ย่อยเรื่องวิทย์ให้เสพง่ายกับ ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ คนไทยหนึ่งเดียวบนเวทีเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ระดับโลก

ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์
อดีตนักเรียนทุน ก.พ. วิศวกรรมการแพทย์ ผู้ที่ยืนอยู่บนเวทีนั้น เขามีงานหลักเป็นนักวิจัยที่ไบโอเทค
ก่อนจะแขวนชุดกาวน์ วางหลอดทดลองชั่วคราว ยื่นใบสมัครเข้าแข่งขันเล่าเรื่องงานวิจัยที่เขาถนัดให้สนุกภายใน
3 นาที ตั้งแต่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไปจนถึงยาลบความทรงจำที่สามารถเลือกลบเฉพาะความทรงจำที่เลวร้ายได้
บนเวที FameLab ซึ่งจัดโดย British
Council จนชนะใจผู้ชมและกรรมการผู้คร่ำหวอดในวงการวิทยาศาสตร์

เขาเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วม FameLab International เวทีสื่อสารวิทยาศาสตร์ในงาน Cheltenham
Science Festival เทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่มีสเกลใหญ่ขึ้นด้วยการมีผู้เข้าแข่งขันมากถึง
26 ประเทศทั่วโลก หลังจากก้าวลงจากเวทีนั้น เขามีงานรองเป็นวิทยากรให้กับงานประกวดด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์
เป็นพิธีกรรายการ ‘ว้าววิทย์ช่วยเศรษฐกิจชาติ‘ รายการทางช่อง NBT ที่ย่อยงานวิจัยให้ภาคธุรกิจเอาไปใช้ได้ง่ายๆ เป็นนักพูดที่มีเวทีให้ไปเล่าเรื่องสนุกแทบทุกอาทิตย์
รวมถึงกำลังจะมีรายการสั้นๆ ทางออนไลน์เอาไว้สื่อสารวิทยาศาสตร์กับผู้ใหญ่

เมื่อพูดคุยกับเขา เราไม่ได้รู้จักเพียงดอกเตอร์หนุ่มเจ้าของงานวิจัยด้านชีวะการแพทย์ผู้หลงใหลระบบกลไกต่างๆ ในร่างกายจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่สัมผัสได้ถึงความตั้งใจในการทำให้วิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องง่ายที่สุด

อะไรทำให้นักวิจัยตัดสินใจแข่งขันเล่าเรื่อง
เรามีโอกาสไปเรียนที่อังกฤษ ได้เห็นการเรียนการสอนที่นั่น เห็นเด็กสนุก
ตื่นเต้นกับวิทยาศาสตร์ เราก็อยากเห็นเด็กในเมืองไทยรักวิทยาศาสตร์แบบนั้น คิดว่าเมืองไทยยังไม่มี
Role Model ทางด้านวิทยาศาสตร์เลย
ถ้าเราเข้าแข่งขันโครงการนี้ มันเป็นโอกาสให้เราเจอคนเยอะขึ้น
จะทำให้วิทยาศาสตร์บูมได้อีกครั้งหนึ่งในเมืองไทย

วิทยาศาสตร์บูมแล้วมันมีผลต่อตัวเรายังไง
มันมีข้อดีเยอะ ถ้าไม่มีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประเทศจะเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ได้
การที่ประเทศหนึ่งจะเป็นประเทศพัฒนาต้องมีองค์ความรู้เยอะมาก อย่างเช่นบริษัทผลิตอาหารในเมืองไทย
เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ ปากท้อง เขาก็ต้องพยายามผลิตอาหารให้ได้ปริมาณเยอะที่สุดโดยใช้ต้นทุนต่ำที่สุด
ถามว่าทำยังไง ก็ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือทำฟาร์มไก่ ไก่ออกมาแล้วก็ต้องตรวจโรคว่ามันปลอดภัยไหมโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
ถ้าไม่ปลอดภัย ส่งมาขายเรา เรากินเข้าไปก็แย่ หรือว่าวงการการแพทย์ ถ้าไม่มีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการผลิตยา
ในการผลิตวัคซีน ทางการแพทย์เราก็ไม่เข้มแข็ง

ทำไมต้องเป็นเวที FameLab
ผู้เข้าแข่งขันมีจุดประสงค์เดียวกันคือทำให้วิทยาศาสตร์มันสนุก การไปร่วมกับ
FameLab ทำให้เรามีแรงบันดาลใจ
ได้เห็นเทคนิคการเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ของแต่ละคน บางคนมาเล่นดนตรีแล้วก็ร้องเพลง
แต่งเพลง หรือว่าแสดงละครมีแอ็กติ้งมาเกี่ยวข้อง มันไม่ใช่การแข่งขันที่ห้ำหั่นกัน
เพราะฉะนั้นตอนซ้อมทุกคนแทบจะมาช่วยกัน มาคอมเมนต์ว่าคุณน่าจะทำอย่างนี้สิ
ลองใช้คำนี้ดู ยกตัวอย่างอย่างนี้ดีมั๊ย ทำท่าอย่างนี้ดีมั๊ย

เล่างานวิจัยเป็นเล่มให้เป็นเรื่องยังไงภายใน 3 นาที
ความสำเร็จในการสื่อสารอย่างหนึ่งคือการทำให้คนดูเห็นภาพเดียวกับที่เราเห็น เราต้องสร้างจินตนาการให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นบางทีแค่พูดอย่างเดียวไม่หมด
ต้องมีอุปกรณ์มาช่วย อย่างผมใช้บานพับประตูบ้านมาแทนหัวเข่า ใช้กล่องจำนวนมากมาแทนสารเคมีในสมอง
มันต้องดึงเรื่องที่ใกล้ตัว ผมเชื่อว่าทุกเรื่องสามารถเล่าให้คนทุกวัยฟังได้
แต่ต้องปรับเนื้อหาให้พอดี เราไม่ได้ต้องการจะให้คอนเทนต์ 100 เปอร์เซ็นต์
จริงๆ แล้วเราจะให้เขาแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป หมายความว่าคุณฟังแล้วคุณอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด
แต่คุณอยากรู้จักมันมากขึ้น

คอนเทนต์ 10 เปอร์เซ็นต์ของคุณเป็นยังไง
ผมอธิบายเรื่องกลไกสมอง ยกเรื่องที่คนเขาอิน คนเรามักจะบอกว่าเวลาทะเลาะกัน
ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก แต่มันมีคำอธิบายด้านกลไกของสมองว่า การที่คนคนนึงงอนเรา
เราไปตื๊อเขา แทนที่เขาจะใจอ่อน เขากลับใจแข็งมากขึ้น แล้วก็เล่าไปว่าสมองเราทำงานยังไงเพื่อให้เห็นว่าเราควรจะตื๊อมั๊ย
หรือไม่ควร

อย่างจะเล่าเรื่องฮอร์โมน ก็ดึงมาแค่ฮอร์โมนเพศหญิงจะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงของเดือน
ถ้าผู้หญิงเข้าใจหลักการทำงานของฮอร์โมนตัวเอง
หรือผู้ชายเข้าใจหลักการทำงานฮอร์โมนของผู้หญิง ผู้ชายจะกลายเป็นเห็นอกเห็นใจเขาแทน
ชีวิตคู่หรือความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้น ราบรื่นขึ้น

แม้จะให้คอนเทนต์ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่มีบ้างไหมที่คนไม่อยากรู้
มี แต่เราก็ต้องสังเกตคนดู คนฟังตลอด การพูดมันคือการสื่อสารสองทาง ถ้าเกิดเขากำลังอินกับเรามาก
เราก็พร้อมจะขยี้มุก ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเริ่มรู้แล้วว่าเขาเริ่มไม่สนใจ เราก็ต้องเปลี่ยนแล้ว ต้องหาเรื่องใกล้ตัวมาดึงความสนใจของเขากลับมา

การทำให้เขาอยากรู้ต่อมันดียังไง
มันดีต่อชีวิตเขา บางเรื่องสร้างความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น เช่น ผู้หญิงทุกคนอยากสวยก็จะมีผลิตภัณฑ์เสริมความงามมากมาย
กินอันนี้แล้วจะผอม กินอันนี้แล้วหน้าจะตึง จะไม่มีรอยย่น
บางทีถ้าเขาเข้าใจหลักการทำงานของร่างกายของเขา
เขาก็จะรู้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางอย่างกินไปไม่ได้ช่วยอะไรเลย
เปลืองค่าใช้จ่ายด้วยซ้ำไป การรู้เพิ่มขึ้นมันทำให้เขาปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น ไม่โดนหลอก
แล้วก็ไม่เสียเงินฟรีๆ

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สำหรับคุณคืออะไร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างคนกลุ่มหนึ่งกับคนทั่วไปในสังคมให้แชร์ข้อมูลกันได้
โดยที่คุยภาษาเดียวกันมากขึ้น เพราะคนที่เข้าใจนักวิทยาศาสตร์จริงๆ
ส่วนใหญ่ก็จะทำงานในวงการวิทยาศาสตร์ พูดคุยเฉพาะกับคนที่เข้าใจภาษาเดียวกัน
แล้วบางครั้งเราอินกับมันมากเกินไปจนไปคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง บางทีเรามีงานวิจัยดีๆ
เราค้นพบอะไรที่มีประโยชน์กับเขา เราก็อยากจะแชร์ให้คนทั่วไปรู้ แต่ถ้าเกิดเราอธิบายให้เขาฟังด้วยคำพูดง่ายๆ ไม่ได้
ก็เหมือนมีกำแพง ข้อมูลก็ส่งไปไม่ถึงเขา

เราจะทำลายกำแพงนี้ได้ยังไง
อย่างหนึ่งคือต้องไม่มีอีโก้ เราต้องไม่คิดว่าเราเก่งกว่าคนอื่น
การที่จะคุยกับคนทั่วไป การที่จะได้ใจคนทั่วไปก็คือเราต้องทำตัวระดับเดียวกับเขาในเชิงวิชาการไม่ได้คิดว่าเขาต้องรู้เหมือนที่เรารู้ ไม่ใช่ว่าเราเป็นดอกเตอร์ เป็นโน่น นี่ นั่น
เราสูงกว่าเขา นั่นจะทำให้เราลืมคิดถึงใจเขา อีกอย่างหนึ่งคือมีจิตใจที่อยากจะสอน
ต้องมีความเป็นครูด้วย ศาสตร์ของการเป็นครู คือต้องเข้าใจเด็ก
เพราะถ้าเด็กไม่เข้าใจ ฟังไม่รู้เรื่อง เราจะมีวิธีพลิกแพลง อธิบาย
คนที่เก่งมากๆ บางทีไม่ค่อยได้มีโอกาสสอน เราก็จะเก่งอยู่คนเดียวแต่ถ่ายทอดไม่ได้

การถ่ายทอดมันฝึกฝนกันได้ไหม
ได้แน่นอน ผมทดลองมาแล้วจากเวที FameLab ในรอบ Master Class 10 คนสุดท้าย จะมีโค้ชมาสอนการเล่าเรื่อง มันเห็นเลยว่าก่อนหน้ากับหลังจากนั้น ทั้ง
10 คนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย จริงๆ ต้องมีคนสอน ไม่ใช่สิ่งที่สามารถปิ๊ง
ตรัสรู้มาได้เลย เพราะว่ามันมีศาสตร์อะไรบางอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
แม้ว่าจะมีความชอบในการทำงานด้านนิเทศมาก่อน แต่เราอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์มานานมากจนเราไม่รู้ว่าการจะเล่าเรื่องหนึ่งที่ยากให้เป็นเรื่องที่ง่าย
มันมีศาสตร์ มันมีวิธี

หลังจากที่ชีวิตเกี่ยวข้องกับการสื่อสารมากขึ้น
คุณได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง
ทุกอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นครู เป็นหมอ เป็นนักกฎหมาย
เป็นอะไรก็แล้วแต่ การสื่อสารสำคัญมากกับทุกอาชีพ สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือต้องกล้าก่อน
กล้าที่จะพูด แล้วพอเรากล้า เราก็เห็นว่าการก้าวออกมาอยู่ต่อหน้าผู้คนมากขึ้น
มันไม่ได้ส่งผลร้ายต่อหน้าที่การงานเลย มันช่วยให้สังคมดีขึ้นด้วยซ้ำไป

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

AUTHOR