เดชรัต สุขกำเนิด : ปลดล็อกการศึกษาไทยด้วยการกระจายอำนาจจากครูไปสู่นักเรียน

Highlights

  • ‘เดชรัต สุขกำเนิด’ คืออาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในสายตาคนนอกเขาคืออาจารย์ที่มีแนวคิดน่าจับตามีผลงานน่าประทับใจ แต่ในสายตาศิษย์ เขาคือคนที่กระจายอำนาจในห้องเรียนไปให้นักศึกษาเท่าๆ กัน
  • นอกจากการถ่ายทอดความรู้ในห้องเรียนมาสู่สาธารณะ สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือวิธีการที่เขาใช้กับเด็กเพื่อให้คนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ มีความสุขกับการเรียน เข้าใจตัวเอง และตอบโจทย์สังคมกว่าเดิม

คนไทยใช้เวลาราว 12 ปี เพื่อเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้เวลาราว 19 ปี เพื่อเรียนจบปริญญาตรีตามความคาดหวังของสังคมส่วนใหญ่ ไม่นับรวมเวลาที่มีการเรียนการสอนในชั้นเรียนมากที่สุดในโลก สวนทางกับสถิติจากหลายสำนักเมื่อหลายปีที่ผ่านมาที่บ่งชี้ว่าการศึกษาไทยกำลังเข้าขั้นย่ำแย่เมื่อเทียบกับระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก

เราได้ความรู้จากการใช้เวลากับการศึกษามาเกือบค่อนชีวิต แต่อีกมุม การศึกษาก็พรากตัวตนและความคิดสร้างสรรค์ไปจากเรา ใครหลายคนอาจเคยเป็นนักเรียนที่ผ่านการท่องจำ อยู่ในระเบียบเคร่งและเรียนไปเพื่อสอบให้ผ่าน เมื่อผ่านระบบนี้ไป บางคนแข็งแกร่งขึ้น แต่บางคนสูญหายไประหว่างทาง

ด้วยระบบอำนาจนิยมฝังรากลึก หลักสูตรที่ไม่ได้เน้นการคิดวิเคราะห์ และปัญหาอื่นๆ เราพยายามหาทางออก เกณฑ์แบบไหน วิธีการสอนแบบไหน ท่ามกลางปัญหาเดิมๆ ใครหลายคนกำลังมองหาความหวัง

‘เดชรัต สุขกำเนิด’ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่หลายปีมานี้ เขาโพสต์ผลงานนักศึกษาลงบนโซเชียลมีเดียจนเกิดการถกเถียง ตรวจสอบ แชร์ข้อมูล และเกิดความน่าตื่นเต้นจากการเรียนรู้ในหนทางใหม่

ในสายตาคนนอกเขาคืออาจารย์ที่มีแนวคิดน่าจับตามีผลงานน่าประทับใจ แต่ในสายตาศิษย์ เขาคือคนที่กระจายอำนาจในห้องเรียนไปให้นักศึกษาเท่าๆ กัน

นอกจากการถ่ายทอดความรู้ในห้องเรียนมาสู่สาธารณะจะเป็นสิ่งที่เดชรัตทำอยู่เป็นประจำ พร้อมๆ กับการวิพากษ์โครงสร้างสังคมเพื่อนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือวิธีการที่เขาใช้กับเด็กเพื่อให้คนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ มีความสุขกับการเรียน เข้าใจตัวเอง และตอบโจทย์สังคมกว่าเดิม

แต่ก่อนจะเกิดวิธีการใหม่ เดชรัตมองเห็นปัญหาจากประสบการณ์ในชั้นเรียนตัวเอง ที่สำคัญกว่านั้นคือการเห็นแววตาของผู้เรียนที่สะท้อนว่าเขาควรเปลี่ยนมันในวันนี้และตอนนี้

ตอนเป็นนักเรียนในระบบการศึกษา อาจารย์เจอปัญหาอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้บ้าง

ผมคิดว่าในฐานะนักเรียน เราค่อนข้างสงสัย ผมไม่รู้ว่าทำไมการเรียนต้องมีรูปแบบที่เป็นอยู่แบบนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่เรียนหรือกฎระเบียบ ไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่าทำไมเราต้องเรียน ทำไมการสอนต้องเป็นแบบนี้ ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เรียนนำไปใช้กับชีวิตอย่างไร วิธีการเรียนเป็นการป้อนข้อมูลที่ต้องรับเข้าไปจนงงไปหมด บางวิชาผมถึงขนาดไม่เข้าเรียนแล้วเอาเนื้อหามาดูว่าเราจะสอนเพื่อนๆ แบบไหน เพื่อให้เข้าใจได้แบบคนทั่วไป

อย่างวิชาสถิติ สอนสูตรมากมาย เราไม่เข้าใจว่าใช้สูตรนี้เพื่ออะไร จริงๆ อาจมีหลักการอยู่ เพียงแต่วิธีการอาจไม่ให้ความสำคัญกับเหตุผลว่าทำไมเราต้องมีบทนี้ เรากำลังเจอความท้าทายอะไร ผมคิดว่าการสอนต้องเริ่มจากการคิดว่าจะเอาไปใช้งานได้อย่างไร ถึงจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจต้นเหตุของปัญหา ไม่รู้ว่ากำลังแก้ไขปัญหาอะไร ก็จะไม่สามารถเรียนส่วนต่อๆ ไปอย่างเข้าใจได้

เราเรียนเหมือนแค่รอว่าเรียนจบ ปลายทางจะได้เป็นอะไรสักอย่าง ฉะนั้นเราถึงมีหลายวิชามาก ซึ่งสุดท้ายก็ต้องหาวิธีการทำความเข้าใจเนื้อหานั้นเอง ผมคิดว่าในอดีตมีปัญหาลักษณะนี้เยอะ ปัจจุบันก็ยังคงเป็น

เพราะช่องโหว่ที่เราไม่ได้ถูกฝึกให้ลองคิดว่าโจทย์ปัญหาข้อนี้ควรถูกแก้ไขด้วยวิธีใดบ้าง แต่ไม่ได้บอกเราว่าแล้วเครื่องมือแต่ละอย่างควรใช้เวลาไหน

หมายความว่าคนเรียนควรได้รู้ปลายทางว่าเขาจะเอาความรู้ไปใช้งานอย่างไร

ใช่ วิธีการสอนไม่ได้ฝึกให้นักเรียนลองคิดและทำดูเองว่าผลเป็นอย่างไร เด็กยุคผมไม่คุ้นเคยกับอินเทอแร็กชั่นหรือฟีดแบ็ก แต่เด็กยุคใหม่แม้จะยังไม่เข้าโรงเรียนแต่เขาคุ้นเคยสิ่งนี้ เขาไม่สามารถเชื่อง่ายเท่าคนรุ่นผมว่าถ้าทำสิ่งนี้แล้วจะเกิดสิ่งนี้ขึ้น เพราะเขาอาจลองทำเองแล้วสำเร็จ ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้เหมือนกัน เขาคุ้นเคยกับโลกออนไลน์ การเข้าถึงข้อมูล รู้ว่ากดปุ่มนี้แล้วมีอะไร เลือกแบบนี้แล้วให้ผลดี แต่ว่าระบบการศึกษาของเราเลือกได้นิดเดียว ซึ่งไม่แมตช์กันอีกแล้ว จริงๆ การศึกษาเราเปลี่ยนน้อยมาก แต่ผู้เรียนเปลี่ยนไปเยอะ ทำให้ปรับตัวไม่ทันกัน

 

เมื่อการศึกษาปรับตัวไม่ทันผู้เรียนส่งผลอย่างไรกับการเรียนรู้

โห มีผลมากเลย เช่น ผมสอนการเจรจาต่อรอง เด็กบางคนเรียนเก่ง สอบข้อเขียนได้เยอะ คะแนนไหลมาเทมา แต่เมื่อทดลองด้วยการให้เล่นเกมเพื่อให้เขาต่อรองกัน ปรากฏคนที่เก่งบางคนต่อรองกับเพื่อนไม่ได้ ขณะที่บางคนต่อรองเก่ง อาจไม่ใช่คนเขียนเก่ง เพราะงั้นถ้าเราวัดผลด้วยวิธีการเดียว ไม่สามารถวัดทุกสิ่งได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำอีกอย่างไม่มีความหมาย ทักษะอื่นอาจจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ก็ได้

 

ในเมื่อเจอนักเรียนที่มีทักษะแตกต่างกัน คุณแก้ไขระบบวัดผลการศึกษาอย่างไร

ต้องถามเขาว่า ‘ผมจะวัดคุณได้อย่างไร’ คุณมีความรู้เรื่องนี้แบบไหน ผมมักพูดว่าถ้าน้องๆ คนไหนคะแนนไม่ดีไม่ได้สอบตกนะ เราลองเปิดโอกาสถามเขาว่าวัดผลได้ในทางอื่นไหม เพราะอาจเป็นปัญหาที่เครื่องมือวัดของเรา เราต้องเผื่อการวัดผลแบบอื่นไว้สำหรับเด็กที่เครื่องมือวัดของเราไม่ฟิตกับเขาด้วย อย่างวิชาที่สอนอยู่ปัจจุบันก็ถามเขาตั้งแต่ต้นเลยว่าตกลงเราจะวัดผลกันด้วยวิธีไหน ซึ่งแต่ละคนเขาเลือกวิธีการวัดไม่เหมือนกัน เขามั่นใจคนละแบบ

จริงๆ ต้องพูดว่าหน้าที่ของเราคือต้องเห็นเด็กทุกคนเก่งให้ได้ ถ้าเราไม่เห็นแบบนั้น ผมคิดว่าเราล้มเหลว โจทย์ในอดีตคือทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กเก่งตามที่ต้องการ แต่โจทย์ปัจจุบันคือจะทำอย่างไรให้เห็นความเก่งของเด็กก่อนแล้วค่อยไปเติม ต้องมองให้ออกว่าเราจะเติมอย่างไร อาจารย์หลายคนก็จะรู้สึกว่า เอ้า แล้วถ้าแบบนี้จะให้คะแนนอย่างไรล่ะ เราตอบว่าคะแนนนั้นมีไว้เทียบกัน หรือการศึกษามีไว้บอกว่าใน 100 คนใครเก่งหรือใครไม่เก่ง หรือว่าคะแนนมีไว้เพื่อบอกว่าให้คน 100 คนเขาเก่งขึ้น ผมคิดว่าประเด็นอยู่ที่รากฐานความคิดปรัชญา เรายังขาดตรงนี้อยู่

แต่สภาพห้องเรียนส่วนใหญ่ ยังคงเป็นรูปแบบของอำนาจนิยม ที่อำนาจการสอนอยู่ที่ครูอยู่นะ

เวลาพูดคำว่าอำนาจนิยม มันเป็นทั้งสิ่งที่เราว่าเป็นทั้งโครงสร้างและวัฒนธรรม บางครั้งตัวเราเองอาจคุ้นเคยที่จะเป็นแบบนั้น ผมมีโอกาสเห็นเพื่อนๆ น้องๆ อาจารย์บางคนที่ไม่อยากปรับ ปัญหาใหญ่คือเขาไม่ได้เรียกว่าอำนาจ แต่เขาเรียกว่าคุมเด็ก อาจารย์คุ้นเคยกับการทำให้ห้องเรียนเรียบร้อย

ปัญหาอยู่ที่วัฒนธรรมเยอะทีเดียว ฉะนั้นเราต้องคุยกับเด็กๆ ว่า โจทย์เราไม่ใช่ว่าทำอย่างไรให้คุณเรียบร้อย แต่โจทย์คือให้คนอื่นได้รับประโยชน์จากการศึกษาของเราด้วย ฉะนั้นการเรียนจะไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างคุณกับผม แต่เราต้องทำบางอย่างเพื่อคนในสังคม เมื่อเราเรียน ต้องถูกนำเสนอออกไปแล้วเป็นประโยชน์กับสิ่งรอบข้าง จากนั้นเราถึงมาทำงานร่วมกัน shift focus เป้าหมาย ผมคิดว่าถ้าเราชวนเพื่อนๆ อาจารย์ทำแบบนี้ เขาจะเข้าใจได้ดีกว่าการบอกว่าอย่าใช้อำนาจนิยมเลย เราพบว่ามีเป้าหมายใหญ่ที่ไปได้ดีกว่า นิสิตเขาสนใจการเรียนรู้มากกว่า แล้วปัญหาเรื่องเขาทำตัวไม่เรียบร้อยจะจบ เราต้องสนธิพลังใหม่ เพื่อเป้าหมายใหม่ ถ้าเราบอกว่านี่ไง เป้าหมายของเราอยู่ด้วยกันข้างนอกห้องเรียนนั้น จะทำให้เขารู้สึกว่าก็ไปสิ เราจะมาอยู่ในที่เดิมไปทำไม

เรื่องเป้าหมายทางการศึกษาที่มีโจทย์เปลี่ยนไป อาจารย์บอกเพื่อนอาจารย์ว่าอย่างไร

สิ่งสำคัญสุด ผมคิดว่ามันคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทำอย่างไรให้เด็กไม่รู้สึกว่าเราคอยจับผิดและควบคุมเขาอยู่ เราเพียงแค่อำนวยการให้เรื่องที่เรากำลังเรียนรู้ค่อยๆ เป็นไป ถ้าเป้าหมายเราชัด เขาจะสนใจ ถามว่าถ้าผิดพลาด เราจะรู้ภายในสิบนาทีเลยว่าเขาไม่สนใจเป้านี้ มันไม่ใช่ว่าห้องเรียนไม่เรียบร้อย แต่เป้าของเรายังไม่ท้าทายหรือดึงดูดจริงๆ

เวลาคุยกับคนอื่นมันมีสองทาง ทางหนึ่งเราจำเป็นต้องพูดตรงๆ กับเพื่อนๆ อาจารย์ว่าเรื่องนี้ไม่ควรต้องควบคุม เช่น ทรงผม เครื่องแต่งกาย เราน่าจะมองเห็นเสรีภาพที่เด็กๆ ได้คิดและเลือกเอง ผมพยายามพูดอยู่เหมือนกัน อาจจะสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะครูหรอกครับ พ่อแม่ก็เป็นเหมือนกัน ทางต่อมาถ้าเราบอกว่าห้องเรียนไม่ต้องเป็นสภาพนี้ เป็นห้องที่ค่อนข้างวุ่นวายหน่อยก็ได้ เพราะงั้นเราจึงเดินไปทั่วห้องเลย เด็กก็เรียนกัน คิดกัน คุยกัน แต่สุดท้ายเราแทบจะไม่เห็นภาพนั้นเลย

อย่างเคสที่ผมทำคือเรื่องนโยบายรัฐบาลแจกเน็ตประชารัฐ ที่ว่ารัฐจะให้ชาวบ้านใช้ซิมเล่นอินเทอร์เน็ตฟรี เราให้นิสิตวิเคราะห์แล้วมาเขียนกัน สุดท้ายเราเลือกเอาสิ่งที่เด็กเขียนไปแชร์ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แล้วคนก็แชร์มากมาย บางทีหนังสือพิมพ์เอาไปลงต่อ เด็กๆ เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เขาคิดเป็นประโยชน์ต่อสังคม เขามีความภูมิใจ อย่างนี้คนสอนจะเข้าใจว่าสภาพห้องเรียนที่ดูวุ่นวายนั้นวุ่นไปเพื่ออะไร

ในความเป็นครู อาจารย์ตั้งเป้าหมายอยากให้เด็กได้รับอะไรจากการเรียน

พูดยากนะ ถ้าเป็นเมื่อก่อนชีวิตของเขา เราค่อนข้างเห็นชัดว่าปลายทางจะเป็นอะไร เราวางแผนได้เยอะ แต่ปัจจุบันชีวิตของเขาหลากหลาย มีทางไปเยอะ เดี๋ยวนี้การตั้งเป้าหมายถูกทอนให้เล็กลง ไม่ใช่แค่ 4 ปีนี้เขาจะได้อะไร แต่ถูกทอนลงเหลือชั่วโมงครึ่งนี้เขาจะได้อะไร เหมือนกับว่าเราเห็นภาพกว้างๆ เราอยากให้เขาเป็นคนที่ปรับตัวและเห็นคุณค่าของสิ่งที่ดูไม่มีคุณค่า แต่ทำให้มีคุณค่าได้

ถ้าพูดเชิงเศรษฐศาสตร์ นอกจากเห็นคุณค่าคือทำให้เป็นมูลค่า แล้วกระจายมูลค่านั้นไปสู่คนรอบข้าง เป็นสิ่งที่เราอยากให้เป็น ชีวิตในปัจจุบันไม่สามารถโปรแกรมได้ ชีวิตคนเรา emerge มากกว่านั้น มันผุดขึ้นเมื่อเราเจอสิ่งต่างๆ ฉะนั้นแต่ละชั่วโมงของเราจึงไม่ใช่การทำโปรแกรมเหมือนเดิมว่าคุณทำอย่างนี้แล้วคุณจะได้แบบนั้น แต่เราทำเพื่อหวังให้เด็กๆ ตาลุกวาว เพื่อที่จะไปต่อ ถ้าเขาจะไปสร้างให้มีคุณค่า เราต้องสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายไปเรื่อยๆ แล้วให้เขาได้รับต่อเนื่องหลายๆ ทาง

 

พอขยับมาเป็นอาจารย์เห็นปัญหาอะไรในระบบการศึกษา

เรามีโอกาสรู้จักนักเรียนน้อยมากเลย มีอยู่คลาสหนึ่งผมสอนวิชาชื่อการจัดการทรัพยากรมนุษย์ จะเกี่ยวกับเรื่องการฝึกอบรม ผมให้เขาออกแบบเทรนนิ่งหัวข้อที่เขาสนใจ โดยที่ไปคุยกับเพื่อนๆ ว่า เพื่อนๆ อยากรู้เรื่องนี้ไหม เราถึงรู้ว่า โห เด็กๆ ทุกคนมีความสามารถด้านการสอน เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องที่เราไม่เคยคาดคิด บางคนสอนเรื่องการเลือกกระโปรงให้เข้ากับตัว หรือบางคนสอนเรื่องกินชาบู เลือกร้านชาบูอย่างไร แต่ละอันล้วนมีศาสตร์ของมัน เราฟังแล้วทึ่งมาก แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าเขามีความรู้พื้นฐานอะไร ความลึกของเขาคืออะไร เพราะงั้นเราจึงไม่เคยต่อยอด ถ้าเราเห็นลูกศิษย์เราเก่งขนาดนี้แล้ว เราจะไปทำงานแบบเดิมกับเขาได้อย่างไร เราจะพูดแต่เรื่องทฤษฎีกว้างๆ แล้วเราหวังให้เขาไปประยุกต์ใช้เองได้อย่างไร ถ้าเรารู้จักเขา เราจะเข้าใจเขา จะเอาองค์ความรู้ไปรวมกับสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตอย่างไร

ถ้าพูดถึงในห้องเรียน อาจารย์สามารถเลือกจัดการการสอนได้ด้วยตัวเอง แต่กับนโยบายที่ครอบประเทศนี้อยู่ล่ะ จัดการอย่างไร

ผมว่าโครงสร้างความคิดเป็นปัญหาอยู่ เช่น เรื่องระเบียบวินัย ทรงผมนี่เป็นปัญหาแรก ปัญหาต่อมาผมคิดว่าเป็นเรื่องหลักสูตรในระบบการศึกษา ซึ่งเราเชื่อมาก สิ่งที่เราเชื่อมากที่สุดกำลังจะกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญที่สุด แต่เดิมมันอาจไม่เป็นปัญหา เพราะว่าทำแบบนี้มานานมาก แต่ว่าโลกปัจจุบันไม่ใช่ อาจจำเป็นต้องลดทอนความเป็นหลักสูตรและเปิดโอกาสให้เขาได้ emerge ขึ้นมาบ้าง แล้วเอามาเชื่อมโยงกัน ผมคิดว่าเป็นความท้าทายของการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีหลักสูตรเลย แต่ว่าเราต้องลดพื้นที่ลง เช่น จากร้อยเปอร์เซ็นต์เบื้องต้นต้องเหลือสัก 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าระยะยาวเป้าหมายของผมต้องคืนให้ถึงครึ่งหนึ่ง

เช่น ผมสอนเรื่องนโยบายการเกษตรเมื่อเทอมที่แล้ว ภารกิจของเราคือต้องพยากรณ์ราคาข้าวในอีกสามเดือนข้างหน้าให้ถูกต้องก่อนที่ชาวนาจะเก็บเกี่ยว ฉะนั้นความท้าทายอยู่ที่ว่าตกลงแล้ว ไอ้ชาเลนจ์เรื่องนี้นิสิตเขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นแค่โจทย์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องติดตามดู เพราะงั้นสิ่งที่เขาพยากรณ์ไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน เขาต้องมาลุ้นเรื่อยๆ เลยว่าสิ่งที่เขาพยากรณ์ไว้นั้นจะถูกไหมในเดือนธันวาคม

 

แล้วในฐานะที่เป็นพ่อที่มีลูกสองคน เห็นปัญหาการศึกษาไทยด้านไหนบ้าง

โชคดีที่โรงเรียนที่ลูกผมเรียนเป็นโรงเรียนทางเลือก ซึ่งพยายามเปลี่ยนแนวทางการศึกษา เพราะฉะนั้นอาจไม่ได้สะท้อนภาพของปัญหาการศึกษามากนัก แต่ในกรณีของลูกคนโต ตอนหลังเข้าไปอยู่ในโรงเรียนมัธยมฯ ปกติ แล้วจะเจอปัญหาบางเรื่อง เขาต้องต่อสู้ ไม่ว่าเรื่องทรงผมหรือแม้กระทั่งกับเพื่อนๆ ต้องมีการต่อสู้กัน เช่น การคุยในชั้นเรียน จะต้องหยุดคุยไหม เคารพสิทธิเพื่อนๆ และเคารพอาจารย์ไหม ในขณะเดียวกันเขาได้พบเนื้อหาวิชาเรียนบางอย่าง ซึ่งไม่รู้ว่าเรียนไปแล้วจะไปตอบโจทย์อะไร เช่น การระบายสีแผนที่ สมัยก่อนเราไม่มีกูเกิล แล้วเราก็ต้องระบาย ปัจจุบันครูยังพยายามบอกว่าระบายจะทำให้นึกภาพได้ แต่ไม่ใช่กับคนรุ่นใหม่ สมัยนี้ถ้าเขาพูดถึงทะเล เขาก็ใช้โปรแกรมดำลงไปเลย นี่มันภูเขารูปโต๊ะที่ Capetown รุ่นใหม่มันก็ไต่ขึ้นไปเลยไง ใช้กูเกิลแล้วไม่สนุกเหรอ อาจารย์ไม่สนุกเหรอ ยังจะมาเป็นสีเทาๆ เป็นสีน้ำตาลๆ อยู่แล้วให้จินตนาการว่าเป็นภูเขาเหรอ

อย่างเรื่องประชาธิปไตย เนื้อหาที่สอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ก็จะมีคำถามอยู่เยอะ จะเห็นว่ามันมีปัญหามากมายจริงๆ แล้วยิ่งพอเข้ามหาวิทยาลัยเขาก็จะบอกว่า โอ้โห รู้สึกเลยว่าสิ่งที่เราเรียนมาในชั้นมัธยมศึกษามันไม่ใช่อย่างยิ่ง คือมันขาดสิ่งที่เรียกว่าปรัชญาความคิด ตั้งแต่ตัวพื้นฐานว่าทำไมเราถึงเชื่อแบบนี้ ตำราเรียนในระดับมัธยมฯ เป็น information providing เรามอบข้อมูลให้ไปแบบเดียว หรือการยั่วให้คิดเราก็ไม่ค่อยนิยมทำ การดีเบตก็ขาด

ทุกวันนี้อุปสรรคของการทำงานเป็นอาจารย์คืออะไร

ผมยังกังวลเรื่องหลักสูตร กับวัฒนธรรมอำนาจนิยม เช่น เรื่องการแต่งกาย ผมไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องแต่งแบบไหน ถ้าเรายังรู้สึกว่าต้องคุมการแต่งกายของนักศึกษา เช็กชื่อนักศึกษา ผมคิดว่าเราไม่สามารถก้าวไปสู่ความท้าทายได้ เพราะเรายังรู้สึกว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เขาอยู่ขอบเขตที่เรากำหนด จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าเราไม่มีขอบเขต แต่เขาต้องไปเจอว่าถ้าเขาออกไปจากขอบเขตที่มันเหมาะสมแล้วจะเป็นอย่างไร การศึกษาต้องการความกล้าแบบนี้ แล้วค่อยๆ เขยิบพรมแดนความกล้าของเราออกไป อันนี้เป็นประเด็นที่หนึ่ง แต่อันที่สองผมคิดว่าปัญหาของการศึกษามันอยู่ในระบบที่เรียกว่าระบบการผลิตขนาดใหญ่มานาน แม้ว่าเรากล้าแล้ว แต่ผมต้องดีลกับเด็กในคลาส 300 คนอย่างนี้มันก็ไม่ง่าย ผมคิดว่าเราควรจะต้องรีบปลดล็อก อย่าให้การผลิตของเรามีขนาดใหญ่ การผลิตขนาดใหญ่ตอบโจทย์เชิงธุรกิจของมหาวิทยาลัยที่มีจุดคุ้มทุนอยู่ ซึ่งทำให้เราเริ่มมีเหตุผลของความไม่กล้าขึ้นมาแล้วว่า โอ๊ย จะทำอย่างไรกับเด็ก 300 คน

คือเราไม่ได้พูดเรื่องวัฒนธรรมและความคิด โครงสร้างมันต้องยั่วเข้ามาสู่วัฒนธรรมความคิด ขยายเข้ามาสู่นักเรียน พ่อแม่ ครู และโรงเรียน ต้องยั่วให้เราเปลี่ยนแปลง กระเถิบออกไปไกลขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนไทยไม่ค่อยถนัดนัก เรามักถนัดที่จะยกให้เป็นเรื่องของอะไรสักอย่าง เช่น เป็นเรื่องโครงสร้าง เป็นเรื่องทิศทาง เป็นเรื่องสังคมประเทศบ้าง เลยมองไม่เห็นว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ แต่เราจะพูดว่าโครงสร้างไม่เป็นอุปสรรคเลยก็ไม่ได้ มันเป็นอุปสรรค ในขณะเดียวกันถ้าปลดล็อกโครงสร้าง แต่วัฒนธรรมเราไม่ปลดล็อก เราไม่กล้าชื่นชมกับสิ่งใหม่ๆ แก้ไขโครงสร้างไปก็ไม่มีผลหรอกครับ

ผมคิดว่าปลายทางเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราไม่ค่อยคิดกัน เราคิดแต่ว่าคุยกันแล้วเอาไปสอบให้ได้นะลูก แปลว่าเรายอมรับต่อระบบแบบเดิมกันไป เอาเป็นว่าผมเอียงมาทางฝั่งที่ไม่ค่อยชอบโครงสร้างในปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมด แล้วเราถึงจะเจอสิ่งใหม่ได้ เราต้องค่อยๆ เปลี่ยนแล้วเราต้องค่อยๆ รื้อโครงสร้างด้วย เพราะว่าถ้าเรายังวัดผลด้วยวิธีเดิมๆ สุดท้ายจะไปจบตรงที่เดิม คือการทำหลักสูตรเหมือนเดิม

 

ถ้ามองในมิติเศรษฐศาสตร์ที่นักเรียนไทยเป็นทรัพยากร ประเทศเราลงทุนได้คุ้มค่าหรือยัง

ผมคิดว่าเราลงทุนน้อยไป เพราะว่าเรายังไม่รู้ว่าผลตอบแทนที่ได้จะเป็นอย่างไร เราคิดว่าผลตอบแทนที่ได้คือได้เงินเดือน แต่บางครั้งผลตอบแทนที่ได้เขาอาจไปเป็นคนสร้างกิจการ เขาอาจไปเปลี่ยนแปลงสังคม เราไม่ได้นึกถึงสิ่งที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า spillover effect คือการที่คุณมีการศึกษาจะทำให้คนรอบข้างดีขึ้น เป็น externalities เป็นผลตอบแทนภายนอก เราจึงลงทุนน้อยไป กับอีกสิ่งหนึ่งคือในภาษาเศรษฐศาสตร์เราต้องมองว่าคนไม่ใช่ทรัพยากรที่เหมือนกัน คนแต่ละคนเป็นทรัพยากรที่ต้องดีไซน์ออกมาต่างกัน คนเราสามารถทำให้มันเป็นได้หลายอย่าง สอนเรื่องกระโปรงแต่วันหนึ่งเขาอาจสอนเรื่องกางเกง อีกวันเขาอาจไม่สอนเรื่องนี้แล้ว เขาออกไปทำอย่างอื่นได้ คนมีความยืดหยุ่น มีความสร้างสรรค์มากกว่า แต่เรายังอาจไม่ได้ลงทุนบนพื้นฐานคิดนี้ เราไม่เคยคิดว่ามันจะสามารถเป็นประโยชน์ด้วยวิธีอื่นๆ ได้ไหม

ถ้าอย่างนั้น เราขาดทุนหรือเปล่า

ในการลงทุน เราเสียไปกับ thought logistic คือกระบวนการโลจิสติกทางความคิด ส่งข้อความไปให้ครูใหญ่ ครูใหญ่มาฝึกอบรม แล้วครูใหญ่ไปประชุมกับครูในโรงเรียน ฝึกอบรมเป็นขั้นๆ เราเสียเงินไปกับส่วนกลางและกระบวนการ thought logistic เยอะมาก ถ้าถามว่าเราขาดทุนไหม คือเราลงทุนมากไป แต่ถ้าจะขาดทุนเพราะเราลงทุนผิดจุด การมี thought logistic เพื่อให้มีโปรดักต์ออกมาแบบเดียวกัน แล้วมีสินค้าจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้ออกมาตามแบบที่เราต้องการก็เล็ดลอดหลุดหายไปจากระบบ เราก็มีของเสีย เราให้ความหมายว่าเป็นของเสียถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ของเหล่านั้นไม่ใช่ของเสียเลยนะ แต่เป็นของที่มีคุณค่ารูปแบบอื่น แต่เราก็ขี้เกียจไปดูมันแล้วว่ามันมีคุณค่าอย่างไรถ้าเราใช้เกณฑ์อย่างอื่นวัด เลยเป็นการลงทุนที่น้อยไป ลงทุนสร้างเกณฑ์ก็น้อยหรือลงทุนกับการเรียนรู้วัตถุดิบก็น้อยไป

 

อาจารย์คิดว่าที่ผ่านมารัฐไทยต้องการผลิตคนแบบไหน

ค่อนข้างชัดเลยว่าเราผลิตคนเพื่อมารับใช้อยู่แล้วนะ แม้กระทั่งนายกประยุทธ์ก็พูดว่าเราต้องผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เราผลิตคนเพื่อมารับใช้เลยกลายเป็นปัญหา เราไม่ได้ผลิตออกมาเป็นคนอย่างที่เขาอยากเป็น เราไม่ได้มีโจทย์ว่าเราทำการศึกษาเพื่อให้เขาเป็นคนที่ตัวเองอยากเป็น แล้วอยู่รอดได้ภายในสภาพแวดล้อมที่เขากำลังจะต้องเผชิญ

 

แล้วแก้ไขเรื่องการศึกษาอย่างไรในเชิงเศรษฐศาสตร์

เราต้องหาตลาด แต่ก่อนนี้เรามีตลาดที่รับสินค้าอยู่ชุดหนึ่ง เราจะส่งคนเข้าตรงนั้นตรงนี้ได้ ที่เหลือไม่ใช่ตลาดเราก็ทิ้งไป แต่ตอนนี้เราต้องหาตลาดย่อยขึ้น คนของเราทำอะไรได้บ้าง เอาไปต่อยอดตรงไหน อย่างนิสิตของเราจะเตรียม  4 รูปแบบให้เขาเลือก แบบแรกก็คือไปอยู่ในธุรกิจทั่วไป เช่น บริษัท แบบที่สองไปทำธุรกิจของตัวเองเลย แบบที่สามไปเป็นนักวิเคราะห์ ไปอยู่กระทรวง ทบวง กรม แบบที่สี่คือการไปทำงานกับสังคมอยู่กับชุมชน เราจะต้องดีไซน์ให้ตรงกันกับสิ่งที่เขาจะไปทำ คือถ้าแต่ก่อนเราบอกว่าคนล็อตนี้ผ่าน แต่ต่อไปไม่ใช่แล้ว เพราะล็อตที่ผ่านนี้ยังต้องผ่านการเป็น special for you คนนี้พิเศษสำหรับสายนี้ เรียกว่าตอบลูกค้าที่แบ่งหมวดหมู่ย่อยขึ้น

ผู้เรียนต้องสร้างความหวังอย่างไรกับการศึกษา เพราะเขาต้องกลับเข้าระบบที่มีปัญหาเหมือนเดิม

เรากำลังพูดเรื่องการศึกษา ผมว่าผู้เรียนส่วนใหญ่ ถ้าเรานำเสนอให้น่าสนใจได้ ผู้เรียนเขาเปิดกว้างนะ แต่ถ้าถามว่าจะต้องขออะไร เราขอความเปิดกว้าง ที่ผ่านมาผมว่าเราขอผู้เรียนเยอะว่าขอให้รับรู้ แล้วเราก็ไม่แคร์เลยว่าสิ่งที่เราให้เขารู้มันน่าสนใจไหม ตัวผู้เรียนเขาพร้อมทันทีถ้าวิชาท้าทาย ถ้ามันโดนใจ กับผู้เรียนผมไม่กังวลเลย ถ้าเราทำให้โดน พลังของผู้เรียนมีมหาศาล

 

ระบบการปกครองแบบในปัจจุบันนี้ ส่งผลต่อการศึกษาอย่างไร

ถ้าดูผู้เรียนผมคิดว่าเป็นปัญหาเยอะ แต่นักเรียนในประเทศเราอาจไม่คุ้นระบบกำหนดหลักการและลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่เขารู้สึกได้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง เนื่องจากระบบการศึกษาและระบบสังคมไม่ได้บอกว่าหลักการคืออะไร หรือระบบการต่อสู้ที่เขาจะรักษาหลักการนั้นไว้ เหมือนการเล่นเกมถ้ากฎอย่างนี้ไม่เวิร์ก เขาจะเข้าใจความรู้สึกของการไม่เวิร์กชัดเจนและรุนแรงมาก แล้วเขาต้องการเปลี่ยนสิ่งที่มันไม่เวิร์ก

เพียงแต่ว่าการที่เราไม่ชวนและไม่เปิดให้เขาคิด กลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่เขาก็เลยพยายามที่จะหาทางและสื่อสารระหว่างกัน โทษที มันไม่ใช่แค่มีระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาไหม แต่มันมีระบอบประชาธิปไตยแล้วมันต้องเปิดให้มีการ define กันด้วย ต้องมีการกำหนด ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันด้วยว่าเรื่องไหนเป็นอย่างไร

 

แล้วเราจะดีไซน์อย่างไรให้อยู่กันได้ดีขึ้นทั้งที่การเมืองยังคงเป็นแบบนี้อยู่

สถาบันการศึกษาต้องเริ่มเปิดก่อน นำร่องด้วยการพยายามทำให้สังคมเห็นว่าจะอยู่กันอย่างไร ผมค่อนข้างเชียร์ไปในทางสถาบันการศึกษาเป็นคนแสดงตัวอย่างให้คนดู เพราะการเปลี่ยนสังคมยากกว่าเปลี่ยนสถาบันการศึกษา สถาบันต้องพยายามโชว์ให้เห็นว่ามันเป็นอย่างไร แล้วสังคมจะเริ่มเห็น

แต่ว่าจริงๆ อีกมุมหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ผมคิดว่าพ่อแม่ เป็นจิ๊กซอว์ด้านการศึกษาที่สำคัญมาก ถ้าพ่อแม่เลิกกดดันแล้วเปิดโอกาส พยายามมองว่าลูกเป็นอย่างไร ยอมรับในความแตกต่างในความเก่งของเขา ผมคิดว่าการศึกษาจะสามารถเปลี่ยนได้เร็วขึ้น เพราะว่าส่วนหนึ่งพ่อแม่ก็จะกดดันทั้งครูและนักเรียนให้ตอบโจทย์ความกลัวของตัวเอง กลัวลูกจะสู้เพื่อนไม่ได้ กลัวลูกจะเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีไม่ได้ แล้วพ่อแม่นี่แหละคือคนที่อยู่ในสังคมด้วย เป็นตัวเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษากับสังคม เขาต้องให้ลูกเห็นถึงความหลากหลาย

ถ้าการศึกษากำลังตั้งอยู่บนฐานความกลัว แล้วคนไทยจะต้องกล้าในแง่ไหนเพิ่มบ้าง

ผมคิดว่าเราต้องกล้าที่จะเห็นความสำเร็จแบบใหม่ เห็นนักเรียนของเราเก่งด้านอื่นๆ กล้าที่จะไปชื่นชมเขาในมาตรฐานหรือในวิธีการของเขา มันเข้าใจไม่ยาก ผมว่ามีพ่อแม่บางคนถามว่าลูกชอบเล่นเกมนี้มากเลย จะแก้ปัญหาอย่างไรดี พ่อแม่บางคนเขาเข้าใจเลย อ่อเข้าใจแล้ว แล้วเดี๋ยวอีกสักวันเขาก็มาตอบว่า เออ ลองไปเล่นแล้วมันสนุกจริงๆ ด้วย แล้วเขาก็เข้าใจแล้วว่ามันจะเอาไปต่อยอดอย่างไร

 

อาจารย์มีความหวังกับการศึกษาไทยในทิศทางไหน

ความหวังในฐานะอาจารย์ของผมคือวันพรุ่งนี้ได้เจอสิ่งที่ไม่เคยเจออีก ผมชอบสิ่งเล็กๆ เพราะฉะนั้นผมไม่ได้รู้สึกว่าความสำเร็จทางการศึกษาต้องใหญ่โตอะไร แค่ผู้เรียนมีความสุขกับตัวเอง อยากให้ความสุขเล็กๆ ที่ทุกคนมีมันเต็มไปหมดเลย (หัวเราะ)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวี พุ่มจันทร์

ช่างภาพวิถีฟรีแลนซ์ เลี้ยงแมว รักอิสระ ยามว่างตระเวนหาของอร่อยกิน