค์ฝั่งฉีเฉิงและชมวิวกันอย่างรื่นรมย์ เราเห็นอุโมงค์เกาหลิงใหม่อยู่ข้างๆ ด้วย มีรถไฟวิ่งเข้าออกเป็นระยะๆ ฉีเฉิงไม่ใช่จังหวัดนิวไทเปซิตี้ (New Taipei City) อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นจังหวัดอี้หลาน (Yilan) เส้นแบ่งเขตนิวไทเปซิตี้และอี้หลานอยู่ประมาณครึ่งทางในอุโมงค์ ซึ่งจุดดังกล่าวมีป้ายไฟโค้งบอกอยู่ในอุโมงค์ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการขี่จักรยานข้ามจังหวัดเลยทีเดียว

จากนั้นเราขี่จักรยานต่อไปตามถนนปินไห่ (Binhai Road) เลียบชายฝั่งไปทางทิศตะวันออก เพื่อมุ่งหน้าไปยังจุดบริการนักท่องเที่ยวฉีเฉิง (Shicheng Service Area) อันเป็นจุดหมายปลายทางของเรา

ถนนปินไห่เป็นถนนไฮเวย์ขนาดใหญ่ แต่ทำเลนจักรยานพร้อมแนวกั้นเตี้ยๆ เป็นสัดส่วนให้นักปั่นขี่จักรยานได้อย่างปลอดภัย บรรยากาศแถวนี้ดีมาก ฝั่งหนึ่งเป็นภูเขา อีกฝั่งหนึ่งเป็นทะเล บรรยากาศชวนให้นึกถึงหนังไต้หวันอย่าง Island Etude (2006) เป็นเรื่องของหนุ่มผู้พิการทางการได้ยินและเป็นใบ้ออกปั่นจักรยานรอบเกาะไต้หวัน และ The Most Distant Course (2007) เป็นเรื่องของหญิงสาวออกเดินทางรอบเกาะไต้หวันเพื่อตามหาชายหนุ่มที่ทยอยอัดเสียงบรรยากาศเมืองต่างๆ ระหว่างเดินทางรอบเกาะใส่เทปแล้วส่งไปให้เธอฟัง

เพียงไม่นานเราก็มาถึงจุดบริการนักท่องเที่ยวฉีเฉิง ตัวอาคาร 2 ชั้นมีคาเฟ่แสงอุ่นอยู่ตรงกลาง ชั้นบนมีระเบียงนั่งชมวิว ข้างๆ เป็นลานกลางแจ้งเล็กๆ เราแวะกินข้าวกล่องรถไฟเป็นมื้อเที่ยงกันที่นี่ ท่ามกลางลมเย็นจากวิวมหาสมุทรตรงหน้า ข้าวกล่องรถไฟอร่อยมาก และวิวที่นี่ก็ดีมากไม่แพ้กัน

เรียบร้อยกับมื้อเที่ยงแล้วเราก็ขี่จักรยานกลับทางเดิมไปฝูหลง อันที่จริงเราสามารถขี่เลาะชายฝั่งต่อไปเรื่อยๆ เพื่อกลับไปฝูหลงจากอีกทิศเป็นวงกลมก็ได้หากมีเวลาทั้งวัน

กลับถึงฝูหลง คืนจักรยานร้านคุณป้าใจดี จบทริปปั่นจักรยานบนเส้นทางที่สวยที่สุดเส้นทางหนึ่งในไต้หวันด้วยความประทับใจสุดๆ ไปเลย

maps

ใครอยากส่งเรื่องทางจักรยานน่าปั่นลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR