“คนตาสว่างเรื่องประชาธิปไตย แต่ยังไม่ตาสว่างเรื่องเพศ” คุยกับ ปลา ดาราณี ผู้ก่อตั้ง Feminista

Highlights

  • Feminista คือแพลตฟอร์มที่รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับเฟมินิสม์หรือความเท่าเทียมทางเพศ ก่อตั้งโดย ปลาดาราณี ทองศิริ และเพื่อนๆ
  • ปลาเคยเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ผลงานที่ทำให้หลายคนรู้จักเธอคือห้องเรียนเพศวิถีและทีมฟุตบอลบูคู เธอพักงานไปเรียนต่อด้าน gender studies ที่ประเทศอินเดีย ก่อนกลับมาก่อตั้ง Feminista เมื่อปี 2019 
  • ปัจจุบัน Feminista เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเฟมินิสม์ผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ในอนาคตจะขยับขยายไปสู่สื่ออื่นๆ เช่น พ็อกเก็ตบุ๊ก พ็อดแคสต์

ฉันเคยเห็นบทความจาก Feminista ผ่านตาอยู่บ้าง แต่ไม่รู้ว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์แสนเฉพาะทางนี้ จนกระทั่งบังเอิญได้มาเจอกับ ปลา–ดาราณี ทองศิริ หนึ่งในผู้สอนวิชาเฟมินิสม์ขั้นพื้นฐานประจำชั้นเรียนออนไลน์ School of Feminists ที่เธอจัดร่วมกับผองเพื่อนนักเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ

ฟังเผินๆ คำว่า Feminista คล้ายกับคำว่า fashionista ไม่หยอก ซึ่งปลาคอนเฟิร์มว่าฉันคิดถูก “ในสังคมไทย คำว่าเฟมินิสต์มันมี stigma อยู่ คนมักเข้าใจว่าเฟมินิสต์เกลียดผู้ชาย เวลาได้ยินจึงไม่ชอบ ไม่อยากใช้ กลัวถูกตีตรา แต่เราอยากให้คำว่าเฟมินิสต์เข้าไปอยู่ในกระแสหลัก เลยนึกถึงคำว่า fashionista ที่มีความหมายแง่ลบหน่อยๆ เหมือนกัน แต่คนใช้กันแพร่หลาย เอามาผสมกันเป็นคำนี้”

วิธีคิดชื่อสามารถใช้อธิบายคอนเซปต์ตั้งต้นของ Feminista นี้ได้ด้วยเช่นกัน ปลาบอกว่าเธออยากให้แนวคิดเฟมินิสม์เข้าไปอยู่ในกระแสหลัก อยากให้ทุกคนพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกันอย่างแพร่หลาย เพราะเมื่อได้พูดคุยกันสังคมถึงจะเปิดกว้างและเคลื่อนไปข้างหน้า

Feminista

พวกเราจึงได้เห็นเว็บไซต์ Feminista รวบรวมและเผยแพร่บทความที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมทางเพศเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นบทวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับ gender บทสัมภาษณ์ที่สร้างความเข้าใจใหม่ๆ ว่าเฟมินิสต์เป็นคนแบบไหนและเป็นใครได้บ้าง และอื่นๆ อีกมากมาย

กระนั้นมีสิ่งหนึ่งที่ฉันเข้าใจผิด ปลาบอกว่า Feminista ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ว่าด้วยเฟมินิสม์ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านแรงคนและแรงเงิน เธอจึงขับเคลื่อนองค์กรอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในอนาคตเราจะได้เห็นหนังสือ พ็อดแคสต์​ และสื่ออื่นๆ ภายใต้ชื่อเดียวกัน

สำหรับฉัน คอนเซปต์และจุดมุ่งหมายของ Feminista นั้นเข้าใจง่าย แต่สิ่งที่ฉันสงสัยใคร่รู้กว่าคือเรื่องราวของปลา หญิงสาวผู้ยืนหยัดเคลื่อนไหวเรื่องความเป็นธรรมทางเพศมากว่าสิบปี

Feminista

01

“เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เจอเรียกว่าอะไร แต่เรารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมทางเพศมาโดยตลอด”

ไม่มีใครสมควรถูกกระทำความรุนแรง ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่

แต่นั่นกลับเป็นสิ่งที่ปลาคุ้นชินมาตั้งแต่เด็ก 

ในวัยเยาว์ เธอถูกแม่ทำร้ายร่างกายอยู่บ่อยครั้งโดยไม่เข้าใจที่มาที่ไป เหตุผลที่เธอใช้ปลอบโยนตัวเองคือ ‘แม่เป็นคนโมโหร้าย’

จนกระทั่งราวสิบปีก่อน ปลามีโอกาสเข้ารับการอบรมที่ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม ซึ่งดำเนินการโดยอวยพร เขื่อนแก้ว หนึ่งในคนที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรีมาอย่างยาวนาน 

“นั่นเป็นครั้งแรกที่เรารู้จักว่าโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่คืออะไร และความไม่เป็นธรรมทางเพศคืออะไร” เธอย้อนความ

“ก่อนหน้านั้นเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เจอเรียกว่าอะไร แต่เรารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมทางเพศมาโดยตลอด เราเห็นพ่อทำร้ายร่างกายแม่ แล้วเขาแยกทางกัน แม่ต้องทำงานกลางคืนเพื่อเลี้ยงลูกสองคนด้วยตัวเองคนเดียว ในขณะที่พ่อก็ไปมีเมียเยอะมาก ไปมีลูกทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ แล้วปล่อยให้ผู้หญิงเลี้ยงลูก

“พอโตขึ้นเรามีแฟนเป็นผู้ชาย เราพบว่าตัวเองต้องนั่งทำงานบ้านคนเดียว หรืออย่างตอนที่คบกับผู้ชายมุสลิม เราเจอสภาพที่ผู้ชายกินข้าวก่อนแล้วลุกไป ผู้หญิงกินทีหลังแล้วล้างจาน เรารู้สึกว่าเราไม่โอเค แต่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร 

“แต่พอเรามีชื่อเรียกให้มัน มุมมองของเราเปลี่ยนไปหมด เปลี่ยนตั้งแต่เรื่องชีวิตส่วนตัวเลย เราเข้าใจแล้วว่าทำไมแม่เป็นแบบนั้น รากของปัญหาไม่ใช่เรื่องปัจเจกว่าแม่เป็นคนโมโหร้าย แต่เพราะแม่ก็ถูกทำร้าย พ่อข่มขืนแม่ตอนอายุ 13 ทำให้แม่ต้องอยู่กับเขา ไม่ได้เรียนหนังสือ แล้วต้องมาเลี้ยงลูกสองคนโดยไม่มีความรู้ ส่วนพ่อซึ่งเป็นผู้ชายทำแบบนี้ลงไปโดยที่ไม่เคยมีใครบอกเขาว่าสิ่งที่เขาทำมันผิด สังคมที่เขาเติบโตมาบอกว่าเขาทำแบบนั้นได้ ตบตีผู้หญิงไม่ผิด มีเมียหลายคนไม่ผิด”

เมื่อกระจ่างแก่ใจแล้วว่าความรุนแรงในครอบครัวนั้นซ้อนทับกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ รวมถึงมองเห็นโครงสร้างที่ครอบงำครอบครัวของตนอีกที ปมปัญหาเรื่องครอบครัวในใจของปลาก็คลี่คลาย 

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราทันทีหลังจบการอบรมคือเราเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อครอบครัว พอรู้ว่ารากของปัญหาคืออะไร เราก็เปลี่ยนความคิดตัวเองก่อน จากนั้นจึงเริ่มคิดว่าตัวเองสามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมรอบตัวได้บ้าง”

และนั่นคือสิ่งที่เธอทำอย่างมุ่งมั่นเมื่อย้ายตามแฟนในขณะนั้นไปอยู่จังหวัดปัตตานี

Feminista

02

“น้องเขาร้องไห้ บอกว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่าผู้หญิงมีสิทธิที่จะพูด”

“ตอนแรกเราตั้งใจจะเปิดร้านหนังสือชื่อบูคู แล้วชงกาแฟ อ่านหนังสืออยู่เงียบๆ”​ ปลาสารภาพ “แต่สุดท้ายพอเราเริ่มทำงาน ชวนคนอ่านหนังสือ จัดเสวนาคุยเรื่องหนังสือ จัดงานอ่านบทกวี เราก็อยู่เงียบๆ ไม่ได้”

ฉันคิดว่านั่นคือเสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระ เมื่อเข้าไปในร้านคุณจะพบหนังสือแบบที่หาไม่ได้จากร้านเครือใหญ่ คุณจะได้ร่วมกิจกรรมและพบปะผู้คนที่พูดภาษาของนักอ่านเช่นเดียวกัน แล้วหัวใจและทัศนคติของคุณจะกว้างขวางขึ้น 

สร้างพื้นที่ให้กับความคิดความอ่าน ร้านหนังสืออิสระทำหน้าที่เช่นนั้น 

เมื่อได้รู้จักกับนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ รวมถึงได้เห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ปลาเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะค่อยๆ ขยับไปเคลื่อนไหวเรื่อง gender ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจหลังจากไปบรรยายเรื่องความหลากหลายทางเพศที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์​ วิทยาเขตปัตตานี

“คนจัดงานเขาอยากให้นักศึกษาซึ่งเป็นมุสลิมเข้าใจว่า LGBTQ+ คืออะไร เพราะในทางศาสนาเขาจะถูกสอนว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด แล้วหลังจบงานมีน้องคนหนึ่งที่เป็นทรานส์เจนเดอร์เดินมาถามเราว่า LGBTQ+ ย่อมาจากอะไร เขาแต่งหญิงมาเลยนะ แต่ถามคำถามนั้นกับเรา เราเห็นว่ามันมีคนที่อยากรู้เรื่องพวกนี้อยู่ ก็เลยคุยกับอดีตแฟนว่าจัดคลาส gender 101 แบบเบสิกมากๆ กันไหม เช่น กรอบเพศหญิงเพศชาย บทบาททางเพศ เพศหลากหลาย พวกเราก็เลยทำห้องเรียนเพศวิถีกันที่บูคู” 

ห้องเรียนเพศวิถีไม่ได้จำกัดแค่ LGBTQ+ เท่านั้น แต่ยังเปิดรับคนทุกเพศ ไม่ว่าคุณจะนิยามตัวเองว่าอะไรก็สามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศร่วมกันได้ โดยใช้วิธีการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ส่วนตัว รวมถึงฝึกใช้หัวใจความเป็นมนุษย์เปิดรับความแตกต่างหลากหลายที่อาจจะขัดกับความคิดความเชื่อที่เคยถูกปลูกฝังมา

ผู้เรียนแต่ละคนล้วนมีแบ็กกราวนด์หลากหลาย ปลายกตัวอย่างบางส่วนให้เราฟัง เช่น คนที่คิดถึงญาติเพศหลากหลายที่จำเป็นต้องหนีออกจากพื้นที่ คนที่เคยทำทุกวิถีทางให้น้องสาวเลิกกับแฟนซึ่งเป็นผู้หญิงเหมือนกันเพราะอยากให้น้องสาวได้ขึ้นสวรรค์ หรืออย่างเคสหนึ่งที่กระทบใจฉันเป็นพิเศษ

“ครั้งหนึ่งเราเคยทำงานกับน้องๆ มุสลิม มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งเขาไม่พูดเลย ทำยังไงก็ไม่พูด จนตอนใกล้จะจบคลาส เราให้ทุกคนแชร์รอบวง แล้วเขาร้องไห้ เราเลยแยกเขามาคุยว่าเกิดอะไรขึ้น น้องเขาเลยบอกว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่าผู้หญิงมีสิทธิที่จะพูดในวงที่มีผู้ชายอยู่ด้วย เพราะเขาโตมากับครอบครัวที่ไม่ให้ผู้หญิงพูด”

ฉันจินตนาการว่าน้ำตาของหญิงสาวผู้ตระหนักถึงสิทธิของตัวเองเป็นครั้งแรกคงเปล่งประกายงดงาม และหวังว่าเมื่อรู้ว่าพูดได้แล้วเธอจะพูดทุกสิ่งในใจ และพูดแทนคนอื่นที่อาจจะยังพูดไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ปลาหรือนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ทำ

หลังจากจัดห้องเรียนเพศวิถีได้ราว 5 ปี ปลาและอดีตแฟนก็ขยับขยายการเคลื่อนไหวไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ นั่นคือพื้นที่ของกีฬา

ไม่ใช่กีฬาอะไรก็ได้ แต่เป็นฟุตบอล กีฬาที่แทบจะถูกผูกขาดไว้กับผู้ชาย

03

“เขาไม่ได้มองว่าสิทธิเรื่องเพศเป็นสิทธิมนุษยชน”

“ตอนแรกเราเลือกฟุตบอลเพราะความชอบส่วนตัว แต่พอเตะแล้วถึงได้เห็นสายตาที่ผู้ชายมองผู้หญิงที่เตะบอล” ปลาเล่า 

สายตาที่ปลาพูดถึงมีหลายความนัย 

หนึ่ง–ในการรับรู้ของคนทั่วไป ฟุตบอลไม่ใช่กีฬาของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการแบ่งบทบาททางเพศชัดเจน การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเตะฟุตบอลในสนามจึงถือเป็นเรื่องแปลก 

สอง–สำหรับชาวมุสลิม หญิง-ชายไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆ ร่วมกันได้ ดังนั้นทีมฟุตบอลที่ประกอบด้วยสมาชิกเพศหลากหลาย ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ กะเทย ทอม ฯลฯ จึงถือเป็นของแปลกและต้องห้าม 

แต่เพราะหาญกล้าท้าทายขนบและเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไม่เคยมีพื้นที่ ทีมฟุตบอลบูคูจึงประสบความสำเร็จในหมู่สมาชิกที่มาเตะบอลด้วยกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทั้งยังโด่งดังในฐานะการขยับเขยื้อนเคลื่อนสังคมอย่างสร้างสรรค์ เป็นที่พูดถึงไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่ระดับโลก 

แต่ด้วยความกล้าหาญนี่แหละที่ทำให้ปลาและแฟนโดนต่อต้านและคุกคามอย่างหนัก

“เริ่มมีคนมาดูตอนเราเตะ เริ่มมีเสียงแสดงความไม่พอใจ แต่ก็ยังไม่หนักเท่าไหร่ มาหนักตอนที่สารคดี ก(ล)างเมือง ของ ThaiPBS มาถ่ายทำเรื่องการทำงานของเรา มันเป็นการถ่ายทำที่ไม่ใช่แค่เรื่องงานแต่รวมถึงเรื่องส่วนตัวด้วย คือเรื่องที่เราใช้ชีวิตคู่กับแฟนที่เป็นผู้หญิง”

Feminista

เดาตอนต่อไปได้ไม่ยาก พอสารคดีเผยแพร่ออกไป ผู้ต่อต้านก็แสดงตัวชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการด้านศาสนา ครูสอนศาสนา หรือกระทั่งเพื่อนนักเคลื่อนไหวด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชนด้วยกันเองก็ตาม ซึ่งเป็นคนกลุ่มหลังนี่เองที่ทำให้ปลาเสียใจกว่าใครอื่น เพราะพวกเขาไม่ใช่ใครอื่น

“เป็นเพื่อนที่เราเห็นหน้ากันมา ช่วยงานกันมา แต่พอเป็นเรื่อง LGBTQ+ ไม่เอา ความเท่าเทียมทางเพศไม่เอา เขาไม่ได้มองว่าสิทธิเรื่องเพศเป็นสิทธิมนุษยชนเหมือนกับเรื่องการเมืองที่เขาเรียกร้อง เรื่องการเมืองเขาอ้างอิงหลักสิทธิมนุษยชน หลักสากล แต่เรื่องเพศหรือเรื่องครอบครัว ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เขาใช้หลักศาสนา มันคือการใช้ประโยชน์จากสิทธิมนุษยชนเฉพาะในเรื่องที่ตัวเองต้องการ”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับปลาเมื่อราวๆ สามปีที่แล้ว แต่ในวันนี้สังคมไทยก็ยังขยับเขยื้อนจากเดิมไม่มากนัก นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือผู้ที่เรียกตัวเองว่าปัญญาชนลิเบอรัลหลายคนยังคงมองไม่เห็นความอยุติธรรมทางเพศ ยังเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศในการชุมนุม ยังมีผู้ชุมนุมที่ไล่ให้ทหารที่ไม่เข้าข้างประชาธิปไตยไป ‘ใส่กระโปรง’ เสีย

ในตอนนั้นปลาและอดีตแฟนต้องรับศึกหนัก ทั้งถูกโจมตีด้วยตรรกะวิบัติผิดฝาผิดตัว หนักขึ้นมาคือโดนก่นด่าแบบโต้งๆ และหนักที่สุดคือถูกขู่ฆ่าเอาชีวิต

ปิดร้านหนังสือและเลิกทำทีมฟุตบอล (เป็นการชั่วคราว) ก็แล้ว ติดกล้องวงจรปิดและเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่แต่บ้านก็แล้ว แต่มวลความรู้สึกไม่ปลอดภัยก็ยังคงเป็นเมฆดำที่ปกคลุมและปิดกั้นแสงสว่างในชีวิต

จังหวะนั้นปลาได้รับข่าวดี เธอได้รับทุนไปเรียนต่อด้าน gender ที่ประเทศอินเดีย

04

“เราอยากทำให้คำว่าเฟมินิสต์เป็นคำที่ทุกคนภูมิใจ”

ปลาสมัครชิงทุนการศึกษาไว้สักพักแล้ว เพราะหลังจากเคลื่อนไหวด้าน gender มาหลายปี เธอก็สรุปได้ว่าตัวเองยังมีความรู้ไม่พอ และอยากร่ำเรียนต่อด้วยหวังว่าเมื่อความรู้เพิ่มก็จะทำอะไรเพิ่มได้อีก

เมื่อได้รับทุนในจังหวะที่พอเหมาะพอเจาะ ปลาจึงตัดสินใจได้ไม่ยาก

ไป เพื่อให้ชีวิตเดินต่อ 

ที่อินเดีย ปลาได้เรียนรู้เพิ่มดังใจหวัง และได้ไอเดียแรกเริ่มในการก่อตั้ง Feminista

“ตอนแรกเราเลือกอินเดียเพราะตั้งใจจะกลับไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัด อินเดียมีเรื่องศาสนาและการเมืองที่เข้มข้น บริบทมันเทียบเคียงกันได้ แต่ตอนไปเรียนได้สักพักเราเลิกกับแฟน และใจเราก็รู้สึกว่าตัวเองทำงานกับชุมชนมาเยอะแล้ว ไม่อยากทำแล้ว บวกกับตอนใกล้เรียนจบเราได้ฝึกงานกับเว็บไซต์ที่ทำเรื่อง LGBTQ+ โดยเฉพาะ เราได้เห็นเขาใช้สื่อหลายๆ แบบในการเล่าเรื่องและให้ความรู้ มีทั้งกราฟิก บทความเล่าเรื่อง ฮาวทู หรือจัดอีเวนต์เล็กๆ เราเลยคิดว่าอยากกลับมาทำงานสื่อ

“สิ่งที่เราสนใจคือ ทำไมในประเทศไทยไม่มีแหล่งความรู้เรื่องเฟมินิสม์ ลองคิดชื่อหนังสือเฟมินิสม์ที่เป็นภาษาไทยสิ นึกไม่ออกเลย ตอนเราเรียนต้องอ่านหนังสือเยอะ แล้วหนังสือเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น หนังสือเฟมินิสม์ที่โด่งดังมากๆ ทำไมไม่มีเป็นภาษาไทยเลย เราเลยรู้สึกว่าต้องทำงานแบบนี้ เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีแหล่งข้อมูล เราอยากให้มันมีแหล่งข้อมูล เพราะข้อมูลจะนำมาซึ่งความเข้าใจ”

Feminista

สิ่งที่ปลาทำคือการทำงานทางความคิด ให้ความรู้ซึ่งเสริมพลังเหล่าเฟมินิสต์รุ่นใหม่ และชักชวนคนที่เริ่มสนใจเข้ามาเป็นพวกเดียวกัน พวกที่เชื่อมั่นในความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับความเท่าเทียมของมนุษย์

“เราเลือกที่จะไม่สื่อสารกับคนที่เป็น anti-feminists เพราะมันคงยากที่จะเปลี่ยนใครด้วยคำพูดหรือตัวอักษร แต่เราอยากเพิ่มจำนวนคนที่จะขึ้นมาเป็นเฟมินิสต์ได้มากกว่า” ปลาว่าอย่างนั้น 

เธอบอกด้วยว่าเป้าหมายหนึ่งในชีวิตคือการทำให้ผู้คนเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์อย่างภาคภูมิใจ

“ตอนเราอยู่อินเดีย เราเห็นคนอินเดียเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์อย่างภูมิใจ กระทั่งในไบโอ Tinder ยังเขียนว่าเป็นเฟมินิสต์ พรีเซนต์เลยว่าเป็นเฟมินิสต์สายไหน Marxist Feminist, Intersectional Feminist หรืออะไรก็แล้วแต่ ในขณะที่ในบ้านเรา ถ้าถามว่าเป็นเฟมินิสต์ไหมก็จะอึกอัก เพราะมันเป็นคำที่ลบมากๆ แต่เราอยากทำให้คำว่าเฟมินิสต์เป็นคำที่ทุกคนภูมิใจ”

Feminista

05

“คนตาสว่างเรื่องประชาธิปไตย แต่ยังไม่ตาสว่างเรื่องเพศ”

อันที่จริง ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ฉันไปหาปลาที่ทำงานของเธอที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เวลาขับรถจากอำเภอเมืองราวสองชั่วโมง ถนนทอดยาว ทิวทัศน์ข้างทางเป็นไม้ใหญ่สูงชะลูด ตอนใกล้ถึงปลายทาง ฉันเลี้ยวผิดจึงได้ขับรถตัดผ่านทุ่งนา ต้นข้าวสีเขียวอ่อนตัดกับสีฟ้าสดใส

ปลาต้อนรับฉันด้วยลาเต้ร้อนที่เธอชงเอง ก่อนเดินนำไปหาที่นั่งคุยท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ คนละขั้วกับเรื่องราวชีวิตและความคิดความเชื่อที่เข้มข้นและหนักแน่นเหลือเกิน 

ผ่านมาหลายปี ทำไมคุณถึงยังมั่นคงในเส้นทางนี้

เราว่าไม่อยากให้ใครเจอแบบเรา ด้วยพื้นฐานที่เราเข้าใจความเจ็บปวดของการถูกกระทำในฐานะผู้ถูกกดขี่ เราโดนแม่ตี โดนครูตี เรารู้สึกว่าทำไมเราไม่สามารถสู้กับอำนาจนี้ได้ เพราะเขาเป็นแม่เรา เขาเป็นครูเรา พี่รู้สึกว่าไม่ควรมีเด็กคนไหนถูกกระทำแบบนี้

พอโตขึ้นเราก็ยังถูกกระทำ เราถูกใช้ความรุนแรง เราถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไปไหนมาไหนไม่เคยรู้สึกสบายใจ เราไม่อยากให้คนอื่นต้องมาเจออะไรแบบนี้ อยากให้มันปลอดภัยที่จะใช้ชีวิต ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ก็คือทำให้สังคมมันเปลี่ยนสำหรับผู้หญิง เพศหลากหลาย หรือแม้กระทั่งผู้ชาย เพราะเราก็มีเพื่อนผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกายในครอบครัว ซึ่งผู้ชายก็จะพูดยากไปอีกแบบ จะไม่กล้าส่งเสียงออกมาด้วยความเป็นชาย

 

คุณได้รับผลกระทบจากการออกมาเคลื่อนไหวอยู่มาก ไม่เคยมีความคิดที่ว่า ‘เลิกทำดีกว่า’ เลยเหรอ

เคย บ่อย ตลอดเวลาเลย รู้สึกว่า เอ๊ะ เราไม่ต้องทำอะไรก็ได้หรือเปล่า ทำไมต้องไปแบกรับความทุกข์ ก็ปล่อยเขาสู้กันไป แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันก็ ไม่ได้ว่ะ มันเหมือนอาการตาสว่าง พอเห็นแล้วมันเลิกเห็นไม่ได้  

 

ทุกวันนี้ยังมีความหวังอยู่ไหม

เรามีความหวังกับคนรุ่นใหม่อยู่มาก ตั้งแต่เริ่มเล่นทวิตเตอร์เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในคนรุ่นใหม่ อย่างเวลาเขาไปม็อบ ทุกคนก็พูดทุกเรื่อง ชาติพันธุ์ วันเฉลิม ประชาธิปไตย gender ผู้พิการ เราคิดว่าคนรุ่นใหม่รับสื่อได้หลากหลายมากขึ้น เชื่อมโยงกับแนวคิดของสากลได้มากขึ้น คนรุ่นพี่เสียอีกที่อาจจะตามไม่ทันแล้ว กับคนรุ่นเราเราอาจไม่ค่อยหวังแล้วนะ ใครจะเปลี่ยนได้ก็เปลี่ยน ใครไม่เปลี่ยนก็ไม่เป็นไร แต่เรามีความหวังกับคนรุ่นใหม่ ถึงได้พยายามจะสร้างอะไรที่เป็นแหล่งข้อมูลเอาไว้ ตั้งแต่ทำ Feminista คนรุ่นใหม่มาถามเราเยอะ หลังไมค์มาถามหาหนังสือเกี่ยวกับเฟมินิสม์ หรือถ้าอยากรู้เรื่อง sex worker เรื่องการข่มขืนต้องไปที่ไหน ถ้าอะไรแนะนำได้เราก็จะแนะนำไป เพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำได้คือหาเครื่องมือให้คนรุ่นใหม่เยอะๆ แล้วให้เขาเลือกเองว่าเขาอยากจะเอาอะไรไปใช้

 

เท่าที่ไปม็อบมาก็เห็นประเด็นเรื่อง gender ถูกพูดถึงเยอะจริง 

คนตาสว่างเรื่องประชาธิปไตย แต่ยังไม่ตาสว่างเรื่องเพศนะ การต่อสู้เรื่องผู้หญิงในไทยมันมีมาโดยตลอด แต่ว่าไม่ได้ถูกยกขึ้นเป็นมูฟเมนต์สำคัญแบบมูฟเมนต์ประชาธิปไตย ด้วยความที่บ้านเรามีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยมาตลอด คนก็จะโฟกัสไปที่ประเด็นนั้นเป็นหลัก เหมือนที่มีหลายๆ คนชอบพูดว่า ‘เอาประชาธิปไตยก่อนแล้วค่อยเอาเรื่องเพศ’ ซึ่งตอนนี้มันใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเราเรียกร้องพร้อมกันหมดได้ มันเชื่อมโยงกัน และการที่มีประชาธิปไตยก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเท่าเทียมทางเพศ หลายประเทศก็เป็นประชาธิปไตยแต่ว่า LGBTQ+ ก็ยังโดนฆ่าตายอยู่ มันไม่ได้แปลว่ามีประชาธิปไตยปุ๊บ เรื่องสิทธิอย่างอื่นจะถูกใช้งานปั๊บ แต่ถ้าเราทำทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน เราพูดเรื่องประชาธิปไตย เราพูดเรื่องผู้หญิง LGBTQ+ ชนเผ่า ไปพร้อมๆ กัน ให้เห็นว่าทั้งหมดเป็นระบบที่เชื่อมกัน สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราเรียกร้องจะเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กัน ไม่จำเป็นต้องให้อันนี้เกิดก่อนแล้วอันนั้นเกิดทีหลัง

ในชีวิตการเป็นนักเคลื่อนไหว คุณมองเห็นภาพปลายทางยังไง 

ถึงที่สุดแล้วเราอยากให้คนมองเรื่อง gender equality เหมือนกับเรื่องประชาธิปไตย ทุกวันนี้ประชาธิปไตยถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ประชาธิปไตยกลายเป็นข้างที่ถูกต้อง ไม่มีใครอยากกลับไปเป็นเผด็จการทหาร คนอยากเห็นภาพประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมเท่ากัน เราก็อยากเห็นแบบเดียวกันเกิดขึ้นกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ คือทุกคนพูดถึงเรื่องสิทธิของความเท่าเทียมทางเพศในกระแสหลักโดยไม่ถูกต่อต้าน ซึ่งเราก็เห็นความหวังตรงนี้ด้วยนะ เราเห็นผู้ชายหลายคนเข้าใจเรื่อง gender มากขึ้น บางคนเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์เลยด้วยซ้ำ มันไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาสังคมไม่เปลี่ยนเลย เพียงแต่มันจะค่อยๆ เปลี่ยน

 

ตลอดเวลาที่ทำงานมา มีสิ่งไหนที่คุณรู้สึกเสียดายหรือเสียใจที่ไม่ได้ทำไหม

เราว่าเราทำมาเต็มที่แล้วนะ เพราะตอนอยู่สามจังหวัดเราก็ทำงานเยอะมาก ทำกับชุมชน ทำกับคนหลายกลุ่ม แล้วเราก็มีความบริสุทธิ์ใจกับงานที่ทำ ดังนั้นไม่มีความเสียดายที่ไม่ได้ทำ แต่อาจจะมีความเสียดายที่เราไม่สามารถทำให้เพื่อนเราหลายๆ คนเข้าใจสิ่งที่เราทำได้ อย่างเพื่อนเราในสามจังหวัดที่ไม่เข้าใจใน gender เขาก็ยังคงไม่เข้าใจว่า LGBTQ+ มันเป็นสิทธิมนุษยชน เขาก็ยังมีทัศนคติกับผู้หญิงที่ไม่ค่อยโอเค 

เราอาจจะเสียดายที่เราไม่สามารถทำให้เพื่อนร่วมงานทางการเมืองในตอนนั้น หรือเพื่อนที่ขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตยอยู่ทุกวันนี้ เข้าใจได้ว่าปัญหานี้มันเป็นเรื่องของสถานะทางสังคมด้วย เขามีพริวิเลจของชนชั้นกลาง เขาเติบโตมาอย่างสมบูรณ์ ไม่เคยเห็นว่าการถูกทำร้ายร่างกายมันเป็นยังไง เขาไม่เคยถูกกระทำอะไรบางอย่างที่ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำ เป็นผู้ชายที่พ่อแม่ส่งเรียนหนังสือ ได้อ่านหนังสือเยอะแยะมากมาย โตขึ้นก็มีงานมีการที่ดี เขาก็ไม่เข้าใจว่าผู้หญิงเป็นอะไรนักหนา เขาเป็นเพื่อนเราแต่เขาก็ไม่เข้าใจว่าเรามาเย้วๆ อะไรเรื่องนี้

Feminista

นอกจากสูญเสียมิตรภาพระหว่างรายทาง มีอะไรที่คุณยอมเสียไปอีกเพื่อจะทำงานด้านนี้

คงเป็นเรื่องความร่าเริง รื่นเริงใจ เพราะว่างานเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นงานที่หนัก นักกิจกรรมหลายคน burn out กันเยอะ ทำงาน เครียด นอนไม่หลับ ซึมเศร้า อย่างเราเองก็ได้รับผลกระทบเยอะมากตอนทำงานที่สามจังหวัด ยังมีอาการ PTSD อยู่ หวาดระแวง ซึมเศร้า กลัว

การทำงานนี้เราต้องรับปัญหา รับความทุกข์ของคนเข้ามา เวลามีคนหลังไมค์มาหาว่า แม่ไล่ออกจากบ้าน ถูกคุกคาม ถูกขู่ฆ่า เราก็ไม่สามารถจะดูดายมันได้ 

ชีวิตปกติสุข เราว่าเราสูญเสียมันไป

 

แล้วทุกวันนี้ยังมีความสุขกับชีวิตอยู่บ้างไหม

เราก็ต้องหันกลับมาดูแลตัวเอง ต้องรู้ตัวเร็วๆ ว่า กำลังหนักแล้ว ไม่ไหวแล้ว แล้วก็กลับมาดูแลตัวเอง ไปพัก ไปทำอย่างอื่น เล่นดนตรี ฟังเพลง เล่นกับแมว อยู่กับธรรมชาติ แล้วค่อยกลับมาใหม่ โดยพยายามมองไปข้างหน้าว่าเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่จะถูกต่อต้าน เป็นเรื่องธรรมดาที่การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ถูกปลูกฝังมายาวนานมันต้องใช้เวลา เราไม่สามารถเปลี่ยนได้ภายในวันสองวันหรือปีสองปี เป็นเรื่องธรรมดามากๆ อาจารย์ชลิดาภรณ์ (รศ. ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์) ยังเคยพูดไว้ว่า ไม่มีเฟมินิสต์คนไหนลุกขึ้นมาพูดแล้วไม่โดนด่า มันต้องโดนอยู่แล้ว เพราะเรากำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรบางอย่างที่มันใหญ่มาก

นั่นแหละ เราก็เลยใช้วิธีนี้ช่วยให้ตัวเองกลับมามีความสุขกับอะไรรอบตัวได้

Feminista

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่จังหวัดเชียงใหม่