วิทยาศาสตร์ของ ‘การรู้ตัว’

Highlights

  • นักคิดทั้งหลายสงสัยมานานแล้วว่า การรู้ตัวนั้นเกิดขึ้นที่อวัยวะส่วนไหนในร่างกาย? จนศตวรรษที่ 17 นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าอวัยวะที่รับผิดชอบการรู้ตัวของคนเราคือสมองที่ทำงานประสานกัน
  • Adrian Owen ทำการทดลองหญิงสาวที่อยู่ในสภาพผักเรื้อรัง (persistent vegetative state) เพื่อดูว่าสมองส่วนใดยังตอบสนอง ผลที่ได้นั้นน่าสนใจว่าสมองของผู้ป่วยยังคงทำงานไม่ต่างจากสมองทั่วไป
  • ปริศนาเรื่อง ‘การระลึกรู้ตัว’ ของมนุษย์ยังมีปัญหาเชิงปรัชญาอีกมากมายที่อาจจะไม่สามารถตอบคำถามได้ชัดเจนในช่วงชีวิตของมนุษย์เรา

คำว่า consciousness แปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า การมีสติ การรู้ตัว ซึ่งเป็นคำที่เราใช้กันอยู่บ่อยๆ และมนุษย์เราก็รู้ตัวอยู่ทุกวันในขณะที่ตื่นนอน

แต่เชื่อไหมว่าการศึกษาเรื่องนี้เป็นเรื่องยากมากทางวิทยาศาสตร์ เพราะถึงแม้ว่าการรู้ตัวจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามปกติ แต่มันไม่ใช่วัตถุที่จับต้องได้เชิงกายภาพ และไม่ใช่อาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน

นักคิดทั้งหลายสงสัยมานานแล้วว่า การรู้ตัวนั้นเกิดขึ้นที่อวัยวะส่วนไหนในร่างกาย?

ชาวกรีกโบราณเชื่อว่าการรู้ตัวเกิดขึ้นที่หัวใจ

ช่วงศตวรรษที่ 17 นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้มีนามว่า René Descartes เชื่อว่าการรู้ตัวเกิดขึ้นที่ต่อมไพเนียลซึ่งเป็นต่อมเล็กๆ ขนาดพอๆ กับเมล็ดถั่วเขียวอยู่ตรงกลางของสมอง

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าอวัยวะที่รับผิดชอบการรู้ตัวของเราคือสมอง แต่ไม่ได้เกิดจากสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง การรู้ตัวเป็นผลมาจากการทำงานประสานกันระหว่างสมองส่วนต่างๆ

สมองนั้นเป็นอวัยวะที่หนักราว 1.3 กิโลกรัม แต่กลับเต็มไปด้วยปริศนา

เมื่อศึกษาอย่างละเอียด นักวิทยาศาสตร์พบว่าสมองส่วนคอร์เทกซ์ซึ่งเป็นสมองส่วนนอก (ที่เราเห็นเป็นรอยหยักๆ ในภาพสมอง) หลายส่วนทำงานสอดประสานจนก่อให้เกิดการรู้ตัว  โดยมีสมองส่วนทาลามัส ทำหน้าที่คอยควบคุมระดับการรู้ตัว ถ้าสมองส่วนทาลามัสเสียหายโดยเฉพาะส่วนสำคัญที่เรียกว่า centromedian nucleus อาจส่งผลให้คนๆ นั้นสูญเสียการรู้ตัวจนเกิดอาการสภาพผักเรื้อรัง (persistent vegetative state) ซึ่งผู้ป่วยจะนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลาเหมือนเจ้าหญิง (ชาย) นิทราโดยไม่รู้สึกตัวเลย

ผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพผักเรื้อรังอาจจะกลอกตาไปมา ครางเบาๆ ในคอ ยิ้มที่มุมปาก แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดแบบสุ่มๆ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์พบว่าผู้ป่วยไม่มีการตอบสนองใดๆ ต่อสิ่งเร้าภายนอกอย่างแท้จริงเลย และน่าเศร้าที่ผู้ป่วยน้อยคนนักที่จะตื่นขึ้นมาจากสภาพนี้ได้

โลกแห่งการรู้ตัวจึงเป็นเรื่องลึกลับมากสำหรับผู้ป่วยในลักษณะนี้

ในปี ค.ศ. 2006 นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Adrian Owen ทำการศึกษาหญิงอายุ 26 ปีที่อยู่ในสภาพผักจากอุบัติเหตุรถยนต์ เขาสแกนสมองของเธอด้วยเครื่อง fMRI เพื่อดูว่าสมองส่วนใดยังแอ็กทีฟหรือมีการทำงานมากขึ้น เขาลองพูดกับเธอโดยขอให้เธอจินตนาการว่ากำลังเล่นเทนนิส จากนั้นให้จินตนาการว่ากำลังเดินไปรอบๆ บ้าน

ผลจากการสแกนสมองนั้นสร้างความตื่นตะลึงไปทั่ววงการวิทยาศาสตร์

ก่อนหน้าการทดลองนี้ นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าการทำงานของสมองขณะเล่นเทนนิสนั้นแตกต่างจากการเดินรอบบ้านอย่างมาก กล่าวคือขณะเล่นเทนนิสนั้น เราต้องวางแผนการเคลื่อนไหวด้วยสมองส่วน motor cortex ส่วนการเดินไปรอบบ้านนั้นต้องใช้สมองส่วน parahippocampal gyrus ที่เกี่ยวข้องกับการระบุทิศทางและความจำด้านสถานที่

ผลการทดลองพบว่าสมอง motor cortex ทำงานแบบแอ็กทีฟขณะที่เธอถูกขอให้จินตนาการถึงการเล่นเทนนิส และ parahippocampal gyrus ทำงานขณะที่เธอถูกขอให้จินตนาการว่ากำลังเดินรอบบ้าน!

ที่น่าสนใจคือสมองของเธอมีรูปแบบการทำงานแทบไม่ต่างจากสมองมนุษย์ทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในสภาพผักเรื้อรังเลย ยิ่งไปกว่านั้นรูปแบบการทำงานของสมองยังค้างอยู่นานถึง 30 วินาทีจนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์เอ่ยขอให้เธอหยุดจินตนาการ รูปแบบการทำงานของสมองจึงกลับมาอยู่ในสภาพเดิม

นั่นหมายความว่าการทำงานของสมองทั้งสองส่วนนี้เป็นผลมาจากการร้องขอของนักวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน ไม่ใช่การส่งสัญญาณมั่วๆ ขึ้นมา

ก้าวต่อไป โอเวนทำการทดลองกับผู้ป่วยในสภาพผัก 54 คน แต่คราวนี้ทดลองถามโดยคำตอบมีแค่ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ แล้วดูคำตอบจากการสแกนสมอง

ผลปรากฏว่ามีผู้ป่วย 5 คนที่ตอบคำถามต่างๆ ได้ถูกต้อง โดยหลายๆ คำถามเป็นคำถามเฉพาะที่มีเพียงแค่ผู้ป่วย เพื่อนสนิท หรือครอบครัวผู้ป่วยเท่านั้นที่รู้คำตอบ

นี่อาจเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์เข้าใจสมองของผู้ป่วยในสภาพผักได้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามันนำไปสู่คำถามมากมายทั้งในแง่การรักษา เช่น แพทย์อาจทดลองถามผู้ป่วยว่าต้องการอะไรบ้าง เจ็บปวดตรงไหนหรือไม่ และในแง่จริยศาสตร์ที่ว่าผู้ป่วยต้องการเครื่องช่วยพยุงชีพต่างๆ อยู่หรือไม่

ผู้ป่วยในสภาพผักรับรู้ความเป็นไปของโลกอย่างไร เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ในเมื่อเราไม่ได้เป็นผู้ป่วยนั้นโดยตรง

นักปรัชญาชาวออสเตรเลียน David Chalmers กล่าวว่าการศึกษาการรู้ตัวนั้นแบ่งเป็นสองส่วนคือ ปัญหาอย่างง่ายและปัญหาอย่างยาก

เขาระบุว่าการรู้ตัวนั้นเป็นคำที่มีความกำกวมพอสมควร เพราะมันประกอบไปด้วยการแสดงออกของอาการต่างๆ หลายอย่างมารวมกัน เช่น การรับสัมผัส การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม การคิดรวบรวมข้อมูลเป็นข้อสรุป การเข้าใจสภาพอารมณ์ของตนเอง การสื่อสาร การจดจ่อสนใจบางสิ่งบางอย่าง และการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

คำถามเหล่านี้สามารถแยกตอบและศึกษาได้ไม่ยากเย็นนักในเชิงการศึกษาพฤติกรรมและชีววิทยา

ส่วนปัญหาอย่างยากนั้นค่อนข้างจะเป็นคำถามเชิงปรัชญาคือ เราจะวัดและเข้าใจการระลึกรู้ตัวของคนอื่นได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนนั้นเท่านั้น (เช่น คนที่เกลียดทุเรียนเข้าไส้จะพยายามทำความเข้าใจว่าคนชอบกินทุเรียนมีความรู้สึกอย่างไรย่อมเป็นเรื่องยากจนไม่น่าเป็นไปได้ เพราะคนที่เกลียดทุเรียนไม่สามารถเข้าไปในหัวคนชอบกินทุเรียนได้)

รวมทั้งคำถามที่ว่าการระลึกรู้ตัวเกิดขึ้นครั้งแรกบนโลกเมื่อใดและเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

บางที นักวิทยาศาสตร์อาจยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนในช่วงชีวิตของเรา แต่อย่างน้อยๆ เราควรตอบตัวเองได้ว่าตอนนี้เรารู้สึกตัวอย่างลึกซึ้งแค่ไหน หรือเพียงแค่ใช้ชีวิตอย่างอัตโนมัติไปวันๆ

ถ้าคำตอบเป็นอย่างหลัง นั่นน่าจะเป็นปัญหาที่ใหญ่จริงของชีวิต

อ้างอิง

https://www.sciencedirect.com/topics/neuroscience/parahippocampal-gyrus

https://www.nature.com/news/neuroscience-the-mind-reader-1.10816

AUTHOR