หิมาลัยไม่มีจริง : หนังสือที่นิ้วกลมเขียนได้ครั้งเดียว

“พี่อ่านจบยัง”

น้องขายหนังสือที่บูท a book คนหนึ่งถาม เมื่อเห็นผมถือหนังสือ หิมาลัยไม่มีจริง หนา 656 หน้าอยู่ในมือ

ผมตอบว่า “ยัง” จากนั้นก็เริ่มมีคำถามตามมาอีกเป็นชุด “สนุกมั้ย” “คุ้มมั้ยที่จะซื้อ” (ราคาในงานมหกรรมหนังสือที่ผ่านมาอยู่ที่ 500 กว่าบาท) “เป็นหนังสือท่องเที่ยวหรือเปล่า” “เหมือนเล่มก่อนหน้านี้มั้ย” “พี่อ่านกี่วันจบ”

คำถามที่ตอบยากที่สุดคือ “อ่านยากมั้ย”

ผมตอบว่า “มันคือหนังสือบันทึกการเดินทางไป EBC หรือ Everest Base Camp ค่ายฐานที่ผู้หวังพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์จะไปเตรียมตัวก่อนขึ้นถึงยอด”

เนื้อหาในหนังสือไม่ได้บันทึกสิ่งที่ตาเห็น แต่เล่าความคิดที่เกิดขึ้นในใจเมื่อได้เดินทางด้วยเท้าบนเส้นทางที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ใกล้พอจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเมฆไปสู่ฝน หิมะสู่แม่น้ำ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้ผู้เขียนคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาของตัวเอง เนื้อหาบางส่วนเป็นเหมือนบันทึกการเดินทางค้นหาตัวเองของผู้เขียนด้วย

ผมอ่าน หิมาลัยไม่มีจริง ด้วยวิธีคล้ายกับนักเดินทางที่ต้องเดินไป-กลับ ปรับร่างกายตามความสูงที่เปลี่ยนไปบนภูเขา อ่านหน้านี้จบ ผ่านไปสักพักก็ต้องวนกลับมาอ่านอีกรอบ ความหนาของหนังสือเล่มนี้ทำให้มันเป็นเหมือนยอดเขาเอเวอเรสต์ของนักอ่าน มีประเด็นให้คิดซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเต็มไปหมด

ให้คน 10 คนเขียนถึงหิมาลัย ผลลัพธ์ออกมาย่อมไม่เหมือนกัน นิ้วกลมเลือกที่จะเล่าเรื่องดอกไม้ ต้นไม้ ต้นหญ้า สายลม ผู้คน ภูเขา ไม่ได้บอกว่ามันสีอะไร หน้าตาภายนอกเป็นอย่างไร แต่มันเชื่อมโยงกับหลายเรื่อง เช่น จิตวิญญาณ ปรัชญา จักรวาล การแสวงหา และความเป็นแม่

บางบทของ หิมาลัยไม่มีจริง ทำให้ผมนึกถึง แสง ผลงานก่อนหน้าของนิ้วกลม หนังสือสองเล่มนี้เขียนถึงการแสวงหา ความสุข ตัวตน ภายใน จุดต่างคือ แสง เป็นเหมือนการเรียนรู้ในห้องเรียน หิมาลัยไม่มีจริง เป็นเหมือนการทัศนศึกษาในสิ่งแวดล้อมที่สุดขั้ว มีความแตกต่างหลากหลาย ไหลเคลื่อน เปลี่ยนแปลงมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก

เป็นเรื่องคาดเดาได้ หากมนุษย์คนหนึ่งประจันต่อหน้าภูมิศาสตร์ที่ใหญ่ราวกับยักษ์ จะรู้สึกว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่ ความวุ่นวายของมนุษย์นั้นเล็กจ้อยเมื่อเทียบกับโลก นิ้วกลมก็รู้สึก แต่ไม่ได้เขียนถึงตรงๆ นักเขียนหนุ่มกลับค้นลงไปให้ลึกว่าความยิ่งใหญ่นั้นมีที่มาจากอะไร

ผมเคยถามพี่เอ๋ (นิ้วกลม) ว่าทำไมหิมาลัยถึงมีความพิเศษ สั่นสะเทือนภายในได้ขนาดนั้น เขาบอกว่าเมื่ออยู่บนภูเขาที่สูงมากๆ เราจะได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่าบนพื้นดิน (ซึ่งเอาเข้าจริง เท้าของเราก็ได้สัมผัสผืนดินจริงๆ น้อยมาก) การได้อยู่ใกล้ทำให้เหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของธรรมชาติ

“เราไม่เคยตื่นเช้ามาแล้วเห็นว่าพระอาทิตย์ส่องแสงลงมาที่ยอดเขาและหิมะละลาย กลายเป็นเมฆหมอก แล้วเมฆนั้นก็ลอยออกไปจากยอดเขา เพื่อในบางบ่ายมันก็ตกมาเป็นฝน บางบ่ายมันก็ตกมาเป็นหิมะ เดินผ่านไปตามโตรกผาจะเห็นเป็นเส้นหิมะขาว ถ้าเดินเข้าไปใกล้ขึ้นเราจะเห็นว่าหิมะนั้นละลายออกมาเป็นน้ำ คนก็ไปตักน้ำกิน แล้วน้ำก็ไหลเป็นแม่น้ำ แม่น้ำก็ออกไปทะเล แล้วในทะเลนั้นก็จะระเหยขึ้นมาเป็นฝนไปตกบนยอดหิมาลัยอีกครั้ง”

“ถามว่ารู้จักวงจรนี้ไหม รู้ เรียนมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยเห็น ไม่เคยเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของวงจรนี้จริงๆ ที่เขาบอกกันว่าสรรพสิ่งมันไร้นาม อ๋อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง เราเรียกเมฆว่าเมฆไม่ได้ เพราะเมฆคือฝนในอนาคต เราเรียกฝนว่าฝนไม่ได้ เพราะฝนคือแม่น้ำ เราเรียกแม่น้ำไม่ได้ เพราะแม่น้ำคือส่วนหนึ่งในตัวเรา ในวัยนี้ มันทำให้เรามองชีวิตเปลี่ยนไปเลย” พี่เอ๋เล่า

ตลอดการเดินทางของนิ้วกลมในหนังสือ มีฉากที่เขาบรรยายความเปลี่ยนแปลงของอากาศเยอะมาก การได้พบความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ สะท้อนกลับมาหาคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในใจ

การเดินทางบนภูเขา ทำให้ผู้เขียนคิดถึงชีวิตมนุษย์ที่ต้องเผชิญความผันผวนอยู่ทุกวัน เราอยู่ในโลกยุคที่สิ่งที่คนคิดว่ามั่นคงถาวรทยอยล่มสลาย ความเปลี่ยนแปลงนี้เองทำให้ใจคนสั่นคลอน ไม่มั่นใจในตัวเอง หวาดหวั่นต่ออนาคตที่ผันเปลี่ยนรวดเร็วไม่ทันคาคคิด

บรรยากาศที่อ่อนไหวบนที่สูง คล้ายกับสถานการณ์ที่มนุษย์บนผืนดินเผชิญอยู่ เรามักพร่ำบ่นว่าโลกเคลื่อนไหวเร็วขึ้นจนเหนื่อยจะตาม มีเรื่องใหม่ๆ ให้เราได้อ่านมากมายเต็มฟีด

เทคโนโลยีขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า จินตนาการในอดีตทยอยเกิดขึ้นจริงทีละอย่าง ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นสื่อจำนวนมากพูดถึงการแสวงหาตัวตน ราวกับจะบอกว่าแม้โลกรอบตัวมีเรื่องมากมาย แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะอยู่ไปทำไม ต้องการอะไร จะมีส่วนร่วมกับโลกทุกวันนี้อย่างไร

ผมคิดว่าการที่นิ้วกลมเขียนสิ่งที่พบเห็นทางกายภาพ เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่กลยุทธ์ทางการเขียนเพื่อดำเนินเรื่องไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าเขาจงใจ อยากสื่อสารอะไรบางอย่างกับผู้คนในยุคนี้ ในขณะเดียวกันก็เหมือนเขากำลังเขียนเพื่อเยียวยาตัวเอง ความสนุกข้อหนึ่งของการอ่าน หิมาลัยไม่มีจริง คือการได้อ่านว่าผู้เขียนนำสิ่งที่เห็นไปเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นถ้อยคำจารึกบนแผ่นหิน หรือสถานที่สำคัญซึ่งสะท้อนความศักดิ์สิทธิ์และบ่งบอกศรัทธาของผู้เดินทางมาก่อน สิ่งเหล่านี้ทำให้หนังสือเป็นบันทึกการเดินทางที่สงบ ไม่โหวกเหวกตื่นเต้นกับภาพที่เห็น แต่รู้สึกเคารพกับสิ่งแวดล้อมแบบไร้ข้อสงสัย

อ่านแล้วรู้สึกสงบ เหมือนได้พักจากโลกที่วุ่นวาย หิมาลัยไม่มีจริง เหมาะสำหรับคนที่รู้สึกเหนื่อยกับการใช้ชีวิต ล้ากับการแสดงตัวตน อยากได้จุดนั่งพักเพื่อจะได้ทบทวน ได้รู้ว่าความสุขที่แท้ของเราคืออะไร

ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียก หิมาลัยไม่มีจริง ว่าเป็นหนังสือดีที่สุดของนิ้วกลม เหมือนที่คนอ่านหลายคนยกย่องในโซเชียลมีเดียได้มั้ย แต่มั่นใจว่าเขาจะเขียนแบบนี้ได้แค่ครั้งเดียว

อาจเป็นวัยของผู้เขียน ความยิ่งใหญ่ของสถานที่ หรืออาจเป็นเรื่องธรรมชาติของห้วงความคิดที่เกิดขึ้นเพียงวาบเดียวในหัว คล้ายดอกไม้ไฟที่เปล่งแสงสว่างยามราตรี สุดท้ายก็จะจางหาย

เหมือนภูเขาที่ใครก็ว่ายิ่งใหญ่ แต่วันหนึ่งอาจสูญสลาย หายไปราวกับไม่เคยมีอยู่จริง

AUTHOR