‘ข้อบกพร่องและตำหนิทำให้เราผูกพันกัน’ เอินจั่ว ศิลปินไต้หวันที่อยากให้เราทบทวนบาดแผลในชีวิต

ศิลปินหลายคนเลือกสร้างงานจากบาดแผลส่วนหนึ่งในชีวิต ที่สะท้อนให้เราเห็นข้อบกพร่อง บุบเบี้ยว และไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์

เหมือนอย่างที่เราเคยหลงใหล เจ็บปวด และได้ทบทวนบาดแผลในวัยเยาว์ของตัวเอง ผ่านการซึมซับงานเขียน Graphic Novel ของเอินจั่ว (Enzo) นักเขียน นักวาดภาพประกอบ และศิลปินชาวไต้หวันที่มีผลงานแปลออกมาให้คนไทยได้อ่านกันหลายเล่มแล้ว หากใครยังนึกไม่ออก เอินจั่วคือเจ้าของผลงานอย่าง เด็กชายเลขที่ 34, นักเรียนตัวอย่างแห่งโรงพยาบาลสัตว์ประหลาด, The Story of Dream (ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ a book) และ Discovery Love (ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แซลมอน)

ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เอินจั่วได้กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมขนผลงานภาพวาดต้นฉบับของนิยายภาพที่ได้แปลเป็นภาษาไทยมาให้แฟนๆ ได้ชมกัน ในนิทรรศการ Enzo Thailand Exhibition 2018 ที่ Spacebar Design Studio จับมือกับกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน และสำนักพิมพ์ Mangmoom Book

ก่อนพูดคุยกัน เราได้เดินชมผลงานของเอินจั่วที่ทุกรูปจะมีข้อความสั้นๆ กำกับไว้ เป็นข้อความที่ชวนให้เราได้นึกกลับไปถึงความฝันในวัยเยาว์ และข้อบกพร่องที่เราปิดบังไว้เมื่อเติบโตขึ้น ประเด็นที่แสนจะสากลและกระทบใจทำให้งานของเอินจั่วได้รับความนิยมและถูกแปลไปหลายภาษา

บทสนทนาสั้นๆ ระหว่างเรากับเอินจั่วน่าจะทำให้ใครหลายคนอยากย้อนกลับไปอ่านงานของเขาอีกครั้ง และนั่งคิดถึงตัวตนในวัยเยาว์ที่สูญหายไปก็เป็นได้

ทำไมคุณถึงเลือกมาจัดนิทรรศการครั้งนี้ที่เมืองไทย งานนี้มีความพิเศษยังไงบ้าง
ก่อนหน้านี้ผมเคยจัดนิทรรศการที่ไต้หวันมาแล้ว 2 – 3 ครั้ง ทั้งที่ไทเปที่ไปแสดงที่ Military Village หรือที่เมืองเกาสง แต่ส่วนใหญ่จะจัดในช่วงที่ออกผลงานเล่มใหม่ ก็จะหยิบผลงานวาดต้นฉบับไปจัดแสดง และก็เคยไปจัดแสดงในห้างสรรพสินค้าที่ฮ่องกงครั้งหนึ่งครับ

นิทรรศการนี้เป็นครั้งแรกในไทย มีจุดเริ่มต้นมาจากทุนสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันผ่านนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Go South) ซึ่งเขามีงบประมาณส่วนหนึ่งให้สำหรับการแลกเปลี่ยนบุคลากรในวงการสิ่งพิมพ์และหนังสือ ซึ่งทาง Spacebar Design Studio ก็ใช้โอกาสนี้ในการติดต่อประสานงานมา

งานนี้ถึงต้นฉบับที่ผมนำมาจะมีไม่เยอะ แต่ในระหว่างที่เตรียมตัวมาจัดแสดง ผมก็ได้ทบทวนถึงการทำงานหลายๆ อย่างผ่านผลงานที่เคยจัดพิมพ์ในประเทศไทย

คิดว่าผลงานของคุณมีเนื้อหาที่คนอ่านในไทยเชื่อมโยงได้ยังไงบ้าง
ในความรู้สึกผม ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่พิเศษมากในภูมิภาคเอเชีย ไต้หวันเองก็จะมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับญี่ปุ่นมากกว่า ผมเลยอยากรู้ว่างานของผมจะสร้างความเข้าถึงกับคนในภูมิภาคนี้ได้ยังไงด้วยเหมือนกัน

เรื่องราวของผมมักมีจุดกำเนิดมาจากความเป็นมนุษย์ ผมรู้สึกว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มนุษย์เราก็น่าจะมีจุดเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ผมมักจะเขียนเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความรัก การเติบโตจากวัยเด็ก ความใฝ่ฝัน หรือพูดถึงความแตกต่างระหว่างตัวเราเองกับคนอื่น ผมรู้สึกว่ามันเป็นพล็อตที่คนทุกคนน่าจะได้ประสบพบเจอกับตัวเองในรูปแบบต่างๆ

แสดงว่าคุณตั้งใจแต่แรกว่าเนื้อหาที่วาดออกมาจะต้องสื่อสารกับคนอ่านได้ทั้งโลก
งานของผมจะพูดถึงอุปสรรคของตัวเราเอง ข้อบกพร่องของตัวเอง ในการเขียนงานจึงตั้งธีมหลักให้คนอ่านเข้าใจ โดยไม่ได้ระบุเจาะจงว่าต้องเป็นคนชาติไหนหรือคนวัยไหน

ผลงานของคุณถูกแปลไปหลายๆ ประเทศทั้งฝั่งเอเชียหรือยุโรป อยากรู้ว่าฟีดแบ็กของกลุ่มคนอ่านสองกลุ่มนี้แตกต่างกันมั้ย
ภาษาที่ถูกแปลไปมีทั้งภาษาจีนตัวย่อที่ขายในจีนแผ่นดินใหญ่ ภาษาเกาหลี และภาษาเยอรมัน ตัวผมเองก็ทำแฟนเพจเฟซบุ๊กด้วย แต่อาจไม่ได้คึกคักหรือเข้าไปดูแลอะไรมาก ฟีดแบ็กจะมาทางแฟนเพจซะเยอะแต่ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาที่ผมอ่านไม่รู้เรื่อง ต้องอาศัยการแปลอัตโนมัติเอา ก็มีทั้งคำขอบคุณที่ผมทำหนังสือแบบนี้ ขอบคุณที่หนังสือได้มอบให้กำลังกับเขา มอบพลังให้กับเขา ซึ่งผมเองจะรู้สึกว่าคนอ่านต่างหากที่เป็นคนมอบพลังให้กับผม

มีเรื่องน่าสนใจอย่างหนึ่งคือพอเรื่อง เด็กชายเลขที่ 34 วางขายที่เยอรมนี เด็กๆ ที่ประเทศเยอรมนีอ่านแล้วก็จะประหลาดใจ เพราะสภาพแวดล้อมทางการศึกษาของเยอรมนีกับในประเทศไต้หวันที่ผมบรรยายไว้ต่างกันเยอะมาก พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใส่เครื่องแบบ ทำไมต้องตัดผม พอผมได้รับเชิญไปพูดในเทศกาลหนังสือที่เบอร์ลิน ก็ได้ไปอธิบายว่ามันเป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งในอดีตของไต้หวัน เป็นยุคสมัยที่ผมยังเด็กอยู่ แต่ในตอนนี้ก็ค่อนข้างผ่อนปรนมากแล้ว ฟีดแบ็กที่มาจากเยอรมนีส่วนใหญ่จะมาจากครูมากกว่าว่าขอบคุณที่หนังสือให้แรงบันดาลใจ เปิดมุมมอง ทัศนคติใหม่ๆ หลายอย่างให้พวกเขา

ยุคนี้เริ่มมีศิลปิน นักวาดภาพประกอบจำนวนมากที่หันไปทำงานกราฟิกในคอมพิวเตอร์ แต่ทำไมคุณถึงยังคงใช้วิธีการวาดมือในการทำงาน
ตัวผมเองไม่ได้ไม่ชอบหรือรังเกียจคอมพิวเตอร์ เพียงแต่ว่าชอบการวาดมือมากกว่า การวาดมือบางครั้งจะเกิดตำหนิในผลงาน เป็นสิ่งที่ฝีมือเราวาดไม่ถึง พอมีตำหนิ มีเปรอะเปื้อนอะไรบ้าง มันก็มีกลิ่นอายความเป็นคนอยู่ในนั้น

ผมไม่ได้แสวงหางานที่สูงส่งหรือร้ายกาจ แต่ผมต้องการงานที่อบอุ่น มีจิตวิญญาณ มีความผูกพันอยู่ในนั้น ไม่ได้เน้นที่ความเร็ว ตราบใดที่ตัวผมมีรายได้พอที่จะอยู่ได้ ก็ยังอยากจะทำในสิ่งที่ตัวเองรักไปเรื่อยๆ มากกว่า แต่ถ้างานวาดมืออย่างนี้เริ่มไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ต้องหันไปสร้างงานในคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างงานที่เร็วขึ้น ก็ค่อยว่ากันอีกที

ทำไมคุณถึงให้ความสำคัญกับเรื่องกลิ่นอายความเป็นมนุษย์ หรือข้อบกพร่องของคนเรามากขนาดนั้น
มนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ มนุษย์จะดำเนินชีวิตไปอย่างเครื่องจักรไม่ได้ แล้วบางทีคนเราจะทำอะไรก็คงไม่ได้คำนึงถึงแต่เรื่องผลประโยชน์ ความถูกผิด หรือต้องซ้ายขวาเป๊ะๆ จนเกินไป บางเรื่องคนเราทำเพียงเพราะแค่ชอบ แล้วพอยุคอุตสาหกรรมที่ทุกอย่างต้องว่องไว มนุษย์ก็จะถูกเกลาให้ต้องเป๊ะมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกยัดเยียดความคิดว่าคนที่ทำตัวไม่มีประสิทธิภาพ คนที่มีข้อบกพร่องคือสิ่งที่ผิด

แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่เราเรียกว่าตำหนิ ข้อบกพร่อง บางทีก็มีคุณค่าและทำให้คนเราผูกพันและรักกัน

ที่ไต้หวันเองก็มีการ์ตูนช่องที่ศิลปินโพสต์ทางเฟซบุ๊ก อ่านแล้วเฮอาแต่จบแล้วก็อาจไม่ได้มีอะไรติดอยู่กับตัวเอง แต่คนเรายังต้องการเนื้อหาที่สร้างความผูกพันกับคนอ่าน ผ่านการตกตะกอนทางความรู้สึกอยู่ คนเราจึงควรมีเวลาทบทวนสิ่งต่างๆ ของตัวเองแม้จะเป็นสิ่งที่มีตำหนิบ้างก็ตาม

เห็นว่านิทรรศการนี้ก็ได้รับสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน แสดงว่ากลุ่มศิลปิน นักเขียน นักวาด ก็เป็นอาชีพที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากอยู่เหมือนกัน
ความจริงแล้วไต้หวันเองค่อนข้างขาดแคลนเลย ในมุมมองของผม นักสร้างสรรค์ นักเขียน นักวาดไต้หวันก็ค่อนข้างอยู่ยาก มีคนที่มีความสามารถเยอะแต่ส่วนใหญ่ก็หัวเดียวกระเทียมลีบ ต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเองเพราะรัฐบาลมักจะเข้าไปสนับสนุนคนที่ดัง มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว การช่วยเหลือศิลปินคนที่เก่งๆ แต่ยังไม่ดังก็เป็นเรื่องยากที่ทุนพวกนี้จะเป็นฝ่ายมองเห็นเขา อย่างผมเองทำงานมา 12 – 13 ปีแล้ว แต่นักเขียน นักวาดที่ทำงานมาพร้อมกัน ถึงตอนนี้ก็แทบไม่มีใครทำงานด้านนี้แล้ว

เพราะอะไร
ความถดถอยของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งโลกมันสะท้อนมาถึงการตอบรับของตลาดต่องานแบบนี้ และสภาพเศรษฐกิจด้วยที่ทำให้คนทำงานตรงนี้รู้สึกว่าอยู่ยากขึ้นทุกวัน

ที่บอกว่าอยู่ยาก หมายถึงไม่มีกลุ่มคนอ่านสนับสนุนงานแล้วเหรอ
ผมคิดว่าการตกต่ำของธุรกิจสิ่งพิมพ์ส่วนหนึ่งมาจากสื่อใหม่ที่เข้ามา ทั้งเฟซบุ๊ก อินเทอร์เน็ต ที่ทำให้คนเข้าถึงสื่อที่ฟรีได้ง่ายขึ้น เข้าถึงความบันเทิงอื่นๆ นอกเหนือจากหนังสือได้ง่ายขึ้น สำหรับนักเขียน ศิลปิน ความเป็นอยู่ของเรามาจากนักอ่านและผู้ติดตาม เมื่อขาดการสนับสนุนจากนักอ่าน สำนักพิมพ์ก็ไม่มีกำลังพอไปสนับสนุนนักเขียน มันก็ล้มเป็นโดมิโนอย่างนี้ไป ผมมองว่าน่าจะเป็นปัญหาเดียวกันกับทั้งโลกนะ

แล้วคุณเองมีวิธีการปรับตัวยังไงให้ยังทำงานด้านนี้ได้อยู่ในยุคที่สิ่งพิมพ์ถดถอย
ปีที่แล้ว ผมเริ่มแบ่งแรงมาทำงานปั้นหุ่นตัวละครของผมขึ้นเป็นโมเดล ให้ตัวละครมีมิติมากขึ้น ตัวผมเองชอบทำงานฝีมือ งานปั้น งานดีไอวาย เป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว ดังนั้นถ้ามีนิทรรศการในอนาคต นอกจากจะจัดแสดงผลงานต้นฉบับแล้ว ผมยังอยากจัดแสดงงานที่ผมปั้นกับมือตัวเองด้วย

ที่ไต้หวัน ผมเองก็ไม่ได้เขียนหนังสืออย่างเดียว ส่วนใหญ่ผมยังรับจ้างวาดภาพประกอบด้วย หนังสือภาพประกอบที่วางจำหน่ายในไต้หวันมีงานที่ผมวาดภาพให้น่าจะไม่ต่ำกว่า 70 – 80 เล่ม หรือที่ฮ่องกง ที่ไทยก็มี (เรื่อง แปดปีที่รักกัน ผลงานเขียนของ Giddens โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์) รวมถึงภาพประกอบบางภาพก็ขายงานไปยังต่างประเทศ

นอกจากรับงานให้หลากหลายมากขึ้น ผมยังอยากให้งานผมต่อยอดไปในเชิงแอนิเมชันมากขึ้น อย่างเรื่อง นักเรียนตัวอย่างแห่งโรงพยาบาลสัตว์ประหลาด ก็มีองค์ประกอบหลายอย่างที่เหมาะสมจะไปดัดแปลงได้ ซึ่งผมก็เพิ่งได้ไปร่วมงานกับค่ายเพลงและทำมิวสิกวิดีโอให้กับศิลปิน Xiao Qiu โดยเขียนภาพทั้งหมดตามเนื้อเพลง (เพลง Zhen Shi Shi Jie) ซึ่งประมาณเดือนเมษายนนี้ผมกับ Xiao Qiu ก็จะทำหนังสือออกมาเล่มหนึ่งด้วย และประมาณช่วงครึ่งปีหลังก็จะมีผลงานเขียนเล่มใหม่ออกมาครับ เพราะฉะนั้น สำหรับชีวิตผมก็คือทำงานหาเงินมาก้อนหนึ่ง แล้วเก็บเงินก้อนนี้ไว้เป็นกระสุนสำหรับเตรียมสู้รบในสมรภูมิครั้งต่อไป (หัวเราะ)

พอบอกใบ้ให้แฟนๆ รู้หน่อยได้มั้ยว่าผลงานเล่มหน้าจะเป็นแนวไหน
ถ้า เด็กชายเลขที่ 34 คือผู้ใหญ่ที่ย้อนกลับไปหาเด็ก เรื่องนี้จะกลับกัน เป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งไปตามหาตัวเองในวัยที่เติบโตขึ้น และเอาตัวเองที่โตขึ้นกลับไปคุยกับตัวเองในวัยเด็ก น่าจะเป็นบทสนทนาระหว่างตัวเองกับตัวเอง ตัวละครมักจะคิดเสมอตั้งแต่เด็กๆ ว่าโตขึ้นฉันจะเป็นยังไง บ้างก็มองโลกในแง่ดีเกินไป บ้างก็มองโลกในแง่ลบเกินไป แต่พอโตขึ้นแล้ว บางสิ่งก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดเอาไว้ บางสิ่งก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิดเอาไว้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาจะบอกกับตัวเองในวัยเด็กก็คืออยากให้เขาได้เติบโตอย่างกล้าหาญดีกว่า

นิทรรศการ Enzo Thailand Exhibition 2018 จะจัดแสดงที่ Spacebar Design Studio จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2561 นี้ (10.00 – 18.00 น. ปิดวันจันทร์และอังคาร)

ล่าม อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย