I Eat You Up Inside My Head รวมเรื่องสั้นในกลีบดอกปอกเปิกต่อความป่วนปั่นแห่งยุคสมัย

Highlights

  • I Eat You Up Inside My Head คือรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของ P.S. Publishing ซึ่งเป็นอีกครั้งที่หนังสือของสำนักพิมพ์นี้มอบรสชาติแปลกใหม่ให้กับการอ่านวรรณกรรม
  • ความแปลกใหม่ที่ว่านี้ เริ่มต้นตั้งแต่ชื่อสร้อยของหนังสือเล่มนี้ที่ว่ารับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิกเพราะไม่เพียงแต่เราจะไม่ค่อยเห็นการตั้งชื่อหนังสือ หรือกระทั่งการสร้างประโยคในลักษณะนี้ แต่ยังชวนให้ตั้งคำถามนับแต่ยังไม่เริ่มพลิกหน้ากระดาษ
  • เอกลักษณ์สำคัญของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือกลิ่นไอจางๆ ของความเป็นการเมือง ที่ปรากฏให้เห็นในเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง
  • I Eat You Up Inside My Head จึงคือเสียงของยุคสมัย ที่ไม่เพียงแต่จะฉายให้เห็นภาพของความรัก และความสัมพันธ์ในชีวิต หากยังคือความรู้สึกนึกคิด และการตื่นรู้ทางการเมืองที่กลายเป็นสภาวะปกติมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างส่วนตัวที่สุด ผมคิดว่าหนังสือของ P.S. Publishing แต่ละเล่มน่าสนใจในวิถีทางของตัวเอง แน่นอนว่าผมไม่ได้อ่านหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ทุกเล่ม แต่หากประเมินคร่าวๆ จากบางเล่มที่เคยได้สัมผัส หนังสือของสำนักพิมพ์นี้ต่างก็สารพัดไปด้วยกลิ่น รุ่มรวยไปด้วยรสชาติ และมอบประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป

I Eat You Up Inside My Head คือรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของ P.S. Publishing ซึ่งเป็นอีกครั้งที่หนังสือของสำนักพิมพ์นี้มอบรสชาติแปลกใหม่ให้กับการอ่านวรรณกรรม ว่ากันตรงๆ ความแปลกใหม่ที่ว่านี้เริ่มต้นตั้งแต่ชื่อสร้อยของหนังสือเล่มนี้ที่ว่ารับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิกเพราะไม่เพียงแต่เราจะไม่ค่อยเห็นการตั้งชื่อหนังสือ หรือกระทั่งการสร้างประโยคในลักษณะนี้ หากประโยคสั้นๆ นี้ยังชวนให้ตั้งคำถามนับแต่ยังไม่เริ่มพลิกหน้ากระดาษทำนองว่า ทำไมต้องรับประทานสารตกค้าง? สารตกค้างที่ว่าคืออะไร? เหตุใดถึงเกิดขึ้นในกลีบดอกปอกเปิก? แล้วกลีบดอกปอกเปิกที่ว่าคืออะไร?

ในระนาบเดียวกัน หน้าปกของหนังสือเล่มนี้ก็สร้างบทสนทนาต่อชื่อหนังสือได้อย่างน่าสนใจ หากลองพิจารณาหน้าปก เราจะเห็นนกฟลามิงโกสีชมพูจำนวนหนึ่ง เห็นหญิงสาวคนหนึ่งคล้ายจะหลับตาพริ้มฝัน และเห็นดอกไม้บ้างเหลือง บ้างขาว บ้างแดง บ้างแบ่งบานขึ้นจากผืนดิน บ้างแบ่งบานขึ้นจากผิวกายของหญิงสาว

ผมคิดว่า ในขณะที่มวลดอกไม้ฉายภาพกลีบดอกปอกเปิกได้อย่างเป็นรูปธรรม นกฟลามิงโกกับหญิงสาวที่หลับฝันก็ราวกับจะอนุมานได้ถึงประธานผู้รับประทานสารตกค้างที่หายไป ในแง่นี้ ผู้ที่รับประทานสารตกค้างจึงอาจเป็นได้ทั้งมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น นกฟลามิงโก

คำถามคือ ทำไมประเด็นนี้ถึงน่าสนใจ? สำหรับผมแล้ว ในขณะที่เรื่องสั้นเรื่องต่างๆ ของ I Eat You Up Inside My Head จะถูกบอกเล่าผ่านน้ำเสียงของมนุษย์ ทว่าในบางเรื่องสั้น ธรรมชาติ และสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีชีวิตบ้าง หรือไม่มีชีวิตบ้าง ซึ่งปรากฏเป็นส่วนประกอบเล็กๆ ของเรื่องเล่า กลับคล้ายจะมีสำนึก มีชีวิต และมีสถานะเป็นผู้กระทำไม่ต่างอะไรกับมนุษย์

ในบทหนึ่ง ผู้เขียนเล่าว่าเธอได้ยินมันแว่วๆ ขณะม้วนสายดอกที่มีเขานั่งอยู่ในนั้น ม้วนมันทุกวันจนเกลียวเหนื่อยจะเบี้ยว รำคาญเธอเต็มที โทรโข่งของเขามันเวิร์กกับเธอแต่ไม่ได้มีไว้เพื่อเธอ ดอกไม้ในป่าตะโกนด่าว่าธรรมชาติก็ไม่ได้สร้างรถเก๋งมาให้บินได้

หากพิจารณาประโยคจะเห็นว่า ไม่เพียงแต่เธอจะม้วนสายดอกให้เบี้ยวไม่สำเร็จอย่างที่หวัง ทว่าสายดอกที่ไม่ยอมเบี้ยวนี้กลับไม่ได้มาจากสาเหตุที่หญิงสาวไม่มีเรี่ยวแรง หรือสายดอกม้วนยากจนเกินไป หากแต่เป็นเพราะเกลียวเหนื่อยจะเบี้ยว รำคาญเธอเต็มทีต่างหาก ที่เป็นสาเหตุให้เธอไม่อาจม้วนสายดอกจนสำเร็จได้ หรือหากเราลองอ่านต่อไปสักหน่อยก็จะพบประโยคที่ว่าดอกไม้ในป่าตะโกนด่าว่าธรรมชาติก็ไม่ได้สร้างรถเก๋งมาให้บินได้ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ดอกไม้ไม่ใช่แต่จะแบ่งบานอยู่นิ่งๆ หากเมื่อไม่พอใจก็สามารถจะตะโกนด่าธรรมชาติซึ่งเป็นระบบนิเวศใหญ่ได้เช่นกัน

ในแง่หนึ่ง เราอาจเรียกชั้นเชิงการเขียนนี้ว่าบุคลาธิษฐาน’ (personification) นั่นคือ การสมมติสิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด หรือกระทั่งสัตว์ ให้มีสติปัญญา การกระทำ และความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับมนุษย์ เช่นนี้เอง สายดอกจึงรำคาญหญิงสาวได้ และดอกไม้จึงตะโกนด่าธรรมชาติได้ แต่หากเราลองมองไปให้ไกลอีกนิด ผมคิดว่า บุคลาธิษฐานสะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ต่อการที่สิ่งซึ่งไม่ใช่มนุษย์จะสับเปลี่ยนสถานะแทนที่มนุษย์ในฐานะประธานกล่าวคือ มนุษย์ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีสถานะองค์ประธานในทุกๆ ประโยค ทุกๆ เหตุการณ์ และทุกๆ การกระทำเสมอไป นั่นเพราะสรรพสิ่งอื่นๆ ล้วนสามารถที่จะขึ้นเป็นองค์ประธานได้เช่นกัน

หากเราย้อนกลับมาพิจารณา I Eat You Up Inside My Head จะพบว่า มนุษย์ในแต่ละเรื่องสั้นไม่ได้มีสถานะเป็นผู้กระทำเสมอไป หากสรรพสิ่ง ธรรมชาติ และวัตถุต่างๆ กลับมีอำนาจที่จะกำหนด และควบคุมสำนึก พฤติกรรม หรือกระทั่งความเป็นไปของมนุษย์ในเรื่อง ฉากหนึ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษคือแม่ทดลองสอดมือตัวเองลงไปในเครื่องย่อยแต่มันไม่ยอมย่อยมือแม่ลงไปด้วย แม่มองตามข้อความนั้นไหลเป็นแฉกช้าๆ เส้นสีขาวนอนกอง ขดเป็นเส้นไม่ได้ความตามความสามารถของเครื่องทำลายเอกสารที่วันนั้นดันบังเอิญทำลายได้มากกว่านั้น

แม้ว่าแม่จะเป็นผู้สอดมือลงไปในเครื่องทำลายเอกสาร หากแม่กลับถูกเครื่องทำลายเอกสารปฏิเสธที่จะกลืนกินเข้าไป ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่เครื่องทำลายเอกสารจะกลืนกินแม่ลงไปได้ หากคือเครื่องทำลายเอกสารมีอำนาจปฏิเสธไม่ยอมย่อยแม่ลงไปต่างหาก I Eat You Up Inside My Head จะอ่านสนุกขึ้นเมื่อเราทิ้งความหมกมุ่นต่อการแสวงหาความสมเหตุสมผลเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ความสมเหตุสมผล หากคือการละทิ้งฐานคิดเหตุผลนิยม และกระโจนเข้าสู่โลกของความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ปั่นป่วน ไหลลื่น และแปรเปลี่ยนเสมอไป

I Eat You Up Inside My Head คือเรื่องเล่าของหญิงสาวนับสิบๆ ผ่านน้ำเสียงนับสิบๆ ที่หลากเลื่อนไหลไปคล้ายกระแสน้ำ สารภาพว่า ขณะที่อ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ หลายๆ ครั้ง ผมกลับเผลอนึกถึงงานเขียนของ Virginia Woolf ไม่ใช่แค่ในแง่ที่ว่า น้ำเสียงของผู้เล่าคือผู้หญิง หากยังรวมถึงลักษณะที่ความคิดของผู้เล่าดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีแบบแผนตายตัว คล้ายๆ กับรูปแบบการเขียนทางวรรณกรรมที่ชื่อว่า ‘กระแสสำนึก’ (stream of consciousness) นั่นคือการที่ผู้อ่านคล้ายจะได้ซึมลึกเข้าไปอยู่ในความคิดของผู้เล่า

แม้ว่า I Eat You Up Inside My Head จะดำเนินเรื่องในลักษณะเส้นตรง ทว่าตลอดเส้นทางที่เรื่องเล่าดำเนินไปกลับเต็มไปด้วยความคิด และเรื่องเล่าอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่เรื่อยๆ รายทาง ราวกับว่า แม้ผู้เขียนมองเห็นเส้นทางของการเล่าเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว หากแทนที่จะมุ่งไปข้างหน้าอย่างตรงๆ กลับเลือกที่จะแวะหยุดระหว่างทางเพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างชีวิตชีวา และเสริมเติมมิติให้กับตัวละคร และเรื่องราวที่กำลังบอกเล่า

สำหรับผมแล้ว จุดนี้เองเห็นจะเป็นเสน่ห์ของ I Eat You Up Inside My Head ในแง่ที่ว่า ผู้อ่านไม่เพียงแต่จะได้รับรู้เรื่องราวของเส้นเรื่องหลัก หากยังมีรายละเอียดยิบๆ ย่อยๆ ที่กลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ก็ว่าได้ อีกจุดหนึ่งที่เห็นจะพูดถึงไม่ได้ คือกลิ่นไอจางๆ ของความเป็นการเมือง ที่ปรากฏให้เห็นในเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องแล้วแม่ก็เดินจากไปทั้งอย่างนั้น ก่อนเอ่ยสถานที่ทำรัง ชื่อวงศ์ และภาระที่นกเงือกต้องแบกไว้มากกว่าเฟมินิสต์หรือ LGBT ในยุคนั้น นั่นคือการหาต้นไม้ลับตา บินช้าๆ ปลูกต้นไม้เหมือนเป็นตัวแทน propaganda ของพงไพร

เฟมินิสต์, LGBT, propaganda ศัพท์ในลักษณะเดียวกันนี้ยังปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง ผมคิดว่า แม้ในทางหนึ่งการเลือกใช้ศัพท์เหล่านี้ในเรื่องสั้นจะสร้างเอกลักษณ์ได้อย่างน่าสนใจ หากในขณะเดียวกันมันก็สะท้อนให้เห็นบรรยากาศที่เปลี่ยนไปของยุคสมัยได้อย่างชัดเจน

ย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อน ศัพท์เหล่านี้คงไม่ต่างอะไรกับของแสลง แต่หากลองสังเกตบรรยากาศของบ้านเมืองในทุกวันนี้ ผมพบว่าศัพท์เหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ในภาษาของชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ I Eat You Up Inside My Head จึงคือเสียงของยุคสมัย ที่ไม่เพียงแต่จะฉายให้เห็นภาพของความรักและความสัมพันธ์ในชีวิต หากยังคือความรู้สึกนึกคิด และการตื่นรู้ทางการเมืองที่กลายเป็นสภาวะปกติมากขึ้นเรื่อยๆ

หากว่ากันอย่างถึงที่สุด รวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือภาพแทนของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับไว ต่อสำนึก และความคิดที่หลั่งไหลอย่างไม่มีหยุดนิ่ง คือความฟุ้งกระจาย คือความชัดเจน คลุมเครือ และเลือนหาย คือความเป็นไปได้ และคือความเป็นไปไม่ได้ เหล่านี้เองที่ล้วนประกอบสร้างขึ้นเป็นบรรยากาศแห่งยุคสมัย

เหล่านี้เองที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นเรื่องราวมากมายในหนังสือเล่มนี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน