ตามผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘วิ่งด้วยกัน’ ไปงานวิ่งของคนพิการกับไม่พิการครั้งแรกที่บัลแกเรีย

‘Khaide (ไอ-เดะ)’ เป็นภาษาบัลแกเรีย แปลว่า ‘come on’ หรือ มาสิ คำนี้เป็นคำที่ผมได้ยินมากที่สุดในเช้าวันนี้ วันที่ผมมาร่วมงานวิ่งในดินแดนแห่งโยเกิร์ตและดอกกุหลาบ งาน ‘วิ่งด้วยกัน บัลแกเรีย (run2gether Bulgaria)’

โยเกิร์ตเป็นสิ่งเดียวที่ผมรู้จักเกี่ยวกับประเทศบัลแกเรียตอนที่เพื่อนผม อีว่า (Iva) ชวนมาวิ่งรายการนี้ อีว่าเป็นชาวบัลแกเรียที่ทำงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างอาชีพให้คนพิการในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เธอตั้งขึ้นกับเพื่อน และเธอกำลังจะจัดงานวิ่งที่ชื่อว่า วิ่งด้วยกัน บัลแกเรีย

วิ่งด้วยกัน เป็นกิจกรรมที่ผมเริ่มต้นขึ้นในไทยเมื่อสี่ปีที่แล้ว กิจกรรมที่ให้คนพิการและคนไม่พิการมาวิ่งไปด้วยกัน ใช้เวลาร่วมกัน เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และกลายเป็นเพื่อนกัน เป็นการเชื่อมโลกของคนพิการและคนไม่พิการเข้าด้วยกันผ่านการวิ่ง อีว่ากับผมรู้จักกันเมื่อปีที่แล้วและเธอก็สนใจกิจกรรมวิ่งด้วยกันนี้มากจนนำไปจัดที่ประเทศของตัวเอง

คนพิการในบัลแกเรีย

ระหว่างการอยู่ในโซเฟีย (Sofia) เมืองหลวงของบัลแกเรียตลอด 5 วันของผม นอกจากในกิจกรรมวิ่งด้วยกันแล้ว ผมเห็นคนพิการเพียงแค่สามคนเท่านั้น อีว่าอธิบายว่า เวลาคนไม่พิการเห็นคนพิการที่นี่ เขาจะหันหน้าหนี แสร้งทำเป็นไม่เห็น ไม่ใช่เพราะกลัวหรือรังเกียจ แต่เพราะไม่เคยเห็น ไม่รู้จะสื่อสารยังไง

คนพิการในบัลแกเรียมักถูกจำกัดให้อยู่ในบ้านทั้งชีวิตเพราะถนนหนทางที่นี่เหมือนเป็นฝันร้ายของพวกเขา เพื่อนคนไทยที่มาด้วยกันอีกคนกับผมพยักหน้าเห็นด้วย เขาชื่อ ‘เล็ก’ เป็นคนพิการที่นั่งวีลแชร์ ในวันแรกที่มาถึง พวกเราพยายามใช้รถไฟฟ้าใต้ดินเดินทางซึ่งมีการรองรับคนพิการที่ดีทั้งลิฟท์และทางลาด แต่พอขึ้นจากรถไฟฟ้าใต้ดินมาบนทางเดินเท้าก็พบว่าที่นี่ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ นัก ทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อ มีสิ่งกีดขวางเป็นระยะ และมีทางลาดไม่มากนัก ยิ่งบางช่วงเป็นถนนแบบเก่าที่ใช้อิฐก้อนปูยิ่งสร้างความลำบากให้เพื่อนที่นั่งวีลแชร์ของผมที่ปั่นไปสั่นไปเหมือนเจ้าเข้า จะดีหน่อยก็คือทางเดินกว้างกว่ากรุงเทพ ฯ มากนัก

คนพิการที่บัลแกเรียจะได้เบี้ยยังชีพ 60 ยูโร (ประมาณ 2,250 บาท) ต่อเดือน บวกกับเงินค่าจ้างคนช่วยดูแลอีกหนึ่งคนไม่เกิน 250 ยูโร (ประมาณ 9,300 บาท) ต่อเดือน อีว่าบอกกับผมว่ามันน้อยมาก แต่ผมนึกในใจว่าเธอคงช็อกถ้าได้รู้ว่าคนพิการไทยได้เบี้ยยังชีพคนพิการแค่ 800 บาทต่อเดือน

วันที่สองในโซเฟีย อีว่าและเพื่อนชวนเราไปกินพิซซ่าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในตัวเมือง เธอยอมรับว่าเธอตกใจมากตั้งแต่วันแรกที่เห็นเล็กปั่นวีลแชร์เองได้อย่างคล่องแคล่ว และถึงกับอ้าปากค้างเมื่อเห็นเล็กขึ้นลงบันไดเลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอลิฟท์ อันที่จริงคนที่อ้าปากค้างตอนนั้นไม่ใช่แค่อีว่า แต่รวมไปถึงคนที่กำลังเดินอยู่แถวนั้นและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ก่อนที่พวกเราจะยกนิ้วโป้งแสดงสัญลักษณ์สากลที่เราคิดเองแทนคำว่าพวกเราโอเค

อีว่าไม่เคยเห็นคนพิการแบบนี้ เธอบอกว่าคนพิการที่นี่ต้องการความช่วยเหลือตลอดเวลา เคยมีคนพิการที่อีว่าทำงานด้วยเล่าว่า แม่ของเธอเป็นคนดูแลเธอ ถ้าแม่เธอตายเมื่อไหร่ เธอคงจะตายตามไปในอีกไม่กี่วันต่อมา ผมคิดว่ามันคงเป็นเพราะสถานการณ์ของคนพิการในประเทศไทยบ้านเราที่ทำให้ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด การต่อสู้กับความยากลำบากทำให้คนพิการไทยแข็งแกร่งกว่าที่อื่น

วิ่งด้วยกัน บัลแกเรีย

งาน ‘วิ่งด้วยกัน บัลแกเรีย’ ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศที่ห้างโซเฟียริงมอลล์ ใจกลางเมืองหลวงโซเฟีย งานนี้มีคนพิการมาร่วมกิจกรรมเกือบๆ 200 คน ประกอบไปด้วยคนพิการทางการได้ยิน ทางการมองเห็น และทางการเคลื่อนไหว เป็นหลัก ในขณะที่มีคนไม่พิการมาร่วมกว่า 500 คน เทียบกับงานวิ่งอื่นแล้วคงไม่ได้เป็นงานใหญ่อะไร แต่งานวิ่งด้วยกันนี้กลับมีองค์กรภาครัฐบาลและเอกชนของบัลแกเรียมาเข้าร่วมวิ่งและสนับสนุนมากมาย เพราะงานที่มีคนพิการมาทำกิจกรรมอะไรแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในบัลแกเรีย ยิ่งการที่มีคนพิการหลากหลายรูปแบบมารวมกันในงานเดียวนี่เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากสำหรับพวกเขา

งานวิ่งในวันนี้เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงให้กำลังใจจากทั้งคนพิการและคนไม่พิการ คำพูด “ไอเดะๆ” ที่แปลเป็นไทยว่า มาสิๆ เป็นเสียงเชียร์ให้คนพิการวิ่งต่อไปข้างหน้าจนถึงเส้นชัย นักวิ่งหลายคนวิ่งกลับไปมาเพื่อช่วยกันเข็นวีลแชร์ในช่วงขึ้นเนินอย่างสนุกสนาน หลังจบงานวิ่งยังมีการแข่งขันบาสเกตบอลวีลแชร์และมินิคอนเสิร์ตจากวงดนตรีบัลแกเรีย

หลังเสร็จงานมีคนมากมายเข้ามาจับมือขอบคุณผม อีว่า และทีมงาน ที่ทำให้มีงานนี้ขึ้น โดยเฉพาะเล็กที่กลายเป็นขวัญใจของชาวบัลแกเรีย ภาพที่เล็กไปเที่ยวที่ต่างๆ และโพสต์ลงในเฟซบุ๊กมีคนพิการในบัลแกเรียมาตามกดไลค์ พวกเขาคงอยากออกไปข้างนอกบ้านบ้าง ออกไปเที่ยว ออกไปกินอาหารอร่อยๆ ออกไปธนาคาร ออกไปทำงาน ออกไปใช้ชีวิต และเล็กเป็นตัวอย่างให้พวกเขาเห็นว่า ‘มันเป็นไปได้’

งานวิ่งด้วยกันบัลแกเรียครั้งนี้เป็นครั้งแรก อีว่าและองค์กรผู้สนับสนุนทุกองค์กรตั้งใจจะจัดขึ้นทุกปี อีกทั้งจะชวนเพื่อนประเทศอื่นจัดด้วยเพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างประเทศ โดยในงานวิ่งด้วยกันที่ประเทศไทยปีหน้าก็จะมีตัวแทนคนพิการจากบัลแกเรียมาร่วมวิ่งด้วย

เสียงข้อความและโทรศัพท์ของอีว่ายังคงดังขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างที่ผมนั่งคุยกับเธอ คำขอบคุณ ความประทับใจในงาน และการได้ตระหนักถึงคนพิการ จากนักวิ่งด้วยกันหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย วันนี้คงเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของการสร้างสังคมที่คนพิการและคนไม่พิการสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในดินแดนแห่งโยเกิร์ตและดอกกุหลาบ บัลแกเรีย

note:

บัลแกเรียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในสหภาพยุโรป ค่าครองชีพที่บัลแกเรียแพงกว่าประเทศไทยเล็กน้อย เงินเดือนมาตรฐานของที่นี่อยู่ประมาณ 400 ยูโร (ประมาณ 15,000 บาท) ต่อเดือน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป โซดาขวดพลาสติก 500 มิลลิลิตรที่ไทยขายอยู่ขวดละ 17 บาท ที่นี่ขายอยู่ขวดละประมาณ 1 ยูโร (ประมาณ 38 บาท) นับว่าเป็นประเทศโซนยุโรปที่มาแล้วใช้จ่ายได้อย่างไม่ลำบากใจนัก

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

Daniel Kolev

I love to take pictures of people and their emotions, that makes me inspired. My goal is to show the beauty, grace and strength of the people from different ways and technics angles.