รศ.ดร.เจษฎา : เราควรจะคิดแบบมีเหตุผลในทุกเรื่องของชีวิต

Highlights

  • อาจารย์เจษฎาเริ่มต้นสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่กรณีชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องเครื่องตรวจระเบิด GT200 เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เพราะเขาเห็นว่าคนไทยยังขาดเรื่องตรรกะความคิดเชิงเหตุผลพื้นฐาน
  • ตลอดเวลาที่ผ่านมาอาจารย์ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงรวมถึงแสดงความเห็นเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง ทั้งหมดเพื่อกระตุ้นให้คนไทยใช้ความคิดวิเคราะห์เรื่องต่างๆ มากขึ้น
  • อาจารย์เจษฎามองว่าสังคมไทยนั้นเปลี่ยนยาก แต่เปลี่ยนได้ และคนรุ่นใหม่ที่โตมาในโลกที่แคบลงคือความหวัง

เรารู้จัก รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ในหลายบทบาท

เขาเป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ และอาจารย์ยังเป็นสิ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู นั่นคือนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์

แต่ฟังดูแล้วไม่ว่าจะบทบาทไหน วิทยาศาสตร์จะเป็นส่วนหนึ่งของอาจารย์เจษฎาเสมอ

จากกรณีเครื่องตรวจระเบิด GT200 ที่เขาออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นับจากวันนั้นสังคมก็เริ่มจับจ้องไปที่เขา อาจารย์เจษฎากลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการพิสูจน์ความจริง ไม่ว่าจะเป็นข่าวดังที่ดูคลุมเครือไปจนถึงเรื่องการเมือง เราจะเห็นอาจารย์ออกมากระตุ้นผ่านสื่อให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงหลักวิทยาศาสตร์เสมอ การปรากฏตัวต่อหน้าสื่อแบบนี้เองที่ทำให้เขาได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหินจากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ฟังดูแล้วก็อดสังสัยไม่ได้ว่าสำหรับเขา มันสำคัญมากนักหรือที่เราจะต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง แม้เรื่องนั้นจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวเราเลยก็ตาม

ด้วยคำถามใหญ่ในใจนี้ เราเลยตัดสินใจชวนอาจารย์เจษฎามานั่งคุยกันเสียหน่อย เปล่าเลย เราไม่ได้คุยกันด้วยศัพท์วิทย์ๆ ที่เข้าใจยากอะไร แต่เราคุยกันแบบคนปกติด้วยภาษาง่ายๆ แถมตรงไปตรงมา เราไม่ได้อยากคุยกับอาจารย์เจษฎาในฐานะนักวิทยาศาสตร์ แต่เราแค่อยากสนทนากับชายคนหนึ่งผ่านคำถามที่ว่าด้วยเรื่องความพยายามในการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมมาเกือบ 10 ปีแล้ว

ช่วงขณะหนึ่งเรารู้สึกว่าถ้ากระบวนการวิทยาศาสตร์ประกอบไปด้วยการกำหนดปัญหา การตั้งสมมติฐาน การทดลอง การวิเคราะห์ผลการทดลอง และการสรุปผล

บางทีการพูดคุยกับอาจารย์เจษฎาในครั้งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนั้น

การกำหนดปัญหา

“หลักคิดแบบมีเหตุผลในสังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง”

ภาพรวมของสังคมไทยในปัจจุบัน แนวคิดเชิงเหตุผลมันหายไปเยอะไหม

ความเข้าใจของผม ตั้งแต่สมัยเรียนมาจนถึงตอนเป็นอาจารย์ ผมมองวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนเทคโนโลยี เราอยากเห็นสังคมไทยพัฒนาและนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในส่วนต่างๆ แต่การเกิดกรณีเครื่องตรวจระเบิด GT200 เมื่อเกือบสิบปีก่อนเป็นสิ่งที่สะท้อนอะไรบางอย่างออกมาแล้วมันค่อนข้างเปลี่ยนชีวิตผมเลย มันทำให้ผมตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องที่เราคิดว่ามันง่ายมากเลยนะ เครื่องที่เป็นกล่องพลาสติกกับเสาอากาศหนึ่งอันมันใช้ตรวจระเบิดไม่ได้อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นวิวาทะ เป็นเรื่องระดับชาติที่ต้องจัดการทดสอบใหญ่โต สิ่งนี้เป็นจุดที่เปลี่ยนชีวิตผมเลย วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของการเอาวิทยาศาสตร์มาอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว แต่คนไทยบางคนมีปัญหาเรื่องตรรกะความคิดด้วยซ้ำ มันไม่ได้ฝังอยู่ในส่วนลึกของเรา เราเป็นสังคมที่เชื่อตามกันและไม่ชอบเถียงกัน ดังนั้นผมว่าเมืองไทยต้องมาเริ่มใหม่ตั้งแต่กระบวนการคิดเลยว่าสิ่งนี้น่าเชื่อไหม เป็นไปได้แค่ไหน ทดสอบมันได้ไหม ผมคิดว่าเราต้องเติมตรงนี้มากๆ ไม่งั้นเราไปไม่รอดแน่

การตั้งสมมติฐาน

“เราเปลี่ยนให้คนมีเหตุผลได้ด้วยการทำให้เขาเห็นเหตุผล”

คุณเริ่มออกมาชี้แจงหรือออกมาสื่อสารเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ได้ยังไง

เราค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเส้นทางจากสิ่งที่เราค้นพบในตอนนั้นครับ จากที่เคยคิดว่าแค่สอนหนังสือธรรมดา เราเริ่มใช้สื่อเพื่อเข้าไปตอบคำถามต่างๆ เริ่มต้นจากเว็บ pantip.com จนเมื่อ 5 ปีที่แล้วเราก็เข้ามาเฟซบุ๊ก ผมพบว่าคำถามที่สังคมมีมันสัพเพเหระไปหมด มันเปิดหูเปิดตาเราว่าความจริงแล้วยังมีเรื่องที่สังคมเขาอยากรู้อีกเยอะ จากตรงนั้นเราก็เริ่มให้ความรู้คน คนก็รู้จักเรามากขึ้น ปัจจุบันสื่อมวลชนทั่วไปก็จะเอาข้อเท็จจริงที่เราลงในเฟซบุ๊กมากระจายต่อ คนเริ่มจะคุ้นหน้าเวลาเราไปตอบเรื่องนั้นเรื่องนี้

ทุกคนจำเป็นต้องคิดเป็นเหตุเป็นผลหรือเปล่า

ผมคิดว่าทุกคนควรมีในทุกเรื่องของการใช้ชีวิตพื้นฐานเลยนะ เอาง่ายๆ ว่าถ้าใครมาขายของเรา เราจะซื้อทันทีเลยเหรอ นั่นยังเป็นเปลือกที่เบาบางมาก แต่เรื่องที่มันลึกกว่านั้นล่ะ เช่น เรื่องที่มีผลกระทบต่อชาติ ผลกระทบต่อความมั่นคง การเมือง องค์ความเชื่อแบบศาสนาหรือลัทธิหรือไสยศาสตร์พื้นถิ่น ผมไม่ได้จะบอกว่ามันงมงาย แต่ผมชวนตั้งคำถามว่าเราควรมีตรรกะในการคิดทบทวนสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า เราโดนปลูกฝังมาทั้งชีวิตว่าเชื่อผู้ใหญ่หมาไม่กัด ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ แต่ถ้าเราไม่มีของพวกนี้เลย เท่ากับว่าเราก็ไม่ได้พัฒนากรอบความคิดของตัวเอง ดังนั้นผมเลยจำเป็นต้องเข้ามาชี้แจงหรือหาเรื่องชาวบ้านบ้าง ผมเข้าไปตอบเพื่อกระตุ้นให้รู้ว่าคุณกำลังแชร์อะไรผิดๆ นะ คุณจะได้สะดุดว่าเรื่องที่คุณเชื่ออยู่เนี่ย คุณจำเป็นต้องเชื่อมันไหม มันทำให้กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ของคุณถูกกระตุ้น ผมพยายามให้เกิดการถกเถียงเพื่อช่วยกันหาคำตอบที่นำมาซึ่งกรอบความคิดใหม่ๆ

ปัญหาหลักที่ใครหลายคนเจอคือเรื่อง generation gap มีบ่อยมากที่ลูกจะอธิบายเรื่องๆ หนึ่งให้พ่อแม่ฟังด้วยเหตุผล แต่พ่อแม่ก็ไม่ยอมเชื่อ กรณีแบบนี้เราทำอย่างไรได้บ้าง

เรื่องนี้มันมี 2 ส่วนนะ ส่วนแรกคือเด็กยังคงจะเชื่อตัวเองไหมว่าเขามีสิทธิ์คิดต่างได้ ข้อสองคือฉันควรจะเปลี่ยนให้ผู้ใหญ่เชื่อตามฉันไหม คำถามคือคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนพ่อแม่จริงๆ เหรอ บางทีมันอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ ถ้ามันไม่ได้ผลกระทบต่อตัวเขาเอง วันก่อนมีคนมาปรึกษาผมว่าแม่เขาไม่ให้กินชีส  ถ้ากินแล้วจะอ้วนเหมือนฝรั่ง น้องเขาพูดยังไงแม่ก็ไม่เข้าใจ ผมก็บอกไปว่าอย่าไปเถียงกับคุณแม่เลย คุณไปกินชีสนอกบ้านดีกว่า มันมีหลายเรื่องที่มันอาจจะเป็นความเชื่อที่ผิด แต่มันก็ไม่ได้ไปทำร้ายใคร ไม่ได้เป็นเรื่องผิดเสียหายใหญ่โตก็ปล่อยให้เขาเชื่อ แต่เมื่อไหร่เป็นเรื่องที่เป็นอันตราย ผมคิดว่าเราก็ควรจะลุกล้ำเข้าไปในกรอบของเขาเหมือนกัน ผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่วิเศษอย่างหนึ่งตรงที่เราสามารถใช้บุคคลที่สามที่พ่อแม่ของเราเชื่อได้ เช่น ใช้คนที่มีคุณวุฒิหรือวัยวุฒิที่พ่อแม่นับถือมาเป็นตัวกลางได้

แต่ถ้าเป็นคนที่มีอายุมากๆ ก็ดูเป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะสื่อสารให้เขาเปลี่ยนความคิด

เดี๋ยวพอเราอายุเท่าเขา เราก็จะเข้าใจ เมื่อก่อนคำว่า generation gap เป็นคำที่ผมตั้งคำถามมากว่ามันมีจริงเหรอ แต่พอโตมาก็ทำให้เราเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง เช่น รุ่นพ่อแม่ผมเป็นยุคเบบี้บูมเมอร์ พวกเขาทำงานหนัก เราเองเป็นเจนเอกซ์ เราก็มักจะแสวงหา ยิ่งเป็นเด็กยุคใหม่นี่เราบอกอะไรไม่ได้เลย ดังนั้นการที่คนแต่ละรุ่นมีความเชื่อที่ต่างกันก็ไม่ใช่เรื่องเแปลก เราแค่หาเทคนิคการสื่อสารที่เหมาะกับเจนนั้นๆ

ถ้าเราพยายามสื่อสารให้เขาเข้าใจอย่างที่สุดแล้วแต่เขาก็ไม่เข้าใจ เราต้องจัดการยังไง

ผมใช้คำว่าทำใจนะ บางเรื่องก็ต้องอะลุ่มอล่วยกัน ถึงมีคนเอาเราไปด่าลับหลัง เราก็ทำใจ เราไปร้อนดิ้นหรือโหนตามเขาก็ทำไม่ได้เพราะนั่นเป็นกรอบความคิดเขา มันมีเรื่องประมาณนี้อยู่จริงๆ ล่าสุดก็เรื่องยาฆ่าหญ้า มีคนมารณรงค์กันน่าดูเลยว่าให้เลิกใช้กับประเทศไทย อันนี้เป็นตัวอย่างของเรื่องที่เรารู้จริงๆ ว่าไอ้ที่คุณพูดน่ะไม่จริง ผมคิดว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่คุณพยายามจะกำจัดยาฆ่าหญ้าออกไป แต่คุณไม่เห็นใจเกษตรกรเลย เขาจะเอาอะไรใช้ แต่เรื่องนี้ถ้าเข้าไปแตะหน่อยก็เหนื่อยแน่ แล้วเราก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา การจะเข้าไปแตะเรื่องที่เป็นลบอยู่แล้วให้กลายเป็นบวกน่ะยากมาก เราเก็บแรงไปทำเรื่องอื่นดีกว่า

วิเคราะห์ข้อมูลการทดลอง

“ผลลัพธ์ที่เห็นจากคนที่เสพข้อมูลและคนที่ให้ข้อมูลเอง”

ก่อนจะออกมาสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ คุณคิดมาก่อนไหมว่าจะได้ฟีดแบ็กลบกลับมาด้วย

ตอน GT200 มันเป็นเรื่องจับพลัดจับผลู ลูกศิษย์เราเขาเล่นเรื่องนี้ พอเรามีข้อมูลเลยช่วยเขาเท่าที่ช่วยได้ ตอนแรกมันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นว่าเราไปแตะเรื่องที่ไม่ควรยุ่งเข้าแล้ว พอกระแสเริ่มเข้ามาก็มีหลายคนที่มาเบรกว่าเจษฎาหยุดเถอะ เริ่มมีคนด่า ถามว่าเหวอไหม ก็เหวอเหมือนกัน แต่พอผ่าน GT200 มาได้มันเป็นบทพิสูจน์ที่ค่อนข้างดีในการเรียนรู้หลายๆ เรื่อง เราเรียนรู้ว่าเราควรจะฟังใคร ไม่ฟังใคร ถ้าเป็นกองเชียร์ฝ่ายตรงข้ามแล้วเราไปเซนส์ตามเขาที่ว่าเรา เราก็เครียดเปล่าๆ ตอนนี้เราเลยเลือกจะรับฟังแบบมีเป้าหมายชัดเจน อธิบายคนที่พร้อมฟังว่าผมมีเหตุผลแบบนี้นะ เราเริ่มปล่อยได้มากขึ้น

ท้อบ้างไหม

มันย้อนกลับมาคำถามที่ว่าเราอยากลงแรงกับเรื่องนั้นแค่ไหน ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นความเชื่อ พูดไปแล้วไม่เข้าใจอย่างเรื่องน้ำป้าเช็ง ผมก็ปล่อยไป แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ เราก็มีท้อบ้าง ถึงจุดหนึ่งก็มีถอยกลับออกมาบ้างนะว่าทำไปเพื่ออะไรกันแน่

ความเป็นเหตุเป็นผลในความคิดคุณเคยมากเกินจนสร้างผลเสียหรือเปล่า

(นิ่งคิด) น่าสนใจครับ หลังจาก GT200 มันก็ทำให้ความเป็นวิทยาศาสตร์ในตัวเราสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลที่ตามมาคือกรอบหลายๆ กรอบถูกฉีกออกไปอย่างรวดเร็วมาก กรอบแรกคือศาสนา เราโตมาเป็นพุทธตลอดชีวิตแต่พอเราค้นพบว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร กรอบนี้หลุดออกไปอย่างรวดเร็วมากเลย อันที่จริงศาสนาคือเครื่องมือในบรรณาการที่ใช้ให้คนแต่ละสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในเส้นทางเดียวกัน แต่พอมาคิดแบบนี้ เราจะพบว่าศาสนาเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องมีก็ได้นะ ช่วงแรกผมเลยรู้สึกแอนตี้ เราไม่เข้าใจว่าจะทำไปเพื่ออะไร ในช่วงแรกผมเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้เราก็ได้เรียนรู้ว่าเราต้องอยู่ในสังคม เราต้องอยู่กับครอบครัว เพราะฉะนั้นตอนนี้ถ้าถามว่าให้ผมไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาได้ไหม ผมไปได้ แต่ไม่อินนะ ผมฝืนตัวเองได้ ไม่ได้เจ็บปวดอะไรมากมาย แต่ถ้าเราไปฝืนสังคมหรือครอบครัวแล้วเขาเจ็บปวดเนี่ย มันก็ไม่ดี สู้ปล่อยให้คนรอบข้างเรามีความสุขดีกว่า ปล่อยเขาไป เราจะถูกล้ำเข้าไปในส่วนของเราบ้างก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย

ในมุมมองของคุณ การรักษาสมดุลระหว่างเหตุผลและด้านอื่นๆ จำเป็นมากแค่ไหน

เราเป็นสัตว์สังคมครับ เราต้องเรียนรู้ว่าสังคมรอบตัวเราเป็นยังไง ไอ้คำว่ากาลเทศะมีอยู่จริง ผมสอนหนังสือที่จุฬาฯ ผมต้องคุยกับเด็กทุกปีว่าทำไมเราต้องแต่งชุดนิสิต เราถกเถียงกันทุกเทอม การเถียงสนุกดีนะครับ มันเป็นการเถียงเพื่อให้ทุกคนจูนตัวเองเข้ากับสังคมได้โดยที่ยังคงสไตล์ตัวเราไว้ ถ้าเราคิดว่าจะไม่เชื่อสังคม การอยู่ร่วมกับสังคมก็จะยาก ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ทำได้นะแค่คุณรู้เส้นทางนั้นว่ามันจะเจออะไร แต่ผมเลือกเส้นทางนี้ เลือกที่จะมาเป็นอาจารย์ ผมเลยต้องเรียนรู้สังคมเพื่อจะรู้วิธีการสื่อสารกับคนในสังคม

ดูเหมือนเรื่องนี้สำคัญมากในภาพใหญ่เหมือนกันนะ

ใช่เลย ผมย้อนให้เห็นภาพรวมที่ชัดที่สุดคือปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้ เราถูกทำให้มีแค่ 2 ฝั่งแต่ผมคิดว่าเราไม่ได้เกิดมาเป็นแค่เหลืองกับแดงนะครับ เราโดนปลุกระดมและเร้าขึ้นมาว่าคุณเป็นอย่างนี้ แล้วคุณลืมไปว่าชีวิตจริงคุณอยู่ตรงกลาง คุณย้ายไปย้ายมาเห็นด้วยกับเรื่องนั้น ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ได้

ที่เป็นอย่างทุกวันนี้มันสะท้อนอะไร มันสะท้อนว่าสังคมไทยโดนปลุกระดมง่าย เครื่องตรวจระเบิดกระป๋องเปล่าคุณยังหลอกให้คนเชื่อได้เลย นับประสาอะไรกับการหลอกคุณให้เชื่อตามระบบของเขา ฝั่งตรงข้ามน่ะเลว ต้องไล่ออกนอกประเทศ หรือต้องให้กลุ่มที่สามเข้ามาช่วย มันมีเกณฑ์ของมันอยู่ แต่ถ้าเราลองลอยตัวและคิดอย่างมีเหตุผลกับสิ่งที่เป็นอยู่ ทุกเรื่องคุณสามารถมองอย่างเป็นกลางได้นะ

คุณยังเชื่อไหมว่าสังคมเปลี่ยนแปลงได้

ผมว่ามันเปลี่ยนยากครับ คนในประเทศโตมาในกรอบที่เราโดนหล่อหลอมให้เชื่อตามกัน  ถ้ากระบวนการยังเป็นแบบนี้อยู่ คุณอย่าคาดหวังว่าระบอบการเมืองไทยจะพัฒนาไปได้ ยังอีกไกลมาก เราอยู่ในเกมที่เขาหล่อหลอมด้วยวิธีคิดแบบนี้ แต่ถึงจะยาก ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่มีความหวัง ตอนนี้โลกมันแคบลง แค่วินาทีเดียว ข่าวสารทุกอย่างก็จะเข้าสู่มือถือเรา สมัยก่อนถ้าใครออกไปนอกกรอบอาจโดนตีทันที แต่วันนี้คุณทำไม่ได้แล้ว โลกที่แคบลงทำให้กรอบความคิดคนเปิดมากขึ้น มองอะไรที่มันมีมิติ มีความคิดไตร่ตรองมากขึ้น

การสรุปผล

“เหตุผลที่เรายังมีหวัง”

คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในโลกที่แคบลงคือความหวังของยุคนี้หรือเปล่า

ถ้าถามว่าความหวังอยู่ที่ใคร ใช่ ความหวังอยู่ที่กลุ่มวัยรุ่นหรือคนเจนใหม่ๆ แต่ถ้ามาคิดดู เหตุการณ์ประท้วงเมื่อ 5 ปีที่แล้วเราก็เห็นกลุ่มคนวัยรุ่นออกไปประท้วงเหมือนกัน แสดงว่าเขาเองก็ถูกชักนำไปในทางที่ผิดได้ ผมขออนุญาตบอกว่าผิดนะ ดังนั้นสำหรับผม วัยรุ่นเจนนี้จึงเป็นวัยที่น่าสนใจ 5-6 ปีที่ผ่านมาเรามีกลุ่มคนก้อนใหญ่มากที่เกิดขึ้นที่ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน พวกเขาเก็บกดพร้อมจะเลือกตั้ง เขาอยากเห็นสังคมดีขึ้น เขาอยากได้คำตอบว่าใครที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นและดีขึ้นได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ๆ ต้องการ แต่ถ้าในสนามยังมีคนที่ไม่ตอบโจทย์เขา สุดท้ายพวกเขาก็จะเบื่อพวกผู้ใหญ่ที่ทะเลาะกัน มึงจะเอาอะไรล่ะ ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ แต่กูไม่เอาดีกว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นสังคมก็ไม่เปลี่ยน ดังนั้นสำหรับผมเลยคิดว่าเวลาที่คุณต้องถูกปลูกฝังตรรกะวิทยาศาสตร์หรือความเป็นเหตุเป็นผลได้แล้ว คุณจะได้เอาไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกเรื่องรวมถึงเรื่องการเมือง คุณอยากเป็นเหมือนผู้ใหญ่บางคนไหมที่วันๆ เอาแต่เชื่อผู้นำฝ่ายตัวเอง ถ้าคุณไม่อยาก คุณเป็นคนรุ่นใหม่ก็ต้องลองคิดเรื่องนี้บ้าง ไม่ใช่ว่าให้เป็นภาวะที่โซเชียลหล่อหลอมไปหมด  

ทำไมคุณถึงเชื่อว่าคนเรายินดีกับการแตกสลายในความเชื่อเก่าได้

ผมเชื่อว่าคนเราเรียนรู้ทั้งชีวิตครับ ตอนนี้ผมก็ยังเรียนรู้ มีอะไรให้เราเรียนรู้อีกมาก สังคมไทยอาจจะสอนให้เรากลัวความผิดพลาด แต่ผมคิดว่ามนุษย์จะได้เรียนรู้ทุกครั้งที่ตัวเองผิดพลาด เราต้องเรียนรู้ แต่การเรียนรู้นั้นก็ขึ้นอยู่กับสังคมโดยรอบเหมือนกัน ถ้าเขาไม่เข้าใจจริงๆ มันก็อาจจะไม่ได้ เขาอาจจะโตมาในระบบนี้ ดังนั้นปัญหาคือเราจะทำยังไงให้หลายคนในบ้านเมืองได้เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไร เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าเคยผิดพลาดอะไรบ้าง เราก็จะเปลี่ยนตัวเองไม่ได้

สมมติว่าผู้คนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่คุณหวังไว้จริงๆ คุณคิดว่าบ้านเมืองเราจะเป็นยังไงบ้าง

ผมชอบถามตัวเองว่าครั้งสุดท้ายที่เห็นว่าสังคมไทยสงบสุข รักกันคือตอนไหน ผมก็ถามคนอื่นด้วยและทุกคนก็ตอบไม่เหมือนกัน ทุกคนมีภาพจำที่ต่างกัน ดังนั้นมันเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าความสงบสุขจริงๆ คืออะไร

แต่กลายเป็นว่าเรามักจะใช้กลไกนี้มาตลอดในสังคมไทย เรามีภาพจำว่าประเทศไทยดีที่สุดในโลก สงบ รักกัน ภาพสวยๆ กลายเป็นมโนคติเพราะเราโดนทำให้ลืมว่าเรามีช่วงเวลาที่เลวร้ายร่วมกันก็เยอะ ภาพจำพวกนี้ถ้าเราย้อนกลับไปถึงคนที่มีอำนาจในบ้านเมืองตอนนี้ เขาไม่ยิ่งหนักกว่าเหรอ บางคนไม่เคยเกิดมาโดยรู้เลยว่าสังคมไทยเคยมีช่วงเวลาแห่งความเป็นลบ ภาพจำของเขาเลยเป็นบวก อย่างตอนนี้เขาอาจจะมองว่าเราก็รักกันดีนี่  หรือเวลาเราได้ยินใครบอกว่าเข้ามาเพื่อรักษาความสงบ มันก็เป็นกรอบความสงบในแบบของเขา แต่ละคนมีกรอบของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราจะเลือกกรอบแบบไหนดี เราจะเลือกอยู่ในกรอบของเราตอนนี้โดยมองว่ามันเป็นโลกที่สวยงาม สงบ แต่ไม่พัฒนานะ หรือเราจะเลือกแย้งคนอื่นเพื่อเปิดประเด็นถกเถียงทางสังคมและฉีกขนบที่เราโตมาทั้งชีวิตแต่มันทำให้สังคมเดินหน้าได้ เราเอาข้อมูลข่าวสารออกมา คิด วิเคราะห์ แยกแยะ มันด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้วให้สังคมวงกว้างตัดสินใจว่าเขาต้องการยังไง จะลองไหมล่ะ ด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์แบบนี้ มาพัฒนาไปพร้อมกันดู

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก