มนุษย์เราทำร้ายกันผ่านเสียงหัวเราะบ่อยเพียงใด ใน A Horse Walks into a Bar

Highlights

  • A Horse Walks into a Bar คือนวนิยายของ David Grossman นักเขียนชาวอิสราเอล ที่ได้รับรางวัล Man Booker International Prize
  • เรื่องราวเล่าถึงชีวิตของ Dovaleh Greenstein ตลกท้องถิ่นวัย 57 ปี ที่เดินขึ้นมาบนเวทีเพื่อเล่าเรื่องตลก ปัญหาคือโจ๊กที่เขาเล่ามันไม่ค่อยจะตลก
  • ขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้เผยให้เห็นเบื้องลึกของเสียงหัวเราะที่ไม่ได้ผูกโยงอยู่กับความสุขเสมอไป

ในเดือนมิถุนายน ปี 2017 A Horse Walks into a Bar นวนิยายของ David Grossman นักเขียนชาวอิสราเอล ได้รับรางวัล Man Booker International Prize ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า หากคุณได้อ่านเรื่องย่อของนวนิยายเล่มนี้ A Horse Walks into a Bar คือเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่เดินขึ้นมาบนเวทีเพื่อเล่าเรื่องตลก ปัญหาคือโจ๊กที่เขาเล่ามันไม่ค่อยจะตลก

พูดให้ชัดขึ้นคือ หากคุณคาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้หัวเราะคุณอาจต้องผิดหวัง เกริ่นมาแค่นี้ก็ดูไม่น่าอ่านแล้วใช่ไหมล่ะ เพราะจะมีใครอยากฟังเรื่องตลกที่ไม่ชวนให้ตลกกันบ้าง จริงไหม?

สารภาพตรงๆ ว่า ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านด้วยความคาดหวังผิดๆ เพราะจากที่คิดว่าจะได้หัวเราะ ผมกลับต้องเสียน้ำตาซะงั้น เล่าคร่าวๆ A Horse Walks into a Bar คือฉากชีวิตของ Dovaleh Greenstein ตลกท้องถิ่นวัย 57 ปี ที่อยู่มาวันหนึ่งเขาก็เชิญชวนเพื่อนเก่ามาฟังเรื่องตลกของเขาในบาร์เล็กๆ ทั้งนี้เรื่องราวในค่ำคืนนั้นไม่ได้ถูกบอกเล่าผ่านกรีนสไตน์ที่กำลังเล่าเรื่องตลกอยู่บนเวที หากเป็นน้ำเสียงของเพื่อนคนหนึ่งที่ได้รับเชิญมาดูการแสดงตลกสแตนด์อัพครั้งนี้ กรีนสไตน์บอกกับเพื่อนคนนี้ในคืนก่อนการแสดงว่าฉันอยากให้นายมาดูฉัน แล้วบอกฉันว่านายเห็นอะไร

กลายเป็นว่านอกจากเรื่องตลกที่กรีนสไตน์เล่าจะไม่ค่อยขำแล้ว ไม่นานคนดูก็ค่อยๆ พบว่า เป้าหมายของเดี่ยวไมโครโฟนนี้ไม่ได้มีเพื่อให้คนดูขำ แต่คือการเปิดเผยและสารภาพเรื่องเศร้า บาดแผล และความเจ็บปวดของเขา ที่พาดเกี่ยวอยู่กับคนดูทุกๆ คน ตลกท้องถิ่นคนนี้กำลังป่วยหนักและชีวิตในแต่ละวันของเขาก็ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ และแน่นอนว่าคนดูบางคนเองก็ไม่ค่อยพอใจที่พวกเขาต้องมาฟังอะไรก็ไม่รู้

ผ่านการแสดงตลกสแตนด์อัพของกรีนสไตน์ จุดหนึ่งที่กรอสแมนเปิดเผยให้เห็นคือ รูปแบบต่างๆ ของเรื่องเล่าที่สานสัมพันธ์กันภายใต้ฉากหน้าของมุกตลก ไม่ว่าจะเป็นโจ๊กหยาบคาย การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นปัญหาต่างๆ การคร่ำครวญของดาราตลก การเล่าย้อนความทรงจำ ในขณะเดียวกันเรื่องเล่าต่างๆ ก็สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง ในแง่ที่คนดูเองก็แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบกลับมายังดาราตลกเช่นกัน อย่างที่ในช่วงหนึ่งระหว่างการแสดงกรีนสไตน์กล่าวกับคนดูว่า

เพราะแท้ที่จริงแล้วการแสดงตลกสแตนด์อัพคืออะไร เคยพินิจไตร่ตรองกันบ้างไหม ตอบให้ก็ได้ พี่น้องชาวเนทันยา ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้วมันเป็นความบันเทิงที่น่าสมเพชที่สุด นี่พูดอย่างสัตย์จริงเลยนะ เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะพวกคุณแทบได้กลิ่นเหงื่อของพวกเราได้เลย! ความพยายามสร้างเสียงหัวเราะให้กับพวกคุณ! นี่ล่ะเหตุผล!

คุณเห็นความเครียดบนใบหน้าของเรา ความเครียดของการต้องทำทุกอย่างให้คนขำ ไม่ว่าจะด้วยราคาค่างวดแค่ไหน การที่เราแทบจะอ้อนวอนขอให้คุณรักเรา

ผมคิดว่าคำพูดของกรีนสไตน์สะท้อนให้เห็นเงื่อนไขและความท้าทายของการแสดงตลกสแตนด์อัพได้อย่างน่าคิด นั่นคือทำยังไงคนดูถึงจะหัวเราะกับมุกตลกที่เตรียมเอาไว้ เสียงหัวเราะสำหรับนักแสดงตลกไม่ได้มีความหมายแค่ชัยชนะ เพราะขณะที่มุกหนึ่งอาจทำให้คนดูขบขัน แต่พร้อมๆ กันนั้นมันก็ได้สร้างความคาดหวังต่อมุกตลกอื่นๆ ที่กำลังจะตามมา ในแง่นี้คนดูจึงสร้างความตึงเครียดให้กับนักแสดงตลก เพราะความคาดหวังของพวกเขาจำเป็นต้องถูกตอบสนองอยู่เรื่อยๆ

ทว่า A Horse Walks into a Bar คล้ายจะกลับหัวกลับหางความคิดนี้ โดยเลือกที่จะไม่ตอบสนองความคาดหวังที่คนดูจะหัวเราะผ่านเรื่องเล่าของกรีนสไตน์ ไม่เพียงแต่คนดูจะพบว่า ยิ่งการแสดงดำเนินไปเสียงหัวเราะก็ยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ เท่านั้น หากอาการตลกขบขันยังค่อยๆ ถูกปั่นป่วนด้วยอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ เช่น ความทุกข์ ความเศร้า และความกระอักกระอ่วนใจ

Robert Lynch นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาการหัวเราะของมนุษย์กล่าวว่า การหัวเราะมีอยู่ในทุกๆ วัฒนธรรม เชื่อว่าการที่มนุษย์คนหนึ่งๆ มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อมุกตลกสะท้อนให้เห็นตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี

ลินช์อธิบายว่า ‘มนุษย์ผูกโยงอยู่กับความเชื่อทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว และความเชื่อเหล่านี้ก็ผูกโยงอยู่กับอารมณ์ขันของพวกเขา’ ในแง่นี้เสียงหัวเราะของมนุษย์จึงมีความหมายทางสัญญะที่เปิดเผยให้เห็นถึงศรัทธาและคุณค่าที่มนุษย์คนหนึ่งยึดถือ จึงไม่แปลกว่าทำไมเรามักมองหาเพื่อนหรือคู่รักที่มีอารมณ์ขันคล้ายๆ กัน นั่นเพราะสำหรับมนุษย์แล้วเสียงหัวเราะก็ไม่ต่างอะไรกับคำยืนยันต่อศรัทธาและคุณค่าที่พวกเขามีร่วมกัน

แม้ว่าบ่อยครั้งเมื่อพูดถึงอารมณ์ขัน เรามักจะเชื่อมโยงความหมายของมันเข้ากับความรู้สึกในแง่บวก แต่หากลองพิจารณาข้อเสนอของลินช์เรากลับพบว่า จริงๆ แล้วอารมณ์ขันมีลักษณะของการกีดกันและการแยกขาดอยู่ในตัว กล่าวคือ แม้การหัวเราะจะช่วยสร้างสำนึกร่วมระหว่างกันได้ก็จริง แต่พร้อมๆ กันนั้นมันก็ได้ขีดเส้นแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างคนที่หัวเราะกับคนที่ไม่หัวเราะ

ลองสมมติเล่นๆ ว่า ผมเป็นดาราตลกสักคนหนึ่งบนเวทีและคาดหวังอย่างเต็มที่ว่ามุกตลกที่กำลังจะยิงไปนี้ต้องขำแน่ๆ แต่กลายเป็นว่าไม่มีคนดูขำเลยสักคน นั่นไม่เพียงหมายความว่ามุกตลกของผมไม่ขำเท่านั้น แต่ยังสะท้อนว่าศรัทธาและคุณค่าบางประการระหว่างผมกับคนดูไม่สอดคล้องกันอีกด้วย

ผ่านมุกตลกต่างๆ ของกรีนสไตน์ที่กรอสแมนได้แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของความขัดแย้งนี้ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเรื่องราวดำเนินไป เสียงหัวเราะค่อยๆ เงียบหาย คนดูจากที่เคยปล่อยตัวนั่งสบายก็เริ่มขยับร่างกายอย่างอึดอัด พวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับเสียงหัวเราะ แต่ไม่เพียงแค่ความคาดหวังจะไม่ถูกตอบสนอง หากพวกเขายังต้องมาทนฟังชีวิตที่เต็มไปด้วยบาดแผลและความเจ็บปวดของดาราตลกแก่ๆ คนหนึ่ง สแตนด์อัพคอเมดี้เป็นอาชีพที่โดดเดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาต้องยืนอยู่ลำพังคนเดียวท่ามกลางผู้คนเป็นร้อยๆ ที่ไม่ได้สนใจอะไรในตัวเขาเลย

A Horse Walks into a Bar จึงเป็นนวนิยายว่าด้วยชีวิตของนักแสดงตลกที่ไม่ตลก ชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความเศร้า และบาดแผล ในขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้ก็เปิดเผยให้เห็นเบื้องลึกของเสียงหัวเราะที่ก็ไม่ได้ผูกโยงอยู่กับความสุขเสมอไป ดังเช่นเรื่องเล่าของกรีนสไตน์ที่เขาเลือกใช้รูปแบบของการแสดงตลกสแตนด์อัพในการเปิดเผยความรวดร้าวในจิตใจ ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่เพียงแต่จะขำได้ไม่เต็มปาก หากยังกลายเป็นว่าเรื่องตลกเหล่านี้รบกวนจิตใจคนดูอย่างร้ายกาจ และนั่นจึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่า แล้วที่เรากำลังหัวเราะกันอยู่นี้ความหมายของความขบขันคืออะไร

ผมคิดว่าในบางครั้งมุกตลกก็อาจถือเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่งโดยที่เราไม่รู้ตัว ยิ่งโดยเฉพาะในสังคมที่มองไม่เห็นความจริงจังซึ่งแฝงซ่อนอยู่ภายในมุกตลกแต่ละมุกด้วยแล้ว เรามักคิดอยู่เสมอว่าตลกคือเรื่องไร้สาระ ตลกคือสิ่งที่ไม่มีน้ำหนัก

แต่อย่างที่กรอสแมนแสดงให้เราเห็นผ่าน A Horse Walks into a Bar ว่า ภายใต้ภาพลักษณ์ของความไม่จริงจังของมุกตลกนี่แหละที่มันกลับเปิดเผยให้เห็นว่ามนุษย์เราต่างทำร้ายกันผ่านเสียงหัวเราะบ่อยเพียงใด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฎฐณิชา สะอิ

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่รักในการแต่งตัว และหลงใหลการท่องเที่ยวผจญภัยและกล้องฟิล์ม