SEAC ศูนย์พัฒนาบุคลากรที่เชื่อว่าการออกแบบที่ดีเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้และการสร้างผู้นำ

ห้องประชุมสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง
มีโต๊ะเก้าอี้วางเป็นระเบียบสำหรับเป็นโต๊ะประชุมใหญ่
หรือพร้อมปรับสำหรับการประชุมกลุ่มย่อย
แน่นอน ที่ผนังด้านหนึ่งสแตนด์บายสำหรับจอโปรเจกเตอร์
ในห้องนี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่ขาดไม่ได้อย่างดินสอไม้เหลาแหลม ปากกาสี
ปากกาไวต์บอร์ด กระดานฟลิปชาร์ตพร้อมกระดาษปอนด์ และกระดาษสีสดใสมีแถบกาว ฯลฯ

สภาพแวดล้อมดังกล่าวเป็นสภาพแวดล้อมที่พนักงานองค์กรต้องเจออย่างน้อยปีละครั้ง
ขณะเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร (อย่างขาดเสียมิได้) ถ้าเราเดาไม่ผิด
กิจกรรมแรกๆ ในห้องสี่เหลี่ยมคือการแนะนำตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพยายามมีสีสัน
หวังให้ทำความรู้จักกันข้ามแผนกและสร้างการจดจำ
ตามด้วยการเล่นเกมเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

แม้ถูกเรียกว่ากิจกรรมละลายพฤติกรรมหรือกิจกรรมนันทนาการ
และหลายคนก็เข้าใจว่าเป้าหมายของการพัฒนาศักยภาพบุคลากรมีประโยชน์ต่อตนเองและองค์กรเพียงใด
แต่เราเชื่อว่าพนักงานไม่น้อยเบื่อหน่ายสภาวะดังกล่าว ได้แต่พูดในใจ… (ให้ฉันกลับไปทำงานยังได้ประโยชน์กับออฟฟิศมากกว่า) เท่านั้นไม่พอ
อารมณ์ยังพาลขุ่นมัวขณะร่วมกิจกรรมไปตลอดทั้งวัน

ความเชื่อส่วนตัวใดๆ ล้วนหายไป หลังจากเราร่วมกิจกรรม
Open
House ของศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูงที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน
หรือ SEAC
(South-East Asia Center)

ห้องเรียน ห้องประชุม ห้องสัมมนา สเปซต่างๆ
หรือกระทั่งออฟฟิศหลังบ้านของทีมงาน SEAC ล้วนออกแบบเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และการทำงานร่วมกัน
เน้นการตกแต่งภายในที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบายตา แต่ยังแฝงความทันสมัย
กระตุ้นให้ผู้ใช้งานเกิดพลังความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัด
โดยกว่าจะออกมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ฉีกข้อจำกัดการเรียนรู้แบบเดิมๆ ไม่เฉพาะทีมมัณฑนากร (Interior Designers) จะทำงานอย่างหนัก
แต่ยังมีทีม Learning Design เข้ามาเป็นส่วนร่วม

SEAC มีขนาดมากกว่า 4,500 ตารางเมตร บนอาคาร FYI Center ฮับของคนรุ่นใหม่ย่านคลองเตย
แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น 3 ชั้น

เราขอเริ่มต้นจากชั้น 1 ซึ่งเรียกว่า
The
Hub ทำหน้าที่เป็นห้องรับแขก
เป็นห้องอ่านหนังสือ และเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ระหว่างผู้เรียน
สีโทนร้อนของการตกแต่งโดยรวมชวนให้ความรู้สึกอบอุ่น คล้ายนั่งอยู่ในบ้านของตัวเอง ช่วยปลดปล่อยจินตนาการ และสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ
ให้โลดแล่น

เราสังเกตลูกเล่นน่าสนใจของ The Hub บนผนังซึ่งตกแต่งวัสดุคล้ายกระดาษยับ
สอดคล้องกับคอนเซปต์หลักในการออกแบบ คือ Unfolding Paper โดยเชื่อว่าไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ
ล้วนมาจากการคิด ร่างบนกระดาษ ลงมือทำ ผิดพลาด ขยำกระดาษ
และคิดใหม่จนกว่าจะค้นพบความสำเร็จ นอกจากนี้
บนผนังบางจุดยังตกแต่งอย่างหรูหรา ฉลุลาย
แฝงความหมายสะท้อนถึงความทันสมัยด้านเทคโนโลยีของ SEAC ที่เรียกว่า Coding Innovation
Wall

จากล็อบบี้ชั้น 1 เราขึ้นบันไดมายังชั้น 2 ด้วยความรู้สึกไม่อยากเชื่อว่ากำลังเดินขึ้นห้องเทรนนิ่ง
เพราะการตกแต่งที่ทันสมัย เน้นความโปร่งสบาย
พื้นที่ใช้สอยส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติ
สอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์พลังงาน และทำให้ผู้เรียนสามารถมองเห็นวิวสวนบ้าง
วิวตึกบ้าง สร้างบรรยากาศการทำงานและการประชุมที่ไม่จำเจ
ยิ่งได้นั่งเก้าอี้ที่เหมาะสมกับสรีระจนนั่งได้นานกว่า 8 ชั่วโมงติดต่อกัน
คงทำให้การเรียนประสบความสำเร็จไม่น้อย

หัวใจของชั้นนี้คือห้อง The Capital ห้องประชุมขนาดใหญ่ขนาด 180 – 200 ที่นั่ง
และห้องประชุมย่อยที่มีชื่อเรียกตามชื่อเมืองหลวงในอาเซียน เช่น มะนิลา จาการ์ตา
และสิงคโปร์ สามารถเปิดเชื่อมถึงกันเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ได้ ทุกห้องมีจอภาพ LED เชื่อมต่อกัน
เหมาะสำหรับทำกิจกรรมที่เรียกว่า Experiential Learning หรือการเรียนรู้ที่เน้นจากประสบการณ์จริง
พร้อมวางระบบเชื่อมต่อไร้สายกับสมาร์ตโฟน
ทำให้ผู้เรียนแชร์ข้อมูลและประสบการณ์จากสมาร์ตโฟนได้ทันที สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ได้เน้นเฉพาะองค์ความรู้จากผู้สอน

ไม่เพียงการตกแต่งด้วยสีสันสดใสที่ช่วยกระตุ้นความรู้สึกกระหายความรู้
แต่การออกแบบห้องเรียนยังเน้นรองรับพฤติกรรมมนุษย์เป็นหลัก เช่น
โต๊ะสี่เหลี่ยมคางหมู ที่สามารถเรียงต่อกันได้หลากหลายรูปแบบ เช่น
ต่อเป็นโต๊ะรูปสามเหลี่ยมที่จะไม่ทำให้ผู้เรียนหันหลังให้ผู้สอนแม้แต่คนเดียว
ระบบควบคุมแสงไฟและม่านด้วยไอแพด ที่เหมาะสำหรับห้องที่ใช้โปรเจกเตอร์
ตัดปัญหาห้องสว่างหรือมืดเกินไป นอกจากนี้ ทุกโต๊ะยังวางระบบปลั๊กไฟ
พร้อมสำหรับชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบที่ผู้ใช้งานไม่ต้องลากสายระโยงระยางจากปลั๊กฝาผนังอีกต่อไป

สำหรับการประชุมกลุ่มย่อย 4 – 6 คน ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
แต่ยังอยากได้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของ learning community ทาง SEAC ก็จัดพื้นที่เฉพาะที่โดดเด่นด้วยสีสันสดใสคล้ายเลโก้
ที่นี่เรียกว่า The Market เนื่องจากมองเห็นความคึกคักของตลาดคลองเตยริมถนนพระราม 4 ได้ตลอดทั้งวัน โต๊ะบางตัวในโซน The Market วางระบบจอภาพและระบบเสียง Sound Tube ที่สามารถจำกัดรัศมีของคลื่นเสียงเฉพาะโต๊ะ
คล้ายระบบเสียงในพิพิธภัณฑ์ทันสมัย

ชั้นที่ 3 ของ SEAC ถูกตกแต่งอย่างเรียบหรูเห็นได้ชัด เน้นโทนเข้ม
เรียบง่าย เสมือนโรงแรม 5 ดาว
เพราะชั้นนี้มีไว้สำหรับผู้นำและผู้บริหารระดับสูงที่เข้ามาเรียนหลักสูตรต่างๆ
ทั้งเรื่องการสร้างภาวะผู้นำสมัยใหม่ และการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดในองค์กร ชั้นนี้มียังห้องประชุมย่อยออกแบบเป็นวงกลมมีชื่อเป็นสกุลเงินในอาเซียนเพื่อการทำงานที่เป็นส่วนตัว
ส่วนไฮไลต์คือห้องประชุมใหญ่ที่เรียกว่า ASEAN Amphitheatre ให้ความรู้สึกคล้ายโรงภาพยนตร์
เพราะมีจอภาพยาว 3 จอเรียงต่อกัน
สามารถรับ-ส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
เอื้อต่อการเรียนผ่านระบบ LIVE จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก

ปัจจุบันมีผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำจากกว่า
200
องค์กรที่เคยมาใช้บริการจาก SEAC แล้ว เช่น เครือซีพี, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพานิชย์, เอสซีจี, บมจ.สมิติเวช
ฯลฯ

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์กว่า
25
ปี พูดถึงเหตุผลในการลงทุนสร้างบรรยากาศของ
SEAC
ทั้ง 3 ชั้นให้ทันสมัย ต่างจากบรรยากาศศูนย์เทรนนิ่งแห่งอื่น
เธอบอกว่า บรรยากาศภายในศูนย์จะสามารถสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (learning ecosystem) และประสบการณ์การเรียนรู้ (learning experience) ซึ่งมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ไม่น้อยกว่าตำราการเรียนการสอนหลักสูตร

“หัวใจของ learning ecosystem ของเราไม่ใช่อยู่ในห้องเรียน
แต่อยู่บนเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม อยู่บนเพื่อนฝูงในประเทศ เพื่อนฝูงนอกประเทศในอาเซียน
และเข้าไปถึงแหล่งคอนเทนต์ทั่วโลก “

ใครที่อยากให้ออฟฟิศของตัวเองมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้วยหลักสูตรมาตรฐานสากล
และทำกิจกรรมในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ พูดคุยแลกเปลี่ยน
และแชร์ประสบการณ์ต่อยอดความสำเร็จขององค์กร ลองแนะนำ SEAC กับฝ่ายบุคคลของออฟฟิศก็เป็นข้อเสนอที่ไม่เลวนะ

ที่สำคัญ SEAC ยังเปิดพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้
พร้อมให้บริการสำหรับบริษัทหรือองค์กรใดๆ
ก็ตามที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศในการจัดกิจกรรมหรือการจัดประชุมในออฟฟิศแบบเดิมๆ อีกด้วย

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR