การวิ่งที่สลัดความกลัวออกจากใจของนักวิ่งผู้ดวงตาพิการ ต้อม-พีรพล มหาภาพ

ถ้าเลือกได้ หากวันหนึ่งมีเหตุให้กลายเป็นผู้พิการ เราอยากขอให้ความมืดมิดที่มากลืนดวงตาเป็นสิ่งสุดท้าย เพราะเพียงจินตนาการ โลกก็ตกอยู่ในความกลัว

แต่เมื่อพบ ต้อม-พีรพล มหาภาพ นักวิ่งผู้พิการทางสายตา เรากลับพบความกล้าที่ฉายชัดในตัวเขา ทั้งความกล้าที่จะวิ่งฟูลมาราธอนในชุดแฟนซี ความกล้าที่จะวิ่งเทรล หรือการเต็มที่กับชีวิตในแบบที่คนทั่วไปอย่างเรายังมุดหัวอยู่ในเซฟโซน

สิ่งที่เข้าปะทะเขาคือโลกมืด เล่นงานชายหนุ่มจนแพ้ราบคาบ แต่เมื่อเขากล้าก้าวเท้าออกมาสู่โลกอีกใบได้สำเร็จ มันกลับเป็นโลกสดใสที่สว่างกว่าที่เคยเป็น ความกลัวที่เคยมีวิ่งหนีหายไปไกล

วันที่เราคุยกัน ความมืดในดวงตาไม่ได้บดบังรอยยิ้มของเขาและ อุ้ย-ณภาภัช ยินประโคน ไกด์รันเนอร์ส่วนตัวและคนรู้ใจเลยแม้แต่น้อย ความลับคืออะไร นี่คือคำบอกเล่าจากต้อม

ความมืดเข้าครอบครอง

“ผมเริ่มมองไม่เห็นตั้งแต่ปลายปี 2555” ต้อมเริ่มเรื่องราว “ผมเสียตาซ้ายตั้งแต่เกิดเพราะเกิดก่อนกำหนด อีกข้างก็ไม่สมบูรณ์ ตอนนั้นตัวเขียว ต้องให้ออกซิเจน หมอบอกว่าไม่น่ารอด แต่มันก็รอดมาเป็นปาฏิหาริย์”

เขาใช้ชีวิตเรื่อยมาจนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วจึงมีอาการต้อกระจก รักษาเสร็จสิ้นไม่ทันไรอาการต้อหินก็เข้ามาแทรก และราวกับปาฏิหาริย์ได้หมดลง เขาเป็นต้อหินชนิดเฉียบพลันซึ่งในหนึ่งหมื่นคนจะเจอสักราย โลกที่เคยมองกลายร่างเป็นห้องที่มีควันหนาทึบตลอดเวลา

“ทุกอย่างมันไปหมดเลยนะเวลาใจคนเรามันหมด เรามองมุมลบหมดเลย เราเป็นภาระของทุกคน ต้องมีคนคอยมาดูเรา ป้อนข้าวเรา กินข้าวไปก็ร้องไห้ ตอนนั้นอยู่แต่ในห้อง เครียด เหมือนอยู่รอเวลา ถ้าเราไม่อยู่สักคนจะเป็นยังไง ตอนนั้นเกือบแขวนคอตัวเองแล้ว เรื่องจะได้จบ”

เหตุการณ์ถัดมาคล้ายภาพที่ดวงตาเขามองเห็น ห้องที่มีหมอกควันนั้นไม่ได้มืดสนิทเสียทีเดียว วินาทีนั้นเขาเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ ทำให้ต้อมได้ฟังเรื่องราวของ Nick Vujicic ชายนักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่ปราศจากแขนขา โชคดีที่เสียงนั้นทำให้เขาตัดสินใจไม่หยุดลมหายใจตัวเอง

“เราหยุดแล้วกลับมาดูว่าเราเหลืออะไรบ้าง เปลี่ยนความคิดใหม่ว่าเราทำอะไรได้ ตอนแรกเดินในบ้านยังชนเสา เจ็บมากจนน้ำตาเล็ด เราก็เริ่มเปลี่ยนจากสิ่งนี้ เริ่มออกจากบ้าน เดินไปบ้านข้างๆ เริ่มรู้ว่าเดินไปสามสี่ก้าวจะเจอถังขยะนะ ตอนนั้นก็เริ่มมีความกล้าขึ้นมาและอยากออกไปวิ่ง”

ปัดเป่าเมฆหมอก

ต้อมเริ่มเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตแบบใหม่ เช่น หัดรีดผ้า ใช้ไม้เท้า เรียนคอมพิวเตอร์จนใช้เฟซบุ๊กได้ ทำให้เขาได้รู้จักกับกลุ่ม ‘วิ่งด้วยกัน’ กรุ๊ปที่พาคนตาบอดกับคนตาดีมาวิ่งเป็นเพื่อนกัน จากเคยอยู่บ้านแล้วไม่รู้จะออกกำลังกายอย่างไร กลุ่มนี้ทำให้ ‘ใจ’ ของต้อมกลับมาตื่นเต้นอีกครั้ง ปลายปี 2558 เขาดั้นด้นขึ้นรถเมล์ไปสวนลุมพินีเพื่อไปวิ่ง

“ก่อนสายตาจะเสีย ผมชอบฟุตบอลมาก ตอนเด็กก็ชอบวิ่ง พอมาเจอกลุ่มวิ่งด้วยกัน เราเลยได้มีก้าวแรก แต่ก้าวแรกก็ยาก ไม่รู้ว่าจะวิ่งยังไงเพราะเราเพิ่งมาเป็นคนพิการ ใจนึงก็ดีใจ แต่อีกใจก็ประมาณว่าผ่านไปร้อยเมตร ทำไมมันไกลจังวะ วิ่งก็ไม่เป็น กลัวว่าข้างหน้าจะชนใครไหม แต่สักพักพี่คนที่วิ่งด้วยเริ่มอธิบายว่าเดี๋ยวเราจะผ่านตรงนี้นะ ตรงนี้ทางตรง วิ่งได้สบาย เราเริ่มมั่นใจ ค่อยๆ ปรับตัวเอง อีกอย่างคือวันนั้นผมไม่มีรองเท้าวิ่ง เลยใส่รองเท้าทำงานมาวิ่ง กลับไปนี่ปวดขา เดินแทบไม่ได้ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่เข็ด”

การวิ่งได้ 300 เมตรในวันนั้นอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ไม่ใช่สำหรับเขา

“พอถึงจุดนึงที่เสียใจที่สุดแล้วเราเรียนรู้กับมันได้ เราจะผ่านไปได้หมดเลย เรามี 32 หายไป 1 ก็ยังเหลืออยู่ 31 ชีวิตเราอาจจะเป็นชีวิตในฝันของใครหลายคนก็ได้ เราค่อยๆ ทำเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัวก่อน”

ทำเรื่องเล็กๆ ค่อยๆ ทำ เขาย้ำคำนี้บ่อย

“เราต้องกล้าเปลี่ยนตัวเองด้วย ถ้าใจเราอยาก เราต้องกล้าออกมาเผชิญกับมัน ตอนตาดีผมกลัวการข้ามถนนมากเลยเพราะเคยเห็นคนโดนรถชน แต่พอลองข้ามได้ครึ่งนึง มันก็ไม่น่ากลัวอย่างที่เรากลัวไปก่อน มันเหมือนว่าถ้าเราเดินเข้าไปหา ความกลัวจะเล็กลง”

ฟ้าหลังฝน

การวิ่งของต้อมไม่ได้จบลงตรงนั้น เขาสนุกสนานกับการได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักวิ่งด้วยกัน และไม่ใช่แค่นั้น เขาชักชวนผู้พิการคนอื่นออกมาวิ่งด้วย ทั้งกลุ่มคนตาบอด หูหนวก หรือใช้วีลแชร์ บางคนในนั้นกำลังจะไปไกลถึงมาราธอนแล้ว

ชายหนุ่มเล่าขำๆ ว่าช่วงแรกๆ ใจฮึดสู้กับการวิ่งมากถึงขนาดมานอนรอที่ป้ายรถเมล์ไปงานวิ่งเพราะบ้านไกล แถมพอลงแข่งวิ่งก็ได้ถ้วยเพราะไม่มีคู่แข่ง แต่หลังจากนั้น อุปสรรคที่เขาเจอก็ไม่ต่างจากนักวิ่งทุกคนบนโลก นั่นคือความเหนื่อย ความท้อ

“เราไม่รู้ว่าการวิ่งมันมีเทคนิค มีท่าที่ถูกต้องที่ช่วยเซฟพลังงาน เมื่อก่อนเราก็แค่วิ่งเร็วๆ แต่ทั้งวิ่งเร็วและวิ่งช้ามันมีเทคนิคในตัวเอง มีอะไรให้เรียนรู้ มีครั้งหนึ่งเราบาดเจ็บที่หัวเข่าเพราะไปวิ่งโดยไม่ได้เตรียมตัว ทำให้เกือบเลิกวิ่ง แต่ใจมันยังอยาก ตอนหลังก็สร้างกล้ามเนื้อให้มากขึ้นจนมันไม่เจ็บแล้ว ถ้าเราพยายามทำ เรียนรู้สาเหตุ แล้วค่อยๆ กลับมาลองใหม่ มันจะดีกว่าเดิมจริงๆ”

ครั้งหนึ่งเขากับอุ้ยไปปั่นจักรยานขึ้นเชียงดาว เมื่อต้องเผชิญกับทางที่ต้องปั่นขึ้นอย่างเดียวไม่มีจุดแวะพักเป็นระยะกว่า 6 กิโลเมตร ในขณะที่อุ้ยหมดกำลังใจกับทางชัน ดวงตาที่มองไม่เห็นกลับทำให้เขาไม่ท้อง่ายๆ คอยเป็นคนส่งแรงให้ฝ่ายหญิงที่ปั่นอยู่ด้วยกัน

“ผมบอกอุ้ยอย่าไปมองให้ท้อ ให้มองใกล้ๆ นับ 1-10 หายใจเข้าลึกๆ แล้วค่อยไปเรื่อยๆ ทีละน้อยๆ จนมันผ่านได้ ทุกอย่างเราใช้ใจอย่างเดียวเลย ถ้าใจมันไม่ยอมแล้ว มันจะค่อยๆ ไปได้ถ้าเราไม่ถอดใจเสียก่อน”

ทุกวันนี้เวลาวิ่งเขามองไม่เห็นป้ายกิโลเมตร ชายหนุ่มบอกว่าเป็นข้อดีที่ไม่ต้องมานั่งเครียด แค่วิ่งไปเรื่อยๆ และใช้ความรู้สึก คอยฟังเสียง ถ้ารู้ว่ามีคนกำลังเหนื่อยอยู่ใกล้ๆ เขาจะพูดให้กำลังใจ ปัจจุบันต้อมวิ่งได้ระยะไกลที่สุดคือฮาล์ฟมาราธอนหรือ 21 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ใช้เวลาต่ำกว่า 3 ชั่วโมง

แม้หลังจากนั้นเราจะพยายามถามถึงอุปสรรคการวิ่งอื่นๆ อันเกิดจากการมองไม่เห็น แต่เชื่อไหมว่าทุกเรื่องที่เขาเล่าต่อๆ มา ไม่มีอะไรเข้าข่ายอีกเลย

สายรุ้งพาดผ่าน

ตอนนี้ต้อมและอุ้ยมีแผนจะวิ่งมาราธอนในชุดแฟนซี เปิดประสบการณ์วิ่งเทรลและไตรกีฬา

ชายหนุ่มตอบเต็มปากเต็มคำว่าอยากทำอะไรที่ไม่มีคนทำ ตอนนี้เขาหลงรักความท้าทายและความเร็ว ชีวิตช่วงนี้มีอะไรใหม่ๆ เข้ามามากมาย ผิดกับตอนที่ยังมองเห็น หนึ่งในกิจกรรมใหม่คืองานอาสา เขาทำสมุดทำมือขายรวบรวมเงินไปมอบให้ครูดินทำประโยชน์ ร่วมสร้างห้องน้ำให้ผู้สูงอายุ ทำวีลแชร์ให้สุนัข ไปทาสีโรงพยาบาลมะเร็ง ต้อมบอกง่ายๆ ว่าทำไปเพราะอยากให้โลกนี้มีรอยยิ้มมากขึ้น

และทั้งหมดนี้เกิดจากการวิ่งที่ให้ ‘ก้าวแรก’ กับเขา

“การวิ่งเติมสิ่งที่เราขาด ตอนแรกแค่หยิบรองเท้ามันก็ยากแล้ว แต่พอเรากล้าหยิบ มันจะเปลี่ยนเลย เราเปลี่ยนไปเยอะ มีคนรู้จักเยอะขึ้น มีอะไรทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ลืมความทุกข์ไปหมดเลย มันให้แง่คิดกับชีวิต พอเจอคนที่ไม่เคยออกจากบ้าน ผมจะบอกว่า ให้ลองมองเหมือนมีลำธารอยู่หน้าเรา เราจะเดินลุยไป อ้อมไป นั่งรถไป หรือเอาท่อนไม้เป็นสะพาน มันก็ไปถึงจุดนั้นได้เหมือนกัน ขอแค่เราตั้งจุดหมายไว้ก่อน การไปวิ่งแต่ละที่มันเหมือนการชนะตัวเองว่าเราได้ไปถึงจุดนี้แล้วนะ”

ยังเหลือความกลัวอะไรในชีวิตอยู่ไหม เราเอ่ยถาม

“ไม่ค่อยเหลือแล้วนะ” เขาตอบ “พอมีความกลัวหรือความทุกข์เข้ามา เราเรียนรู้มัน หายใจเข้าแล้วปล่อยทิ้ง บอกตัวเองว่าเอาใหม่ ถึงจะยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ตั้งใจ แต่มันจะมีอย่างนึงที่ทำแล้วได้คะแนนที่ตั้งใจไว้เกินครึ่ง เราก็เอาวะ มันได้ขนาดนี้ก็ดี ให้กำลังใจตัวเอง หลังจากมองไม่เห็น เราได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้มองโลกในมุมที่ไม่เคยมองเห็น เจอเรื่องขำๆ ที่ถ้าตาดีคงไม่เจอ นอกจากนี้เราก็ใจเย็นลง เห็นใจคนอื่นมากขึ้น ชีวิตมีค่าขึ้น”

คุณเป็นคนเข้มแข็งมาก นี่คือประโยคสุดท้ายที่เราอยากบอกเขา ต้อมฟังแล้วแย้มยิ้มเช่นเคย

“คนเข้มแข็งก็เคยผ่านความอ่อนแอมากๆ มาก่อนนะ” เขาอมยิ้มใต้แว่นกันแดด “ประสบการณ์จะสอนให้เราเรียนรู้ เมื่อก่อนเราเสียใจได้ทุกเรื่องเลย แต่ตอนนี้เรามองว่า ความเสียใจมันก็แค่นี้เอง แค่เราอึดอีกนิดเดียว เราจะผ่านได้ ชีวิตคนเราก็เท่านี้แหละ ไม่ว่าเรื่องร้ายอะไรเข้ามา เราจะปรับได้ เสียใจแค่ไหนก็จะไม่คิดไปถึงการฆ่าตัวตายแล้ว มันแข็งแกร่งขึ้นแล้ว

“ชีวิตเหมือนน้ำทะเล มีขึ้นมีลง เดี๋ยวมันก็วนกลับมา เราแค่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ถ้าใจคุณไป จุดหมายก็อยู่ข้างหน้าแล้ว”

ภาพ พชรธร อุบลจิตต์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พชรธร อุบลจิตต์

เป็นช่างภาพที่เรียนการเมืองแต่ชอบเดินทางเป็นอาชีพแถมยังชอบทำขนมเป็นงานอดิเรก กำลังเก็บเงินไปเอเวอเรสต์และซื้อตู้เย็น