เราพยายามจะเดาใจคนอื่นให้ออกตั้งแต่เมื่อไหร่?

‘เธอคิดอะไรอยู่’

อาจเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดในช่วงหนึ่งของชีวิตคนเรา เพราะมันอาจเปลี่ยนคนรู้จักทั่วไปให้กลายเป็นคนรู้ใจสุดพิเศษได้

แท้จริงแล้วทักษะการคาดเดาว่าคนอื่นคิดอะไรอยู่นั้น ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในการหาคู่ครอง แต่ยังสำคัญต่อการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมาก กล่าวได้ว่าในความสัมพันธ์ทุกแบบ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ใกล้ตัวอย่างครอบครัว เพื่อนฝูง จนถึงระดับการทำงาน ล้วนอยู่ได้ด้วยการประเมินและคาดเดาว่าอีกฝ่ายคิดอะไรอยู่ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ เพราะมันจะช่วยให้เรา ‘วางตัว’ ได้อย่างเหมาะสมว่าจังหวะไหนควรรุก จังหวะไหนควรรับ จังหวะไหนควรล่าถอยหรือปล่อยจะไว้เฉยๆ

การเดาจิตใจทุกวันนี้ยิ่งกลายเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นไปอย่างมากด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก บ่อยครั้งเราต้องอ่านใจผ่านการโพสต์ลอยๆ หรือใบหน้าที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสติ๊กเกอร์ บางครั้งการเข้าหาไม่ถูกจังหวะอาจทำให้ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจึงเกิดคำถามต่อธรรมชาติการเดาใจของมนุษย์ว่า

“เผ่าพันธุ์มนุษย์เราเริ่มพยายามคาดเดาความคิดกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่?”

คำถามนี้น่าสนใจ เพราะมันเป็นการพยายามมองให้เห็นไปถึงรากเหง้าของระบบความคิดของมนุษย์เราว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่การพยายามตอบคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

การเดาใจอีกฝ่ายเป็นระบบความคิดที่วางอยู่บนพื้นฐานของ ‘การแบ่งแยกความคิดของตัวเราออกจากความคิดของคนอื่นได้’

นักจิตวิทยาใช้ ‘การทดสอบแซลลีและแอน (Sally-Anne test)’ ในการตรวจสอบดังนี้

ซ้ายมือคือ แซลลี ขวามือคือ แอน แซลลีมีตะกร้าหนึ่งใบ ส่วนแอนมีกล่องหนึ่งใบ

แซลลีเอาลูกแก้วเก็บใส่ตะกร้าของเธอ

แล้วแซลลีก็ออกไปเดินเล่นข้างนอก

แอนแอบเอาลูกแก้วมาใส่ไว้ในกล่อง

คำถามคือ พอแซลลีกลับมาจากเดินเล่นแล้ว แซลลีจะคิดว่าลูกแก้วอยู่ในตะกร้าหรือในกล่อง

 

แน่นอนว่าคนทั่วไปอย่างเราๆ ย่อมตอบว่า แซลลีควรจะคิดว่าลูกแก้วอยู่ในตะกร้าและเดินไปหาลูกแก้วในตะกร้า แต่เชื่อไหมว่าเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบตอบว่า แซลลีคิดว่าลูกแก้วอยู่ในกล่อง เพราะเด็กที่อายุน้อยกว่า 4 ขวบมีพัฒนาการทางความคิดที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้คิดว่าทุกคนบนโลกคิดเหมือนกับตนเองไปหมด (จะว่าไปผู้ใหญ่บางคนก็ชอบคิดแบบนี้!)

นั่นแปลว่าทักษะการพยายามอ่านใจคนอื่นพัฒนาขึ้นหลังจากอายุราวๆ 4 ขวบ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่หยุดการทดลองไว้เพียงเท่านี้ เพราะล่าสุดในปี 2016 นักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้พยายามหาคำตอบว่า ลิงชิมแปนซีซึ่งเป็นญาติสนิทของมนุษย์เราสามารถคาดเดาใจตัวอื่นได้หรือไม่

แต่ปัญหาคือ ชิมแปนซีนั้นพูดไม่ได้ว่าตนเองคิดอย่างไร ดังนั้นนักวิจัยจึงออกแบบการทดลองเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้ดวงตาของชิมแปนซีแทนคำตอบ

วิธีทดลองคือ เล่นละครในลักษณะการทดสอบแซลลีและแอนให้ลิงชิมแปนซีดู โดยให้น้ำหวานที่ลิงชิมแปนซีชอบดื่มให้มันดื่มเต็มที่เพื่อดึงความสนใจ จากนั้นใช้กล้องวิดีโอถ่ายภาพเพื่อจับตำแหน่งลูกตาของลิงชิมแปนซีเพื่อทดสอบว่าชิมแปนซีว่ามองบริเวณไหน

ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าทึ่ง เพราะเมื่อได้ดูละครแซลลีและแอนแล้ว สุดท้ายลิงชิมแปนซีมองไปยังตะกร้าราวกับพยายามคาดการณ์ว่าแซลลีจะเดินไปหาของในนั้น นั่นแปลว่ามันสามารถคาดเดาใจของลิงตัวอื่นๆ ได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ผลการทดลองนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทึ่งเพราะสมองของลิงชิมแปนซีมีการพัฒนาฟังก์ชันสำหรับการคาดเดาความคิดของลิงตัวอื่นขึ้นมาแล้ว

นึกๆ ดูก็ตลก…ที่มนุษย์เรามีความสามารถในการคาดเดาจิตใจผู้อื่นโดยอัตโนมัติมาตั้งแต่เด็ก และน่าจะมีทักษะเนิ่นนานมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของเราแล้ว

แต่ทักษะในการทำความเข้าใจตนเองกลับเป็นเรื่องยากที่อาจต้องทำความเข้าใจไปทั้งชีวิต

อ้างอิง งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกอย่าง Science

ภาพ en.wikipedia.org

AUTHOR