ฝ่าหมอกฝนสู่หิมาลัยวันฟ้าใสและมีดาว ‘เนปาล’ ประมาณนี้แหละ

“สรุปว่ายังจะไปอยู่เหรอ?”

เสียงคุณแม่ถามด้วยความห่วง เมื่อลูกทั้ง 4 และสมาชิกอีก 4 รวมเป็นคณะ 8 คน แพ็กของเตรียมออกเดินทางไปเนปาล ที่เพิ่งมีข่าวพายุและมีผู้เสียชีวิต และนั่นก็ทำให้อากาศบนเขาเส้นทางที่เราจะไปเดินนั้นถูกกระทบไปด้วย

“ไม่มีอะไรหรอก ทำประกันไว้หมดแล้วน่ะม้า ถ้าตายก็ได้หลายล้านเลยนะ”

เราตอบติดตลก บอกคุณแม่ให้สบายใจ พร้อมสัญญาว่าถ้าอากาศไม่ดีจริงๆ พวกเราก็จะไม่เดินขึ้นทางที่เสี่ยง จะหยุดชมความสวยงามตามระยะห่าง และบรรยากาศตามที่ธรรมชาติยินดีเปิดเผยให้เราชื่นชม

พายุที่ยังไม่คลายไปซะทีเดียวทำให้เราต้องเปลี่ยนแผนการเดินทาง เครื่องบินโดยสารในประเทศจากกาฐมาณฑุ (ที่เราเพิ่งลงเครื่องมาจากไทย) เพื่อไปลง Pokhara เมืองอันเป็นจุดเริ่มเดินของพวกเราถูกยกเลิกไปเพราะสภาพอากาศไม่เหมาะสมที่จะบิน พวกเราเลยต้องเปลี่ยนเป็นนั่งรถไป Pokhara แทน จากเดิมที่ควรใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง กลายมาเป็น 8 ชั่วโมง พวกเราจึงถือว่าเป็นโอกาสได้ดูเมืองและถนนหนทางไปเลยก็แล้วกัน คนขับรถของเรานั้นก็ไม่ธรรมดา มีดีกรีเป็นถึงนักแข่งรถ แข่งมอเตอร์ไซค์ ไมเคิลบอกพวกเราว่า  เขาชอบเมืองไทยมากเลย โดยเฉพาะอาหารไทย และเคยมาแข่งรถที่สนามบุรีรัมย์หลายรอบแล้ว เขาชอบขับรถที่เมืองไทย ขับง่าย สนุก ถนนหนทางที่เนปาลไม่ดีเหมือนไทย ก็คงจะจริง เพราะเราก็กระเด้งกระดอนกันไปตลอดทาง แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นนาขั้นบันได รวมทั้งวิวภูเขาแม่น้ำสวยๆ ไม่น้อยก่อนที่ฟ้าจะมืดลง

ระหว่างทางมีช่วงสั้นมากๆ ที่ฟ้าเปิดพอให้พวกเรามองเห็นภูเขาหิมะอยู่รางๆ เพราะมีฝนเบาๆ

“เปิดแล้วๆ นั่นภูเขาหิมะ นั่นคือเทือกเขาหิมาลัยใช่ไหม สวย แล้วก็ยิ่งใหญ่จังเลย”

“ออ ใช่ ภูเขาหิมะ” ไมเคิลหันไปมอง และตอบสั้น เรียบ พวกเราขำกับการตอบของไมเคิล ไมเคิลเลยเสริมว่า สำหรับเขามันเป็นเรื่องปกติ มันคงคล้ายๆ กับเวลาที่เขาไปที่ไทยแล้วตื่นเต้น ว้าวกับส้มตำ แกงต้มยำ แต่พวกเราว่ามันคือเรื่องทั่วไปนั่นแหละ

นั่นสินะ สำหรับไมเคิลและคนเนปาลเทือกเขาหิมาลัยที่แสนยิ่งใหญ่นั้นเป็นเรื่องปกติที่พบเจอทุกวัน ส่วนอาหารไทยที่มหัศจรรย์ของคนต่างชาติก็เป็นเรื่องธรรมดาทุกวันของเรา

บางทีการมีอะไรประจำทุกวันก็ทำให้เราลืมไปว่าพวกเรามีสิ่งพิเศษรอบตัวมากมายแค่ไหน

เมื่อถึงเมือง Pokhara พวกเรารีบเข้านอนเพื่อพักผ่อนให้เต็มที่สำหรับการเดินวันแรก เช้ามาฝนยังคงตกเบาๆ และนั่นทำให้ดินถนนที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้วกลายเป็นดินเลนไปหมด มีรถติดหล่มยาวเป็นกิโลเมตร รถที่จะพาเราไปส่งยังจุดเริ่มเดินจึงไม่สามารถไปต่อได้ พวกเราที่ตั้งใจมาเดินทางไกลอยู่แล้วจึงเริ่มเดินกันตั้งแต่ถนน จนค่อยๆ เริ่มผ่านเข้าป่า และชุมชนที่อยู่บนเขา ไม่กี่ชั่วโมงเราก็ถึงจุดพักแรกที่ Pothana แต่ด้วยอากาศที่ปิด เมฆเยอะ ฝนก็โปรยเกือบตลอดทางเดิน วันแรกพวกเราจึงเข้านอนโดยไม่ได้มีโอกาสเห็นเทือกเขาหิมาลัยตามที่ตั้งใจเอาไว้

เช้ามืดวันรุ่งขึ้นเราตื่นมาเข้าห้องน้ำและพบว่าเมฆค่อยๆ จางออกไป ครั้งแรกที่ได้เห็นเทือกภูเขาหิมาลัยมันเหมือนกับว่ามีใครเอาสกรีนจอยักษ์มากๆ ใหญ่เท่าฟ้ามาฉายภาพหิมาลัยเอาไว้ตรงหน้า เรียกว่าใหญ่ค้ำฟ้าจริงๆ แต่ในขณะเดียวกันกลับให้ความรู้สึกสงบอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นความยิ่งใหญ่ที่เงียบงัน ไม่กระโตกกระตาก เพียงอยู่ตรงนั้นเป็นฉากหลังให้กับเขาสีเขียวที่อยู่ตรงหน้า ยิ่งขับเน้นให้เห็นความมโหฬารของภูเขาหิมะด้านหลัง

ผู้คนค่อยๆ ตื่นมารวมตัวกัน พวกเรายืนดูพระอาทิตย์ค่อยๆ ฉายแสงย้อมภูขาหิมะสีขาวให้กลายเป็นสีส้มอมชมพู เป็นเช้าที่ทุกคนได้รับพลังมากๆ โดยเฉพาะการได้เห็นมัจฉาปูชเร (Machapuchare, माछापुच्छ्रे) ที่เป็นไฮไลต์ของทริปนี้ ที่เป็นภูเขา 2 ยอดลักษณะแหลมขึ้นไปเหมือนหางปลาอันเป็นที่มาของชื่อที่เรียกกันว่า Fish Tail

ผู้คนจากหลายท้องที่เดินทางมาเพื่อชมความงามของยอดเขาที่โดดเด่นนี้ ยิ่งมาไกลยิ่งอยากเดินเข้าใกล้ ตื่นแต่เช้า แพ็กของออกเดินเท้ากันหลายวัน วันละหลายชั่วโมง ในขณะที่คนพื้นเมืองเอง เราเห็นคุณป้า คนเฒ่าคนแก่ก็ตื่นมาหาภูเขาเช่นกัน ต่างกันที่ไม่ได้เดินเข้าหา แต่จะจุดธูปหันไปไหว้ยอดภูเขาตามความเชื่อท้องถิ่นที่เคารพนับถือกันว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ

“วันนี้เป้าหมายพวกเราคือจะเดินไปพักที่ไหนกัน?” ใครสักคนถามอานีล ไกด์ชาวเนปาลของพวกเราขึ้นมา

“เห็น ‘เนิน’ ลูกนั้นไหม?”

“เราจะขึ้นไปพักที่เขานั้น?”

“ไม่ เราจะขึ้นไป ‘เนิน’ นั้น และลงเพื่อไปขึ้น ‘เนิน’ ลูกด้านหลัง วันนี้เราจะไปพักที่ ‘เนิน’ ด้านหลังนั้น”

อานีลยังย้ำคำว่า ‘hill’ คนเนปาลที่ใช้ชีวิตอยู่กับความสูง 6,000-8,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ก็คงจะเรียกภูเขาที่เตี้ยลงมากว่านั้นว่าเนินได้ล่ะ แต่สำหรับคนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเลนั้น พวกเราหันมามองหน้ากันและซุบซิบว่า บ้านกูไม่เรียกสิ่งนี้ว่าเนิน!

ท่าทางวันถัดๆ ไปคงเหนื่อยหนักกว่าวันแรกไม่ใช่น้อยทีเดียว โชคดีของพวกเราคือในวันต่อๆ มา เมื่อเราไต่ความสูงขึ้นเรื่อยๆ ป่าก็เริ่มปกคลุมหนาแน่นมากขึ้น เป็นป่าที่เย็นชุ่มชื้น เย็นขนาดที่ว่าต้นไม้ทุกต้นเองก็ห่มผ้าคลุมสีเขียวกันหมดเหมือนกัน ดังนั้นถึงแม้จะเหนื่อยอยู่บ้างกับการเดินหลายชั่วโมง แต่พอหยุดพักแป๊บเดียวก็รู้สึกสดชื่น เหมือนได้เอาปอดออกมาฟอกทำความสะอาดใหม่อีกครั้ง ระหว่างทางยังมีทั้งนกคอยส่งเสียงให้กำลังใจ ดอกไม้ และกล้วยไม้ตามทางให้คอยชมกันไปตลอดทาง โดยเฉพาะกุหลาบพันปี ดอกไม้ประจำชาติเนปาลที่ออกดอกสีสดตามสันเขา นำทางเราค่อยๆ เดินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนสูงพ้นออกจากโซนป่ามายังสันเขาที่เป็นทุ่งหญ้าสีทองกับหิมะ

ทางเดินสันเขาช่วงนี้พวกเราต้องระมัดระวังกันมากขึ้นทั้งด้วยทางเดินที่เป็นผา ลื่น แคบ และมีหิมะกองสุมอยู่หลายจุด จากวันแรกที่เจอฝน อาจเพราะอยู่สูงและอากาศเย็นขึ้น ทำให้คณะเราเจอลูกเห็บตก โชคดีของพวกเราที่ลูกเห็บไม่ใหญ่นัก และพอเดินสูงขึ้น พวกเราที่ใส่เสื้อกันหนาวกันพอสมควรทำให้ไม่เจ็บแบบต้องหลบกัน (หรือถึงจะอยากหลบพวกเราก็ไม่มีที่หลบกันอยู่ดี) กลับกัน พวกเราชอบเม็ดกลมสวยใสที่ตกพราวบนพื้น แต่หลังจากสนุกสนานได้สักพัก ด้วยความสูงที่ทำให้อากาศเบาบาง สมาชิกบางคนเริ่มมีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะกัน ทำให้เราต้องหยุดพัก เดินให้ช้าลง และคอยจิบน้ำอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปจากวันก่อนๆ

ระหว่างทางเดินเราจะเริ่มเห็นธงมนตรา 5 สี ที่ผูกเอาไว้โบกสะบัดอยู่บ้างเป็นระยะ ธงมนตรานี้เป็นสัญลักษณ์ที่แพร่หลายในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัย เป็นความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างศาสนาท้องถิ่นในทิเบต คือลัทธิบอน ที่เชื่อว่ามีเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์อยู่บนภูเขาสูงสุดฟ้านั่น รวมถึงหุบ ห้วย ทะเลสาบ สายฟ้า และธรรมชาติที่ทรงพลัง ทั้งสามารถให้ชีวิตและคร่าชีวิตคนได้อย่างง่ายดาย นักบวชในลัทธิบอนจึงย้อมผืนผ้าเป็นสีต่างๆ เพื่อใช้ประกอบพิธีประดับบูชาเทพเจ้าผู้ดูแลคุ้มครองธรรมชาติ ตามความเชื่อในเรื่องความสมดุลของธาตุทั้งห้า ด้วยความเชื่อว่าธาตุในตัวเรานั้นเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างแยกไม่ออก

ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่มาจากจีนจึงเกิดการผสานกับความเชื่อเรื่องวิญญาณในวัฒนธรรมดั้งเดิม มีการเขียนคำภาวนา บทสวดมนต์ลงไปเพิ่มบนธงสี แล้วนำไปถวายเป็นพุทธบูชาตามที่ต่างๆ ที่มีลมพัดโบกด้วยความเชื่อว่า การที่ธงมนตราธวัชโบกสะบัดนั้นเป็นการช่วยกระพือเสียงภาวนาบทสวดของผู้ถวายให้ทวีเป็นพันเท่า และกระแสลมก็จะช่วยพัดพามนตราและคำอธิษฐานขอพรต่างๆ ให้ล่องลอยไปกับสายลมจนถึงเทพเจ้าบนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์

พวกเราเดินลอดใต้ธงมนตราที่ผูกไว้ตามช่องเขา สันเขา พร้อมขอพรให้อากาศเปิดมากขึ้น แม้จะพูดว่าอากาศแบบไหนก็ดีหมดแหละ หมอกหนาก็ให้ความเย็น สดชื่น ทำให้ระหว่างทางเดินพวกเราไม่ต้องเจอความร้อนแรงของแสงแดด ที่ทำให้หลายคนกลับจากเดินทางด้วยสภาพหิวไหม้ แดงบวม แต่ในใจก็หวังว่าที่เดินทางมาไกลนั้นก็อยากจะชมเทือกเขาหิมาลัยให้เต็มด้วยสองตาของพวกเราเองเช่นกัน

ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะคำขอที่ลอยไปกับบทสวดบนธงมนตราไหม หลังจากเดินกันมาทั้งวันหลายชั่วโมง กลุ่มด้านหน้าที่เพิ่งเดินพ้นเหลี่ยมเขาก็ร้องอุทานออกมา “โหวววว”

ลมกำลังพัดเมฆหมอกออกไป ทำให้พวกเราเพิ่งรู้ตัวว่าทางเดินที่เรากำลังเดินอยู่นั้นโดนโอบไปด้วยภูเขาหิมะสูงใหญ่อยู่ตั้งนานแล้ว เพียงแต่หมอกลงจัดเกินไปจนมองไม่เห็น พวกเราหยุดชื่นชมวิวภูเขาหิมะกันอยู่นาน จนหมอกกลับมาอีกครั้งหนึ่ง พวกเราจึงออกเดินทางต่อเพื่อไปยังแคมป์พักและจุดชมวิวให้ทันช่วงพระอาทิตย์ตก เมื่อไปถึงแคมป์เราก็พบว่ามีคนจากหลายประเทศอยู่ที่แคมป์พักอยู่แล้ว บางคนเล่าว่าอากาศที่ไม่ดีเท่าไหร่นั้นทำให้เมื่อวานมองไม่เห็นเทือกเขาและหางปลาที่พวกเราทุกคนตั้งใจมาดู ทำให้พวกเขาตัดสินใจอยู่ต่ออีกวันหนึ่ง เพราะไหนๆ ก็เดินทางมาแล้ว และพวกเขาเองก็เผื่อวันเอาไว้

การเดินทางไกลเพื่อชมความสวยงามของธรรมชาตินั้นสอนเขาเสมอว่าหลายๆ ครั้งเราไม่สามารถกำหนดควบคุมปัจจัยอะไรได้ สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมความพร้อมของตัวเอง และมีความยืดหยุ่นให้ชีวิตบ้าง อย่า “too strict” เราพยักหน้าให้กับบทเรียนจากธรรมชาติ

แต่เหมือนโชคเข้าข้าง 3 วันที่ผ่านมาที่เราเดินในหมอกและฝน พอตกเย็นฟ้าก็ใส เผยให้เห็นเทือกเขาหิมาลัย และยอดภูเขาหางปลาที่แทงแหลมขึ้นฟ้าเป็นเอกลักษณ์ และยิ่งสวยงามมีมนตร์ขลังเป็นพิเศษเมื่อยอดสีขาวค่อยๆ ถูกแสงของพระอาทิตย์ตอนเย็นย้อมให้ค่อยๆ กลายเป็นสีส้มทอง

พอพระอาทิตย์ตก ความหนาวก็แทรกซึมเข้ามาอย่างรวดเร็ว พร้อมกับแสงของดวงดาวบนฟ้าที่ค่อยๆ สว่างขึ้นทีละนิดเหนือยอดเขาสูง และพระจันทร์ก็ส่องแสงสะท้อนรำไรให้กับหิมะบนเทือกเขา

การได้นั่งอยู่ตรงนั้นมันเป็นความพิเศษสุดๆ ที่บรรยายไม่ได้จริงๆ ธรรมชาติช่างยิ่งใหญ่ สวยงาม จนทำให้ตัวเรารู้สึกเล็กนิดเดียว

เป็นความรู้สึกเล็กนิดเดียวที่ทำให้รู้สึกสงบภายในใจ 🙂

AUTHOR