กับคนคนนี้ เราคงไม่ต้องแนะนำตัวให้เสียเวลา
แต่อาจต้องย้อนความสักหน่อยว่า ในฐานะนางสาวไทยประจำ พ.ศ. 2549 เจี๊ยบ–ลลนา ก้องธรนินทร์ เคยบอกทุกคนไว้ว่า เธอใฝ่ฝันอยากเปิดฟรีคลินิก
ผ่านมาสิบกว่าปี วันนี้ฝันของหมอเจี๊ยบเป็นจริงแล้ว และเป็นจริงในรูปแบบที่ใหญ่กว่าที่คิดไว้เสียอีก
Let’s be heroes คือมูลนิธิที่เธอก่อตั้งขึ้นร่วมกับอาจารย์และผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์จำนวนหนึ่ง โดยฟรีคลินิกเป็นเพียงหนึ่งในโปรเจกต์ของมูลนิธินี้เท่านั้น เพราะภายในร่มของการเป็นฮีโร่ ยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่เธอกำลังผลักดัน
“เราไม่อยากจำกัดตัวเองแค่ฟรีคลินิก ซึ่งพอเราไม่จำกัดตัวเอง เราก็จะสามารถช่วยเหลือทุกคนที่กำลังเดือดร้อน” เจี๊ยบอธิบายพร้อมรอยยิ้ม
ทว่าก่อนจะไปทำความรู้จักมูลนิธิของเธอให้มากยิ่งขึ้น เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งมันยังเป็นเพียงก้อนฝันในใจของเด็กสาวธรรมดาๆ คนหนึ่ง
ตอนเด็กๆ คุณฝันอยากเป็นอะไร
โห (หัวเราะ) ตอนเด็กๆ เจี๊ยบอยากเป็นพยาธิค่ะ
เพราะอะไร
เพราะเป็นเด็กรักสบาย อยากนอนกินอยู่ในท้องแม่ ตอนประมาณ ป.2 มีงานประชุมผู้ปกครองครั้งหนึ่ง เขาให้เขียนว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คนอื่นก็วาดรูปเป็นหมอ เป็นตำรวจ แต่เจี๊ยบวาดภาพแม่ที่มีตัวพยาธิอยู่ในท้อง หลังจากนั้นไม่นาน ด้วยความที่เป็นเด็กชอบเข้าใจผิด เห็นคุณอองซานซูจีถูกขังอยู่ในบ้าน เราก็อยากเป็นแบบนั้น เพราะเราติดบ้านมาก อยากอยู่ในบ้านแบบนั้น พอโตขึ้นมาอีก เราก็อยากเป็นนู่นเป็นนี่เยอะมาก จนสุดท้ายอยากเป็นหมอฟัน เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เด็กไม่ตั้งใจเรียนอย่างเราตั้งใจเรียนขึ้นมา
จากหมอฟันกลายมาเป็นหมอได้อย่างไร
เจี๊ยบเป็นคนทำอะไรสุดโต่ง ถ้าไม่ทำก็ไม่ทำเลย ตอนเด็กๆ สอบเลขได้เกรดศูนย์ อนาคตน่าเป็นห่วงมาก แต่พอเรามีความตั้งมั่นว่าเราอยากทำอะไร อยากได้อะไร เราจะสู้และกัดไม่ปล่อย จากเด็กที่อ่านหนังสือไม่เป็นก็อ่านสองรอบ ตั้งใจมาก (เน้นเสียง) เพราะรู้ว่าทันตะฯ เป็นคณะที่เข้ายากมากเหมือนกัน
ช่วงนั้นเขามีสอบตรงของแพทย์ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไปฝึกงานที่โรงพยาบาล 10 ชั่วโมง หรือ 10 วัน จำไม่ได้แล้ว เราแค่อยากไปลองข้อสอบเผื่อว่าจะได้รู้ไว้เป็นแนวทาง ก็เลยไปฝึกงานในโรงพยาบาล ซึ่งพอไปก็ค้นพบเลยว่าเราอยากช่วยคน
เข้าไปทำอะไร ทำไมถึงขั้นเปลี่ยนใจ
ไปเดินบัตร เพราะทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว (หัวเราะ) เจี๊ยบว่าเป้าหมายของการฝึกงานไม่ใช่จะให้เราไปทำอะไรหรอก เขาแค่อยากให้เราเห็นบรรยากาศ ให้เรารู้ว่าจะต้องพบเจออะไรตอนทำอาชีพนี้ เพราะฉะนั้นตอนที่ไปทำ เราแค่ช่วยเขาเดินบัตร หยิบเอกสาร แต่ภาพที่เราเจอก็ทำให้เราเปลี่ยนความคิดในวันเดียวว่า อยากช่วยคน อยากรักษาคน
ภาพที่เจอคืออะไร ยังจำได้ไหม
มันก็คงเป็นภาพปกติแหละ แต่ตอนนั้นด้วยความที่เป็นเด็ก เวลาเห็นก็จะตกใจมาก เราเห็นคนเลือดออกอาบเสื้อ เห็นคนร้องไห้ เห็นเด็กร้องไห้ตัวร้อน มันเป็นภาพที่โกลาหล คนรอเป็นร้อยๆ คน แต่มีคุณหมอแค่คนเดียว คุณหมอก็ยังไม่ได้กินข้าว ซึ่งวันนี้ถ้าไปเห็นภาพแบบนั้นอีกคงเข้าใจบริบทของการรักษา เข้าใจว่าคนไข้เขารอได้เพราะยังไม่ใช่ภาวะเร่งด่วน และเข้าใจว่าระบบสุขภาพของไทยยังขาดแคลน
แต่ตอนนั้น ตอนที่เป็นเด็กเรารู้สึกว่าเราอยู่ตรงนั้นแต่ทำไมช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย ต่อให้มีเงินก็ไม่รู้จะจ่ายให้ใครไปรักษา เราเลยกลับบ้านมาบอกแม่ว่าอยากเป็นหมอ ซึ่งในวันนั้นเรายังไม่เข้าใจระบบสุขภาพของไทยเท่าไหร่ ภาพการเป็นหมอของเราเลยกลายเป็นว่า อยากให้การรักษาคนไข้แบบฟรีคลินิก คิดแค่ว่าเดี๋ยวเราจะไปเป็นหมอ หาเงินมา แล้วพอเสาร์-อาทิตย์เราก็จะเปิดฟรีคลินิกให้กับคนยากไร้
เห็นว่าจากจุดนั้นไปสู่การประกวดนางสาวไทยเพราะคุณแม่โน้มน้าว
ใช่ เป็นจุดที่แม่บอกว่า ถ้าเราเป็นคนมีชื่อเสียง เราจะขอความช่วยเหลือคนอื่นได้ ไปลองประกวดดูสิ เราก็ไม่เอา จะบ้าเหรอ ยิ้มยังไม่เป็นเลย
คุณมองภาพตัวเองตอนไปประกวดนางสาวไทยเป็นการเดินทางตรงหรือทางอ้อมกว่าจะมาถึงทุกวันนี้
เจี๊ยบมองเป็นทางตรงเลยนะ ถ้าเจี๊ยบไม่ไปประกวด เจี๊ยบก็คงไม่มีชื่อเสียง แล้วคนก็คงไม่เชื่อถือ วันนี้มันอาจมาถึงแหละ แต่ทางมันคงยากและเหนื่อยกว่านี้
ตอนนี้เราขอความช่วยเหลือใคร เขาก็รู้ว่าเราเคยคิดอย่างนี้ ทุกคนยินดีให้ความช่วยเหลือเรา ช่วยกันบริจาค ทำให้คนไข้หลายๆ คนได้รับความช่วยเหลือ อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ แต่อย่างน้อยสิ่งเล็กๆ ก็ช่วยชีวิตคนบางคนได้
เจี๊ยบก็ต้องขอบคุณเวทีนางสาวไทยที่ทำให้เจี๊ยบมีวันนี้ ขอบคุณแม่ที่ชักชวนไป แล้วก็ขอบคุณตัวเองที่อดทน ตั้งใจเรียน รวมทั้งทำสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง
จากวันนั้นที่อยากเป็นหมอ อยากเปิดฟรีคลินิก จนไปประกวดนางสาวไทย ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ทำไมยังกอดความฝันที่อยากเปิดฟรีคลินิกมาได้นานขนาดนี้
ก็คงเพราะมันเป็นความฝันนี่แหละ อะไรที่เป็นความฝัน เราก็อยากไปให้ถึงจุดหมาย
แต่บางทีระยะทางและอุปสรรคต่างๆ ก็อาจทำให้เราท้อแท้ในความฝันเหมือนกัน ระยะเวลาตั้ง 12 ปี ถามว่าเจี๊ยบเคยเบื่อ เคยเหนื่อย เคยอยากล้มเลิกไหม มีอยู่แล้ว ยิ่งเรียนหมอ 6 ปี คิดอยากจะลาออก อยากจะยอมแพ้ไปหลายรอบ มีถึงขั้นเดินไปลาออกเลยนะ แต่สุดท้ายก็ไปนั่งคิด อ้าว ถ้าลาออกแล้วเราจะไปทำอะไรล่ะ ในเมื่อความฝันเราอยู่ตรงนี้
เราก็เลยรู้สึกว่า เราท้อได้ แต่เราไม่ถอย ไม่อย่างนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมาทั้งหมดล่ะ เราทำสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง เด็กขี้เกียจต้องมาขยันเรียนหนังสือ อ่านหนังสือ คนที่คาแร็กเตอร์เป็นแบบนี้ต้องไปใส่ส้นสูง ไปเดินประกวด มันไม่ใช่ตัวเรา แต่เราทำมาทุกอย่างก็เพื่อสิ่งนี้ แล้วเราจะยอมแพ้ได้อย่างไร ก็เลยยังยึดมั่นในสิ่งที่เราทำอยู่
ขอย้อนกลับไปตรงจุดที่เดินไปลาออก ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น
พอเรียนจริงๆ แล้ว เรื่องความรู้ เรื่องการอ่านหนังสือเป็นเรื่องรองไปเลย หลักๆ คือความรับผิดชอบ การที่เราจะไปรักษาชีวิตคน เราต้องเป็นคนที่รับผิดชอบมาก
ตอนเด็กๆ ตอนเรียนก็จะมีหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีปิดเทอม ช่วงนั้นเราเรียนวอร์ดอายุรกรรม แล้วต้องมาต่อที่วอร์ดศัลยกรรม เราต้องไปโรงพยาบาลทุกวันเลย เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องไป อยู่โรงพยาบาลเช้าถึงเย็น ไม่ว่าจะไปเกเรดึกขนาดไหน เช้าก็ต้องไป
อยู่ดีๆ วันหนึ่งเราก็ไม่อยากลุกขึ้นไปทำงานตอนเช้า อยากนอนอยู่เฉยๆ คนอื่นก็มาตามเพราะเราเป็นเด็กขี้เกียจ เป็นเด็กเกเรโดยพื้นฐาน เขาก็นึกว่าเกเรอีกแล้ว แต่เรารู้สึกเหนื่อย ไม่ไหวแล้ว ตอนแรกจะลาออก แต่สุดท้ายก็ดร็อปไปสองเดือน ไม่เรียนวอร์ดนั้นเลย กลับมาอีกทีก็เรียนวอร์ดใหม่
หยุดสองเดือนไปพัก
ใช่ เจี๊ยบว่าถ้าเราฝืนมันจะไม่ไหว ถ้าเราเหนื่อยเราก็พัก จะจบช้ากว่าเพื่อนหน่อยก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ได้พักเติมพลัง แล้วก็กลับมาเดินทางเดิมต่อ
อะไรทำให้คุณกลับมาได้
ก็เราได้พักแล้ว และอย่างที่บอกว่าเรากลับไปทบทวนตัวเอง ถ้าออกไปเราจะไปทำอะไร ไม่ได้จะไปทำอะไรอยู่แล้วไหม (หัวเราะ) ในเมื่อเป้าหมายคือตรงนี้ ก็กลับมาใหม่
แต่ตอนนั้นคุณก็มีตำแหน่งนางสาวไทยแล้ว ถ้าจะทำงานในวงการก็พอมีที่ทางให้คุณอยู่
ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย รู้สึกแค่ว่าตรงนี้มันเหนื่อยจังเลย อยากเลิกแล้ว อยากยอมแพ้ แต่สุดท้ายพอเราได้พัก เราก็มีพลังกลับมาเดินทางต่อ อย่างที่บอกว่าเราไม่รู้จะไปทำอะไรถ้าความฝันเราอยู่ตรงนี้ ชีวิตเรามีเป้าหมายอยู่แล้ว
เรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตเลยไหม
คนเรามันมีความฝันได้หลายอย่างอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้แรงกล้ามากตั้งแต่เด็ก
แล้วเจี๊ยบก็มีความฝันอีกอย่างคือ อยากปลดเกษียณแล้วเล่นเกม Harvest Moon อยู่บ้าน ก็คือยังเป็นเด็กคนนั้นที่อยากอยู่บ้าน อยากเป็นพยาธิในท้องแม่
ทุกคนก็ต้องอยากมีชีวิตที่สบาย อยู่กับครอบครัว ใครจะอยากทำงานไปตลอดชีวิต ไม่มีหรอก เกิดมาชีวิตหนึ่ง ยิ่งเจี๊ยบเจอกับความตายทุกวัน เจี๊ยบก็อยากใช้ชีวิตทุกวันนี้ให้คุ้มค่าที่สุด
ดังนั้นความฝันสูงสุดตอนนี้คืออยากปลดเกษียณ อยู่บ้านกับครอบครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก แล้วก็ไปทำงานโดยไม่ต้องหาเงินแล้ว ทำงานโดยไปช่วยคนเฉยๆ นั่นแหละเป้าหมายสูงสุดของชีวิต
พอทำงานเป็นหมอมาสักพัก ด้วยจังหวะหรือด้วยอะไรที่คิดว่าถึงเวลาต้องทำฟรีคลินิกแล้ว
เราเรียนจบมาตามทางที่วางไว้ และเราตกตะกอนแล้วว่าจะทำทิศทางไหน
ที่ผ่านมาเวลาคนสัมภาษณ์ว่าจะทำฟรีคลินิกแบบไหน จะเป็นอย่างไร เราก็ยังไม่รู้ รู้แค่ว่าอยากทำ แต่ในช่วงระยะเวลาที่เรากลับไปเรียน เราได้เจออาจารย์ เจอเพื่อนร่วมทีมที่ดี ซึ่งมาเป็นคณะกรรมการมูลนิธิด้วย เราได้นั่งคุยกันว่าจะทำรูปแบบไหน จนเราเจอพอยต์ว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งก็ออกมาในรูปแบบมูลนิธิ Let’s be heroes
คุยกันอย่างไรถึงได้ตกตะกอนมาเป็นมูลนิธิ
ต้องขอบคุณอาจารย์พรรณอร (อ.พญ.พรรณอร เฉลิมดำริชัย) ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ อาจารย์เป็นคนที่ทำให้เกิดมูลนิธินี้ขึ้นมาเลยก็ว่าได้ เพราะตอนเจี๊ยบกลับไปเรียนเป็นหมอฉุกเฉิน เจี๊ยบก็เล่าให้อาจารย์ฟังว่า ตั้งแต่เด็กเจี๊ยบอยากเปิดฟรีคลินิก จะทำอย่างไรดีให้มันเกิดประโยชน์สูงสุด และอยากให้มันรันได้ด้วยความยั่งยืน ไม่อยากเปิดมาแป๊บเดียวแล้วทำต่อไม่ได้
ตอนแรกคิดกันหลายอย่าง สุดท้ายมาจบที่มูลนิธิเพราะเราชอบทำอะไรหลายๆ อย่าง รู้สึกว่าเราไม่ได้อยากช่วยคนอย่างเดียว เรายังอยากช่วยสัตว์ด้วย สมมติถ้าเราเจาะจงว่าจะรักษาคนอย่างเดียว แล้วพอเจี๊ยบเห็นสัตว์ที่น่าสงสาร เจี๊ยบจะเอาเงินบริจาคไปช่วยสัตว์ก็ไม่ได้ มันจะผิดจุดประสงค์ที่คนเขาบริจาคมา
เพื่อความถูกต้อง เจี๊ยบก็เลยเปิดมูลนิธิ Let’s be heroes แล้วค่อยมีหลายๆ โครงการในนั้น ช่วยคนด้วย ช่วยสัตว์ด้วย เปิดสอนด้วย เราไม่อยากจำกัดตัวเองแค่ฟรีคลินิก ซึ่งพอเราไม่จำกัดตัวเอง เราก็จะสามารถช่วยเหลือทุกคนที่กำลังเดือดร้อน
ใต้ร่มของ Let’s be heroes มีโปรเจกต์อะไรบ้าง
ตอนนี้ Let’s be heroes มีอยู่ 3 ขาหลัก หนึ่งคือเปิดคอร์สสอนทำ CPR แบบใช้เครื่อง AED (Automated External Defibrillator – เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ) เพราะเราเป็นหมอฉุกเฉิน คือเป็นหมอที่กู้ชีพคน เจี๊ยบก็นั่งคิดว่า ถ้าเรารักษาคนคนหนึ่ง โอเค คนคนนี้หาย แต่ถ้าเราให้ความรู้คนเพื่อให้เขาออกไปช่วยชีวิตคนอื่นๆ ได้ มันก็จะไม่ใช่เราคนเดียวที่ช่วย
สองคือการช่วยเหลือสัตว์ เจี๊ยบว่าบางทีคนเราอยู่บนโลกนี้จนคิดว่าโลกนี้เป็นของมนุษย์ไปแล้ว แต่จริงๆ เราไประรานสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย มันไม่แฟร์เลยที่คนเราสามารถมีกฎหมายอยู่เหนือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สมมติเราตีหัวคุณ เราคงติดคุก แต่ถ้าเราตีหัวแมว ถ้าไม่มีคนเห็น เราก็รอดตัวไปได้ กฎหมายยังต่างกันเยอะ เราก็เลยอยากช่วยเพื่อนร่วมโลกเราด้วย
และสามคือฟรีคลินิกที่เป็นต้นเรื่องให้เกิดมูลนิธิ เราทำเป็นฟรีคลินิกแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ขาดแคลน ต้องเข้าใจบริบทก่อนว่า เราอยู่ในกรุงเทพฯ เราเข้าถึงการแพทย์ได้ง่ายกว่าพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์ สมมติเราเป็นโรคหัวใจ เราก็สามารถไปหาคุณหมอโรคหัวใจได้ในหลายๆ โรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือรัฐบาล แม้โรงพยาบาลรัฐอาจจะมีระยะเวลาส่งตัว แต่การเดินทางก็สะดวกกว่า และอาจไม่ได้รอนานเท่าต่างจังหวัดไกลๆ ที่ทั้งจังหวัดอาจมีคุณหมอหัวใจแค่คนเดียว แล้วทุกที่ก็เทมารอที่คุณหมอท่านนี้
การที่เราจัดแพทย์เฉพาะทางอาจจะช่วยไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยได้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ เราก็เลยจัดแพทย์เฉพาะทางในโรคที่ไม่ได้ฉุกเฉิน โรคที่สามารถรอได้ คนไข้ที่สงสัยว่าน่าจะต้องหาคุณหมอเฉพาะทางโรคนั้นๆ ก็จะได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น แล้วก็ลดภาระของคุณหมอเฉพาะทางในตัวโรงพยาบาลจังหวัดด้วย
คุณไปลงพื้นที่มาแล้วที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นอย่างไรบ้าง
ครั้งแรกที่ลงไปมีแค่คณะกรรมการมูลนิธิที่เป็นเหยื่อของเจี๊ยบก่อน (หัวเราะ) ในคณะกรรมการมีสัตวแพทย์ด้วย ก็เลยไปฉีดยากันพิษสุนัขบ้าในพื้นที่นั้นซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง แล้วก็มีคุณหมอผิวหนังไปเปิดคลินิกโรคผิวหนังเฉพาะทาง ส่วนทีมหมอฉุกเฉินก็ไปสอนการกู้ชีพทารกเบื้องต้นให้กับหมอตำแย ซึ่งตอนแรกเราคิดว่าจะต้องมีอุปสรรคเรื่องภาษา เพราะเขาไม่ได้พูดภาษาไทย เราต้องมีล่าม แถมเขาเป็นหมอตำแย ทำคลอดเก่งกว่าเราอีก กังวลว่าเขาจะเปิดรับเราหรือเปล่า แต่กลายเป็นว่าเขาเปิดรับเรา และเขาน่ารักมาก เป็นคุณยายอายุ 70 กว่าที่ตั้งใจเรียน ฝึกทำอยู่คนเดียว ไม่ยอมเลิก เพราะเขาอยากไปช่วยเด็กที่เขาทำคลอดออกมา
ในประเทศไทยน่าจะมีพื้นที่ขาดแคลนอยู่ไม่น้อย ทำไมเลือกที่อุ้มผาง
เพราะการที่เราจะให้ใคร เราต้องมีผู้รับที่พร้อมรับด้วย ซึ่งที่โรงพยาบาลอุ้มผาง คุณ ผอ. (นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์) น้องๆ อินเทิร์น และพี่ๆ ทีมงานทุกคนน่ารักมาก พวกเขาช่วยหาเคสที่สงสัยว่าจะเป็นโรคที่ต้องการคำแนะนำจากคุณหมอเฉพาะทางที่เราสามารถเกณฑ์ขึ้นไปได้ แล้ว ผอ.ก็ให้ค่าน้ำมันชาวบ้านในการนั่งรถมาหาเรา
จากที่ฝันถึงฟรีคลินิกมานาน พอได้ลงมือทำจริงๆ รู้สึกอย่างไร
มันอิ่มเอมใจ บางทีก้าวแรกอาจจะยังไม่ได้เต็มร้อย แต่พอเรามีเพื่อนร่วมทาง พอความฝันเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มันก็สร้างความอิ่มเอมใจให้เรา
ที่ดีใจที่สุดคือคนในทริปรู้สึกอย่างเดียวกันกับเรา อย่างช่างภาพที่มาจาก Forward Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่เป็นสื่อกลางในการช่วยระดมทุนและจัดทำสื่อต่างๆ เขามาบอกเราว่า “ผมเข้าใจแล้วว่าความสุขของการให้เป็นอย่างไร เพราะผมได้ถ่ายรูปและได้เห็นคนไข้ยิ้ม ถ้าครั้งหน้าหมอต้องการช่างภาพ ผมขึ้นมาให้ฟรีเลยนะครับ” แล้ววันนั้นคณะกรรมการทุกคนก็แฮปปี้กันมาก ถึงเราจะเหนื่อย แต่สุดท้ายแล้วเราก็มีความสุขร่วมกัน
ซึ่งนั่นถือเป็นความสำเร็จของคุณแล้ว
ก็เป็นก้าวแรกที่เราได้มาแตะความฝันที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้วจริงๆ ไม่ใช่แค่ความฝัน
ส่วนครั้งที่สองที่ขึ้นไปก็ขยายทีมอีก เพราะครั้งนี้ไม่ได้มีแต่เหยื่อของเจี๊ยบแล้ว (หัวเราะ) มีคุณหมอคนอื่นๆ ด้วย หนึ่งในคนที่ประทับใจมากคือหมอตูน (พญ.วิรังรอง เค้าภูไทย) ตอนแรกจำเขาไม่ได้ เป็นคนที่คณะกรรมการชวนต่อๆ กันมา แต่พอวันที่เราขึ้นเครื่องไปอุ้มผาง ได้คุยกัน เขาก็บอกว่า “แกจำเราได้ป่าว ที่ไปเจอกันที่สุพรรณฯ ตูนเป็นอินเทิร์น เจี๊ยบเป็นเอ็กซ์เทิร์น แกเคยเล่าให้ฟังว่าอยากทำฟรีคลินิก วันนั้นเราเคยบอกว่าถ้ามีโอกาสจะไปช่วย วันนี้เราได้มาช่วยแกแล้วนะ” โห ฟังแล้วขนลุก ดีใจมากที่การคุยกันที่เรายังจำไม่ได้มันมาถึงจุดนี้ ซึ้งใจมากที่เพื่อนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ
ครั้งนั้นหมอตูนก็ได้ไปช่วยทำเส้นฟอกไตให้คนไข้ที่ต้องล้างไต แล้วก็มีคุณหมอ x-ray กับคุณหมอหัวใจไปทำ echo หัวใจ คืออัลตราซาวนด์ดูหัวใจ ก็เจอคนไข้คนหนึ่งอายุแค่ 34 ปี เป็นโรคลิ้นหัวใจ คนไข้คนนี้เขาเป็นคนไทยแต่ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งหมายความว่าเขาจะไม่ได้สิทธิ์ในการรักษา ถ้าจะทำอะไรเขาก็ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด หมอ x-ray ก็บอกว่าคนนี้ดูเป็นผู้ป่วยที่เหมาะสมที่จะได้ผ่าตัดลิ้นหัวใจนะ หมอตูนก็เลยช่วยติดต่อกับโรงพยาบาลราชวิถี จนคนไข้ผ่าตัดลิ้นหัวใจได้สำเร็จ จากตอนแรกคนไข้คนนี้ทำงานทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะมันเหนื่อย เดี๋ยวก็น้ำท่วมปอด ตอนนี้เขากลับไปมีคุณภาพชีวิตเหมือนเดิม ทำมาหากินได้ เลี้ยงลูกได้ ก็ต้องขอบคุณโรงพยาบาลราชวิถีที่เป็นหนึ่งในความสำเร็จนี้
วันที่เขาจะกลับ เราได้เข้าไปเยี่ยมเขากัน พี่สาวเขาที่มาเฝ้า อยู่ดีๆ ก็ขอบคุณทุกๆ คน ขอบคุณทุกๆ อย่างที่ทำให้เราได้เจอกัน ขอบคุณที่เราทำให้น้องสาวเขาได้เปลี่ยนลิ้นหัวใจ ที่ประทับใจที่สุดในวันนั้นก็คือ พี่สาวเขาบอกว่าตอนนี้เข้าใจแล้วว่าการเรียนสำคัญอย่างไร แต่ก่อนเขาไม่รู้จะตั้งใจเรียนไปทำไมในเมื่อปลูกข้าวก็ได้ข้าวกินเหมือนกัน ทำไมต้องไปเรียนหนักๆ เพื่อหาข้าวกิน แต่วันนี้เขารู้แล้วว่าการที่เรามีการศึกษาที่ดี เราสามารถช่วยคนอื่นๆ ได้อีกเยอะแยะ เขาจะกลับไปบอกให้ลูกหลานเขาตั้งใจเรียน จะได้ออกมาช่วยคนได้อย่างนี้ เจี๊ยบดีใจมากที่การช่วยเหลือคนคนหนึ่งไม่ได้เปลี่ยนแค่ชีวิตเขา แต่เปลี่ยนคนรอบข้างเขาด้วย
ในวันที่ฝันเป็นจริงแล้ว คุณมองภาพต่อจากนี้ไว้อย่างไร
เราก็คงทำต่อไปเรื่อยๆ เท่าที่เราทำได้ ทำให้ดีที่สุด และทำให้ยั่งยืนที่สุด
ตอนแรกก็กลัวว่า พอมูลนิธิเปิดตัว เราจะได้รับเงินบริจาคแค่ช่วงแรกหรือเปล่า แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะโปรโมตตลอดเวลาได้ ถ้าไม่มีคนมาช่วยแล้วจะทำอย่างไร อีกหน่อยจะต้องปิดตัวลงหรือเปล่า
แต่พอเราลองทำไปเรื่อยๆ เรามีอาจารย์ มีเพื่อนร่วมทีมที่ช่วยกันทำ เราก็คิดกันแค่ว่า ทำเท่าที่เราทำได้แหละ ถ้าเกิดสิ่งที่เราทำมันเกิดผลดีจริงๆ ความช่วยเหลือมันจะมาเอง คนที่เขาเห็นความสำคัญก็ยินดีจะหยิบยื่นความช่วยเหลือ เจี๊ยบเลยไม่กลัวอะไรแล้ว ทำไปเรื่อยๆ มันก็ไปต่อได้เรื่อยๆ นะ ก็หวังว่ามันจะยั่งยืนต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ
พอจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เท่ากับว่าไม่สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเองใช่ไหม
มูลนิธิมีหลายแบบ ของเราคือพยายามเดินไปถึงจุดที่เป็นมูลนิธิที่คนสามารถบริจาคแล้วลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหารายได้
ตอนแรกก็อยากขายเสื้อขายอะไรเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องพึ่งเงินบริจาคอย่างเดียว แต่ถ้าเราขายเราก็จะไม่สามารถเป็นมูลนิธิที่สามารถลดหย่อนภาษีได้
กับการทำมูลนิธิทุกวันนี้ เหมือนคุณเชื่อในพลังของการลงมือของคนเล็กๆ มากกว่าโครงสร้างหรือนโยบาย
ถ้าเกิดโครงสร้างหรือนโยบายมันดี เราก็คงเชื่อในสิ่งนั้น แต่ถ้ามันไม่ตอบโจทย์หรือคนที่มีอำนาจยังไม่เล็งเห็นปัญหา เราก็คงจะไปบังคับเขาไม่ได้ เราเริ่มที่ตัวเองก่อนนี่แหละง่ายที่สุด แต่ถ้าวันไหนที่เรามีพลังอำนาจอย่างนั้น เราก็คงจัดการในสิ่งที่เป็นปัญหา เจี๊ยบว่าถ้าเราไม่มองว่าสิ่งไหนเป็นปัญหา เราก็คงไม่จัดการกับสิ่งนั้นหรอก ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็คงปล่อยปละละเลยไป หรือถ้าเราไม่ได้มีใจอยากจะไปช่วยจริงๆ เราก็คงไม่ไปช่วยเขา
ความสุขทุกวันนี้ของคุณคืออะไร
ความสุขทุกวันนี้ของเจี๊ยบคงเป็นเรื่องทำทุกวันให้ดี พยายามทำให้คนรอบข้างเสียใจน้อยที่สุด แล้วก็ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นและเพื่อตัวเองด้วย ก็คงมีความสุข
ชอบที่บอกว่าทำเพื่อตัวเองด้วย
เจี๊ยบก็เป็นคนปกติธรรมดานะ เจี๊ยบก็ชอบเล่นเกม ชอบหาความสุขให้ตัวเองเหมือนกัน เจี๊ยบคงไม่ใช่คนดีเลิศ เพอร์เฟกต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ โห ฉันต้องทำให้คนอื่นตลอดเวลา เจี๊ยบเชื่อว่าการที่เราจะให้คนอื่น เราต้องให้คนอื่นโดยที่เราไม่เดือดร้อน ถ้าวันไหนเราเหนื่อย เราไม่พร้อม แล้วเราไปให้คนอื่น ก็เป็นการทำร้ายตัวเอง อย่างที่บอกว่าเจี๊ยบกับทีมก็เลยจะทำไปเรื่อยๆ เท่าที่เรามีความสุขและพร้อมจะให้
เจี๊ยบอยู่ในห้องฉุกเฉิน เจี๊ยบเจอคนที่เสียชีวิตกะทันหันเยอะ ไม่ว่าจะอายุเยอะกว่าเจี๊ยบหรือบางคนน้อยกว่าเจี๊ยบด้วยซ้ำ มันทำให้เจี๊ยบรู้ว่าชีวิตคนเรามันไม่แน่นอนหรอก พรุ่งนี้อาจจะเป็นวันของเราหรือเปล่าก็ไม่รู้ (หัวเราะ) อาจจะเสียชีวิตเมื่อไหร่ก็ได้ เจี๊ยบก็เลยคิดว่าพยายามใช้ชีวิตทุกวันให้ดีที่สุด ให้เรามีความสุข ไม่ต้องเพอร์เฟกต์ แค่ให้เรากับคนรอบข้างดีต่อกัน ไม่ใช่วันนั้นมาถึงเราต้องมาเสียใจว่า เฮ้ย เราน่าจะทำอย่างนั้นนะ เราไม่น่าไปพูดอย่างนี้เลยกับคนนี้ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ
มองภาพฝันของตัวเองในวัยปลดเกษียณไว้อย่างไร
ไม่ทำงาน อยู่บ้าน เล่นเกม รดน้ำผัก ให้อาหารไก่ ให้อาหารปลา แล้วกลับมานั่งเล่นเกมใหม่ อยู่กับครอบครัว ทำสิ่งที่เรามีความสุข ในหนึ่งอาทิตย์ก็อาจจะไปออกตรวจช่วยคนไข้บ้างวันถึงสองวันต่อสัปดาห์ แก่แล้ว คงทำอะไรบู๊มากไม่ไหว แล้วถ้าวันนั้นมูลนิธิยังอยู่ก็จะดีใจมาก (ยิ้ม)
สามารถร่วมบริจาคได้ที่
มูลนิธิเล็ทส์ บี ฮีโร่ส์
เลขที่บัญชี 041-1-70885-3 ธนาคารกสิกรไทย สาขาเซ็นทรัล บางนา