Ray Kurzweil นักเขียน นักนวัตกรรม และนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผู้มีชื่อเสียง ได้ประมาณการไว้ว่า หากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนาด้วยอัตราในปัจจุบันต่อไปเรื่อยๆ ภายในช่วง 30 ปีนับจากนี้ เราอาจได้เห็นปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดกว่ามนุษย์จนเข้ามาเปลี่ยนแปลงอารยธรรมทั้งหมดของมนุษย์ครั้งใหญ่
ความฉลาดกว่ามนุษย์นั้นมีหลากหลายและยากต่อการนิยาม ดังนั้นคำว่า ‘ฉลาดกว่ามนุษย์’ ในที่นี้จึงหมายถึงฉลาดกว่าในแทบทุกมิติ ทั้งความสามารถเชิงการแก้ปัญหา ภาษา จนถึงการใช้เหตุผลและการเรียนรู้
แนวคิดของเขาอาจฟังดูเพ้อฝันและไกลตัวมาก แต่หากมองให้ดีจะพบว่าสปีดการพัฒนาของเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์นั้นสูงมากจริงๆ
เมื่อ 30 ปีก่อน คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์เป็นของที่ดูห่างไกลตัวเรามาก จนยากจะเชื่อว่าสักวันหนึ่งบ้านแทบทุกหลังจะมีคอมพิวเตอร์อย่างทุกวันนี้ และทุกวันนี้ปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราหลายทาง หนึ่งในนั้นคือ เรียนรู้การใช้งานเว็บไซต์ของเราเพื่อจะได้แนะนำภาพยนตร์หรือเพลงที่เหมาะสมให้กับเรา หรือแม้แต่ส่งโฆษณาที่เราน่าจะสนใจมาที่หน้าจอของเรา
โกะนั้นเป็นเกมกระดานที่ถือกำเนิดขึ้นมานานกว่าหลายร้อยปีก่อนคริสตกาลและมีรูปแบบการเดินที่เป็นไปได้มากมายมหาศาลจนหลายคนเชื่อว่า ปัญญาประดิษฐ์ที่ชนะมนุษย์ได้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ปัญญาประดิษฐ์ AlphaGo ก็เอาชนะนักเล่นโกะอันดับหนึ่งของโลกได้ เมื่อ ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา
แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่คอยผลักดันให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วก็คือ แรงขับทางเศรษฐกิจ
ปัญญาประดิษฐ์นั้นเรียนรู้และทำการประมวลผลได้รวดเร็ว ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรืออิดออดอย่างมนุษย์ รวมทั้งยังทำงานด้วยความเที่ยงตรงสม่ำเสมอ ไม่สะเพร่า ไม่รู้จักลืม จึงไม่น่าแปลกใจที่สักวันมันจะเข้ามาแทนที่มนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งถ้าเทคโนโลยีด้านกลไกสร้างแขนกลหรือเครื่องจักรอื่นๆ ที่มีระบบการเคลื่อนไหวละเอียดอ่อนได้ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะยิ่งถูกเร่งด้วยสปีดที่มากกว่านี้หลายเท่า
หากเราก้าวข้ามคำถามที่ว่า ปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดกว่ามนุษย์จะถูกสร้างขึ้นเมื่อไหร่? กล่าวคือ หากมันถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ปัญญาประดิษฐ์นั้นจะมีความรู้สึกตัวและมีความต้องการของตนเองอย่างที่มนุษย์เราเป็นได้หรือไม่?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ขอแนะนำให้รู้จักกับคุณแฟรงก์ สมิธ ก่อน
แฟรงก์ สมิธ เป็นชายผู้มีอาการทางจิตโดยหลงผิดไปว่าเขากำลังเป็นที่หมายหัวของแก๊งมาเฟียทรงอิทธิพล และนี่เป็นบางส่วนของบทสนทนาระหว่างแฟรงก์ สมิธ กับจิตแพทย์
จิตแพทย์ : ทำไมคุณมาอยู่ในโรงพยาบาลนี้
แฟรงก์ สมิธ : ผมไม่ควรมาอยู่ที่นี่เลย
จิตแพทย์ : แล้วใครพาคุณมา
แฟรงก์ สมิธ : ตำรวจครับ
จิตแพทย์ : คุณทำอะไรผิดมาเหรอ
แฟรงก์ สมิธ : ตำรวจไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ
จิตแพทย์ : แล้วพวกตำรวจทำอะไรล่ะ
แฟรงก์ สมิธ : พวกเขาจับคนไม่มีความผิดน่ะสิ
จิตแพทย์ : เขาอาจจับคนทำผิดจริงก็ได้นะ
แฟรงก์ สมิธ : พวกเขาควรไปจับไอ้พวกโจรอิตาเลียน
จิตแพทย์ : คุณเป็นคนอิตาเลียนหรือเปล่า
แฟรงก์ สมิธ : ผมเกิดที่นี่ แต่ไปโตที่อังกฤษ
จิตแพทย์ : คุณรู้จักแก๊งโจรอิตาเลียนบ้างไหม
แฟรงก์ สมิธ : ผมไม่อยากไปยุ่งกับพวกใต้ดินเหล่านั้น
นี่เป็นบทสนทนาบางส่วนของคุณแฟรงก์ สมิธ กับจิตแพทย์ ในช่วง ค.ศ. 1970
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วคุณแฟรงก์ สมิธ ไม่ได้รับการรักษาจริงๆ เพราะเขาเป็นโปรแกรมแชตอัตโนมัติชื่อ PARRY ที่ถูกสร้างขึ้นโดย Kenneth Colby จิตแพทย์ชาวอเมริกัน
การทดลองคือ ให้อาสาสมัครจิตแพทย์มาพิมพ์คุยกับคนไข้จริงๆ หลายคนผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์โดยมี PARRY ปะปนอยู่ แล้วให้จิตแพทย์วิเคราะห์ว่าใครคือปัญญาประดิษฐ์
ผลการทดลองพบว่า จิตแพทย์ตอบถูกเพียง 48 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในทางสถิติถือว่าใกล้เคียงกับการเดาสุ่ม
แม้ PARRY จะเอ๋อไปเวลาเจอคำถามที่กว้างมากๆ แต่การทดลองนี้นับได้ว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์ที่โต้ตอบกับคนได้จนคนแยกไม่ออกอาจถูกสร้างขึ้นได้จริงๆ
ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1950 อัจฉริยะหนึ่งในผู้บุกเบิกวิทยาการคอมพิวเตอร์ Alan Turing ตั้งคำถามว่าคอมพิวเตอร์สามารถคิดได้หรือไม่?
เขาเชื่อว่าหากปัญญาประดิษฐ์สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์จนมนุษย์แยกไม่ออกว่าสิ่งที่คุยด้วยเป็นปัญญาประดิษฐ์หรือมนุษย์จริงๆ ก็แปลว่า ปัญญาประดิษฐ์นั้นผ่านการทดสอบ
ปัจจุบันการทดสอบนี้เรียกว่า การทดสอบของทัวริง (Turing test) ซึ่งยังไม่มีโปรแกรมไหนที่ผ่านการทดสอบนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบเลย
อลัน ทัวริง เชื่อว่าหากคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ฉลาดขึ้นถึงจุดหนึ่ง มันจะผ่านการทดสอบ และในที่สุดมันจะคิดได้ไม่ต่างจากมนุษย์
แต่ใน ค.ศ. 1980 John Searle นักปรัชญาชาวอเมริกันประกาศแนวคิดที่ตรงข้ามกับทัวริง โดยเขาเชื่อว่าต่อให้คอมพิวเตอร์ผ่านการทดสอบของทัวริง ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีความคิดแบบมนุษย์
เขาอธิบายขยายความเรื่องนี้ด้วยการทดลองในจินตนาการอันโด่งดังที่มีชื่อว่า Chinese room
สมมติว่ามีชายคนหนึ่งที่ไม่รู้ภาษาจีนเลยอยู่ในห้องปิดล็อก แล้วมีคนสอดกระดาษเขียนด้วยภาษาจีนลอดประตูเข้ามา ชายคนนั้นจะสามารถเขียนภาษาจีนโต้ตอบได้ หากในห้องนั้นมีหนังสือที่อธิบายเป็นภาษาอังกฤษอย่างละเอียดว่าต้องเขียนอักษรจีนแบบไหนและโต้ตอบอย่างไร
การโต้ตอบจะไหลลื่นมาก เพียงแค่ชายที่อยู่ภายในห้องสามารถมองหาวิธีการโต้ตอบได้เร็วจนคนที่อยู่นอกห้องคิดว่าชายในห้องเก่งภาษาจีนมากๆ ทั้งที่จริงๆ เขาไม่รู้ภาษาจีนเลยแม้แต่น้อย
จอห์น เซิร์ล เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ก็ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่ตนเองโต้ตอบเช่นกัน
แต่นักปรัชญาสายพฤติกรรมนิยมมองต่างออกไปเพราะพวกเขาเชื่อว่าทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในใจของมนุษย์สามารถอธิบายได้ด้วยสิ่งที่แสดงออกมาเชิงพฤติกรรมหรือผลลัพธ์ทางร่างกายอื่นๆ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปควานหาจิตใจเลยว่าเป็นอย่างไร
บางทีจิตใจเราอาจเป็นเพียงซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนก็เป็นได้
ในแง่นี้ หากปัญญาประดิษฐ์สามารถแสดงพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ ใครเล่าจะกล้าฟันธงได้ว่าภายในจิตใจของมันแตกต่างจากเรา
สุดท้าย แม้ปัญญาประดิษฐ์จะถูกพัฒนาขนาดไหนก็คงไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะงานหลายๆ อย่างยังต้องการ ‘ความเป็นมนุษย์’ อยู่กระมัง
อ้างอิง