หมู่บ้านหินลาดใน : ทริปเรียนรู้วิถีถ้อยทีถ้อยอาศัยในหมู่บ้านเล็กกลางป่าใหญ่ของชาวปกาเกอะญอ

ออกตัวก่อนว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามาเยือนหมู่บ้านกลางป่าลึกแห่งนี้

หนึ่งปีก่อน ระหว่างกำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหารและธรรมชาติ เราเคยมาใช้เวลาที่หมู่บ้านหินลาดในแล้วครั้งหนึ่ง คราวนั้นเป็นทริประยะสั้นที่เครือข่ายคนรักอาหาร Slow Food Youth Network Thailand จัดขึ้นเพื่อพาคนนอกอย่างเราเข้าไปเรียนรู้เรื่องป่าและไร่หมุนเวียนจากปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ

หลังการเดินทางครั้งนั้น ชื่อของหมู่บ้านหินลาดในก็ถูกเล่าปากต่อปาก ผ่านสื่อบ้าง ผ่านคนในแวดวงต่างๆ บ้าง ถึงเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ การรักษาป่า และวิถีชีวิตเรียบง่ายแต่แฝงด้วยปรัชญาของชาวปกาเกอะญอ แถมบางครั้งเรายังได้ยินเชฟจากร้านดังหลายคนพูดไปในทางเดียวกันว่า การมาเยือนหมู่บ้านนี้คือจุดเปลี่ยนชีวิต ชนิดพลิกความคิดและรสชาติอาหารของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง

หนึ่งปีถัดมา เราตัดสินใจกลับมาหาป่าแห่งนี้อีกครั้งกับทริปที่จั่วหัวว่าเป็น ‘ภาคต่อ’ ของทริปก่อนหน้า ที่นอกจากบทเรียนเรื่องไร่หมุนเวียนแล้ว ผู้ร่วมเดินเท้าเข้าป่ายังจะได้ลิ้มลองเมนูฝีมือกลุ่มเชฟผู้รักอาหารและธรรมชาติที่รวมตัวกันในชื่อ ‘ฅนครัวพวกนั้น (The fucking chef)’ ซึ่งจะหยิบวัตถุดิบจากป่ารอบๆ หมู่บ้านหินลาดในมาปรุงอย่างใส่ใจเพื่อเล่าความเป็นไปของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า ด้วยหลักการปรุงเรียบง่ายที่ว่า

‘ให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ’


Day 1

สายวันนั้นหมอกหนาลอยเรี่ยพื้นถนนจนทำใจเราเต้นตึกตัก ด้วยหมู่บ้านหินลาดในนั้นปรากฏกายอยู่กลางหุบเขาของอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ราวสองชั่วโมง การมาเยือนหมู่บ้านนี้จึงต้องอาศัยทั้งความชำนาญของคนขับรถและความไว้ใจของผู้โดยสารอยู่พอสมควร

พ้นจากถนนใหญ่ได้ไม่ถึงยี่สิบนาที เราและผู้ร่วมทริปอีกนับสิบชีวิตก็เดินทางถึงหมู่บ้านหินลาดในโดยสวัสดิภาพ เสียงธารน้ำใสที่ไหลพาดกลางหมู่บ้านเรียกความสดชื่นได้ตั้งแต่วินาทีแรกหลังก้าวลงจากรถ ต้นไม้ใหญ่ที่เราเคยพบเมื่อปีก่อนยังยืนต้นล้อมหมู่บ้านไว้ที่เดิม เพิ่มเติมคือไอชื้นในอากาศช่วงปลายฝนต้นหนาวที่ช่วยสลัดความง่วงงุนในตัวออกไปได้เป็นปลิดทิ้ง

ไม่กี่อึดใจจากนั้น เราก็พบ จั๊มพ์-ณัฐดนัย ตระการศุภกร ลูกหลานชาวปกาเกอะญอรุ่นราวคราวเดียวกัน ผู้เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของทริป (และเป็นเจ้าของแบรนด์น้ำผึ้งป่าที่เรารักอย่าง HOSTBEEHIVE) เมื่อทักทายกันเสร็จสรรพ จั๊มพ์ก็กำชับว่าใกล้ถึงเวลามื้อกลางวัน และนั่นก็เป็นมื้อแรกแห่งความประทับใจ อาหารของกลุ่มเยาวชนหินลาดในผู้รับหน้าที่โชว์ฝีมือนั้นน่าหลงใหลมากสำหรับเรา

หลังจบมื้อเที่ยง กิจกรรมของยามบ่ายนั้นก็เริ่มขึ้น

ผู้ร่วมทริปถูกย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม เหล่าเชฟที่ขึ้นมาเตรียมงานกันตั้งแต่คืนวานและวิทยากรชาวปกาเกอะญอแยกตัวออกมาประจำแต่ละกลุ่ม ตัวเราพลัดมาอยู่กลุ่มเดียวกับ เชฟแวน-เฉลิมพล โรหิตรัตนะ เชฟใหญ่แห่งร้านราบ และ พ่อหลวงชัยประเสริฐ โพคะ ปราชญ์ผู้นำชุมชนหินลาดใน ผู้มีรอยยิ้มละไมติดอยู่ในความทรงจำของเราตั้งแต่ครั้งก่อน

“ยินดีต้อนรับทุกคน สำหรับใครที่เคยมาแล้ว ก็ขอต้อนรับกลับบ้าน” พ่อหลวงกล่าวทักทายด้วยน้ำเสียงอบอุ่น ก่อนพาคณะเดินลัดเลาะเลยเข้าไปในพงไพรท้ายหมู่บ้าน เพื่อพบกับป่าวนเกษตรอายุหลายสิบปีที่โอบล้อมชุมชนแห่งนี้ไว้จากความวุ่นวาย

Why Forests Matter

“อาหารในป่ามีมหาศาลถ้าเรากินเป็น และอาหารก็คือยา”

พ่อหลวงเกริ่นขณะหยุดยืนอยู่ตรงพุ่มไม้แปลกตาตรงหน้าเรา ก่อนอธิบายถึงป่าวนเกษตรว่าเป็นลูกผสมระหว่างไม้ป่าและไม้ปลูก มีทั้งพืชพันธุ์หายาก และไม้สร้างรายได้อย่างชา กาแฟ นับเป็นพื้นที่สร้างอาหารและสร้างรายได้ให้ชุมชนที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ พูดง่ายๆ ว่าลองเดินเข้าป่านี้สักสิบนาที ก็จะกลับออกมาพร้อมวัตถุดิบดีๆ เต็มไม้เต็มมือ “ถ้าอยากรู้ว่าต้นไหนเป็นยา ให้ดูว่าใบมันออกคู่ขนานกันหรือเปล่า” พ่อหลวงว่า ทำให้เรากล้าที่จะหยิบสักใบใกล้มือส่งเข้าปาก

“แต่บางต้นก็ยาพิษ” เสียงหัวเราะลั่นหลังจบประโยคทำเอาเราชะงักเพราะชักหวั่นกับความอันตรายของผลหมากรากไม้แปลกหน้าในป่าที่เพิ่งรู้จัก

ก้าวต่อก้าวสาวเดินตามพ่อหลวงไปติดๆ ระหว่างทางร่วมกิโลเมตร พ่อหลวงหยุดเป็นระยะเพื่อทักทายและอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวปกาเกอะญอกับป่า ผ่านต้นไม้แปลกหน้าที่เราไม่รู้ว่าชื่ออะไร

“รสชาติของอาหารในป่าก็มาจากดินจากน้ำ”

พ่อหลวงยกตัวอย่างมะนาวในป่าหินลาดในที่มีรสชาติอมเปรี้ยวอมหวานแตกต่างจากมะนาวดินแดนไหนที่เราเคยได้ชิม “ดินที่นี่เป็นกรดอ่อนๆ ส่วนน้ำก็บริสุทธิ์มาก พืชพันธุ์มีหลากหลายเติบโตอยู่ร่วมกัน” นั่นทำให้น้ำผึ้งจากป่าแห่งนี้มีรสชาติซับซ้อน ทั้งเปรี้ยว ขม หวาน ผสมผสานกันขึ้นจากเกสรดอกไม้นานา แล้วแต่ว่าธรรมชาติให้อะไรมาในปีนั้น

ลึกเข้าไป เราพบไม้ยืนต้นขนาดหลายคนโอบตระหง่านคอยอยู่ตรงปลายทาง แตกต่างจากไม้พุ่มและไม้ต้นย่อมๆ ซึ่งเรียงรายอยู่ตามรายทางที่ผ่านมา “เมื่อก่อนป่าตรงนี้ได้รับสัมปทาน ถูกตัดจนโล่ง มีก็ต้นนี้ที่อยู่ลึกหน่อยเลยรอดมาได้” และคนซ่อมแซมป่าให้กลับมาชอุ่มก็ไม่ใช่ใคร นอกจากชาวบ้านผู้พึ่งพาอาศัยป่ามาแต่เดิม เรียกว่าป่าให้อาหาร ให้ยา คนก็ให้การดูแลรักษาป่า เป็นเหตุผลว่าทำไมคนถึงอยู่กับป่าได้ และอยู่ได้อย่างกลมกลืนและมีความสำคัญเสียด้วย


Day 2

กิจกรรมวันแรกจบลงพร้อมมื้อใหญ่ที่เหล่าเชฟพร้อมใจกันปรุง จากหมูหนึ่งตัวแยกชิ้นส่วนแล้วรมควันเก็บไว้บ้าง บางส่วนนำมาสับใส่สมุนไพรต้มตุ๋นจนได้รสชาติใหม่หอมขึ้นจมูก และกลายเป็นอีกหลายสำรับที่เราไม่อาจล่วงรู้เคล็ดลับความอร่อย เพราะเชฟใช้รสชาติวัตถุดิบเป็นตัวตั้งในการปรุง จากนั้นก็เติมนั่นนิด เติมนี่หน่อย จนได้ความอร่อยอย่างในจินตนาการ เรียกว่าเป็นมื้อเปิดประสบการณ์ของเราเลยก็ว่าได้

เช้าถัดมา เราถึงรู้ว่าวิธีปรุงดังกล่าวคือสิ่งที่เราต้องเอามาปรับใช้ในการปรุงอาหารของตัวเองด้วยเหมือนกัน เพราะกิจกรรมหลักของวันนั้นคือการ ‘เก็บของจากไร่มาปรุงเป็นมื้อกลางวัน’ ทำเอาเราหันไปถามเพื่อนร่วมทางว่าแล้วปรุงกันตรงไหน และเขาก็หันมาตอบราวกับไม่มีอะไรน่าแปลกใจ

“ก็ปรุงกันในไร่นั่นแหละ”

Taste of the Place

จากตัวหมู่บ้านหินลาดใน ใช้เวลาเดินเท้าลัดเลาะไหล่เขาขึ้นๆ ลงๆ เกือบหนึ่งชั่วโมง เราก็พบกับไร่โล่งเตียนผืนใหญ่อันเป็นอาณาบริเวณของ ‘ไร่หมุนเวียน’ พื้นที่ทำการเกษตรของชาวปกาเกอะญอ

แนะนำอย่างรวบรัด ไร่หมุนเวียนเป็นวิถีการทำกินของชาวชนเผ่าผู้อาศัยในที่ราบสูง ด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็นหลายๆ แปลง แล้วเวียนทำไร่ไปทีละแปลง แปลงละหนึ่งปี เพื่อพักดินในแปลงที่ใช้เพาะปลูกมาทั้งปีให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม ก่อนจะกลับมาบรรจบยังแปลงแรกอีกครั้งในอีก 7 – 8 ปีถัดมา

ไร่หมุนเวียนยังเป็นการทำเกษตรที่คิดถึงความสมดุลเป็นหลัก สมดุลแรกคือสมดุลในการเพาะปลูก เพราะพืชพันธุ์ที่คละเคล้ากันอยู่ในไร่ มีทั้งข้าวและผักที่ปลูกแซมไว้เป็นอาหาร ไม่ว่าจะมะเขือ แตง พริก เผือก สมุนไพร ที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันผลิดอกออกผลตลอดทั้งปี

สมดุลถัดมาคือสมดุลระหว่างป่าและพื้นที่ทำกิน เป็นเหตุผลว่าทำไมไร่หมุนเวียนถึงไม่เท่ากับ ‘ไร่เลื่อนลอย’ ที่เราร่ำเรียนกันมาสมัยเด็กว่า ‘ชาวเขาบุกรุกถางป่า ทำไร่ไปเรื่อยๆ’ เพราะจริงๆ แล้วชาวปกาเกอะญอจำกัดพื้นที่ทำกินไว้อย่างเป็นหลักแหล่ง ส่วนป่ารอบๆ ก็ถูกดูแลอย่างดีเพื่อให้เอื้อต่อระบบนิเวศภายในไร่ เป็นวิถีพึ่งพาอาศัยที่คนนอกอาจไม่เข้าใจถ้าไม่มาเห็น

หลังนั่งพักตรงกระท่อมเล็กๆ จนหายเหนื่อย เราก็ถูกสั่งการบ้านให้ไปหาวัตถุดิบจากในไร่มาใช้ทำอาหาร ตอนแรกบอกตรงๆ ว่าความโล่งของไร่ช่วงต้นหนาวทำเอาหวั่นใจว่าจะมีอะไรให้กินบ้าง แต่ดุ่มเดินได้ไม่กี่นาทีก็ได้ทั้งเผือก มัน พริก มะเขือ และสมุนไพรดอยกลิ่นคล้ายแมงลักผสมโหระพาชื่อ ‘ฮ่อวอ’ กลับมาเต็มสองมือ ยิ่งพอทุกคนนำวัตถุดิบมารวมกันแล้วก็กลายเป็นพอกินเหลือเฟือ

เชฟแวน หัวหน้าแก๊งทำอาหารของกลุ่มเรากับเพื่อนเชฟอีก 2 -3 คนเริ่มลงมือปรุงอาหารอย่างไม่รอช้า เผือก มัน และสมุนไพรในไร่ถูกจับมาสับหั่น ปรุงใส่น้ำปลาร้าสูตรที่เชฟแวนปรุงมาจากครัวตัวเอง และใส่สมุนไพรอีกหลายชนิด แล้วทำการ ‘หลาม’ ด้วยการใส่เผือกมันที่ปรุงรสแล้วลงในกระบอกไม้ไผ่ลำใหญ่ แล้วนำไปอิงกับกองไฟจนข้างในสุกดี

ไม่นานมื้อกลางวันของเราก็เรียบร้อย นอกจากหลามเผือก ก็มีหมกเห็ดฝีมือทีมงานชาวปกาเกอะญอ มีแกงรสร้อนอุดมด้วยผักในไร่ฝีมือพ่อหลวง (อร่อยมาก!) ปิดท้ายด้วยหมูทอดที่เหล่าเชฟพกติดกันมาเผื่อเหตุสุดวิสัย แค่ได้ข้าวไร่หุงร่วนๆ คนละห่อ เท่านี้ก็กลายเป็นมื้อกลางวันอันสมบูรณ์

“เมื่อก่อนเราไม่กล้าพูดเลยนะว่าอะไรอร่อยหรือไม่อร่อย” เชฟแวนบอกพวกเราเมื่อจบมื้อ ก่อนเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าเขาเคยเป็น ‘เชฟคนนั้น’ ที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งรสชาติ เชื่อในวิธีการและรสมือตัวเองแบบสุดโต่ง ก่อนการเดินทางพบพานกับธรรมชาติจะเปลี่ยนเขาเป็น ‘เชฟคนนี้’ ที่อยู่ตรงหน้าเรา

“ปีก่อนเราเดินทางไปหมู่บ้านหนึ่ง เจอชาวบ้านต้มเหล้ากินกัน เขาก็ตักแบ่งให้ชิมแล้วถามว่าอร่อยมั้ย เราก็อ้อมแอ้มไม่กล้าตอบเพราะไม่อยากตัดสินอะไร แต่ชาวบ้านเขาตอบง่ายมากเลย อร่อยก็อร่อย ไม่อร่อยก็ไม่อร่อย เราเองที่คิดให้มันซับซ้อน” เชฟหนุ่มเล่าเรื่อยๆ “แล้วเราก็ถามต่อว่ารู้ได้ยังไงว่าเหล้าที่ต้มใช้ได้หรือยัง เขาตอบว่าไงรู้มั้ย ก็ชิมเอา แค่นั้นเราเข้าใจเลย ทุกอย่างมันก็ง่ายแค่นั้นเอง เป็นเราที่ทำให้ยาก”

เป็นการเดินทางที่ช่วยสลายอัตตาและหลักการที่จำกัดอิสระในการปรุงของเขาอย่างสิ้นเชิง ทำให้วันนี้อาหารของเชฟแวนพาเราไปพบดินแดนใหม่อยู่เรื่อยๆ ด้วยความกล้าลองของเขา

“ทุกวันนี้เราทำอาหารด้วยหลักง่ายมาก คือดูว่าตอนนั้นธรรมชาติให้อะไรมาแล้วก็ปรุงให้ออกมาดีที่สุด” เหมือนอย่างอาหารมื้อเมื่อคืนและมื้อเที่ยงวันนี้ที่เราได้ลองชิม

หรือหลัก ‘เป็นไปตามธรรมชาติ’ ที่เรากำลังหาคำตอบก็คืออะไรแบบนี้นี่เอง

Silent Space

หลังได้คำตอบในเรื่องคาใจ คำถามต่อไปก็มาสะกิดเราในวันสุดท้ายของทริป เมื่อเดินเล่นเรื่อยๆ ไปตามเส้นทางระหว่างป่าสู่ป่า แล้วสังเกตเห็นว่ารายทางมักมีเส้นทางเล็กๆ กรุยออกไปสู่อีกพื้นที่ที่เราไม่รู้จัก ด้วยความเป็นคนเมืองที่คิดว่า ‘ต้นไม้ก็คล้ายกันหมด’ ทำให้ไม่เข้าใจว่าทำไมชาวปกาเกอะญอถึงจดจำรายละเอียดเส้นทางเล็กๆ นี้ได้ และจำได้ขนาดว่ามันพาไปบรรจบตรงไหนในป่าขนาดสองหมื่นกว่าไร่แห่งนี้ด้วย

“ถ้าคนที่นี่ไม่มีอะไรมารบกวนสิ่งที่ควรจะจำ เรื่องแค่นี้ทำไมจะจำไม่ได้” คนที่เดินร่วมทางหันมาบอกเราแบบนั้น “แต่ทางมันเล็กมาก เดินเข้าไปจะเจออะไรก็ไม่รู้”

“ถ้าเราใกล้ชิดธรรมชาตินานพอ สิบปี หลายสิบปี การเดินเข้าไปตามทางพวกนี้ก็ไม่อันตรายหรอก”

เราก้าวเท้าสาวเร็วขึ้น รับไอเย็นๆ ของช่วงหน้าฝนต้นหนาวเพื่อมุ่งหน้าไปยังตัวหมู่บ้าน พร้อมความรู้สึกปลอดภัยที่ค่อยๆ ผุดขึ้นในใจ อาจเพราะรู้สึกสนิทใจกับธรรมชาติที่รายรอบกายขึ้นอีกหลายระดับ

ใครอยากส่งเรื่องสถานที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR