คนรวยปลอดภัย คนจนข้นแค้นไม่เห็นอนาคต : ว่าด้วย ‘อเมริกา’ มหาอำนาจที่เปราะบางจากโควิด

Highlights

  • สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจในระดับต้นๆ ของโลก แต่กลับมีระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างต่ำ ไม่ครอบคลุมบุคคลหลายกลุ่มอย่างเช่นกลุ่มคนไร้บ้าน
  • กลุ่มแพทย์ในสหรัฐอเมริกาออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ล้มเหลวในการรับมือวิกฤต ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทรัมป์ยกเลิกหน่วยรับมือโรคระบาดพิเศษ ซึ่งเคยก่อตั้งโดยรัฐบาลของบารัค โอบามา
  • นักวิเคราะห์คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาอาจกินระยะเวลา 18 เดือน ส่วนทรัมป์อ้างว่าจะสามารถกู้เศรษฐกิจประเทศก่อนช่วงเทศกาล Easter ปี 2021 จะมาถึง

โรคระบาดเป็นอุบัติการณ์ที่ท้าทายโครงสร้างทางสังคมระดับโลก ปัญหาที่ประเทศใดซุกไว้ใต้พรม ก็พร้อมล้นทะลักออกมายังฉากหน้า ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมอาจไม่ใช่เครื่องมือที่มั่นคงที่สุดในการพาสังคมผ่านวิกฤตโรคระบาด เพราะประเทศระดับผู้นำก็ต้องเผชิญภาวะเฉพาะหน้าในระดับรุนแรง

ขณะนี้สถานการณ์ระบาดฝั่งตะวันออกทุเลาลง ตรงกันข้ามกับฝั่งตะวันตกที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ที่น่าจะเป็นประเทศที่ก้าวหน้าด้านวิทยาการทางการแพทย์และมีระดับเศรษฐกิจระดับแนวหน้า

หรือแท้จริงแล้วปัญหาเชิงโครงสร้างของสหรัฐอเมริกานั้นเปราะบางเมื่อเผชิญกับวิกฤตสาธารณสุขระดับศตวรรษในชื่อโควิด-19

 

ความเปราะบางทางสังคม

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจในอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับมีระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างต่ำ ไม่ครอบคลุมบุคคลหลายกลุ่มที่มีความแตกต่างทางเศรษฐานะ คนรวยมากมักได้รับการปรนนิบัติที่ดีจากวิทยาการทางการแพทย์ที่รุดหน้า ส่วนคนจนมักไม่เข้าถึงสิทธิ และสวัสดิการพื้นฐานทั่วไปก็เพียงประคับประคองอาการไปวันๆ

จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าสาธารณสุขของอเมริกานั้น Save the rich, leave the poor.
เมื่อเผชิญหน้ากับโควิด-19 ยิ่งทำให้ระบบสาธารณสุขที่เปราะบางอยู่ในระดับเสี่ยง จากอัตราผู้ติดเชื้อที่สูงเป็นอันดับ 1 และพ่วงมาด้วยอัตราผู้เสียชีวิตที่ไต่ระดับต้นๆ ของโลก จำนวนการตรวจคัดกรองของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดระอุ ประเทศสหรัฐอเมริกามีการตรวจโควิด-19 เพียง 240,000 รายเท่านั้น หากเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่มีขนาดเล็กกว่า มีจำนวนประชากรน้อยกว่า แต่ประชาชนเกาหลีใต้สามารถเข้าถึงการตรวจเบื้องต้นได้มากถึง 380,000 ราย

สิ่งที่เป็นปัญหาคาราคาซังของสังคมอเมริกันอีกมิติคือความเท่าเทียมในการเข้าถึงสาธารณสุขคุณภาพอันเป็นช่องโหว่ที่สุด มีประชากรอเมริกันราว 8 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มีความสามารถเข้าสู่ระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ไม่มีหลักประกันทางสุขภาพ และถึงจะมีประกันแล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งไม่ครอบคลุมค่าตรวจโควิด-19  อย่างกรณีชายจากรัฐฟลอริด้าที่แม้เขาจะมีประกันสุขภาพ และเข้ารับการตรวจโควิด-19 แต่ประกันแจ้งว่าค่าตรวจนี้ไม่อยู่ในกรมธรรม์ ทำให้ต้องควักเงินจ่ายมากถึง 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 45,864.00 บาท) โดยที่บริษัทประกันไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ขณะนี้มีความพยายามของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ออกกำหนดให้การตรวจโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกานั้นไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่ดี แต่หากมีกรณีผู้ป่วยรายที่อาการหนักต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจในห้องไอซียู ค่าใช้จ่ายนี้ผู้ป่วยยังต้องออกเอง รัฐไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบทั้งหมด ดังนั้นคอนเซปต์ของ Universal Healthcare การดูแลสุขภาพครบวงจรที่รัฐเป็นผู้ดูแลก็ต้องมานั่งดูรายละเอียดกันจริงๆ อีกทีว่าครอบคลุมถึงแค่ไหน

คนไร้บ้านที่ไม่มีบ้านให้กักตัว

กลุ่มคนไร้บ้านเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด และอเมริกาเป็นประเทศที่มีคนไร้บ้านจำนวนมหาศาล ไม่มีแหล่งพักพิงเป็นหลักแหล่ง คนกลุ่มนี้ไม่มีที่พึ่งในยามเจ็บป่วย และยิ่งถูกซ้ำเติมเมื่อโครงสร้างทางสาธารณสุขของอเมริกาที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย (doctor–patient relationship) ที่ระบุว่าหากทั้ง 2 ฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เป็นไปได้ที่คุณจะมีสุขภาพดีตามมา ถ้าป่วยแพทย์ก็รักษาให้คุณพร้อมไปทำงาน จึงเกิดความสนิทสนมเชื่อใจ เพราะแพทย์รู้ข้อมูลผู้ป่วยในขณะที่ผู้ป่วยก็รู้จักคุ้นเคยกับหมอ แต่กลุ่มคนไร้บ้านนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดความสัมพันธ์เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา ไม่มีทุนทรัพย์เพื่อเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ คำแนะนำเพื่อป้องกันโรคอย่างการรักษาระยะห่าง ล้างมือเป็นประจำ อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ส่วนใหญ่เป็นคำแนะนำที่เหมาะสำหรับทำในที่พักอาศัย แต่เป็นไปได้ยากที่จะทำภายนอก

มิติที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนไร้บ้านในสหรัฐอเมริกาล้วนเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ที่จำเป็นต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลอยู่แล้วในยามปกติ ซึ่งในวิกฤตโควิด-19 พวกเขาจำต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่มากกว่าเดิม มีการคาดการณ์ว่าเตียงไอซียูในสหรัฐอเมริกาอาจไม่เพียงพอรองรับ และอาจเกิดการครองเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ที่นานขึ้น พ่วงเครื่องช่วยหายใจ ทำให้สัดส่วนนี้ไปบดบังโรคอื่นๆ ที่ฉุกเฉินเช่นกัน

 

ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาเป็นกลุ่มเสี่ยง

แม้ทุกคนจะมีโอกาสรับเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ในสหรัฐอเมริกากลับมีสถิติน่าแปลกใจว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราติดเชื้อสูงที่สุด พ่วงมาด้วยความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับปอด นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวกับอาชีพบริการที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และอาชีพส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ เช่น บริการด้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ และเจ้าหน้าที่ให้บริการด้านสาธารณสุข  แต่ทั้งหมดจัดเป็นอาชีพที่สำคัญ (essential job) อันเป็นรากฐานหลักของสังคมอเมริกันที่ไม่สามารถหยุดงานหรือสร้างระยะห่างทางสังคมได้ ยิ่งทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มเสี่ยงในสถานการณ์โควิด-19

จากการวิเคราะห์โดย Harvard Global Health Institute สำหรับกรณี best-case scenario นั้น คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาอาจกินระยะเวลา 18 เดือน เตียงผู้ป่วยในห้องไอซียูทั่วประเทศจะเต็มไปด้วยผู้ป่วยมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็น best case แล้ว

อัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ของอเมริกามีมากกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้เมื่อประเมินแบบ worst case scenario ระบุว่า ประชากรทั่วสหรัฐอเมริกามีโอกาสติดเชื้อมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลา 6 เดือน ซึ่งในขณะนี้ระบบสาธารณสุขของอเมริกามีอัตราเตียงว่าง 36.6 เตียงต่อประชากร 100,000 คน ถ้าในกรณี worst case scenario จะต้องการเตียงมากกว่าเดิมถึง 7 เท่า เพื่อการรองรับผู้ป่วยที่อาจถาโถมเข้ามา

จากเหตุการณ์นี้จึงมีความพยายามเปลี่ยนโรงแรมหลายแห่งที่ปิดบริการให้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว แพทย์กลับไปให้บริการปรึกษาและตรวจโรคผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศทางด้านการแพทย์ตรวจโรคระยะไกล (telehealth)

กลุ่มแพทย์ในสหรัฐอเมริกาออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ล้มเหลวในการรับมือวิกฤต ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทรัมป์ยกเลิก Pandemic Unit หน่วยรับมือโรคระบาดโดยเฉพาะ ภายใต้การดูแลของ National Security Council ที่จัดตั้งขึ้นในช่วงปี 2014-2016 ในรัฐบาลของบารัค โอบามา ขณะที่โรคอีโบลาระบาดในแอฟริกาฝั่งตะวันตก แต่ถูกตัดงบประมาณและปิดตัวในปี 2018 ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ แถมยังมีการลดงบประมาณ CDC ในพื้นที่ระบาด 39 ประเทศ และมีท่าทีไม่เข้าไปช่วยเหลือประเทศอื่นๆในขณะที่ยากลำบาก อย่างจีนในช่วงแรกที่ได้รับผลกระทบหนัก

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนในแวดวงสาธารณสุขจะโจมตีไปยังรัฐบาลทรัมป์ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการรับมือโรคระบาด

ทรัมป์อ้างว่าจะสามารถกู้เศรษฐกิจประเทศก่อนช่วงเทศกาล Easter ปี 2021 จะมาถึง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคระบาดคาดว่าโควิด-19 จะกินระยะเวลาระบาดนานกว่านั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย และดูเหมือนทรัมป์จะสนใจตัวเลขทางเศรษฐกิจมากกว่าพยายามจัดการการระบาด ซึ่งโควิด-19 เองก็มาพร้อมกับการสั่นคลอนความเชื่อมั่นของกลุ่มคนที่สนับสนุนทรัมป์ ที่เริ่มมีท่าทีไม่เชื่อมั่นรัฐบาลทรัมป์อย่างชัดเจน

การมาเยือนของโรคระบาดระดับโลกในศตวรรษนี้ทำให้ความเปราะบางทางสังคมปรากฏชัดในระดับพื้นผิว

แม้ไวรัสจะระบาดไม่เลือกหน้า แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะทำให้คนเพียงกลุ่มเล็กที่มีเงินปลอดภัย แต่คนจนอันเป็นคนส่วนมากกลับมองหาอนาคตตัวเองไม่เจอ

 

อ้างอิง

Are Hospitals Near Me Ready for Coronavirus? Here Are Nine Different Scenarios
projects.propublica.org

Harvard Global Health Institute Projection Shows Virginia Needs More Hospital Bed Capacity
wvtf.org

Trump disbanded NSC pandemic unit that experts had praised
apnews.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน