‘ความรัก’ มักเดินทางมาพร้อมกับ ‘ความไม่รู้’ ความหมายของรักในวันเริ่มต้นและสิ้นสุด

Highlights

  • มนุษย์ต้องการการสื่อสารมากกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใดบนโลก และยามที่รู้สึกขาดเราย่อมตระหนักถึงความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง
  • เมื่อมนุษย์ไม่สามารถรักษาและประคับประคองความสัมพันธ์นั้นไว้ได้ ความเจ็บปวดทั้งหลายที่เกิดขึ้นก็ย่อมส่งผลให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว หรือโดดเดี่ยวยิ่งกว่าตอนที่เราอยู่เพียงลำพังด้วยซ้ำไป
  • นับจากอดีตจนปัจจุบัน มีนักปราชญ์และศาสดามากมายพยายามขบคิดหาคำอธิบายเกี่ยวกับความรักในแง่มุมต่างๆ หากทั้งหมดอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงทฤษฎีซึ่งชี้ให้เห็นว่าความรักในโลกของประสบการณ์ยังคงมีความลึกลับและเป็นสิ่งซึ่งเราทั้งหลายยังไม่อาจเข้าใจได้รอบด้าน

“คนทั้งหลายจะมีบางห้วงขณะที่การดำรงอยู่ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนอยู่เพียงลำพัง การมีชีวิตคือการตัดขาดออกมาจากสิ่งที่เราเคยเป็น เพื่อไปสู่คนที่เรากำลังจะเป็นในอนาคตอันเป็นปริศนา ความโดดเดี่ยวจึงเป็นข้อเท็จจริงพื้นฐานของมนุษย์ มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่รู้ว่าตนเองกำลังอยู่เพียงลำพัง และมีมนุษย์เพียงเท่านั้นที่เสาะแสวงมนุษย์คนอื่นๆ” 

Octavio Paz เชื่อว่า ‘ธรรมชาติ’ ได้สร้างคุณลักษณะอย่างหนึ่งในตัวมนุษย์ขึ้นมา นั่นก็คือ ‘การปฏิเสธ’ หรือกล่าวคำว่า ‘ไม่’ ต่อ ‘ธรรมชาติ’ คำปฏิเสธนี้ส่งผลให้มนุษย์ทั้งหลายจำเป็นต้องรู้จักตัวเองผ่านบุคคลอื่น มนุษย์ต้องการการสื่อสารมากกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใดๆ บนโลก และยามที่เรารู้สึกขาด เราย่อมตระหนักถึงความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง ความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับชีวิตหรือสรรพสิ่งจึงจำเป็นสำหรับมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับ ‘ความรัก’ ที่ผูกโยงชีวิตเราเข้าหากัน เมื่อมนุษย์ไม่สามารถรักษาและประคับประคองความสัมพันธ์นั้นไว้ได้ ความเจ็บปวดทั้งหลายที่เกิดขึ้นก็ย่อมส่งผลให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว หรือโดดเดี่ยวยิ่งกว่าตอนที่เราอยู่เพียงลำพังด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม ‘ความรัก’ ที่เหมือนว่าทุกคนจะรู้จักคำคำนี้ดีนั้นก็มักเป็นประสบการณ์เฉพาะที่เราแต่ละคนมองเห็นและเข้าใจแตกต่างกันไป

นับจากอดีตมาจนปัจจุบัน มีนักปราชญ์และศาสดามากมายพยายามขบคิดหาคำอธิบายเกี่ยวกับความรักในแง่มุมต่างๆ หากทั้งหมดอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียง ‘ทฤษฎี’ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ‘ความรัก’ ในโลกของประสบการณ์ยังคงมีความลึกลับและเป็นสิ่งซึ่งเราทั้งหลายยังไม่อาจเข้าใจได้รอบด้าน 

‘ความรัก’ จึงมักเดินทางมาพร้อมกับ ‘ความไม่รู้’ และเพราะความไม่รู้ที่ยากจะเข้าใจได้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยามที่เราตกอยู่ในห้วงแห่งความรัก เหมือนดังคำกล่าวอันโด่งดังของ Slavoj Žižek ที่ว่า “หากคุณสามารถให้เหตุผลได้ว่าคุณรักใครสักคนเพราะอะไร มันก็แปลได้ว่าคุณไม่ได้รักคนคนนั้นจริงๆ”

แม้แต่บทสนทนาใน Symposium ของ Plato ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในตัวบทที่สร้างข้อวิวาทะเรื่องความรักได้ดีที่สุดก็ยังไม่ต้องการสร้างข้อสรุปหรือให้บทนิยามความรักที่ชัดเจนเพียงหนึ่งเดียว (ความรักเกิดขึ้นจากเทพเจ้า ความรักคือการประสานของเครื่องดนตรีที่มีคุณลักษณะแตกต่าง ความรักคือการค้นพบตัวตนอีกครึ่งหนึ่งที่หายไป ความรักคือความสงบสุข ความรักคือผู้นำสารระหว่างเทพเจ้าและมนุษย์) แต่ถึงกระนั้นบทสนทนาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 2,000 ปีชิ้นนี้ก็ได้สร้างข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือการนำเอา ‘ความรัก’ ไปเปรียบโยงกับการเป็น ‘นักปรัชญา’ หรือ ‘ผู้รักในความรู้’

ความรักในความรู้ / ความรู้ในความรัก

‘ปรัชญา’ หรือ ปฺรชฺญา เป็นคำสันสกฤตที่มีความหมายว่า ‘ปัญญา’ ในโลกภาษาไทย เราเลือกใช้คำนี้แทนคำว่า philosophy ซึ่งมาจากคำกรีก philosophia ที่แปลว่า ‘ความรักในความรู้’

‘การทำปรัชญา’ ในแง่นี้จึงไม่ปรากฏร่องรอยของ ‘ความรัก’ หรือความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่าง ‘ความรู้’ กับ ‘ความรัก’ หากเปรียบคำนี้เป็นสิ่งมีชีวิตก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่เดียวดาย และเป็นเพียงแค่ภาพแทนของปัญญาและความรู้สนตัวเอง สำหรับโลกตะวันตกแล้ว philosophia นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจาก ‘ความรัก’ ที่เป็นต้นกำเนิดของ philosophoi หรือ ‘ผู้รักในความรู้’ ดังที่ปรากฏในบทสนทนาใน Symposium ตอนที่ Socrates ในวัยหนุ่มได้ถาม Diotima ผู้เป็นอาจารย์ของเขาว่า

“‘แล้วใครล่ะ ไดโอติมา ที่รักในความรู้ หากเขามิได้เป็นทั้งผู้ฉลาดและคนเขลา’ ข้าพเจ้าถาม

‘เด็กเล็กก็อาจตอบคำถามนี้ได้’ เธอตอบ ‘ก็คือผู้ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสิ่งทั้งสอง ความรักเป็นหนึ่งในพวกเขาเหล่านั้น ด้วยว่าปัญญาเป็นสิ่งงดงาม และความรักก็งดงามเช่นกัน ยิ่งกว่านั้นความรักยังเป็นนักปราชญ์ หรือผู้รักในความรู้ ความเป็นผู้รักในความรู้นี้เองที่เป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างปัญญาและอวิชชา…’”

ความรักกับนักปรัชญาจึงเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน ซึ่งสำหรับไดโอติมา (ที่หลายคนเห็นว่าเธอคือร่างทรงของเพลโต) ความรักไม่ใช่สิ่งที่เป็นอมตะ หรือมิใช่สิ่งที่มีอายุขัย หรือพูดให้ง่ายก็คือ ‘ความรักสถิตกึ่งกลางระหว่างความเป็นเทพและมนุษย์’

ในมุมมองของ Pierre Hadot การกล่าวถึง ‘นักปราชญ์’ และ ‘ผู้รักในความรู้’ ของบทสนทนาชิ้นนี้ของเพลโตนับว่ามีนัยสำคัญอย่างมาก เพราะนี่เป็นหลักฐานทางวรรณกรรมชิ้นแรกๆ ที่มีการใช้คำว่า philosophia ซึ่งอาโดต์เชื่อว่าคำนี้ถูกนิยามขึ้นในสมัยของเพลโต หรือในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาลนี่เอง

การเกิดขึ้นของ ‘ความรักในความรู้’ หรือ philosophia ถือเป็นเส้นแบ่งสำคัญที่แยกแยะผู้รู้ (sage) ออกจากผู้รักในความรู้ หรือนักปรัชญา ดังที่ Éric Weil ได้กล่าวไว้ว่า “นักปรัชญาไม่ใช่ ‘ผู้รู้’ เขาไม่ได้เป็น ‘ผู้มีปัญญา’ หรือคือ ‘ปัญญา’ เขาเป็นเพียงผู้พูดหรือพร่ำสอนสิ่งที่เขาเรียนรู้มาไปจนกว่าจะจบสิ้นชีวิต” ซึ่งแน่นอนว่าปรัชญาในห้วงเวลาดังกล่าวไม่ได้เป็นสัจธรรมที่ลอยอยู่เหนือสรรพสิ่ง แต่เป็นความรู้เชิงปฏิบัติที่เปรียบได้กับแบบฝึกหัดทางจิตวิญญาณ (spiritual exercise) หรือเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตอยู่ การมีความรักก็เป็นส่วนหนึ่งของแบบฝึกหัดนี้

สำหรับชาวกรีกและโรมัน การมีความรักนอกจากจะเป็นการสรรเสริญทวยเทพแล้วนั้น ในหลายครั้งก็อุปมาเหมือนการถูกโจมตีด้วยคันศรหรือถูกคบไฟผลาญเผาในใจ บทสนทนาใน Phaedrus ของเพลโตยังได้เปรียบความรักเข้ากับ ‘ความบ้า’

จนล่วงมาสู่ยุคกลาง คำว่า ‘รัก’ หรือ amor ในภาษาละตินที่มีรากศัพท์มาจาก amus หรือ ‘ตะขอ’ นั้นก็ค่อยๆ แพร่หลายมากขึ้น ความรักถูกนำไปเปรียบกับการถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนแห่งความปรารถนา หรือความต้องการไขว่คว้าใครสักคนมาครอบครองด้วยตะขอ ในยุคกลางนี้เองที่ความรักถูกมองว่าเป็นความทุกข์ทรมาน ไปพร้อมๆ กับการยกย่องว่า ความรักคือสิ่งอัศจรรย์ที่ทำให้มนุษย์เรานั้นเจิดจ้าด้วยรัศมีและความดีงามสูงส่ง

มาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ความเจ็บปวดจากความรักได้กลายเป็นเหตุแห่งความป่วยไข้ ดังที่ Hélisenne de Crenne ได้กล่าวไว้ใน The Torments of Love ว่า ‘ความโหยหาในจิตวิญญาณจะลดทอนเราให้เหลือแต่เพียงความสับสนและความสร้อยเศร้า หากเราไม่อาจสุขสมในสิ่งที่เรารัก’ เดอ แครนน์ ได้ใช้ข้อเขียนนี้วิเคราะห์อาการของผู้มีความรักได้ราวกับนักจิตวิเคราะห์ทำการศึกษาจิตใจผู้เข้ารับการรักษาเลยทีเดียว

จนเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ความรักได้ถูกผูกโยงเข้ากับสถาบันการแต่งงาน ซึ่งส่งผลให้ความรักในโลกอุดมคติแบบชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นกลางขึ้นไปนั้นต้องมีปลายทางไปสู่ชีวิตสมรสและการมีครอบครัวที่ดี

สังคมวิทยาของความรัก / รักในโลกร่วมสมัย

Friedrich Engels ได้วิพากษ์การสมรสของชนชั้นกระฎุมพีว่าวางอยู่บนผลประโยชน์มากกว่าความรู้สึกจริงๆ และได้ชี้ให้เห็นว่าชนชั้นแรงงานที่ไม่มีทรัพย์สินจะมีความรักจริงแท้มากกว่า 

มุมมองดังกล่าวของเองเกิลส์แสดงให้เห็นภาพความรักในแบบโรแมนติก (romantic love) ที่ควรเป็นเรื่องของคนสองคนและไม่ขึ้นกับชนชั้นและฐานะ แต่ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 ระบบทุนนิยมได้พัฒนาตัวเองไปจนถึงขั้นที่สามารถทำให้ความรักในแบบโรแมนติกกลายมาเป็นกลไกขับเคลื่อนตลาด เพราะเมื่อความรักของคนจำนวนมากถูกผนวกรวมเข้ากับการแต่งงานและการมีครอบครัวที่ดี การจับจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลายก็กลายเป็นความจำเป็น นับจากของใช้ในบ้านมาจนถึงเครื่องเรือน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ค่อยๆ พัฒนาไปสู่สินค้าแสดงอัตตา (ego-expressive) จำพวกน้ำหอม เครื่องสำอาง และเครื่องประทินผิวทั้งหลาย ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ซึ่งการแต่งงานอาจไม่ใช่ภาพอุดมคติสูงสุดของการมีความรักอีกต่อไป

ความรักในสังคมสมัยใหม่เป็นความรักที่ให้คุณค่ากับการเลือกได้ การแต่งงานไม่ใช่การผูกมัดตัวเองชั่วชีวิตอีกต่อไป เมื่อพบว่าไม่ใช่ก็หย่าร้างและเริ่มต้นใหม่ แต่การเลือกได้ไม่สิ้นสุดนี้ถูกมองว่าเป็นจุดสิ้นสุดหรือความตายของความรัก

จุดสิ้นสุดของความรัก

ในมุมมองของ Byung-Chul Han เขาเห็นว่ากรอบอธิบายแบบสังคมวิทยามองข้ามปัจจัยสำคัญที่เรียกว่า ‘ความแตกต่าง’ หรือความเป็นผู้อื่น (the Other) ที่เขาคิดว่าเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ความรักหมดสิ้นลมหายใจ ด้วยเพราะโลกในเวลานี้พยายามขจัดความแตกต่างด้วยความเหมือนกัน เรารักผู้อื่นในความเหมือนตัวเราเอง เรามีคู่รักเพราะเรารักตัวเอง ซึ่งการรักตัวเองอย่างลุ่มหลง (narcissistic love) กับการรักตัวเอง (self-love) ถือว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน 

ความรักตัวเองอย่างลุ่มหลงเป็นผลผลิตมาจากสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับตัวเอง (self) มากกว่าสิ่งอื่นใด มันทำลายเส้นแบ่งระหว่างตัวเรากับผู้อื่น โลกจึงเป็นส่วนขยายหรือภาพเงาจากตัวเราเอง ความรักเช่นที่ว่าจึงไม่ต่างไปจากการหลงรักภาพสะท้อนของตัวเราเอง 

หากความรัก หรือ eros ถือเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จักความต่างและแยกแยะผู้อื่นออกจากตัวเรา เหมือนดังเช่นที่โสเครติสถูกเรียกว่า ‘อนาลัย’ หรือ atopos บุคคลที่เรารักก็อยู่ในสถานะเดียวกันคือ ‘เป็นผู้ที่ไม่อยู่ ณ ที่ใดเลย’ อย่างการที่เราไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเราถึงรักคนคนหนึ่ง (ทั้งที่คนอื่นๆ มองว่าเขาเป็นคนที่แย่และไม่เหมาะสมคู่ควร ฯลฯ) ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการให้เหตุผลได้อย่างถ่องแท้ก็ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าความรักได้ดึงเราออกจากโลกที่เราอยู่ไปสู่โลกใบอื่นที่ไม่มีใครมองเห็น นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนที่มีรัก ความรักทำให้เรารักคนที่แตกต่างจากเรา คนที่ไม่เหมือนคนที่เราจะบอกตัวเองให้ชอบหรือรัก

เพียงแต่ในสังคมที่หล่อหลอมให้เรารักตัวเองก่อนผู้อื่น สังคมที่ผลักให้ทุกคนทุ่มเทกับการสนองตอบความต้องการจากแรงขับภายใน หรือ libido อยู่ตลอดเวลานั้นทำให้เส้นแบ่งระหว่างตัวเราและโลกของคนอื่นเลือนหายไป การรักตัวเองจะกำหนดขอบเขตระหว่างตัวเรากับคนอื่น ในขณะที่การรักตัวเองอย่างลุ่มหลงจะทำให้ขอบเขตทั้งหมดพร่าเลือนไป โลกที่เราอยู่จึงถูกปกคลุมด้วยภาพเงาที่ทอดออกจากตัวเราเอง สิ่งใดก็ตามจะมีความหมายก็เมื่อผู้ตกหลุมรักตัวเองมองเห็นภาพสะท้อนของเขา/เธอในสิ่งเหล่านั้น

แต่สำหรับจุดสิ้นสุดของความรักของบุคคล ซึ่ง Spinoza ชี้เตือนให้เราเห็นว่า ความรักและความเกลียดนั้นเปรียบเหมือนสองด้านของเหรียญ การจบสิ้นความรักด้วยความเกลียดชังก็ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หรือมีให้เห็นอยู่เสมอ แต่หากเรานิยามหรือสร้างความหมายของความรักตามข้อเสนอของ Aristotle ที่ว่า ‘ความรักคือความปรารถนาให้คนที่เรารักประสบแต่เรื่องที่ดี’ การสิ้นสุดของความรักแต่คงความปรารถนาดีไว้เป็นอนุสรณ์ที่มีให้แก่กันก็น่าจะเป็นสิ่งที่สมควรกระทำหรือพยายามกระทำมิใช่หรือ

AUTHOR