ผู้หญิง บาดแผลของทาส และประวัติศาสตร์ไร้เสียง ใน Beloved โดย Tony Morrison

Highlights

  • Beloved คือนวนิยายหนึ่งในงานเขียนเล่มสำคัญ และเป็นที่รู้จักมากที่สุดของ Toni Morrison นักเขียนชาวอเมริกัน ที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ และโนเบลสาขาวรรณกรรม
  • Beloved เป็นเรื่องราวของเซเธอ ทาสที่หอบหิ้วลูกๆ และแม่สามีเพื่อหลบหนีการกดขี่ ด้วยหวังจะไปมีชีวิตอันสงบสุขในรัฐที่ปราศจากการกดขี่คนผิวสี
  • เนื้อหาของ Beloved ชวนให้นึกถึงวิธีการเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ที่วางอยู่บนระบบความเชื่อ และคติทางวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันอเมริกัน เป็นการปะทะกันระหว่างโลกทัศน์ของทาส กับอำนาจของคนขาว
  • ความมหัศจรรย์ต่างๆ ที่ปรากฏใน Beloved จึงสะท้อนนัยของการมองโลกที่แบ่งแยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ระหว่างการมองโลกผ่านสายตาของคนขาว กับการมองโลกผ่านสายตาของทาส

5 สิงหาคม .. 2019 คือวันที่ Toni Morrison ลาจากโลกใบนี้ไปด้วยวัย 88 ปี มอร์ริสันไม่เพียงจะเป็นหนึ่งในนักเขียนอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ และได้รับความเคารพมากที่สุดคนหนึ่งเท่านั้น หากงานเขียนของเธอยังสร้างคุณูปการสำคัญให้กับวงการวรรณกรรม นั่นเพราะนวนิยายของมอร์ริสันได้เปิดพื้นที่ให้กับประวัติศาสตร์อันโศกเศร้าของชาวแอฟริกันอเมริกันที่อยู่ในความเงียบงันเสมอมา

แม้ว่าตลอดชีวิตของมอร์ริสันจะเขียนนวนิยายไว้กว่าสิบเล่ม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Beloved คือหนึ่งในงานเขียนเล่มสำคัญ และเป็นที่รู้จักมากที่สุด ด้วยไม่เพียงแค่หนังสือเล่มนี้จะได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ใน .. 1988 เท่านั้น หากไม่กี่ปีให้หลังมอร์ริสันยังได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ส่งให้เธอกลายเป็นนักเขียนแอฟริกันอเมริกันคนแรก (และคนเดียว) ที่เป็นผู้หญิง ที่ได้รับรางวัลในสาขานี้

ต่อมาใน .. 2007 Beloved ก็กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อ 5 โรงเรียนในอเมริกาแบนหนังสือเล่มนี้เพราะมองว่าเนื้อหาของมันรุนแรงและมีฉากเซ็กซ์ที่โจ่งแจ้งเกินไป แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์มาแล้วกว่าสามสิบปี แต่ Beloved ก็ยังคงสร้างแรงสั่นสะเทือนภายในสังคมอเมริกาได้อย่างต่อเนื่อง คำถามคือ หนังสือเล่มนี้สำคัญอย่างไร?

อย่างคร่าวๆ Beloved คือเรื่องราวของเซเธอ ทาสที่หอบหิ้วลูกๆ และแม่สามีเพื่อหลบหนีการกดขี่ ด้วยหวังจะไปมีชีวิตอันสงบสุขในรัฐทางตอนเหนือที่ปราศจากการกดขี่คนผิวสีเฉกเช่นรัฐในแดนใต้ ทว่าเสรีภาพที่เซเธอวาดหวังไว้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะแม้ว่าหล่อนจะสามารถหลบหนีไปถึงแดนเหนือ และหาที่พักอาศัยให้กับครอบครัวได้สำเร็จ แต่ชีวิตของเซเธอกับสมาชิกในบ้านกลับถูกตามหลอกหลอนด้วยวิญญาณร้ายแห่งอดีต วิญญาณที่ในแง่หนึ่งอาจคือฝันร้ายจากวันวาน หากขณะเดียวกันก็คือผีร้ายตัวเป็นๆ ที่คอยตามรังควาญไม่ให้ครอบครัวของเซเธออยู่ร่วมกันในบ้านได้อย่างสันติ

สำหรับผม เนื้อหาของ Beloved ชวนให้นึกถึงวิธีการเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์’ (magical realism) ที่หลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกันดีจากงานเขียนของ Gabriel Garcia Marquez หรือ Salman Rushdie เพียงแต่ในขณะที่สัจนิยมมหัศจรรย์ของมาร์เกซถือกำเนิดจากวัฒนธรรมชาวบ้าน และนิทานท้องถิ่นของโคลอมเบีย ส่วนรัชดีมีพื้นฐานจากสังคมอินเดีย

แต่สัจนิยมมหัศจรรย์ของมอร์ริสันวางอยู่บนระบบความเชื่อ และคติทางวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันอเมริกัน เป็นมุขปาฐะ และตำนานที่บอกเล่าต่อๆ กันในกลุ่มทาสผิวดำที่มอร์ริสันประกอบสร้างโลกของ Beloved ขึ้นมา ในขณะเดียวกัน สัจนิยมมหัศจรรย์เองก็ผูกโยงกับประเด็นอำนาจอย่างแยกกันไม่ขาด ถ้า หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว คือการปะทะกันระหว่างคติความเชื่อพื้นบ้านกับการครอบงำของวิทยาศาสตร์ และความเป็นสมัยใหม่ Beloved ก็คือการปะทะกันระหว่างโลกทัศน์ของทาสกับอำนาจของคนขาว

เมื่อ Beloved ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาของทาส เหตุการณ์เหนือธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงคือความเป็นจริงที่ปรากฏให้เห็นผ่านสายตาของผู้ถูกกดขี่ มอร์ริสันมองว่า สาเหตุที่ประวัติศาสตร์ของชาวแอฟริกันอเมริกันยังคงเงียบใบ้อยู่แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยกเลิกระบบทาสมาแล้วนานปี เป็นเพราะว่า อิทธิพลของระบบทาสยังคงหยั่งรากอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมอเมริกันปัจจุบัน ในแง่นี้ ความมหัศจรรย์ต่างๆ ที่ปรากฏใน Beloved จึงสะท้อนนัยของการมองโลกที่แบ่งแยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ระหว่างการมองโลกผ่านสายตาของคนขาว กับการมองโลกผ่านสายตาของทาส เพราะใน Beloved ทาสเท่านั้นจึงจะรับรู้ถึงเหตุการณ์เหนือธรรมชาติต่างๆ ได้

หากเชื่อมโยงจุดนี้เข้ากับการมุมมองของมอร์ริสัน ต่อประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เราจะพบได้ว่า สาเหตุที่มอร์ริสันกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ไม่ปรากฏเรื่องราวของชาวแอฟริกันอเมริกัน เป็นเพราะตัวผู้เขียนประวัติศาสตร์ (คนขาว) ไม่ได้มองเห็นในสิ่งเดียวกับที่ทาสมองเห็น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสายตาของคนขาวเป็นคนละข้อเท็จจริงกับที่ทาสมองเห็น ด้วยเหตุนี้ประวัติศาสตร์ในสายตาของทาสจึงคือเรื่องราวที่ไม่ถูกรับรู้ หรือจดบันทึกไว้

ในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1980s และ 1990s ได้เกิดกระแสทลายความเงียบ’ (broke silence) ของกลุ่มสตรีชาวแอฟริกันอเมริกัน โดยมอร์ริสันก็ถือเป็นหนึ่งในนักเขียนคนสำคัญที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้ เพราะแม้ว่าชาวแอฟริกันอเมริกันจะมีสิทธิและเสียงมากขึ้น แต่สิทธิและเสียงที่มากขึ้นนี้ยังถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มของผู้ชาย การทลายความเงียบของกลุ่มสตรีชาวแอฟริกันอเมริกันจึงคือการตอบโต้กลับไปยังวาทกรรมกระแสหลักที่ผลิตซ้ำภาพแทน (representation) ของผู้หญิงให้ถูกกดทับอยู่ภายใต้อำนาจ จากที่ผู้หญิงแอฟริกันอเมริกันไม่เคยถูกให้คุณค่า การทลายความเงียบนี้ได้เปิดเผยตัวตนของพวกเธอให้เป็นที่รับรู้

กลุ่มสตรีชาวแอฟริกันอเมริกันนิยามการขับเคลื่อนนี้ว่า ‘black feminism’ Pearl Cleage หนึ่งในนักวิชาการสาย black feminism กล่าวว่า เฟมินิสม์คือความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงคือมนุษย์ที่มีความสามารถในการมีส่วนร่วม และการเป็นผู้นำในกิจกรรมทุกๆ รูปแบบของมนุษย์ ต่อกิจกรรมทางสติปัญญา, การเมือง, สังคม, เพศวิถี, จิตวิญญาณ และเศรษฐกิจ’ เธอชี้ว่าเฟมินิสม์คืออุดมการณ์ทางการเมืองระดับโลกที่พุ่งตรงไปยังโครงสร้างทางอำนาจของผู้ชายที่เหนือกว่าผู้หญิง แต่ black feminism นั้นเฉพาะเจาะจงกว่านั้น โดยเฉพาะในบริบทของสหรัฐอเมริกา

ตำแหน่งแห่งที่ของ black feminism ในอเมริกาคือการต่อสู้กับการเมืองทางเชื้อชาติ’ (racial politics) ที่ยังคงกีดกันชาวแอฟริกันอเมริกัน รวมถึงการคุกคามจากพวก white supremacy ที่มองว่า คนขาวย่อมมีสถานะเหนือกว่าชาติพันธ์อื่นๆ black feminism คือเฟมินิสม์ที่เฉพาะเจาะจงและอิงอยู่กับบริบทมากขึ้น เช่นกันที่ขบวนการนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดในสายตาของเฟมินิสม์ ช่วงเวลานั้นที่ยังมองไม่เห็น และไม่ได้ผนวกรวมผู้หญิงในชาติพันธ์อื่นๆ เข้ากับขบวนการ พูดอีกอย่างคือ เฟมินิสม์ยังคงให้ความสำคัญกับผู้หญิงผิวขาวอยู่นั่นเอง

ในแง่นี้ Beloved จึงไม่เพียงแต่จะท้าทายต่ออำนาจของคนขาวและอำนาจของผู้ชาย แต่ยังรวมถึงการกีดกันในกลุ่มผู้หญิงด้วยกันเอง เพราะตัวละครหลักของ Beloved ไม่ใช่ผู้หญิงที่มีความรู้อย่างที่สังคมนิยาม ไม่ได้เรียนจบจากสถาบันการศึกษาดีๆ แต่เป็นอดีตทาสที่สถานะของตัวเธอนั้นถูกกดทับอยู่แล้วในหลายระดับ มอร์ริสันเคยกล่าวถึง Beloved ในบทความหนึ่งของเธอว่า

ผ่านมุมมองของทาสผู้หญิง การมีลูก และการถูกเรียกว่าแม่ คือจุดสูงสุดของเสรีภาพ เพราะแทนที่ทาสผู้หญิงคนหนึ่งๆ จะมีลูกจากการถูกเรียกร้องให้มี (จะด้วยข้อเรียกร้องทางเพศภาวะ สถานะของทาส หรือผลประโยชน์ใดๆ) แต่หล่อนจะเป็นผู้เลือกที่จะรับผิดชอบลูกๆ และอ้างสิทธิเหนือลูกๆ ว่าพวกเขาเป็นของหล่อน ไม่ใช่ในฐานะผู้ให้กำเนิด แต่ในฐานะแม่คนหนึ่ง ทว่าภายใต้ระบบทาสของสหรัฐอเมริกา การอ้างสิทธิเช่นนี้ไม่เพียงสังคมจะยอมรับไม่ได้เท่านั้น แต่มันยังผิดกฎหมาย

มอร์ริสันต้องการชี้ให้เห็นถึงระดับของความกดขี่ในสังคมปิตาธิปไตย ที่คุณค่าของความเป็นแม่นั้นถูกบดบังอยู่ภายใต้บริบทของหน้าที่ นั่นคือการให้กำเนิดลูกๆ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางสังคม ยิ่งเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งๆ เป็นทาส การจะอ้างตนว่าเป็นแม่ที่มีสิทธิเหนือลูกๆ ของหล่อนนั้นก็ยิ่งเป็นเรื่องน่าวุ่นวายเข้าไปใหญ่ เพราะนั่นเท่ากับประสิทธิภาพในการทำงานของทาสผู้หญิงจะสูญเสียไปถ้าต้องแบ่งเวลาไปเลี้ยงลูกๆ ของหล่อน และยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับนายทาสมากกว่าเดิม

ผมคิดว่า ความสำคัญอย่างที่สุดของ Beloved จึงคือการที่วรรณกรรมเล่มนี้เปิดเผยให้เห็นว่า ภายในสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่ผู้หญิงทุกๆ คนถูกกดทับด้วยอำนาจในลักษณะเดียวกัน อย่างการถือกำเนิดขึ้นของกลุ่ม black feminist ที่สะท้อนให้เห็นว่า เสียงของผู้หญิงทุกๆ คนไม่อาจถูกเหมารวมได้อย่างง่ายๆ แต่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ว่าสิทธิ และเสียงของผู้หญิงที่เรากำลังเรียกร้องอยู่นี้ คือสิทธิ และเสียงของผู้หญิงกลุ่มใด ยึดโยงอยู่กับบริบทของสังคมแบบใด และอุปสรรคอะไรที่กดทับเสียงของผู้หญิงกลุ่มนี้ไว้ไม่ให้เปล่งเสียงออกมา

มอร์ริสันเคยกล่าวไว้ว่า “black feminist เคยเรียกตัวเองว่า womanist แต่มันไม่ใช่อย่างเดียวกันเลย หรือกระทั่งในส่วนความสัมพันธ์ (ระหว่างผู้หญิง) กับผู้ชาย ในทางประวัติศาสตร์ ผู้หญิงผิวดำคอยปกป้องสามีของพวกหล่อนอยู่เสมอ เพราะพวกหล่อนคือคนที่ทำงานอยู่ข้างนอก และพวกหล่อนก็มักถูกฆ่าอยู่เสมอ

หากอำนาจของผู้ชายจำกัดผู้หญิงผิวขาวให้อยู่แต่ในบ้าน อำนาจของนายทาสกลับบีบบังคับให้ทางผู้หญิงต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา จึงไม่แปลกว่าทำไมมอร์ริสันจะมองว่า บาดแผลของผู้หญิงผิวดำ กับบาดแผลของผู้หญิงผิวขาวนั้นไม่อาจจะทาบทับกันได้อย่างแนบสนิท

เช่นเดียวกับนิยามต่อคำว่าบ้านก็เป็นคนละนิยามกันโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าบ้านของผู้หญิงคือพื้นที่ของความไม่เป็นส่วนตัว แต่กับทาสผู้หญิงที่ไม่เคยแม้แต่จะมีตัวตนอยู่ในบ้านล่ะ?

แค่กับการจะมีพื้นที่อันไม่เป็นส่วนตัวในบ้าน กลับคล้ายจะเป็นความฝันที่ห่างไกลเกินเอื้อมสำหรับพวกหล่อนด้วยซ้ำ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฎฐณิชา สะอิ

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่รักในการแต่งตัว และหลงใหลการท่องเที่ยวผจญภัยและกล้องฟิล์ม