(UN)SEEN นิทรรศการโดยอิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ที่ใช้เส้นผมถักทอเล่าเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้

Highlights

  • อิ่ม–อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ คือศิลปินที่ใช้เส้นผมถักทอเป็นงานศิลปะ โดยได้แรงบันดาลใจจากตอนที่พ่อตัดแบ่งผมของตัวเองให้อิ่มและน้องๆ เก็บไว้เป็นตัวแทนเลือดเนื้อ เพื่อให้ลูกระลึกถึงในยามที่พ่อไม่อยู่ 
  • เมื่อพ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย อิ่มใช้เส้นผมสร้างสรรค์งานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายใยในครอบครัวของตัวเอง, ตั้งคำถามกับค่านิยมและขนบของผู้หญิงในการออกเรือนและการเป็นแม่บ้านที่ดี หรือแม้กระทั่งนำเส้นผมของพนักงานบริการทางเพศมาสื่อสารถึงภาพลักษณ์ที่สังคมมอง
  • นิทรรศการล่าสุดของอิ่มใช้เส้นผมของชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม จากพื้นที่ต่างๆ ที่เคยขอรับบริจาคผ่านเฟซบุ๊ก มาบอกเล่าเรื่องราวสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยศิลปินเลือกเป็นนักสังเกตการณ์ที่กำลังตั้งคำถามกับคนดูว่า สิ่งที่พวกเรามองเห็นนั้นคือความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่
  • The solo exhibition '(UN)SEEN' by Imhathai Suwatthanasilp จัดขึ้นที่แกลเลอรี 1PROJECTS ระหว่างวันที่ 18 มกราคม - 15 มีนาคม 2563 โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งใน Galleries’ Night ด้วย

เชื่อว่าหลายคนคงคิดแบบเดียวกัน เบื่ออาการผมร่วงที่นับวันยิ่งมากขึ้น เส้นผมกระจายให้เห็นในห้องน้ำและพื้นห้อง สร้างความหงุดหงิดยามทำความสะอาดอยู่เรื่อยไป จนต้องหาอุปกรณ์ที่พร้อมมากำจัดให้หมด สำหรับเราเส้นผมก็เท่านี้ แม้จะเกิดจากเราเองแต่เมื่อหลุดร่วงไปก็ไม่มีความหมายแล้ว

แต่สำหรับ อิ่ม–อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ เส้นผมเป็นมากกว่านั้น ในวันที่พ่อของเธอตัดสินใจไว้ผมยาว แล้วสั่งให้ลูกสาวถักเปียตัดแบ่งเส้นผมให้เท่ากันเพื่อให้ลูกทั้ง 4 คนเก็บไว้เป็นตัวแทนของเลือดเนื้อตัวเอง และระลึกถึงเมื่อยามพ่อไม่อยู่ อิ่มจึงสนใจนำเส้นผมมาทำเป็นงานศิลปะ

เริ่มตั้งแต่ผลงานทีสิสตอนเรียนปริญญาโทที่สาขาศิลปไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชื่อว่า เส้นผม : สายใยครอบครัว ที่อิ่มเลือกเอาเส้นผมตัวเองมาถักประกอบเข้าไปในสิ่งของภายในบ้าน ทั้งหมอนของพ่อที่ทำขึ้นในขณะที่พ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย หมอนของแม่ ผ้าจากมุ้ง ตุ๊กตาของเธอและน้องสาวฝาแฝด

ต่อจากนั้นเส้นผมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานของเธอมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น Hair for Hope งานประติมากรรมจากเส้นผมผู้ป่วยมะเร็งและคนที่บริจาคเส้นผมให้ผู้ป่วย, ออกเรือน : Rebirth ผลงานที่เธอตั้งคำถามและแสดงทัศนะของตัวเองผ่านการซ้อนทับของพิธีแต่งงาน การออกจากบ้าน ความผูกพันในครอบครัวที่ต้องพลัดพราก โดยศิลปินนำเส้นผมมาร้อยและถักทอเป็นประติมากรรมรูปทรงต่างๆ 

นอกจากนี้ยังมีงาน ‘เรือน 3 น้ำ 4’ งานศิลปะที่สื่อนัยความเป็นแม่บ้านของผู้หญิง, No More Sewing Machine ผลงานเกี่ยวกับพนักงานบริการทางเพศในจังหวัดเชียงใหม่ที่เธอขอใช้เส้นผมมาถักทอห่อหุ้มอะไหล่จักรเย็บผ้า, Good Girls Go to Heaven, Bad Girls Go Everywhere ผลงานกล่องไฟที่ใช้ปีกแมลงเม่ากว่าหมื่นปีกมาเรียงปิดทับข้อความดังกล่าว

และล่าสุดกับผลงาน The solo exhibition ‘(UN)SEEN’ by Imhathai Suwatthanasilp ที่หยิบเอาเรื่องราวสามจังหวัดชายแดนใต้มาบอกเล่าเป็นภาพถ่าย โดยมีฉากหน้าเป็นเส้นผมถักทอของคนไทยชาวพุทธและมุสลิม ซึ่งศิลปินสาวขอรับบริจาคผ่านเฟซบุ๊กแล้วนำมาถักเป็นลายลูกไม้บอบบางที่มีแพตเทิร์นคล้ายลายประดับในสถาปัตยกรรมของศาสนาอิสลาม

จากผลงานทั้งหมดเราจินตนาการภาพไม่ออกว่าจะนำเส้นผมเล็กๆ มาร้อยต่อถักทอเป็นงานศิลปะได้ง่ายๆ ยังไง อิ่มทำให้เราสนใจกระบวนการสร้างงานศิลปะของเธอไม่น้อย และต่อจากนี้คือบทสนทนาที่ศิลปินเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานและแนวคิดต่างๆ ที่ทำให้เส้นผมแต่ละเส้นมีค่าสำหรับเธอ


ก่อนหน้านี้คุณให้สัมภาษณ์ว่าที่ใช้เส้นผมทำงานเพราะพ่อเป็นแรงบันดาลใจ แล้วจุดเริ่มต้นของการมาเป็นศิลปินคืออะไร

ตั้งแต่จำความได้เราชอบวาดรูป ปั้นดินน้ำมัน ตอนอายุประมาณ 5 ขวบเคยส่งรูปวาดไปประกวดระดับจังหวัดแล้วได้รางวัล มันก็เหมือนฝังในใจเราว่า เออ เราทำสิ่งเหล่านี้ได้ดี ตอน 6 ขวบ ญาติวัยใกล้กันชวนวาดรูปอาชีพที่อยากเป็นตอนโต ตอนนั้นเราเขียนลงไปว่าอยากเป็นจิตรกร เพราะรู้จักคำว่าจิตรกรผ่านสียี่ห้อจิตรกรน้อย (หัวเราะ) แต่ไม่รู้จักคำว่าศิลปิน จากตรงนั้นมันอยู่ในความทรงจำเลยว่าเราไม่เคยอยากเป็นอย่างอื่น อยากเป็นศิลปิน อยากทำงานศิลปะ โตมาก็เลือกเรียนภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร

 

แล้วทำไมเลือกภาควิชาศิลปไทยตอนเข้าเรียนที่ศิลปากร

มันเป็นจุดเปลี่ยน ตอนแรกเราไม่ได้เลือกศิลปไทย แต่เรียนเพนต์ติ้ง สัปดาห์แรกๆ ของการไปเรียนอาจารย์ให้เขียนภาพกับหุ่นนิ่ง วาดให้เหมือนสิ่งที่วางอยู่ตรงหน้า เรารู้สึกว่ามันอึดอัด มันทรมานมาก เพราะปี 3 แล้วเราอยากสื่อสารสิ่งที่เราคิดแล้ว อยากเปิดออกไปสู่กระบวนการอื่นๆ ที่ไม่ใช่มานั่งเพื่อเขียนรูปอย่างเดียว 

สุดท้ายขอย้ายภาควิชาไปเรียนศิลปไทย เพราะแอบไปถามเพื่อนว่าภาควิชานี้เรียนอะไร เพื่อนบอกว่าอาจารย์ให้หัวข้อมาแล้วให้เลือกได้อย่างอิสระเลยว่าเราจะทำงานด้วยเทคนิคอะไร แล้วปรากฏว่ามันตรงจริตมากเลย สุดท้ายมาค้นพบว่าตัวเองใช้วัสดุได้ดีมาก ซึ่งก็เป็นเราในทุกวันนี้เลย

 

ตอนนั้นคุณใช้วัสดุอะไรบ้างในการทำงาน แล้วหันมาใช้เส้นผมตอนไหน

ตอนนั้นทำวัสดุเกี่ยวกับธรรมชาติและภาชนะหัตถกรรมไทย พวกกระบุง กระจาด ตะกร้า ที่สานด้วยวัสดุธรรมชาติแล้วก็เน่าเปื่อยผุพัง เขาเรียกว่า found object เป็นวัสดุที่มีอยู่จริงในพื้นถิ่น แล้วเราก็ไปขอมาทำเป็นงานศิลปะชื่อว่า ผาสุก

ตอนเรียนมีวิชา composition อาจารย์ให้ทำวัสดุจากธรรมชาติ เราคิดว่าวัสดุธรรมชาติอะไรที่จะไม่ซ้ำคนอื่นในห้อง เพราะไม่ชอบให้งานตัวเองซ้ำใคร งั้นเราเอาเส้นผมมาดีกว่า ซึ่งจริงๆ เส้นผมมันถูกเก็บก่อนหน้านั้นแล้ว ตั้งแต่ปี 2003 เริ่มจากพ่อตัดผมให้ แล้วเราก็เก็บเส้นผมที่ร่วงของตัวเองด้วย เก็บมาเรื่อยๆ ได้ 2 ปี ช่วงเรียนปริญญาโทก็เอาผมมาถักเป็นงานชิ้นแรก 

ตอนนี้นจะมีชิ้นงานที่ตอนนั้นพ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว พ่อใกล้จะเสียชีวิต เราไปเฝ้าไข้พ่อที่โรงพยาบาล ความรู้สึกเรา ณ ตอนนั้นอยากไปโอบกอดพ่อแล้วประคองเขาไว้ เพราะเขาเจ็บตัว เจ็บตรงไหนก็เอาหมอนมาหนุนไว้ บนเตียงนอนเลยเต็มไปด้วยหมอน เราเลยขอเก็บหมอนใบหนึ่ง แล้วเก็บเส้นผมที่ร่วงระหว่างเฝ้าไข้พ่อ เลือกเก็บตอนสระผมซึ่งผมมันจะพันกันเป็นก้อน เราก็เอาทั้งกระจุกมาถักโครเชต์ล้อมรอบให้มันเกิดเป็น art form แล้วถักต่อกันไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นผืนแล้วถึงเอามาหุ้มหมอน

เวลาพูดถึงเส้นผมมันมีความบอบบาง เส้นเล็ก น่าจะทำงานด้วยยาก คุณมีกระบวนการยังไงที่สามารถนำเส้นผมมาถักโครเชต์ได้

จะบอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการต่อเส้นผมไม่ใช่การถัก ถ้านึกภาพเวลาเราถักไหมพรมมันจะยาวไปเรื่อยๆ ใช่ไหม แต่เวลาถักเส้นผมต้องมัดให้เชื่อมกันก่อน ซึ่งแค่มัดก็ยากแล้ว แถมยังเป็นปมอีก เราก็ต้องตัดผมที่เกินออกมา ถ้าต้องการชิ้นงานที่เนี้ยบมากเราก็ต้องตัดปลายเส้นผมให้ใกล้ปมมัดมากที่สุด แต่ถ้าใกล้มากเกินไปบางทีผมลื่นก็จะหลุดออกจากกัน ถ้าหลุดในชิ้นงานก็เท่ากับงานเราเสีย

ขั้นตอนนี้ต้องทำจนเกิดความชำนาญ รู้ว่าเว้นปลายผมไว้แค่ไหนที่พอตัดแล้วเวลาถักโครเชต์มันทำให้งานเราไม่สะดุด ให้ปมผมผ่านตามร่องโครเชต์ได้ อีกอย่างหนึ่งพอชิ้นงานมันถักด้วยผมเส้นเดียวมันจะบางมาก ฉะนั้นที่เห็นคือการถักด้วยผม 2 เส้นคู่กัน ความยากจะเพิ่มขึ้นเพราะปมเยอะขึ้น 

แล้วเราต้องเลือกผมด้วย บางทีเป็นผมคันซึ่งมีลักษณะเดี๋ยวใหญ่เดี๋ยวเล็ก ถ้าเอานิ้วรูดดูมันจะบาง-หนาในเส้นเดียว อันนั้นใช้ไม่ได้ มันจะขาดง่าย สปริงสูง เท่ากับว่าเราต้องเลือกทีละเส้นมาต่อกัน

ทั้งๆ ที่ยากขนาดนี้อะไรที่ทำให้อยากใช้เส้นผมในการทำงานทุกๆ ชิ้น 

เราว่ามันเป็นการเดินทาง เรายังรู้สึกสนุกบนเส้นทางนี้อยู่ เหมือนปีกัสโซ เขาสนใจการทำงานในแง่คิวบิสม์ แล้วเขาศึกษาทั้งชีวิต ถ้าเราดูผลงานเขาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งเสียชีวิต จะเห็นการเปลี่ยนแปลง พัฒนาการ การเติบโต ของงานว่าเขาเริ่มค้นจากอะไร แล้วนำไปสู่อะไร เขาทำเทคนิคหลากหลายมาก ทั้งดรอว์อิ้ง, เพนต์ติ้ง, ประติมากรรม เราคิดว่าในการเดินทางของตัวเองมันเป็นอย่างนั้น คือยังเอาเส้นผมเป็นตัวนำเราไปในทุกๆ เทคนิคที่จะเกิดขึ้นได้อีกเยอะแยะเลย 

แต่ก็ไม่ใช่ทุกงานที่ทำจะมีเส้นผมนะ ตอนปี 2018 เราทำตู้ไฟที่มีโควต ‘Good Girls Go to Heaven, Bad Girls Go Everywhere’ แล้วเอาปีกแมลงเม่าหมื่นปีกมาติดด้านหน้า ชิ้นนี้คือไม่เกี่ยวกับเส้นผมเลย 

คนส่วนใหญ่จะคิดว่างานของอิ่มหทัยต้องมีเส้นผม แต่ลึกๆ แล้วเราเป็นคนชอบวัสดุที่เสื่อมสลายง่ายและเปราะบาง วัสดุที่มันทำให้เราเห็นชีวิต เห็นการเสื่อมสลาย เห็นความไม่คงทนถาวรในนั้น อย่างเส้นผมโดยธรรมชาติผมเส้นเดียวทำให้เราเห็นจุดเริ่มต้นคือรากและจุดสุดท้ายคือปลาย ถ้าอยู่บนหัวเรามันก็จะรู้สึกว่าเป็นของเราอยู่ มันงอก เติบโตเป็นผมเรา แต่พอมันหลุดร่วงกลับกลายเป็นว่าไม่ใช่ของเราแล้ว นี่คือเห็นมันเริ่มต้นและเสื่อมสลายไป 

นึกภาพออกเหมือนกันว่าเวลาเห็นเส้นผมร่วงในห้องน้ำ เราไม่กล้าจะเก็บขึ้นมาเท่าไหร่

ใช่ บางคนรังเกียจเส้นผมที่ตกไปข้างล่าง เราเลยมองว่าผมให้ความรู้สึกหลายมิติมากเลย บางคนกลัวผมตัวเองด้วยซ้ำ ไม่ต้องใครหรอก เราเองนี่แหละ (หัวเราะ) เราเคยไว้ผมยาวถึงเอว พอปล่อยผมแล้วนอนบางทีดึกๆ หันมาเห็นมืดๆ ดำๆ มันผวาเหมือนมีคนอยู่ข้างๆ ตลอด 

อีกอย่างภาพจำของเราผมมันถูกพูดถึงในหนังผี แล้วเราอยากลบภาพนั้นออก ในงานเราพยายามจะทำให้ดูแล้วไม่น่ากลัว จะไม่เห็นว่างานเราเอาผมมาทำเป็นกองๆ ก้อนใหญ่ มันไม่ใช่ประเด็นที่เราอยากสื่อแบบนั้นด้วย 

แต่ในอนาคตอาจจะมีถ้าเราเกิดอยากพูดถึงมิติภาพจำหรือความเชื่ออย่างนั้น  

 

แล้วแต่ละหัวข้อที่คุณเลือกสื่อสารในผลงานศิลปะ คุณเลือกจากอะไร

ช่วงแรกเป็นเรื่องในครอบครัว หลังๆ ก็กระโดดออกมาทำงานเรื่องราวสะท้อนสังคม แต่ก็มีที่มาจากแบ็กกราวนด์ของตัวเอง อย่างเช่น Hair for Hope มาจากประสบการณ์ที่สูญเสียคุณพ่อที่เป็นมะเร็ง ก็เลยเกิดความสนใจว่า ถ้ามีโอกาสใช้เส้นผมของผู้ป่วยโรคมะเร็งแล้วงานจะออกมาเป็นยังไง ทางลีโอ เบอร์เนทท์ก็ช่วยหาเส้นผมมาให้ ได้มา 2 ส่วนคือ ของผู้ป่วยมะเร็งที่ทำคีโมแล้วผมร่วง เราเอามาทำชิ้นงานที่มีความละเอียดสูง อีกส่วนเป็นผมของคนที่บริจาคมาทำวิกให้ผู้ป่วย เราเอามาทำเป็นผีเสื้อชิ้นใหญ่

ส่วนงานนิทรรศการต่อมาคือ ‘ออกเรือน’ เป็นเรื่องครอบครัว หลังจากพ่อเสีย เราสูญเสียบ้าน ต่างคนต่างต้องย้ายไปอยู่คนละที่ น้องสาวแต่งงาน เราเลยเอาคำว่าออกเรือนมาใช้สื่อความหมายถึงพิธีกรรมการแต่งงานซ้อนทับกับสภาวะที่กำลังเจอคือการย้ายบ้าน 

หรืออย่างงาน No More Sewing Machine ก็เกิดจากประสบการณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เรารู้สึกว่าคนในครอบครัวถูกตัดสินจากคนภายนอก แล้วรับประเด็นนี้ไม่ได้ เลยคิดเชื่อมโยงตรงนี้ออกมา ตอนนั้นคิดว่าอยากทำงานกับกลุ่มคนที่มักถูกตัดสินจากคนภายนอก ก็มาทำงานกับกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานบริการทางเพศ พอเข้าไปทำมันก็เป็นอย่างที่ใจเราคิดเลย เรารู้ว่าคนเราไม่ได้มีเพียงมิติเดียวที่แสดงให้คนอื่นเห็นและเข้าใจ ตอนที่ได้คุยพวกเขาทำงานนี้เพราะต้องการเงินไปเยียวยาช่วยเหลือครอบครัว จริงอยู่เขาไม่ได้ถูกบังคับมาให้เลือกงานนี้ แต่อย่างน้อยในมิติของการทำงานก็มองเห็นว่ามี 2 ด้าน มันเป็นเรื่องของการตัดสินระบบศีลธรรมในสังคมเรา

เราได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ให้เข้าไปทำงานตรงนี้ได้ แล้วก็ได้อ่านหนังสือของมูลนิธิฯ เขาเขียนว่าไม่เอาอีกแล้วจักรเย็บผ้า ภาษาอังกฤษคือ no more sewing machine เนื้อหาเขียนว่าคนข้างนอกบริจาคจักรเย็บผ้าให้องค์กรนี้เยอะมากแต่ไม่ถูกใช้ เพราะสุดท้ายแล้วงานที่เกี่ยวกับจักรเย็บผ้าสร้างรายได้น้อยกว่าการเป็น sex worker เราตีความต่อเองว่า การมาบริจาคจักรเย็บผ้าครั้งนี้เหมือนการตัดสินว่าอาชีพนี้ไม่ดี เขาก็เลยให้อาชีพใหม่ แต่ไม่ได้ถามความต้องการของคนจริงๆ ว่าเขาทำได้หรือเปล่า จำเป็นต้องใช้ไหม จักรเย็บผ้าก็เลยถูกทิ้งกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ห้องเล็กๆ

เราได้ไอเดียไปตามซื้อจักรเย็บผ้าที่ใกล้เคียงในหนังสือมากที่สุด แล้วมาถอดอะไหล่ทุกชิ้นได้ทั้งหมด 174 ชิ้น เอาเส้นผมของพนักงานบริการมาถักเป็นชิ้นงานห่อหุ้มอะไหล่ และถักออกมาให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนพืชพรรณของภาคเหนือ เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกของเครื่องจักรให้กลายเป็น organic form แล้วให้คนรู้สึกเติบโตได้ มีคุณค่าในตนเอง เพราะความรู้สึกจะมาตามวัสดุ รูปร่างที่เราทำ  

อีกผลงานก็ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือมูลนิธิฯ อีกเล่ม เจอประโยคหนึ่งคือ Good girls go to heaven, bad girls go everywhere. มันตลกดี ในหนังสือเขียนคำถามทิ้งไว้ ‘แล้วทุกที่มันมีสวรรค์อยู่ด้วยหรือเปล่า’ เราประทับใจประโยคนี้มากเลยหยิบมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำป้ายไฟสีชมพู มีปีกแมลงเม่าหมื่นกว่าปีกแปะอยู่เหมือนเคลือบงานเราเอาไว้

ทำไมต้องเป็นปีกแมลงเม่า 

เวลาวงจรชีวิตแมลงเม่ามันหาคู่ มันจะสลัดปีกก่อนผสมพันธุ์ ซึ่งมันสื่อสารกิจกรรมตรงนี้กับอาชีพนี้ แล้วเรารู้สึกว่าเวลาแมลงมันได้สละบางส่วนของร่างกายมัน อย่างเช่น ดักแด้สละรังกลายเป็นผีเสื้อ แล้วเป็นกระบวนการของชีวิต มันน่าทึ่งสำหรับเรามาก เราเปรียบเทียบเหมือนชีวิตเรามาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยน พอต้องเลือกบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญในชีวิต เราเลยเอาปีกแมลงเม่ามาใส่เพื่อสื่อสารความหมายได้หลายมิติ 

 

เวลาที่ศิลปินบอกว่าโปรเจกต์เชื่อมโยงกับที่บ้าน เขาจะเลือกทำเรื่องราวของตนเองไปเลย แต่ทำไมคุณถึงคิดว่าหยิบเรื่องคนอื่นมาพูดเพื่อสื่อสารดีกว่า

เราคิดว่ามันเป็นแค่เหตุการณ์บางอย่าง มันเป็นปมที่ทำให้เราสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่บางเรื่องพูดตรงๆ ไม่ได้ ที่ผ่านมาเรามีงานที่พูดเรื่องตัวเองเหมือนกัน แต่ก็พูดมาหมดแล้วไม่รู้จะเล่าความรู้สึกยังไงต่อดี มองไปรอบๆ มันไม่ใช่เราที่เจอและเจ็บปวดคนเดียว คนอื่นก็มีประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน งานมันเลยค่อยๆ ขยับมาเรื่อยๆ จาก Hair for Hope เชื่อมโยงเราในแง่ที่ว่าเขาก็เป็นมะเร็งเหมือนพ่อ

งานต่อๆ มาถึงกลับมาที่ตัวเองอีกครั้ง คือ ‘ออกเรือน’ กับ ‘เรือน 3 น้ำ 4’ ที่พูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต ในสถานะผู้หญิงคนหนึ่งในสังคมที่พบเจอเรื่องการออกเรือน การเป็นแม่บ้าน ตั้งคำถามกับขนบธรรมเนียม ค่านิยม ความเชื่อ 

แล้วอย่างผลงานนิทรรศล่าสุดที่เล่าเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้มีความเกี่ยวข้องกับคุณยังไงบ้าง

มันเชื่อมโยงกับเราส่วนหนึ่ง ในฐานะคนเสพสื่อตอนแรกเราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้เลย มันเหมือนดินแดนในความมืดมิด แล้วตอนแรกเราไม่เคยทำงานเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงมาก่อน มันเริ่มต้นจากประสบการณ์ของตนเองก่อน แล้วถึงหาข้อมูลออกมาให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเราตรงนั้น แต่อันนี้ได้ไอเดียมาจากหลายๆ อย่าง

โปรเจกต์นี้เริ่มจากมูลนิธิพระดาบส จัดโครงการปั่นรวมใจไทย ปี 2015 เขาชวนนักปั่นจักรยานปั่นจากเหนือสุดลงมาใต้สุดของประเทศ เนื่องจากช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข่าวทุกวัน แล้วพี่ทหารคนหนึ่งเขาต้องการสร้างสัญลักษณ์ในการรวมชาติ 

เสร็จแล้วเขาก็เกิดไอเดียขึ้นมาว่ามันไม่น่าจะสื่อสารกับคน เขาอยากให้มีอีกมิติที่จะเป็นกระบอกเสียง ก็มาขอความร่วมมือหอศิลปกรุงเทพฯ แล้วได้ศิลปินทั้งหมด 4 สาขาคือ วรรณกรรม ดนตรี วิจิตรศิลป์ และภาพถ่าย มาร่วมกันทำงานศิลปะพูดถึงเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งหมดลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในปีนั้นเลย ซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่งก็เลยขอรับบริจาคเส้นผมผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งได้มาหลากหลายมาก ทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม อยู่ภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ได้มาหมด 

เราหยิบมาคนละนิดละหน่อยมาถักเป็นชิ้นงาน โดยเลือกลายแบบ doily ซึ่งเป็นผืนถักโครเชต์ที่มีลักษณะเริ่มต้นจากจุดศูนย์กลางแล้วแผ่ขยายลายออกไปเรื่อยๆ ในวงกว้าง เราจงใจเลือกถักลายนี้เพราะมีลักษณะเป็นเรขาคณิต ทำให้นึกถึงลายที่อยู่ในสถาปัตยกรรมของศาสนาอิสลามซึ่งเชื่อมโยงกับงานนี้

อยากให้เล่ากระบวนการทำงานให้ฟังได้ไหมว่าลงพื้นที่ยังไงบ้าง

เราเลือกพื้นที่ต่างๆ มาบอกเล่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น เริ่มต้นคือบ้านหะยีสุหลง ซึ่งเป็นบ้านตระกูลโต๊ะมีนา ที่หะยีสุหลงกับลูกชายโดนอุ้มหายไปเลย ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทุกอย่าง แล้วอีก 3 ชิ้นที่เหลือเราต้องการสื่อความหลากหลายที่พบเจอ คือมีทั้งไทยพุทธคือวัดช้างให้ ไทยจีนคือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ไทยมุสลิมคือมัสยิดกรือเซะ ทั้งหมดนี้เป็นตัวแทนของการพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และถ้าเราสืบค้นไปจะพบว่าความรุนแรงกระจายอยู่ในพื้นที่โดยไม่เลือกชาติ ไม่เลือกศาสนา  

เราไปเก็บภาพถ่ายของสถานที่นั้นโดยใช้เส้นผมที่ถักไว้วางหน้ากล้อง ซึ่งมีการปรับโฟกัสให้ภาพหนึ่งเห็นเส้นผมชัดแต่ภาพสถานที่ด้านหลังเบลอ อีกภาพหนึ่งเส้นผมเบลอแต่สถานที่ข้างหลังชัด แล้วเล่นกับสำนวนเส้นผมบังภูเขา เทคนิคนี้เราได้ไอเดียมาจากชื่อโครงการศิลปะว่า ‘หนึ่งเดียวล้วนเกี่ยวข้อง ศิลปะเพื่อก้าวข้ามผ่านความไม่รู้’ หนึ่งเดียวล้วนเกี่ยวข้องคือเส้นผมของแต่ละคน ใครๆ ก็เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ 

ส่วนศิลปะเพื่อก้าวข้ามผ่านความไม่รู้ คีย์เวิร์ดที่เป็นไอเดียมาจากคำว่าความไม่รู้ เราตั้งคำถามว่าสำหรับเราคืออะไร เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ รู้จากแค่ข่าว ไม่ได้มีคนรู้จักในพื้นที่ที่ให้ข้อมูลตรงนี้ได้ มันเลยเป็นไอเดียทำชิ้นงานเพื่อล้อกับความไม่รู้ของเรา

ในงานที่แสดงสังเกตว่าเราใช้ light box ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในงานโฆษณา ฟิล์มที่พิมพ์ออกมาก็ใช้เป็นสื่อโฆษณา เพื่อสื่อสารว่านี่คือสิ่งที่เราได้เห็นจากสื่อ เรารู้ข่าวแค่นี้เพราะสื่อมีข้อมูลให้เรารู้แค่นี้ เพราะตอนลงไปเก็บข้อมูลเราได้ข้อมูลไม่ตรงตามที่ต้องการ ไปสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงหรือผู้ประสบเหตุ และทุกครั้งที่เราลงไปจะมีทหาร กอ.รมน.ภาค 4 ช่วยพาไป อยู่ดีๆ เราจะไปสัมภาษณ์คนอย่างอิสระไม่ได้ เพราะช่วงนั้นยังถูกมองว่าเป็นพื้นที่สีแดงอยู่ แล้วมันก็มีเหตุการณ์ความรุนแรง ตอนเราลงไปเลยไม่รู้ว่าจะมีระเบิดไหม

พอเป็นเหตุการณ์แบบนั้น สุดท้ายเลยถอยออกมาทำงานในฐานะคนที่เฝ้ามองเหตุการณ์ เซตงานออกมาเป็นเลนส์แว่นดวงตาข้างซ้ายกับข้างขวาซึ่งภาพที่เห็นไม่เหมือนกัน มันอยู่ที่ว่าเรามองเห็นอะไร ถ้ามองใกล้ๆ ดวงตาเราเห็นเส้นผม ถ้ามองลึกไกลไปเราเห็นแบ็กกราวนด์ เห็นสถาปัตยกรรม

แสดงว่าที่ลงพื้นที่ไปก็ถือว่าไม่ได้ข้อเท็จจริงกลับมา

เราคิดว่าเราได้ความจริง แต่ได้ความจริงแค่บางส่วน มันเป็นไปไม่ได้ที่เราลงไปแล้วจะได้ความจริงทั้งหมดกลับมา เพราะมันไม่ได้มาจากปากทุกคน เราเลือกว่าจะคุยกับใคร มันก็เป็นความจริงในส่วนหนึ่ง แล้วเราก็คิดว่ามันไปเชื่อมโยงกับสื่อเพราะสื่อก็พูดความจริง มันก็ต้องมีความจริงในนั้น แต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เราไม่ได้วิจารณ์ต่อเวลามันจริงไม่หมด เวลาคุณพูดความจริงไม่หมดมันกลายเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า มันก็คือความจริงแต่มันเป็นความจริงบางส่วน ฉะนั้นตัวภาพเองถ้าลองสังเกตมันไม่ได้ถ่ายทั้งสถาปัตยกรรม มันถ่ายบางส่วนของสถาปัตยกรรมมานำเสนอ

แสดงว่าสุดท้ายคุณอยากให้คนดูตั้งคำถามกับความจริงที่เกิดขึ้นในงานนี้

ถูกต้อง อยากให้คนเห็นอย่างนั้นเลย ตั้งคำถามว่าทุกวันนี้คุณเห็นอะไร อยู่กับสื่อคุณได้รับอะไรมาบ้าง 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย