An Atomic Experience : ธรรมชาติและความช่างคิดของชาวเมืองฮิโรชิมะ

1

“คนญี่ปุ่นตอนนี้มีฟันผุเฉลี่ยอยู่ที่คนละซี่เดียวเท่านั้น” ศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

“จะเว้นก็แต่โอกินาวะเท่านั้น…สงสัยเพราะอยู่ติดกับไต้หวัน จึงยังมีปัญหาฟันผุอยู่” อุบ๊ะ ผมอมยิ้มและจดประโยคที่ฟังดูอุกอาจไม่ใช่เล่นนั้นลงสมุดบันทึกเล่มเล็ก ขณะนั่งฟังการปฐมนิเทศร่วมกับนักศึกษาอีก 4 ชาติ (ใช่ครับ มีไต้หวันด้วย) ทั้งหมด 17 ชีวิต

ช่วงนั้นผมเป็นนิสิตทันตแพทย์คนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นกับมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะ เพื่อเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความเจ๋งอยู่ที่ผู้สมัครจะได้เงินสนับสนุนจากองค์กรส่งเสริมการศึกษาที่มีชื่อว่า Japan Students Services Organization เรียกสั้นๆ ว่า JASSO ได้เปิดโลกในแง่ความรู้ตามสายงานโดยเฉพาะ และที่สำคัญ มีลุ้นได้เที่ยวแบบเอ็กซ์คลูซีฟ มีไกด์พื้นเมืองอยู่ข้างกายด้วย

10 วันคือระยะเวลาของโครงการ สำหรับผมแล้วมันเป็นการขยายสมองและความความคิดชนิดเกินคาด

2

ผมได้สัมผัสกับความช่างคิดและเอาใจใส่จากการทัศนศึกษาชมโรงพยาบาลและการเรียนการสอน ผมมีเรื่องจะมาเล่าให้ฟังครับ

กายวิภาคศาสตร์ไม่ใช่เรื่องหมูๆ ยกตัวอย่างเช่น บริเวณใบหน้าที่มีระบบกล้ามเนื้อที่เล็กและซับซ้อน ศาสตราจารย์ทากะฮิโระ ซาโทดะ อาจารย์ประจำวิชากายวิภาคศาสตร์ (Gross Anatomy) ของภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปาก (Oral Health Science) ของมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะ จึงคิดประดิษฐ์โมเดลขยับได้ขนาดใหญ่กว่าของจริงจากโครงลวดหุ้มด้วยผ้าสีแยกตามชื่อกล้ามเนื้อ เพื่อให้เข้าใจและจดจำกล้ามเนื้อง่ายขึ้น

ทุกคนต้องรักษาฟัน เด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ด้วย หลายโรคของเด็กที่พิการทางสมอง การควบคุมอารมณ์ไม่ให้เด็กตื่นตกใจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเกิดเด็กตื่นตระหนกขึ้นมาแล้ว การตอบสนองจะสุดโต่งกว่าเด็กทั่วไป โรงพยาบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการแปะรูปหมอทั้งก่อนและหลังใส่หน้ากากกันเชื้อโรค ให้เด็กดูจนจำได้ว่าเขาคือคนคนเดียวกัน ถ้าจนแล้วจนรอดหากเกิดผิดพลาด เด็กอาละวาดลุกจากเตียงทำฟันวิ่งหนีออกไปขึ้นมา ทางนี้ก็มีมาตรการเด็ดคือ สร้างกับดักทางจิตใจ โดยทำปุ่ม ‘open’ หลอกๆ ไว้ให้เด็กกด (ที่จริงแล้วมันคือประตูเลื่อนเซนเซอร์ที่ต้องเอามืออังให้เปิดออก) เด็กที่กำลังแพนิกก็จะกดปุ่มเปิดประตูย้ำๆ ไม่เข้าใจ ทำไมไม่เปิดสักที จนโดนพี่พยาบาลจับไว้ได้ทัน

สองเรื่องราวนี้นำเสนอตัวอย่างของการ ‘คิดเยอะ ทำน้อย แต่ได้ผลมหาศาล’ ได้อย่างน่าประทับใจ

3

ผมได้ประสบกับซากโศกนาฏกรรมที่โหดร้าย และมิติใหม่ของการลุกขึ้นก้าวต่อ

เมื่อไรก็ตามที่มีข่าวโครงการทดลองระเบิดปรมาณูขึ้น นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมะจะร่างและส่งจดหมายไปคัดค้าน ในฐานะที่เมืองนี้เป็นศิษย์เก่ารุ่นแรกของโลกที่เป็นสมาชิกผู้ประสบภัยจากอาวุธที่คำว่าโหดเหี้ยมยังน้อยไป ลูกไฟขนาดยักษ์ที่เผาไหม้ทุกโครงสร้าง แรงอัดอากาศที่แรงพอที่จะเผลาะลูกตาและกัมมันตรังสีที่กัดกร่อนกลืนกินชีวิตนับไม่ถ้วน ไม่ว่าใครก็ไม่อยากที่จะเป็นสมาชิกรายต่อไป ฮิโรชิมะเองก็คงไม่ต้องการรุ่นน้อง

ด้วยสถานะทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน ทำให้จังหวัดนี้กลายเป็นศูนย์กลางสันติภาพโลก นอกจากการเคลื่อนไหวที่มีอย่างสม่ำเสมอ ทุกวันที่ 6 สิงหาคมจะมีการรำลึกเหตุการณ์ ผ่านการจัดแสดงโอริซุรุ (Orizuru) หรือนกกระเรียนกระดาษ และการลอยโคมในแม่น้ำโอตะ ที่ไหลตัดผ่านจุดศูนย์กลางการเกิดเหตุเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ

4

ผมได้ชื่นชมความสวยงามที่เกิดจากทีมเวิร์กของมนุษย์และธรรมชาติ

เสาโทะริอิของศาลเจ้าอิสึกุชิมะที่เกาะมิยาจิมะ สีแดงส้มสดตัดกับพื้นเมฆสีขาวอมเทาและผืนเขาสีเขียวแก่ เป็นเวลาเกิน 300 ปีที่ทิวทัศน์ถูกแต่งแต้มอย่างสร้างสรรค์ผ่านแรงดึงดูดของดวงจันทร์ ระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน ตั้งแต่การจมอยู่ใต้ผิวน้ำของโคนเสาในช่วงเช้าบ่าย จนถึงช่วงเย็นค่ำที่น้ำลดจนสามารถเดินเข้าไปดูในระยะใกล้ได้ ทั้งหมดล้วนแสดงถึงความยิ่งใหญ่และสวยงามมีไดนามิก คู่ควรกับที่ฮายาชิ กาโฮ ปราชญ์ลัทธิขงจื๊อของญี่ปุ่นในสมัยเอโดะยกให้เป็นหนึ่งในสามของทิวทัศน์สุดลือชาแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย

สถาปัตยกรรมร่วมสมัย หน้าตาน่ามองก็มีให้ชมได้ที่เมืองแห่งน้ำนี้อย่างไม่น้อยหน้า ดังเช่น Hiroshima City Museum of Contemporary Art พิพิธภัณฑ์ศิลปะซึ่งมีโครงสร้างเป็นหิน กระเบื้องและอะลูมิเนียมสุดล้ำสมัย แต่กลับตั้งอยู่บนยอดเขากลางป่า หรือโรงเผาขยะ Naka Incineration Plant ที่ออกแบบโดยโยชิโอะ ทานิกุชิ สถาปนิกที่โด่งดังจากการออกแบบพิพิธภัณฑ์ MoMA ที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นโรงเผาขยะสุดอันซีนและสะอาดตาที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมภายใต้แนวคิด ‘ให้มาเห็นว่าเราทำกันอย่างไร จะได้มีใจกลับไปช่วยเหลือ’

5

“All the memories created here are not just ten days, but further more than that. It’s widen you inside. To learn and to be learned.” เพื่อนชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งได้เขียนลงในแบบสอบถามความพอใจ ประโยคเหล่านี้สรุปความรู้สึกที่ผมมีได้ครบครัน ตรงประเด็น จนอยากจะฮัมเพลง ‘นับเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุด แม้เป็นแค่เพียงเวลาสั้นๆ’ (เอื้อนเสียงหลบ) อีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับและให้ก็คือมิตรภาพเล็กๆ ระหว่างเพื่อนต่างชาติ เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ลองเข้าใจธรรมชาติของอีกฝ่าย แบ่งปันไฟฝันและความมุ่งมั่นในชีวิต ไม่เว้นแม้แต่กับชาวไทย (เพื่อน น้องต่างมหาวิทยาลัย และรุ่นพี่ที่มาเรียนต่อที่นี่พอดี) ด้วยกัน แต่ละห้วงประเด็นของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นถูกหยิบยกออกมาใช้ได้ในหลายโอกาส หลากรูปแบบ รอบแล้วรอบเล่า

6

นอกจากจะเป็นเมืองแห่งสันติภาพแล้ว ฮิโรชิมะยังควบตำแหน่งตัวแทนแห่ง ‘ความหวัง’ ไว้ด้วย

นักวิชาการในสมัยสงครามโลกเชื่อกันว่า เป็นเวลาอย่างน้อย 75 ปี พื้นที่ที่ถูกทิ้งระเบิดปรมาณูจะไม่มีต้นกล้างอกออกมาให้เห็นแม้แต่ต้นเดียว ณ ขณะนี้ เวลาผ่านไปยังไม่ครบ 72 ปีด้วยซ้ำ ผมหลับตาลงและเห็นภาพใบเมเปิลสีแดง ร่วงลงสู่พื้นหญ้าที่โปรยไปด้วยใบแปะก๊วยสีเหลืองสด เงี่ยหูฟังเสียงนกร้องในช่วงเวลาโพล้เพล้ น้ำลายสอเพราะกลิ่นหอมของโอโคะโนมิยากิที่ทอดกำลังได้ที่ ขนลุกจนอยากหาเสื้ออุ่นๆ มาใส่กันลมเย็นที่พัดมาไล้ผิวในขณะที่เดินซื้อของสลับกับยืนชมนักดนตรีเปิดหมวกในถนนฮนโดะริ

เมื่อไรที่อ่อนล้า หมดหวัง ร่างกายและจิตใจแตกสลายไม่มีแรงแม้แต่หวังจะผลิต้นกล้าขึ้นเริ่มต้นใหม่ ให้นึกถึงฮิโรชิมะ

ไม่ว่าจะอย่างไร ไฟในสวนอนุสรณ์ฯ ที่นี่จะยังคงอยู่เสมอ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Hiroshima University, ผศ.ดร.ทพ.อชิรวุธ สุพรรณเภสัช, gethiroshima.com, en.unesco.org

ภาพ ศิลป์ ชินศิรประภา, ธนทร อัศวพลังพรหม และ Chin Hung-Liang

ใครอยากส่งเรื่องสถานที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR