Namako Wall : สถาปัตยกรรมเรขาคณิตของซามูไรสมัยเอะโดะ ถึงจะมินิมอลแต่สารพัดประโยชน์

เรื่องเริ่มต้นตอนขับรถเที่ยวชมธรรมชาติย่านอิสึ จังหวัดชิสึโอะกะ หลังจากเสพใบไม้แดง ชายทะเลและภูเขาไฟฟูจิมาหลายวัน เมื่อเจอคีย์เวิร์ดในไกด์บุ๊กที่ว่า ‘ย่านเก๋, สถาปัตยกรรมสไตล์มินิมอลสมัยเอะโดะ’ พร้อมรูปภาพอาคารสองชั้นที่มีผนังซึ่งมีเส้นสีขาวตัดกับสี่เหลี่ยมสีดำเป็นแนวสวยโดยมีฉากหลังเป็นภูเขาและโทริอิสีแดง เราก็ตัดสินใจไปเปลี่ยนวิวตัดเลี่ยนในเมืองเล็กๆ ซึ่งมีชื่อว่า ‘มัตสึสะกิ’ แห่งนี้ทันที

ในบรรดาเมืองเก่าที่สามารถอนุรักษ์บรรยากาศชวนให้นึกถึงอดีต ที่นี่ดูแปลกตาและมีเอกลักษณ์ด้วยความโมเดิร์นซึ่งเกิดจากสีขาว-ดำและรูปทรงเรขาคณิตอันเรียบง่ายของกำแพงอาคารบ้านเรือนซึ่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและความเงียบสงบระดับสิบ

เห็นเรียบๆ แต่พี่เขามีฟังก์ชั่นเพียบนะคะ

คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดคือ ความแข็งแรงทนทานที่ดูน่าเกรงขามในเวลาเดียวกัน ว่ากันว่าผนังแบบนี้ช่วยปกป้องบ้านจากลมฝนและทนไฟได้ดี ช่วยชะลอการลุกลามไปยังอาคารข้างเคียงได้ แถมยังกันแมลงและขโมยด้วยนะ เมืองนี้เคยประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ร่องรอยบนผนังช่วยเล่าเรื่องราวและยืนยันความทนทานได้เป็นอย่างดี

ปกติผนังดินจะไม่ถูกกับน้ำ ช่างปูนสมัยเอะโดะจึงลองแก้ไขด้วยการนำกระเบื้องแผ่นเรียบมาแปะเพื่อกันฝนและความชื้น ส่วนการพอกปูนหนาๆ บริเวณรอยต่อช่วยให้ผนังใช้ได้นานขึ้น การทำเป็นรูปทรงครึ่งวงกลมเป็นหนึ่งในเทคนิคงานปูนดั้งเดิมของญี่ปุ่นและกลายเป็นที่มาของชื่อ ‘ผนังนะมะโกะ’ เพราะนะมะโกะเป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า ‘ปลิงทะเล’ ซึ่งอวบอ้วนเหมือนรอยต่อกระเบื้องพอดี

จุดเริ่มต้นของรูปแบบอาคารสไตล์นี้คือบ้านของเหล่าซามูไร จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า เส้นเรียบเท่ที่ตัดกันบนผนังเป็นดีไซน์ที่เกิดมาจากการผสมกันระหว่างความคิดสร้างสรรค์และความห้าวหาญของเหล่านักรบ

ด้วยความแข็งแรง ความน่ายำเกรง และความทนทานซึ่งได้รับการพิสูจน์สรรพคุณโดยพี่ๆ หัวใจบูชิโด ผนังแบบนี้จึงนิยมนำไปใช้สร้างโกดังเก็บของ ป้อมปราการ และรั้วกำแพงดินแบบหนาที่มีหลังคา ในปัจจุบันยังพอพบเห็นได้ตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น เช่น เมืองคุระชิกิ จังหวัดโอะคะยะมะ หรือเมืองฮะงิ จังหวัดยะมะงุชิ

มองเผินๆ อาจจะดูหน้าตาเหมือนกันหมด แต่จริงๆ แล้วแต่ละท้องถิ่นจะมีดีไซน์และรูปแบบการวางกระเบื้องแตกต่างกันนิดหน่อย เช่น การวางแพตเทิร์นแนวนอนและแนวทแยง สีกระเบื้อง ส่วนมากใช้ 2 สีคือ สีดำซึ่งดูแพงและเข้มแข็ง และสีอิบุชิ สีเทาหม่นๆ ที่มีประกายเฉพาะตัว ให้ความรู้สึกสงบ สง่า วะบิซะบิ

ในที่สุดเราก็ขับมาถึงเมืองมัตสึสะกิ ที่นี่มีอาคารที่ใช้ผนังนะมะโกะมากกว่า 200 หลัง ควรจะอุดมไปด้วยช่างปูนชั้นครู แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น แถมปัจจุบันเหลืออาคารที่สภาพสมบูรณ์ไม่มากนัก เพราะผุพังไปตามกาลเวลาโดยไม่ได้รับการซ่อมแซม

ก่อนที่งานดีจะมีอยู่จริงแค่ในอดีต ชาวเมืองหลายฝ่าย เช่น ผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทีมสถาปนิก กลุ่มชาวบ้านผู้เกษียนอายุแล้ว และข้าราชการหน่วยงานต่างๆ กว่า 20 คนจึงรวมตัวกันใน ค.ศ. 2004 คล้ายทีม Avengers เพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกเลอค่าของเมืองและองค์ความรู้ในการก่อสร้างด้วยเทคนิคโบราณให้สืบทอดต่อไปถึงลูกหลานในอนาคต สมาชิกในทีมจริงจังถึงขนาดเรียนรู้วิธีการก่อสร้างอย่างจริงจังแม้ไม่เคยมีพื้นฐาน เพื่อให้สามารถทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูได้อย่างแท้จริง ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความสำคัญและคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

สเตปถัดไปคือการสร้างโอกาสให้ช่างท้องถิ่นได้เรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคผ่านสองมือ แม้จะมีความถนัดด้านการสร้างโกดังมากว่า 70 ปี แต่สมัยก่อนช่างปูนแถวนั้นยังไม่มีประสบการณ์การก่อสร้างเองทั้งกระบวนการตั้งแต่การทำโครงไม้ไผ่ไปจนถึงการทำผนังนะมะโกะ ใน ค.ศ. 2006 ทีมอเวนเจอร์นี้จึงริเริ่มโปรเจกต์การซ่อมบำรุงอาคารอิสึบุงเทซึ่งเป็นอาคารไม้ 2 ชั้นอายุกว่าร้อยปี เพื่อใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนประจำเมือง การซ่อมแซมอาคารนี้ถือเป็นสิ่งที่จุดประกายประเด็นเรื่องการฟื้นฟูเทคนิคดั้งเดิมและการส่งต่อองค์ความรู้ในเมืองนี้อย่างจริงจัง ช่างทั้งรุ่นเก่าและใหม่ได้มีโอกาสเรียนรู้และสร้างความชำนาญตั้งแต่ต้นจนจบ

เมื่อทีมขยายใหญ่ขึ้นพร้อมๆ กับประสบการณ์ จากการซ่อมแซมจึงขยับสู่การลองสร้างเองใน ค.ศ. 2008 โดยอาคารนี้จะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่รอรถเมล์ จุดขึ้นรถลาก และสถานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับอาคารผนังนะมะโกะ เงินทุนส่วนหนึ่งมาจากกองทุนส่งเสริมการสืบสานความรู้และเทคนิคโบราณ วัสดุเน้นการนำกระเบื้องของบ้านเก่ากลับมาใช้ใหม่ ส่วนการลงแรงใช้การขอความร่วมมือจากช่างปูนและอาสาสมัครต่างๆ

ในที่สุดอาคารขนาด 4 x 4 x 3 เมตร พร้อมพื้นที่ใช้สอย 10 ตารางเมตร และพื้นที่ผนังนะมะโกะ 40 ตารางเมตร ก็สำเร็จลุล่วงด้วยดีภายในเวลา 19 เดือน ด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนประมาณ 600 คนที่มาช่วยกัน

เมืองมัตสึสะกิตอนนี้มีผนังเรียบเท่เรียงรายให้ตื่นตาจำนวนมากเชียวล่ะ

ปกติการสร้างกำแพงอาจจะทำให้เราห่างเหินจากคนอื่น แต่การสร้างกำแพงที่นี่ช่วยเสริมความสามัคคีในชุมชนและสืบทอดองค์ความรู้เก่าแก่ด้วยนะ

AUTHOR