“เรื่องที่เราเผชิญในวันนี้อาจมีสาเหตุจากปีที่แล้ว” IWM Bookshop ร้านหนังสือเกร็ดสนุกยุคสงคราม

“เรื่องที่เราเผชิญในวันนี้อาจมีสาเหตุจากปีที่แล้ว” IWM Bookshop ร้านหนังสือเกร็ดสนุกยุคสงคราม

ในเมื่อลอนดอนเป็นเมืองของนักอ่าน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นร้านหนังสือทั้งเล็กและใหญ่กระจายอยู่ทั่วเมือง ไม่เว้นแม้แต่ในพิพิธภัณฑ์ จะว่าเป็นไฟลต์บังคับก็คงได้ที่แทบทุกพิพิธภัณฑ์จะมีร้านขายของที่ระลึกและร้านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับธีมของที่นั่น มิวเซียมวิทยาศาสตร์ก็ขายหนังสือเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ธรณีวิทยา และการทดลอง พิพิธภัณฑ์ศิลปะก็มีหนังสือชีวประวัติศิลปินดังจากยุคต่างๆ ขาย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ฉันเห็นจนชินตา

แต่มีร้านหนังสือในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่ฉันเห็นว่าพิเศษและน่าตื่นตากว่าที่ไหน ก็คือร้านหนังสือใน Imperial War Museums (IWM)

แค่ได้ยินคำว่าสงคราม ฉันจินตนาการว่าในร้านคงมีแต่หนังสือเนื้อหาซีเรียสและเศร้าหมองเรียงอยู่เต็มชั้น แต่พอเข้าไปดูจริงๆ ถึงได้พบว่านอกจากหนังสือสายแข็งเหล่านั้น ร้านนี้ยังมีหนังสือที่เล่าแง่มุมน่าสนใจมากมายทำให้รู้สึกว่าสงครามเป็นเรื่องใกล้ตัว ตั้งแต่บทกวีและจดหมายรักจากทหารในแนวหน้า, ส่ิงประดิษฐ์สุดเพี้ยนช่วงสงคราม, แฟชั่นในยุคนั้น, การเอาตัวรอดในป่า ไปจนถึง flip book ที่ทำให้เราได้เห็นเครื่องบินรบยุคสงครามโลกบินได้จริงๆ เพียงแค่พลิกกรีดหน้ากระดาษ

ที่น่าสนใจคือ หนังสือส่วนใหญ่ในร้านฉันแทบไม่เคยเห็นมันวางขายที่ไหนมาก่อน ความช่างสงสัยทำให้ฉันรีบเดินไปที่เคาน์เตอร์เพื่อติดต่อขอนัดสัมภาษณ์ผู้จัดการร้านทันที

“I am constantly amazed by man’s inhumanity to man”

Primo Levi, Italian Auschwitz Survivor

ตอนสายของวันที่ฉันมีนัดคุยกับ Fraser McCallum ผู้จัดการร้าน ฉันตั้งใจมาถึงก่อนเวลาเพื่อมาเดินดูนิทรรศการใน Imperial War Museums

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีเป้าหมายเพื่อให้คนรุ่นหลังไม่หลงลืมความโหดร้ายของสงคราม อาคารสูง 4 ชั้นแห่งนี้เน้นเล่าเรื่องสงครามและความขัดแย้งระดับโลก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน ภายในนิทรรศการมีตั้งแต่ของชิ้นยักษ์อย่างจรวด เครื่องบินรบ รถยนต์ที่พังยับในสงครามกรุงแบกแดด, อาหารและบ้านจำลองในยุคสงคราม, ชุดทหารเปื้อนเลือดและเต็มไปด้วยรอยกระสุน, ภาพวาดแสนเศร้าของศิลปินที่ไปรบ, ของเล่นเด็กน้อยในยุคนั้นที่ดูเหมือนขยะมากกว่าของเล่น และยังมีสนามเพลาะจำลองพร้อมเสียงปืนเสมือนจริงให้เราได้ลองเข้าไปสัมผัสประสบการณ์การเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยตัวเอง

ที่นี่คงทำนิทรรศการดีเกินไป ยิ่งเดินดู ใจฉันก็ยิ่งหดหู่ลงเรื่อยๆ ฉันเร่ิมสงสัยว่าทำไมทั้งๆ ที่วิชาประวัติศาสตร์สอนเราว่าสงครามแต่ละครั้งเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและทรมานของผู้คนนับแสนนับล้าน แล้วเหตุใดสงครามถึงยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ขณะที่กำลังจมดิ่ง คุณเฟรเซอร์ผู้จัดการร้านหนังสือก็มาถึงพอดี ฉันกลืนความเศร้าลงท้องพร้อมกับยิ้มและจับมือทักทายเขา แม้ฉันจะเริ่มบทสนทนาด้วยใจที่ขุ่นมัว แต่เมื่อได้คุยกับเฟรเซอร์ฉันคล้ายเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ขึ้นมาเล็กน้อย

และแสงเหล่านั้นก็ส่องมาจากหนังสือในร้านแห่งนี้

“The lamps are going out all over Europe, we shall not see them lit again in our life-time”

Sir Edward Grey, British Foreign Secretary, 1914

ร้านหนังสือส่วนใหญ่ในพิพิธภัณฑ์จะแทรกตัวเป็นมุมเล็กๆ อยู่ในร้านขายของที่ระลึก แต่ทำไมที่นี่ถึงได้แยกร้านหนังสือออกมา

เพราะเรื่องราวของสงครามมีความซับซ้อนและมีแง่มุมให้เล่ามากมาย ทำให้ผู้คนที่เข้ามาชมนิทรรศการที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่มาเพื่อดูแล้วจากไป แต่พวกเขาอยากเข้าใจสงครามแต่ละครั้งอย่างลึกซึ้งขึ้น

กลุ่มเป้าหมายของเราคือคนที่สนใจเรื่องสงคราม ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นเพศไหน อายุเท่าไหร่ ส่ิงที่เราเน้นคือหนังสือในร้านนี้จะไม่ได้มีแค่หนังสือหนักๆ เหมือนหนังสือเรียน แต่เป็นหนังสือที่มีแง่มุมและความหนักเบาของเนื้อหาหลากหลาย เราเน้นว่าเนื้อหาต้องเข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ เราจึงไม่พิมพ์หนังสือวิชาการอย่างวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอก สิ่งที่เราทำคือนำเรื่องที่เราเชี่ยวชาญและส่ิงที่คนสนใจมาหาจุดตรงกลาง

ในตอนนี้ถ้าใครสักคนอยากเรียนรู้เรื่องสงคราม เขามีช่องทางเข้าถึงข้อมูลมากมาย อย่างอินเทอร์เน็ตหรือสารคดีต่างๆ แต่ทำไมคุณถึงคิดว่าหนังสือถึงยังสำคัญ 

ผมไม่เคยคิดว่ามีสื่อไหนสำคัญกว่าสื่อไหนหรอกนะ เราไม่จำเป็นต้องเลือกเสพข้อมูลจากสื่อชนิดเดียวนี่จริงไหม สำหรับหนังสือ ผมว่ามันเจ๋งมากที่วัตถุชิ้นเล็กๆ นี้สามารถเก็บเรื่องราวของมนุษยชาติได้ยาวนานเป็นสิบเป็นร้อยปี และยังสามารถเจาะลึกลงไปเล่าเรื่องราวในรายละเอียดได้ คล้ายกับว่าหนังสือเล่มเดียวช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ของเราได้กว้างไกลไม่สิ้นสุดเลยนะผมว่า

หนังสือส่วนใหญ่ของที่นี่ฉันแทบไม่เคยเห็นมันวางขายที่อื่นเลย คุณไปหาหนังสือที่มีเนื้อหาหลากหลายและน่าสนใจขนาดนี้มาจากไหน

เรามีสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง ข้อดีอย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ก็คือเรามีข้อมูลมากมายอยู่ในมือ เรามีทีมงานที่เป็นภัณฑารักษ์ เป็นนักประวัติศาสตร์ ที่รู้จักวัตถุแต่ละชิ้นในพิพิธภัณฑ์ดีมาก ในอังกฤษยังมี war museum อีก 4 แห่ง เราจึงมีคลังข้อมูลขนาดใหญ่ แล้วทำไมเราจะไม่ใช้ประโยชน์จากส่ิงที่เรามีให้เต็มที่ที่สุดล่ะ จริงไหม

ประโยชน์ของการพิมพ์หนังสือเองทำให้เรามีหนังสือที่พิเศษกว่าร้านอื่น และยังเป็นการใช้ข้อมูลต่างๆ ที่เรามีอยู่ในมืออย่างรูปถ่ายและวัตถุจัดแสดง เล่ามันในแง่มุมที่ลึกและหลากหลาย ซึ่งมีแค่เราเท่านั้นที่มีข้อมูลนี้ จะเห็นว่าเรามีหนังสือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากมาย อย่างเช่น ตำราอาหาร ซึ่งบางเล่มก็เป็นหนังสือที่จำลองมาจากแผ่นพับหรือใบปลิวที่รัฐบาลแจกให้ประชาชนในช่วงสงครามเพื่อให้ทุกคนอยู่รอดจากการถูกโจมตีที่รุนแรง

นอกจากนี้ยังมีหนังสือเกี่ยวกับการทำสวน อบขนม ซึ่งส่ิงเหล่านี้ก็เคยแจกในช่วงสงครามทั้งนั้น หรือหนังสือแฟชั่นช่วงสงครามก็มาจากนิทรรศการที่เราเคยจัด การได้อ่านหนังสือแบบนั้นในยุคนี้นอกจากจะเป็นการย้อนอดีตแล้วเรายังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการปฏิบัติจริง ผมเชื่อว่าการเชื่อมโยงส่ิงที่ตัวเองสนใจเข้ากับเรื่องสงครามเป็นวิธีที่แนบเนียนและสนุกมากในการเรียนประวัติศาสตร์

“You must learn to end the wars in your world by ending them in your minds”

― Barbara Marciniak

สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ก็เกิดขึ้นเมื่อนานมากแล้ว คุณคิดว่าทำไมสงครามถึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรเรียนรู้

เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันล้วนได้รับอิทธิพลมาจากประวัติศาสตร์เสมอ เรื่องที่เรากำลังเผชิญในวันนี้อาจมีสาเหตุจากปีที่แล้ว หรือ 100 ปีที่แล้วก็ได้ อย่างเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนหรือการเหยียดสีผิว ทุกส่ิงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในศตวรรษที่ 21 มีรากฐานมาจากสงครามโลกทั้งนั้น

ประวัติศาสตร์สอนเราได้มากมายเกี่ยวกับปัจจุบันของเรา มันทำให้เรารู้ว่าโลกที่พวกเขาเคยอยู่เป็นยังไง ยิ่งเรียน เราจะยิ่งรู้ว่าไม่ใช่แค่คนรอบตัวหรือประเทศที่มีผลกับเรา แต่ชีวิตเราเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โลก และเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวอันยาวนานนี้

 

แล้วการเชื่อมโยงสำคัญอย่างไร 

เป็นคำถามที่ยากเหมือนกันนะ ฉันคิดว่ามันน่าจะทำให้เรามองเห็นจุดยืนของตัวเองบนโลกที่กว้างใหญ่ชัดเจนขึ้น และมองเห็นคนอื่นๆ บนโลกสำคัญเท่าเทียมกันล่ะมั้ง

ในฐานะที่คุณทำงานในแวดวงประวัติศาสตร์สงคราม คิดว่าอะไรคือทางที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นอีกครั้งในอนาคต

บทสนทนา (ตอบทันที) เพราะมันคือทางสุดท้ายที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จงพูด เราไม่สามารถยุติปัญหาด้วยการโยนระเบิดใส่กันหรอก ในประวัติศาสตร์ สงครามมากมายจบได้เพราะการที่ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน เมื่อคุยกันเราจะพบว่าแม้จะมาจากต่างที่แต่เราล้วนมีจุดร่วมบางอย่างคล้ายกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างเช่น เราล้วนไม่อยากเห็นเด็กๆ ถูกฆ่า

คนธรรมดาอย่างเราอาจไปพูดคุยกับฝ่ายตรงข้ามโดยตรงไม่ได้ แต่การอ่านเรื่องราวของพวกเขาก็เป็นทางออกที่ดี เราเรียนรู้เรื่องราวของพวกเขาผ่านตัวหนังสือได้ พวกเขามีเหตุผล มีหัวใจ และเป็นมนุษย์เหมือนกัน ถ้าใช้ตามองรูปลักษณ์ภายนอก เราจะเห็นแต่ความแตกต่างของสีผิว หน้าตา แต่ถ้าได้อ่านเรื่องราว บางทีเราอาจค้นพบว่าเราทุกคนล้วนไม่ต่างกันเลย ในบางเหตุการณ์เราไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครเป็นคนเลวเพราะเรื่องราวมันซับซ้อนกว่านั้น และร้านหนังสือก็มีเพื่อให้คนเข้าใจแง่มุมที่หลากหลายเหล่านี้นี่แหละ

 


IWM Bookshop’s Best Sellers

Secret of Churchill’s War rooms โดย Jonathan Asbury

หนังสือเล่มนี้พาเราเข้าไปดูห้อง War Room (ห้องควบคุมการทำงานของกองทัพ) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ Winston Churchill นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร แบบใกล้ชิดชนิดที่นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าไม่ถึง โฟกัสเข้าไปที่วัตถุสำคัญชิ้นต่างๆ ได้เห็นของพิเศษและลึกลับอย่างซิการ์ที่ยังสูบไม่หมดของวินสตัน หรือตอนที่เขาจับแหวนแต่งงานตอนทำงานอยู่ในห้อง ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะไอคอนในประวัติศาสตร์

 

IWM Bookshop’s Recommed

The Second World War in Colour โดย Ian Carter

ภาพถ่ายจากสงครามสีขาวดำ ทำให้เรารู้สึกว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้วและช่างดูห่างไกล ภาพสีในหนังสือเล่มนี้ทุกภาพเป็นสีจริงซึ่งถ่ายโดยช่างภาพที่ถูกส่งไปแนวหน้าในเวลานั้น เพราะไม่มีภาพไหนแต่งสีใหม่เลย การได้อ่านเล่มนี้จึงทำให้เรารู้สึกว่าสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น

The Ulthimate World War II Quiz Book 

Kieran Whitworth นักเขียนเล่มนี้ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรือคนทำงานในแวดวงประวัติศาสตร์สงคราม แต่เป็นผู้ศึกษาอย่างจริงจังจนเขียนเป็นหนังสือรวบรวมเกร็ดสนุกๆ จากสงครามแล้วนำมาเสนอให้ Imperial War Museums ตีพิมพ์ ซึ่งในความเห็นเฟรเซอร์ หนังสือเล่มนี้ดีและสนุกมาก แถมคำถามแต่ละข้อก็ท้าทายเพราะคนเขียนรีเสิร์ชมาอย่างดี

ตัวอย่างคำถามจากหนังสือก็เช่น

Q : จริงหรือไม่ที่ในยุคสงครามของอังกฤษ ขนมปังไม่ถูกจำกัดการซื้อ (ในยุคนั้นอาหารบางประเภทอย่าง น้ำตาล ชา หรือกาแฟ จะถูกปันส่วน)

A : จริง แต่ขนมปังที่รัฐบาลกำหนดให้ผลิตในเวลานั้นก็ไม่น่ากินเลย เพราะมันมีสีเทาประหลาด

 

“เราเรียนรู้แง่มุมของฝ่ายศัตรูผ่านตัวหนังสือ ได้รู้ว่าจริงๆ พวกเขาก็มีหัวใจและเป็นมนุษย์เหมือนกัน ถ้าใช้ตามองเราจะเห็นแต่ความแตกต่าง แต่ถ้าได้อ่านเรื่องราวของพวกเขา เราอาจค้นพบว่าเราทุกคนล้วนไม่ต่างกันเลย”

―Fraser McCallum

AUTHOR