insKru คอมมิวนิตี้ออนไลน์ที่จะช่วย inspire ครูให้มีพลังในการสอน

Highlights

  • ปัจจัยหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของไทยคือ การที่เด็กทั่วประเทศได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน ซึ่ง 'ครู' เองก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ความรู้ เทคนิคการสอน และวิธีสร้างบรรยากาศในห้องเรียน
  • insKru คือคอมมิวนิตี้แลกเปลี่ยนไอเดียการสอนเจ๋งๆ ระหว่างครูและคนรักการสอนทั่วประเทศ ที่เกิดจาก นะโม–ชลิพา ดุลยากร อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่มีแพสชั่นด้านการศึกษาและฝันอยากเห็นห้องเรียนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของเด็กๆ
  • นอกจากเว็บไซต์ที่ใช้แบ่งปันและเก็บไอเดียการสอน รวมถึงจัดหมวดหมู่เพื่อความสะดวกในการค้นหาแล้ว insKru ยังมีเพจเฟซบุ๊กที่นำเสนอไอเดียการสอนผ่านรูปแบบที่เข้าใจง่าย มีการหยิบเอาเรื่องที่กำลังเป็นกระแสมาบูรณาการกับการสอนเพื่อทำให้น่าสนใจมากขึ้น

เคยได้ยินใครสักคนบอกว่า ‘ครูดีๆ คนหนึ่งสามารถเปลี่ยนโลกของเด็กได้’

ประโยคนั้นทำให้ฉันหวนนึกถึงตัวเองในวัยเรียน เพราะจำได้ว่ามีครูที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์สนุกมาก ทั้งที่ฉันไม่ได้ชอบวิชานี้สักเท่าไหร่ แต่พอถึงคาบเรียนทีไรก็เฝ้าตั้งตาคอยเรียนกับครูคนนี้เสมอ

ตอนนั้นฉันก็ไม่ได้คิดอะไร แค่รู้สึกเอนจอยกับการเรียนจนทำให้อยากไปโรงเรียนมากขึ้น แต่พอโตจนเรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่การงานและได้รับรู้ถึงปัญหาการศึกษาไทยในเชิงลึก ก็รู้สึกว่าตัวเองสุดแสนโชคดีที่ได้เจอครูดีๆ ตั้งใจสอนและไม่ทำให้ฉันเข็ดขยาดกับการเรียนวิชาที่ไม่ชอบ

ในใจคิดว่าถ้าครูในประเทศไทยมีการแบ่งปันวิธีการสอนก็คงจะดี ครูที่สอนเก่ง สอนสนุก จะได้สร้างประโยชน์ได้มากกว่าแค่ห้องเรียนที่ตนสอน เด็กนักเรียนโรงเรียนอื่นก็จะได้มีประสบการณ์ในห้องเรียนกับครูผู้สอนที่ดีขึ้น ไม่มองว่าห้องเรียนเป็นพื้นที่ปิดที่น่ากลัวอีกต่อไป

แน่นอนว่ามีหลายคนคิดเหมือนฉัน และนี่คือคนที่ลงมือทำ

นะโม–ชลิพา ดุลยากร คือผู้ก่อตั้งพื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนออนไลน์ภายใต้ชื่อ insKru ที่มาจากคำว่า inspire และ kru เปรียบเสมือนคลังแสงสำหรับคนรักการสอน เพราะนอกจากจะรวบรวมการสอนในคาบเรียนวิชาต่างๆ เทคนิคการสอน และกิจกรรมเสริมในห้องเรียนแล้ว เธอกับทีมยังช่วยกันจัดหมวดหมู่และนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายจากภาพวาด อินโฟกราฟิก และข้อความอธิบายที่ไม่ยาวเกินไป ทั้งยังมีเพจเฟซบุ๊กเพื่อให้เข้าถึงง่ายขึ้น

วันที่เจอกัน เธอกำลังเตรียมจัดงานเสวนากับกลุ่ม ‘ครูขอสอน’ กลุ่มครูรุ่นใหม่ที่อยากขับเคลื่อนระบบการศึกษา การพูดคุยในวันนั้นทำให้ฉันเห็นว่าการศึกษาไทยยังก้าวต่อไปได้ ตราบใดที่ยังมีคนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและอยากพัฒนาจริงๆ

วิชาแนะแนว – เรียนไม่ตรงสายก็ทำสิ่งที่ชอบได้

ด้วยความที่เติบโตมาในบ้านที่เป็นโรงเรียนและแถวบ้านก็มีโรงเรียน ชีวิตของนะโมจึงผูกพันกับการศึกษามาตั้งแต่เกิดโดยไม่รู้ตัว แต่จุดที่ทำให้เธอสนใจการศึกษาอย่างจริงจังคือช่วงมัธยมปลายที่ได้ไปสอนหนังสือเด็กบนดอย

“รู้สึกว่าชอบรอยยิ้มของเด็กๆ เราชอบสอนหนังสือ ชอบเจอเด็ก ชอบทำให้เด็กมีความสุข จากตรงนั้นเราก็เลยไม่อยากให้แค่เด็กที่เราสอนมีความสุข แต่อยากเห็นเด็กทั่วประเทศมีความสุขจากการเรียนรู้ เราก็โยงว่าถ้างั้นก็ต้องมีครูที่ดีสิ เพราะเราเคยไปทำค่ายอาสาสอนเด็ก พอกลับบ้านมา เด็กก็อยู่กับครูของเขาอยู่ดี ตกลงแล้วเราไปทำอะไรวะ ก็เลยเริ่มสนใจเรื่องครูมาเรื่อยๆ”

จากแพสชั่นด้านการศึกษาบวกกับความสนใจเรื่องการปลูกฝังความรับผิดชอบในเด็กญี่ปุ่น ทำให้เด็กสาวตัดสินใจบินไปสมัครสอบครูอนุบาลที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ก็พลาดตกรอบสุดท้ายไปอย่างน่าเสียดาย

“ตอนนั้นเลยไปติวสถาปัตย์เพราะชอบเรื่องออกแบบอยู่แล้ว และก็ได้ดูคลิปหนึ่งที่เป็นนักออกแบบไอศครีม IceDEA เขาพูดทำนองว่าเรียนสาขานี้มา เป็นนักออกแบบอะไรก็ได้ แม้กระทั่งออกแบบชีวิตตัวเอง เขาเลยเลือกเป็นนักออกแบบไอศครีม เราก็เลยคิดว่าถ้างั้นเป็นนักออกแบบการศึกษาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นครู ก็เลือกคณะนี้เลย” ซึ่งเมื่อนะโมหันมาเรียนด้านดีไซน์ก็ทำให้รู้ว่าการออกแบบคาบเรียนคล้ายคลึงกับการออกแบบเซอร์วิสร้านค้าต่างๆ นั่นจึงเป็นจุดที่บอกว่าเธอมาถูกทางแล้ว

เท่านั้นยังไม่พอ เธอยังพยายามขวนขวายหาช่องทางอื่นๆ เพื่อพาตัวเองเข้าไปในวงในระบบการศึกษาไทย อย่างการสมัครเป็น Campus Leader ของโครงการ Teach for Thailand และได้คลุกคลีกับคนวงการการศึกษามากขึ้น จนมาถึงช่วงที่ต้องทำโปรเจกต์จบ ซึ่งเธอก็ตั้งเป้าว่าจะทำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาและสามารถพัฒนาต่อไปเป็นอาชีพได้

ช่วงแรกนักเรียนสถาปัตย์คนนี้เลือกเอา pain point ตัวเองเรื่องการติวสอบมาทำทีสิส แต่ก็ล้มเลิกไปเพราะความไม่อิน และคิดว่าตัวเองกำลังส่งเสริมระบบการศึกษาที่สร้างความเหลื่อมล้ำอยู่ เธอจึงเอาตัวเองไปอยู่กับโรงเรียนและคุยกับครูอย่างจริงจังในช่วงปิดเทอมเล็กแทน

“เราได้ไอเดียจากการเจอครูที่มีวิธีการสอนโดดเด่นจากครูคนอื่น แต่ขณะเดียวกันก็เห็นอะไรแปลกๆ อย่างการที่เขาต้องลบไฟล์ที่สอนทุกอาทิตย์เพราะเมมฯ เต็ม ฟังแล้วมันเสียดาย ตัวคาบเรียนเองก็น่าสนใจและน่าจะนำไปบอกครูคนอื่น เราเลยไปค้นเพิ่มว่ามันมีพื้นที่ที่ตอบโจทย์แบบนี้ไหม พบว่าอ๋อ มันคือ Pinterest ไง”

แต่ด้วยความที่แพลตฟอร์มนี้ดูไกลตัวกลุ่มเป้าหมายไปหน่อย เว็บไซต์ครูไทยที่มีอยู่ก็ไม่ตอบโจทย์ การแชร์ผ่านกูเกิลไดรฟ์ก็ดูไม่น่าจะได้ผล ช่องว่างนี้เองที่ทำให้เธอนำไปเสนอกับพี่ๆ ในแวดวงการศึกษา จนได้ร่วมมือกับ ยีราฟ–สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร แห่ง Saturday School ที่เคยคิดไอเดียนี้มาแล้ว และนักพัฒนาเว็บไซต์ เคนโด้–ศิวกร ธิติศักดิ์สกุล จนเกิดเป็นเว็บไซต์ insKru เวอร์ชั่นแรกขึ้นมา

วิชาคอมพิวเตอร์ – ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์

Always inspire, always inskru คือสโลแกนที่นะโมตั้งให้กับพื้นที่แบ่งปันการสอนออนไลน์นี้

“มันมองได้ 2 มุมคือ เราเป็นพื้นที่ที่ inspire อยู่เสมอ ถ้าคุณเข้ามา คุณจะรู้สึก inspire ขณะเดียวกันเราก็พยายามบิลด์ให้คุณไป inspire คนอื่น เพื่อแชร์ไอเดียต่อไปด้วย” หญิงสาวเจ้าของโปรเจกต์อธิบายพร้อมยิ้มตาหยี

ข้อดีของการเป็นเว็บไซต์คือการมีพื้นที่เก็บคอนเทนต์ที่สามารถจำแนกหมวดหมู่ ค้นหาได้ง่าย และผู้ใช้เข้าถึงได้สะดวกสบาย ช่วงทำเว็บไซต์แรกๆ ยีราฟที่เคยเป็นครูใน Teach for Thailand มาก่อนก็พยายามขอข้อมูลเรื่องการสอนจากเครือข่ายเพื่อนครูมาอัพโหลด หลังจากนั้นนะโมที่ชอบไปร่วมงานด้านการศึกษาก็ได้คอนเนกชั่นครูดีๆ เก่งๆ เพิ่มขึ้นมา ทำให้ได้ทรัพยากรการสอนที่มากขึ้นตามไปด้วย

แม้ว่าวันนี้ insKru จะเหลือเธอคนเดียวที่เป็นโต้โผ เนื่องจากผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองคนขอถอนตัวไปทำโปรเจกต์ของตัวเอง แต่หญิงสาวก็ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มนี้มาได้ด้วยความร่วมมือกับกลุ่มเพื่อการศึกษากลุ่มอื่นๆ รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่เห็นคุณค่าและความเป็นไปได้ของสิ่งที่นัก (อยาก) ออกแบบการศึกษาคนนี้ลงมือทำ

“จริงๆ มีคนที่ตั้งต้นขับเคลื่อนเรื่องนี้มาก่อนเราคือ กลุ่มเฟซบุ๊กชื่อว่า ‘ครูปล่อยของ (เพื่อนพลเรียน)’ กลุ่มนี้พิสูจน์ว่าครูมีการแชร์ไอเดียกัน ไม่งั้นเราจะรู้สึกเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา ตอนนั้นก็คิดว่าเจ๋งว่ะ ครูมาแชร์ไอเดียกันผ่านเฟซบุ๊ก แต่มารู้ความจริงทีหลังว่าคนที่เป็นเจ้าของกรุ๊ปต้องไปบอกครูเจ๋งๆ ว่าอันนี้ดีมากเลย เอามาแชร์ในกลุ่มหน่อย มันไม่ได้เกิดการแชร์อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นวิธีแมวมองแล้วสะกิดมาลง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปหนึ่งปี คนเริ่มโพสต์อัตโนมัติประมาณ 5 คน คือมันเวิร์กกว่าเว็บเราอีก”

“ดังนั้น เราจึงมอง position ตัวเองใหม่และมารวมตัวกับกลุ่มนี้แทน มองว่าถ้าเราเจอครูเจ๋งๆ จากเวิร์กช็อป เราจะลากเขามาที่กลุ่มนี้ ด้วยความที่เฟซบุ๊กมันเป็นฟีดเลื่อนลงมาเรื่อยๆ ย้อนหาลำบาก ก็เลยมีเว็บที่เป็นคลังแยกหมวดหมู่ให้ดีๆ และมีเพจเป็นหน้าบ้านที่คอยกระจายคอนเทนต์”

เพจที่นะโมว่าก็คือเพจ Inskru –พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งขาภายใต้ร่มโปรเจกต์ของเธอที่คอยนำเสนอไอเดียการสอนในรูปแบบต่างๆ เช่น โพสต์ อัลบั้มภาพ วิดีโอ ฯลฯ รวมถึงแชร์ข้อมูลข่าวสารกิจกรรมดีๆ

“ช่วงที่มีข่าวทีมหมูป่าติดถ้ำ เราปิ๊งไอเดียจากการมีปรัชญาในใจอยู่แล้วว่าทำไมต้องเอาแต่หนังสือมาสอน มันไม่สนุก ก็เลยเอาหมูป่ามาสอน แยกเป็นวิชาต่างๆ อย่างวิทย์ คณิต สังคม เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียน ทำเป็นโพสต์ออกมา สรุปคนแชร์หมื่นกว่า ทำให้ยอดไลก์เพจจาก 500 เป็น 5,000 คนก็ชอบเพราะมันใหม่มาก หลังจากนั้นก็จับจุดได้ว่าทำล้อไปกับกระแสนี่แหละ ทีนี้พอมีไอเดียมากขึ้นก็รวมเป็นเซต เช่น รวมไอเดียที่ทำให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็น”

“คอนเทนต์ของ insKru ส่วนใหญ่เป็นแนวที่พยายามชวนทุกคนมองหาสิ่งใหม่ๆ ในห้องเรียน และเอาตัวอย่างที่ครูทำในห้องเรียนอยู่แล้วมาแชร์ เพราะถ้าเอาตัวอย่างจากเมืองนอกหรือโรงเรียนทางเลือกก็จะคนละบริบทกัน เราก็เอาไอเดียจากโรงเรียนรัฐและเอกชนปกตินี่แหละมาใช้ และชวนคนตั้งคำถามแปลกๆ อย่างถ้าไม่เช็กชื่อด้วยการตอบว่ามาครับ มาค่ะ จะเช็กชื่อด้วยวิธีไหนได้บ้าง รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน เพราะจริงๆ แล้วคาบเรียนก็ส่วนหนึ่ง เทคนิคการสอนจะยังไงก็ได้ แต่ถ้าพื้นฐานความสัมพันธ์ของครูกับเด็กยังไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ ต้องดูที่วิธีคิดของครูด้วยว่าครูรับฟังเด็กไหม ครูเข้าใจพวกเขาจริงๆ หรือเปล่า”

วิชาสังคมศึกษา – วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้

ในระยะเวลากว่าปีครึ่งที่นะโมลงทุนลงแรงปลุกปั้นพื้นที่นี้ขึ้นมา เธอกลายเป็นบุคลากรคนสำคัญในวงการการศึกษาไทย ทั้งยังได้ส่งต่อไอเดียการสอนดีๆ ไปกว่าหลายร้อยไอเดียผ่านหน้าตาการนำเสนอยุคใหม่ น่ารัก และเป็นกันเอง

ทว่าในคุณสมบัติเหล่านี้ก็มีปัญหาแฝงอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าไม่ได้มาคุยกับเธอ ฉันเองก็ไม่มีทางรู้

“ยังมีครูบอกว่ามันไม่น่าเชื่อถือ กลายเป็นโจทย์ที่ว่าทำยังไงให้น่าเชื่อถือ และถ้าใครเข้าไปในเว็บจะเจอแต่ไอเดียครูนะโมเต็มไปหมด นี่ก็เป็นอีกโจทย์ที่ทำยังไงเพื่อให้ครูกล้ามาลงไอเดียมากขึ้น ซึ่งอันนี้ถือเป็นการฝืนวัฒนธรรมเก่ามากเลยนะ เพราะก่อนจะมีกลุ่มครูปล่อยของ แทบไม่มีใครเปิดห้องเรียนเลย รู้สึกว่าห้องเรียนเป็นพื้นที่ปิด ไม่อยากพูดคุยกัน กลัวผิด แต่แค่มีกลุ่มนี้มา disrupt และมี insKru มา disrupt อีกทีหนึ่ง ก็ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนวัฒนธรรมตรงนี้”

เนื่องจากครูเป็นอาชีพที่คนในสังคมยกย่องและมักได้รับความคาดหวังสูง ไม่ว่าจะทำอะไรสิ่งนั้นต้องถูกต้องดีเสมอ ชุดความคิดแบบนี้เองที่ทำให้คนทำอาชีพนี้ในประเทศไทยไม่กล้าแชร์ความคิดเห็นกัน ทั้งที่ความจริงแล้วการแชร์คือวัฒนธรรมที่ดีที่สุดในการส่งต่อองค์ความรู้ ซึ่งนะโมเองก็พยายามผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมนี้มาตลอด

“รู้สึกว่าครูสมัยนี้เปลี่ยนไป มีจุดที่เราเห็นว่าพอครูเปลี่ยนวิธีคิดไปอีกมุมหนึ่งแล้วมันดียังไง เราเลยพยายามทำให้เกิดการระบาดของเชื้อตรงนี้ให้ได้ มองว่ามันเหมือนกับการแทรกซึมทางวัฒนธรรม ถ้าเราเปลี่ยนระบบไม่ได้ เราก็เปลี่ยนวัฒนธรรมให้คนมันเปลี่ยน อย่างน้อยน่าจะถึงเด็กและห้องเรียนได้มากที่สุด”

แน่นอนว่าสิ่งที่เธอทำไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้พลังไม่น้อยในการจัดการดูแลทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน แต่ทุกครั้งที่เธอเหนื่อยหรือเฟลก็จะมีครูทักมาให้กำลังใจตลอด ทำให้เธอยังมีแรงทำงานนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ

“แค่เราโพสต์ตอน 7 โมงเช้าแล้วตอนบ่ายๆ มีคนบอกว่าลองเอาไปทำแล้วเวิร์กไม่เวิร์ก เราก็ดีใจแล้ว เพราะเรารู้ว่าทุกๆ อย่างที่เราโพสต์เป็นสิ่งที่เด็กทำแล้วมีความสุขแน่ๆ ถ้าครูนำไปทำในห้องเรียน เด็กก็น่าจะมีความสุข” ดวงตาของหญิงสาวส่องประกายแสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ

คาบว่าง – สำรวจตัวเองอยู่เสมอ

จาก insKru ที่เหลือนะโมเป็นหัวเรือแค่เพียงคนเดียว ตอนนี้เธอมีผู้มาร่วมเสริมทัพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นครูในระบบ ครูจากโครงการ Teach for Thailand คนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน จนกระทั่งเด็กนักเรียน นักศึกษา พวกเขาเหล่านี้ถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยผลิตคอนเทนต์และจัดกิจกรรมกับเวิร์กช็อปต่างๆ เพื่อทำให้แพลตฟอร์มนี้ดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่ยังไม่นับรวมกลุ่มนักวาดภาพประกอบอาสา กลุ่มนักเขียนอาสา เครือข่ายครู และคนอื่นๆ อีกกว่าร้อยชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้

ด้วยความที่เริ่มต้นจากการเป็นโปรเจกต์ทีสิสและไม่ผูกมัดกับองค์กรใด ทำให้ insKru สร้างความรู้สึกที่เป็นของทุกคน ไม่ว่าใครก็สามารถโยนไอเดียและเข้ามาส่งเสียงของตัวเองได้

“มันกลายเป็นมากกว่าพื้นที่ เป็นอะไรที่ดีต่อใจครู มีความเป็นคอมมิวนิตี้ มีครูคนหนึ่งที่เวลารู้สึกหมดไฟ เขาจะเปิดเพจเรามาดูว่ามีเวิร์กช็อปอีกเมื่อไหร่ เรากลายเป็นที่ที่ถ้าครูหมดไฟ ก็เข้ามาหาได้ 24 ชั่วโมง บางทีก็มีครูทักมาถามว่าจะสอนเรื่องนั้นเรื่องนี้ยังไงให้สนุก รู้สึกว่าเราเหมือนพื้นที่ที่ empower และขณะเดียวกันก็เป็นเพื่อนครูด้วย”

แม้โปรเจกต์นี้จะได้รับทุนอุดหนุนจากหลายองค์กร แต่ตัวผู้ก่อตั้งอย่างนะโมเองก็พยายามหาวิธีทำให้ทั้งตัวเว็บไซต์ เพจ และกิจกรรมต่างๆ เลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว ยกตัวอย่างการทำโปรดักต์อย่างหนังสือ การออกแบบคอร์สการสอน การรับจัดเวิร์กช็อป รวมถึงการหาสปอนเซอร์เพื่อมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ซึ่งช่วงหลังๆ เธอก็เปลี่ยนเป็นเก็บค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ร่วมกิจกรรมแทน เพราะมักเจอคำถามวัดผลว่าครูนำไอเดียเหล่านี้ไปใช้งานจริงขนาดไหน

“เราก็ไม่รู้หรอก มันวัดยากมาก เพราะเราก็กระจายไอเดียไปเยอะ สมมติครูเขาโพสต์ไอเดียของตัวเอง อาจจะมีคนแชร์ไป 20 คน พอเราลองมารวมเป็นเซตไอเดียในเพจ มันก็มีคนแชร์ไป 400-500 รีชก็เยอะมาก แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่ามันไปสู่ห้องเรียนจริงๆ สักเท่าไหร่เชียว เราก็ตอบได้แค่ยอดดาวน์โหลด ยอดวิว แต่ไม่สามารถตอบได้ว่ามันไปไกลแค่ไหนแล้ว มันกลายเป็นว่าเราเห็นมันขึ้นมามากกว่า พอคนเขาเอาไปใช้ ก็จะโพสต์ลงเฟซบุ๊กและแท็กเรามา อย่างวันไหว้ครูก็มีหลายโรงเรียนที่เปลี่ยนเป็นแบบที่เรานำเสนอ หรือกิจกรรมเล็กๆ เกมง่ายๆ ครูที่นำไปใช้ก็มาบอกเราว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับนักเรียนเปลี่ยนไป เด็กกล้าเข้าหาเขามากขึ้นอะไรทำนองนี้ มันวัดเป็นตัวเลขไม่ได้”

สิ่งที่น่าแปลกใจคือ แม้แพลตฟอร์มนี้ดูเป็นสื่อสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังมีครูเก่าๆ หรือครูอายุมากจำนวนไม่น้อยที่มาร่วมกิจกรรมอยู่เสมอๆ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอายุหรือยุคสมัย สำคัญคือหัวใจของคุณยังรักที่จะเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ไหมต่างหาก

เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้เราเปลี่ยนระบบไม่ได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนวิธีการสอน และเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนได้ นอกจากเด็กจะมีความสุขแล้ว ฉันเชื่อว่าครูผู้สอนเองก็จะมีความสุขไม่แพ้กัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่