Classroom Makeover : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงเรียนคนตาบอดให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ 360 องศา

เมื่อพูดถึงโรงเรียนสอนคนตาบอด หลายคนอาจจะนึกถึงการเรียนการสอนอักษรเบรลล์ การสอนเรื่องการจับคลำสิ่งของ การสอนเรื่องทิศทาง และวิชาพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม แต่น้อยคนนักที่จะรู้มากไปกว่านั้น ว่าแท้จริงแล้วคนตาบอดต้องการอะไร และต้องการห้องเรียนแบบไหน

ในความคิดของหลายๆ คน โรงเรียนสอนคนตาบอดไม่ต่างจากดินแดนสนธยาที่ดูยากจะเข้าถึง แคมเปญและกิจกรรมเรื่องการศึกษาส่วนใหญ่มุ่งไปที่การพัฒนาห้องเรียนของเด็กปกติเป็นหลัก หรือการเรียนการสอนเพื่อเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการด้านต่างๆ ดังเช่นที่หลายคนอาจเคยเห็น Classroom Makeover หรือการปฏิวัติห้องเรียนให้สนุกและเสริมศักยภาพด้านการเรียนรู้ให้มากขึ้นในโรงเรียนบางแห่ง

แต่ วู้ดดี้–ธนพล ศิริธนชัย ผู้บริหารบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Goldenland กลับมองต่างออกไป เขามองว่าโอกาสทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัยควรกระจายออกไปในกลุ่มเด็กพิการที่ขาดโอกาสบ้าง เพราะศักยภาพของคนทุกคนสามารถพัฒนาได้หากได้โอกาสและคนสนับสนุน

โปรเจกต์ Classroom Makeover ของ Goldenland จึงต่างออกไปโดยเลือกทำโปรเจกต์พัฒนาห้องเรียนสำหรับเด็กผู้พิการทางสายตาก่อนวัยเรียน เพราะจากสถิติ ผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพียงแค่ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับอัตราการเข้าโรงเรียนของเด็กทั่วไป

โปรเจกต์ Classroom Makeover สำหรับเด็กผู้พิการทางสายตาจึงไม่ใช่แค่ห้องเรียนกล่องสี่เหลี่ยม จับเด็กๆ มานั่งเรียนอักษรเบรลล์ แต่ทุกตารางนิ้วของสเปซแห่งนี้สามารถเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นผนังและพื้นที่เด็กๆ เดินย่ำลงไป แถมยังเพิ่ม 4 วิชาสุดสนุกอย่างวิชาสัมผัส วิชาเสียง วิชาลมหายใจ และวิชาลำแสง ที่เป็นทักษะสำคัญในการดำรงชีวิตและเสริมสร้างพัฒนาการอีกด้วย

อิฐก้อนแรกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โปรเจกต์ Classroom Makeover หรือห้องเรียนคนตาบอด 360 องศา เป็นเหมือนอิฐก้อนแรกที่จะเข้าไปแทรกอยู่ในรากฐานของโรงเรียนคนตาบอดที่ช่วยให้เด็กๆ สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้แบบรอบด้านสมชื่อ เพราะไม่เพียงแต่จะปรับปรุงสเปซให้เอื้อแก่พัฒนาการของเด็กๆ เท่านั้น โกลเด้นแลนด์ยังตั้งใจให้โปรเจกต์นี้เป็นห้องเรียนต้นแบบแก่โรงเรียนสอนคนตาบอดที่อื่นๆ สามารถถอดแบบไปใช้ได้

จากปรัชญาขององค์กรที่ว่า ‘Developing the Best’ ได้คลี่คลายออกมาเป็นโปรเจกต์ที่กำลังก่อร่างสร้างอนาคตทางการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยผู้พิการทางสายตา พัฒนาจากปรัชญาองค์กร ‘Developing the Best’ ว่าคือการพัฒนาให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งตัวพื้นที่และทรัพยากรบุคคล

“คอนเซปต์คือเราจะพัฒนาสินทรัพย์แบบไหนก็ตาม เราต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งโจทย์เรื่องการพัฒนาก็ย้อนกลับมาที่การพัฒนาสิ่งที่ยั่งยืนที่สุด นั่นก็คือการพัฒนาคน คนจะเติบโตเป็นคนดีได้ต้องกลับมาที่การศึกษา เราต้องมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดีตั้งแต่ต้น”

วู้ดดี้อธิบายถึงหลักการและปรัชญาขององค์กรเรื่องการพัฒนา ซึ่งกลับมาตอบโจทย์การพัฒนาคน โดยเฉพาะในวัยเด็ก หากเริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่ต้น เท่ากับสามารถพัฒนาคนคนหนึ่งให้มีศักยภาพที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งกำลังอยู่ในวัยพัฒนา

“เรามองว่าเด็กผู้พิการทางสายตาไม่ได้เป็นคนที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ในมุมมองของเขา คนตาบอดมีครบ 32 เหมือนเรา เพียงแต่มองไม่เห็น เราจะเริ่มพัฒนาคนจากกลุ่มคนที่มีศักยภาพ แต่ขาดโอกาส เราจึงอยากให้โอกาสและพัฒนาเด็กที่พิการทางสายตาก่อน เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาจะช่วยดึงศักยภาพเขาขึ้นมา”

แม้ในเมืองไทยจะมีโรงเรียนสอนคนตาบอดจำนวนไม่น้อยที่สามารถเข้าไปสร้างโปรเจกต์ห้องเรียน 360 องศาได้ แต่โกลเด้นแลนด์เลือกที่จะทำโปรเจ็กต์นำร่องที่โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา จังหวัดชลบุรี ด้วยเล็งเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ควรเลือกโรงเรียนที่ค่อนข้างมีความพร้อม เพราะจะทำให้ต่อยอดเรื่องการพัฒนาคนได้ดีกว่า ถ้าเริ่มต้นในโรงเรียนที่ห่างไกลและขาดแคลน องค์กรต้องลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าการพัฒนาที่ตัวคนจริงๆ

“แม้กระทั่งโรงเรียนที่เราเลือก เราต้องดูโรงเรียนที่มีความพร้อมระดับหนึ่ง เพราะถ้าไปในโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อม เราอาจต้องใช้เวลานานมากในการพัฒนา อาจจะสร้างอิมแพกต์กับสังคมและพัฒนาที่ตัวคนไม่ได้มากเท่าที่ควร” วู้ดดี้เสริม

จากการเลือกโรงเรียน จึงกลับไปที่การกลับไปดูความต้องการของเด็กๆ ผู้พิการทางสายตาว่าต้องการอะไร วู้ดดี้จึงได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญ นักออกแบบ และคณาจารย์ เพื่อให้โปรเจกต์นี้ตอบโจทย์ที่การพัฒนาคนอย่างองค์รวม

เป้าหมายหลักๆ จึงอยากให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด “หากเด็กๆ ได้มาใช้ประโยชน์จากห้องเรียน 360 องศา น่าจะช่วยให้เด็กผู้พิการทางสายตาสามารถพัฒนาไปเป็นคนที่มีศักยภาพ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง และเป็นคนดีของสังคมได้ในอนาคต”

วู้ดดี้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ต่อว่า “เราอยากทำสิ่งที่ดีที่สุดบนพื้นที่ที่มีอยู่ แทนที่เราจะซื้อของไปบริจาคหรือแค่ทาสีอาคาร เราก็คิดว่าควรจะทำอะไรมากกว่านั้น เราเลยทำห้องเรียนแบบองค์รวม 360 องศา ต้องเปลี่ยนหมดเลย ทั้งพื้น ผนัง ฝ้า ไม่ใช่แค่ซ่อมแซมของที่มีอยู่ เราก็ไปคุยกับนักออกแบบสำหรับเด็กผู้พิการทางสายตา ก็พบว่าจริงๆ แล้วเด็กต้องการการเรียนรู้เรื่องเสียง สัมผัส กลิ่น และแสง ดวงตาของเด็กๆ หลายคนไม่ได้บอดสนิท หลายคนมองเห็นได้เลือนราง ถ้าได้รับการกระตุ้นให้มองเห็นแสง จะช่วยชะลอหรือช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น”

วิชาสัมผัส วิชาเสียง วิชาลมหายใจ และวิชาลำแสง จึงเกิดขึ้นเพิ่มจากหลักสูตรปกติของเด็กผู้พิการทางสายตา มีให้เด็กๆ ทดลองดมกลิ่นควันไฟ กลิ่นนมบูด น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นกลิ่นที่เด็กก่อนวัยเรียนต้องรับรู้และแยกแยะให้ออกเพื่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ที่สำคัญคือเด็กผู้พิการทางสายตาจะไม่ได้แบ่งชั้นเรียนตามช่วงอายุ แต่แบ่งเป็นช่วงพัฒนาการ ดังนั้นเด็กหลายช่วงวัยจึงใช้พื้นที่นี้ในการเรียนรู้ร่วมกันได้

ส่วนผนังห้องเรียนก็ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้เรื่องการสัมผัส มีวัตถุต่างๆ ที่สามารถเขย่าได้ มีหมุดต่างๆ ในวัตถุที่ช่วยกระตุ้นสัมผัส เช่น เหรียญ ก้อนหิน กรวด น้ำตาล ฯลฯ หรือพื้นที่สำหรับการปักหมุดเข้าช่องสีต่างๆ ซึ่งอุปกรณ์ในห้องเป็นผลงานการออกแบบของนักออกแบบของเล่นมืออาชีพ

“เราดึงคนมาทำงานร่วมกัน เราเอาแนวคิดเริ่มต้นที่อยากพัฒนาสเปซให้เกิดศักยภาพสูงสุดให้กับผู้ใช้ เราเป็นบริษัทเกี่ยวกับ Development เราก็ไปหาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาช่วยกันระดมความคิด ในภาพใหญ่เราได้ Creative Crew มาช่วยดูเรื่องดีไซน์ ส่วนเรื่องหลักสูตรวิชาต่างๆ ก็มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านช่วยดูแล เราเป็นคนเอาชิ้นส่วนต่างๆ ของภาพมาประกอบและนำมาประมวลรวมกัน”

แม้จะเป็นโปรเจกต์ห้องเรียน แต่วู้ดดี้ไม่ได้เริ่มจากสเกลใหญ่เกินตัว หรือตั้งใจจะไปล้มระบบที่มีอยู่เดิม ‘Think big, act small.’ จึงเป็นปรัชญาเบื้องหลังแนวคิดการทำห้องเรียนนี้

“เราไม่ได้ไปถึงระบบการศึกษากลางหรือต้องคุยกับกระทรวง สิ่งที่เราคิดเป็นตัวอย่าง ‘Think big, act small.’ คือเราอยากทำเป็นห้องเรียนต้นแบบ เราพร้อมจะแบ่งปันกับคนอื่นๆ สามารถนำโมเดลห้องเรียนนี้ไปใช้ในโรงเรียนต่างๆ หรือในชุมชนของคุณ ถ้าเราทำตัวอย่างแล้วคนสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในที่อื่นๆ ได้ นี่คือการทำในพาร์ตเล็กๆ ที่เราทำได้ คือ act small แต่ในอนาคตอาจจะขยายไปใช้ในภาพใหญ่ได้เหมือนกัน ถ้าเราไปเริ่มด้วยสเกลใหญ่แล้วทำไม่ได้จะเป็นการสิ้นเปลือง เพียงแต่ต้องทำตัวอย่างที่เห็นผลก่อน แล้วเปิดสู่สาธารณะ เรามีเอกสารและข้อมูลทั้งหมด ทั้งการออกแบบและหลักสูตร เราเปิดให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้” (หากใครสนใจเอกสารหลักสูตรและข้อมูล สามารถติดต่อได้ที่ 02 764 6244)

ห้องเรียน 360 องศาแห่งนี้เป็นฮับรวมโมเดลการเรียนรู้ ทั้งในแง่พื้นที่ที่สรรค์สร้างและออกแบบมาเพื่อเด็กผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ รวมถึงหลักสูตรทั้ง 4 วิชาก็ร่างออกมาจากความต้องการของเด็กๆ ผู้พิการทางสายตาจริงๆ ที่สำคัญคือพร้อมจะเปิดข้อมูลให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาศึกษา นำข้อมูลไปใช้ในสาธารณะได้ฟรี

“โรงเรียนสอนคนตาบอดที่อื่นมาดูแล้วอาจจะเอาแนวคิดไปปรับใช้ได้เลย แต่สำหรับคนทั่วไปที่เข้ามา จะได้เห็นว่าเราสามารถพัฒนาพื้นที่หนึ่งๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ ไม่ใช่แบบทาสีหรือบริจาคของ ถ้าประสบความสำเร็จ ในอนาคตก็จะสานต่อโครงการในปีต่อๆ ไป เพราะเราอยากทำให้ยั่งยืน และกระจายโมเดลห้องเรียนนี้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ”

 

ภาพถ่าย : พิชาญ สุจริตสาธิต 


AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด