สำรวจเงามืดบนดวงอาทิตย์ใน ‘Shadow On The Sun’ นิทรรศการฟรีสไตล์เปี่ยมทักษะของ P7

Highlights

  • 'Shadow On The Sun' คือนิทรรศการของ 'P7' หรือ 'พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์' ที่หลายคนรู้จักในฐานะศิลปินกราฟฟิตี้และศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังระดับแนวหน้าของเมืองไทย ผู้มีผลงานแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเคยร่วมงานกับแบรนด์ดังมานับไม่ถ้วน
  • ก่อนหน้าจะมาจับงานสตรีท เขาเป็นศิลปินอิสระที่ทำงานศิลปะในแนวเรียลิสติกมาก่อน โดยในนิทรรศการครั้งนี้ เขาแสดงผลงานจิตรกรรมเหมือนจริงผสมผสานรูปแบบนามธรรม และประติมากรรมหลายรูปแบบที่เต็มไปด้วยสีสันและความเป็นอิสระ
  • แม้แรงบันดาลใจของชื่อนิทรรศการ Shadow On The Sun จะมาจากเพลงชื่อเดียวกันของวง Audioslave ที่ P7 เปิดฟังเสมอระหว่างทำงานชุดนี้ แต่เนื้อหาของผลงานกลับไม่เกี่ยวกับเนื้อเพลงเลยแม้แต่น้อย เพราะแรงบันดาลใจของเขามาจากความชอบและความสนใจในแต่ละช่วงของศิลปินมากกว่า

ถ้าเอ่ยชื่อ P7 คอศิลปะรุ่นใหม่หลายคนคงรู้จักเขาในฐานะศิลปินกราฟฟิตี้และศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังระดับแนวหน้าของเมืองไทย เขามีผลงานปรากฏให้เห็นจนคุ้นตาตามท้องถนนและสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด และมีผลงานแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนนับไม่ถ้วน

มากไปกว่านั้น เขายังเคยร่วมงานกับแบรนด์และองค์กรชั้นนำต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Converse, G-SHOCK, Preduce, dtac, Siam Center, IDEO, Beat Hotel และออกแบบลายสิ่งทอให้พระราชนิเวศน์มฤคทายวันและแบรนด์แฟชั่นชั้นนำอย่าง SODA, Theatre, Jaspal และ Maytawee Bangkok

shadow on the sun

ก่อนหน้านี้ เขาเป็นศิลปินอิสระที่ทำงานศิลปะในแนวเรียลลิสติก โดยใช้ชื่อจริงว่า พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์ ผู้มีผลงานนิทรรศการแสดงเดี่ยวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 1997 ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง

คราวนี้ P7 กลับมาอีกครั้งกับผลงานแสดงนิทรรศการเดี่ยวของเขาในชื่อว่า ‘Shadow On The Sun‘ นิทรรศการที่แสดงผลงานจิตรกรรมเหมือนจริงผสมผสานรูปแบบนามธรรม และประติมากรรมหลายรูปแบบที่เต็มไปด้วยสีสันและความเป็นอิสระ เปี่ยมจินตนาการ ภายใต้สโลแกนของนิทรรศการที่ว่า

Improvise Freestyle Creative Composition Art for Analog Painting and Handmade Sculpture Art’

ถ้าใครสงสัยว่าประโยคนี้มีความหมายว่าอะไร เรามาร่วมกันหาคำตอบจาก P7 ศิลปินเจ้าของผลงานในนิทรรศการนี้กัน

shadow on the sun

 

ทำไมถึงตั้งชื่อนิทรรศการนี้ว่า Shadow On The Sun

ชื่อนี้ไม่ได้มีความหมายในเชิงศิลปะโดยตรง แต่ช่วงที่เริ่มต้นทำงานชุดนี้ทั้งภาพวาดและประติมากรรม ตั้งแต่ต้นจนชิ้นสุดท้าย ผมเปิดเพลง Shadow on the Sun ของวง Audioslave ฟังบ่อยมากๆ ผมไม่ได้สนใจเนื้อหาของเพลงนี้นะ ผมแค่เพลินไปกับเสียงและจังหวะของเพลง ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการเพราะถือว่าเพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานชุดนี้ด้วย แต่อาจารย์ถนอม ชาภักดี เขียนในสูจิบัตรว่า ผมเป็นคนที่เหมือน Shadow on the Sun (แปลว่า เงามืดบนดวงอาทิตย์) ที่ชอบหลบมุม เงียบขรึม เก็บตัว ไม่ค่อยออกงานเท่าไหร่ อยู่แต่ที่ส่วนตัว

 

แล้วคุณได้แรงบันดาลใจในการทำงานชุดนี้จากเนื้อหาของเพลงบ้างหรือเปล่า

ไม่ครับ ผมฟังเพลงแบบไม่ฟังเนื้อหา ถ้าเป็นเพลงไทยผมชอบเพลง สายล่อฟ้า ผมชอบเนื้อหาเพลงเพราะมันเหมือนตัวผมดี แต่เวลาฟังเพลงสากลผมจะไม่ฟังเนื้อหา ผมจะฟังซาวนด์ ฟังฟีลลิ่งมัน แล้วก็ทำงานเพลินไปๆ เพลงไม่มีอะไรเกี่ยวกับงานเลย เป็นแค่อารมณ์ร่วม

 

แปลว่าชื่อของเพลงที่เอามาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการก็ไม่มีอะไรเกี่ยวกับตัวงานข้างใน

ใช่ครับ ผมคิดว่าบางทีชื่อนิทรรศการก็ไม่จำเป็นต้องมาจากตัวงานก็ได้ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกในชีวิตที่เราสัมผัสอยู่ ผมต้องการเปิดพื้นที่ให้คนได้จินตนาการ แต่อย่างที่อาจารย์ถนอมเขียนว่าเขารู้สึกว่าชื่อเพลงนี้ยังไงก็คือตัวผม ก็แล้วแต่คนจะตีความน่ะ

shadow on the sun

shadow on the sun

ในปัจจุบันคนรู้จักคุณในฐานะศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อ P7 แต่จริงๆ ก่อนหน้านี้คุณก็เคยแสดงงานในฐานะศิลปินร่วมสมัยมาก่อนแล้ว

ใช่ครับ จริงๆ มันแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่ผมทำงานศิลปะร่วมสมัย คนจะรู้จักผมในชื่อ พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์ และในช่วงที่ใช้ชื่อว่า P7 แต่จริงๆ งานที่ผมทำไม่ใช่สตรีทอาร์ตหรือกราฟฟิตี้ แต่ผมทำงานอาร์ตดีไซน์ แล้วนำไปสร้างสรรค์บนท้องถนนโดยใช้เทคนิคแบบกราฟฟิตี้ ผมเรียกมันว่า ‘ฟรีสไตล์’ มากกว่า มันไม่ใช่การ์ตูน ไม่ใช่แท็กหรือฟอนต์ตัวหนังสือ แต่เป็นอะไรที่เป็นส่วนตัวในแบบของผม งานของผมจะเป็นการอิมโพรไวส์หรือด้นสด เวลาทำงานข้างนอกผมจะเตรียมสีไปเยอะๆ พอไปถึงก็วาดสดเลย

 

ไม่เคยมีสเกตช์

ไม่มี ทำสดตลอด ไม่มีร่างไปก่อน ไปถึงแล้วก็ลงสีเลย คือผมจะค่อยๆ ทำภาพเล็กๆ เป็นส่วนๆ ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ขยายจนกลายเป็นภาพใหญ่ แต่เราต้องรู้ว่าจบตรงไหน แล้วก็ใช้วิธีการจัดองค์ประกอบเอา เป็นจังหวะของผม เวลาทำงานจิตรกรรมผมก็ไม่ร่างเหมือนกัน ลงสีไปเลย

งานชุดที่ทำในนิทรรศการนี้ก็เป็นงานกึ่งอิมโพรไวส์ด้วยคือ ผมจะเอาเฟรมเปล่าๆ มาตั้งไว้แล้วนั่งมองดู เช่น ผมรู้สึกว่าอยากเขียนเป็ดของเล่น คือเวลาผมไปสวนจตุจักร ผมเห็นเป็ดของเล่น ผมอยากได้แต่เขาไม่ขาย ผมก็เลยไปถ่ายรูปเอามาวาด พอวาดเสร็จก็มาคิดว่าแล้วอีกฝั่งของเฟรมจะเป็นอะไร ก็ทำทีละส่วน แล้วก็ค่อยๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ

อย่างอีกภาพผมอยากวาดแพะภูเขา ผมก็เสิร์ชหาภาพแพะภูเขาที่ต้องการ แล้วเอามาวาดขึ้นมาใหม่ ในแสงเงาใหม่ หรืออย่างภาพเค้ก ผมออกไปข้างนอกเจอเค้กแคร์รอต ก็ถ่ายรูปเอาไว้ก่อนกิน แล้วก็เอามาวาด

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมทำงานให้เสร็จทีละชิ้น เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก เพราะผมมีความเชื่อว่า ผมต้องทำงานศิลปะแต่ละชิ้นให้เสร็จ แม้ว่ามันจะอยู่ในซีรีส์เดียวกันก็ตาม เพราะผมรู้สึกว่างานแต่ละชิ้นต้องมีเอกลักษณ์ มีความรู้สึกเฉพาะตัวของมัน เวลาผมทำงานแต่ละชิ้นจะไม่คิดถึงงานชิ้นหน้า ทำชิ้นนี้ให้จบในอารมณ์นี้ เสร็จแล้วก็จะทิ้งไว้ 2 วัน พักผ่อน แล้วก็เริ่มต้นชิ้นใหม่ เริ่มคิดว่าผมจะทำอะไรต่อ

 

หมายความว่าเวลาทำงานคุณไม่ได้จินตนาการไว้ล่วงหน้าว่างานจะเสร็จออกมาเป็นยังไง

ไม่เลยครับ เหมือนผมเดินทาง ต่อยอดไปเรื่อยๆ ผมเป็นคนที่มีหลักในการทำงาน 3 สามอย่างคือ creative (ความคิดสร้างสรรค์) skill (ทักษะ) และ composition (องค์ประกอบศิลป์) จะสังเกตว่างานทุกชิ้นของผมจะมี composition ไม่ใช่ composition แบบเติมพื้นที่ว่างให้เต็ม แต่เป็น composition ระหว่างวัตถุมากกว่า

คือตอนเด็กๆ ผมอยากมีฝีมือและก็อยากเป็นคนมีหัวคิดครีเอทีฟด้วย ไม่อยากเป็นช่างฝีมืออย่างเดียว ตอนที่ทำงานศิลปะช่วงแรกๆ ก็เริ่มต้นจากการทำงานเรียลลิสติกผสมกับครีเอทีฟ คือผมจะสร้างสรรค์และจัดวางทิศทางและองค์ประกอบในภาพให้ลงตัวโดยไม่มีเนื้อหาหรือเล่าเรื่องอะไร ปล่อยให้คนดูตีความเอาเอง เพราะผมไม่อยากควบคุม ผมเคารพความคิดและให้อิสระกับจินตนาการของคนดูมากกว่า อยากให้คนดูศิลปะที่แก่นแท้ของงานจริงๆ

shadow on the sun

คุณได้แรงบันดาลใจในการทำงานมาจากไหน

มาจากสิ่งที่ผมชอบ ผมเป็นคนไม่มีรูปแบบหรือไลฟ์สไตล์ ผมมีความชอบหลากหลาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นในงานชุดนี้คือสิ่งที่ผมชอบหมดเลย มันคือความชอบที่ผมอยากลองทำ ลองสร้าง ออกมาโดยที่ไม่มีสูตรสำเร็จ ตอนเด็กๆ ผมชอบ Rembrandt ผมอยากวาดรูปให้ได้แบบเรมบรันต์ ผมก็ฝึกฝนเอา แต่ผมไม่ได้อยากทำงานเหมือนเรมบรันต์นะ ผมแค่อยากวาดรูปได้แบบเรมบรันต์เท่านั้น

 

หมายถึงคุณอยากได้ทักษะในการวาดรูปแบบนั้น

ใช่ การวาดให้เหมือนเขาไม่ยาก แต่วาดให้ได้ความรู้สึกแบบเรมบรันต์เนี่ยยาก พอทำได้ผมก็เอาทักษะตรงนั้นมาสร้างงานในแบบของเรา ในความรู้สึก ในรูปแบบของเรา อีกอย่างความคิดในการทำงานของผมไปตรงกับแนวคิดของลัทธิ dadaism คือการปฏิเสธเหตุผล ปฏิเสธสูตรสำเร็จ มีอิสระในการสร้างสรรค์ 

 

คุณบอกว่าไม่ได้ชอบผลงานของกลุ่มลัทธิดาดา แต่งานของคุณก็มีบางอย่างที่พ้องกับงานของกลุ่มนี้เหมือนกัน เช่น การจับเอาสิ่งที่ไม่น่าจะอยู่ด้วยกันให้มาอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีเหตุผล

ผมไม่ได้ชอบงานของลัทธิดาดานะ แค่มีทัศนคติตรงกันเท่านั้นเอง เพราะผมไม่ต้องการเล่าเรื่องให้คนฟัง ผมอยากให้ผลงานมีความอิสระในตัวเองให้มากที่สุด ไม่มีรูปแบบตายตัว งานชุดนี้ใช้เวลาทำ 7 เดือน โดยวันแรกถึงวันสุดท้ายผมตั้งใจให้ทุกภาพแตกต่างกัน ไม่เหมือนงานในนิทรรศการอื่นๆ ที่จะมีรูปแบบเดียวกัน เพราะผมคิดว่าในช่วงชีวิตของคนหนึ่งที่ใช้เวลาวาดรูปในช่วง 7 เดือนนั้นไม่จำเป็นต้องแช่แข็งตัวเองกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง งานแต่ละชิ้นจึงมีความเป็นเอกเทศ แต่ก็เป็นงานที่เกิดจากตัวผมในทุกๆ วัน

 

แล้วตอนทำงานแบบกราฟฟิตี้บนท้องถนนล่ะ คุณทำแบบไหน

ผมก็ทำงานแบบเดียวกัน ทำโดยไม่มีรูปแบบตายตัวเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่งานแบบนั้นผมต้องตัดทอนรายละเอียดลง

 

เพราะงานประเภทนี้ต้องใช้ความไว?

ใช่ครับ แล้วก็เป็นเรื่องของจังหวะด้วย

shadow on the sun

รายละเอียดแบบเหมือนจริงในผลงานที่คุณทำในนิทรรศการนี้เรียกว่าเป็นลักษณะแบบไฮเปอร์เรียลลิสติก (ภาพที่เหมือนจริงราวกับภาพถ่าย) ได้ไหม

สำหรับผมชุดนี้ยังไม่ถึงขั้นไฮเปอร์เรียลลิสติก ผมทำให้เหมือนแค่ 60 เปอร์เซ็นต์

 

ยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์?

ใช่ ก่อนหน้านี้ผมทำงานซูเปอร์เรียลลิสติกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ งานที่เห็นในนิทรรศการนี้ยังแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ จริงๆ มันเนี้ยบได้มากกว่านี้อีก คือภาพวาดต้องไม่เห็นทีแปรง (ฝีแปรง) เลย แต่นี่ผมจงใจทิ้งทีแปรงเอาไว้ เพราะต้องการให้เกิดความรู้สึกเฉพาะขึ้นมา อย่างรูปคัพเค้กเนี่ยตรงห่อมันผมก็ปล่อยฝีแปรงเอาไว้ ไม่วาดเนี้ยบร้อยเปอร์เซ็นต์ หน้าเค้กก็ยังมีคราบสีขาวทิ้งไว้ แต่ถ้าเป็นงานแบบซูเปอร์เรียลลิสติกจะไม่เห็นคราบเลย คือดูแล้วเหมือนเป็นภาพถ่ายเลย

 

คือถ้าจะทำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ทำได้

ใช่ครับ ก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานที่สตูดิโอเต๋า 65 เป็นบริษัทวาดภาพโฆษณาที่ดังที่สุดในประเทศไทย ผมต้องวาดรูปซูเปอร์เรียลลิสติกทุกวันเป็นเวลา 3 ปี คืองานโฆษณาสมัยก่อนในยุคที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ภาพที่ใช้ในงานโฆษณาจะเป็นภาพวาดเหมือนจริงแบบซูเปอร์เรียลลิสติก ไม่ว่าจะเป็นรูปอะไรในโลกที่เขาส่งมา คุณต้องวาดให้ได้ วาดให้เหมือนน่ะ ไม่ยาก แต่วาดยังไงให้รู้สึกว่าเป็นของจริงนี่ยาก สมมติผมวาดบัตรเครดิตวางอยู่ใบหนึ่ง ผมต้องวาดให้คนที่เดินผ่านมารู้สึกว่าเขาหยิบบัตรขึ้นมาได้ หรือถ้าวาดแก้วน้ำที่มีหยดน้ำเกาะอยู่ ก็ต้องวาดให้เหมือนแก้วมันตั้งอยู่จริงๆ จนคนรู้สึกว่าหยิบขึ้นมาดื่มได้

มันเป็นงานศิลปะกึ่งพาณิชย์ เพราะพอใช้ภาพพวกนี้ในงานโฆษณาเสร็จ ลูกค้าก็จะเอางานต้นฉบับไปสะสม แล้วต้นฉบับเนี่ยแพงมาก เพราะว่ามันเป็นเหมือนงานมาสเตอร์พีซแบบซูเปอร์เรียลลิสติก ผมได้ทักษะจากที่นั่นมา 3 ปี จนเจ้าของบริษัทบอกว่า ถ้าเราอยากเป็นศิลปินก็ไปเป็นได้แล้ว เพราะว่าเราทำมาเต็มที่แล้ว เขียนมาหมดทุกอย่าง แต่ตอนนี้บริษัทเขาเลิกไปนานแล้ว เพราะจากที่คอมพิวเตอร์เข้ามา ลูกค้าก็ไปใช้งานคอมพิวเตอร์กันหมด

แล้วผลงานชุดนี้ ทำไมคุณถึงจงใจไม่วาดให้เหมือนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

เพราะผมทำงานศิลปะ ผมจึงทิ้งทีแปรงเพื่อให้เกิดความรู้สึกเฉพาะขึ้นมา เพราะศิลปินทุกคนในโลกนี้ไม่มีใครทิ้งทีแปรงได้เหมือนกันหรอก แต่การวาดภาพแบบซูเปอร์เรียลลิสติกมันเขียนให้เหมือนกันได้ สมมติว่าคนหนึ่งเขียนเก่งมาก เหมือนมาก มันก็อาจมีอีกคนที่เขียนรูปเดียวกันให้เหมือนมากๆ ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นการทำงานที่ทิ้งทีแปรง คนอื่นก็ไม่มีทางทำได้เหมือนเรา ยกเว้นเขาก๊อปปี้เรานั่นแหละ การที่ผมเขียนภาพไม่ให้เหมือนร้อยเปอร์เซ็นต์และทิ้งฝีแปรงเอาไว้ก็เพื่อให้เกิดความรู้สึกเฉพาะขึ้นมา ไม่อย่างนั้นจะเป็นสูตรสำเร็จ แล้วก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนวาด

 

เวลาจัดเรียงงานในนิทรรศการนี้มีการเรียงเป็นลำดับหรือสุ่มเอา

ไม่ได้เรียงลำดับและไม่ได้สุ่มเอา ผมตั้งใจจัดวางโดยเรียงจากความเหมาะสมและจังหวะของงาน ให้องค์ประกอบสร้างความรู้สึกที่แตกต่างในการดูงาน ผมให้ความสำคัญกับการจัดวางผลงานในแกลเลอรีมากพอๆ กับการทำเพนท์ติ้ง รวมถึงจำนวนของชิ้นงานด้วย ที่ผ่านมาผมมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวหลายครั้งทั้งในไทยและต่างประเทศ ทุกนิทรรศการมีความแตกต่างกันไป บางนิทรรศการก็มีงานเต็มกำแพงไปหมด เหมือนเป็นวอลเปเปอร์ บางชุดก็มีน้อย มันอยู่ที่จังหวะของงานมากกว่าว่าเราจะจัดวางยังไง เพราะผมเชื่อว่างานแต่ละชิ้นมีพื้นที่ของมัน แม้จะอยู่ในชุดเดียวกันก็จริง แต่มันก็มีพื้นที่ มีระยะ มีจังหวะของมัน

 

แล้วประติมากรรมในงานมีที่มายังไง

นอกจากจิตรกรรมแล้ว ผมยังเป็นคนทำประติมากรรมด้วย ถึงจะเป็นจิตรกร แต่เวลาผมทำงานประติมากรรม ผมไม่ได้ทำงานแบบจิตรกรรม ผมสร้างงานในมิติของประติมากรรม โดยผมจะนึกเป็นภาพแล้วค่อยๆ ร่างแบบประติมากรรมออกมาทุกมุมแบบอัตโนมัติ

 

ร่างด้วยมือเหรอ

ใช่ครับ วาดทุกมุมรอบตัวเป็น 3 มิติเลย ที่วาดมือเพราะผมไม่ชอบทำในโปรแกรม 3D เพราะผมคิดว่ามันก็ไม่ใช่ไอเดียเราสิวะ เพราะมันต้องผ่านมือคนทำโปรแกรม 3D คำนวณให้ ผมเป็นคนแอนะล็อก ชอบทำงานแบบแอนะล็อก ไม่ผ่านคอมพิวเตอร์ เพราะมันคือไอเดียของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วเวลาไปทำประติมากรรม ผมก็ไม่ได้จบแค่การออกแบบและวาดภาพสเกตซ์นะ เพราะตอนทำประติมากรรมจริงผมเป็นคนแต่งเติมอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะเวลาสเกตซ์แบบประติมากรรมเราวาดให้เราเข้าใจ ทำสีมาคร่าวๆ พอถึงเวลาทำจริงผมก็จะเติมนั่นเติมนี่เข้าไป

ตัวประติมากรรมนี่มีเนื้อหาหรือเรื่องราวไหม

ไม่มีเหมือนกัน ผมอยากให้คนมองศิลปะมากกว่าเนื้อหา ย้อนกลับไปสู่พื้นฐานของงานศิลปะและการสร้างสรรค์แบบบริสุทธิ์ เป็นงานที่เห็นด้วยตา ไม่ได้ใช้หูฟัง ผมไม่อยากไปยืนเล่าว่า งานชิ้นนี้มีความหมายอะไร มีที่มายังไง เพราะผมอยากรู้ว่าคนเราจะสร้างงานศิลปะโดยไม่ต้องมีเนื้อหาหรือคอนเซปต์ได้ไหม ปรากฏว่ามันทำได้ แล้วผมมีความสุขมาก ที่ได้ทำงานออกมาอย่างอิสระ ถ้ามีเนื้อหากำกับคงทำออกมาไม่ได้แบบนี้

อย่างประติมากรรมตัวนี้ (ชี้ไปที่ประติมากรรมรูปคนชิ้นใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางแกลเลอรี) ผมใช้เวลาทำประมาณ 3 เดือนนะ ลูกตาที่เห็นก็วาดเอานะ ไม่ได้เอาลูกตาสำเร็จรูปมาใส่ คือผมปั้นลูกตาเอามาเพนต์ แล้วเคลือบเงา แล้วก็ยัดเข้าไปจากข้างหลัง ตุ๊กตาตัวนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหุ่นพากย์เวนทริล (ventriloquist’s dummy–การพากย์หุ่นที่คนพากย์ออกเสียงพูดโดยไม่ขยับปาก แต่บังคับให้หุ่นขยับปากทำท่าพูดจนดูเหมือนหุ่นพูดได้จริงๆ) จะมีเอกลักษณ์คือหัวโต มือ แขนใหญ่ ไหล่เล็ก ตัวเล็ก

 

อวัยวะเพศของหุ่นนี่มีความเชื่อมโยงกับจมูกยาวๆ ของมันหรือเปล่า

ไม่ครับ ไม่ใช่พินอคคิโอ คือผมเคยทำงานอีโรติกแบบสุดๆ มาก่อนน่ะ สังเกตดูว่าส่วนอื่นของตุ๊กตาผมจะทำให้มันไม่เหมือนจริงเป๊ะๆ แต่ตรงอวัยวะเพศนี่ผมตั้งใจให้เป็นเรียลลิสติกหน่อย เพราะผมอยากให้คนจินตนาการเอาเองว่ามันคืออะไร ทำไมมันต้องเป็นแบบนี้ ส่วนเขากวางที่ติดอยู่บนหัวหุ่น ผมได้แบบมาจากเขากวางที่บ้านผมสะสมเอาไว้แบบถูกกฎหมายนะครับ ผมเอาเขาจริงๆ มาทำเป็นแบบหล่อ แล้วก็แต่งสีใหม่ เวลาทำงานผมต้องเก็บรายละเอียดจนหยดสุดท้าย เพราะช่างหล่อรูปปั้นเขาไม่รู้หรอกว่าผมต้องการเงาขนาดไหน หรือเพิ่มกระดูกหรือกล้ามเนื้อตรงไหนบ้าง ประติมากรรมตัวนี้ผมทำออกมาให้ล้นเกินความเป็นจริงเล็กน้อย

 

แล้วงานชิ้นสุดท้ายนี้ล่ะ ทำไมถึงวาดตรงมุมแล้วทิ้งพื้นที่เฟรมที่เหลือให้ว่างเกือบหมด

ชิ้นนี้ผมทำเป็นชิ้นรองสุดท้าย ตอนผมทำงานนี้ออกมาพอดีมีเพื่อนฝรั่งมาหา เขาก็ถามว่า “แน่ใจเหรอว่าจะปล่อยเอาไว้ว่างๆ แบบนี้” ผมบอกว่า “แน่ใจ!” เขาถามว่า “แล้วจะขายได้เหรอ” ผมบอกว่า “ถ้าคิดอย่างนั้นก็ไม่ต้องสร้างงาน แล้วใครมันจะเริ่มทำงานถ้ามัวแต่คิดเรื่องขาย”

ไม่เคยตั้งเป้าว่างานจะต้องขาย

ไม่เคยตั้งเป้าครับ ผมทำในสิ่งที่ผมอยากทำให้คนได้ลองดู ส่วนการขาย ผมมองว่าเป็นผลพลอยได้เท่านั้นเอง ผมรักที่จะทำงานศิลปะและอยากพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อยากค้นหา แต่ผมไม่ได้เสพงานของศิลปินต่างชาติเลยนะ ผมจะค้นหาจากตัวเอง ผมทำงานจากข้างในออกข้างนอก ผมไม่ได้เอาข้างนอกมากองแล้วเอาไปใส่ไว้ข้างใน

ผมจะเอาสิ่งที่เราชอบมาวาด แล้วมาจัดสรรองค์ประกอบให้เป็นศิลปะ อย่างรูปนี้ตอนแรกตั้งใจจะวาดรูปคนยุคเก่าๆ เจมส์ บอนด์ สมัยก่อนที่ใส่หมวก แต่พอเอารูปถ่ายมาติดผนังกำลังจะวาด แล้วรูปถ่ายมันหล่น ผมก็เห็นภาพไหลพรืด ผมก็เลย เฮ้ย เขียนอย่างนี้ดีกว่า เขียนให้มันเป็นรูปร่างคนนั่นแหละแต่ให้มีความย่อยสลายหน่อย แล้วแทนที่จะเขียนสีอะคริลิก ผมก็ลองเขียนสีไม้ดีกว่า พอดีมีสีไม้อยู่ในบ้านก็เขียนสีไม้เลย

 

แล้วทำไมพื้นที่ที่เหลือถึงปล่อยให้ว่างเกือบทั้งเฟรม

ผมอยากให้รู้สึกถึงจังหวะที่อิสระ จุดที่เกิดโฟกัสก็มีอยู่จุดเดียว และไม่ได้สื่อสารอะไรกับพื้นที่ว่างที่เหลือในเฟรม ผมอยากเปิดพื้นที่ให้คนดูสามารถจินตนาการว่าเป็นอะไร

 

แบบเดียวกับการจัดวางผลงานในนิทรรศการนี้

ใช่ ผมอยากให้ผลงานในนิทรรศการดึงดูดคนได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นงานชิ้นใหญ่ ไม่จำเป็นต้องอัดรูปเข้าไปเยอะๆ แน่นๆ เพื่อให้ดูแล้วคุ้ม ให้คนอยากซื้อ ผมเน้นในเรื่ององค์ประกอบศิลป์ จังหวะ และพื้นที่ในงาน เป็นหลักมากกว่า

อย่างตัวหนังสือที่เห็นในภาพวาดนี่มีความหมายอะไรไหม

ไม่ครับ มันเป็นวิชวล เป็นจังหวะทางศิลปะว่าฟอนต์นี้อยู่ตรงนี้แล้วสร้างองค์ประกอบและความรู้สึกยังไง

 

ผลงานในนิทรรศการนี้ทำขึ้นก่อนหรือหลังจากที่มาติดต่อแกลเลอรีเพื่อแสดงงาน

เวลาผมทำงานแสดง มีน้อยครั้งมากที่ผมจะคุยก่อน คือผมจะทำงานให้เสร็จประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะปกติผมต้องเห็นภาพก่อนว่างานผมจะเป็นประมาณไหน แล้วก็เผื่อไว้สัก 30-40 เปอร์เซ็นต์ว่าจะแสดงยังไง แล้วค่อยเลือกแกลเลอรีที่จะแสดง

 

สุดท้ายทำไมคุณถึงเลือกแสดงงานที่ ARTIST+RUN

เป็นเรื่องของจังหวะ จำนวนงาน มันพอดีกับพื้นที่ แล้วผมชอบแกลเลอรีของอังกฤษด้วย และอังกฤษก็ตามงานผมมานานแล้ว ผมก็เลยเลือกแสดงที่นี่

นิทรรศการ P7 : Shadow On The Sun จัดแสดงที่หอศิลป์ ARTIST+RUN (ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 : N22) ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม – 7 กันยายน 2562 เวลา 13:00-18:00 น. (หยุดวันจันทร์) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ [email protected], artistrun2016.com/

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก