อากาศเย็นของเบอร์ลิงตันในตอนเช้า ปลุกให้ตื่นขึ้นมารับแสงแดดได้โดยไม่ต้องพึ่งนาฬิกาปลุก
หลังได้กาแฟร้อนขมๆ หนึ่งแก้วใหญ่จากโรงแรมมาช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว เบอร์ลิงตันเป็นเมืองที่มีความดีงามหลายข้อเหลือเกิน
ดาวน์ทาวน์ขนาดน่ารักกำลังดี มีทะเลสาบ Lake Champlain ขนาดใหญ่ตั้งเป็นฉากหลัง จึงทำให้อากาศเย็นสบาย
เมื่ออากาศดี ธรรมชาติสมบูรณ์ เมืองนี้เลยกลายเป็นเมืองเกษตรกรรมไปโดยปริยาย
มีสินค้าท้องถิ่นมากมาย มีซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ที่ขายเฉพาะสินค้าออร์แกนิก
และสินค้าโลคอลเท่านั้น แถมมี Maple Syrup เป็นของขวัญอันแสนหอมหวานจากธรรมชาติชิ้นสำคัญอีกด้วย
เรามุ่งหน้าไปยัง Ben & Jerry’s
Factory ซึ่งตั้งอยู่อีกเมืองใกล้ๆ
กัน โดยได้คุณลุงใจดีทำหน้าที่ขับรถพาเราไป ระหว่างการเดินทาง
บทสนทนาของเราก็เลยเกิดขึ้น ลุงเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนเบอร์ลิงตันแท้โดยกำเนิด
ทำงานอยู่ที่เมืองนี้มาตั้งนานแล้ว เลยทำให้เขาเห็นการเติบโต
และความสำเร็จของแบรนด์ Ben & Jerry’s มาตั้งแต่เปิดสาขาแรกที่ปั๊มน้ำมัน
ลุงเล่าให้ฟังว่า ไอศครีมแบรนด์นี้เป็นเพียงร้านเล็กๆ ที่เริ่มต้นที่นี่
ใช้วิธีการผลิตแบบ Old School แต่เติมส่วนผสมนั่นนิด นี่หน่อย จนกลายเป็นเอกลักษณ์และได้รับความนิยมไปในที่สุด
ตอนที่เปิดทั้ง Ben และ
Jerry เปิดร้านแรกๆ
ลุงทำงานอยู่ในธนาคารฝั่งตรงข้ามกัน ยังจำรสชาติ
และความคึกคักของวันนั้นได้อยู่เลย
เรานั่งรถมุ่งหน้าออกจากเมืองเบอร์ลิงตัน
ลัดเลาะผ่านถนนที่เต็มไปด้วยต้นไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีเป็นสีแดง ส้ม เขียว น้ำตาล
ตัดกับสีฟ้าสดใส ไม่ถึงชั่วโมง ก็ถึงจุดหมายปลายทาง โรงงานนี้เป็นหนึ่งในโรงงานของ
Ben & Jerry’s ที่กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ
ทั่วอเมริกา แต่ด้วยความที่เป็นเมืองต้นกำเนิด เขาเลยมีการวางระบบจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว
ใครที่อยากจะมาก็เสียค่าเข้าชมด้านใน 4$ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้อย่างอบอุ่นเลยทีเดียว
ด้านในจะแบ่งเป็นห้องต่างๆ อย่างชัดเจน
เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นเล็กของ Ben และ Jerry นิทรรศการขนาดย่อมที่แสดงเกี่ยวกับเรื่องราวของไอศครีม
ข้อมูลที่น่าสนใจ และยาวไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่าง Fair Trade มีพื้นที่แสดงบรรยากาศการทำงานในโรงงาน
รวมทั้งของฝากเล็กๆ น้อยๆ จากโรงงานนี้อีกด้วย
เราเริ่มต้นซื้อบัตรเข้าชมโรงงานกันก่อนเป็นอันดับแรก เพราะว่าวันนี้เป็นวันหยุด
นักท่องเที่ยวที่หลงใหลในรสชาติของไอศกรีมแบรนด์นี้จึงมารวมตัวกันเยอะเลย
บุกโลกไอศกรีม
ห้องแรกเป็นห้องฉายภาพยนตร์ขนาดสั้นถึงที่มาที่ไปของ
Ben & Jerry’s ตั้งแต่ยังเป็นร้านไอศกรีมร้านเล็กๆ
ที่เปิดในปั๊มน้ำมัน ก่อนจะค่อยๆ ขยับขยาย และเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงภายหลัง
ด้วยแนวทางการสร้างแบรนด์ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตเฉพาะกลุ่ม Ben &
Jerry’s จึงมีโครงการรวมทั้งแนวคิดอีกเพียบ
เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจของพวกเขา จากการเรียนรู้การทำต้นแบบรสชาติไอศกรีมที่ Headquarter
ตอนนี้รสชาติที่ผ่านมาถึงขั้นตอนผลิตเพื่อจำหน่ายจริง
ถูกเครื่องจักรทำหน้าที่ผสมผสาน ไหลไปตามสายพาน ลงกระปุก แช่แข็ง
และบรรจุลงในกล่อง
ภาพถ้วยไอศกรีมนับร้อยนับพันที่ต่อแถวทยอยเข้าเครื่องเพื่อบรรจุไอศกรีม
ปิดฝา แล้วผ่านเครื่องมือเล็กๆ ที่ทำให้ไอศกรีมคว่ำหน้าลง
เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญ เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเปิด ไอศกรีมของ Ben
& Jerry’s ทีไร จะมีไอศครีมเต็มกระปุกยิ้มต้อนรับเราเสมอ
เครื่องจักรส่งเสียงคำรามอย่างเงียบๆ แล้วค่อยๆ ปล่อยไอศกรีมกระปุกแล้วกระปุกเล่าออกมา
ผมสงสัยว่าจุดหมายปลายทางของพวกมันจะไปสร้างความสุขให้กับคนที่เปิดกินได้มากน้อยแค่ไหนกันนะ
เริ่มต้นจาก Fair Trade สู่ Fair Taste
เคล็ดลับอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ไอศกรีมของ Ben
& Jerry’s มีรสชาติมากมายเกินกว่าที่ลิ้นเราจะสัมผัสได้
นั่นก็เพราะแนวคิดหลักของการสร้างสรรค์ไอศครีมให้อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และความเท่าเทียม
เพราะปัญหาหลักๆ ของเกษตรกรทั่วโลกคงคล้ายๆ กับที่ไทย กว่าวัตถุดิบจะส่งต่อมาถึงมือของเราจริงๆ
ราคาก็ถูกบวกไปไม่รู้จักเท่าไร พ่อค้าคนกลางเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดราคาสินค้าให้ถูกหรือแพงได้ตามกลไกตลาดซึ่งบางทีมันก็ไม่ยุติธรรมไง…
Ben & Jerry’s ใช้วิธีซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงจากทั่วโลก
โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เมื่อไม่มีพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรผู้ผลิตจริงๆ จึงขายสินค้าได้ในราคาที่เหมาะสม
ไม่ถูกกดขี่ และมั่นใจว่าจะมีผู้รับซื้อผลผลิตของพวกเขา ยกตัวอย่างไอศครีมรสขวัญใจผมอย่าง
Chunky Monkey ที่มีส่วนผสมหลักๆ
ทั้งนม น้ำตาล กล้วย และโกโก้ ถูกจับส่วนผสมจากทั่วทุกมุมโลกมารวมไว้ในไอศกรีมถ้วยเดียว
ถ้าให้พูดกันตรงๆ ตอนที่กินไอศครีมรสนี้ผมก็ไม่ได้คิดหรอกว่ามันจะสามารถช่วยให้ชีวิตของใครดีขึ้นได้อย่างไร
แต่สำหรับที่นี่ เขาวางแผนกันอย่างเป็นระบบ
โดยการตัดการซื้อขายจากพ่อค้าคนกลางออกไป
รับซื้อสินค้าที่มีคุณภาพจากเกษตรกรผู้ผลิตจริงๆ ให้ความรู้และวิธีการในการเพิ่มผลผลิตและอีกหลายเรื่อง
ยาวไปจนถึงการสร้าง และเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนั้นๆ ให้ดีขึ้น
เห็นได้จากตัวอย่างที่มีการตั้งกองทุนต่างๆ
ขึ้นมามากมายทั้งกองทุนเกี่ยวกับทุนการศึกษาให้กับลูกหลานของเกษตรกร
กองทุนวิจัยเพื่อพัฒนาผลผลิต หรือการสร้างศูนย์การแพทย์เป็นต้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของการทำธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ภาพรวมเป็นสำคัญ
ยังมีอีกหลายสิบรสชาติของ Ben & Jerry’s ที่ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ด้วยวิธีเดียวกันนี้
ถ้ามีโอกาสได้ชิม รู้ไว้เลยว่ารสชาติที่คุณกำลังมีความสุขอยู่นั้น มัน Fair
Taste ที่สุดแล้ว
Flavor Grave Yard – มีเกิดก็ต้องมีดับ
ในแต่ละปี Ben & Jerry’s จะออกรสชาติใหม่ๆ มาให้ได้ชิมกันเสมอๆ เฉลี่ยปีละ
1 – 2 รสชาติ
และก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บทุกรสชาติให้อยู่ในสายการผลิตแบบไม่มีที่สิ้นสุด มีเกิด
แล้วก็ต้องมีการจากลา แต่อยากให้ลองมองมุมกลับไปว่า
กว่าจะได้รสชาติไอศครีมแต่ละรสนั้น ต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการมากมายแค่ไหน แถมแต่ละรสชาติ
ก็ยังเป็นตัวแทนของรสนิยม ไลฟ์สไตล์ ความชอบของคนที่แตกต่างกันด้วย
การจากไปของไอศครีมแบรนด์นี้เลยพิเศษหน่อย เพราะเขาได้สร้างสุสานแห่งรสชาติขึ้นมาให้คนที่ติดใจในรสชาติที่จากไปแล้ว เดินทางมาเยี่ยมเยียนได้ตามที่ต้องการ
การที่แต่ละรสชาติจากไป เหตุผลหลักไม่ได้มาจากเรื่องยอดขายหรือไม่เป็นที่นิยมแบบที่เราคาดการณ์ เพียงแต่อาจจะไม่ตรงกับความต้องการของคนกลุ่มใหญ่มากกว่า
พี่ๆ ที่โรงงานอธิบายให้ฟังว่า บางรสชาติที่ลงหลุมไปเรียบร้อย
ทุกวันนี้ยังมีคนถามหาอยู่เลย ว่าจะมีโอกาสฟื้นคืนชีพมาให้ได้ได้ชิมกันอีกมั้ย
ตัวอย่างเช่นรสชาติ Popcorn & Peanut ที่แม้แต่คนของ Ben & Jerry’s เองก็ยังคิดถึงเลย
เพราะทุกรสชาติไม่ได้จากเราไปไหน
สุสานนี้จึงเป็นตัวแทนของรสชาติที่ยังเข้มข้นอยู่ในความทรงจำ
Ice Cream School คือโครงการของ a day และ Ben & Jerry’s พาคนรักไอศครีม
เดินทางไปเรียนรู้การทำไอศครีมทุกขั้นตอนกับ Ben & Jerry’s ไอศครีมที่โดดเด่นเรื่องรสชาตินุ่มละมุนและความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกขั้นตอนการผลิต
ที่รัฐเวอร์มอนต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ถ้าใครอ่านแล้วอินก็ตามไปชิมรสชาติจริงได้ที่ร้าน Ben & Jerry’s ในสยามพารากอนนะ