arigato : ทำไมคนญี่ปุ่นถึงบอกลากันด้วยคำขอบคุณ

หากเราต้องจากกัน จะเป็นด้วยเหตุใด เก็บความคิดที่คล้ายกัน กับความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนั้นไว้…

เพลง ด้วยรักและผูกพัน ของพี่เบิร์ดดังขึ้นมาในใจ เมื่อเราได้รู้เรื่องราวของฮะนะโกะ ช้างไทยอันเป็นที่รักของคนญี่ปุ่นซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่ทางสวนสัตว์อิโนะคะชิระ (Inokashira Park Zoo) จัดงานอำลาอาลัย มีคนนำดอกไม้มาวางกว่า 5,000 ช่อและมีข้อความส่งถึงฮะนะโกะเกือบหมื่นฉบับ แม้ตอนนี้เวลาจะผ่านมาหนึ่งปีกว่า เด็กๆ และผู้คนยังคงแวะเวียนไปยังโรงเลี้ยงช้างที่ว่างเปล่าเพื่อเยี่ยมเยียนบ้านของเพื่อนเก่าที่ตอนนี้กลายเป็นนิทรรศการฮะนะโกะขนาดย่อม

ช่างเป็นความสัมพันธ์ที่ก้าวข้ามกำแพงภาษาและเชื้อชาติที่น่าประทับใจ

เรื่องน่าสนใจคือใจความส่วนใหญ่ในข้อความเกือบหมื่นฉบับนั้น เลือกจะกล่าว ’คำขอบคุณ’ แทน ‘คำอำลา’

เพื่อนชาวญี่ปุ่นของเราบอกว่า ข้อความที่มักจะส่งทิ้งท้ายถึงคนที่จากโลกนี้ไปแล้วคือ sayonara, otsukaresama (ความหมายคร่าวๆ คือ ขอบคุณในความเหนื่อยยากที่ผ่านมา) และ arigato

คำว่า ‘sayonara’ (さようなら) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ‘ลาก่อน’ เป็นลาก่อนที่แฝงความเศร้านิดๆ และมีความยาวนานในการจากลามากสักหน่อย มักใช้เวลาที่เรารู้ว่าอาจจะไม่ได้เจอกับผู้ฟังอีกในระยะเวลาอันใกล้หรือเป็นการจากลาถาวรที่ไม่มีทางจะได้เจอกันอีก

ส่วนคำว่า ‘arigato’(ありがとう)แปลว่า ‘ขอบคุณ’ เป็นคำพื้นฐานทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนภาษาไทยที่เราจะพูดเมื่อได้รับสิ่งของหรือความช่วยเหลือต่างๆ

การใช้คำว่าขอบคุณกับคนที่เสียชีวิตไปแล้ว สื่อถึงความรู้สึกยินดีที่ได้เจอและรู้จักกัน จึงอยากกล่าวคำขอบคุณสำหรับช่วงเวลาดีๆ เหล่านั้นไว้เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเราพบว่าการลาจากหลายรูปแบบในสังคมญี่ปุ่น มักจะแสดงออกถึงความรู้สึกซาบซึ้งใจนี้ร่วมด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตอนเลิกกับแฟนหรือกับสิ่งไม่มีชีวิตก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น พิธีขอบคุณแว่นตาของเมืองซะบะเอะ ซึ่งจะเชิญคนของทางศาลเจ้ามาทำพิธีกรรมเพื่อขอบคุณเหล่าแว่นตาบริจาคที่ทุกคนไม่ใช้แล้ว ก่อนจะนำไปรีไซเคิลหรือบริจาคให้คนในประเทศที่ขาดแคลน เพื่อสร้างความสบายใจให้เจ้าของแว่นทั้งหลายที่รู้สึกผิดที่ต้องทิ้งสหายแว่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดกันทุกวันมาหลายปี

ถ้าใครเคยอ่าน ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว (人生がときめく片づけの魔法) ของคอนโด มาริ น่าจะพอเห็นภาพคอนเซปต์นี้ชัดเจนขึ้น การปฏิบัติกับสิ่งของด้วยความเคารพและกล่าวขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันมาก่อนตัดใจโละทิ้งเป็นเทคนิคที่เราชอบและคิดว่าทรงพลังที่สุดในบรรดาเทคนิคทั้งหลายในหนังสือ เพราะคำขอบคุณนี้มีอานุภาพในการจัดการกับความอาลัยอาวรณ์ได้ดียิ่ง

คำขอบคุณในการร่ำลานี้น่าจะสอดคล้องกับแนวคิดดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เชื่อว่าในทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ล้วนมีวิญญาณสถิตอยู่ภายใน การคิดคำนึงถึงและเห็นคุณค่าของสิ่งดีๆ ที่เคยมีด้วยกันไม่ว่ามันจะเล็กน้อยแค่ไหน จึงช่วยสะสางความรู้สึกตัวเองให้ตัดใจและปล่อยวางได้อย่างไม่ค้างคา

ในแต่ละวัน เราอาจพูดคำขอบคุณกับคนรอบตัวหลายครั้ง แต่จะมีสักกี่ครั้งที่เราใช้คำนั้นเพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้รู้จักและมีกันและกันในชีวิต สำหรับบางคน ถ้ารู้ว่ายังมีโอกาสจะได้เจอกันอีก บทสนทนาแนวนี้ก็อาจจะชวนเขินเกินไปสักหน่อย และเมื่อรู้ว่าไม่มีโอกาสจะได้เอ่ยคำนี้อีกแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่จึงมีแต่ความเสียใจและเสียดาย

คนญี่ปุ่นคงใช้ความรู้สึกขอบคุณนี้ในการรับมือกับการสูญเสียคนที่รัก บรรเทาความเศร้าด้วยการระลึกถึงสิ่งดีๆ และความทรงจำที่มีร่วมกัน เพราะเมื่อเราก้าวข้ามความเสียใจไปได้แล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือความผูกพัน

ข้อความสุดท้ายที่จะส่งให้กัน จึงเป็นคำที่ชวนให้คิดถึงความรู้สึกดีๆ อย่างคำ ‘ขอบคุณ’

AUTHOR