Everest Base Camp : พิชิตขุนเขาแห่งอารยธรรมและศรัทธา

รถบัสขนาดกลางแล่นไปตามถนนสายมิตรภาพจีน-เนปาล ไต่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลขึ้นไปเรื่อยๆ
ด้วยระยะทางเกือบ 800 กิโลเมตรไปทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองลาซา
นักท่องโลกหลากหลายเชื้อชาติต่างทอดสายตาผ่านกระจกหน้าต่างรถ
ดื่มด่ำกับทัศนียภาพสองข้างทางที่แปลกตาไปจากโลกที่พวกเขาจากมา ขุนเขาตระหง่าน
ทุ่งดอกเรพซีดเหลืองนวล บ้านเรือนของชาวทิเบต ธงมนต์ที่ปลิวไสว ภาพแล้วภาพเล่าที่วิ่งผ่านเข้ามาในกรอบสายตา
เปรียบเสมือนปฐมบทแห่งความงดงามก่อนที่จะได้ยลโฉมนางเอกที่หลายคนเฝ้าฝันถึง…ยอดเขาเอเวอร์เรสต์แห่งเทือกเขาอารยธรรม หิมาลัย (Himalayan)

ปลายทางของรถบัสคันนี้ คือ Everest Base Camp ทางฝั่งของทิเบต ณ
ระดับความสูง 5,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่นี่คือจุดตั้งต้นสำหรับนักเดินทางที่อยากจะเห็นยอดเขาสูงนี้สักครั้งในชีวิต
การเดินทางในทิเบตสำหรับชาวต่างชาติไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ ต้องมีไกด์ท้องถิ่นนำทาง
บริษัททัวร์จะเป็นผู้จัดการเรื่องใบอนุญาติเข้าเมือง โปรแกรมการเดินทางมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักเดินทางแต่ละคน
เราเลือกโปรแกรม 8 วัน ที่รวม Everest Base Camp ไปด้วยเพื่อจะได้เห็นที่สุดแห่งยอดเขาที่นักปีนเขาอยากจะพิชิต
ถึงแม้ว่าเดือนที่เราไปจะไม่ใช่เดือนที่ทัศนวิสัยดีที่สุดก็ตาม

เต๊นท์ที่ทำจากขนจามรีหลายสิบหลังถูกจัดเตรียมเอาไว้เพื่อรอต้อนรับนักท่องเที่ยวในฤดูกาลนี้
หนึ่งในคุณสมบัตินานาประการของเจ้าจามรี คือขนทีถูกถักทอขึ้นอย่างถี่ยิบ มีคุณสมบัติป้องกันความหนาวเย็นที่จะเล็ดลอดเข้ามาได้เป็นอย่างดี
พวกเราสิบกว่าชีวิตนอนรวมกันในเต๊นท์หลังเดียว โดยมีเจ้าบ้านเป็นแม่ลูกอ่อนชาวทิเบต
ที่คอยทำหน้าที่ตระเตรียมที่นอนและหุงหาอาหารให้กับพวกเรา ตกดึกมีเสียงเด็กน้อยร้องโยเยขับกล่อมพวกเราจนหลับไปพร้อมๆ
กัน เช้าตรู่ กลิ่นควันไฟจากกาต้มน้ำที่ใช้ขี้จามรีเป็นเชื้อเพลิงโชยมาแตะจมูก ปลุกเราให้ตื่นขึ้นมาเพื่อซึมซับความเป็นไปในยามเช้า

‘โฮสเทลเต๊นท์’ แต่ละหลังที่ตั้งขึ้นได้รับสัมปทานจากรัฐบาลจีน
และแต่ละปีจะต้องเสียภาษีให้รัฐบาลจีนเป็นอัตราส่วนมหาศาล การเดินทางครั้งนี้ทำให้เราเห็นถึงอิทธิพลของจีนที่แผ่คลุมดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้ด้วยตาตัวเอง
การเดินทางไกลออกนอกตัวเมืองลาซาจะมีด่านตำรวจจีนอยู่ทุกระยะเพื่อตรวจวัดความเร็วของรถ
และตรวจพาสปอร์ตของผู้เดินทางหลายต่อหลายครั้ง และที่น่าสนใจก็คือ
ตลอดเวลาหลายวันของการเดินทางไปที่ Everest Base Camp
เรามีตำรวจจีนคู่ใจคอยติดตามไปทุกหนทุกแห่งด้วยหนึ่งนาย ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยบนท้องถนน
และความมั่นคงทางการเมือง เสียงไกด์ท้องถิ่นชาวทิเบตเวลาออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองจะถูกลดระดับเสียงลง
เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เล็ดลอดเข้าไปในโสตประสาทของเพื่อนร่วมทางในเครื่องแบบนายนั้น

‘Qomolangma’ เป็นชื่อที่ชาวทิเบตใช้ขนานนามยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของพวกเขา
ส่วนชาวเนปาลรู้จักในชื่อสันสกฤตว่า ‘Sagarmatha’ ความหมายของทั้งสองคำนี้ช่างลึกซึ้งเกินกว่าที่จะริอาจถอดความ
แต่ล้วนมีความหมายที่บ่งบอกถึงความอ่อนน้อมที่ทั้งชาวทิเบตและชาวเนปาลมีต่อขุนเขาที่ยิ่งใหญ่
เชื่อว่าเป็นที่สถิตของเทพยดา
เป็นดินแดนแห่งธรรมะและความบริสุทธิ์ พวกเขาอยู่กับความศรัทธาเหล่านั้นมาเป็นเวลานับร้อยปี
โดยไม่จำเป็นต้องรู้เลยว่ายอดเขาแห่งนี้มีความสูงเท่าไหร่กัน

ในยุคสมัยที่เข็มทิศกระดิกดิ๊กไปทางทิศตะวันตก
เลยไม่น่าแปลกใจที่ชื่อ ‘Everest’ เป็นชื่อเดียวที่ติดหูเรามาแต่ไหนแต่ไร
ส่วนที่มาของชื่อนั้นก็เรียบร้อยโรงเรียนอังกฤษ ตั้งตามชื่อของนายพล George
Everest ผู้นำทีมสำรวจ Great Trigonometrical Survey ที่เริ่มออกสำรวจในปี 1831 ทั้งๆ ที่งานนี้เจ้าตัวรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ
เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนั้น คือนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะหนุ่มน้อยชาวอินเดีย นามว่า Radhanath Sikdar ผู้คิดค้นวิธีคำนวณต่างๆ นานา เพื่อยืนยันว่าภูเขาลูกนี้สูงที่สุดจากระดับน้ำทะเลแล้วจริงๆ
ด้วยความสูง 8,840 เมตร แม้ในสมัยนั้นการตั้งชื่อสิ่งที่ถูกค้นพบขึ้นใหม่นิยมใช้เป็นภาษาท้องถิ่น
แต่สำหรับยอดเขาที่มีความเป็นที่สุดแห่งนี้ มันคือกรณียกเว้น เอเวอร์เรสต์จึงได้กลายมาเป็นชื่อใหม่อย่างเป็นทางการไปในปี
1865 แทน Peak15 ชื่อเก่า และแน่นอนว่าจะมีกี่คนที่เคยได้ยินชื่อของ Radhannath Sikdar ชื่อที่เรายังไม่กล้าแม้แต่จะอ่านออกเสียง

กาลเวลาผ่าน
เรื่องราวที่ได้รับรู้มาเกี่ยวกับยอดเขา Sikdar อุ๊บส์!!! ยอดเขาเอเวอร์เรสต์แห่งนี้ได้เพิ่มปริศนาในใจของเรามากขึ้น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ผู้คนกินอิ่มนอนหลับ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องปากท้อง เงินทองเหลือเฟือ มนุษย์ยังคงตะเกียกตะกายไขว่คว้ามาซึ่งบางสิ่ง ‘อาหารหล่อเลี้ยงอัตตา’ ใช่ไหมคือสิ่งที่หิวกระหาย หลายคนยอมทิ้งคนรัก ยอมทิ้งความสะดวกสบาย
ทุ่มเงินทองมากมาย ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่ออะไรกัน อาหารวิเศษนี้มันน่าเอร็ดอร่อยขนาดไหน
เป็นเรื่องยากเกินกว่ามนุษย์ที่ท้องยังร้องโครกครากอย่างเราจะเข้าใจ

“Because it’s there” ประโยคอมตะของ George
Mallory เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่นักปีนเขาพูดกันติดปาก เขาคือนักปีนเขาชาวอังกฤษในยุคแรกที่ถูกฝังร่างอยู่บนเอเวอร์เรสต์ถึง 75 ปี ก่อนจะมีคนพบร่างของเขาอยู่ใต้หิมะโดยบังเอิญ
พร้อมปริศนาที่ยังไม่ถูกเฉลยว่าเขาเสียชีวิตขาลงหรือขาขึ้นกันแน่ รอเพียงการค้นพบกล้องฟิล์มโกดักตัวนั้นที่ยังฝังอยู่ใต้หิมะหนา
ถ้าวันหนึ่งที่กล้องตัวนั้นปรากฏขึ้น และภาพในกล้องพิสูจน์ได้ว่าเขาเสียชีวิตขาลงหลังจากที่พิชิตยอดเขาสำเร็จแล้ว
บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงไปทันที

การเดินเท้าในชั้นบรรยากาศที่เบาบางกว่า 3 กิโลเมตร เพื่อไปจุดชมวิว
เล่นเอาพวกเราหายใจหายคอกันแทบไม่ทัน แต่ในที่สุดก็ได้พาสังขารอันอิดโรยผ่านชั้นออกซิเจนบางเฉียบและความหนาวเย็นมาถึงจุดชมวิวที่ตั้งอยู่บนเนินสูงได้สำเร็จ
เราลุ้นกันมาตลอดทางว่าฟ้าฝนจะเป็นใจให้เราได้เห็นเธอคนนั้นหรือไม่

“Come
on!! Don’t be shy!! You can do it!!” สาวมะกันส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจสาวเจ้าที่เอียงอายให้โผล่พ้นเมฆหมอกออกมา
ทันทีที่ฝูงเมฆค่อยๆ เคลื่อนตัวจากไป ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ก็เริ่มเผยโฉมให้เราได้ยล
พร้อมกับเสียงร้องดีใจของผู้ชม
ต่างคนต่างหยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาบันทึกเสี้ยววินาทีนั้น ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ตั้งสง่าอยู่ต่อหน้าของเราแล้ว ยอดเขานั่นเองที่ Tenzin Norgay วางช็อกโกแล็ตเอาไว้เพื่อบวงสรวงเทพเจ้าในความเชื่อของชาวเนปาล
เคียงข้างกับไม้กางเขนที่ Sir Edmund Hillary วางไว้เช่นกัน ยอดเขานี้หรือคือความใฝ่ฝันของนักปีนเขาจากทุกมุมโลก
และยอดเขานี้หรือที่ฝังร่างคนรักของใครหลายๆ คนเอาไว้ตรงนั้น
เมฆหมอกลอยปกคลุมทั่วท้องฟ้า ทำให้เราได้ชื่นชมยอดเขาในตำนานอยู่เพียงชั่วครู่
แต่ก็พอที่ทำให้เราลืมความเหน็ดเหนื่อยและกลับลงมาได้อย่างสบายใจ คืนนั้น
คงเป็นอีกคืนหนึ่งที่ทุกคนนอนหลับสบายในเตนท์จามรีหลังนั้น

สิ่งอำนวยความสะดวกอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การเดินทางมีสีสันมากขึ้นก็คือห้องน้ำสไตล์ทิเบต (อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากจีน)
ห้องน้ำแบ่งแยกชายหญิงชัดเจน ภายนอกอาจดูเล็กๆ
แต่ภายในแต่ละห้องถูกซอยออกเป็น 3 ช่อง ไม่มีประตู มีเพียงกำแพงเตี้ยๆ
กั้นระหว่างเรา ส้วมของที่นี่เป็นระบบที่สนุกและน่าสนใจ ส้วมจะถูกขุดให้เป็นหลุมขนาดกำลังพอดี
และไม่มีระบบน้ำใดๆ ทั้งสิ้น ของเสียทุกชนิดจะถูกส่งตรงลงหลุมที่นั่น ความลึกของหลุมอยู่ในระดับที่สายตาเราจะมองเห็นร่องรอยที่ผู้มาก่อนฝากเอาไว้
สำหรับสาวๆ (หรือหนุ่มๆ ในบางจังหวะ) ขณะทำธุระ
จะหันหน้าเข้ากำแพงหรือหันหน้าเข้าหาคนดู ก็แล้วแต่วิจารณญาณ หันหลังให้ผู้ชมก็ปลอดภัยดีแต่จะรู้สึกเสียวสันหลังวาบเวลามีใครเดินผ่านไปมา
ถ้าหันหน้าให้ผู้ชมก็มั่นใจได้ว่าเราจะเห็นคนผ่านไปผ่านมา
แต่ต้องแลกกับการสบสายตาคู่แล้วคู่เล่า
เลยเถิดไปถึงอาจจะต้องสูญเสียเอกราชบางอย่างไป
จะว่าไปแล้วนี่เป็นห้องน้ำที่วิวดีที่สุดแห่งหนึ่งเลยก็ไม่เกินจริงที่จะกล่าว

เช้าวันรุ่งขึ้น
รถบัสคันเดิมพาพวกเรามุ่งหน้าเข้าสู่เมืองลาซา
การเดินทางครั้งนี้กำลังจะจบสิ้นลงอย่างเป็นทางการ
ผู้ร่วมทางจากหลากหลายทวีปก็จะกลับคืนสู่โลกที่จากมา ในความสงบบนรถคันนั้น
เสียงใครคนหนึ่งตะโกนชี้ชวนให้ดูนอกหน้าต่าง ฟ้าที่ใสกว่าเมื่อวานทำให้เรามองเห็นยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้ชัดเจน สวยงาม
และเหนือความคาดหมาย รถบัสจอดให้พวกเราได้เก็บภาพกันอย่างสมใจ เรามองไปเห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังช่วยกันทำงานอย่างขันแข็ง
น่าแปลกใจว่าจะมีสักเสี้ยววินาทีที่พวกเขาจะเหลือบไปชื่นชมความยิ่งใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าไหม
พวกเขาจะรู้ไหมว่าที่ทำงานของพวกเขาคือไซต์งานที่มีวิวสวยจับใจ สะกดให้ใครต่อใครค่อนโลกเดินทางเพื่อมาเห็นภาพนี้

Everest Base Camp

Address: Tingri County, Shigatse, Tibet
Hours: เวลาที่เหมาะสมคือเดือนเมษายน – พฤศจิกายน
How to get there: ติดต่อบริษัททัวร์ทิเบตโดยเลือกโปรแกรมทัวร์ที่ระบุ
Everest Base Camp (EBC) เข้าไปด้วย

ใครอยากส่งเรื่องที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR