วันที่ผมเกิดคำถามกับความภูมิใจในอาชีพทันตแพทย์

รู้จัก ‘What if game’ กันไหมครับ มันคือเกมที่กระตุ้นให้เราคิดถึงความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าความจริงบางอย่างถูกเปลี่ยน ส่วนใหญ่ระหว่างเดินเล่น ผมมักจะชอบใช้เป็นหัวข้อสนทนาไว้คุยเล่นกับเพื่อน ซึ่งบางครั้งก็จะได้ประเด็นน่าสนใจกลับมาคิดต่อ หนึ่งในนั้นคือคำถามที่ว่า ‘ถ้าหากสังคมเราตกอยู่ในสภาวะวิกฤต เช่น มีภัยพิบัติหรือสงครามเกิดขึ้น อาชีพของเราจะมีส่วนสำคัญในการทำอะไรได้บ้าง’ ปรากฏว่านอกจากการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ แล้ว หมอฟันเป็นศาสตร์ที่คาบเกี่ยวระหว่างการรักษาที่จำเป็นกับความสวยงามที่ฟุ่มเฟือย เราเลยคิดกันไม่ค่อยจะออก พานทำให้ความภูมิใจในวิชาชีพนี้ลดลงไปด้วย

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ผมทำงานเป็นทันตแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่ต่างจังหวัด และมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพที่มหาวิทยาลัยมหิดล การบรรยายของอาจารย์ท่านหนึ่งสะดุดใจผม ในสไลด์แรกฉายรูปของ นิค วูจิซิค (Nick Vujicic) ชายที่มีโรคทางพันธุกรรมทำให้พิการทางแขนและขาทั้งสี่ข้าง ซึ่งปัจจุบันเขาได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก

“คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน บางทีเขาเลือกไม่ได้ ผมอยากจะให้ทุกคนลองคำนึงว่า ในฐานะของหมอฟันทั่วไป เราสามารถที่จะช่วยอะไรเขาได้บ้าง” อาจารย์เกริ่นด้วยใจความนี้ ก่อนจะเสนอเคสคนไข้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมร่วมกับปัญหาทางช่องปากให้พวกเราได้เรียนรู้

มีเคสหนึ่งที่ผมประทับใจมากที่สุด เธอเป็นหญิงไทยอายุราว 30 ปีที่ทรมานจากโรคที่พบได้ยากชื่อว่า Epidermolysis bullosa (อีพิเดอโมไลสิส บูโลซ่า) คือมีความผิดปกติที่โปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ในการยึดชั้นของผนังเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะผิวหนังอ่อนแอ มักเกิดตุ่มน้ำอักเสบ ฉีกขาดเป็นแผลง่าย มีการรัดตึงของช่องปาก ข้อ หลอดอาหาร ที่ร้ายแรงที่สุดคือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง แต่เนื่องจากไม่ใช่โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ (ถึงจะดูคล้าย) จึงไม่มีทางแพร่ไปให้ผู้อื่นทางการสัมผัสได้

อาจเพราะอินเนอร์จากการเป็นหมอเฉพาะทางเด็กของอาจารย์ บวกกับความแกร่งของคนไข้ ไม่นานคนไข้คนนั้นก็เปิดใจและเล่าเรื่องราวของเธอให้อาจารย์ได้รับรู้ว่าเธอได้ผ่านชีวิตที่ยากลำบาก ตอนเด็กก็โดนแบน ไม่มีเพื่อน พอโตมาหน่อยก็โดนล้อว่าเป็นเอดส์ ถูกรังแกหนักเข้าจนสุดท้ายต้องออกจากโรงเรียน ทุกวันนี้ไปซื้อของที่ตลาด หยิบจับเสื้อผ้าแม่ค้าก็ไล่

“แล้วมาทำฟันเนี่ย ถามจริง อยากมีแฟนรึเปล่า” อาจารย์ถามเธอแบบทีเล่นทีจริง

“โหย คุณหมอขา หน้าตาอย่างหนู ใครเขาจะเอา”

สำหรับปัญหาในช่องปากของเธอก็ถือว่ารุนแรงไม่แพ้กัน ฟันเกือบทุกซี่สึกกร่อนไปจนแทบเป็นเหงือกชนกับเหงือก บางซี่ติดเชื้อที่ปลายราก ทำให้เจ็บเวลาทานอาหาร แต่อาจารย์ก็ยืนยันที่จะเดินหน้าทำการรักษาต่อ ด้วยศักยภาพที่หมอเด็กคนหนึ่งพึงมี ทยอยถอนฟันที่เก็บไม่ได้ ทำครอบฟันโลหะไร้สนิม อุดฟันหน้า และทำฟันปลอมให้กับเธอ ทุกครั้งที่ทำการรักษา เธอต้องเดินทางขึ้นลงมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์กับคุณพ่อซึ่งเป็นผู้ดูแล อาจารย์เองก็จะพยายามทำให้การรักษาแต่ละครั้งก้าวหน้าและได้ประโยชน์สูงสุด

นับเป็นเรื่องน่ายินดีและโชคดีมากที่การรักษาออกมาเป็นที่น่าพอใจ และค่ารักษาก็ได้มูลนิธิอาสาอนามัยชนบทในพระบรมราชูปถัมภ์ตามมาจ่ายให้ทั้งหมด ปัญหารายทาง เช่น ความเจ็บปวดและแผลที่เกิดขึ้นระหว่างทำฟัน การหลุดของวัสดุอุด และการถอดใส่ฟันปลอม (เพราะคนไข้ไม่มีเล็บ! จึงแก้เกมด้วยการดัดแปลงไม้จิ้มฟันสองอันมาเป็นเครื่องมือ ไอเดียนี้มาจากนักศึกษาทันตแพทย์ที่อาจารย์รู้สึกขอบคุณและชื่นชมมาก) ก็ถูกทยอยแก้ไปได้อย่างราบรื่น

“A just fair treatment sometimes yields better results than expected”

อาจารย์ทิ้งท้ายไว้ว่า

“อยากฝากให้ทันตแพทย์รุ่นใหม่ อย่าเพิ่งตกใจกับเคสที่ดูเหมือนจะยากเกินความสามารถของเรา ให้เราค่อยๆ คิดว่าทำอะไรให้เขาได้บ้าง เพราะที่จริงแล้ว การรักษาที่ดีพอใช้ก็สร้างผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดจนเปลี่ยนชีวิตคนทั้งคนได้

“เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่ดีกว่านั้นคือการทำอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และเป็นประโยชน์กับสิ่งใกล้ตัว”

หลังการบรรยายจบลง ผมนึกถึง ‘What if game’ และถามมันกับตัวเองอีกครั้ง ถ้าทุกคนทำงานไปพร้อมกับความตั้งใจ มุ่งมั่นจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้ว่าสังคมจะตกอยู่ในภาวะวิกฤต การรักษาฟันของเราอาจจะเป็นเรื่องดีเล็กๆ ที่ทำให้ชีวิตของคนทั้งคนมีความสุขมากขึ้นก็ได้

เหตุการณ์ในวันนั้นล่ะครับ ที่ทำให้ผมภูมิใจในวิชาชีพนี้มากขึ้นอีกครั้ง

ขอขอบคุณ ผศ.ดร.ทพ. พรพจน์ เฟื่องธารทิพย์ ภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง มหาวิทยาลัยมหิดล

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรค Epidermolysis bullosa และบริจาคสนับสนุนงานวิจัยเพื่อการรักษาได้ที่ debra-international.org

ใครอยากเล่าเรื่องวันเปลี่ยนชีวิตของตัวเองบ้าง คลิกที่นี่เลย

AUTHOR