เมื่อโลกหมุนเร็วแบบติดสปีด Hyper-Relevant Skill คือตัวช่วยให้เราเอาตัวรอดได้ในทุกๆ วัน

เมื่อโลกหมุนเร็วแบบติดสปีด Hyper-Relevant Skill คือตัวช่วยให้เราเอาตัวรอดได้ในทุกๆ วัน

Highlights

  • hyper-relevant skill คือทักษะที่จะช่วยให้เราอยู่รอดได้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ฮาร์ดสกิลเพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 
  • โลกทุกวันนี้ทำให้เราไม่อาจพึ่งพาการศึกษาในระบบได้เพียงอย่างเดียว การพัฒนาตัวเองให้เท่าทันกระแสและกลายเป็นกำลังคนคุณภาพได้ เราต้องพร้อมเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาและไม่หยุดการเรียนรู้ไว้เพียงแค่วัยนักเรียนนักศึกษา ดังนั้นเมื่อเห็นองค์ความรู้ที่จำเป็นเราก็พร้อมกระโจนเข้าใส่ทันที
  • ในบรรดาองค์กรระดับโลกที่ต้องรับมือกับไวรัสโควิด-19 มีหลายแห่งที่เลือกให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุคลากรเพื่อรับมือกับสถานการณ์อันยากลำบากในหลายเดือนที่ผ่านมา และในบางกรณี ทักษะเหล่านี้อาจไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้อีกต่างหาก

โลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน 

ประโยคนี้ดูจะเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อโลกของการทำงานและการศึกษาทุกวันนี้ต่างเรียกร้องอะไรต่อมิอะไรจากเรามากเหลือเกิน ความรู้เชิงเทคนิคในมหาวิทยาลัยที่ร่ำเรียนกันมาหลายปีกลับไม่เพียงพอสำหรับชีวิตการทำงานจริง หรือแม้กระทั่งความรู้เดิมที่เรียนมาก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ

และว่ากันว่าโลกยุค post COVID-19 จะอยู่ยากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

แน่ล่ะว่าหลังจากที่หลายบริษัทผ่านวิกฤตการณ์เลย์ออฟไปแล้ว คนที่เหลือรอดย่อมมีภาระหน้าที่งอกเงยจาก job description ของตัวเองไม่มากก็น้อย ส่วนคนที่อยู่ในสถานะว่างงานก็ต้องอัพเลเวลความสามารถของตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามการสมัครงานในอนาคต

แล้วในสถานการณ์ที่ความรู้ความสามารถกลายเป็นของขาดแคลน อะไรคือทักษะต่อไปที่โลก (และเรา) ต้องการกันแน่ หนึ่งในคีย์เวิร์ดสำคัญที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ hyper-relevant skill

 

กำลังคนคุณภาพ

นอกเหนือจากความรู้เชิงเทคนิค (hard skill) ที่ลึกซึ้งและแม่นยำแล้ว การมีทักษะที่เท่าทันโลก (hyper-relevant skill) คือองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้เลยหากเราต้องการเป็น ‘กำลังคนคุณภาพ’

อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด hyper-relevant skill คือทักษะใดๆ ที่สอดรับกับโลกในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ความยืดหยุ่นในการทำงาน (resilience) หรือความสามารถในการสื่อสาร (communication) และแม้ว่าทักษะหลายอย่างจะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่เมื่อพูดถึงในฐานะ hyper-relevant skill เทรนด์ของทักษะเหล่านี้อาจมาไวไปไวจนเราแทบตามไม่ทัน ทักษะที่เป็นที่ต้องการในวันนี้ผ่านไปไม่กี่เดือนอาจกลายเป็นของธรรมดาไปแล้วก็ได้

ปรากฏการณ์นี้กำลังส่งสัญญาณเตือนมาสู่แวดวงการศึกษา

โลกทุกวันนี้ทำให้เราไม่อาจพึ่งพาการศึกษาในระบบได้เพียงฝ่ายเดียว การพัฒนาตัวเองให้เท่าทันกระแสและกลายเป็นกำลังคนคุณภาพได้ เราต้องพร้อมเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาและไม่หยุดการเรียนรู้ไว้เพียงแค่วัยเรียน และเมื่อเล็งเห็นองค์ความรู้ที่จำเป็นเราก็ต้องพร้อมกระโจนเข้าใส่ทันที

การเรียนลักษณะนี้อาจเรียกได้ว่า active learning หรือ life-long learning มีปัจจัยสำคัญคือ ผู้เรียนต้องไม่ติดอยู่กับกรอบของเวลาหรือสถานที่ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในรั้วมหาวิทยาลัยและไม่จำเป็นต้องเรียนให้ครบ 2 ปี หรือ 4 ปี ตามหลักสูตรปริญญา

 

กำลังคนที่โลกต้องการ

เมื่อพูดถึงความรวดเร็วของ hyper-relevant skill คำถามที่ตามมาทันทีก็คือ แล้วทุกวันนี้อะไรคือสกิลที่โลกกำลังเรียกร้องจากเราอยู่

ในบรรดาองค์กรระดับโลกที่ต้องรับมือกับไวรัสโควิด-19 มีหลายแห่งที่เลือกให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุคลากรเพื่อรับมือกับสถานการณ์อันยากลำบากในหลายเดือนที่ผ่านมา และในบางกรณี ทักษะเหล่านี้อาจไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้อีกต่างหาก

Punit Renjen ประธานกรรมการบริหาร Deloitte กลุ่มธุรกิจที่ให้บริการด้านงานตรวจสอบบัญชี ภาษีอากร และที่ปรึกษาด้านการเงินระดับโลก ได้ออกมาให้คำแนะนำแก่บรรดาผู้บริหารระดับสูงว่าด้วยการเป็นผู้นำที่ดีและยืดหยุ่นในยุคโควิด-19 หรือทักษะ resilient leadership ซึ่งถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

“โควิด-19 คือบททดสอบที่จะสร้างความเป็นผู้นำที่ดีและยืดหยุ่น อย่างการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลและเวลาที่จำกัด บรรดา CEO จำเป็นต้องนำองค์กรของพวกเขาผ่านปัญหาและความท้าทายมหาศาล ซึ่งล้วนสัมพันธ์กับองคาพยพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ และแน่นอนว่าการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งของธุรกิจย่อมส่งผลต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย”

Agility องค์กรโลจิสติกส์ระดับโลกที่ให้บริการทั้งการขนส่งสินค้าทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ หนึ่งใน Strategic Partner ของ World Economic Forum และสมาชิกเครือข่าย World Pandemic Network ให้ความสำคัญกับทักษะการจัดการและการนำเสนอข้อมูล (data presentation) เพื่อใช้ในการดีไซน์ interactive map ทำหน้าที่แสดงข้อมูลการขนส่งสินค้าในช่องทางต่างๆ แบบเรียลไทม์ ทั้งสถานะการขนส่งในทุกช่องทาง รวมถึงความจุที่สามารถรองรับได้

การจัดทำข้อมูลในส่วนนี้ของ Agility ไม่เพียงแต่ช่วยให้สายพานธุรกิจเดินต่อได้เพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ

เช่นเดียวกันกับ Telenor องค์กรโทรคมนาคมแถวหน้าจากนอร์เวย์ ใช้การเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน (เป็นข้อมูลในลักษณะ anonymous) เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานด้านสาธารณสุขในการควบคุมการระบาดของไวรัส โดยอาศัยการเชื่อมต่อระหว่างโทรศัพท์มือถือกับสถานีท้องถิ่นกว่า 8,100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อระบุที่อยู่ของผู้ใช้งาน และจะแสดงผลรวมในรูปแบบของ dynamic map ทุก 6 ชั่วโมง

 

กำลังคนเพื่ออาชีพใหม่

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย นอกเหนือจากทักษะใหม่ๆ ที่คนไทยควรให้ความสำคัญ ในช่วงที่ผ่านมายังมีอาชีพใหม่ๆ ที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างในสายงานต่างๆ ที่ประสบปัญหาระหว่างช่วง self-quarantine อย่างสายงานนักออกแบบการสอนออนไลน์ (online instructional designer) อาจารย์เกื้อหนุนสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์​ (virtual learning facilitator) หรืออาจารย์เกื้อหนุนด้านข้อมูล (data scientist facilitator)

สามอาชีพที่ว่าเป็นแค่ตัวอย่างที่ Southeast Asia Center หรือ SEAC และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้ความสำคัญในฐานะกลุ่มอาชีพใหม่ที่ตอบโจทย์ภาคการศึกษาไทยและเลือกนำมาพัฒนาเป็นคอร์สนำร่องใน โครงการความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า การพัฒนาการศึกษาไทยให้ได้ตลอดรอดฝั่งนั้นจะต้องเกิดจากการออกแบบร่วมกัน เอาจุดเด่นและจุดแข็งของทั้งภาคเอกชนและสถาบันการศึกษามารวมกัน ทั้งสององค์กรจึงตั้งใจทำโครงการเพื่อพัฒนากลุ่มคนวัยทำงาน เพื่อต่อยอดทักษะให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน รวมถึงพัฒนาอาชีพใหม่ในประเทศไทย ลดปัญหาแรงงานไม่มีคุณภาพ แล้วตั้งใจโฟกัสกับการผลิต ‘คน’ ที่ตรงกับความต้องการ

นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้าน business mindset ให้กับบุคลากรสายวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดา hyper-relevant skill ที่ควรเติมให้กับบุคลากรในสายอาชีพนี้ ส่วนสายอาชีพอื่นๆ ที่ต้องการอัพเดตสกิลของตัวเองก็สามารถเข้าไปเลือกจากคอร์สกว่า 1,500 หลักสูตรของ SEAC ได้เช่นกัน

 

กำลังคนที่ดีต้องมีอะไรบ้าง

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งไหนคือ hyper-relevant skill ของวันนี้

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC อธิบายว่าหัวใจสำคัญคือการตามโลกให้ทันและอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด สำหรับงานในระดับองค์กร SEAC เลือกที่จะตั้งทีม scout ขึ้นมาเพื่อสอดส่องความต้องการด้านทักษะในแต่ละภาคธุรกิจโดยเฉพาะ

“นี่คือความท้าทายที่มหาวิทยาลัยแทบจะไม่มีทางทำได้เลยเพราะโดยโครงสร้างแล้วเขายังไม่คล่องตัวมากพอ มหาวิทยาลัยถูกสร้างขึ้นเพื่อเรียนรู้ศาสตร์ของวิชาชีพอย่างลึกซึ้งและปูความรู้ที่แน่นพอ ตรงข้ามกับ hyper-relevant skill ซึ่งเป็นทักษะองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะทำให้เราตามทันโลกในยุคสมัยปัจจุบัน ในขณะที่บางอย่างเกิดขึ้นใหม่ บางอย่างอาจลดความสำคัญไป เราต้องคอยจับตามองอยู่ตลอดเวลา”

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC

ทักษะที่เป็นที่พูดถึงและน่าจับตามองในระดับโลกนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 4 หมวดหมู่หลักๆ

  1. หมวด Mindset หรือวิธีการมองโลก รับรู้ และทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย Agility Mindset, Outward Mindset และ Growth Mindset
  2. ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหา (Problem Solving, Decision Making) ทักษะนี้ต้องมาในรูปแบบใหม่ ต่างจากที่เราเคยรู้จัก ด้วยความหลากหลายของข้อมูลและบริบทสังคมในปัจจุบัน
  3. ทักษะการคิดวิเคราะห์​ (Critical Thinking) ในยุคปัจจุบันควรเป็นการวิเคราะห์บนพื้นฐาน data science ให้มากที่สุด
  4. การทำงานบนความแตกต่าง (Working with Diversity) สิ่งนี้คือทักษะที่จะนำมาซึ่งผลงานที่แปลกใหม่และท้าทายกว่าเดิม เพราะสภาพแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยความแตกต่างจะนำมาซึ่งวิธีคิดและการทำงานแบบใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย

เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าหลังจากนี้โลกเราจะเผชิญกับปัญหาอะไรต่อไป แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เรารู้จักความไม่แน่นอน เมื่อทุกภาคส่วนทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาเดียวกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำหลังจากนี้คือการทำตัวเองให้พร้อมเสมอเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกวัน

 


ความร่วมมือเป็นพันธมิตรกันระหว่าง มจธ. และ SEAC มีขอบเขตภายใต้โครงการ ‘สร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)’ เป็นระยะเวลา 3 ปี ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน 2563 – 17 มิถุนายน 2566

โดยทั้งสองสถาบันจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร (non-degree) ทั้งในรูปแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ระบบออนไลน์ (online learning) แบบห้องเรียน (classroom learning) และรูปแบบอื่นๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ นักศึกษา บุคลากรในภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม และบุคคลทั่วไป โดยมุ่งเน้นยกระดับและสร้างกำลังคนคุณภาพที่ผสมผสานทั้งทักษะด้าน hard skill (ความรู้เชิงเทคนิค) และ hyper-relevant skill (ความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน) ให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานไทยและภูมิภาคอาเซียน ผ่านการจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่คล่องตัว ทันสมัย และตรงกับความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายมากขึ้น

AUTHOR