ความสัมพันธ์และการเติบโตของ บิวกิ้น-พีพี ใน ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ซีรีส์วายเรื่องแรกจากค่ายนาดาว

Highlights

  • แปลรักฉันด้วยใจเธอ คือซีรีส์ชายรักชายเรื่องแรกของนาดาวบางกอก เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มสองคนผู้ไม่รู้ใจตัวเอง โดยมีทะเลและเมืองเก่าของจังหวัดภูเก็ตเป็นฉากหลัง
  • บิวกิ้น–พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ พีพี–กฤษฏ์ อำนวยเดชกร คือสองดารานำผู้โด่งดังจากบทคู่จิ้นในซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ซึ่งการก้าวเข้ามารับบทนำในซีรีส์เรื่องนี้ ทั้งสองบอกว่ายากคูณสิบไปเลย
  • ถึงอย่างนั้น ทั้งสองก็บอกว่าเคล็ดลับที่ทำให้ผ่านความยากลำบากทั้งหมดไปได้คือความไว้ใจและความสนิทสนมที่ทั้งคู่มีให้กัน อาจพูดได้ว่าถ้าไม่ใช่อีกฝ่าย พวกเขาจะไม่สามารถอินกับบทได้แน่นอน

เด็กหนุ่มสองคนในเสื้อสีดำเข้าคู่เดินหยอกล้อกันมาแต่ไกล เสียงหัวเราะสดใสของพวกเขาทำให้อากาศร้อนยามบ่ายไม่น่าหงุดหงิดเกินไปนัก

หน้าออฟฟิศนาดาวบางกอก บิวกิ้น–พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ พีพี–กฤษฏ์ อำนวยเดชกร สองหนุ่มผู้มีนัดกับเราวันนี้เดินเข้ามาทักทายด้วยท่าทีเป็นกันเอง สำหรับแฟนคลับที่ตามกรี๊ดคู่นี้มาตั้งแต่ก่อนเดบิวต์คงไม่ต้องแนะนำให้มากความ แต่ใครที่ไม่รู้จัก คุณอาจคุ้นหน้าพวกเขาจากบทหมอเต่าและทิวเขาในละครเรื่อง รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ถ้าเป็นคนฟังเพลงก็อาจคุ้นหูกับเสียงของบิวกิ้นในเพลง You are my everything, กอดในใจ หรือ กีดกัน และถ้าปล่อยให้ยูทูบ autoplay ต่อสักหน่อย คุณอาจจะเคยได้ยินเสียงของทั้งสองที่ร้องคู่กันในเพลง HIDDEN TRACK (ต้นฉบับโดย TRINITY) ในงาน LINE TV AWARDS 2020 ซึ่งทั้งคู่ประกาศโปรเจกต์ LINE TV Original Series ที่รับบทนำคู่กันเป็นครั้งแรก

‘เรื่องของเด็กหนุ่มผู้ไม่รู้ใจตัวเอง’ คือคำโปรยบนโปสเตอร์ของ แปลรักฉันด้วยใจเธอ ซีรีส์เรื่องที่ว่า และจากตัวอย่างที่ปล่อยออกมา เราได้รับการขยายความแบบคร่าวๆ ว่ามันคือเรื่องราวความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มสองคนผู้กำลังเผชิญกับความสับสนที่ต้องตัดสินใจในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของชีวิต ท่ามกลางฉากหลังของเมืองภูเก็ตที่สร้างบรรยากาศฟุ้งฝันโรแมนติก ในขณะเดียวกันก็ฉาบด้วยความไม่แน่นอนเหมือนคลื่นลมทะเล

จากถ้อยคำสนทนาของบิวกิ้นและพีพี นี่คือเรื่องราวที่ต่อยอดมาจากความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งสองคน

ซีรีส์เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร แล้วทำไมต้อง ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ 

พีพี : ซีรีส์เรื่องนี้เป็นแนว drama-coming of age จะเล่าเรื่องของเด็กผู้ชายวัยรุ่นสองคนในช่วงก่อนเข้ามหา’ลัย โดยเข้าไปสำรวจประเด็นความสัมพันธ์ ครอบครัว การศึกษา และเพื่อน 

บิวกิ้น : ซึ่งจริงๆ คำว่า ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ มันมาจากความเป็น coming of age ของเรื่องเลย มันคือการที่คนคนหนึ่งกำลังผ่านสถานการณ์หรือเรียนรู้บางอย่างที่จะทำให้เขาเติบโต เป็นการเรียนรู้ที่ผ่านแล้วจะผ่านเลย และเราก็จะเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนตอนเด็กๆ ที่เวลาเห็นปลั๊กไฟเราก็เอานิ้วไปแหย่ แล้วก็โดนไฟดูด พอโดนไฟดูดปุ๊บ หลังจากนั้นเราจะไม่เอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟอีก 

ซีรีส์เรื่องนี้จะเล่าหลายๆ มุม ซึ่งแก่นสำคัญของเรื่องคือความสัมพันธ์ของเด็กผู้ชายสองคนที่ไม่รู้ใจตัวเอง ไม่รู้ว่าความรู้สึกที่พวกเขากำลังเป็นมันคืออะไร แต่เขาจะได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตช่วงนี้ ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ จนความสงสัยหรือสิ่งที่เขาไม่รู้มันถูกแปลด้วยใจ เลยกลายเป็น ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ 

จุดเริ่มต้นของซีรีส์เรื่องนี้มาจากไหน

บิวกิ้น : จริงๆ ก็หลังจากที่ละคร รักฉุดใจนายฉุกเฉิน จบไปสักพัก ทางพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) พี่บอส (นฤเบศ กูโน) และผู้ใหญ่ปรึกษากันว่าจริงๆ แล้วตัวละคร ‘เต่า’ กับ ‘ทิวเขา’ ในรักฉุดใจฯ ก็เป็นคู่ที่คนค่อนข้างให้ความสนใจ ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

พีพี : มีเสียงตอบรับที่ดี น่าต่อยอด

บิวกิ้น : เขาจึงอยากจะลองหยิบนักแสดงสองคนที่เคยเล่นคู่กันมารับบทบาทใหม่ในซีรีส์ใหม่ ลองมาเล่นด้วยกันเต็มๆ ดูว่ามันจะเป็นยังไง 

จริงๆ อาจเพราะเรื่องนั้นไม่ได้คู่กันในตอนจบด้วยไหม 

บิวกิ้น : อาจไปคู่กันในสวรรค์ก็ได้ฮะ ในอีก 60 ปีข้างหน้า (ยิ้ม)

ในขั้นตอนการเขียนบทล่ะ นอกจากฉากเรียนพิเศษด้วยกัน ทีมเขียนบทมีการหยิบวัตถุดิบไหนในชีวิตจริงของคุณไปใส่ในเรื่องอีกบ้าง

บิวกิ้น : มีครับ จริงๆ คาแร็กเตอร์ของซีรีส์นาดาวเราพัฒนาบทจากตัวนักแสดง คืออย่างผมกับพีพีก็จะมีเซสชั่นที่ถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ เหมือนกับว่าเขาก็คงอยากจะได้ไอเดีย ความคิด อินเนอร์ อุปนิสัย และมุมมองของเรา ณ ตอนนี้และตอน ม.ปลาย เหมือนกับว่าตรงไหนดีก็หยิบมาใช้ในซีรีส์ พอเขาหยิบเอาสิ่งที่เป็นเรื่องของเรามาต่อยอด เราเลยเข้าใจมันดีกว่าใครและสามารถสื่อสารมันออกไปได้อย่างเข้าใจจริงๆ 

บิวกิ้น-พีพี แปลรักฉันด้วยใจเธอ

การแสดงใน ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ต่างจาก ‘รักฉุดใจนายฉุกเฉิน’ ยังไง

บิวกิ้น : จริงๆ ตอนแรกผมไม่ได้รู้สึกว่ามันจะต่างกันขนาดนั้น แต่พอมาทำจริงๆ แล้ว โอ้โห ทุกอย่างคูณสิบ ด้วยความที่เราเปลี่ยนจากนักแสดงสมทบมาเป็นนักแสดงนำ มันมีความกดดัน มีการบ้าน มีสิ่งที่ต้องเตรียมตัว มีภาระหน้าที่ที่มากกว่าที่เราคิดเยอะมาก

พีพี : เรารู้สึกว่าเตรียมตัวมาดีแล้วในรักฉุดใจฯ แล้วเรื่องนี้เราก็ทำแบบเดียวกัน ซึ่งเปรียบเทียบกันแล้วมันน้อยมากเลย มันยังไม่ถึงขั้นที่พร้อมเลยด้วยซ้ำ

บิวกิ้น : ไม่ใกล้เลย ไม่ใกล้คำว่าพร้อมเลย

พีพี : ทำการบ้านหนักมาก มีลดน้ำหนัก และก่อนถ่ายก็ต้องเตรียมตัวเรียนภาษาจีนด้วย 

บิวกิ้น : มีฝึกภาษาใต้ด้วย

การทำงานกับผู้กำกับคนเดิมเป็นครั้งที่สองทำให้การทำงานง่ายขึ้นไหม

บิวกิ้น : ง่ายขึ้นแต่ไม่ง่าย

ยังไง

พีพี : พอทำงานกับพี่บอสก็จะรู้ว่าสไตล์การกำกับเป็นแบบไหน การแสดงแบบไหนที่เขาชอบ ภาพที่เขาเห็นเป็นยังไง ก็จะทำงานง่ายขึ้นแต่สุดท้ายมันก็ไม่ง่ายเนาะ (หันมาถามบิวกิ้น) 

บิวกิ้น : ไม่ง่าย ถึงเราจะเคยทำงานด้วยกันมาแต่ว่ามันเป็นซีรีส์คนละแนว วิธีการกำกับก็จะต่างกัน สุดท้ายผมรู้สึกว่ามันก็ง่ายตรงที่เราอาจจะเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เขาต้องการมันง่าย มันอาจจะง่ายตรงที่ว่า เรารู้ว่าตัวเองกำลังเดินไปหาอะไร แต่ว่าทางเดินมันก็ไม่ได้ง่ายอยู่ดี

แล้วสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการแสดงเรื่องนี้คืออะไร

บิวกิ้น : สำหรับผมคือการได้ย้อนกลับไปเป็นเด็ก

พีพี : ยากที่สุดจริงๆ เพราะทัศนคติของตัวเราที่มีกับเหตุการณ์หนึ่งมันเปลี่ยนไป เราเคยอายุเท่าตัวละครในเรื่องแต่มันผ่านมาหลายปีแล้ว ระบบจัดการความคิดก็เปลี่ยนไป จนบางครั้งเราก็แปลกใจว่าทำไมเด็กคนนี้ถึงคิดแบบนี้ มันไม่ได้เมคเซนส์แหละ แต่มันเมคเซนส์สำหรับคนๆ นั้น ในสถานการณ์นั้น ณ ช่วงเวลานั้น

บิวกิ้น : มันเหมือนกับว่าตั้งแต่เด็กๆ เราถูกสอนให้โตขึ้นเสมอ เราเปลี่ยนแปลงด้านวุฒิภาวะ ความรับผิดชอบมากขึ้น และเราข้ามผ่านวัยนั้นมาแล้ว อย่างที่บอกมันคือ coming of age บางเรื่องผ่านไปแล้ว เราเรียนรู้ไปแล้ว สำหรับเรา ณ เวลานี้ไม่ได้ตื่นเต้นอีกแล้ว แต่เวลานั้นสำหรับตัวละครมันคือเรื่องใหญ่ อย่างความรู้สึกที่มีต่อการสอบหรือความรู้สึกที่มีต่อครอบครัว ณ เวลานั้นรสชาติมันเป็นยังไง เราต้องเอามันกลับมาร้อยเปอร์เซ็นต์ การที่เราย้อนกลับไปเป็นเด็กมันเลยยาก ยากมากจริงๆ

นอกจากผู้กำกับที่เคยร่วมงานกันมาก่อน คุณสองคนก็สนิทกันก่อนจะเข้าสังกัดนาดาวด้วย ความชิดใกล้นี้ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นหรือเปล่า

บิวกิ้น : เยอะครับ ช่วยเยอะ ด้วยความที่เล่นคู่กันแล้วสนิทกันมาก่อน มันเหมือนเรารู้จักกัน แล้วเรารู้วิธีการทำงานของกันและกัน ผมรู้สึกว่าถ้าผมไม่ได้เล่นกับพีพีเรื่องนี้นะ ผมเล่นไม่ได้ มันจะมีเมจิกบางอย่างที่เกิดขึ้นในซีรีส์เรื่องนี้ ที่ถ้าไม่ใช่พีพี เสน่ห์หรือดีเทลเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้มันจะไม่มีเลย

ง่ายขึ้นไหม ผมว่ามันไม่ใช่แค่ง่ายขึ้น ถ้าไม่ใช่พีพี ผมอาจจะเล่นออกมาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ หมายความว่ามันอาจจะไม่ทำให้เราจูนกันขนาดนี้ก็ได้

พีพี : เหมือนกัน สำหรับพี พีรู้สึกว่าถ้าเล่นกับคนอื่น ถามว่าเล่นได้ไหม พีอาจจะเล่นได้นะ แต่ถ้าให้เล่นแล้วมันดีที่สุด สำหรับความรู้สึกพี พีว่าต้องเล่นกับบิวกิ้น

บิวกิ้น แปลรักฉันด้วยใจเธอ

เล่าคาแร็กเตอร์ของคุณทั้งสองคนในเรื่องให้ฟังหน่อย

บิวกิ้น : ตัวผมในเรื่องจะเป็นเด็กเรียนเก่งที่มีความฝันชัดเจนว่าโตไปอยากเป็นอะไร และเห็นชัดว่าถ้าจะไปถึงตรงนั้นเราต้องทำยังไง จริงจังกับความฝัน จริงจังกับชีวิต มีการวางแผน และตั้งใจทำทุกอย่างเพื่อให้ไปสู่จุดหมาย เป็นคนชอบการแข่งขัน อยากเอาชนะตัวเอง อยากเอาชนะคนรอบข้าง อยากเอาชนะเพื่อน 

พีพี : ของพีจะกลับกันเลย ในเรื่องจะเป็นคนที่เรียนไม่เก่ง และไม่ได้รับแรงกดดันจากรอบตัวมาก เพราะอยู่ในครอบครัวที่สบาย มีความชิลล์ระดับหนึ่งเลย ทำให้เขาไม่ได้มองถึงอนาคตของตัวเองเท่าไหร่ แค่มีความสุขกับชีวิต เอนจอยไปเรื่อยๆ แต่จะเป็นคนที่ชอบการแข่งขันเหมือนกัน เป็นคนที่ชอบเอาชนะมากกว่า

บิวกิ้น: สู้ เป็นคนที่สู้

แล้วมองเห็นความเหมือนหรือแตกต่างระหว่างตัวคุณกับคาแร็กเตอร์ที่เล่นบ้างไหม

พีพี : ถ้าเทียบกับกิ้น พีจะเป็นคนที่สบายกว่ามาก กิ้นจะเป็น perfectionist นิดหนึ่ง ส่วนพีจะหย่อนกว่า เป็นคนไม่คิดมาก ไม่คิดเล็กคิดน้อย เหมือนกับคาแร็กเตอร์ในเรื่อง

บิวกิ้น : จริงๆ ผมค่อนข้างคล้ายนะ ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจริงจัง จะละเอียดกับบางอย่างที่พอมองย้อนไปมันก็ไร้สาระ 

พีพี แปลรักฉันด้วยใจเธอ

พอเป็นซีรีส์ coming of age จึงอยากรู้ประสบการณ์การ coming of age ของทั้งสองคน มีประสบการณ์ไหนที่ทำให้รู้สึกโตขึ้นบ้างไหม

พีพี : การได้มาทำงานตรงนี้เป็นเรื่อง coming of age ของผมเลย เพราะก่อนหน้านี้เราเป็นเด็กมัธยมที่มีหน้าที่แค่เรียนหนังสือ ชีวิตวนอยู่แค่เรื่องเรียน แต่โลกของการทำงานมันมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีทั้งเรื่องผิดหวัง เสียใจ มีความสุข รู้สึกว่าการที่มาทำตรงนี้มันคือการทำให้มุมมองของเราเติบโตไปอีกระดับหนึ่งเลย 

บิวกิ้น : เหมือนกันเลย จุดเปลี่ยนที่ชัดๆ ของผมคือการได้ทำงาน พอเราทำงานหนึ่งให้ใครคนหนึ่งแล้วเรารับเงินเขา มันเหมือนว่าเรามีความรับผิดชอบต่อกัน เรามีหน้าที่ที่ต้องทำให้สำเร็จ 

พีพี : ทำให้ดีที่สุด

บิวกิ้น : ทำให้ดีที่สุด และเหมือนกับว่าเราไม่ได้ขอเงินพ่อแม่ใช้อย่างเดียวแล้ว เรารับผิดชอบงานนี้ด้วยตัวเอง เหมือนว่าเราก้าวข้ามมาสู่วัยที่ยืนด้วยตัวเองไปแล้วขาหนึ่ง เราหาเงินเอง บริหารเงินของเราเอง บริหารชีวิตของเราเอง เราดูแลชีวิตของเราเองจริงๆ แล้ว 

รู้สึกว่าวงการบันเทิงขโมยช่วงชีวิตวัยรุ่นของเราไปไหม

บิวกิ้น : ผมมองกลับกันเลย จริงๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตคุ้มกับการที่ได้เริ่มทำงานก่อนใคร จริงๆ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่บ้านและอยู่เฉยๆ ผมรู้สึกว่าเวลาชีวิตคนเรามีจำกัด อยากจัดสรรเวลาให้ตัวเองใช้ชีวิตให้คุ้มที่สุด ผมไม่ได้มองว่ามันดึงเวลาพักผ่อนหรือเวลาสนุกของผมไป แต่มองว่าเวลาที่คนอื่นเขาเอาไปสนุก เราได้ไปลองทำก่อนใครแล้ว แต่ผมรู้สึกว่าตัวเองก็ได้ประสบการณ์ในอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน รู้สึกว่าสนุกและใช้ชีวิตคุ้มค่าดี

พีพี : พีก็มองเหมือนบิวกิ้น พีรู้สึกว่ามันทำให้เวลาของเราคุ้มค่ามากกว่า ส่วนเวลาสนุกมันมีอยู่แล้ว ที่จริงเวลาสุนกไม่จำเป็นต้องอยู่กับเพื่อนก็ได้ มาทำงานก็สนุกได้ มีความสุขได้ เจอพี่ใหม่ๆ เจอพี่ที่เขาน่ารัก คุยกับเราดี เทคแคร์เรา ก็มีความสุขได้ เพราะความสุขมันไม่จำเป็นต้องจำกัดว่าอยู่กับเพื่อนหรืออยู่กับพ่อแม่ อาจจะมีความสุขที่ได้มาทำตรงนี้ บางครั้งแค่ขับรถก็มีความสุขแล้วนะ แค่ได้ออกจากบ้านแล้วขับรถก็มีความสุขเหมือนกัน ไม่ได้รู้สึกว่ามันทำให้เสียเวลา แต่มันทำให้เวลาคุ้มค่ามากกว่า

มีคำกล่าวที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ ตอนยังวัยรุ่นคือ ‘ถ้าไม่เจ็บปวดก็ไม่เติบโต’ คุณเคยมีประสบการณ์ทำนองนี้บ้างไหม

พีพี : มี เท้าความก่อนว่าคุณพ่อคุณแม่ของผมเคารพผมมาก เขาให้โอกาสผมตัดสินใจเกือบทุกอย่างในชีวิต จะไปเรียนก็ได้ ไม่ไปก็ได้ อยากทำอะไรก็ทำแต่ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองให้ได้ 

มีครั้งหนึ่งจัดการเวลาชีวิตผิดพลาดทำให้เราไปสอบไม่ทัน เพราะเรามัวแต่เป็นห่วงเรื่องนู่นเรื่องนี่ จนต้องไปดร็อปวิชานั้นและลงเรียนใหม่ ซึ่งมันไม่ควรเลย ถ้าเราจัดการกับชีวิตตัวเองดีๆ มันก็จะทำให้เราไปสอบทัน ซึ่งพ่อแม่เขาก็เตือนเรื่องนี้ตลอด พอเราผ่านจุดนี้ไปก็โอเค การจัดการเวลามันสำคัญ ควรต้องมีระบบนะ ทุกอย่างมันควรฟิกซ์ไว้

บิวกิ้น : เรื่องบางเรื่องถ้ามันไม่เจ็บปวดมันจะไม่เรียนรู้ ไม่ได้ไปเจอจริงๆ จะไม่มีทางเข้าใจ ของผมคือป๊อปปี้เลิฟ การได้ลองรักใครสักคน ได้เจ็บกับความรักครั้งแรก พอเราผ่านตรงนั้นมามันทำให้เราได้รู้จัก เข้าใจเรื่องความสัมพันธ์มากขึ้น ทำให้เราโตขึ้น

พูดได้ไหมว่าซีรีส์เรื่องนี้คือซีรีส์วายเรื่องแรกของนาดาว

บิวกิ้น : จริงๆ ก็มีการคุยกันเรื่องนี้เหมือนกัน ผมว่ามันขึ้นอยู่ที่คนจะนิยามมากกว่า ถ้านิยามว่าซีรีส์วายคือซีรีส์ชาย-ชาย จริงๆ นาดาวก็เคยมีหยิบยกมา ทั้งใน ฮอร์โมนส์ฯ หรือใน Great Men Academy ก็เป็นชาย-ชาย แต่เป็นชายที่มีอินเนอร์ผู้หญิง แต่ถ้าเกิดนิยามว่าซีรีส์วายคือชายคู่ชาย ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องเต็มตัวครั้งแรกก็ใช่

พอพูดถึงซีรีส์วาย เหมือนเราจะเห็นกระแสของซีรีส์วายที่ผ่านมาที่มักโดนโจมตีว่าลดทอนคุณค่าของกลุ่ม LGBTQ+ ลงไป ไม่ตรงกับความเป็นจริง ในขณะที่บางคนบอกว่าซีรีส์ที่ทำตรงกับชีวิตของ LGBTQ+ จริงๆ ก็มักจะจบไม่สวย จบแบบโศกนาฏกรรม คำถามคือซีรีส์เรื่องนี้แตกต่างจากซีรีส์วายเรื่องอื่นยังไง

บิวกิ้น : จริงๆ ผมว่าในมุมของ LGBTQ+ ก็คงมีทั้งมุมที่ดีและไม่ดี แต่ในเรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ ผมรู้สึกว่ามันมีเรื่องที่ดีอยู่เยอะ และมีเรื่องที่ไม่เชิงไม่ดีแต่ไม่ได้แฮปปี้มากกว่า ก็ถูกตีแผ่อยู่ในเรื่องเหมือนกัน จริงๆ ทีมเขียนบทเขาก็พยายามหาข้อมูลแบ็กกราวนด์ หา source มาพัฒนาบทให้เหมือนกับว่าสะท้อนสังคมและสมจริงให้มากที่สุด

ถ้าถามว่าดีหรือไม่ดี แฮปปี้หรือไม่แฮปปี้ ผมว่าขึ้นอยู่กับคนมองมากกว่า บางคนอาจจะเชื่อแบบนี้ ผ่านประสบการณ์แบบนี้แล้วทำให้เขาเชื่อในสิ่งที่เห็น บางคนอาจไม่เคยเจอเรื่องนี้เขาก็อาจจะไม่เชื่อ คิดว่ามันไม่จริง ผมว่ามันเป็นเรื่องของบุคคลมากกว่า

บิวกิ้น-พีพี จาก แปลรักฉันด้วยใจเธอ

คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเล่นซีรีส์เรื่องนี้

บิวกิ้น : สำหรับผม การที่เราก้าวข้ามการเป็นนักแสดงสมทบขึ้นมาเป็นนักแสดงหลัก ทำให้เราได้ลองทำงานแบบที่มีความรับผิดชอบในอีกระดับหนึ่ง นอกจากนี้ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง เช่น การพูดภาษาจีน หรือการไปซึมซับวัฒนธรรมของภูเก็ต ผมเข้าใจมุมมองของตัวละครในบางมุมที่มันทำให้เราเข้าใจความคิดของคน มันทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วโลกนี้มันมีอะไรมากกว่าที่เรารู้ตั้งหลายอย่าง จริงๆ แล้วเราได้เห็นอะไรเยอะมากเลย ทั้งในเรื่องของกายภาพ และ mentality 

แปลรักฉันด้วยใจเธอ

พีพี : เหมือนกัน ในการทำงานมันคือความรับผิดชอบในอีกระดับหนึ่งเลย เรื่องของเวลาเราก็ต้องแบ่งให้ดี ให้เราได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง ตอนแรกผมไม่ได้มองว่าการพักผ่อนสำคัญขนาดนั้น แต่มันส่งผลกระทบจริงๆ ยิ่งในพาร์ตการแสดงด้วย ถ้าสมมติเรานอนไม่พอ ทั้งร่างกายและจิตใจมันไม่พร้อมต่อการแสดงเลย และที่จริงซีรีส์ educate ผมด้วยนะ มันสอนให้ผมมองในมุมของคนอื่นด้วย สอนให้กลับมามองตัวเราเองด้วย ให้เราลองย้อนกลับไปดูความคิดของตัวเองเมื่อตอนเด็กๆ ให้เราทำความเข้าใจมากขึ้น เพราะบางครั้งการที่เราเข้าใจมากขึ้นอาจจะทำให้เราเข้าใจตัวเองตอนนี้มากขึ้นด้วยเหมือนกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว