รัฐมนตรีที่เข้าถึงได้ คือความประทับใจแรกที่เรามีต่อ Audrey Tang รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลคนแรกและคนปัจจุบันของไต้หวัน
การเข้าถึงได้ที่ว่านี้คือเธอแบ่งหนึ่งวันในสัปดาห์ให้ใครก็ตามเข้ามาพูดคุยปรึกษาหรือต่อยอดไอเดียของตัวเองกับรัฐมนตรีผู้เปี่ยมประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แฮกเกอร์ตัวเป็นๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางสังคม (social innovation) ซึ่งคือการสร้างสรรค์หรือหยิบนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อหาทางออกให้กับประเด็นทางสังคมต่างๆ
นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะออเดรย์มีส่วนสำคัญในการขยับ ขับเคลื่อน และจุดประกายนวัตกรรมทางสังคมมากมายที่ใช้อยู่ในไต้หวัน เช่น แพลตฟอร์ม vTaiwan ที่เธอเป็นที่ปรึกษานั้นเปิดให้ประชาชนร่วมเสนอกฎหมายและเป็นพื้นที่ถกเถียงต่อยอดระหว่างประชาชน ภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง ในเรื่องเกี่ยวกับกฎหรือข้อบังคับที่หาข้อสรุปได้ยาก เป้าหมายของ vTaiwan คือเพื่อช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายออกกฎหมายได้ตรงตามสถานการณ์และความต้องการของสังคมจริงๆ โดยที่ผ่านมามันช่วยคลี่คลายปัญหาคลาสสิกแห่งยุคสมัยอย่างเรื่องกฎข้อบังคับของรถรับจ้างอย่างอูเบอร์และทำแท็กซี่ให้ยอมรับข้อตกลงร่วมกันจนสำเร็จมาแล้ว
ในตอนที่ออเดรย์ขึ้นรับตำแหน่งรัฐมนตรี เธอประกาศชัดเจนว่าหน้าที่ของเธอไม่ใช่การเป็นรัฐมนตรีให้คนเพียงบางกลุ่ม เธอไม่ได้มาช่วยกระจายโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ แต่เธอจะเป็นช่องทางในการผนวกสติปัญญากับความแข็งแกร่งเข้าด้วยกัน
เดือนก่อน เรามีโอกาสได้พบออเดรย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนเวทีการประชุมเรื่อง Social Innovation and Civic Participation ที่พูดถึงนวัตกรรมทางสังคมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่ออเดรย์ทำอยู่
ก่อนเริ่มเข้าสู่เนื้อหาบนเวที เธอรีบออกตัวว่าเธอไม่ได้มาเลกเชอร์พร้อมฉายคิวอาร์โค้ดที่พาให้ผู้เข้าร่วมสแกนเข้าไปใน Slido แพลตฟอร์มที่ให้โพสต์คำถามหรือโหวตสนับสนุนคำถามที่คนอื่นสงสัย เธออธิบายว่าสิ่งที่เธอจะนำเสนอบนเวทีส่วนใหญ่มาจากคำถามที่คนอยากรู้มากที่สุด และเมื่อถึงเวลาที่เธอให้สัมภาษณ์กับเรา เธอไม่ได้ปล่อยให้เราอัดเสียงเพียงลำพัง ปุ่ม record ของเธอทำงานไปพร้อมๆ กับเครื่องอัดของเรา สองสิ่งนี้สะท้อนเรื่องการมีส่วนร่วม และความโปร่งใส ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอให้ความสำคัญเป็นอย่างดี
และต่อไปนี้คือแนวคิดในการทำงานของออเดรย์และการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมของไต้หวันที่เราอยากชวนคุณมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
จุดประกาย
ปีที่แล้ว ไต้หวันเริ่มจัด Presidential Hackathon หรืองานของภาครัฐที่ดึงดูดให้นักสร้างสรรค์ โปรแกรมเมอร์ และผู้ที่สนใจ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงคนทั่วไปทั้งที่สนใจและมีความถนัดเฉพาะทางมาเข้าร่วมสร้างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาที่มีอยู่จริงในสังคม
ในขณะที่แฮ็กกาตอนส่วนใหญ่ใช้เวลา 2-3 วันในการแข่งขัน แต่แฮ็กกาตอนโดยภาครัฐครั้งนั้นกินระยะเวลายาวนานถึง 3 เดือน เพราะเป้าหมายของการจัดงานนี้คือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณะและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนผ่านนวัตกรรมทางสังคมที่มีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ ข้าราชการ และภาคประชาชน
“สิ่งที่ผู้ชนะจะได้รับไม่ใช่แค่เงิน แต่เป็นคำสัญญาจากประธานาธิบดีที่จะสนับสนุนให้ 5 ทีมผู้ชนะเปลี่ยนไอเดียที่พัฒนามาให้กลายเป็นจริงภายใน 12 เดือนให้ได้ ไม่ว่าด้วยเงินทุนสนับสนุนหรือการแก้ไขปรับเปลี่ยนข้อบังคับ” และการได้เห็นสิ่งที่คิดพัฒนาเป็นจริงได้นี่เองคือจุดแข็งของงานนี้ที่ดึงดูดให้คนมาเข้าร่วม
“ถ้าช่วงต้นปี 2014 คุณเป็นคนทั่วไปแล้วได้ยินว่ารัฐบาลจะจัดแฮ็กกาตอน ทุกคนคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ มันไม่มีทางเกิดขึ้นในไต้หวัน” ออเดรย์เล่าย้อนถึงบรรยากาศในไต้หวันเมื่อห้าปีที่แล้วให้เราฟังซึ่งต่างกับความเป็นจริงในทุกวันนี้ที่รัฐและภาคประชาชนร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมทางสังคมแก้ไขปัญหาหลายอย่าง เธอบอกว่าตัวกระตุ้นสำคัญให้คนหันมาสนใจเรื่องนี้คือ Sunflower Movement ในปี 2014
Sunflower Movement คือการเคลื่อนไหวของประชาชนไต้หวันที่ลุกฮือออกมาปิดล้อมรัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนในการรับข้อตกลงการค้าระหว่างไต้หวันกับจีน (Cross-Strait Services Trade Agreement หรือ CSSTA) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดการค้าเสรีระหว่างไต้หวันและจีน โดยฝั่งผู้สนับสนุนข้อตกลงมองว่ามันจะช่วยให้จีนและไต้หวันลงทุนในตลาดของแต่ละฝ่ายได้อย่างเสรีมากขึ้น ส่วนผู้คัดค้านที่ออกมาประท้วงมองว่าความตกลงนี้จะกระทบเศรษฐกิจไต้หวัน เพราะจะเปิดช่องให้จีนบีบเศรษฐกิจไต้หวันจนเกิดความเสียหายร้ายแรงได้
ออเดรย์เองก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชน เธอใช้สกิลด้านไอทีที่มีในการติดตั้งระบบถ่ายทอดสดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้คนภายนอกได้รับรู้ ซึ่งเธอเคยอธิบายไว้ว่าการกระทำนั้นไม่ใช่การกระทำที่กระด้างกระเดื่องต่อรัฐ แต่เป็นการกระตุ้นให้ผู้คนพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้มากขึ้นเท่านั้น
อีกหนึ่งตัวอย่างในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในเหตุการณ์นี้คือการทำเว็บไซต์เชิงข้อมูลให้บริษัทต่างๆ พิมพ์รหัสบริษัทของตัวเองเพื่อดูว่าหากข้อตกลง CSSTA ผ่าน บริษัทนั้นๆ จะได้รับผลกระทบทางไหนบ้าง
“เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คนเห็นว่ามันเป็นไปได้ที่คนจำนวนมากบนถนนกับคนอีกมากมายบนโลกออนไลน์ และเอ็นจีโออีกกว่า 20 แห่งจะทำงานร่วมกัน มันแสดงให้เห็นว่าดิจิทัลทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ยังไง”
เธอเน้นย้ำด้วยสายตามุ่งมั่น พร้อมเล่าต่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงปลายปีเดียวกันนั้น ผลปรากฏว่าผู้สมัครทุกคนที่สนับสนุนไอเดีย ‘รัฐเปิด’ (open government) หรือรัฐที่เปิดให้คนเข้าถึงข้อมูลได้นั้นได้รับความนิยมอย่างมากจนนำมาสู่ชัยชนะ ส่วนผู้สมัครที่ไม่เห็นด้วยกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกลับได้รับความพ่ายแพ้ การให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และการเข้าถึงได้เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในไต้หวัน
ห้องทดลองนวัตกรรมทางสังคม
อาจฟังดูแปลกประหลาด หากจะบอกว่าห้องทำงานของออเดรย์ตั้งอยู่ในตลาดดอกไม้ JianGuo แต่หากได้รู้ว่าห้องทำงานแห่งนี้มีอีกบทบาทเป็นห้องทดลองนวัตกรรมทางสังคมหรือ Social Innovation Lab ที่เปิดรับไอเดียใหม่ๆ จากคนทั่วไป และให้พื้นที่สำหรับการทดลองทำไอเดียเหล่านั้นให้เกิดขึ้นจริง การตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างตลาดดอกไม้ก็เป็นแนวคิดที่เข้าท่าไม่น้อย
เธอเล่าย้อนแนวคิดห้องทดลองนวัตกรรมทางสังคมว่าสัมพันธ์กับสิ่งที่ประธานาธิบดี Tsai Ing-wen เคยกล่าวตอนรับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่า “ก่อนนี้ ประชาธิปไตยคือการปะทะกันระหว่างค่านิยมสองแบบ แต่ปัจจุบันประชาธิปไตยต้องกลายเป็นบทสนทนาระหว่างค่านิยมที่หลากหลาย”
ความหมายของประชาธิปไตยในรูปแบบปัจจุบันที่ประธานาธิบดีหมายถึงคือไอเดียของนวัตกรรมทางสังคมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนี่เอง
ออเดรย์ยกตัวอย่างว่าเดิมที ผู้ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมกับผู้ที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอาจยึดถือต่างคุณค่า โดยรัฐบาลก็ต้องยอมเลือกหรือแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่าง แต่แนวคิดนวัตกรรมทางสังคมคือการนำเอาคุณค่าที่สองฝั่งมีร่วมกันมาหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม (co-creation)
ทุกๆ วันพุธ เธอจะประจำอยู่ที่ห้องทดลองฯ ตั้งแต่สิบโมงเช้ายันสี่ทุ่ม เพื่อสแตนด์บายรอพูดคุยกับใครก็ตามที่มีเรื่องราวหรือข้อเสนอมาปรึกษา โดยมีข้อแลกเปลี่ยนเดียวคือพวกเขาต้องยินยอมให้โพสต์บทสนทนานั้นในช่องทางออนไลน์ของเธอ
“ทุกครั้งฉันจะถอดเทปบทสนทนาและโพสต์ลงในช่องทางออนไลน์ของตัวเอง พอทำแบบนี้ แทนที่บทสนทนาของเราจะจบลงแค่ส่วนตัว ใครๆ ก็สามารถเข้ามาอ่านและอ้างถึงคำตอบหรือบทสนทนาของฉันได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และนำไปพูดคุย ต่อยอดได้เลย เช่นกันกับงานประชุมใดๆ ที่ฉันนั่งเป็นประธานฉันก็จะถอดเทปบทสนทนาและโพสต์ไว้ด้วย
“ฉันทำแบบนี้เพราะไอเดียของฉันคือความโปร่งใสอย่างที่สุด (radical transparency) นั่นหมายความว่ามันจะต้องโปร่งใสตั้งแต่รากฐาน ฉันจึงทำให้ความโปร่งใสเป็นค่าเริ่มต้น (default) แต่เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่เกี่ยวข้องรู้สึกไม่สบายใจ เราก็ต้องอนุญาตให้เขาปรับประโยคใหม่หรือยอมให้เขาตัดข้อความบางส่วนที่อาจพาดพิงบุคคลอื่นออกไป โดยให้เขาร่วมแก้ไขและตรวจการถอดเทปนั้นก่อนที่จะโพสต์” เธออธิบาย
เข้าถีงได้
นอกจากความโปร่งใสอย่างที่สุดแล้ว อีกสิ่งที่ออเดรย์ให้ความสำคัญอย่างที่สุดคือการไม่กีดกันใครออกไปจากข้อมูลใดๆ ก็ตามที่เปิดกว้างสู่สาธารณชน เธอมองถึงขั้นที่ว่าหุ่นยนต์ก็ต้องเข้าถึงและอ่านข้อมูลเหล่านั้นได้
“ถ้าคุณโพสต์แค่ข้อมูล (information) แต่ไม่ได้โพสต์ข้อมูลที่มีโครงสร้างชัดเจน (structured data หรือข้อมูลที่เก็บในรูปแบบที่จัดการเรียบร้อยพร้อมนำไปใช้งานต่อ) ลงไปด้วย เท่ากับว่าคุณกำลังกีดกันคนที่รับข้อมูลในวิธีที่ต่างกันออกไป”
ในที่นี้ออเดรย์หมายถึงบางคนที่ต้องรับข้อมูลผ่านเครื่องแปล เครื่องอ่าน หรือคนที่รับข้อมูลผ่านภาพซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีช่วยแปลงสาร โดยไต้หวันยึดถือแนวทางการออกแบบเว็บไซต์ตามมาตรฐานสากลที่เรียกว่า Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำให้แน่ใจว่าคนทุกกลุ่มจะเข้าถึงเนื้อหาบนโลกออนไลน์ได้
ไม่ใช่แค่เรื่องนี้ ออเดรย์เข้าใจดีว่าไทเปไม่ใช่ทั้งหมดของไต้หวัน เธอจึงหาเวลาเดินทางไปยังเมืองที่ห่างไกลอยู่เสมอโดยเรียกมันว่า “เป็นการนำเทคโนโลยีไปหาผู้คน”
ด้วยแนวคิดนี้ เธอจึงเดินทางไปพบเจอ ทำความรู้จัก และใช้เวลากับกลุ่มคนท้องถิ่น ทั้งกลุ่มสหกรณ์ ผู้ประกอบการ และคนทั่วไป โดยการไปเยือนแต่ละครั้งจะมีนัดประชุมทางไกลกับตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ ที่ทำงานอยู่ที่ห้องทดลองนวัตกรรมทางสังคมในไทเป โดยมีคนในพื้นที่เป็นผู้ถาม ส่วนกระทรวงต่างๆ เป็นผู้ตอบ
ที่สำคัญ แม้จะทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรี แต่เธอกลับไม่ได้ถือว่าตัวเองยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง แต่มองตัวเองว่าเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนเคลื่อนไหวมากกว่า
“หลักการของฉันคือคนในออฟฟิศฉันมารวมตัวกันด้วยความสมัครใจ เพราะฉะนั้นฉันจะไม่สั่งและจะไม่รับคำสั่งใคร คนที่ทำงานร่วมกับฉันแม้จะมาจากกระทรวงต่างๆ ก็มาแบบสมัครใจ เป็นคนที่อยากขับเคลื่อนเรื่องรัฐเปิด ส่วนฉันก็เห็นตัวเองเป็นตัวกลางระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวและรัฐบาล
“สิ่งสำคัญก็คือในออฟฟิศของฉันต้องมีความสมดุลระหว่างสองฝั่ง ทั้งฝั่งตัวแทนรัฐบาลและภาคประชาชน อย่างในฝั่งรัฐบาลเองก็ต้องเป็นตัวแทนมาจากหลายกระทรวง ส่วนอำนาจที่ฉันมีก็คืออำนาจในการเชื่อมต่อกลุ่มคนต่างๆ เข้าด้วยกันนั่นเอง”
ประชาชน-รัฐบาล
แม้เทคโนโลยีจะสร้างการมีส่วนร่วมได้ดีและเป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐประชาธิปไตยด้วย แต่ใครก็ตามก็อาจนำไปใช้ในทางตรงกันข้ามได้ เราจะหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบได้ยังไง นี่คืออีกคำถามที่หลายคนอยากรู้จากออเดรย์
เธอตอบว่า “เทคโนโลยีเปรียบเสมือนตัวขยาย ถ้าเรานำไปใช้กับนวัตกรรมทางสังคมมันก็จะขยายนวัตกรรมนั้น แต่ถ้าเราใช้มันในการตรวจตราควบคุมมันก็จะทำให้การควบคุมเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือสังคมต้องเข้าใจข้อดีข้อเสียของมัน และยอมรับร่วมกันว่าจะใช้มันทำให้อะไรๆ ดีขึ้นได้ยังไง”
ออเดรย์ยกตัวอย่างนวัตกรรมวิทยาศาสตร์จากภาคประชาชนชื่อ AIR BOX ว่านวัตกรรมนี้เกิดจากกลุ่มคนที่ใส่ใจคุณภาพอากาศจึงซื้อเครื่องวัดคุณภาพอากาศมาติดตั้งในพื้นที่ของตัวเองและอัพโหลดข้อมูลเหล่านั้นลงบนบล็อกเชน (เครือข่ายการเก็บข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน เมื่อข้อมูลถูกบันทึกจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้) เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลได้รับการกำกับดูแลอย่างเป็นประชาธิปไตย ไม่มีใครทำอะไรกับเซนเซอร์หรือแก้ไขข้อมูลได้ ส่วนใครที่สนใจนำข้อมูลนี้ไปพัฒนาต่อก็สามารถนำไปใช้ได้ฟรี
เธอเล่าต่อว่ารัฐเข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจกต์นี้เมื่อแอร์บ็อกซ์จำนวนหนึ่งติดตั้งไปแล้วพบว่ามีพื้นที่บริเวณหนึ่งที่ขาดหายไปรัฐจึงช่วยติดตั้งกล่องให้ ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ที่ไม่มีกล่องแอร์บ็อกซ์ติดตั้งอยู่เลยคือในเมืองไถจง เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมของเอกชน แต่เนื่องจากโคมไฟในพื้นที่นั้นเป็นของรัฐ รัฐจึงติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศบนโคมไฟแทน
เธอขยายความว่าแม้กล่องที่ติดในบริเวณนั้นจะเป็นกล่องที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่รัฐก็ไม่ได้ครอบครองการกำกับดูแล ทุกอย่างยังทำงานโดยภาคสังคมและสนับสนุนโดยภาควิชาการ โดยเธอเน้นย้ำก่อนจากกันว่านวัตกรรมทางสังคมจะเกิดขึ้นได้และทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง
“การให้สังคมเป็นผู้กำหนดก่อนว่าเรื่องไหนคือเรื่องสำคัญ จากนั้นรัฐค่อยมาเข้าร่วม คือปรัชญาของรัฐบาลไต้หวัน” เธอทิ้งท้าย