Goblin Mode เมื่อคนทั้งโลกพร้อมใจกันขี้เกียจ ไร้จุดหมาย เหนื่อยเกินไปในการพัฒนาตัวเอง

Goblin Mode เมื่อคนทั้งโลกพร้อมใจกันขี้เกียจ ไร้จุดหมาย เหนื่อยเกินไปในการพัฒนาตัวเอง

หลายคนผ่านช่วงเวลาสงกรานต์โดยเลือกจะนอนพักผ่อนเฉยๆ  อดหลับอดนอนดูซีรีส์ ไม่อาบน้ำ ปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปอย่างขี้เกียจ จึงคิดว่าเหมาะที่จะเขียนถึงคำหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบรับความขี้เกียจในตัวเรา

ยินดีต้อนรับสู่คำว่า ‘Goblin Mode’ ที่กลายเป็นจุดร่วมของคนทั้งโลกในช่วงเวลาอันไม่แน่นอนนี้

Goblin Mode คือการโอบกอดความขี้เกียจและความไม่สวยงามของชีวิต

ช่วงต้นเดือนเมษา ท่ามกลางข่าวอีลอน มัสก์ซื้อหุ้นทวิตเตอร์ที่กำลังมาแรง  จู่ๆ อีลอน มัสก์ได้ทวีตถึงคำนี้ในภาพมีม ก่อนจะลบทวีตไป หลายคนเริ่มก็สงสัยว่า Goblin Mode นี่มันคืออะไรกันแน่นะ

ช่วงต้นเดือนเมษา อีลอน มัสก์ทวีตภาพมีมที่มีคำนี้แต่ได้ลบไปแล้ว

สื่ออังกฤษอย่าง The Guardian อธิบายว่า คำนี้เกิดขึ้นมาเพื่อโอบกอดชีวิตที่ดูไม่มีคุณภาพและขี้เกียจ เช่น พฤติกรรมอดหลับอดนอนทั้งวันทั้งคืนดูซีรีส์จนสุขภาพแย่ การเลื่อนไถดูโซเชียลมีเดียไปวันๆ (เรียกอีกอย่างว่า doomscrolling) ไม่อาบน้ำ กินอาหารขยะ ออกจากบ้านในชุดนอน ใส่เสื้อตัวเดิมซ้ำๆ โดยไม่แคร์สายตาใคร  ฯลฯ ทั้งหมดล้วนตรงข้ามกับแนวคิด “ชีวิตดีดีที่ลงตัว”

Goblin Mode คือการโอบกอดความไม่สวยงามของชีวิต สภาวะไร้ซึ่งสุนทรียภาพ ไร้ความพยายาม เพราะก็อบลินไม่แคร์ว่าสารร่างตัวเองเป็นอย่างไร 

ต่อไปนี้ หากได้ยินใครพูดว่า “I’m going Goblin Mode” (ฉ​ันเข้าสู่โหมดก็อบลิน) คือการประกาศตนว่า “ฉันไม่แคร์อีกต่อไปว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับฉัน ไม่ว่าจะเรื่องภาพลักษณ์ หน้าตาหรือสิ่งที่ฉันพูดโดยไม่รู้สึกผิด”  

หากให้ผู้เขียนแปลตามความเข้าใจเป็นภาษาไทยบ้านๆ  “Goblin Mode” ก็คือการเข้าสู่โหมด “ช่างแม่ง” คนที่อยู่ในโหมดนี้อาจจะปล่อยให้ห้องรก ปล่อยตัว ล้างจานนานๆ ที ไม่ยอมออกนอกบ้านไปพบปะผู้คน ปลดปล่อยความน่าเกลียดในตัวเรา อะไรปล่อยได้ปล่อยไป อะไรเทได้เทไปโดยไม่ต้องรู้สึกผิด

คำนี้โผล่ขึ้นในทวิตเตอร์ตั้งแต่ปี 2009 และปรากฏมาเรื่อยๆ ในมีมทวิตเตอร์และ Tumblr  เมื่อไปสืบค้นใน Urban Dictionary (ซึ่งให้ใครก็ได้มาอธิบายคำจำกัดความคำแสลงหรือคำในเน็ตใหม่ๆ) คำนี้ก็ยังมีความหมายหลากหลาย บางคนใช้อธิบายเซ็กซ์ท่าแปลกๆ โดยรวม ความหมายที่แสดงความขี้เกียจ น่าเกลียด รก ไม่ดูแลตัวเอง เพิ่งแพร่หลายในระยะเวลาไม่นาน

ทำไมสิ่งมีชีวิตในตำนานอย่าง “ก็อบลิน” ถึงถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายชีวิตมนุษย์เราในมุมน่าเกลียด ก็อบลินเป็นสิ่งมีชีวิตในเทพนิยายพื้นบ้านยุโรป โดยทั่วไปมักถูกนำเสนอในด้านลบ เช่น นิสัยร้าย ขี้โกง มักจะมีร่างเล็ก หน้าตาอัปลักษณ์ มักอาศัยอยู่ใน Grotto หรือถ้ำลอด หรือมีนิสัยติดบ้าน ชอบแกล้งเด็ก การนำภาพลักษณ์ก็อบลินมาใช้ในเชิงเพื่อยอมรับตัวเองมีด้านที่น่าเกลียดและแง่ลบจึงมีอารมณ์ขันซ่อนอยู่ นำเสนอด้านตรงข้ามกับความดีงามที่สังคมคาดหวัง

ภาพก็อบลินในโฆษณาสบู่ปี 1873 จาก Internet Archive Book Images

ปรากฎการณ์ล็อคดาวน์ปลดล็อคโหมดก็อบลินในตัวเรา

เราล้วนมีช่วงเวลาที่ขี้เกียจในชีวิต ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกแต่อย่างใด แต่หลายๆ สื่อเห็นตรงกันว่า โหมดก็อบลินนั้นมาพร้อมกับชีวิตช่วงล็อคดาวน์ที่เราไม่ต้องลุกจากที่นอน ไม่ต้องแต่งตัวแต่งหน้าออกไปทำงาน ดูซีรีส์ และไถมือถือไปเรื่อยๆ  พอล็อคดาวน์ทำให้เราเข้าสู่โหมดก็อบลินโดยไม่ตั้งใจ อาจทำให้หลายคนชินกับชีวิตติดบ้าน เพราะรู้สึกสบายกายสบายใจดี หลายคนที่ทำงานหรือเรียนอยู่บ้านเพราะโควิด พอไม่เจอใครนานๆ อาจเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องพยายามเป็นคนดีคนเก่งหรือสร้างความประทับใจให้ใคร  โหมดก็อบลินเลยเป็นคำที่ตรงใจตอบโจทย์ชีวิตอยู่แต่บ้านที่ไม่เหนื่อยไม่ต้องพยายาม

 นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในยุคโควิดที่คนเริ่มหวาดวิตกหากโลกจะกลับไปสู่ยุค Normal เพราะเคยชินกับชีวิตแบบนี้เสียแล้ว เช่น

  • FONO (n.) Fear of Normal การรู้สึกกังวลหากจะต้องกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติ และทำกิจกรรมต่าางๆ หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
  • HOGO (n.) Hassle of Going Out  ความรู้สึกว่าการออกจากบ้านไปสังสรรค์นั้นเหนื่อยยากเกินไป หรือไม่คุ้มควาามวุ่ยวายเหนื่อยล้าที่ตามมา
  • social hangover (n.) อาการเมาค้างทางสังคม คือความรู้สึกเหนื่อยหรือป่วยเบาๆ จากการพบปะและใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัวหลังล็อกดาวน์

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีทีผ่านมา เราได้เผชิญกับล็อคดาวน์หรือการกักตัวนับครั้งไม่ถ้วน บางคนต้องพักโปรเจกต์ในชีวิตบางอย่าง บางคนตกงาน เปลี่ยนงาน เหนื่อยล้ากับทำงานจนสิ้นแรง หลายคนเริ่มรู้สึกสบายกายสบายใจและเคยชินกับการอยู่แต่บ้าน ไม่ต้องออกไปทำกิจกรรมหรือเข้าสังคม โลกอนุญาตให้เราใช้เวลาทิ้งขว้าง ทำตัวน่าเกลียดโดยไม่ต้องสนว่าใครจะคิดอย่างไร

โอบกอดและยอมรับความผ่อนคลาย ขี้เกียจ ไร้แพชชั่น ในตัวเราบ้าง

Goblin Mode คือแนวคิดขั้วตรงข้ามกับแนวคิดที่ว่า “ฉันจะพยายามเพื่อพัฒนาตัวเอง” เป็นมวลรวมพลังงานของผู้คนในยุคสมัยที่กำลังรู้สึกเหนื่อยล้า หมดหวัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความโกลาหลของโลก หรือปัญหามากมายที่เราแก้แค่ที่ตัวเราเองไม่ได้

คำนี้กลายเป็นมีมที่ฮิตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นคำแห่งยุคสมัย ซึ่งเข้าใจได้ไม่ยาก ต่อให้ไม่มีคำนี้อยู่ เราทุกคนล้วนมีช่วงเวลา “โหมดก็อบลิน” ในชีวิต มีชีวิตช่วงขี้เกียจ เหนื่อยล้า เบื่อหน่าย ปล่อยเนื้อ ปล่อยตัว ปล่อยให้ตัวเองดูน่าเกลียด คำนี้จึงแพร่ต่อไปไม่หยุดหย่อน อีกนัยหนึ่งมันคือการเตือนใจว่าไม่ใช่แค่เราที่เหนื่อยล้า คนเราเหนื่อยได้ พักได้ ไม่ต้องดูดีสวยงามหรือพัฒนาตัวเองตลอดเวลา 

ครั้งแรกเมื่อได้ยินคำนี้ ก็ทำให้นึกไปถึงตัวละครในตำนาน The Dude ในหนังตลกคลาสสิกอย่าง Big Lebowski (1998) ซึ่งตัวละครเอกเป็นชายวัยกลางที่ดูชิลล์และผ่อนคลาย ไม่มีงานทำ เขาใส่ชุดคลุมอาบน้ำเดินโทงเทงไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต เสื้อผ้าที่ดูใส่ซ้ำจนยาน และท่านั่งอ้าซ่าแสนสบาย แต่ก็เกิดเรื่องวุ่นให้ The Dude คนนี้ไปอยู่ในสถานการณ์วุ่นวายชวนปวดกบาล 
No Problem Whatever GIF by The Good Films

The Dude ในหนัง Big Lewbowski (1998) ภาพจาก Giphy https://giphy.com/gifs/thegoodfilms-the-big-lebowski-movie-whatever-X3DQ0d9QJVEpa

ช่วงปลายปีที่แล้ว ผู้เขียนได้อ่านนิยายร่วมสมัยเรื่อง My Year of Rest and Relaxation โดย Ottessa Moshfegh เล่าชีวิตตัวละครหญิงสาวไม่ระบุชื่อ ชีวิตไร้จุดหมาย นอนหลับไปเรื่อยๆ เป็นเวลาหนึ่งปี ไม่ต้องพยายาม ไม่แสวงหา ตัวละครหญิงสาวคนนี้มีพร้อมทุกอย่าง รูปร่างหน้าตาดี ผอม สูง ผมบลอนด์ มีฐานะร่ำรวย แต่ชีวิตกลับไร้จุดหมาย สิ่งเดียวที่เธอมีแพชชั่นคือการนอน โดยแผนเธอคือจะหลับไปเรื่อยๆ สัก 1 ปี โดยหวังว่าชีวิตของเธอจะคลี่คลาย หวังว่าถ้าได้นอนเยอะมากพอ เธอคงจะเหมือนเกิดใหม่ กลายเป็นคนใหม่ที่เปลี่ยนแปลง ทุกเซลล์ในร่างได้เกิดใหม่จนลืมเรื่องราวในอดีตให้พ้นไป อ่านแล้วก็รู้สึกผ่อนคลายและสะใจกึ่งอิจฉาอยากจะนอนทิ้งขว้างสักหนึ่งปี ไม่ต้องผลิต ไม่ต้องแสวงหา และพยายาม

My Year of Rest and Relaxation นิยายโดย Ottessa Moshfegh

แน่นอนว่าย่อมมีการวิจารณ์และเกิดคำถามว่าว่า แนวคิดโหมดก็อบลินนั้นสนับสนุนให้คนต่อต้านสังคม ละเลยสุขภาวะที่ดี เช่น การกินอาหารขยะ อดหลับอดนอน ไม่ออกกำลังกาย สะท้อนว่าผู้คนจำนวนหนึ่งในสังคมรู้สึกสิ้นหวัง หากทำไปนานๆ ก็อาจะนำไปสู่การทำลายตัวเอง แต่อีกทางหนึ่ง มันก็สะท้อนว่าคนในยุคสมัยนี้อาจไม่ต้องการความสำเร็จในแบบเดิมๆ อีกต่อไป

สำหรับบางคนอาจเป็นแค่บางช่วงเวลาที่เหนื่อยล้าชั่วคราวในช่วงวันหยุดยาว ช่วงพักหลังทำงานหนักมานานจนร่างพัง แต่กับบางคน โหมดก็อบลินคือความเปลี่ยนแปลงในระดับจิตวิญญาณ เปลี่ยนวิธีคิดและการมองจุดมุ่งหมายในชีวิตของคนทีอยากปลดปล่อยตัวเองจากความคาดหวังของสังคมและผู้ใหญ่ในโลกที่ไม่แน่นอนและร้อนเป็นไฟ

คำๆ นี้ที่อาจจะผ่านมาและผ่านไปเหมือนคำฮิตติดเทรนด์คำอื่นๆ อย่างน้อยก็เกิดขึ้นเพื่ออนุญาตให้พวกเราได้พักกาย พักใจ หยุดพักจากการแสวงหา ความต้องการจะก้าวหน้าหรือพัฒนาตัวเองจนเหนื่อยล้าหมดแรง ไม่ต้องโบยตีตัวเองตลอดเวลา

การมีอยู่ของคำนี้ ทำให้เรารู้ว่าในโลกนี้… ไม่ใช่แค่เราที่เหนื่อยล้าหมดไฟ เหนื่อยกับการคาดหวังของสังคม ไม่เป็นไรที่เราจะน่าเกลียดหรือขี้เกียจ ยอบรับด้านไม่สวยงามในชีวิต ก็อบลินที่ใครๆ ก็ไม่รักอาจจะเป็นสิ่งที่เข้าใจเรา ในวันที่เรารู้สึกพ่ายแพ้

โหมดก็อบลินอาจดูน่าเกลียด ไม่สวยงาม แต่ก็เกิดขึ้นมาช่วยสรรเสริญความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต โอบกอดความดิบๆ ความรกเละเทะ ความขี้เกียจ ตบบ่าให้เราในวันเหนื่อยเกินกว่าจะสร้างความประทับใจให้ใครอีกต่อไปโดยไม่ต้องรู้สึกผิด  😉

อ้างอิง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ksmac

Ordinary person who’s trying to do non-ordinary work.