คอมพิวเตอร์เครื่องแรกในประเทศไทย ‘IBM 1620’ หมุดหมายความก้าวหน้าทางวิทยาการ

Highlights

  • ที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. มองเผินๆ IBM 1620 คอมพิวเตอร์เครื่องแรกในประเทศไทย ก็ดูเหมือนเครื่องจักรในโรงงานสักอย่างที่มีขนาดใหญ่ มีแผงช่องไฟเล็กๆ เรียงรายกันเป็นแถบ ไม่มีจอมอนิเตอร์ที่คุ้นเคย มีแต่อุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ มากมาย และเจ้าเครื่องหน้าตาเทอะทะนี่แหละที่มีมูลค่ามหาศาลและสำคัญต่อการปฏิบัติงานในยุคนั้นมาก
  • เครื่องนี้เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2506 และถูกติดตั้งที่อาคารศูนย์คำนวณสถิติ (ตึก 9) ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนและการวิจัย เป็นเครื่องที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในงานคำนวณทางด้านวิทยาศาสตร์ สนนราคาในสมัยนั้นกว่าสองล้านบาท!

รู้หรือไม่ว่าภายในบริเวณอันกว้างใหญ่ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) บริเวณคลอง 5 ปทุมธานีนั้น นอกจาก ‘ตึกลูกเต๋า’ แล้วยังมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอื่นๆ ตั้งอยู่อีกมาก เช่น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าที่เพิ่งแกะกล่องไปหมาดๆ หรือพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่เล่าเรื่องวิวัฒนาการเทคโนโลยีการสื่อสารของโลกตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

และในพิพิธภัณฑ์สุดท้ายนี่เองที่เราได้เจอกับ ‘คอมพิวเตอร์เครื่องแรกในประเทศไทย’ หรือเรียกกันตามสเปกก็คือเครื่อง IBM 1620 หมุดหมายของความก้าวหน้าทางวิทยาการอันสำคัญยิ่งในบ้านเรา

เมื่อลองพิจารณารูปร่างหน้าตาของเครื่อง IBM 1620 ที่อยู่เบื้องหน้านี้ เราก็อดรู้สึกทึ่งไม่ได้กับความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงของ ‘คอมพิวเตอร์’ ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ทั้งที่เพิ่งผ่านไปราวเพียง 60 ปี (คนที่มีส่วนในการพัฒนา ผลิต และใช้งานเจ้าเครื่องนี้ส่วนมากยังมีชีวิตอยู่) แต่ IBM 1620 นั้น มองเผินๆ เหมือนเครื่องจักรในโรงงานสักอย่างที่มีขนาดใหญ่ มีแผงช่องไฟเล็กๆ เรียงรายกันเป็นแถบ ไม่มีจอมอนิเตอร์ที่คุ้นเคย แต่มีอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ มากมาย แถมการป้อนข้อมูลอินพุตและเอาต์พุตยังใช้ระบบบัตรเจาะรู (punch card system) โดยอ่านบัตรด้วยภาษาเครื่อง FORTRAN และ COBOL ซึ่งฟังแล้วดูห่างไกลกับยุคนี้มาก

เจ้าเครื่องโบราณที่ดูเทอะทะนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานในยุคนั้นมาก ทั้งยังมีมูลค่ามหาศาลอย่างที่เทียบกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทุกวันนี้ไม่ได้เลย เจ้าเครื่องนี้เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2506 และถูกติดตั้งที่อาคารศูนย์คำนวณสถิติ (ตึก 9) ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนและการวิจัย เป็นเครื่องที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในงานคำนวณทางด้านวิทยาศาสตร์ สนนมูลค่าในสมัยนั้นกว่าสองล้านบาท!

ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการหาเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศจนนำเข้ามาได้สำเร็จคือ ศาสตราจารย์ บัณฑิต กันตะบุตร หัวหน้าภาควิชาสถิติ และเลขาธิการสถิติแห่งชาติ ผู้มองเห็นศักยภาพของคอมพิวเตอร์ในการปฏิวัติการศึกษา ประกอบกับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของประเทศไทย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องใช้ข้อมูลการสำรวจประชากร แต่ปรากฏว่าประเทศไทยไม่มีข้อมูลสำมะโนครัวที่ถูกต้อง องค์การ AID ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนโดยมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM 1620 ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีคอมพิวเตอร์แบบดิจิทัลใช้ นับว่าล้ำสมัยกว่าเพื่อนบ้านในเวลาเดียวกันนัก

นอกจากนี้ อ.บัณฑิตยังได้นำเข้าคอมพิวเตอร์เครื่องที่สองของประเทศ คือ IBM 1401 ในปีถัดมา เพื่อใช้ในการคำนวณสำมะโนประชากรในสำนักงานสถิติแห่งชาติอีกด้วย โดยเครื่องที่สองนี้มีมูลค่าถึงราวแปดล้านบาท ด้วยพลังการคำนวณจากเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านี้ทำให้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ยากและต้องใช้เวลาเป็นปีๆ สามารถทำจบได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีหรืออย่างมากก็ไม่กี่นาทีเท่านั้น

น่าสนใจว่าบริษัท IBM นั้น แรกเริ่มเดิมทีก็ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่องานสำมะโนประชากรนี่แหละ ย้อนกลับไปในช่วง ค.ศ. 1880 นักสถิติชาวอเมริกันชื่อ Herman Hollerith สร้างเครื่องที่ชื่อว่า tabulator ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องคำนวณที่ใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติเครื่องแรกๆ ของโลก เพื่อใช้เรียบเรียงข้อมูลสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา

การเก็บข้อมูลสำมะโนประชากรนั้นจะทำทุกๆ สิบปี แต่ในช่วงปี 1880 จำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลามจากกระแสผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้แม้จะระดมกำลังคนมาคิดคำนวณอย่างเต็มรูปแบบเพียงใดก็ยังต้องใช้เวลาถึง 7 ปีครึ่งจึงวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จ นักสถิติในยุคนั้นเล็งเห็นว่าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป สักวันจะไม่มีเวลาพอประมวลผลสำมะโนประชากรได้ทันก่อนถึงรอบถัดไปแน่ โชคยังดีที่เครื่อง tabulator ของฮอลเลอริทนั้นใช้งานได้เป็นอย่างดี สามารถรวบรวมข้อมูลสำมะโนประชากรทั้งหมดได้ภายในเวลาเพียง 6 สัปดาห์ และวิเคราะห์ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีครึ่งเท่านั้น ทำให้ช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐไปได้ราว 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ต่อมาฮอลเลอริทพบว่าเครื่องจักรของเขายังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการคำนวณอื่นๆ ได้ด้วย เขาจึงก่อตั้งบริษัท Tabulating Machine Company ขึ้นมาในปี 1896 เพื่อผลิตเจ้าเครื่องนี้ขายในเชิงพาณิชย์ ไม่กี่ปีต่อมา ชื่อบริษัทได้ถูกเปลี่ยนเป็น Computing-Tabulating-Recording Company (CTR) และในปี 1924 ได้กลายมาเป็นชื่อ International Business Machines (IBM) ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากงานเชิงสถิติของฮอลเลอริทแล้ว การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในยุคสมัยหนึ่งนั้นเรียกได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญของประเทศชาติที่ส่งผลต่อการแพ้-ชนะสงครามเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เกิดการประดิษฐ์เครื่องคิดคำนวณสมัยใหม่ที่เป็นระบบดิจิทัล

หากใครได้ดูหนังเรื่อง The Imitation Game ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ Alan Turing นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญในการถอดรหัสของฝ่ายเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจจะพอนึกภาพออกว่าภารกิจหลักของทัวริงคือ การถอดรหัสจากเครื่อง enigma ของฝ่ายเยอรมนีที่ใช้ส่งข้อความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ซึ่งมีการเปลี่ยนวิธีการเข้ารหัสทุกวัน ทำให้การถอดรหัสด้วยวิธีทั่วๆ ไปทำได้ยากมาก เครื่องจักร bombe ที่ทัวริงและทีมคิดค้นขึ้นใน ค.ศ. 1940 สามารถทำภารกิจได้สำเร็จ ทำให้สามารถอ่านสัญญาณจากทัพอากาศและกองทัพเรือเยอรมันได้ จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อการรบของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมาก

ส่วนทางฝั่งอเมริกาเอง ในปี 1946 ก็ได้มีการประดิษฐ์เครื่อง ENIAC (Electronic Numerical Integrator and Calculator) ขึ้นเพื่อคำนวณวิถีกระสุนปืนใหญ่ แต่ความน่าสนใจของมันคือการเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก ที่ถือว่าเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบและใช้สำหรับการทำงานทั่วไป กล่าวคือ หากปรับใช้อย่างเหมาะสมแล้ว สามารถนำไปใช้ในการคำนวณทั่วไปได้แทบทั้งสิ้น แต่คอมพิวเตอร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ก็มีขนาดมหึมา ชนิดที่ทำให้เครื่อง IBM 1620 ที่ดูเทอะทะกลายเป็นเล็กจิ๋วไปเลย อย่างเจ้าเครื่อง ENIAC เองมีน้ำหนักถึง 30 ตัน และกินพื้นที่ราว 1,800 ตารางฟุต หรือ 160 กว่าตารางเมตร เทียบเท่าห้องประชุมขนาดกลางเลยก็ว่าได้

กลับมาที่ IBM 1620 อีกครั้ง หลังจากปลดประจำการจากภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เครื่องนี้ถูกส่งมอบให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ) ต่อมาได้บริจาคให้กับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้เยี่ยมชมหลายพันคนต่อวัน

อีกทั้งชวนให้ตื่นเต้นด้วยว่า ในชั่วอายุคนคนเดียว มนุษย์สามารถย่อระบบคำนวณจากที่เคยใหญ่เท่าห้องให้มาอยู่ในสมาร์ตโฟนขนาดเล็กกะทัดรัด ใส่กระเป๋ากางเกงได้ แล้วในอนาคตอันใกล้นี้ ‘คอมพิวเตอร์’ หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ใหม่ๆ จะมีหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไรอีกนะ

 

อ้างอิง

explainthatstuff.com

iwm.org.uk

 


แหล่งขุมทรัพย์

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช.

ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120

เปิดบริการ วันอังคาร-ศุกร์ (หยุดวันจันทร์)
ตั้งแต่เวลา 09:30-16:00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ตั้งแต่เวลา 09:30-17.00 น.

โทรศัพท์ 02-577-9999
โทรสาร 02-577-9900
อีเมล [email protected]

AUTHOR