เมื่อ ย้ง-ทรงยศ พูดถึง เต๋อ-นวพล

เราคงรู้จัก ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ในฐานะผู้กำกับหนัง GDH แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง เขายังเป็นผู้กำกับซีรีส์ บันทึกกรรม ที่ฉายทางช่อง 3 อีกด้วย และเป็นเขาเองที่เล็งเห็นความสามารถของเต๋อ มอบโอกาสให้เต๋อได้ลองกำกับหนังสั้นเรื่องแรกๆ ของเขาลงซีรีส์ บันทึกกรรม ซึ่งเป็นผลงานสำคัญของเต๋อ

ในเมื่อ a day 209 ตั้งใจรู้จัก เต๋อ นวพล จากหลายๆ มุม เราจึงไม่พลาดที่จะคุยกับ ย้ง ทรงยศ เพื่อทำความรู้จักเต๋อจากมุมมองของผู้กำกับด้วยกันและผู้เคยร่วมงาน

คุณรู้จักเต๋อได้ยังไง

ผมรู้จักเต๋อเพราะน้องมาขอฝึกงานที่ GDH เต๋อมาฝึกแผนกตัดต่อ มีจังหวะหนึ่งผมทำหนังสั้น ต้องการน้องมาช่วยตัดต่อ ก็เลยทำให้เต๋อได้มาตัดหนังสั้น เรานั่งอยู่ในห้องทำงานด้วยกัน รู้จักกันมากขึ้นจากการทำงานนั้น

เต๋อมาช่วยผมจริงจังอีกครั้งตอนทำสมาคมผู้กำกับ ยุคนั้นพี่สิน (ยงยุทธ ทองกองทุน) เป็นนายกฯ มีการทำงานเกี่ยวกับอาบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผมได้รับมอบหมายให้ทำคอนเทนต์นั้น ก็ชวนเต๋อ ตอนนั้นเราสนิทกัน เวลานั่งรถตู้ไปทำงานก็คุยกันเรื่อยๆ เริ่มชอบน้องคนนี้มันมีความคิด แล้วเต๋อมันเป็นคนเปิด เรารู้สึกว่าน้องเป็นคนทำงานค่อนข้างอินดี้ วิธีการเล่าเป็นแบบทดลอง แต่เนื้อหาของเต๋อแมส หนังสั้นอย่าง see ซึ่งพูดเรื่องพ่อก็แมส เป็นคนอินดี้ที่เปิดรับทุกอย่าง

ทำไมคุณถึงชวนเต๋อมาทำหนัง บันทึกกรรม

ช่วงนั้นผมเริ่มเปิดบริษัทนาดาวเพราะค่าย GDH อยากให้ผมออกมาทำงานเกี่ยวกับการดูแลศิลปิน ผมบอกว่าดูแลศิลปินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำโปรดักชั่นด้วย ตอนนั้นช่อง 3 เพิ่งเริ่ม บันทึกกรรม โดยคอนเซปต์มันคือหนังสั้นที่ฉายจบในตอน ผมรู้สึกว่าแม้ได้เงินไม่ค่อยเยอะ แต่เป็นโอกาสดีที่ได้ฝึกคนทำงานฝั่งเราที่อยากจะสื่อสารเรื่องกับคนดูโทรทัศน์ เราจะได้เรียนรู้อะไรเยอะมากๆ จากโปรเจกต์นี้

นโยบายของนาดาวมีอย่างเดียวคือให้คนทำงานฝั่งเราได้เติบโต มองหาผู้กำกับที่คิดว่าดูจะเป็นคนรุ่นใหม่ให้เราในอนาคต ผมเลยลองชวนเต๋อมาทำ ความจริงก็กลัวเหมือนกันว่าจะรอดมั้ย

บันทึกกรรม ตอนแรก ทางโลก ผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง

ความจริงตอนถ่าย ทางโลก ผมมีความนอยด์ว่าจะทำได้มั้ย งานละครโทรทัศน์ต้องเซ็ตอัพเยอะ เต๋อเลือกถ่ายที่วัดเป็นวัดแบบเก่าๆ ขยะเยอะ ไม่มีอะไรเป็นทีวีเลย มันได้จริงมั้ยวะ กังวลว่าการที่น้องถ่ายแฮนด์เฮลด์กระตุกๆ กูจะโดนโปรดิวเซอร์ช่อง 3 ด่ามั้ย แต่ผมก็รู้สึกว่าอยากเรียนรู้ ผมเคยเดินไปกระซิบเต๋อว่าอย่าถ่ายสั่นมาก คือถ่ายแฮนด์เฮลด์ได้แต่นุ่มนวลนิดนึงได้มั้ย อย่างน้อยก็ต้องพาคนดูค่อยๆ เดินไปกับเราซึ่งเต๋อก็ฟัง

พอตัดต่อออกมาผมรู้สึกว่าเต๋อจูนกับคนดู มีเนื้อหาที่เป็นอารมณ์หรือการสื่อสารที่อยากคุยกับคนดูชัดๆ ต่อให้วิธีการมันจะดูแปลกใหม่มากกับคนดูทีวี แต่พี่ว่าเต๋อพยายามจูนกับคนดูทีวีอยู่ ก็เลยคุยกับเต๋อในโปรเจกต์ต่อไป

ไอเดียการเล่าเรื่องโดยใช้เพจเฟซบุ๊กใน บันทึกกรรม ตอนที่ 2 มั่นใจว่าคนไทยเกินหนึ่งล้านคนเกลียดเมธาวี เกิดขึ้นได้ยังไง

ผมโยนให้เต๋อเร็วๆ ว่าพี่สนใจเรื่องเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่เหมือนไม่ได้ทำอะไรผิดแต่โดนสังคมตัดสิน เวลาเราพูดถึง บันทึกกรรม เราก็จะนึกถึงเนื้อหาที่พูดว่าการทำกรรมดีจะได้รับผลดีทำชั่วได้รับผลชั่ว ผมแค่ตั้งคำถามว่ามีคนที่ไม่ได้ทำกรรมชั่วแต่ได้รับผลชั่ว หลายๆ ครั้งเรารู้สึกว่าไม่เห็นทำอะไรผิดเลยแต่ทำไมเราถึงได้รับผลนี้ แค่นี้เลย แล้วเต๋อก็เอาไปทำเป็น
เมธาวีฯ ขึ้นมา

จริงๆ ต้องให้เครดิตเต๋อล้วนๆ ผมก็ยังคิดไม่ทัน เราอยากทำ บันทึกกรรม แล้วฉายลงทีวีเท่านั้นแหละ เพราะอยากให้เต๋อจูนกับทีวี การที่เอาเนื้อหาละครมาลงออนไลน์แล้วไปแบบนั้นได้ เต๋อทำเองทั้งหมด เขามีเชนเนลของตัวเอง มีวิธีการบิลด์ ผมคิดไม่ถึงว่าจะทำสิ่งนี้ได้ในวันนั้น

คิดยังไงกับหนังเต๋อ

หนังเขาเป็นหนังทดลอง ผมยังยืนยันคำเดิมว่าเต๋อเป็นคนที่มีคอนเทนต์แมสแต่เล่าผ่านทัศนคติของตัวเอง สิ่งที่เป็นเต๋ออย่างหนึ่งคือวิธีการในการนำเสนอเขามักจะหาวิธีการใหม่ๆ เราสนุกกับการดูงานเต๋อ ผมรู้สึกว่าคราวนี้เต๋อมันจะมาไม้ไหน คือกูอยากฟังสิ่งที่มึงพูดแต่อยากฟังว่าจะพูดแบบไหนด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าพอเป็นวิธีการทดลองเราก็อาจจะจูนติดบ้างไม่ติดบ้าง

ผมชอบ 36 มวลอากาศในภาพรวมดูจบแล้วมันหนักอึ้ง สำหรับผมไม่ได้มีอะไรมาชกเรา ฮุกเรา ต่อยเราหนักๆ แต่พอจบเสร็จปุ๊บมันมีอะไรบางอย่างถ่วงๆ ทุ้มๆ เราอยู่ ผมชอบ ฟรีแลนซ์ฯ รู้สึกคล้ายๆ กันแต่สนุกด้วยว่าระหว่างทางเราตื่นเต้นกับวิธีการของมัน วิธีการปล่อยตัวละคร วิธีกำกับ เพลิดเพลินกับการที่มันเล่นกับเรา

die tomorrow รู้สึกเป็นช่วงๆ ทำงานกับผมไม่ค่อยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องบอกว่าหนังเรื่องนี้ดีไม่ดี สำหรับผม die tomorrow อาจจะจูนไม่ค่อยติดแต่ยังไม่ได้บอกมันนะ (หัวเราะ)

คุณรู้จักเด็กช่วงมหาวิทยาลัยเยอะ ทำงานกับเขาบ่อยเด็กรุ่นนี้คิดยังไงกับนวพลบ้าง

เต๋อเป็นไอดอลของเด็กยุคใหม่โดยส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักเลยนะ บางคนอาจจะไม่ได้มาพูดกับผมตรงๆ แต่สิ่งที่เขาแสดงออกกับงานหรือแม้กระทั่งการแชร์งานในโซเชียล ผมไม่ได้คิดว่าเด็กหลายคนอยากทำหนังแบบพี่เต๋อ แต่น่าจะอยากทำให้ได้แบบเขา ไม่ใช่ว่าเราอยากทำหนังแบบหว่อง การ์ ไว แต่มันเป็นเรื่องว่าพี่เต๋อเก่ง ทำไมเขาทำงานแบบที่ไม่ใช่ขนบที่เราคุ้นเคยแต่คนดูรู้สึก อะไรแบบนี้มั้งที่ผมรู้สึกว่าวัยรุ่นจูนหาเต๋อได้

พอเต๋อมีตัวตนแบบนี้เขาอยู่ในฟากที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ไม่อยากพูดว่ามันอินดี้ ด้วยความที่เต๋อเป็นคนเปิดก็จะลองมาทำหนังสตูดิโอมาคุยกับพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล โปรดิวเซอร์ค่าย GDH) มาเรียนรู้วิธีการคิดแบบสตูดิโอ พอเขาลองทำทุกอย่างปุ๊บ วันหนึ่งที่รู้สึกว่าคอนเทนต์นี้ไม่เหมาะกับการทำหนังสตูดิโอ อยากออกไปทำข้างนอกเอง เต๋อจะรู้วิธีการว่าทำยังไงให้มันไปสู่คนหมู่กว้างขึ้น คือเป็นคนฉลาดที่จะ pick up สิ่งระหว่างทางที่มันจะก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและงานในอนาคต

นอกจากมันจะเป็นไอดอลเด็ก มันยังเป็นไอดอลผู้กำกับ GDH ด้วย เวลาเต๋อมีชิ้นงานทุกคนจะแชร์แล้วพูดกันว่าทำไมนวพลทำสิ่งนี้ได้ ซึ่งเต๋อก็อยู่ในกรุ๊ปนะ (หัวเราะ)

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ในเล่ม a day 209
สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่
http://godaypoets.com/aday209

AUTHOR