ตามไปดูศิลปะของคนนอกโลกศิลปะ กับสองภัณฑารักษ์แห่งนิทรรศการ ‘ความงามนิรนาม’

Highlights

  •  ‘ความงามนิรนาม’ หรือ ‘Thailand and Japan ART BRUT: Figure of Unknown Beauty’ คือนิทรรศการที่จัดขึ้น ณ ห้องนิทรรศการหลักชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม - 3 พฤศจิกายน 2562
  • ภายในนิทรรศการจัดแสดงผลงานศิลปะ 'Art Brut' หรืองานศิลปะนอกกระแสของผู้ที่ไม่ได้เรียนด้านศิลปะมาโดยตรง เช่น ผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ผู้พิการ คนสูงอายุ หรือนักโทษในเรือนจำ โดยความพิเศษคืองานศิลปะที่ว่ามาจากศิลปินทั้งไทยและญี่ปุ่น
  • ภัณฑารักษ์เบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้คือ Seina Kimoto และ สืบแสง แสงวชิระภิบาล ผู้ซึ่งตีความงานศิลปะ Art Brut และลงมือคัดสรรผลงานจากทั้งสองประเทศ โดยเน้นความเป็นคนนอกแวดวงศิลปะ ซึ่งนำมาสู่งานที่ดูสนุกและให้แรงบันดาลใจว่าใครๆ ก็เป็นศิลปินได้
  • เป้าหมายของทั้งคู่คือการแนะนำงาน Art Brut สู่คนไทยและหวังว่างานศิลปะประเภทนี้จะนำมาสู่ความเข้าใจกันมากขึ้นระหว่างคนในสังคม

เมื่อพูดถึงนิทรรศการศิลปะ หลายๆ คนมักนึกไปถึงผลงานของศิลปินมืออาชีพผู้เชี่ยวชาญ เต็มไปด้วยทักษะและฝีมืออันล้ำเลิศ แฝงด้วยความคิดอันซับซ้อนและปรัชญาลุ่มลึกคมคาย แต่ผลงานในนิทรรศการศิลปะที่เราได้ไปชมมาเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อาจพลิกความคิดที่ว่านี้ไปโดยสิ้นเชิง เพราะล้วนทำขึ้นโดยกลุ่มคนที่ไม่มีความรู้ ทักษะ หรือฝีไม้ลายมือทางศิลปะ หากแต่ส่องประกายเจิดจ้า กระทบสายตาและกระแทกใจเราได้อย่างทรงพลัง

ผลงานศิลปะแบบที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า Art Brut และนิทรรศการศิลปะที่ว่าคือนิทรรศการ ‘ความงามนิรนาม’ หรือ ‘Thailand and Japan ART BRUT: Figure of Unknown Beauty’

ถ้าถามว่า Art Brut คืออะไร? ในข้อมูลเกี่ยวกับผลงานในนิทรรศการนี้เขียนไว้ว่า Art Brut คือศิลปะที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มศิลปินนอกกระแสนิยม เช่น ผู้พิการ ผู้ต้องขัง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาผ่านสถาบันศิลปะ และผู้สูงอายุ ฯลฯ ถือกำเนิดขึ้นราว ค.ศ. 1945 โดยศิลปินชื่อดังชาวฝรั่งเศส Jean Dubuffet ศิลปะประเภทนี้มีลักษณะเด่นที่การสร้างสรรค์ผ่านอัตลักษณ์พิเศษ เช่น ความซื่อบริสุทธิ์ ความดิบ อิสรภาพ สิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ และความไร้กฎเกณฑ์

ความงามนิรนามเป็นนิทรรศการ Art Brut ขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ทั้งจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) ร่วมกับ Agency for Cultural Affairs, Government of Japan International Exchange Program Executive Committee for Disabled People’s Culture and Arts ประเทศญี่ปุ่น และ มูลนิธิ เดอะเรนโบว์ รูม (ประเทศไทย) โดยมีสองภัณฑารักษ์จากประเทศไทยและญี่ปุ่นอย่าง Seina Kimoto และ สืบแสง แสงวชิระภิบาล เป็นผู้คัดสรรผลงาน

นิทรรศการนำเสนอผลงานหลากหลายรูปแบบจากศิลปินชาวไทยและชาวญี่ปุ่น 51 คน ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม เซรามิก และภาพถ่าย โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่ 

‘การทำซ้ำ ความหนักแน่น และความกลมกลืน’ นำเสนอประเด็น ‘ความดิบ’ ลักษณะเฉพาะของผลงาน Art Brut ที่สดใหม่และมีการแสดงออกอย่างหลั่งล้นจากภายใน

‘นานาสิ่งจากชีวิตประจำวัน’ นำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุที่หาง่ายในชีวิตประจำวัน โดยเน้นความพิเศษในการพลิกแพลงใช้สิ่งของเหล่านั้น

‘ความปรารถนาคือบ่อเกิดการสร้างสรรค์’ นำเสนอความคิดและแรงปรารถนาของผู้สร้างสรรค์ผลงาน

‘ศิลปะที่เกิดจากความสัมพันธ์’ นำเสนอเบื้องหลังการสร้างผลงานและความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างและคนรอบตัว เนื่องจากหลายครั้งศิลปิน Art Brut ไม่ได้ตั้งใจเปิดเผยผลงานของตน ผู้ที่เปิดเผยผลงานสู่โลกภายนอกจึงเป็นคนรอบตัวศิลปิน เช่น สมาชิกในครอบครัว หรือผู้สนับสนุนการจัดแสดง หัวข้อนี้จึงมุ่งไปที่การสื่อสารระหว่างผู้สร้างที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังและผู้ที่เปิดเผยผลงานสู่ภายนอก

และสุดท้าย ‘สู่มิติใหม่แห่งการสร้างสรรค์’ นำเสนอผลงานที่ศิลปินร่วมสมัยและผู้สร้างสรรค์ผลงาน Art Brut ได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดงานศิลปะรูปแบบใหม่ๆ

ด้วยความทรงพลังของผลงานที่ได้ดู เราจึงชวนสองภัณฑารักษ์ของนิทรรศการอย่างเซนะ คิโมโตะ และสืบแสง แสงวชิระภิบาล มาคุยกันถึงวิธีคิดของงานศิลปะแบบ Art Brut ความแตกต่างของผลงานไทยและญี่ปุ่น รวมไปถึงเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่เรื่องของงานศิลปะ แต่ยังเกี่ยวพันกับการยอมรับกันในฐานะมนุษย์ร่วมสังคม

 

ในมุมของพวกคุณ คุณนิยาม Art Brut ว่าอย่างไร

สืบแสง : อันดับแรกเราต้องนิยามตามผู้ริเริ่ม คือฌอง ดูบูฟเฟต์ ว่า Art Brut คือศิลปะที่ออกมาจากความซื่อตรง บริสุทธิ์ ความดิบ ปราศจากการแต่งเติม ไม่มีองค์ความรู้จากการศึกษาทางด้านศิลปะหรือการฝึกฝนทางทฤษฎีรองรับ เป็นกฎเกณฑ์ที่เขาขียนมาตั้งแต่ปี 1945 

ที่ฌอง ดูบูฟเฟต์ ต้องไปหานิยามใหม่ๆ ของศิลปะในช่วงเวลานั้น เพราะในช่วงเวลานั้นมีกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอย่างดาดาอิสม์, ฟิวเจอร์ริสม์, เซอร์เรียลลิสม์ ซึ่งฌอง ดูบูฟเฟต์ เห็นว่ากระแสศิลปะเหล่านั้นมีลักษณะการแสดงออกในเชิงสถาบัน มีความเป็นศิลปินจ๋า มีกลวิธีบางอย่างในการทำงานศิลปะที่เขาคิดว่าไม่บริสุทธิ์ เขาเลยตั้งคำถาม และออกเดินทางค้นหางานศิลปะและวิธีการแสดงออกทางด้านศิลปะแบบใหม่ ด้วยความที่เขาเดินทางค้นหางานศิลปะใหม่ ๆ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และได้เจอกับกลุ่มหมอจิตเวช

เซนะ : ตอนที่ฌอง ดูบูฟเฟต์คิดคำว่า Art Brut ขึ้นมาคือตอนที่เขาไปที่แผนกจิตเวชของโรงพยาบาลแล้วได้พบกับผลงานที่น่าตื่นตะลึง น่าตกใจ เขาเลยคิดว่าคำคำนี้น่าจะเอามานิยามผลงานพวกนี้ได้ ซึ่งผลงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นงานศิลปะในรูปแบบที่ค่อนข้างจะบริสุทธิ์มาก เพราะเป็นผลงานจากเหล่าบรรดาผู้คนที่ไม่ได้รับการศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะมา ไม่ได้มีการเติมแต่งงานด้วยทักษะหรือเทคนิคอะไรเข้าไป

ศิลปินส่วนใหญ่ที่ทำงานแนวนี้มักจะเป็นผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตเวช หรือว่ามีความพิเศษทางด้านต่างๆ อาจจะเป็นคนที่อยู่ในเรือนจำ หรือผู้สูงอายุ นี่เป็นนิยามประมาณช่วงปี 1945 แต่ในปัจจุบัน สภาพทางสังคมหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป Art Brut ในปัจจุบันก็จะมีส่วนที่ไม่เหมือนกับต้นตอและจุดกำเนิดเดิม แต่ก็ยังมีส่วนที่เป็นแก่น เป็นแกนกลาง หลงเหลืออยู่

 

ศิลปินที่ทำงาน Art Brut ต้องเป็นคนชายขอบที่ห่างไกลจากความเป็นศิลปะกระแสหลัก?

สืบแสง : ใช่ครับ ผู้ก่อตั้งใช้คำว่า Outsider Art หรือศิลปะที่มาจากคนนอก แล้วใครบ้างที่ไม่ได้อยู่ในวงโคจรกระแสหลักของศิลปะ เอาเข้าจริงๆ แล้ว ก็คือ 97% ของประชากรทั้งโลกเลยนะ ที่อยู่นอกวงโคจรศิลปะ แต่เขาก็มีความพยายามจะนิยามว่าเป็นกลุ่มบุคคลบางประเภท อย่างผู้มีผลกระทบทางด้านจิตเวช ผู้พิการ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่ถูกผลักไสออกจากสังคมและวัฒนธรรมกระแสหลัก

 

แต่ในนิทรรศการก็มีผลงานของคนปกติที่ไม่ได้เป็นคนชายขอบของสังคม คนที่มีปัญหาทางจิต ผู้ต้องขังในเรือนจำ หรือเป็นผู้สูงอายุที่เข้าข่ายที่ว่าเหมือนกัน?

สืบแสง : ใช่ครับ นี่เป็นการตีความใหม่ เนื่องจากว่าเราให้พื้นที่คนปกติที่มีรูปแบบการแสดงออกที่น่าสนใจด้วย ซึ่งอยู่ในกลุ่มของบุคคลที่ไม่ได้รับการศึกษาหรือฝึกฝนด้านศิลปะ

เซนะ : ช่วง 70 ปีที่ผ่านมา นิยามของคำว่า Art Brut ย่อมเปลี่ยนไปอยู่แล้ว แทนที่เราจะเลือกงานมาแสดงจากตัวศิลปินอย่างเดียว เราก็ดูที่ตัวผลงานด้วยว่ามีพลัง สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และมีผลกระทบกับคนได้มากแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็เลยยังมีข้อถกเถียงกันว่าผลงานบางชิ้นจริงๆ แล้วเป็นงาน Art Brut หรือเปล่า ฉันเองเชื่อว่า Art Brut  น่าจะมีแก่นของมันอยู่ แต่รายละเอียดภายนอกอาจจะเปลี่ยนไปเพราะว่าเวลาผ่านมานานมากแล้ว

 

 

แก่นของ Art Brut ตอนนี้คืออะไร

เซนะ : ความดิบเถื่อนและความบริสุทธ์ิของตัวผลงาน และอาจจะเป็นเทคนิคที่ใช้ วัสดุ หรือวัตถุดิบที่ตัวคนทำงานเลือกมาใช้หรือคิดขึ้นมา หรือการที่ศิลปินทำงานเหล่านี้ขึ้นเพื่อตอบสนองความอยากที่จะสื่อสาร หรือความสนุกในการทำ หรือการทำผลงานเหล่านั้นออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจที่จะทำผลงานศิลปะ ไม่ได้ตั้งใจเอาไปขาย หรือทำรายได้จากมัน และก็อาจจะมีบางส่วนที่เป็นงานที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์อยู่

 

คุณพูดถึงกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอย่างฟิวเจอร์ริสม์หรือดาดาอิสม์ ถ้าเราตัดเรื่องการไม่ได้ฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะการทำงานศิลปะจากสถาบันออก Art Brut มีความคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวนี้บ้างไหม

สืบแสง : น้อยมากครับ เพราะถ้าเราไปดูในเชิงทฤษฎี กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะเหล่านั้นมีการกำหนดกะเกณฑ์ มีวัตถุประสงค์ มีความตั้งใจ แต่ Art Brut ออกมาจากภายใน คนเหล่านี้ไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์คืออะไร ไม่รู้แม้แต่สิ่งที่เขาทำเป็นศิลปะไหมด้วยซ้ำ

เซนะ : ถ้าพูดในแง่ความอิสระในการแสดงออกก็ค่อนข้างมีส่วนที่คล้ายกันอยู่ แต่ตอนที่ฌอง ดูบูฟเฟต์ เขารู้สึกตื่นตะลึงไปกับผลงาน Art Brut ก็คือช่วงที่เขาเองก็มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะหลายๆ แขนง เพราะเขารู้สึกว่ามันมีชนชั้น ลำดับชั้น ความแตกแยก ความแบ่งแยกอยู่ จนเขาได้มาเจอกับ Art Brut แล้วรู้สึกว่ามีพลังที่บริสุทธิ์อยู่มาก

สืบแสง : ฌอง ดูบูฟเฟต์ พยายามอธิบายถึงอิสรภาพที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลจริงๆ ความเป็น Art Brut จึงเป็นลักษณะของการแสดงออกที่เกินไปกว่าโลกศิลปะในกระแสนิยม ณ ช่วงเวลาดังกล่าว จริงๆ ฌอง ดูบูฟเฟต์ ต้องการจะตีวัวกระทบคราดไปถึงสถาบันการศึกษาและพิพิธภัณฑ์ด้วยซ้ำว่างานที่ดีจะต้องอยู่ในพื้นที่เหล่านี้เท่านั้นจริงหรือ ที่เหล่านี้เป็นแหล่งการเรียนรู้ การบ่มเพาะความรู้ทางด้านศิลปะ หรือทักษะเท่านั้นจริงๆ ไหม

 

 

เมื่อพูดถึงความเป็นอิสระ แล้วศิลปะเด็กล่ะ เป็น Art Brut ไหม 

สืบแสง : เขาไม่นับ ตรงนี้น่าสนใจ เพราะผมเองก็สงสัยว่าทำไมเขาถึงไม่นับงานศิลปะเด็ก ฌอง ดูบูฟเฟต์ กล่าวไว้ว่าตัวบุคคลที่เป็น Art Brut เลือกที่จะใช้สื่อศิลปะในการหลบหนีออกมาจากสังคม แต่ศิลปะเด็กไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการหนีออกมาจากการครอบงำทางสังคมหรือวัฒนธรรม วิธีการแสดงออกของเด็กเกิดจากลักษณะความเป็นเด็ก

ด้วยเหตุนี้ ฌอง ดูบูฟเฟต์ จึงไม่จัดงานของเด็กเข้าอยู่ในกลุ่ม เพราะเขามองว่าเป้าประสงค์และความสนุกของศิลปะเด็กคือส่วนหนึ่งของพัฒนาการบางอย่าง เป็นช่วงเวลาของวัยที่มีข้อจำกัดของการแสดงออก การจดจำ การเห็นภาพ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของเด็กที่ไม่มีวัตถุประสงค์จำเพาะ ไม่ได้เป็นการแสดงออกหรือการปลดปล่อยทางความรู้สึกแบบเดียวกับที่ Art Brut ที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีพัฒนาการครบถ้วน และเห็นรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ในทุกมิติ เข้าใจความตื้นลึกหนาบางของวัตถุ แต่กระบวนการการถ่ายทอดต่างหากที่เขาเลือกที่จะถ่ายทอดด้วยวิธีการแบบนั้น 

เซนะ : ฉันเองก็ยังไม่เคยเจองาน Art Brut ที่เป็นศิลปะเด็กกับตัวเองเลยเหมือนกัน เพราะฉันคิดว่าเด็กยังอยู่ในขั้นตอนการเจริญเติบโต เพราะฉะนั้นผลงานของเด็กจะยังไม่มีอะไรที่เด่นชัด มีพลังขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเวลา ถ้าคุณดูผลงานในนิทรรศการ ศิลปินบางคนใช้เวลาเป็นปีในการสร้างสรรค์ หรือคิดค้นเทคนิควิธีการที่เป็นแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา แต่งานเด็กยังขาดสิ่งเหล่านี้ เลยยังไม่มีพลังถึงขนาดนั้น อย่างงานที่โชว์ในนิทรรศการก็มีหลายๆ ท่านที่เขาเริ่มทำผลงานพวกนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เขาก็จะฝึกปรือฝีมือขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นผลงานที่ถูกเลือกมาแสดงในวันนี้ 

 

แล้วการหยิบผลงาน Art Brut มาใช้มีรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามไหม

สืบแสง : อย่างกลุ่มทฤษฎีอื่นๆ เขาจะมีรูปแบบว่าศิลปะสกุลนี้จะต้องยึดตามขั้นตอนแบบนี้ เงื่อนไขแบบนี้ แต่สำหรับผลงาน Art Brut ในนิทรรศการนี้ ผมไปประชุมที่ญี่ปุ่นครั้งแรกก็ทะเลาะกันเลย เพราะผมตีความไม่เหมือนเขา ผมทำงานศิลปะ ผมรู้ว่าตอนนั้นฌอง ดูบูฟเฟต์ เขาต้องการมองหาอะไร ในฐานะศิลปิน มันเป็นความต้องการแย่งซีน หรือพยายามที่จะเปล่งเสียงบอกว่าสิ่งที่อยู่ภายในวงการศิลปะตอนนั้นมันน่าเบื่อ ซ้ำซาก 

เพราะอย่างนี้ผมจึงตีความกฎเกณฑ์แต่ละข้อของเขาใหม่ เช่น ข้อที่เกี่ยวกับการหนีออกจากสังคม ฌอง ดูบูฟเฟต์ กล่าวว่าการที่วัฒนธรรม สังคม จารีต เข้ามามีอิทธิพลต่อศิลปะจะทำให้ศิลปะมีอิสรภาพลดน้อยลง ซึ่งไม่จริง มันอาจเป็นแบบนั้นในช่วงปี 1945-1950 หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในปัจจุบันมันทำไม่ได้ แม้กระทั่งการพูดว่า เมื่อใดก็ตามที่บุคคลปราศจากข้อมูลจากปัจจัยภายนอกจะทำให้การผลิตงานศิลปะตอบความเป็นปัจเจกของบุคคลนั้นได้มากกว่า ก็เป็นเรื่องยาก เพราะทุกวันนี้คุณเดินไปไหนข้อมูลก็เด้งเข้ามาหา ขนาดผมเข้าไปในคุก เจอกับผู้ต้องขัง เขายังได้รับข้อมูลเพียบเลย ทั้งยูทูบเอยอะไรเอย

ในการตีความ ผมจึงถอยจากกฎเกณฑ์ของ Art Brut เหลือแค่คำถามว่า “อะไรคือความเป็นคนนอก” พยายามตีความว่าความเป็นคนนอกนั้นโดดเด่นยังไง แล้วผมก็แสวงหา ข้อเสียของไทยคือเราไม่มีองค์กรแบบที่ญี่ปุ่นมี เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะไร้พรมแดนโนมะ (Borderless Art Museum NO-MA) ที่สร้างขึ้นมาเพื่องาน Art Brut ตั้งแต่ปี 1940 กว่าๆ หรือองค์กรสวัสดิการสังคมที่เป็นองค์กรหลักที่สนับสนุน Art Brut แต่ของไทยเราไม่มีแบบนั้น ผมจึงเริ่มหาความหมายของศิลปะของคนนอกก่อน เมื่อหางานศิลปะแบบนั้นได้แล้ว ผมจึงตีความว่า นี่เป็นนิยาม Art Brut แบบไทยในศตวรรษที่ 21 นี่คือสิ่งที่ผมพยายามหาคำตอบ

เซนะ : ที่ญี่ปุ่นเองก็มีการตีความ Art Brut หลายแบบมาก อย่างพิพิธภัณฑ์โนมะมักจะมีคนติดต่อเข้าไปถามว่างานชิ้นนี้สามารถเรียกว่าเป็นงาน Art Brut ได้ไหม เขาก็จะตอบว่ามันขึ้นอยู่กับมุมมอง ถ้าคนมองแล้วคิดว่ามันเป็น Art Brut คุณก็เอาไปถ่ายทอดต่อว่ามันเป็น Art Brut ได้ ไม่ผิดอะไร 

คำว่า Art Brut ตอนที่มันเกิดขึ้นกับปัจจุบันก็แตกต่างกันอยู่แล้ว 10-15 ปีที่ผ่านมา คำนี้เป็นที่รู้จักหรือเป็นที่นิยมกันกว้างขวางมากในญี่ปุ่น แต่เขาก็คิดว่าตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะมาจำกัดความว่า Art Brut คืออะไร แต่ละคนก็มีคำจำกัดความในแบบของตัวเอง เราก็เอาความคิดเห็นต่างๆ เหล่านั้นมารวมกัน และคิดว่าในอนาคตสักวันหนึ่งอาจมีการตีความ Art Brut ก็ได้ 

 

 

เมื่อเราได้ดูงานในนิทรรศการนี้ หลายชิ้นทรงพลังมาก มีโอกาสไหมที่ศิลปิน Art Brut จะเป็นที่ยอมรับในฐานะศิลปินจริงๆ ทำงานศิลปะเป็นอาชีพจริงๆ 

เซนะ : งานของศิลปิน Art Brut ญี่ปุ่นที่ถูกเลือกมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้มีหลายท่านที่ผลงานได้รับการยอมรับในวงกว้างและมีชื่อเสียงอยู่แล้ว อย่างคุณ Shinichi Sawada ก็เป็น 1 ใน 3 ศิลปินที่ทางญี่ปุ่นคัดเลือกไปแสดงที่มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ หรืองานของศิลปิน Art Brut ญี่ปุ่นหลายงานก็ถูกเลือกไปจัดแสดงในยุโรป อเมริกา และมีการขายงานได้มากขึ้น แต่ถ้าจะบอกว่ามีใครหากินจากการทำงานศิลปะ Art Brut เป็นรายได้หลักหรือทำมาหากินได้ก็คงยังไม่มี เพราะโอกาสที่จะส่งงานไปขายในเทศกาลศิลปะ Outsider Art Fair ก็อาจจะทำได้แค่ปีละครั้ง ซึ่งคนที่สามารถส่งผลงานไปขายได้ก็ต้องเป็นศิลปินที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างอยู่แล้ว ซึ่งมีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของศิลปิน Art Brut ทั้งหมด

ปัญหาอีกอย่างก็คือ ศิลปิน Art Brut ส่วนใหญ่เป็นบุคคลผู้ที่มีความต้องการพิเศษ หรือมีความบกพร่องในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ หรือเป็นออทิสซึ่ม เขาจึงไม่สามารถทำการซื้อ-ขายได้อย่างปกติ เพราะเขาอาจจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าราคาที่ตั้งมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ซึ่งตอนนี้งานที่มีการซื้อ-ขายก็เป็นงานที่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากคนรอบๆ ตัว หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรต่างๆ แต่บางทีตัวศิลปินและครอบครัวก็รู้สึกไม่ดี ถ้างานของพวกเขาถูกขายหรือถูกเอาออกจากตัวเขาไปอยู่ในที่อื่นไกลๆ เขาเลยไม่ค่อยมีใจอยากจะขายเท่าไหร่

ถึงอย่างนั้นนี่คือเรื่องเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ในอนาคตอีกประมาณห้าปี สิบปี สถานการณ์ตรงนี้อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ในอนาคตอาจมีคนที่ทำมาหากินจากการทำงาน Art Brut ก็เป็นได้

สืบแสง : ศิลปิน Art Brut ของไทยที่กลายเป็นศิลปินอาชีพจริงก็มีแน่ๆ เพราะเขาจะต้องอยู่รอดให้ได้ อย่าลืมว่าประเทศญี่ปุ่นเขามีสถานสังคมสงเคราะห์ มีความเป็นสังคมเอื้ออาทร พูดง่ายๆ คือเขาไม่ต้องพูดถึงการขายงานด้วยซ้ำ แต่คนไทยเราเนี่ย เดินไปซื้อสีที่เซเว่นก็ต้องเสียเงินแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านก็ไม่สนับสนุนด้วยซ้ำ เพราะว่าเขามองว่าสิ้นเปลืองเงิน

 

 

มาที่ตัวนิทรรศการความงามนิรนามบ้าง นิทรรศการนี้เริ่มต้นขึ้นได้ยังไง

เซนะ : ทางพิพิธภัณฑ์โนมะมีการสำรวจเกี่ยวกับ Art Brut มาตั้งแต่ปี 2011 ทั้งการสำรวจในประเทศญี่ปุ่นเองหรือประเทศต่างๆ ในเอเชีย ในปี 2015 มีการสำรวจผลงาน Art Brut ในเมืองไทย ทำให้เกิดนิทรรศการเกี่ยวกับ Art Brut ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และก็มีการจัดการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับ Art Brut ทำให้เราได้รู้จักกับ bacc ก็เลยได้คุยกันจนกลายมาเป็นนิทรรศการในวันนี้ 

 

ทางภัณฑารักษ์ไทยและญี่ปุ่นมีการเลือกผลงานที่จะมาแสดงในนิทรรศการนี้ยังไง ต่างคนต่างเลือกมา หรือร่วมด้วยช่วยกันเลือก

สืบแสง : ทางองค์กร Art Brut ฝั่งญี่ปุ่นเคยนำงานนิทรรศการ Art Brut ไปตระเวนแสดงนิทรรศการสัญจรมาแล้ว เขาก็จะมีผลงานอยู่แล้ว ส่วนทางฝั่งไทยเราผมเลือกผลงานแล้วเอามานำเสนอให้คุณเซนะดู และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ถกเถียง และหาข้อสรุปกัน

เซนะ : แต่ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้เราก็พยายามเลือกงานที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหน ไม่ว่าจะในญี่ปุ่นหรือในต่างประเทศมาจัดแสดง

 

ผลงานที่ถูกนำมาแสดงในนิทรรศการนี้เป็นงานที่ถูกทำเสร็จมาแล้วหมดเลยไหม หรือมีการพัฒนาผลงานไปกับศิลปินเพื่อแสดงด้วย

สืบแสง : มีทั้งสองรูปแบบ ทั้งการขอผลงานเก่าและงานที่กำลังสร้างอยู่ หรือศิลปินบางคน พอรู้ว่าเราจะเชิญเขามาแสดงงาน เขาก็สร้างงานขึ้นมาใหม่ งานบางชิ้นเป็นงานชุดเดิม แต่พอรู้ว่าจะเอามาแสดงเขาก็ทำเพิ่มอีกเยอะเลย อย่างงานของญี่ปุ่นชิ้นที่เป็นพลาสติกกันกระแทก พอเขารู้ว่าเราเชิญมา เขาก็ทำอันใหญ่เบ้อเริ่มมาให้เลย

เซนะ : โดยพื้นฐานเราจะเลือกจากผลงานในอดีตของตัวศิลปิน โดยพยายามให้เห็นกระบวนการของศิลปินว่าเขามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ผลงานในยุคเริ่มแรกที่เขาเริ่มทำ จนถึงผลงานในปัจจุบัน

 

 

พวกคุณคิดว่าศิลปิน Art Brut ไทยและญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์ที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

เซนะ : แตกต่างกันมาก อย่างแรกคือเรื่องของการใช้สี การใช้สีของ Art Brut ฝั่งไทยจะมีสีสันที่สดใสและมีพลังมาก อาจเพราะสภาพแวดล้อมทั่วไปของสองประเทศมีความแตกต่างกัน โดยทั่วไปในญี่ปุ่น สีสันรอบข้างจะค่อนข้างเรียบง่าย แต่เมืองไทยเป็นประเทศในแถบเขตร้อนก็จะมีสีสันสดใส เวลาฉันเดินไปเห็นศาลพระภูมิของไทยก็รู้สึกทึ่งว่ามีสีสันเยอะแยะสดใสมาก สิ่งเหล่านี้อาจถูกสะท้อนในผลงานก็เป็นได้ ฉันรู้สึกว่าผลงานของไทยมีการเล่นสี ใช้สีที่สนุกสนานมาก

สืบแสง : มีความแตกต่างกันมากครับ  อันดับแรก ในด้านความหลากหลายของการใช้วัสดุ ทางญี่ปุ่นไปได้ไกลกว่าเรา สอง ความอิสระในรูปทรงและการแสดงออก ญี่ปุ่นมีมากกว่า ของไทยจะเป็นภาพวาดเสียมาก อาจประดิดประดอยไปเป็นงานฝีมือบ้าง แต่ยังไม่กว้างมาก สาม คือเนื้อหาสาระหรือเรื่องที่เล่า จะพบว่าทางญี่ปุ่นจะมีความหลากหลายกว่าเราหน่อยหนึ่ง แต่แน่นอนว่าแก่นหรือหลักการสำคัญของ Art Brut ที่เป็นความดิบในความเป็นมนุษย์นั้นมีออกมาเท่าเทียมกัน มีตัวตนของความเป็นมนุษย์เท่าๆ กัน

 

Art Brut แตกต่างกับ Art Theraphy ยังไง

เซนะ : แตกต่างกันมากค่ะ เพราะศิลปะบำบัดจะเกี่ยวข้องกับการรักษา มีแนวทางการแพทย์เข้ามาร่วมด้วย แต่ Art Brut เป็นกระบวนการทางศิลปะอย่างเดียว แต่ว่าการทำศิลปะบำบัดก็อาจจะมีบางครั้งที่ทำให้เกิดผลงานที่เกินเลยนอกเหนือไปจากวิธีการและจากกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ซึ่งก็มีการค้นพบว่าในแผนกจิตเวชที่ญี่ปุ่นก็มีผลงานของ Art Brut ปรากฏอยู่

 

ถ้าอย่างนั้นการทำงานแบบ Art Brut สามารถทำให้ผู้มีความบกพร่องหรือมีปัญหาทางสังคมมีสภาวะที่ดีขึ้นได้ไหม

เซนะ : มีหลายเคสที่การทำงาน Art Brut ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นทั้งกับตัวเขาและคนรอบๆ ตัว

สืบแสง : ที่ต่างกันอย่างยิ่งก็คือ ในกระบวนการศิลปะบำบัดจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญควบคุม กลไก กระบวนการ หลักสูตรทุกอย่างต้องมีการคิดคำนวณ วัดประเมินผล มีการหวังผลทางการแพทย์หรือการเยียวยารักษา แต่ละขั้นของการบำบัดจะต้องมีขั้นตอน มีพัฒนาการที่ชัดเจน ว่าทำให้จิตใจดีขึ้น เบิกบานขึ้น กล้ามเนื้อมีพัฒนาการมากขึ้น แต่ Art Brut คือการเอาสิ่งที่ปัจเจกบุคคลมีมานำเสนอผ่านรูปแบบทางศิลปะ หรือไม่ใช่รูปแบบทางศิลปะก็ตาม

ถึงอย่างนั้น การทำศิลปะ Art Brut ก็มีผลพลอยได้ที่ดีเหมือนกัน ผมเห็นจากทางฝั่งญี่ปุ่นมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานแต้มสีลงบนพลาสติกกันกระแทก ถ้าไปดูตัวทฤษฎี Art Brut จะบอกว่างานศิลปะประเภทนี้เป็นการทำงานของคนที่หนีออกจากสังคม แต่เด็กผู้หญิงคนนี้มาออกงานแล้วยิ้มร่าเริง มีความสุข พอเขาเป็นศิลปิน Art Brut สังคมก็จับจ้อง ส่องสปอตไลต์มาที่เขา ทำให้เขาโดดเด่น มีตัวตน ทำให้เขาสื่อสารกับบุคคลหรือสังคมอื่นได้มากขึ้น 

 

 

สุดท้ายแล้ว เป้าหมายในการเอางาน Art Brut มาถ่ายทอดให้ผู้คนได้ดูในครั้งนี้คืออะไร

สืบแสง : วัตถุประสงค์ของ Art Brut อย่างหนึ่งที่ผมสนใจที่สุดก็คือมันให้แรงบันดาลใจกับเราว่า เราทุกคนสามารถกลายเป็นศิลปินได้ เมื่อเราเห็นผลงานเหล่านี้ ที่กระตุ้นให้เราเริ่มกล้าลองทำ มันทำให้เราเข้าใจศิลปะได้มากกว่าแค่การดู อย่างเดียว ซึ่งงานในนิทรรศการนี้เองก็มีคนให้ความสนใจมาก เพราะว่ามันจริงใจกับคน คนเข้ามาดูแล้วผ่อนคลาย ไม่ต้องกังวลสงสัยว่าศิลปินกำลังคิดอะไรอยู่

มีบทความชิ้นหนึ่งที่ฌอง ดูบูฟเฟต์ เขียนว่า ถ้าคุณเดินออกไปข้างถนน ทุกๆ 20 ก้าว คุณสามารถเจอ Art Brut ได้ หมายความว่า Art Brut  นั้นมีอยู่ทุกที่ ถ้าเรามีเวลาและงบประมาณมากกว่านี้เราก็อาจจะเห็นลักษณะการทำงานในรูปแบบอื่นๆ ที่มากขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่นงานของพี่เสมอ (เสมอ พีระชัย ชายไร้บ้านผู้มักจะสร้างศิลปะตามท้องถนนในกรุงเทพฯ เป็นภาพวาดที่มีสัญลักษณ์และเลขรหัส) ที่เป็นไฮไลต์ของนิทรรศการนี้เลย แต่เขาไม่ให้เราคุย ไม่ให้เจออีกแล้ว การเข้าหาคนเหล่านี้เราก็ต้องค่อยๆ ทำอย่างระมัดระวัง และค่อยเป็นค่อยไป

เซนะ : ฉันคิดว่างานของเราคงไม่ได้จบลงแค่ในนิทรรศการนี้ แต่เราอยากเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมากขึ้น และอยากจุดประกายความตระหนักรู้เกี่ยวกับ Art Brut ในเมืองไทยให้มากขึ้น จากนี้ไปอาจจะมีการค้นพบงาน Art Brut ของเมืองไทยมากขึ้นก็ได้

ในญี่ปุ่นคนที่ทำ Art Brut ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ได้รับการช่วยเหลือ ได้รับสวัสดิการสังคมจากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งการทำงานศิลปะทำให้ภาพลักษณ์หรือสายตาที่มองคนเหล่านี้ดีขึ้น ไม่ได้เป็นคนที่รับความช่วยเหลือจากสังคมอย่างเดียว แต่เป็นคนที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้คนประทับใจได้ ฉันคิดว่าถ้าความคิดแบบนี้สามารถเผยแพร่ออกไปได้ ไม่ใช่แต่ในญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่ทำให้ประเทศไทยหรือประเทศในกลุ่มอาเซียนยอมรับคนเหล่านี้ได้มากขึ้นกว่านี้ก็คงจะดี

 


นิทรรศการ ‘ความงามนิรนาม Thailand and Japan ART BRUT: Figure of Unknown Beauty’ จัดแสดงที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม – 3 พฤศจิกายน 2562

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก